ข้ามไปเนื้อหา

ปรีดี พนมยงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปรีดี พนมยงค์
ปรีดี ใน พ.ศ. 2489
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ดำรงตำแหน่ง
16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
นายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 7
ดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2489 – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ก่อนหน้าควง อภัยวงศ์
ถัดไปถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ดำรงตำแหน่ง
5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489
ก่อนหน้าเลือกตั้งเพิ่มเติม
ถัดไปหม่อมเจ้านิตยากร วรวรรณ
ตำแหน่งรัฐมนตรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2489 – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489
นายกรัฐมนตรีตนเอง
ก่อนหน้าพระยาศรีวิสารวาจา
ถัดไปวิจิตร ลุลิตานนท์
ดำรงตำแหน่ง
20 ธันวาคม พ.ศ. 2481 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484
นายกรัฐมนตรีแปลก พิบูลสงคราม
ก่อนหน้าเสริม กฤษณามระ
ถัดไปเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดำรงตำแหน่ง
12 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2481
นายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา
ก่อนหน้าพระยาศรีเสนา
ถัดไปเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ดำรงตำแหน่ง
29 มีนาคม พ.ศ. 2477 – 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478
นายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา
ก่อนหน้าพระยาพหลพลพยุหเสนา
ถัดไปถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ปรีดี

11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443
อำเภอกรุงเก่า มณฑลกรุงเก่า ประเทศสยาม (ปัจจุบันคือ อำเภอพระนครศรีอยุธยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย)
เสียชีวิต2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (82 ปี)
ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
พรรคการเมือง
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
เสรีไทย
คู่สมรสพูนศุข ณ ป้อมเพชร (สมรส 2471)
บุตร
ญาติอรรถกิจ พนมยงค์ (น้องชายร่วมบิดา)
ศิษย์เก่า
ลายมือชื่อ

ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ น.ร. ป.จ. ม.ป.ช. ม.ว.ม. อ.ป.ร. ๑ GCMG หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 – 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) เป็นนักกฎหมาย อาจารย์ นักเคลื่อนไหว นักการเมือง นักการทูต และรัฐบุรุษอาวุโสชาวไทย ผู้ได้รับการยกย่องเกียรติคุณอย่างสูง ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่าง พ.ศ. 2484 ถึง 2488 นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 7 ใน พ.ศ. 2489 และรัฐมนตรีหลายกระทรวง หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบันคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

เขาเกิดในครอบครัวชาวนาที่อำเภอกรุงเก่า มณฑลกรุงเก่า แต่ได้รับการส่งเสียให้ได้รับการศึกษาที่ดี สำเร็จการศึกษาจากเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตตั้งแต่อายุ 19 ปี เป็นนักเรียนทุนศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษาขั้นดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยปารีส ใน พ.ศ. 2469 เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎรในประเทศฝรั่งเศสในปีเดียวกัน จากนั้นเดินทางกลับประเทศเพื่อประกอบอาชีพเป็นผู้พิพากษา ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย และอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายปกครองโรงเรียนกฎหมาย หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เขามีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับแรกของประเทศ และวางแผนเศรษฐกิจ หลังเดินทางออกนอกประเทศช่วงสั้น ๆ เนื่องจากปฏิกิริยาต่อแผนเศรษฐกิจของเขา เขาเดินทางกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และจอมพล แปลก พิบูลสงคราม มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย การวางรากฐานการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะราชการส่วนท้องถิ่น การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศ ตลอดจนการปฏิรูปภาษี

ความเห็นของเขาแตกกับจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรระหว่าง พ.ศ. 2484 ถึง 2488 และเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาพยายามบ่อนทำลายความชอบธรรมของประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก จนฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ถือโทษเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม หลังสงครามยุติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส

ความขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองอื่นทวีความรุนแรงขึ้น หลังกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลซึ่งเขาถูกใส่ความว่าเป็นผู้บงการ[1]: 54–5  ทำให้เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสองครั้ง ต่อมาเกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 เป็นเหตุให้เขาต้องลี้ภัยการเมืองนอกประเทศ ใน พ.ศ. 2492 เขากับพันธมิตรทางการเมืองพยายามรัฐประหารรัฐบาลในขณะนั้นแต่ล้มเหลว ทำให้เขาและพันธมิตรหมดอำนาจทางการเมืองโดยสิ้นเชิง จากนั้นเขาลี้ภัยการเมืองในประเทศจีนและฝรั่งเศสโดยไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีก เขายังแสดงความเห็นทางการเมืองในประเทศไทยและโลกอยู่เรื่อย ๆ จนถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2526 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส[2] มีการนำอัฐิเขากลับประเทศใน พ.ศ. 2529 และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานผ้าไตรในพิธีทักษิณานุประทาน

อนุสรณ์ของเขาประกอบด้วยวันปรีดี พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ตลอดจนอนุสาวรีย์ และสถานที่และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ตั้งตามชื่อเขา เขามีภาพลักษณ์ตั้งแต่เป็นนักประชาธิปไตยไม่นิยมเจ้าไปจนถึงผู้นิยมสาธารณรัฐ การถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเป็นจุดด่างพร้อยในชีวประวัติของเขา และศัตรูเขานำมาใช้โจมตีแม้หลังสิ้นชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในคดีหมิ่นประมาทที่ปรีดีเป็นโจทก์ฟ้องนั้น ศาลยุติธรรมให้เขาชนะทุกคดี[3][a] เขาเป็นสัญลักษณ์ของผู้ต่อต้านเผด็จการทหาร เสรีนิยม และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ. 2542 ยูเนสโกยกให้เขาเป็นบุคคลสำคัญของโลก และร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล[4]

ปฐมวัย

[แก้]
ปรีดี ใน พ.ศ. 2458

ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า มณฑลกรุงเก่า ในครอบครัวชาวนา เป็นบุตรของเสียงและลูกจันทน์ พนมยงค์

บรรพบุรุษของปรีดีตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดพนมยงค์มาช้านาน บรรพบุรุษข้างบิดานั้นสืบเชื้อสายมาจากพระนมในสมัยกรุงศรีอยุธยาชื่อ "ประยงค์"[5] พระนมประยงค์เป็นผู้สร้างวัดในที่สวนของตัวเอง วัดนั้นได้ชื่อตามผู้สร้างว่า วัดพระนมยงค์ หรือ วัดพนมยงค์ ล่วงมาจนมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ทายาทจึงได้ใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์"[6]: 11 

บรรพบุรุษรุ่นปู่และย่าของปรีดีประกอบกิจการค้าขายมีฐานะเป็นคหบดีใหญ่[6]: 9 [7]: 2  แต่บิดาชอบชีวิตอิสระไม่ชอบประกอบอาชีพค้าขาย จึงหันไปยึดอาชีพกสิกรรม เริ่มต้นด้วยการทำป่าไม้ และต่อมาได้ไปบุกเบิกถางพงร้างเพื่อจับจองที่ทำนาบริเวณทุ่งหลวง อำเภอวังน้อย[7]: 4–6  แต่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติและสัตว์รังควานทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี ซ้ำรัฐบาลให้สัมปทานบริษัทแห่งหนึ่งขุดคลองผ่านที่ดินของบิดาและยังเรียกเก็บค่าขุดคลอง[7]: 10  ซึ่งบิดาของปรีดีต้องกู้เงินมาจ่ายเป็นค่ากรอกนา ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเลวลงจนเป็นหนี้สินอยู่หลายปี[7]: 11–4 

จากการเติบโตในครอบครัวชาวนา เขาจึงทราบซึ้งถึงสภาพความเป็นอยู่และความทุกข์ยากของชนชั้นชาวนา และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าที่ดินศักดินา เหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นให้ปรีดีดำริเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศในเวลาต่อมา[7]: 48–55  เขาเริ่มมีความสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่อายุ 11 ปี จากเหตุการณ์การปฏิวัติซินไฮ่ที่นำโดย ซุน ยัตเซ็น และเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ในสยาม ซึ่งเขาแสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างมากต่อผู้ที่ถูกลงโทษในครั้งนั้น[8]

การศึกษา

[แก้]
ปรีดีขณะศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยก็อง

แม้เกิดในครอบครัวชาวนา แต่บิดาของเขาเป็นผู้ใฝ่รู้และเล็งเห็นประโยชน์ของการศึกษา และสนับสนุนให้บุตรได้รับการศึกษาที่ดีมาโดยตลอด[9]: 6  ปรีดีเริ่มเรียนหนังสือที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี[6]: 13–4  และสำเร็จการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูน[6]: 20  อำเภอกรุงเก่า จากนั้นไปศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร[6]: 23  แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย)[6]: 25  จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2460 อายุได้ 17 ปี เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์[10]: 14  รู้สึกประทับใจกับอาจารย์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ เลเดแกร์ (Laydeker) ซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมด้วย ต่อมาสอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ในขณะมีอายุ 19 ปี เขาเคยว่าความคดีเดียว โดยเป็นทนายความจำเลยในคดีที่จำเลยก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริเวณสถานที่ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเขาให้เหตุผลจนชนะคดีว่าเป็นเหตุสุดวิสัย[11]: 28  ต่อมาเขาทำงานเป็นเสมียนกรมราชทัณฑ์โดยได้รับการสนับสนุนจากอธิบดี พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา ซึ่งปรีดียกย่องว่าได้รับความรู้เรื่องการบริหารรัฐกิจจากเขา[11]: 28–9 

ต่อมาได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2463[10]: 12  เขาใช้เวลาเรียนเตรียมภาษาฝรั่งเศส ภาษาละติน และภาษาอังกฤษก่อนหนึ่งปี[11]: 29  แล้วสามารถสอบเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยก็อง (Université de Caen) จนสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น "บาเชอลีเย" สาขากฎหมาย (bachelier en droit) และได้ปริญญารัฐเป็น "ลีซ็องซีเย" สาขากฎหมาย (Licencié en Droit) ตามลำดับ[10]: 15–7  ทั้งนี้หลักสูตรลิซองซิเอของฝรั่งเศสได้รวบรวมความรู้หลายด้าน ทั้งการยุติธรรม ศาล มหาดไทย คลัง ต่างประเทศ[10]: 16  เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีสใน พ.ศ. 2469 โดยเขาเสนอวิทยานิพนธ์ชื่อ "ในกรณีที่หุ้นส่วนคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ฐานะของห้างหุ้นส่วนส่วนบุคคลจะเป็นอย่างไร (ศึกษาตามกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายเปรียบเทียบ)" (Du Sort des Sociétés de Personnes en cas de Décès d'un Associé (Étude de droit français et de droit comparé))[10]: 17 [11]: 29  ซึ่งอุทิศให้แก่เลเดแกร์[10]: 14  นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาเอกแห่งรัฐ (doctorat d'état) เป็น "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย" (docteur en droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (sciences juridiques)[10]: 19  นอกจากนี้เขายังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง (diplôme d'études supérieures d'économie politique) อีกด้วย[11]: 29 [12]: 13–7 

