ข้ามไปเนื้อหา

ยุวชนทหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุวชนทหาร
สัญลักษณ์ของยุวชนทหาร
สัญลักษณ์ของยุวชนทหาร
ประเทศ ไทย
คำขวัญรักชาติยิ่งชีพ
เพลงหน่วยมาร์ชยุวชนทหาร
เครื่องหมายสังกัด
ธงยุวชนนายทหารธงยุวชนนายทหาร
ธงยุวชนทหารจังหวัดธงยุวชนทหารจังหวัด

ยุวชนทหาร (อักษรย่อ: ยวท.) คือ เยาวชนที่ได้รับการฝึกวิชาทหารขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2477 - 2490 เนื่องจากรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามมีนโยบายพื้นฟูการฝึกวิชาทหารให้แก่ประชาชน ดำเนินการโดยกรมยุวชนทหาร กระทรวงกลาโหม (ณ ปี พ.ศ. 2481 ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมเตรียมการทหารในปี พ.ศ. 2484)

ประวัติ

[แก้]

เมื่อกิจการเสือป่าได้ทรุดโทรมลง แต่ไม่ได้หมายความว่าหลักการสำคัญได้สลายลงไปด้วย เหตุการณ์ในยุโรปประมาณปี พ.ศ. 2475 กำลังผันผวนอยู่นั้น รัฐได้คำนึงว่า ทหารกองหนุนมีจำนวนมาก แต่ขาดตัวผู้บัญชาการในตำแหน่งผบ.หมวด (กองหนุน) จึงได้คิดจัดตั้ง กรมยุวชนทหารขึ้น ซึ่งกรมนี้ปรารถนาจะให้กรมนี้เป็นเครื่องจักรผลิตนายทหารชั้น ผบ.หมวด ดังนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2478 กระทรวงกลาโหมได้เริ่มมีการฝึกวิชาทหารให้แก่นักเรียน โดยกำหนดความมุ่งหมายไว้ในระเบียบทหารบก ที่ 1/7742 ว่าด้วยนักเรียนที่จะเข้ารับการฝึกวิชาทหารดังนี้

"ด้วยทางราชการทหารได้พิจารณาความผันแปรเหตุการณ์ขอองโลก ณ ปัจจุบัน (พ.ศ. 2478) รู้สึกเป็นที่แน่ใจว่าอย่างไรเสียก็ต้องเกิดสงครามขึ้นอีก รูปของสงครามคราวต่อไปจะร้ายแรงกว่าที่แล้วๆมาเป็นอันมาก เพราะด้วยความเจริญแห่งอาวุธและวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการประหัตประหารกัน จะมิใช่ทหารรบกันเท่านั้น จะต้องเป็นชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน เพราะเมื่อเกิดสงครามขึ้น เครื่องบินรบอีกฝ่ายหนึ่งจะพยายามเอาลูกระเบิดต่างๆมาทิ้งไว้ในที่ทั่วๆไป เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นโดยแท้ที่เราทั้งหลายทุกคนต้องเตรียมตัวหัดการรบไว้ให้พร้อม ถ้าชาติใดข่มเหง เราทุกคนในชาติจักได้ช่วยกันสู้รบอย่างเต็มที่ คือพวกเราต้องเป็นทหารของชาติ ทุกคนทั้งแผ่นดินนั่นเอง"

กระทรวงกลาโหมผู้ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเห็นว่าในชั้นนี้จะเริ่มฝึกอบรมวิชาการรบแก่กุลบุตรก่อน

หลักเกณฑ์เข้ารับการฝึกวิชาทหารเพื่อเป็นยุวชนทหาร มีดังนี้

  1. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 17 ปี
  2. เป็นลูกเสือเอก
  3. เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย

หน่วยฝึกยุวชนทหารครั้งแรกของประเทศไทย มี 315 นาย อยู่ในความอำนวยการของมณฑลทหารบกที่ 1 ต่อมาได้ขยายกว้างขวางออกไปจนถึงต่างจังหวัด

พ.ศ. 2479 ยกฐานะขึ้นเป็นแผนกฝึกที่ 6 กรมจเรทหารบก ขยายการฝึกออกไปจนถึงต่างจังหวัด

พ.ศ. 2480 ขยายชั้นเรียนถึงชั้น 1,2 และ 3 มีจำนวนประมาณ 3,000 นาย

พ.ศ. 2481 ยกฐานะแผนกฝึกที่ 6 กรมจเรทหารบก ขึ้นเป็น "กรมยุวชนทหารบก" มีจำนวนประมาณ 10,000 นาย (กรุงเทพฯและต่างจังหวัด) แบ่งเป็น 4 แผนก ดังนี้

