ข้ามไปเนื้อหา

หลัก 6 ประการของคณะราษฎร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถาปัตยกรรมคณะราษฎร มีเสาใหญ่หกเสาด้านหน้า ซึ่งอ้างอิงถึงหลักหกประการของคณะราษฎร

หลัก 6 ประการของคณะราษฎร หรือที่นิยมเรียกอย่างสั้นว่า หลัก 6 ประการ เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1[1] และถือเป็นนโยบายของคณะกรรมการราษฎรชุดแรก ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศสยาม ซึ่งนำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา คณะกรรมการราษฎรนี้ ไม่มีการแถลงนโยบาย การบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่ถือเอาหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใช้ปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่นั้น เป็นนโยบายของรัฐบาล

หลัก 6 ประการของคณะราษฎรซึ่งสรุปคำใจความหลักได้ว่า "เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา"[2] นี้ ได้รับการอ้างอิงหลายครั้งในงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และรัฐพิธีในสมัยนั้น

โดยในทางสถาปัตยกรรมนั้น เช่นที่พบในรูปแบบของเสา 6 ต้นในอาคารหรือซุ้มต่าง ๆ บัวกลุ่ม 6 ชั้นที่เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน (ต่างจากการทำบัวกลุ่มของเจดีย์ตามประเพณี ที่ต้องเป็นเลขคี่เพื่อให้เป็นมงคล)[3] หรือการออกแบบป้อมกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้มีประตู 6 ช่องและพระขรรค์ 6 เล่ม[2][4]

ในทางศิลปกรรมนั้น เช่นที่พบในงานประติมากรรมชื่อ เลี้ยงช้างน้อยด้วยอ้อยหก ของ ผิว ทิมสา ที่เป็นรูปแม่ช้างเอางวงรัดอ้อย 6 ท่อนอยู่ โดยมีลูกช้างหลายตัวอยู่รอบ ๆ สื่อถึงประเทศไทยที่จะเติบโตขึ้นด้วยหลัก 6 ประการหรือรูปปั้น หลักหกยกสยาม โดย อินตา ศิริงาม ซึ่งทั้งสองชิ้นนี้ ได้รับรางวัลใน "การประกวดประณีตศิลปกรรม" พ.ศ. 2480 ซึ่งจัดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญ[4] ดูเพิ่มที่ ศิลปะคณะราษฎร

ส่วนในรัฐพิธีสมัยนั้น ก็นิยมการประดับธง 6 ผืนพร้อมกับประดับพานรัฐธรรมนูญ หรือสิ่งอื่นใดที่จะสื่อถึงรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ[3]

เนื้อหา

[แก้]
หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ในซุ้มงานฉลองรัฐธรรมนูญ

หลัก 6 ประการสามารถประมวลได้ดังนี้[1]

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

หลัก 6 ประการของคณะราษฎรในปัจจุบัน

[แก้]

สถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่อ้างอิงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร เช่น ศาลา 6 เหลี่ยมโปร่ง ที่สวนประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์ ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์[5] และหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ อาคารจั่วสามมุข ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นอาคารในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย อาคารจั่วสามมุขเป็นอาคารออกแบบด้วยศิลปะแบบไทยประยุกต์ตามลักษณะของสถาปัตยกรรมคณะราษฎร มีเอกลักษณ์เป็นหน้าจั่วที่แบ่งมุขออกเป็น 3 ยอดและกรอบหน้าต่างจำนวน 6 ช่อง อันสะท้อนถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 คณะราษฎร, ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑, วิกิซอร์ซ
  2. 2.0 2.1 เด็กชายก้อง, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, มติชน, 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550. อ้างผ่าน news.sanook.com.
  3. 3.0 3.1 ประชาไท, ชาตรี ประกิตนนทการ : สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์, 19 กันยายน พ.ศ. 2550
  4. 4.0 4.1 ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะคณะราษฎร, วารสารฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 5 ฉบับที่ 1, "75 ปี หลัง 2475 การเดินทางเพื่อกลับไปที่เดิม ?"
  5. 2519.net, สวนประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์ (ประติมากรรมชิ้นที่ 1 การอภิวัฒน์ 2475)

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]