ใน พ.ศ. 2467 ปรีดีก่อตั้งสมาคมนักเรียนไทยในกรุงปารีส สามัคยานุเคราะห์สมาคม และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสมาคม ต่อมาเขาเกิดพิพาทกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เนื่องจากขัดคำสั่งพระองค์ที่ห้ามส่งตัวแทนสมาคมนักเรียนไปยังสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2469[11]: 30–1  ต่อมา บรรดาผู้บริหารสมาคมฯ กำลังร่างคำร้องทุกข์ขอเพิ่มเงินเดือนเนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลฟรังก์ ทำให้อัครราชทูตหมดขันติ[11]: 32  พระองค์ทำหนังสือกราบบังคมทูลว่า ปรีดีเป็นหัวหน้าชักชวนนักเรียนขัดคำสั่งเอกอัครราชทูตเห็นจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์และให้เรียกตัวกลับ[13]: 51  ด้านพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริว่าไม่ทรงถือปรีดีเป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์ แต่มีการกระทำที่อวดดีแบบคนหนุ่ม[13]: 52–3  และให้ยุบสมาคมฯ[11]: 32–3  อย่างไรก็ดี บิดาของปรีดีถวายฎีกาขอให้ผ่อนผันการเรียกตัวปรีดีกลับประเทศจนกว่าจะสำเร็จปริญญาเอก[11]: 33–4  กระทรวงยุติธรรมโดยเจ้าพระยาพิชัยญาติขอเอาตัวเองเป็นประกันขอให้ปรีดีศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษา[10]: 19  อีกหลายปีถัดมา ปรีดีให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าเขาตั้งใจปลุกปั่นนักเรียนให้เกิดสำนึกทางการเมืองจริงซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต[11]: 34  นอกจากนี้ ปรีดียังถูกเพ่งเล็งจากกรณีไปพบผู้แทนสาธารณรัฐจีนคนหนึ่งโดยไม่ทราบสาเหตุ[13]: 53 

วิชาชีพกฎหมาย

[แก้]

เมื่อกลับถึงจังหวัดพระนครในเดือนเมษายน 2470[11]: 34  เขาเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม"[14] (ต่อมาได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์ในปี 2485[15]) เขาเกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายโดยเฉพาะประมวลกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษากฎหมายของแผ่นดิน และทำหน้าที่เป็นศาลปกครองพิจารณาข้อพิพาทระหว่างข้าราชการและราษฎร[10]: 23  เมื่อปี 2471 ขณะมีอายุ 28 ปี ต่อมาในปี 2475 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการกรมร่างกฎหมาย ระหว่างนั้นเขาได้รวบรวมกฎหมายไทยตั้งแต่กฎหมายตราสามดวงจนถึงเวลานั้นเป็นเล่มเดียว ใช้ชื่อว่า ประชุมกฎหมายไทย และได้รับการตีพิมพ์ในปี 2473 ที่โรงพิมพ์นิติสาสน์ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของเขาเอง หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมและสร้างรายได้ให้แก่เขาเป็นอย่างมาก[10]: 22 

นอกจากงานที่กรมร่างกฎหมายแล้ว ปรีดียังเป็นอาจารย์ผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในชั้นแรกได้สอนวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยลักษณะหุ้นส่วน บริษัทและสมาคม ต่อมาได้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ในปี 2474 ปรีดีเป็นคนแรกที่เริ่มสอนวิชากฎหมายปกครอง (Droit Administratif)[10]: 22  กล่าวกันว่าวิชากฎหมายปกครองนี้ เป็นวิชาที่สร้างชื่อเสียงแก่ปรีดีเป็นอย่างมาก[11]: 35  เพราะสาระของวิชานี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชากฎหมายมหาชน ซึ่งอธิบายการแยกใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งขัดต่อหลักสมบูรณาญาสิทธิราชย์[16] จูงใจให้ผู้ศึกษาใส่ใจกิจการบ้านเมือง รู้สึกอยากปกครองตนเอง[10]: 24  ในคำบรรยายของเขากล่าวถึงหลักการรัฐธรรมนูญ การพัฒนาการบริหารราชการแผ่นดินของสยาม และเศรษฐกิจการเมืองและการคลังสาธารณะเบื้องต้น[11]: 35  หนังสือวิชากฎหมายปกครองของเขากลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปลุกเร้ามวลชนในการปฏิวัติสยาม[17]: 19 

สมาชิกคณะราษฎรกับบทบาททางการเมืองช่วงแรก

[แก้]

ส่วนร่วมในการปฏิวัติสยาม

[แก้]
ถนนซอเมอราร์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นที่ประชุมครั้งแรกของผู้ก่อตั้งคณะราษฎร

ระหว่างศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ปรีดีเริ่มตกลงความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2467[11]: 44  และร่วมกับผู้คิดเห็นตรงกันอีก 5 คน ประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเพื่อก่อตั้งคณะราษฎร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ณ เลขที่ 5 ถนนซอเมอราร์ กรุงปารีส[11]: 45  ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ (ภายหลังเป็น จอมพล แปลก พิบูลสงคราม), ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี, ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) และแนบ พหลโยธิน โดยมีปณิธานให้สยามบรรลุเป้าหมาย 6 ประการ ซึ่งต่อมาเรียก "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" ปรีดีได้รับมอบหมายให้ร่างนโยบายและโครงการต่าง ๆ เพื่อใช้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง[11]: 46 

เมื่อปรีดีเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในสยาม เขามีศิษย์หลายคนที่เลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการ เช่น สงวน ตุลารักษ์, ดิเรก ชัยนาม และหาผู้มีความประสงค์ร่วมกัน เช่น ประจวบ บุนนาค, จรูญ สืบแสง, วิลาศ โอสถานนท์ เป็นต้น[9]: 69–70  ในการประชุมสมาชิกคณะราษฎรครั้งหนึ่ง ปรีดีได้แจกจ่ายโครงร่างแผนเศรษฐกิจของตนที่เป็นรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งทั้งหมดเห็นพ้องและยกให้ปรีดีเป็นผู้ดำเนินการตามแผนนั้น[9]: 71–2  สำหรับในการปฏิวัตินั้น ปรีดีเป็นผู้เสนอให้จับเจ้านายและสมาชิกรัฐบาลพระองค์สำคัญเป็นตัวประกันเพื่อเลี่ยงการเสียเลือดเนื้ออย่างการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติเดือนตุลาคมของรัสเซีย[9]: 72 

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปรีดีร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรปฏิวัติการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ หลังจากนั้นคณะราษฎรโดยปรีดีได้จัดให้มีการประชุมระหว่างคณะราษฎร และเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง ขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ หลักการระบอบใหม่ กฎหมายพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยย่อ และขอความร่วมมือในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป[18]

การประนีประนอมกับอำนาจเก่า

[แก้]

ภายหลังการปฏิวัติ ปรีดีถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับหลังนี้ปรีดีได้ถวายแก้ข้อข้องใจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย[17]: 23–5  ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองในระบอบใหม่ เขายังได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก ด้วยตำแหน่งดังกล่าว ทำให้เขามีบทบาทด้านนิติบัญญัติในการวางหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้แก่ราษฎร โดยเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรก และเป็นผู้ริเริ่มสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป[19]

เขาเป็นสมาชิกคณะกรรมการราษฎรและรัฐมนตรีไม่สังกัดกระทรวงในรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนแรก พระยามโนฯ แสดงออกหลายครั้งว่าปรีดีเป็นผู้บงการรัฐบาลบ้าง เป็นผู้คุมเสียงในสภาบ้าง[17]: 20  ในการร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก เขากับพระยามโนฯ เป็นปรปักษ์กันเพราะฝ่ายพระยามโนฯ พยายามร่างรัฐธรรมนูญให้คล้ายกับรัฐธรรมนูญเมจิที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอย่างกว้างขวาง[9]: 108–9  นอกจากนี้ ปรีดียังเสนอให้ปรับปรุงภาษีอากรบางชนิดโดยเร็ว เช่น ยกเลิกอากรนาเกลือ ภาษีสมพัตสร ปรับปรุงภาษีการธนาคารและการประกันภัย ลดภาษีโรงเรือนที่ดิน ลดและเลิกอัตราเก็บเงินค่าที่สวน การเก็บเงินค่านา มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกรเพื่อให้ทรัพย์สินที่มีความจำเป็นต่อการสร้างตัวของกสิกรถูกเจ้าหนี้ยึดไปไม่ได้[9]: 113–4  รัฐบาลยังออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ซึ่งมีอัตราภาษีแบบก้าวหน้า[9]: 114–8 

การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่าง ๆ ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใด ๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ[20]: 11 

—ปรีดี พนมยงค์

ในปี 2476 เขาได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ ชื่อร่างว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" หรือ "สมุดปกเหลือง" ต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ โดยดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ ทั้งยังมีวิสัยทัศน์เรื่องการตั้งหลักประกันสังคม[20]: 16–7  เขาประสงค์ให้รัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินและแรงงาน ให้จัดสรรที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาใช้เพื่อการกสิกรรม และให้แบ่งปันกำไรอย่างเสมอภาค[21] ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าความคิดทางเศรษฐกิจของปรีดีมาจากปรัชญาภราดรภาพนิยม (solidaritism) ซึ่งผสานระหว่างความคิดแบบสังคมนิยมกับเสรีนิยมแบบรูโซ[21]

หม่อมเจ้าวัลภากร วรวรรณ ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจผู้หนึ่ง ทรงเห็นด้วยกับเค้าโครงของปรีดีเช่นกัน[9]: 131  รายงานการประชุมกรรมการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2475 (นับแบบเก่า) ระบุว่าผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบกับแผนดังกล่าว[17]: 33–54  รัฐมนตรีบางคนไม่เห็นชอบโดยอ้างว่าทำไม่ได้บ้าง หรือใช้เวลา 50–100 ปีบ้าง นอกจากนี้พระยามโนฯ ยังให้มีมติของที่ประชุมว่าที่ประชุมยังเห็นไม่ลงรอยกัน และหากรัฐบาลเห็นชอบและประกาศใช้แผนดังกล่าว ถือว่าปรีดีประกาศโครงการเศรษฐกิจในนามของตนแต่ผู้เดียว[9]: 133–35 

ปรีดีขณะเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส ปี 2476 หลังความขัดแย้งเรื่องสมุดปกเหลือง

เค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษนิยมและถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์[22] พระยามโนปกรณนิติธาดา ยกพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไม่เห็นด้วยมาเป็นเครื่องชี้ขาดและตีตกไป[13]: 55–6  สุพจน์ ด่านตระกูลเขียนว่าในสมุดปกเหลืองยังมีแผนตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ หลักประกันสังคมหรือสังคมสงเคราะห์ และการตั้งธนาคารแห่งชาติซึ่งถูกล้มไปพร้อมกับแผนนั้น ในเวลาต่อมามีการจัดตั้งขึ้นทั้งสิ้น[17]: 32 

เกิดความขัดแย้งขึ้นตามมาจนนำไปสู่การปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีส่วนสนับสนุนด้วยเพราะทรงวิตกเรื่องการจัดสรรที่ดินใหม่[23]: 19–20  พระยามโนปกรณนิติธาดาแถลงพาดพิงปรีดีว่า[13]: 56 

ระหว่างเวลาที่หลวงประดิษฐ์ เป็นรัฐมนตรีอยู่ในคณะรัฐบาลใหม่นั้นคราวใดที่มีการจับกุมลงโทษจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์แล้ว หลวงประดิษฐ์มักจะท้วงว่า ผู้ซึ่งนับถือลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ควรมีความผิด ถ้าได้รับโทษต่อเมื่อใดที่เขายุยงหรือใช้กำลังกายก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นแล้วเมื่อนั้นจึงถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย การที่ได้ยินหลวงประดิษฐ์กล่าวอยู่เช่นนี้เสมอ ๆ ทำให้ข้าพเจ้าและรัฐมนตรีบางท่านเกิดระแวงขึ้นมา ถึงโครงการเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์รับภาระไปนั้นว่าจะมีเข็มไปในทางคอมมิวนิสต์เสียกระมัง