  • แผนกที่ 1 มีหน้าที่ฝึกยุวชนทหาร ยุวชนนายสิบ ยุวนารี
  • แผนกที่ 2 มีหน้าที่ฝึกยุวชนทหาร เฉพาะกรุงเทพฯ และธนบุรี (สมัยนั้นมีฐานะเป็นจังหวัด)
  • แผนกที่ 3 มีหน้าที่ฝึกยุวชนทหารในต่างจังหวัด (จังหวัดที่ไม่มีหน่วยทหาร)
  • แผนกที่ 4 มีหน้าที่กำหนดแบบแผน หลักสูตร ประสานงานแผนกที่ 1,2,3 และฝึกอบรมครูฝึกยุวชนทหาร
อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร ที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

ระหว่างปี พ.ศ. 2482-2483 ได้เปิดขยายในต่างจังหวัดเพิ่มเติมขึ้นอีกและในเขตจังหวัดชายแดนในเขตปลอดทหารขึ้นด้วย เช่น

  • ภาคเหนือ ได้จัดตั้งหน่วยฝึกยุวชนทหารขึ้นที่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก และ นครสวรรค์
  • ภาคกลาง จัดตั้งที่ ลพบุรี อยุธยา สระบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ
  • ภาคอีสาน จัดตั้งที่ นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น สกลนคร และนครพนม
  • ภาคตะวันออก จัดตั้งที่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา
  • ภาคใต้ จัดตั้งที่ ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร หลังสวน ระนอง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พัทลุง ตรัง ปัตตานี และสงขลา

และยังมียุวชนเหล่าพิเศษ เช่น เหล่าทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารสื่อสาร ฯลฯ อีกด้วย

พ.ศ. 2484 กรมยุวชนทหารบก เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "กรมเตรียมการทหาร" ด้วยความมุ่งหมายที่จะขยายการให้ความรู้ทางวิชาการทหารแก่ประชาชน ซึ่งตรงกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น กรมเตรียมการทหารได้รวบรวมกำลังยุวชนทหารทุกประเภททุกเหล่าบรรจุตามอัตราสงคราม 3 กองพล (27 กองพัน) พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชา เตรียมการที่จะปฏิบัติการรบร่วมกับกองพันได้

พ.ศ. 2485-2486 การฝึกยุวชนทหารได้เจริญก้าวหน้าไปมาก ได้มีการตราพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2486[1] เพื่อกำหนดโครงสร้างทางการปกครอง บทบาท หน้าที่และอำนวยการฝึกให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

พ.ศ. 2490 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ 2 ปี การฝึก "ยุวชนทหาร" ได้ถูกยกเลิกตามพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2490 [2] อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นในด้านการเตรียมกำลังสำรองสำหรับประเทศยังคงมีอยู่ จึงได้มีการจัดตั้งกรมการรักษาดินแดนในปี พ.ศ. 2491 ขึ้นเพื่อทำการฝึกนักศึกษาวิชาทหารเป็นกำลังสำรองทดแทนยุวชนทหารสืบต่อมา

เครื่องแบบ

[แก้]
ลักษณะการแต่งกายของยุวชนทหาร

การเเต่งกาย เเต่งกายด้วยชุดเเขนยาวสีกากีเข็มขัดหนังสีน้ำตาล บางหน่วยอาจจะใช้เป็นหัวเข็มขัดระบุหน่วยฝึกของที่นั้นๆ เช่น นฝ.ยุวชนทหาร นครศรีธรรมราช เป็นต้น คอเสื้อจะมีกนกคอ ของเหล่าทหารราบ เป็นสัญลักษณ์ปืนไขว้กับตับกระสุนปืน จะติดทั้งสองข้างของคอเสื้อ บนบ่าจะมีเข็มบั้งเดี่ยว พร้อมเลขของหน่วยฝึกนั้นๆ ตามด้วยสัญลักษณ์ดอกจันเหมือนของโรงเรียนนายสิบทหารบกในยุคปัจจุบัน หน้าอกซ้ายของเสื้อจะปักคำว่า ย.ว.ท(ยุวชนทหาร)เเละมีเลขประจำตัว อกข้างขวาจะมีตราสัญลักษณ์สามเหล่า เหมือนของกระทรวงกลาโหม ปักอยู่ ประกอบด้วย สมอเรือ,กงจักร,เเละปีก หมวกหม้อตาลมีเเถบผ้าไหมสีเเดงรอบหมวก เเละตราหน้าหมวกทำจากเหล็ก สลักคำว่ารักชาติยิ่งชีพ ถุงเท้ายาวถึงเข่าสีดำ รองเท้าหนังสีดำ เป็นต้น