การโฆษณาความเห็นต่อแผนเค้าโครงเศรษฐกิจของเขาโดยกลุ่มเจ้าและอนุรักษนิยมทำให้เกิดการต่อต้านและมีการแห่ถอนเงินจากธนาคาร การต่อต้านดังกล่าวทำให้ปรีดีเดินทางออกนอกประเทศชั่วคราวเพื่อลดความขัดแย้ง[13]: 58  วันที่ 6 เมษายน พระยามโนปกรณ์เข้าพบปรีดีและแจ้งเขาว่าการให้เขาออกนอกประเทศไปจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง และรัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายให้ 1,000 ปอนด์ต่อปี[11]: 68  ก่อนถึงวันเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือสำคัญให้แก่ปรีดีโดยระบุว่าเขาเดินทางไปเพื่อ "ศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจอื่น ๆ"[9]: 266–7 

เขาเดินทางออกนอกประเทศโดยทางท่าเรือบีไอ ในวันที่ 12 เมษายน 2476 หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ลงข่าวว่า มีคนไปส่งปรีดีที่ท่าเรือ 2,000 คน "ด้วยน้ำตาไหลพรากไปตาม ๆ กันเป็นส่วนมาก"[9]: 268  พร้อมกับภรรยา และเพื่อนอีก 3 คน เดินทางถึงสิงคโปร์เมื่อวันที่ 15 เมษายน และได้รับการต้อนรับให้พักอยู่กับคหบดีชาวไทยที่พำนักอยู่ที่นั่น[9]: 290  เขาและคณะเดินทางต่อไปยังเมืองท่ามาร์แซย์ของฝรั่งเศส แล้วนั่งรถไฟต่อไปยังกรุงปารีส เขาพำนักอยู่ที่ชานกรุงและพบปะกับนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมือง บ้างก็เดินทางไปยังสหราชอาณาจักร[9]: 293  หลังจากนั้นรัฐบาลใหม่ออกกฎหมายต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าต้องการขัดขวางปรีดีมิให้เดินทางกลับประเทศอีก[11]: 71 

รัฐบาลคณะราษฎร

[แก้]

หลังรัฐประหารเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ส่งผลให้พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) สมาชิกคณะราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลเรียกตัวปรีดีกลับสยามในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สุพจน์ ด่านตระกูลเล่าว่าขณะนั้นปรีดีกำลังศึกษาปริญญาด้านศาสนาและปรัชญา[17]: 61  ส่วนไสว สุทธิพิทักษ์เล่าว่าปรีดีจะขอรัฐบาลเดินทางไปประเทศสเปนซึ่งขณะนั้นมีการปฏิวัติเป็นสาธารณรัฐแล้ว[9]: 300–1  โดยก่อนหน้านั้นรัฐบาลกราบทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าจะไม่รื้อฟื้นแผนเค้าโครงเศรษฐกิจอีก[13]: 58–9  ปรีดีเดินทางออกจากท่ามาร์แซย์ในวันที่ 1 กันยายน และถึงประเทศสยามในวันที่ 29 กันยายน โดยมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เดินทางมาต้อนรับ[9]: 302–4  นับแต่นั้นปรีดีปรากฏชื่ออยู่ในรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกคณะราษฎรสองคน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพล ป. พิบูลสงคราม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

[แก้]

เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีลอยในวันที่ 1 ตุลาคม 2476[17]: 63  ความไม่พอใจในตัวปรีดีในหมู่อำนาจเก่ายังมีอยู่ จนเป็นชนวนเหตุของกบฏบวรเดชในที่สุด อย่างไรก็ดี กระแสต่อต้านปรีดีเสื่อมกำลังลงหลังกบฏบวรเดชเป็นฝ่ายปราชัย[13]: 60  เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาจะกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทรงมีพระราชโทรเลขตอบว่า "ว่าการมหาดไทยไม่ขัดข้อง แต่ถ้าว่าการศึกษา ขัดข้อง"[9]: 327  ทีแรกปรีดียังไม่รับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพราะยังมีมลทินเรื่องคอมมิวนิสต์อยู่ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเปิดญัตติให้สอบสวนว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2476[9]: 329  โดยมีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณเป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเอกฉันท์ว่าไม่ได้เป็น[17]: 120 [b] เมื่อพ้นมลทินแล้ว มีการแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในวันที่ 24 มีนาคม 2476 (นับแบบเก่า)[9]: 437 

เขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และยังร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ถือได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดระบบเทศบาลในประเทศไทย[17]: 148  สำหรับการจัดระเบียบการปกครองนั้น เนื่องจากเขาเป็นผู้รู้ด้านระเบียบแบบแผนการปกครองและบริหารราชการ จึงได้แนะนำซักซ้อมกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกระดับตั้งแต่ปลัดกระทรวงจนถึงนายอำเภอ[17]: 153  อย่างไรก็ดี แผนงานของเขาถูกขัดขวางจากรัฐมนตรีด้วยกัน เช่น คำขอให้ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอท้องที่ชายแดนให้ตั้งจากนายทหาร ขณะที่ปรีดีต้องการให้ตั้งจากพลเรือน[9]: 439–41  ไสว สุทธิพิทักษ์เล่าว่าปรีดีจวนเจียนจะเดินทางออกนอกประเทศอยู่แล้วเพื่อรักษาความสามัคคีในหมู่คณะ แต่พระยาพหลฯ มาขอให้อยู่ต่อ[9]: 442 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2477 (นับแบบเก่า) รัฐบาลที่มีปรีดีเป็นหัวแรงขอความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลสืบราชสมบัติต่อ[11]: 106  นอกจากนี้ปรีดียังมีส่วนสำคัญในการคัดเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในยุวกษัตริย์[11]: 106–8 

ปรีดีขณะให้โอวาทบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นแรก ใน พ.ศ 2478

ในเวลานั้นเห็นว่าการพัฒนาคนมีความสำคัญมากกว่าแผนโครงการเศรษฐกิจแล้ว[17]: 125  และเขายังเห็นว่าข้าราชการควรมีความรู้นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า "จริยศาสตร์"[11]: 96  จึงได้สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ขึ้นเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เขามีบทบาทเป็นผู้ร่างโครงการ หาที่ตั้ง และวางหลักสูตร[17]: 126  เกิดจากการรวมโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมกับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[11]: 96  เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประศาสน์การ (2477–2490) โดยตั้งใจให้เป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชาให้ราษฎรมีความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา[24] เงินทุนของมหาวิทยาลัยอาศัยเงินค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาและดอกผลของธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมซึ่งปรีดีเป็นผู้ก่อตั้ง โดยให้มหาวิทยาลัยถือหุ้นถึง 80%[25]: 126  นอกจากนี้ปรีดียังได้ยกกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์นของตนให้มหาวิทยาลัยเพื่อพิมพ์ตำรา[10]: 22 [c] ต่อมา มธก. ถูกกล่าวหาว่าเป็นฐานอำนาจของปรีดีเพื่อใช้แข่งขันกับจอมพล แปลก พิบูลสงครามที่มีฐานอำนาจในกองทัพ[11]: 96 

ปรีดีมีความสนใจตั้งองค์การของรัฐที่มีหน้าที่พิทักษ์ประโยชน์ของราษฎร ให้ยกฐานะกรมร่างกฎหมายเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นองค์การอิสระไม่ขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม การแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องได้รับความเห็นชอบของสภา[17]: 149  ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายและเป็นที่ปรึกษากฎหมายของแผ่นดิน ทั้งยังพยายามผลักดันให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ศาลปกครองอีกด้วย แต่ความพยายามประสบอุปสรรคมาโดยตลอด[10]: 23 [d] ให้ยกกรมตรวจเงินแผ่นดินเป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจตราการใช้จ่ายของราชการทุกส่วนตามกฎหมาย โดยไม่ต้องฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหมือนแต่ก่อน[17]: 151–2  มีการปรับปรุงกลไกการปกครอง โดยออกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ และพระราชบัญญัติจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร[17]: 152 

เขายังจัดทำกฎหมายว่าด้วยครอบครัว มรดก กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา และกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้มีผลสืบเนื่องกับการประกาศใช้ประมวลกฎหมาย และความสำเร็จในการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศดังที่จะกล่าวต่อไปด้วย[17]: 172–3 

วันหนึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพบว่ารัฐบาลชุดก่อนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปกู้จากต่างประเทศโดยเสียดอกเบี้ยสูงมาก ปรีดีรับไปเจรจาขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวพร้อมกับไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ[9]: 442–4  เขาออกเดินทางไปถึงนครตรีเยสเต ราชอาณาจักรอิตาลี ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2479 โดยเบนิโต มุสโสลินีสัญญาจะยกเลิกสัญญาอันไม่เป็นธรรมโดยเร็วที่สุด[9]: 446–7  สำหรับการเจรจากับสาธารณรัฐฝรั่งเศส นาซีเยอรมนี และสหราชอาณาจักรนั้นเพียงแต่ได้รับคำตอบว่าจะไปพิจารณาแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม แต่เซอร์ ซามูเอล ฮอร์ ตกลงลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้[9]: 447–9  คือ ลดจากร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 4 ทำให้ประหยัดงบประมาณได้ 600,000–700,000 บาทต่อปีในระยะเวลา 30 ปี[11]: 127  รัฐสภาแสดงความขอบคุณปรีดีในโอกาสดังกล่าว[11]: 127  ต่อมา ปรีดีเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ คอร์ดัล ฮัลที่กรุงวอชิงตัน และได้รับคำตอบว่ายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมโดยเร็ว สุดท้ายเขาเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะแห่งญี่ปุ่นและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เขาปฏิเสธเข้ากับนโยบายผิวเหลือง-ผิวขาว แต่ในเรื่องสนธิสัญญาไม่ธรรมญี่ปุ่นยอมยกเลิก[9]: 449–51 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

[แก้]
ปรีดีขณะเดินทางไปเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับชาติยุโรป, ปี 2481

เมื่อจัดระเบียบวางแผนให้กระทรวงมหาดไทยแล้ว เขามอบหมายงานต่อให้พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์[17]: 153  ส่วนตัวเขาหันมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2478 (นับแบบเก่า) ปรีดีมีนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ และดำริปลดเปลื้องพันธกรณีของประเทศจากสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม ได้แก่ สิทธิถอนคดีของกงสุลต่างประเทศจนกว่าออกประมวลกฎหมายแล้ว 5 ปี ซึ่งเป็นการเสียเอกราชทางการศาล การถูกจำกัดด้านเอกราชทางเศรษฐกิจ เช่น การห้ามเก็บอากรศุลกากรสินค้าบางชนิด การให้สัญชาติอังกฤษและฝรั่งเศสแก่คนในบังคับอังกฤษและฝรั่งเศสที่เกิดในประเทศ และห้ามเก็บอากรศุลกากรในแม่น้ำโขง เป็นต้น[9]: 471 

ปรีดีเจรจาเรื่องสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือใหม่และสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน 2479 นานาประเทศลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ในปี 2480 ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน เดนมาร์ก สหรัฐ นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส (รวมการยกเลิกการห้ามเก็บภาษีศุลกากรในเขต 25 กิโลเมตรจากชายแดนด้วย) ญี่ปุ่นและเยอรมนี[9]: 474–5  โดยเจรจาขอยกเลิกสิทธิถอนคดี[17]: 158–60  ส่วนเรื่องอัตราศุลกากร ปรีดีเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาจนเริ่มจากสหรัฐในปี 2463 แม้ยังมีการกำหนดเพดานสูงสุดของภาษีศุลกากรที่สยามสามารถเรียกเก็บได้อยู่เป็นเวลา 10 ปี จนในช่วงปี 2480–1 สนธิสัญญาใหม่ทำให้ไทยมีอิสระเต็มที่ทางรัษฎากร[17]: 162  ความชอบในการแก้ไขสนธิสัญญากับต่างประเทศทำให้รัฐบาลขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดินให้เป็นบำเหน็จ[17]: 170–1  เขายังมีส่วนเจรจาปักปันเขตแดนใหม่กับบริเตน ทำให้สยามได้ดินแดนเพิ่มขึ้นในแม่น้ำลายที่จังหวัดเชียงราย และดินแดนที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำปากจั่นที่จังหวัดระนอง[17]: 173 

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและไม่ขอรับตำแหน่งอีกในปี 2481 กลุ่มคณะราษฎรเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวม 4 คน รวมทั้งปรีดีด้วย แต่ผลปรากฏว่าแพ้หลวงพิบูลสงคราม เชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะปรีดีมีความคิดก้าวหน้าและถูกมองว่านิยมระบอบสาธารณรัฐ[13]: 70–1  อีกส่วนหนึ่งคือจำเป็นต้องเตรียมการป้องกันประเทศท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวน[11]: 124 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

[แก้]

เมื่อปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี 2481 เขาประกาศใช้พิกัดอัตราอากรศุลกากรใหม่หลังเจรจายกเลิกอัตราเดิมไปแล้วก่อนหน้านี้[17]: 179  เขาลดหรือเลิกเก็บอากรศุลกากรสินค้าบางประเภทเพื่อส่งเสริมการนำเข้า เช่น สินค้าเพื่ออุดหนุนเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม การแพทย์ วิทยาศาสตร์และการศึกษา เป็นต้น ทั้งมีการเปลี่ยนให้เก็บภาษีขาออกเป็นตามราคา โดยยอมลดรายได้จากภาษีขาออกเพื่อให้ชาวนาส่งออกข้าวได้มากขึ้น[9]: 486–7  เขายังปฏิรูปโดยตัดภาษีที่มีอัตราถอยหลัง ประกอบด้วยภาษีรัชชูปการ อากรค่านา อากรสวน ภาษีไร่อ้อยและภาษีไร่ยาสูบซึ่งจะทำให้งบประมาณขาดดุลประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี[9]: 491  และเพิ่มรายได้โดยการปรับปรุงภาษีที่มีอยู่แล้วให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ประกอบด้วยภาษีเงินได้ ภาษีโรงค้า ภาษีธนาคาร อากรสแตมป์ และเพิ่มอากรใหม่ ประกอบด้วยอากรมหรสพ เงินช่วยบำรุงท้องที่ (เสียให้ราชการท้องถิ่น) เงินช่วยบำรุงการประถมศึกษา จนสุดท้ายมีการประมวลเป็นประมวลรัษฎากรในวันที่ 1 เมษายน 2482[9]: 491–4  ผลทำให้รายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 (132 ล้านบาทในปี 2481 เป็น 194 ล้านบาทในปี 2484)[11]: 128 

สำหรับรายได้ที่ยังขาดดุลอยู่นั้น ปรีดีเพิ่มอากรศุลกากรสินค้าที่ผลิตได้เองในประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม และเพิ่มภาษีสรรพสามิตโดยเรียกเก็บจากสุรา รัฐผูกขาดและจำหน่ายฝิ่นเพื่อหวังลดการบริโภค[9]: 500–1  มีการขยายชลประทานเพื่อส่งเสริมการทำนาเกลือ[17]: 193  เขายังส่งเสริมให้รัฐบาลร่วมลงทุนในเขตดังกล่าวและประกันรับซื้อเกลือสมุทร[11]: 129  เขาให้กรมสรรพสามิตซื้อบริษัทบริติชอเมริกันทูแบโก ซึ่งมีการออกกฎหมายให้รัฐบาลผูกขาดยาสูบ[9]: 502–3  อีกทั้งเข้าเป็นเจ้าของโรงงานสุรา เช่น โรงงานสุราบางยี่ขัน เป็นต้น[17]: 192  ปรีดีศึกษาเรื่องยาสูบอย่างใกล้ชิด จนมีหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเขาทดลองผสมยาสูบและสูบเองจนมึนเมา[9]: 503  ปรีดียังสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนเกิดคดีแพ่งระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[11]: 133 

ปรีดีแสดงทองคำแท่งที่รัฐบาลซื้อมาแก่ผู้แทนสื่อมวลชน, ปี 2483

ต่อมาก็ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติมาพิจารณาใหม่อย่างจริงจัง โดยเริ่มจากจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน มีหน้าที่เหมือนธนาคารพาณิชย์อย่างเดียว และเร่งฝึกพนักงาน ต่อมาจึงจัดตั้งธนาคารชาติไทยขึ้นในปี 2483 ซึ่งมีหน้าที่ออกธนบัตรเพิ่มขึ้นมาด้วย[9]: 525–8  ในเวลานั้นเป็นช่วงใกล้สงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น ปรีดีคาดการณ์ว่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงซึ่งสยามประเทศใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในขณะนั้นอาจมีมูลค่าลดลงได้ จึงนำเงินปอนด์ไปซื้อทองคำแท่งมาเก็บสำรองแทน นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ[25]: 144–5 [9]: 512–20  ธุรกรรมครั้งนั้นทำให้รัฐบาลได้กำไร 5.05 ล้านบาท[11]: 131  ทุนนี้เป็นทุนตั้งต้นของสำนักงานธนาคารชาติไทยโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว[11]: 131  ปรีดีได้ฝากทองคำบางส่วนไว้ในต่างประเทศ ประกอบด้วยบริเตน สหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งในเวลาต่อมาจะเป็นทุนสำหรับขบวนการเสรีไทยในต่างประเทศด้วย[17]: 182  เขาริเริ่มการจัดทำงบประมาณแผ่นดินให้เป็นแบบแผนและให้ขึ้นกับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร[17]: 182 

ในปี 2482 เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน เขาดำริจะเรียกร้องดินแดนของอินโดจีนคืนแก่สยามด้วยวิถีทางตามกฎหมาย แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เลือกใช้วิธีทวงดินแดนด้วยกำลังแทน[17]: 193  ช่วงก่อนสงครามเขาขัดขวางคำขอกู้ของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยกำหนดเงื่อนไขให้ญี่ปุ่นชำระคืนเป็นทองคำแท่ง ทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจมาก และมองว่าปรีดีเป็นตัวการขัดขวาง[11]: 143 

นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้มีบทบาทในการปฏิรูปการปกครองของสงฆ์โดยร่างพระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. 2484 ใช้แทนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ทำให้การปกครองสงฆ์เป็นประชาธิปไตย[e]

บทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

[แก้]

เมื่อญี่ปุ่นเคลื่อนพลเข้าประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ปรีดีกับดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น เป็นผู้คัดค้านการยอมให้กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านประเทศของทูตญี่ปุ่น และคัดค้านการเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น[17]: 206–7  ปรีดีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถูกมองว่าไร้อำนาจ โดยมติของสภาผู้แทนราษฎร การแต่งตั้งนี้มีมูลเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างปรีดีกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลอดจนอิทธิพลบีบบังคับของญี่ปุ่นเนื่องจากปรีดีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขัดขวางมิให้ญี่ปุ่นนำเงินสกุลเยนมาแลกเงินบาทเพื่อใช้ซื้อเสบียงเลี้ยงกองทัพญี่ปุ่น และไม่ยอมให้กู้ยืมเงินบาท[17]: 204–5, 208–9 [9]: 537–8, 540  คล้อยหลังปรีดีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี รัฐบาลก็ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม และเมื่อรัฐบาลประกาศสงครามต่อสหราชอาณาจักรและสหรัฐเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 ปรีดีในฐานะหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หลีกเลี่ยงการร่วมลงนามในประกาศสงคราม อันจะทำให้ประกาศไม่มีผลสมบูรณ์[17]: 212  ระหว่างสงคราม ปรีดีถวายความปลอดภัยให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์โดยจัดให้ไปพำนักอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน[9]: 566 

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2486 ปรีดีได้รับคำสั่งจากจอมพล ป. พิบูลสงครามในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย แต่เขาไม่ยอมปฏิบัติตามเพราะเห็นว่าการสั่งผู้สำเร็จราชการเป็นโมฆะตามกฎหมาย ในที่สุดปรีดีได้รับการอารักขาจากทหารเรือ[9]: 547–9  ในวันที่ 22 กันยายน 2486 จอมพล ป. ตั้งกรรมการสอบสวนปรีดีโดยกล่าวหาว่าเขาว่าแผนจะจับตนเพื่อเป็นการต่อต้านญี่ปุ่น แต่รอดพ้นจากข้อหาไปได้อย่างหวุดหวิด[9]: 553 

ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญผลักดันให้พันตรี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2487 หลังรัฐบาลจอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากแพ้เสียงร่างพระราชบัญญัติสำคัญ 2 ฉบับ[17]: 224 [f] เขายังแต่งตั้งพลเอก พจน์ พหลโยธินเป็นรัฐมนตรีลอย, แม่ทัพใหญ่ (แทนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ถูกยกเลิกไป) และผู้บัญชาการทหารบก ตลอดจนตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เพื่อป้องกันรัฐประหาร[17]: 230–6 

หัวหน้าขบวนการเสรีไทย

[แก้]
1
2
3
ผู้นำเสรีไทย
1
ปรีดี พนมยงค์
2
อดุล อดุลเดชจรัส
3
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

ปรีดีเป็นผู้นำจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นหรือขบวนการเสรีไทยในประเทศ[25]: 195–200  ทวี บุณยเกตุ เล่าว่า ปรีดีติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วส่งคนออกนอกประเทศเป็นสาย ๆ และดำริแผนให้ทวีได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศ แต่จอมพล ป. ขัดขวาง[17]: 215–7  เมื่อแผนตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นไม่สำเร็จ จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ ซึ่งสำนักงานบริการด้านยุทธศาสตร์ (OSS) และหน่วย 136 ที่เป็นฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐ และบริเตนในอินเดียตามลำดับ ตั้งรหัสนามให้ว่า "รูธ" (Ruth) ทั้งสองประเทศก็ขอส่งตัวแทนมาขอตั้งหน่วยปฏิบัติการลับในพระนครด้วย[17]: 218–9 

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 ปรีดีแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทราบว่า ไทยจะใช้อุบายบอกเลิกสัญญาต่าง ๆ กับญี่ปุ่น[9]: 556 [17]: 236–7  และเสรีไทยจำนวน 8 หมื่นคนทั่วประเทศพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ร้องขอให้ชะลอแผนนี้ไว้ก่อน[29] อย่างไรก็ดี สำหรับการเจรจาการเมืองเรื่องการรับรองเอกราชของไทยนั้น สหราชอาณาจักรไม่ยอมตอบ สุดท้ายมีการกำหนดวันที่ 1 กันยายน 2488 เป็นวันจับอาวุธลุกขึ้นสู่กับทหารญี่ปุ่นในประเทศ[9]: 557–8  อย่างไรก็ดี จักรวรรดิญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 15 สิงหาคมก่อนวันลงมือ

บทบาททางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

ประกาศสันติภาพ

[แก้]
ปรีดีประกาศสันติภาพในปี 2488

วันที่ 16 สิงหาคม 2488 ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกประกาศสันติภาพ ใจความว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติในการสถาปนาสันติภาพในโลกนี้ ต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันสันติภาพไทย[25]: 202–9 [30] ภายหลังประกาศสันติภาพ ปรีดีประกาศยกเลิกขบวนการเสรีไทย[29]

เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน จอมพล เจียง ไคเชก หัวหน้ารัฐบาลชาตินิยมจีนเรียกร้องจะเข้ามาปลดอาวุธทหารญีปุ่นที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ 16 องศาเหนือ หรือเกือบครึ่งประเทศ ปรีดีได้ขอแฮร์รี ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐให้ยับยั้งคำขอดังกล่าวได้สำเร็จ[9]: 587–8  ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกร้องให้ไทยจับตัวผู้ที่ถูกระบุตัวเป็นอาชญากรสงครามไปขึ้นศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกลในประเทศญี่ปุ่น[9]: 597  ด้านจอมพล ป. พิบูลสงครามก็เขียนจดหมายถึงปรีดีขอให้ฝ่ายหลังช่วยเหลือ[17]: 139–40  สุดท้ายด้วยการเจรจาของปรีดีทำให้ไทยได้รับความยินยอมให้มีกฎหมายอาชญากรสงครามของไทยโดยเฉพาะมาใช้บังคับ และจัดตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้นในประเทศไทย[9]: 598 

ฝ่ายสัมพันธมิตรแจ้งให้ปรีดีทราบว่า สัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครอง รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และให้รีบออกแถลงการณ์ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร เพื่อลบล้างข้อผูกพันทั้งหลายที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำไว้กับญี่ปุ่น[31][32]

เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีแล้วปรีดี พนมยงค์จึงขออัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติประเทศไทยเพื่อทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองต่อไป โดยได้เสด็จกลับถึงพระนครวันที่ 5 ธันวาคม 2488 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบปรีดีที่ไปเฝ้ารับเสด็จบางตอนว่า "ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอันมากที่ได้ปฏิบัติกรณียกิจแทนข้าพเจ้า ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อข้าพเจ้าและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ แสดงไมตรีจิตในคุณงามความดีของท่าน ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ และช่วยบำรุงรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้"[33]: 33  ด้วยคุณูปการที่เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองในยามคับขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องปรีดี พนมยงค์ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 ธันวาคม 2488 ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สามัญชนพึงได้รับพระราชทานแก่เขา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2488[34]

นายกรัฐมนตรีและทูตสันถวไมตรี

[แก้]
ปรีดีกับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ใน พ.ศ. 2489

หลังสงคราม ปรีดีพยายามรักษาฐานอำนาจของตนผ่านการควบคุมตำรวจ สารวัตรทหารและกลุ่มเสรีไทย[35]: 202  ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันวิจารณ์ว่า อาวุธในมือเสรีไทยเป็น "คลังแสงส่วนตัวของกองทัพส่วนตัว"[35]: 202  ในเดือนมกราคม 2489 หลังการเลือกตั้งใหม่แทนสภาชุดเดิมที่ยุบไปหลังสงครามยุติ ปรีดีด้วยเห็นว่าความคิดทางการเมืองของควงเปลี่ยนไปจากคณะปฏิวัติเดิมแล้ว จึงสนับสนุนให้ดิเรก ชัยนามเป็นนายกรัฐมนตรี แต่แพ้เสียงควง อภัยวงศ์ พรรคประชาธิปัตย์จึงได้จัดตั้งรัฐบาลช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2489 ต่อมา รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่ผ่านสภา จึงลาออกจากตำแหน่ง พรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญสนับสนุนปรีดีให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 7[17]: 250  เขาเจรจาแก้ไขความตกลงสมบูรณ์แบบในข้อที่ไทยจะต้องส่งข้าวเปล่าให้แก่สหราชอาณาจักร กลายเป็นต้องซื้อข้าวไทยแทน[17]: 251  เขาเป็นผู้ก่อตั้งหอสมุดดำรงราชานุภาพ[36]: 48  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งทั้งสองสภา ก็ได้ประกาศใช้ในสมัยของเขาด้วย ผู้แทนทางทูตอเมริกันประเมินว่า นโยบายของรัฐบาลเขา "ไม่มีสังคมนิยมเจือปน" จะมีก็แต่การสนับสนุนสหกรณ์เกษตรกรและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น[35]: 188 

วันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต รัฐบาลปรีดีที่เพิ่งชนะเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว ปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 แต่สภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนให้ปรีดีดำรงตำแหน่งตามเดิม[37]: 122–9  เขายังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภาช่วงสั้น ๆ ก่อนลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต 2 ซึ่งเขาได้รับเลือกตั้งเพราะไม่มีผู้อื่นลงสมัครแข่ง[17]: 259  สำหรับบทบาทของปรีดีในกรณีสวรรคต สุลักษณ์ ศิวรักษ์เขียนว่า เขาปกป้องเชื้อพระวงศ์ที่ประพฤติผิด และไม่ได้ให้อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชันสูตรพระศพแต่แรก และจับกุมผู้ทำลายหลักฐาน[1]: 5–6 

กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลได้ทำให้ศัตรูทางการเมืองของปรีดี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารสายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สูญเสียอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์[1]: 54  และกลุ่มอำนาจเก่า[38] ฉวยโอกาสนำมาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง"[1]: 54–55 [39][9]: 668  และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาในเดือนสิงหาคม 2489 โดยหลังจากนั้นหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มปรีดีให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน[37]: 129–134 

ต้นเดือนพฤศจิกายน 2489 ภายหลังจากที่ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลหลายประเทศให้ไปเยือนประเทศเหล่านั้น รัฐบาลไทยทราบจึงแต่งตั้งเขาเป็นทูตสันถวไมตรี โดยได้ไปเยือนประเทศจีนเป็นแห่งแรก จากนั้นก็ไปฟิลิปปินส์ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ รวม 9 ประเทศ และกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2490[40][41] ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติลำดับที่ 55 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2489 โดยปรีดีใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำประเทศฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียตมิให้ทั้งสองประเทศนี้ในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติใช้อำนาจยับยั้งการสมาชิกเข้าเป็นสมาชิกของไทย[17]: 260–1 

เขายังได้มีข้อเสนอแนะด้านการพัฒนาเกษตรกรรมแก่รัฐบาล เช่น ส่งเสริมการผสมพันธุ์ฝ้าย การใช้เครื่องจักรช่วยในการกสิกรรม จัดระเบียบอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และการจับปลาใหม่ ส่งเสริมโครงการสร้างบ้านเป็นงานอาคารสงเคราะห์ สร้างสวนสาธารณะ ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ[9]: 747–50  เขาเสนอให้สร้างเขื่อนชัยนาทโดยรัฐบาลก็เห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว[9]: 756  ใน พ.ศ. 2490 ปรีดีพยายามขอการสนับสนุนจากชาติตะวันตกแก่รัฐบาลเขา แต่นอกเหนือจากนั้น ยังเป็นไปเพื่อขอการสนับสนุนแก่บริษัทเขาและเขื่อนชัยนาท นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำคนแรกที่ขอรับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทหารจากสหรัฐ[35]: 203–4  เขายังพยายามเข้าเป็นพันธมิตรทางทหารของสหรัฐ และขอที่ปรึกษาทางทหารมาเพื่อปรับปรุงกองทัพไทย แต่สหรัฐปฏิเสธว่าไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภา[35]: 204  อย่างไรก็ดี เขามีความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายเรียกร้องเอกราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนาม โดยผู้แทนเวียดนามระบุว่า มีความปรารถนาก่อตั้งสหพันธ์ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อว่าปรีดีจะเป็นหัวหน้าสหพันธ์ดังกล่าวโดยธรรมชาติ[35]: 205 

ลี้ภัย

[แก้]
ปรีดีขณะลี้ภัยที่ประเทศสิงคโปร์หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490

ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะทหารแห่งชาติที่มีพลโท ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำ และมีจอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นหัวหน้าใหญ่ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะรัฐประหารยังหยิบยกข้อกล่าวหารุนแรงว่าปรีดีเป็นผู้บงการลอบปลงพระชนม์อดีตพระมหากษัตริย์ด้วย หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารได้นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกยิงทำเนียบท่าช้างวังหน้าซึ่งปรีดีและครอบครัวอาศัยอยู่หวังจะจับกุมตัวเขา แต่เขาก็หลบหนีไปได้ภายใต้การอารักขาของทหารเรือและได้อาศัยฐานทัพเรือสัตหีบเป็นที่หลบภัยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อพิจารณาเห็นว่ายังไม่พร้อมต่อต้านคณะรัฐประหาร จึงได้ลี้ภัยการเมืองโดยความช่วยเหลือของสถานทูตสหราชอาณาจักรและสหรัฐไปยังประเทศสิงคโปร์ จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2491 จึงออกเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐจีน[42]: 50–60  ระหว่างนั้นทางการไทยออกหมายจับปรีดีในคดีลอบปลงพระชนม์ อีกทั้งขอให้ทางการสหราชอาณาจักรส่งตัวปรีดีเป็นผู้ร้ายข้ามแดนด้วย แต่ทางการสหราชอาณาจักรปฏิเสธ[9]: 784  ทั้งนี้ ทางการสหรัฐปฏิเสธตรวจลงตราเดินทางแก่ปรีดีเพราะไม่อยากสร้างความขุ่นเคืองแก่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม[35]: 208 

หลังลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนได้ประมาณ 7 เดือน ก็ลอบกลับเข้าประเทศเพื่ออำนวยการ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" ซึ่งประกอบด้วยนายทหารเรือและอดีตเสรีไทยหลายนาย ในความพยายามยึดอำนาจคืนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 แต่กระทำไม่สำเร็จ (เรียกกันว่า "กบฏวังหลวง") หลังเหตุการณ์ ปรีดีลอบพำนักอยู่ในประเทศไทย 6 เดือนก่อนโดยสารเรือจำปลาขนาดเล็กหนีไปพำนักยังสิงคโปร์ ก่อนมุ่งหน้าต่อไปยังฮ่องกง ปรีดีเขียนเล่าว่า ขณะเปลี่ยนเรือไปชิงเต่า ได้รับการต้อนรับจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง และได้เชิญเข้าร่วมพิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย[9]: 792–3  ระหว่างนั้น ปรีดีอยู่ในฐานะแขกของรัฐบาลจีนซึ่งออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ซ้ำยังได้รับข้อเสนอว่าทางการจีนพร้อมเปิดสงครามกลางเมืองคอมมิวนิสต์ในไทยเพื่อให้ปรีดีกลับไปมีอำนาจ แต่เขาปฏิเสธ[9]: 797–801  ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน ปรีดีได้มีโอกาสพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำพรรคและรัฐบาลจีนไม่ว่าจะเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหมา เจ๋อตง นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล และเติ้ง เสี่ยวผิง นอกจากนี้ได้รับเชิญไปงานศพของโฮจิมินห์ ผู้นำปฏิวัติเวียดนาม พบเจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรีลาว[9]: 806–7  ใน พ.ศ. 2499 ขั้วอำนาจจอมพล แปลก และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ พยายามชักชวนปรีดีกลับประเทศเพื่อต่อสู้คดีสวรรคตอีก เพื่อช่วยคานอำนาจกับขั้วอำนาจจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และศักดินา ด้านรัฐบาลสหรัฐเตือนจอมพลแปลก ว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวาย[43] ในปี 2501 ปรีดีเสนอให้รัฐบาลจอมพลถนอมขุดคลองที่คอคอดกระ[17]: 8–9 