สัญลักษณ์

[แก้]

เครื่องหมายประจำหน่วย

[แก้]

เพลงประจำเหล่า

[แก้]

ยุวชนทหารมีเพลงประจำเหล่าชื่อว่า "มาร์ชยุวชนทหาร" ประพันธ์คำร้องโดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) เมื่อราวพุทธทศวรรษที่ 2480

ธงประจำกอง

[แก้]

ยุวชนทหารมีธงประจำกองเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารต่างๆ ปรากฏความในพระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2481 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 ว่า ธงประจำกองยุวชนทหารมีอยู่ 2 ชนิด คือ

  1. ธงยุวชนนายทหาร พื้นเป็นสีธงชาติ ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 70 เซนติเมตร ตรงกึ่งกลางธงมีรูปวงกลมสีแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 22 เซนติเมตร มีขอบรอบวงกลมสีเหลืองกว้าง 6 มิลลิเมตร กลางวงกลมมีรูปอย่างตราหน้าหมวกยุวชนทหารสีเหลือง แต่ไม่มีรูปสมอ มีอักษรสีเหลืองขนาดพองามว่า "ยุวชนนายทหาร" เป็นแถวโค้งโอบใต้ขอบวงกลม ที่มุมบนทางคันธงมีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริมสีเหลือง รัศมีสีฟ้า อยู่ใต้รูปพระมหามงกุฎสีเหลือง ที่ยอดธงมีแถบธงชาติห้อย 2 แถบ ยอดคันธงเป็นรูปปลายหอกสั้นทำด้วยโลหะสีเงิน มีรูปอุณาโลมทั้งสองข้าง ทั้งนี้ถ้าส่วนใดมิได้กำหนดขนาดไว้ให้มีขนาดพองาม
  2. ธงยุวชนทหาร มีลักษณะและสัณฐานอย่างธงยุวชนนายทหาร แต่ใต้วงกลมให้ระบุนามจังหวัดที่ได้รับพระราชทาน โดยมีข้อความหน้านามจังหวัดดั่งนี้ "ยุวชนทหารจังหวัด......."

วีรกรรม

[แก้]
ภาพจำลองเหตุการณ์การรบของยุวชนทหารที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงกลางปี พ.ศ. 2482 สงครามได้ลุกลามออกไป มีประเทศต่างๆเข้าร่วมรบมากมาย จนกระทั่งญี่ปุ่นได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี และ อิตาลี ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2483 ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกอย่างเต็มตัว ด้วยการยึดดินแดนที่เป็นอาณานิคมของชาติฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน) โดยชูนโยบาย เอเชียเพื่อชาวเอเชียเพื่อสร้างเอเชียให้เป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพาในตอนเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้โจมตีฐานทัพเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา และส่งกองทัพไปโจมตีประเทศอื่นๆ ในแถบแปซิฟิก หมู่เกาะต่างๆของอินโดนีเซีย ทะเลจีนใต้ รวมถึงไทยด้วย ทำให้ญี่ปุ่นสามารถยึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด

เวลา ประมาณ 23.00 น.บริเวณอ่าวชุมพร วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองเรือรบญี่ปุ่นเผชิญพายุฝนทำให้กำหนดการบุกขึ้นฝั่งคลาดเคลื่อน รุ่งเช้า วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดชุมพร 2 จุด คือที่บ้านแหลมดิน และบ้านคอสน กองทหารญี่ปุ่นที่บ้านแหลมดินเป็นทัพหน้า จัดรูปขบวนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่ถนนชุมพร ส่วนทหารญี่ปุ่นที่บ้านคอสนเคลื่อนทัพไปทางทิศใต้ ตามแนวชายฝั่ง และค่อยไปสมทบกับทัพหน้าที่สะพานท่านางสังข์ เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองชุมพร หลวงจรูญประศาสน์ (จรูญ คชภูมิ)ข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพรทราบข่าวการยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นราว 6 นาฬิกา 30 นาที จึงสั่งให้ พ.ต.ต.หลวงจิตการุณราษฎร์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร และร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารที่ 52 จัดกำลังไปต้านทานกองทัพญี่ปุ่นที่จะเข้ามาทางปากน้ำชุมพร เวลา ประมาณ 7 นาฬิกา 15 นาที ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ได้เคลื่อนย้ายกำลังออกปฏิบัติการ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 ใช้กำลังยุวชนทหาร 5 นาย ตำรวจภูธร 5 นาย และราษฎรอาสาสมัคร 1 คน พร้อมด้วยปืนกลเบา 1 กระบอก ในความควบคุมของ จ.ส.อ.จง แจ้งชาติ เดินทางมุ่งไปรักษาเส้นทางอ่าวพนังตัก หน่วยนี้ไม่พบข้าศึกเลย
  • ส่วนที่ 2 ใช้กำลังยุวชนทหาร 30 นาย ในความควบคุมของ ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน และสิบเอกสำราญ ควรพันธ์ ครูฝึก เคลื่อนย้ายโดยรถยนต์บรรทุกตามเส้นทางชุมพร-ปากน้ำไปสะพานท่านางสังข์ ยุวชนทหารทั้งหมดที่เข้าการรบเป็นยุวชนทหารชั้นปีที่ 2 ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาแล้วเป็นอย่างดีและกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของปีการศึกษานั้น

เมื่อไปถึงสะพานท่านางสังข์ก็ต้องหยุดเข้าสมทบกับกำลังตำรวจ ที่กำลังปะทะอยู่กับทหารญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว ร้อยเอกถวิลฯได้ขึ้นไปตรวจการณ์บนสะพาน ถูกข้าศึกยิงแต่ไม่เห็นตัวข้าศึก เพราะบริเวณนั้นเป็นป่าสลับสวนมะพร้าว และทุ่งนาป่าละเมาะ ข้าศึกก็พรางตัวอย่างดีด้วยกิ่งไม้ ใบไม้ ร้อยเอกถวิลฯ จึงรวมกำลังยุวชนทหารทั้งหมดข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้าม โดยให้ยุวชนทหาร 3 นาย ที่ไม่มีปืนวิ่งกลับไปรับกระสุนเพิ่มเติมจากในเมือง ในการเคลื่อนที่ข้ามสะพานไปยึดพื้นที่ฝั่งตรงข้ามนั้น ร้อยเอกถวิลฯไ ด้สั่งให้ยุวชนทหารทุกนายติดดาบปลายปืนพร้อมที่จะเข้าตะลุมบอนกับทหารญี่ปุ่นทันที แต่โชคไม่ดีขณะที่ร้อยเอกถวิลฯ วิ่งนำยุวชนทหารอยู่นั้น ร้อยเอกถวิลฯ ได้ถูกข้าศึกยิงเข้าที่ซอกคอ กระสุนทะลุหลอดลมเสียชีวิตทันที ยุวชนทหารวัฒนา นิตยนารถ ได้รีบรายงานให้สิบเอกสำราญ ควรพันธ์ ทราบ สิบเอกสำราญฯ จึงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมยุวชนทหารแทน และได้สั่งให้ยิงต่อสู้ข้าศึกต่อไปอย่างเหนียวแน่น ทหารญี่ปุ่นได้เสริมกำลังเข้ามาเรื่อยๆ โดยพรางตัวด้วยกิ่งไม้ ใบไม้ ดูไกลๆ เหมือนป่าเคลื่อนที่เข้ามา ฝนก็ตกหนักตลอดเวลา ยุวชนทหารได้รับคำสั่งให้ยิงทันทีเมื่อเห็นกิ่งไม้ใบไม้ไหว ทำให้กองทัพญี่ปุ่นหยุดการบุกชั่วขณะหนึ่ง ได้ยินเสียงทหารญี่ปุ่นร้องเมื่อถูกยิงอย่างชัดเจน สิบเอกสำราญฯ เองก็ถูกยิงที่แขนขวา เนื้อขาดไปทั้งก้อนจนปืนหลุดจากมือ ยุวชนทหารละออ เหมาะพิชัย ได้เข้ามาปฐมพยาบาล พอปฐมพยาบาลเสร็จ สิบเอกสำราญฯเกิดหมดสติเพราะเสียเลือดจึงไม่สามารถบัญชาการการรบต่อไปได้ ยุวชนทหารมารุต ไทยถาวรจึงบัญชาการรบแทน มารุตได้สั่งให้กำลังพลยุวชนทหารต้องต่อสู้กับญี่ปุ่นโดยลำพังด้วยความรักชาติ ความกล้าหาญ การเสียสละเพื่อพิทักษ์แผ่นดินไทย การสู้รบได้ยื้อเยื้อจนกระทั่งรัฐบาลได้สั่งให้มีการหยุดยิงผ่านทางรถวิทยุกระจายเสียง

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]