ปรีดีเข้าพบเหมา เจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ใน พ.ศ. 2508

ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 นายกรัฐมนตรีจีน โจว เอินไหล ทราบความประสงค์ของปรีดีที่ต้องการเดินทางไปกรุงปารีสเพื่ออยู่กับครอบครัว จึงออกหนังสือเดินทางคนต่างด้าวให้ปรีดีเดินทางจากประเทศจีนไปยังกรุงปารีส ด้วยความช่วยเหลือจากกีโยม จอร์จ-ปีโก มิตรเก่าซึ่งเคยเป็นอุปทูตฝรั่งเศสประจำประเทศสยาม[9]: 839–40  ถึงกรุงปารีสในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2513 ปรีดีจึงได้พำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศสนับแต่นั้น มาถึงไม่นานเกิดความขัดแย้งที่ทางการไทยไม่ยอมออกหนังสือรับรองการมีชีวิตอยู่และไม่ยอมจ่ายเงินบำนาญให้ จึงฟ้องร้องจนได้รับทั้งสองประการ[9]: 841  ปรีดีจึงได้รับความรับรองจากทางราชการในฐานะคนไทยโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ และได้รับเงินบำนาญตลอดจนได้รับหนังสือเดินทางไทย[44]

เวลา 11 นาฬิกาเศษ ของวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอ็องโตนี ชานกรุงปารีส ปรีดี สิ้นใจด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน[2]

ครอบครัวให้อัญเชิญอัฐิของปรีดีกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2529[13]: 336  พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร 10 ไตรในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอัฐิในวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งอาจตีความได้ว่าทรงให้ความสำคัญกับปรีดี หรือพระราชทานอภัยโทษก็ได้[13]: 337 

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ครอบครัว

[แก้]
1
2
3
ภาพถ่ายครอบครัวปรีดีปี 2474
1
ปรีดี พนมยงค์
2
พูนศุข พนมยงค์
3
พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)

ปรีดีสมรสกับพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ ธิดามหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (สุวรรณศร) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471[45] ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าปรีดี 12 ปี[11]: 36  มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 6 คน คือ

  1. ลลิตา พนมยงค์
  2. ปาล พนมยงค์
  3. สุดา พนมยงค์
  4. ศุขปรีดา พนมยงค์
  5. ดุษฎี พนมยงค์
  6. วาณี พนมยงค์

ภาพยนตร์

[แก้]
ปรีดีขณะอำนวยการสร้างภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก พ.ศ. 2483

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติขึ้น ปรีดีเล็งเห็นว่าลัทธิเผด็จการทหารกำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก จึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก[46] เพื่อสื่อทัศนะสันติภาพและคัดค้านการทำสงครามผ่านไปยังนานาประเทศ โดยแสดงจุดยืนอย่างแจ่มชัดด้วยพุทธภาษิตที่ปรากฏในภาพยนตร์ที่ว่า "นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ" (ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบสันติ) ยิ่งไปกว่านั้นเขายังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อต่อด้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี[47]

งานเขียน

[แก้]

ปรีดีเป็นผู้ใฝ่หาความรู้ทางด้านวิทยาการต่าง ๆ รวมทั้งสังคมศาสตร์ ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน ได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ รวมทั้งผลงานของเมธีทางด้านปรัชญาและสังคมศาสตร์ เช่น คาร์ล มาคส์, ฟรีดริช เองเงิลส์, วลาดีมีร์ เลนิน, โจเซฟ สตาลิน และเหมา เจ๋อตง ในเชิงเปรียบเทียบสภาพสังคมไทยทุกแง่ทุกมุม เช่น ระบอบเศรษฐกิจ การเมือง ทัศนะสังคม ประวัติศาสตร์ ชนชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี แล้วได้เรียบเรียงเป็นบทความ ซึ่งได้ตีพิมพ์ในโอกาสต่อมา[2]

งานเขียนชิ้นสำคัญของเขาที่นำพุทธปรัชญามาวิเคราะห์วิวัฒนาการของมนุษยสังคมคือ "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ซึ่งได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งและเป็นที่สนใจของผู้ที่ต้องการศึกษาอยู่ตลอดมา เพราะข้อความที่เขียนอันเป็นสัจจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย[2]

สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง…พืชพันธุ์ รุกขชาติ และสัตวชาติทั้งปวง รวมทั้งมนุษยชาติที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้เกิดมาแล้วก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตได้อีกต่อไป แล้วก็ดำเนินสู่ความเสื่อมและสลายในที่สุด

ผลงานงานเขียนบางส่วนของปรีดี ได้แก่[48]

  • คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจและเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรกับเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ,โรงพิมพ์ลหุโทษ,2476
  • บันทึกข้อเสนอเรื่อง ขุดคอคอดกระ, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502
  • ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน (Ma vie mouvementee et mes 21 ans d' exil en Chine Populaire)
  • ความเป็นมาของชื่อ “ประเทศสยาม” กับ “ประเทศไทย”
  • จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม
  • ประชาธิปไตย เบื้องต้นสำหรับสามัญชน
  • ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ
  • ปรัชญาคืออะไร
  • "ความเป็นไปบางประการในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์
  • บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย
  • ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเอกภาพของชาติและประชาธิปไตย
  • สำเนาจดหมายของนายปรีดีตอบบรรณาธิการสามัคคีสารเรื่อง ขอทราบความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ ๑๔-๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ และสังคมสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย,ปราโมทย์ พึ่งสุนทร,2516
  • ความเป็นเอกภาพกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาชาวปักษ์ใต้แห่งประเทศไทย, 2517
  • อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน, ประจักษ์การพิมพ์, 2518

ความคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจ

[แก้]

หน่วยข่าวกรองฝรั่งเศสระบุว่า ปรีดีในวัยหนุ่ม "เป็นตัวการได้รับค่าจ้างของพวกโซเวียต ... เป็นสาวกลัทธิคอมมิวนิสต์"[35]: 198  แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระทรวงสงครามสหรัฐและโอเอสเอส ระบุว่า ปรีดีเป็นผู้นิยมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง "นักเสรีนิยมและรูปเคารพของเหล่าปัญญาชนหนุ่มชาวสยาม"[35]: 198  คณะผู้แทนทางทูตอเมริกันก็ระบุว่า ในอดีตเขาอาจโน้มเอียงไปทางคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบัน (ปี 2488) เป็นแค่นักสังคมนิยมอ่อน ๆ เท่านั้น[35]: 198 

ความสนใจ

[แก้]

ปรีดีมีความสนใจในแนวคิดระบอบประชาธิปไตยจากท่านอาจารย์เทียนวรรณและ ก.ศ.ร. กุหลาบ สมัยเรียนระดับมัธยมศึกษา[49] และเขายังสนใจในด้านศาสนาพุทธอีกด้วย[50] โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง "กฎบัตรของพุทธบริษัท" ที่พุทธทาสภิกขุส่งไปให้ ปรีดีพกไว้ในกระเป๋าเสื้อนอกติดตัวอยู่ตลอดเวลาตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต[51]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ปรีดี พนมยงค์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]

มรดก

[แก้]
อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์)

วันสำคัญ

[แก้]

ทุกวันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของปรีดี พนมยงค์ ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล เมื่อปี 2543 ปรีดีได้รับการประกาศยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และได้มีการบรรจุชื่อไว้ในปฏิทินเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของยูเนสโก[68] ในโอกาสนั้น คีตกวี สมเถา สุจริตกุล ประพันธ์ซิมโฟนีชื่อ ปรีดีคีตานุสรณ์ เพื่อยอเกียรติ[69]

พันธุ์สัตว์

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2546 มีการค้นพบปลาปล้องทองปรีดี (Schistura pridii) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยตั้งชื่อตามนามของเขา[70] และเอช.จี.ไดแนน (H.G.Deignan) ค้นพบชนิดย่อยใหม่ของนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง สถาบันสมิทโซเนียนแห่งสหรัฐตั้งชื่อว่า นกปรีดี (Chloropsis aurifrons pridii) ที่ดอยอ่าง ดอยอินทนนท์ ไดแนน ยังตั้งชื่อนกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าอีกชนิดย่อยหนึ่ง ที่พบกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคใต้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ขบวนการเสรีไทยว่า Chloropsis cochinchinensis seri-thai (ชื่อสามัญว่า นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเสรีไทย หรือนกเสรีไทย)[71]

สถานที่

[แก้]
  • อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ 2 ที่คือ บริเวณที่ดินถิ่นกำเนิดของปรีดี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมือง ตรงข้ามวัดพนมยงค์ อนุสาวรีย์ปรีดีพนมยงค์เป็นรูปสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอุดมการณ์อันสำคัญยิ่งของปรีดี 3 ประการคือ สันติภาพ เสรีไทยและประชาธิปไตย[72] และห้องอนุสรณ์สถานบนตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอนุสรณ์แห่งแรกที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงปรีดี พนมยงค์[73]
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้จัดสร้างอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ขึ้น ณ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 สำหรับใช้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฎรไทย เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2538[74]
  • ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ 6-1 (ปรีดี พนมยงค์) ชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ใช้เป็นห้องประชุมสำหรับพิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ และพิธีประสาทปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ช่องเก็บอัฐิของปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา ภายในพระเจดีย์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

อื่น ๆ

[แก้]
  • ถนนปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ 3 สาย คือที่ถนนสุขุมวิท 71, ถนนใจกลางเมืองพระนครศรีอยุธยา และภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
  • สะพานปรีดี-ธำรง สะพานข้ามแม่น้ำป่าสักอันเป็นทางเข้าออกหลักของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ตั้งตามชื่อปรีดี พนมยงค์ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์[79]
  • ถนนประดิษฐ์มนูธรรม เป็นถนนเลียบทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์) มีความยาว 12 กิโลเมตร
  • แสตมป์ ชุดที่ระลึก 111 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด วางจำหน่ายครั้งแรก 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554[80]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยมีตัวละคร ปรีดี พนมยงค์ พากย์เสียงโดย สุเมธ องอาจ

ภาพลักษณ์

[แก้]

พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อ 'ปรีดี'
แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ

—พรรคแสงธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[81]: 7 

ปรีดี พนมยงค์ ในปี 2490

ภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ถูกสร้างไปสองทางทั้งบวกและลบ มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ในการเมืองและสังคมไทย ซึ่งสะท้อนถึงการต่อสู้ระหว่างเผด็จการทหาร อนุรักษนิยมและนิยมเจ้า กับเสรีนิยมและสังคมนิยม เผด็จการทหารสร้างภาพลักษณ์เขาในทางลบเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเมืองแก่ตนเอง อนุรักษนิยมและนิยมเจ้าพยายามรักษาบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายหลังพยายามสร้างภาพลักษณ์ในทางที่ดีเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับเผด็จการ[13]: 22–3  สำหรับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขายกย่องปรีดีว่ามีความสำคัญเทียบเท่าเหมาเจ๋อตงของจีน โฮจิมินห์ของเวียดนาม และชวาหะร์ลาล เนห์รูของอินเดีย[1]: 1  และจากกรณียกิจเป็นผู้นำขบวนการกู้ชาติของเขาทำให้เขาอยู่ในสถานะที่ไม่แพ้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[1]: 12 

เขาได้รับยกย่องว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎร เป็นนักการเมืองผู้ซื่อสัตย์และมีอุดมการณ์ ทั้งมีความคิดก้าวหน้า จุดยืนทางการเมืองของเขานำมาซึ่งปัญหาทางการเมือง[13]: 30  จากความในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 เขาถูกมองว่าเป็นนักประชาธิปไตยที่ไม่นิยมเจ้าไปจนถึงเป็นผู้นิยมระบอบสาธารณรัฐ[13]: 37–8  ภาพลักษณ์ของเขาค่อย ๆ ดีขึ้นหลังกบฏบวรเดชล้มเหลว จนระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่เขาได้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังสงครามยุตินับเป็นช่วงที่เขามีภาพลักษณ์ทางบวกสูงสุด[13]: 81  อย่างไรก็ดี แม้เขาจะหันมาแสดงว่าจะฟื้นฟูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยแล้วก็ตาม แต่กลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมและนิยมเจ้ายังคงแคลงใจอยู่[13]: 82–4 

จากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เกิดข่าวลือว่าพระเจ้าอยู่หัวถูกลอบปลงพระชนม์แพร่ไปไม่หยุด[13]: 91–6  พลโท ผิน ชุณหะวัณ และหลวงกาจสงคราม (เก่ง ระดมยิง) เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกระพือข่าวกล่าวหาว่าปรีดีเป็นผู้บงการกรณีสวรรคต[13]: 107–111  ต่อมา คณะทหารนอกราชการผู้ก่อรัฐประหารปี 2490 ออกหมายจับปรีดีฐานลอบปลงพระชนม์[13]: 112  ในระหว่างคดียังไม่สิ้นสุดนั้น คณะรัฐประหารก็กุเรื่องเพิ่มเติมว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์และอยากเป็นประธานาธิบดีด้วยเพื่อลดแรงต่อต้านจากคู่แข่งทางการเมือง[13]: 113  สำหรับกลุ่มอนุรักษนิยม-นิยมเจ้าเองก็พยายามสร้างให้ปรีดีเป็นปีศาจการเมืองด้วยเช่นกัน พระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารให้เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนกรณีสวรรคต พยายามสรุปคดีโดยโทษว่าปรีดีเป็นผู้บงการ[13]: 138–142  หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเขียนอธิบายลดบทบาทของปรีดีในขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย โดยว่าเป็นเพียงผู้จัดตั้งกำลังติดอาวุธเท่านั้น[13]: 149–50 

มีคนบางส่วนพยายามแก้ต่างให้ปรีดี ส่วนหนึ่งเพราะเป็นศิษย์และพันธมิตรทางการเมือง[13]: 163  ส่วนหนึ่งเป็นปัญญาชนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีสร้างปรีดีเป็นปีศาจการเมือง เดือน บุนนาคและไสว สุทธิพิทักษ์เขียนหนังสือชีวประวัติให้ปรีดีเพื่อเชิดชูเกียรติ[13]: 169–70  นักเขียน 4 คน ประกอบด้วยอัศนี พลจันทร (กุลิศ อินทุศักดิ์), อิศรา อมันตกุล, ดาวหาง และ อ. อุดากร เขียนแสดงความเห็นใจที่ปรีดีแพ้ในความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2492 และว่าเป็นโศกนาฏกรรมของคนดี[13]: 180–85  อย่างไรก็ดี ความพยายามเหล่านี้ไม่เพียงพอบดบังกระแสปีศาจการเมืองปรีดีที่ครอบงำการเมืองไทยในพุทธทศวรรษ 2490 ได้[13]: 186 

ตำนานปีศาจการเมืองปรีดีเริ่มเสื่อมพลังลงในทศวรรษต่อมา หลังกลุ่มทหารที่ครองอำนาจทางการเมืองหันไปให้ความสนใจกับการแสดงออกของกลุ่มนักศึกษาแทน[13]: 189–90  ในช่วงเวลานั้นยังมีการกล่าวหาปรีดีถึงกรณีสวรรคตอยู่ ได้มอบหมายทนายให้ฟ้องร้องหมิ่นประมาทต่อบริษัทสยามรัฐ, หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวกและชนะคดี[13]: 231–32  ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เขาปฏิเสธเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเพื่อเจรจาปัญหาผู้ลี้ภัยอินโดจีนเพราะเห็นว่าพลังนักศึกษาขณะนั้นกำลังต่อต้านจอมพลถนอม[13]: 235–37  หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ปรีดีสามารถถ่ายทอดความคิดของตนผ่านทางหนังสือพิมพ์ที่ตนมีสายสัมพันธ์ดีด้วย และเปิดโอกาสให้หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เข้าสัมภาษณ์หลังถูกหนังสือพิมพ์ตะวันตกโจมตีระหว่างลี้ภัยในจีน[13]: 241–45  ชีวประวัติของปรีดีได้รับการเผยแพร่โดยงานเขียนของปราโมทย์ พึ่งสุนทรและสุพจน์ ด่านตระกูลตั้งแต่ปี 2513[13]: 250  นิสิตนักศึกษาและปัญญาชนให้ความสนใจกับการติดต่อปรีดีมากเพิ่มขึ้นสูงสุดแต่ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยหนึ่งเพราะปรีดีต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่นักศึกษาต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสถานการณ์การเมืองต่อมายังผลักดันให้นักศึกษามองว่าการร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นทางออก[13]: 270, 277–8 

แม้หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ยังมีงานเขียนพาดพิงถึงปรีดีในแง่ลบอยู่บ้าง และเขาเคลื่อนไหวโดยการฟ้องคดีหมิ่นประมาทและชนะคดี[13]: 301–3  ปัญญาชนก็หันมามองเขาว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีนิยม[13]: 306  ในปี 2527 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตกอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มองปรีดีเป็นศัตรูมาหลายยุคสมัยจึงเกิดวิกฤตด้านอัตลักษณ์ จึงมีความพยายามให้ความสำคัญแก่ปรีดีเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย[13]: 312  อนุสาวรีย์ปรีดีได้รับก่อสร้างขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งสะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อสร้างความทรงจำร่วมของสังคม[13]: 336  ภาพลักษณ์เสรีนิยมดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์ยังนำไปใช้หาเสียงในปี 2535[13]: 339  การเชิดชูปรีดีให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยยูเนสโกในปี 2543 ส่งผลลบล้างมลทินของเขา[82]: 122  สัญลักษณ์ว่ารัฐบาลยอมรับการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของปรีดี เริ่มจากการเปลี่ยนชื่อถนนสุขาภิบาล 2 เป็นถนนเสรีไทย ตามมาด้วยการเปลี่ยนชื่อสถานที่ต่าง ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับปรีดี[82]: 127–8  สุลักษณ์ ศิวรักษ์ยังกลายมาเป็นผู้มีส่วนสำคัญคนหนึ่งในการตั้งกองทุน 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดยให้เหตุผลว่าต้องการไถ่โทษที่ตนเคยเข้าใจปรีดีผิด[82]: 127–8  นอกจากนี้เขายังได้รับเสนอชื่อเป็นชาวเอเชียแห่งศตวรรษด้วย[83]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. โปรดดู:
    • ดคีดำหมายเลขที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓
    • คดีหมายเลขดำที่ ๑๑๓/๒๕๑๔
    • คดีหมายเลขดำ ที่ ๔๒๒๖/๒๕๒๑
  2. โปรดดู:
    • บันทึก เรื่อง รายงานของคณะกรรมการวิสอมัญซึ่งสภาได้ลงมติตั้งเพื่อให้สอบวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่
    • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รับที่ ๗๖๒/๒๔๗๖ วันที่ ๑/๑๒/๗๖ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๖
    • รายงานคณะกรรมาธิการสอบสวนว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่?
    • กรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ รายงานการประชุมครั้งที่ ๑–๔
  3. ภายหลังจากที่ปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมือง รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย โดยตัดคำว่า "วิชา" และ "การเมือง" ออก เหลือเพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไม่ให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งยังขายหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัย จนไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดที่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล[26][27]
  4. สุพจน์ ด่านตระกูลเล่าว่าเป็นเพราะขุนนางเก่ามีความคิดแบบจารีตนิยม ไม่เห็นชอบให้ประชาชนกล่าวโทษข้าราชการ[17]: 151 
  5. พระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. 2484 ใช้ได้เพียง 20 ปี ก็มีเหตุการณ์ไม่ราบรื่นเกิดขึ้นในสังฆมณฑล จนนำคณะสงฆ์กลับไปสู่การปกครองระบอบเผด็จการโดยคณะเดียวภายใต้พระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. 2505[28]
  6. ควง อภัยวงศ์เล่าว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาไม่กล้าลงพระนามแต่งตั้งพันตรี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ[17]: 227–8 

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 ส. ศิวรักษ์, เรื่องปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์ เก็บถาวร 2021-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 วาณี สายประดิษฐ์, ปรีดีในต่างแดน, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  3. สัจจา วาที, ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เปิดเผยต่อศาล ปรีดี พนมยงค์ คือผู้บริสุทธิ์ เก็บถาวร 2021-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม
  4. UNESCO: MS Data Thailand เก็บถาวร 2009-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, UNESCO
  5. ชีวประวัติย่อของปรีดี พนมยงค์ สกุล พนมยงค์ และ สกุล ณ ป้อมเพชร์ เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โครงการปรีดีพนมยงค์กับสังคมไทย, 2526, หน้า 163
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 วิชัย ภู่โยธิน. (2538). ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เก็บถาวร 2012-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ไทยวัฒนาพานิช, ISBN 974-08-2445-5
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 นาวี รังสิวรารักษ์. (2544). รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์ เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, ISBN 974-604-957-7
  8. ปรีดี พนมยงค์, เรื่องการมีจิตสำนึกอภิวัฒน์ของข้าพเจ้า ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 14
  9. 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 9.11 9.12 9.13 9.14 9.15 9.16 9.17 9.18 9.19 9.20 9.21 9.22 9.23 9.24 9.25 9.26 9.27 9.28 9.29 9.30 9.31 9.32 9.33 9.34 9.35 9.36 9.37 9.38 9.39 9.40 9.41 9.42 9.43 9.44 9.45 9.46 9.47 9.48 9.49 9.50 9.51 9.52 ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์ เก็บถาวร 2021-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, บพิธการพิมพ์, 2493
  10. 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 10.10 10.11 10.12 10.13 บุนนาค, เดือน (1999). "ท่านปรีดีนักกฎหมาย". ใน โสภณศิริ, สันติสุข (บ.ก.). ปรีดีปริทัศน์: รวมทัศนะนักวิชาการต่อปรีดี พนมยงค์ (PDF) (1 ed.). คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน. ISBN 9747833441. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-08-19. สืบค้นเมื่อ 2009-11-19.
  11. 11.00 11.01 11.02 11.03 11.04 11.05 11.06 11.07 11.08 11.09 11.10 11.11 11.12 11.13 11.14 11.15 11.16 11.17 11.18 11.19 11.20 11.21 11.22 11.23 11.24 11.25 11.26 11.27 11.28 11.29 11.30 11.31 11.32 Na Pombhejara, Vichitvong (1983). Pridi Banomyong And The Making Of Thailand's Modern History (PDF). ISBN 9742601755.
  12. 12.0 12.1 12.2 ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2544, ISBN 974-7834-15-4 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "ปรีดี" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  13. 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 13.10 13.11 13.12 13.13 13.14 13.15 13.16 13.17 13.18 13.19 13.20 13.21 13.22 13.23 13.24 13.25 13.26 13.27 13.28 13.29 13.30 13.31 13.32 13.33 13.34 13.35 13.36 เจวจินดา, มรกต. ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475–2526 (PDF). กรุงเทพฯ: โครงการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของไทย ที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ: คณะอนุกรรมการฝ่ายนิทรรศการ คณะกรรมการจัดงานฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2543, 2543. ISBN 9745727938. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-27. สืบค้นเมื่อ 2020-06-20.
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานบรรดาศักดิ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 45, วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2471, หน้า 2718
  15. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการ กราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ เก็บถาวร 2014-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. ทิพวรรณ (บุญทวี) เจียมธีรสกุล, วิทยานิพนธ์เรื่องความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2528, หน้า 409-421, 423-424
  17. 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 17.11 17.12 17.13 17.14 17.15 17.16 17.17 17.18 17.19 17.20 17.21 17.22 17.23 17.24 17.25 17.26 17.27 17.28 17.29 17.30 17.31 17.32 17.33 17.34 17.35 17.36 17.37 17.38 17.39 17.40 17.41 17.42 ด่านตระกูล, สุพจน์ (1971). ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์. พระนคร: ประจักษ์การพิมพ์.
  18. ชัยพงษ์ สำเนียง เล่าเรื่องอภิวัฒน์ 2475, ประชาไท, 20 มิ.ย. 2552, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  19. ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, หน้า 186, ISBN 974-92685-3-9
  20. 20.0 20.1 สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ศิษย์อาจารย์ฉบับที่ 3, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2541
  21. 21.0 21.1 Ashayagachat, Achara (11 May 2013). "Father of Thai democracy, forever misunderstood". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-06-21.
  22. เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2529, หน้า 146-147
  23. ใจจริง, ณัฐพล (2013). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (1 ed.). ฟ้าเดียวกัน. ISBN 9786167667188.
  24. ปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์ เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529, หน้า 31, 59-60
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531
  26. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  27. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก็บถาวร 2007-09-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, www.tu.ac.th
  28. ปรีดี พนมยงค์ กับพระพุทธศาสนา
  29. 29.0 29.1 วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ปรีดี พนมยงค์ กับปฏิบัติการเสรีไทย เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2543, ISBN 974-7833-69-7, หน้า 47–56
  30. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 16 สิงหาคม 2488 ประวัติศาสตร์ที่ "ให้จำ" กับ "ให้ลืม", ประชาไท, เรียกข้อมูลวันที่ 17 พ.ย. 2552
  31. จดหมายของปรีดี พนมยงค์ ถึง พระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และ สหรัฐอเมริกา เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, อมรินทร์การพิมพ์, 2522
  32. United States Department of State, Foreign relations of the United States : diplomatic papers, 1945 เก็บถาวร 2011-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Volume VI, 1945, pp.1278-1279
  33. สุพจน์ ด่านตระกูล, ปรีดี พนมยงค์ กับ ในหลวงอานันท์ และกรณีสวรรคต เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), 2541
  34. "พล.อ. เปรม กับเครื่องราชฯ โบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ซึ่งสามัญชนน้อยคนได้รับพระราชทาน". ศิลปวัฒนธรรม. 28 May 2019. สืบค้นเมื่อ 12 May 2021.
  35. 35.00 35.01 35.02 35.03 35.04 35.05 35.06 35.07 35.08 35.09 Apbomsuvan, Thanet (1987). "THE UNITED STATES AND THE COMING OF THE COUP OF 1947 IN SIAM" (PDF). Journal of The Siam Society (75). สืบค้นเมื่อ 8 February 2021.
  36. ศิวรักษ์, ส. (2012). "ชีวิตและงานของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะที่เป็นพยานทางประวัติศาสตร์ในเรื่องการสร้างสรรค์สติปัญญาอย่างของไทยเราเอง" (PDF). วารสารดำรงราชานุภาพ. 12 (43). ISSN 1513-6884. สืบค้นเมื่อ 2020-06-02.
  37. 37.0 37.1 สุพจน์ ด่านตระกูล, ท่านปรีดี พนมยงค์ กับกับสถาบันกษัตริย์และกรณีสวรรคต เก็บถาวร 2012-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, นิตยสารสารคดี, ฉบับที่ 182, เมษายน พ.ศ. 2543
  38. ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, หน้า 260, ISBN 974-92685-3-9
  39. ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, ลายพระหัตถ์ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ เก็บถาวร 2012-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, แผนกงานจ้าง อัลลายด์พริ้นเตอรส์, โรงพิมพ์โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด, วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2517, หน้า 3-4
  40. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, แสงดาว, 2549, ISBN 974-9818-83-0, หน้า 409-416
  41. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, 100 ปี ของ สามัญชนนาม ปรีดี พนมยงค์, นิตยสารสารคดี, เรียกข้อมูลวันที่ 28 ม.ค. 53
  42. ประทีป สายเสน, กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์ เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์อักษรสาส์น, 2532, ISBN 974-7248-22-7
  43. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: พูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์กรณีสวรรคต พฤษภาคม 2500
  44. สุพจน์ ด่านตระกูล, ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ รับสั่งว่า ในหลวงและสมเด็จพระราชชนนีไม่ทรงเชื่อว่า...ปรีดีฯ สมคบปลงพระชนม์ ร.8 เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2529, หน้า 46, 69
  45. นรุตม์, หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เก็บถาวร 2012-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, แพรวสำนักพิมพ์, อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, หน้า, 2535, ISBN 974-8359-86-7
  46. พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายช้างได้ดีที่สุดในโลก เก็บถาวร 2010-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มูลนิธิหนังไทย, เรียกข้อมูลวันที่ 11 พ.ย. 2552
  47. สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน, กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ กรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรือนแก้วการพิมพ์, 2544, ISBN 974-7834-10-3
  48. บรรณานุกรมงานของปรีดี พนมยงค์, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 11 พ.ย. 2552
  49. ปรีดีเคยเจอเขาทั้งสอง ! ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ สถาบันปรีดี สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563
  50. สัมพันธ์ ก้องสมุทร, ดอกโมกข์ ดอกไม้แห่งพุทธะและธรรมมาตา เก็บถาวร 2012-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ปีที่ 2 ไตรมาสที่ 1 ฉบับที่ 5, หน้า 93
  51. ข่าวสด, เปิดหนังสือกฎบัตรพุทธบริษัท, วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7227 ข่าวสดรายวัน
  52. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๔๕, ๑๙ มิถุนายน ๒๔๘๔
  53. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๑๓, ๑๓ ธันวาคม ๒๔๘๐
  54. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ พระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๓๙, ๒๑ เมษายน ๒๔๗๘
  55. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๐๓๒, ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑
  56. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๔๗, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๔
  57. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๕๙, ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๑
  58. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ เรื่อง ให้ประดับตราต่างประเทศ, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๗๔, ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘
  59. ปรีดี พนมยงค์. Ma Vie Movementee et mes 21 Ans D' Exil en Chine Populaire, แปลและเรียบเรียงโดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร จากหนังสือ บางหน้าของประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ของบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในอดีต -- กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิทยาคาร, พ.ศ. 2522
  60. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๖๒, ๑๘ เมษายน ๒๔๘๑
  61. ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, บทที่ 3 การเข้าพบมุสโสลินีฯ, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 43
  62. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับตราต่างประเทศ, เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๑๖๔, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓
  63. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๒๘, ๒๖ มิถุนายน ๒๔๘๒
  64. ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 9
  65. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๗๙๘, ๒๕ กันยายน ๒๔๘๒
  66. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๕๕๖, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๒
  67. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๕๐, ๔ ธันวาคม ๒๔๘๒
  68. This system is currently under maintenance
  69. กฤษณา อโศกสิน, หน้าต่างบานใหม่ เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2387 ปีที่ 46 ประจำวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2543
  70. ชวลิต วิทยานนท์, ปลาปล้องทองปรีดี ปลาชนิดใหม่ของโลก, นิตยสารสารคดี ปีที่ 19 ฉบับที่ 222, หน้า 38
  71. "นกสวยงามกับเสรีไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-31. สืบค้นเมื่อ 2016-07-17. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  72. อนุสรณ์สถานปรีดีพนมยงค์[ลิงก์เสีย]
  73. ลานปรีดี พนมยงค์ จาก es.foursquare.com
  74. ประวัติสถาบันปรีดี พนมยงค์, เว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์
  75. "ประวัติหอสมุดปรีดี พนมยงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-06. สืบค้นเมื่อ 2016-06-19. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  76. "Pridi Banomyong International College". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-08. สืบค้นเมื่อ 2016-06-19. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  77. DMNEWS บล็อกข่าวส่งเสริมคนดี. (11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552). วิทยาลัยนานาชาติ"ปรีดี พนมยงค์" มิติใหม่ธรรมศาสตร์ สร้างนักศึกษาสู่ตลาดโลก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. (เข้าถึงเมื่อ: 21 กรกฎาคม 2553).
  78. เกี่ยวกับคณะ–คณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์
  79. เกื้อกูล ยืนยงอนันต์. (2527). ความเปลี่ยนแปลงภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 2438-2500. พระนครศรีอยุธยา : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา. ถ่ายเอกสาร.
  80. ปณท ออกแสตมป์100ปี หลวงพ่อปัญญา-ปรีดี พนมยงค์ 
  81. คณะกรรมการโครงการ "ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย". มิตรกำสรวล เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (PDF). กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์: โครงการ "ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-27. สืบค้นเมื่อ 2020-06-20.
  82. 82.0 82.1 82.2 แสงดี, ชนิกานต์ (2017). "กรณีข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทจากหนังสือภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับ การเมืองไทย พ.ศ. 2475 - 2526: ภาพสะท้อนของภาพลักษณ์นายปรีดีในสังคมไทยปัจจุบัน". วารสารประวัติศาสตร์. ISSN 0125-1902.
  83. Asia Week, Asian of the century เก็บถาวร 2010-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า ปรีดี พนมยงค์ ถัดไป
ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 7 (ครม. 15)
(24 มีนาคม พ.ศ. 2489 – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489)
ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
พระยาไชยยศสมบัติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สมัยที่ 1

(20 ธันวาคม พ.ศ. 2481 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484)
เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ
พระยาศรีวิสารวาจา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สมัยที่ 2

(24 มีนาคม พ.ศ. 2489 – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489)
วิจิตร ลุลิตานนท์
พระยาศรีเสนา
(ศรีเสนา สมบัติศิริ)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
(12 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2481)
เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
(จิตร์ ณ สงขลา)
พระยาพหลพลพยุหเสนา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
(29 มีนาคม พ.ศ. 2477 – 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478)
ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
สถาปนาตำแหน่ง
ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(11 เมษายน พ.ศ. 2477 – 18 มีนาคม พ.ศ. 2495)
ศาสตราจารย์ เดือน บุนนาค
(รักษาการ)
เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
(อุ่ม พิชเยนทรโยธิน)

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 – 20 กันยายน พ.ศ. 2488)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาชัยนาทนเรนทร