ข้ามไปเนื้อหา

โครงการเอกภาพ (ทหารเสือพราน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอกภาพ
ส่วนหนึ่งของ สงครามกลางเมืองลาวและสงครามเวียดนาม
เครื่องบิน ที-28 ของกองทัพอากาศไทยที่ฐานบินอุดรธานี ซึ่งเป็นฐานบินหลักในการสนับสนุนโครงการเอกภาพและทหารเสือพราน
ชนิดการช่วยเหลือและเสริมกำลังทางทหารอย่างลับ ๆ
ตำแหน่งพระราชอาณาจักรลาว
โดยไทย กองบัญชาการผสม 333
ส่วนแยกประสานงานร่วมซีไอเอ
ผู้บังคับบัญชากองทัพบกไทย, ซีไอเอ, ชาวลาวกษัตริย์นิยม
วัตถุประสงค์สนับสนุนพระราชอาณาจักรลาวโดยส่งทหารรับจ้างและหน่วยทหารอื่น ๆ
วันที่กันยายน 2501 – 22 กุมภาพันธ์ 2516
ผู้ลงมือกองทัพบกไทย, ซีไอเอ, ชาวลาวกษัตริย์นิยม
ผลลัพธ์การเสริมกำลังโดยทหารจากประเทศไทย; หยุดยิงเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 เป็นอันยุติโครงการ
ผู้สูญเสียทหารไทย 1,751 นาย และพลเรือนอย่างน้อย 30 คนเสียชีวิต
ทหารไทยมากกว่า 1,000 นายบาดเจ็บ
ทหารไทย 753 นายสูญหาย

เอกภาพ หรือ ยูนิตี้ (อังกฤษ: Unity) เป็นชื่อรหัสโครงการ[1]ของกองกำลังอาสาสมัครทหารรับจ้างของไทยชื่อว่า ทหารเสือพราน[2] (ทสพ.) ที่ส่งไปยังพระราชอาณาจักรลาวในช่วงสงครามกลางเมืองลาว ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2516 กองพันอาสาสมัครของไทยได้ต่อสู้กับกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์บนทุ่งไหหินในพื้นที่กองทัพแห่งชาติลาวภาค 2 ขณะที่กองทัพลับชาวม้ง (L'Armée Clandestine) กำลังสูญเสียกำลังพลอย่างต่อเนื่องและกำลังพลสำรองมีอย่างจำกัด กองพันทหารเสือพราน (ทสพ.) จึงเข้ามาแทนที่

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2513 กองพันทหารเสือพราน (ทสพ.) เริ่มปฏิบัติการป้องกันต่อต้านหน่วยทหารของกองทัพประชาชนเวียดนามที่เคลื่อนทัพไปทางตะวันตกจากเส้นทางโฮจิมินห์ในดินแดนลาวใต้ หลังจากคอมมิวนิสต์เอาชนะฝ่ายกษัตริย์นิยมในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 มีอาสาสมัครทหารเสือพรานประมาณ 18,000 นาย ประจำการอยู่ในลาว

ภาพรวม

[แก้]

ราชอาณาจักรไทยมีสถานะที่เปราะบางในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง พระราชอาณาจักรลาวเป็นรัฐกันชนระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามและประเทศไทย และอาจเป็นการครอบงำไทยได้ ลาวยังทำหน้าที่เป็นกันชนจากการสู้รบในสงครามเวียดนามอีกด้วย อย่างไรก็ตาม พรมแดนแม่น้ำโขงระหว่างไทย–ลาวถูกละเมิดได้อย่างง่ายดาย เป็นผลให้ชาวไทยมีฉันทามติร่วมกันว่าควรหยุดการรุกรานของคอมมิวนิสต์ก่อนถึงดินแดนไทย เนื่องจากความพยายามอย่างเปิดเผยจะดึงดูดความสนใจจากจีน รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจเลือกเข้าร่วมสงครามกลางเมืองลาวที่กำลังดำเนินอยู่อย่างลับ ๆ ทำให้ตำรวจพลร่ม (PARU) ของตำรวจตระเวนชายแดนกลายมาเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานสำหรับเรื่องนี้[3]

ประวัติ

[แก้]

ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2501 กองทัพบกไทยได้เริ่มฝึกทหารลาวที่ค่ายเอราวัณ ประเทศไทย[4] ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2504 ค่ายฝึกทหารลาวแห่งแรกในประเทศไทยได้เปิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยมีชื่อรหัสว่า "โครงการฝึกเอกราช"[5] กองทัพบกได้จัดตั้ง กองบัญชาการผสม 333 (Headquarters 333: HQ 333) เพื่อควบคุมการปฏิบัติการลับที่เกี่ยวข้องกับลาว สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ได้จัดตั้งหน่วยประสานงานร่วมเพื่อประสานงานกิจกรรมกับกองบัญชาการผสม 333 รวมถึงนักบินไทย สหรัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบินยังได้เดินทางอย่างลับ ๆ ไปยังกองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาว[6] รวมถึงอากาศยาน เช่น เครื่องบิน ที-28 ที่นำไปติดธงชาติลาวที่ตัวเครื่อง หรือไม่มีเครื่องหมายบ่งบอกฝ่ายเลย[7]

หน่วยความต้องการพิเศษ

[แก้]

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 เพื่อเตรียมการรุกในปฏิบัติการสามเหลี่ยมของลาว ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ไทยจำนวน 279 นายได้บินจากนครราชสีมาไปยังทุ่งไหหิน ประเทศลาว กองพันของไทยติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 155 มม. และปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 105 มม. จำนวน 5 กระบอก เพื่อสนับสนุนกองทัพที่เป็นกลาง (Forces Armées Neutralistes: FAN) ของกองแล วีระสาน โดยมีการร้องขอกำลังไปและมีการจัดกำลังที่เรียกว่า โครงการ 008 (Project 008) มาจากกำลังที่ถูกฝึกในปี พ.ศ. 2508[7] ซึ่งเป็นกองพันแรกถูกส่งไปถึงที่หมาย หน่วยนี้จึงถูกเรียกว่า หน่วยความต้องการพิเศษ 1[8]

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2509 จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ประกาศรับอาสาสมัครทหารเสือพรานไปประจำการในเวียดนามใต้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากชายไทย โดยมีทหารจากกรุงเทพฯ 5,000 นายเข้าร่วมการไปรบครั้งนี้ ซึ่งดูเหมือนว่าการระดมพลครั้งนี้ส่งผลให้ทหารไทยที่ได้รับทุนจากสหรัฐยกพลขึ้นบกในเวียดนามใต้ในปี พ.ศ. 2510 เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากกำลังพลอีกส่วนที่ถูกส่งไปยังลาว[9]

หน่วยความต้องการพิเศษที่ตามมาทำหน้าที่เป็นกำลังเสริมของกองทัพที่เป็นกลาง (FAN) ที่ประจำการอยู่ที่ลานบินทุกสภาพอากาศด้านหน้าที่เมืองสุย ในช่วงการทัพทวนทัง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2512 เมื่อกองกำลังของกองทัพประชาชนเวียดนาม (PAVN) ได้เข้ามาและกระจายกำลัง กองทัพที่เป็นกลาง (FAN) และหน่วยความต้องการพิเศษ 8 จำนวน 317 นายพร้อมอาวุธครบมือได้ตรึงกำลังยึดพื้นที่ไว้ จากนั้นได้มีการอพยพครอบครัวทหารของกองทัพที่เป็นกลาง (FAN) ด้วยเฮลิคอปเตอร์ทำให้หลังจากนั้นฝ่ายที่เป็นกลางเลือกที่จะไม่ต่อต้าน และเลือกที่จะถอนกำลังออกจากเมืองสุย เจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยที่ประจำการอยู่ในพื้นที่นั้นได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังเช่นกัน เนื่องจากถูกล้อมและมีจำนวนน้อยกว่าฝ่ายข้าศึก ภายใต้การยิงสนับสนุนของรถถังและปืนใหญ่ ในวันที่ 26 มิถุนายน กองกำลังของไทยถูกลำเลียงออกผ่านเฮลิคอปเตอร์ในปฏิบัติการสวอนเลก และหน่วยความต้องการพิเศษ 8 ถูกยุบเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย[10]

กองทัพลัพชาวม้ง (L'Armée Clandestine) ต่อสู้ในการทัพที่ได้รับชัยชนะในช่วงปี พ.ศ. 2512 ได้แก่ ปฏิบัติการเรนแดนซ์, ปฏิบัติการออฟบาลานซ์ และ กู้เกียรติ เมื่อใกล้ถึงช่วงหลัง กองทัพลับได้ลดจำนวนกำลังพลชาวม้งลงเหลือเพียง 5,000 ถึง 5,500 นาย พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับกองทหารคอมมิวนิสต์กว่า 22,000 นาย[11][12] ซึ่งในเวลานั้นกำลังสำรองใกล้จะหมดลงแล้ว เหลือแค่เพียงเด็กชายวัยรุ่นและชายสูงอายุเท่านั้น[13] เมื่อเปรียบเทียบกับข้าศึกแล้วแล้ว มีกำลังหมุนเวียนเข้ามาเติมมากถึง 10,000 นายต่อปีสำหรับกำลังของคอมมิวนิสต์เวียดนาม[14]

เครื่องบิน CH-3E ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลงจอดในนาข้าวหลังจากขึ้นบินพร้อมกับทหารปืนใหญ่ของไทยที่โดยสารมากเกินพิกัดในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2512[15]

ในระหว่างการทัพเวียดนาม 139 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสถานะของกองทัพลับ (L'Armée Clandestine) ของนายพลวังเปา ทหารปืนใหญ่จากไทย 300 นายสังกัดหน่วยความต้องการพิเศษ 9 มาถึงที่ลองเตียง พวกเขาเดินทางมาถึงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2513 ในช่วงที่กำลังสำรองของนายพลวังเปาถูกลดเหลือเพียงช่างเครื่องเครื่องบินและทหารดุริยางค์ โดยกรมผสมที่ 13 จากกองทัพภาคที่ 2 ของกองทัพบกไทยภายใต้ โครงการวีพี[1] ได้มาสมทบในเดือนเมษายนโดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติการในประเทศลาวเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อ "อำพราง" หน้าที่ของตนในกองทัพของนายพลวังเปา ประกอบไปด้วย กองพันทหารราบ 3 กองพัน กองพันปืนใหญ่ชุดใหม่ และหน่วยความต้องการพิเศษ 9 ได้รับการจัดหน่วยใหม่โดยใช้ชื่อภาษาฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยรบลาว โดยรวมแล้ว หน่วยของไทยถูกขนานนามว่า หน่วยรบเฉพาะกิจวังเปา (หรือที่เอกสารของไทยเรียกว่า หน่วยรบเฉพาะกิจวีพี: ฉก.วีพี[2]) ฉก.เวียงเปาได้จัดตั้งฐานยิงสนับสนุน 2 แห่งเพื่อใช้เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ เมื่อฤดูร้อนดำเนินไป หน่วยที่ถูกย้ายเข้ามาจากภาคทหารอื่น ๆ ได้หมุนเวียนไปยังฐานทัพของตน และทหารราบไทยเข้ามาแทนที่พวกเขาในฐานที่มั่นของพวกเขา[16]

จุดเริ่มต้น

[แก้]

หลังจากที่ ลอน นอล ขึ้นเป็นผู้นำของสาธารณรัฐเขมร ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513 รัฐบาลไทยได้จัดหาอาสาสมัครทหารเสือพราน (ทสพ.)[2] จำนวน 5,000 คนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ที่นั่น และเริ่มฝึกอบรมพวกเขา เมื่อวันที่ 9 กันยายน มีการประกาศต่อสาธารณชนว่าประเทศไทยตัดสินใจที่จะไม่ส่งทหารไปกัมพูชาแล้ว อย่างไรก็ตาม การเจรจาลับระหว่างสหรัฐและประเทศไทยเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและการใช้กำลังทหารดังกล่าวไม่ได้เปิดเผย เมื่อ พลโท ริชาร์ด จี. สติลเวลล์ อ้างว่างบประมาณของสหรัฐสำหรับการฝึกอบรมและจัดหาอุปกรณ์ให้กับทหารเหล่านี้สามารถจ่ายเพื่อฝึกอบรมกองทัพเขมรทั้งหมดแทนได้ แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธ ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐจัดสรรเงินดังกล่าวเพื่อส่งอาสาสมัครเหล่านี้ไปยังลาวภายใต้ชื่อรหัสว่า เอกภาพ หรือ ยูนิตี้ (Unity) ส่วนซีไอเอ โดยหน่วย สกาย[2] จะฝึกอบรมและดำเนินโครงการเอกภาพ อาสาสมัครเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบ 9 กองพัน และกองพันทหารปืนใหญ่ 1 กองพัน ทหารราบแต่ละกองพันจะมีทหารใหม่ 495 นายประจำการในระยะเวลา 1 ปี แต่ละกองพันจะมีผู้ฝึก 22 นาย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 33 นาย จากกองทัพบกไทย ขนาดของกองกำลังทหารเสือพราน (ทสพ.) ที่ตั้งขึ้นนั้นถือเป็นการเพิ่มความมุ่งมั่นที่มีส่วนร่วมของไทยในสงครามลาวอย่างชัดเจน[17][9] การฝึกโครงการเอกภาพถูกย้ายไปยังฐานทัพที่ใหญ่กว่าใกล้กาญจนบุรี ประเทศไทย ซึ่งสามารถรองรับทหารได้ครั้งละ 4 กองพัน ที่นั่น ทหารไทยได้รับการฝึกโดยเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษของสหรัฐจำนวน 44 นาย ในขณะเดียวกัน ทั้งรัฐบาลไทยและสหรัฐต่างก็มีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับโครงการเอกภาพอย่างมาก จนพวกเขาได้พิจารณาขยายโครงการให้เกินกว่าความคืบหน้าที่มีอยู่ในเวลานั้นเพิ่มขึ้นถึงสิบเท่า[18]

พื้นที่ปฏิบัติการ

[แก้]

ตามข้อตกลงทางการเมืองระหว่างรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาว ไทย และสหรัฐ ได้กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการสำหรับทหารเสือพรานในเขตประเทศลาว ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาวก่อน ในบางสถานการณ์แม้จะเกิดการรุกรานของกองกำลังคอมมิวนิสต์ในลาว หากกองทัพของพระราชอาณาจักรลาวสามารถรักษาพื้นที่และต่อต้านกองกำลังข้าศึกได้ และไม่มีการร้องขอจากรัฐบาลลาว จะไม่สามารถส่งกำลังเข้าร่วมปฏิบัติการได้เป็นอันขาด ซึ่งในช่วงเริ่มต้นได้จัดกำลังในรูปแบบของหน่วยรบเฉพาะกิจ (ฉก.) สำหรับควบคุมการปฏิบัติการรบโดยตรงไปยังแต่ละกองพัน (บีซี) ประกอบไปด้วย[2]

  • ภาคเหนือของลาว ในพื้นที่ของกองทัพแห่งชาติลาวภาค 1 (ทชล.ภาค 1) จะจัดหน่วยรบเฉพาะกิจราทิกุล (ฉก.ราทิกุล) เข้าปฏิบัติการในพื้นที่แขวงไชยบุรีตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2514 และถอนกำลังในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2517 เนื่องจากมีการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง และซีไอเอยุติการสนับสนุนหน่วย ทำให้ ฉก.ราทิกุลได้ส่งมอบพื้นที่คืนให้กองทัพแห่งชาติลาวภาค 1 และถอนกำลังกลับมายังฐานบินน้ำพอง ประเทศไทย[2]
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาว ในพื้นที่ของกองทัพแห่งชาติลาวภาค 2 (ทชล.ภาค 2) และกองทัพแห่งชาติลาวภาค 5 (ทชล.ภาค 5) บางส่วน จะจัดหน่วยรบเฉพาะกิจ วีพี (ฉก.วีพี) เข้าปฏิบัติการ เป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงในการรบมากที่สุด รวมถึงพื้นที่ทุ่งไหหิน เริ่มนำกำลังเข้าปฏิบัติการในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 และถอนกำลังในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศหยุดยิง[2]
  • ภาคกลางและภาคใต้ของลาว ในพื้นที่ของกองทัพแห่งชาติลาวภาค 4 (ทชล.ภาค 4) จะจัดหน่วยรบเฉพาะกิจผาสุก (ฉก.ผาสุก) เข้าปฏิบัติการในพื้นที่แขวงทันดอนและแขวงจำปาศักดิ์ เริ่มปฏิบัติการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2513 และถอนกำลังในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศหยุดยิง[2]

การจัดหน่วย

[แก้]

การฝึกอบรมและการปรับใช้

[แก้]

กองพัน 2 กองพันแรกของทหารเสือพราน (ทสพ.) ที่เป็นอาสาสมัครทหารรับจ้างไทยได้รับการฝึกฝนในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2513 โดยมีหน่วยรบพิเศษของไทย (Royal Thai Special Force: RTSF) จำนวนหนึ่ง เป็นส่วนเสริมในหน่วยรบ หน่วยใหม่นี้ถือว่าพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ขณะที่รัฐบาลพระราชอาณาจักรลาวซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการก่อตั้งโครงการเอกภาพได้กำหนดเงื่อนไขในการส่งกำลังทหารไทยไปยังลาว กองกำลังไทยจะต้องถูกใช้ในปฏิบัติการจริง และต้องอยู่ห่างจาก อินเตอร์เนชั่นแนล เพรส คอร์ป (international press corps) ในเวียงจันทน์ นอกจากนี้ กองพันยังต้องปลอมแปลงตนเองโดยเปลี่ยนชื่อเป็น Bataillon Commandos (BC กองทัพไทยเรียก บีซี[2]) เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมเนียมของรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาว กองพันใหม่ใช้หมายเลขเรียงลำดับ 601 และ 602 ต่อไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ ได้เริ่มประเพณีใหม่ในการนับหน่วยทหารรับจ้างไทยในชุดกองพัน หรือ บีซี 600 ในขณะที่พวกเขาประจำการในลาว[19]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515 ในความพยายามที่จะเพิ่มการรับสมัครทหารเสือพราน (ทสพ.) สำหรับโครงการเอกภาพ อาสาสมัครชาวไทยที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมทางทหารมาก่อนได้รับอนุญาตให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในลาว กองกำลังทหารเสือพราน (ทสพ.) ขยายตัวจากกำลังพล 14,028 นาย ในเดือนมิถุนายนเป็น 21,413 นาย ในเดือนกันยายน[20]

โครงสร้าง

[แก้]

โครงสร้างของกองกำลังทหารเสือพราน ประกอบด้วยกำลังทั้งหมด 36 กองพัน (33 กองพันทหารราบ และ 3 กองพันทหารปืนใหญ่)[1] แบ่งออกเป็นหน่วยรบเฉพาะกิจตามที่สามารถค้นคว้าได้[2] ดังนี้

  • หน่วยรบเฉพาะกิจราทิกุล (ฉก.ราทิกุล) ประกอบไปด้วย
    • กองพันทหารเสือพราน 611 (บีซี 611)
    • กองพันทหารเสือพราน 612 (บีซี 612)
    • กองพันทหารเสือพราน 615 (บีซี 615)
    • กองพันทหารเสือพราน 620 (บีซี 620)
    • กองพันทหารเสือพราน 622 (บีซี 622)
    • กองร้อยทหารปืนใหญ่
  • หน่วยรบเฉพาะกิจวีพี (ฉก.วีพี) ประกอบไปด้วย
    • กองพันทหารเสือพราน 603 (บีซี 603)
    • กองพันทหารเสือพราน 604 (บีซี 604)
    • กองพันทหารเสือพราน 605 (บีซี 605)
    • กองพันทหารเสือพราน 606 (บีซี 606)
    • กองพันทหารเสือพราน 607 (บีซี 607)
    • กองพันทหารเสือพราน 608 (บีซี 608)
    • กองพันทหารเสือพราน 609 (บีซี 609)
    • กองพันทหารเสือพราน 610 (บีซี 610)
    • กองพันทหารเสือพราน 616 (บีซี 616)
    • กองพันทหารเสือพราน 617 (บีซี 617)
    • กองพันทหารเสือพราน 618 (บีซี 618)
    • กองพันทหารเสือพราน 619 (บีซี 619)
  • หน่วยรบเฉพาะกิจผาสุก (ฉก.ผาสุก) ประกอบไปด้วย
    • กองพันทหารเสือพราน 601 (บีซี 601)
    • กองพันทหารเสือพราน 602 (บีซี 602)
    • กองพันทหารเสือพราน 610 (บีซี 610)
    • กองพันทหารเสือพราน 613 (บีซี 613)
    • กองพันทหารเสือพราน 614 (บีซี 614)
    • กองพันทหารเสือพราน 621 (บีซี 621)
    • กองพันทหารปืนใหญ่

กองทัพแห่งชาติลาวภาค 4

[แก้]

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2513 บีซี 601 และ บีซี 602 ได้ถูกลำเลียงโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังหมู่บ้านร้างในห้วยทราย ประเทศลาว เพื่อเริ่มปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่กองทัพแห่งชาติลาวภาค 4 โดยปฏิบัติการภายใต้ชื่อรหัสว่า วีระคม ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก จนเจ้าหน้าที่ของซีไอเอสังเกตเห็นความแตกต่างกับกองกำลังเขมรในโครงการคอปเปอร์ จึงคิดว่าไทยอาจยึดที่ราบสูงโบลาเวนคืนได้[19]

ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 กองกำลังทหารเสือพราน (ทสพ.) ได้เข้าร่วมปฏิบัติการสายศิลาเพื่อยึดสนามบินสำคัญที่สาละวันคืน ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 กองกำลังได้เข้าร่วมในการโจมตีที่คล้ายคลึงกันในปฏิบัติการเบดร็อกและปฏิบัติการท้าวลา[21] ในเดือนธันวาคม กองทัพเวียดนามเหนือได้กดดันฝ่ายกษัตริย์นิยมในปฏิบัติการที่ออกแบบมาเพื่อผลักดันพวกเขาออกจากเส้นทางโฮจิมินห์และถอยไปทางประเทศไทย[22]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515 กองกำลังฝ่ายกษัตริย์นิยมในดินแดนทางตอนใต้ของลาวถูกโจมตีจนต้องถอยร่น จนกระทั่งกองกำลังคอมมิวนิสต์บางส่วนบุกโจมตีชายแดนแม่น้ำโขงระหว่างลาวและไทย กองกำลังทหารเสือพราน (ทสพ.) ถูกเคลื่อนย้ายระหว่างภาค 2 และภาค 4 เพื่อต่อต้านกำลังทหารเวียดนามเหนือ (PAVN) ที่เพิ่มขึ้น การรุกของฝ่ายกษัตริย์นิยมแบล็กไลออน —ปฏิบัติการแบล็กไลออน, แบล็กไลออน 3 และแบล็กไลออน 5 เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 โดยหลีกเลี่ยงความพ่ายแพ้อย่างหมดหนทาง ซึ่งทหารรับจ้างของไทยเป็นกำลังส่วนใหญ่ของกองกำลังฝ่ายกษัตริย์นิยม[23]

กองทัพแห่งชาติลาวภาค 2

[แก้]

ฝ่ายกษัตริย์ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมายในพื้นที่กองทัพแห่งชาติลาวภาค 2 ฐานสนับสนุนการยิงพันช์เชอร์ ซึ่งเป็นกองรักษาด่านของบ้านนาที่ล่องแจ้ง ถูกล้อมโดยทหารราบและหน่วยจู่โจมของกองทัพเวียดนามเหนือ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 เกิดเหตุระเบิดโดยไม่ได้ตั้งใจทำให้พลเรือนเสียชีวิต 30 ราย ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ กองทัพลับ (L'Armée Clandestine) ของนายพลวังเปาอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ กองทัพเวียดนามเหนืออยู่ในระยะโจมตีจากฐานทัพกองโจรหลักที่ล่องแจ้ง กองพันทหารเสือพรานอีก 2 กองพันคือ บีซี 603 และ บีซี 604 ถูกดึงออกจากการฝึกขั้นสุดท้ายและส่งไปเสริมกำลังให้กับทหารม้ง เพื่อรักษาสภาพของหน่วย ไทยต่อต้านความพยายามของนายวังเปาที่จะแบ่งหมวดทหารที่ถูกส่งมาทดแทนของไทยให้เป็นหน่วยกองโจรม้ง เนื่องจากทหารเสือพรานของไทยได้รับการฝึกฝนให้ต่อสู้อย่างเหนียวแน่นในฐานะกองกำลังรุกเคลื่อนที่ และไทยตั้งใจที่จะรักษาคุณลักษณะเช่นนั้นเอาไว้[24]

ในวันที่ 3 มีนาคม กองพันแรกของไทยเดินทางมาถึงล่องแจ้ง[18] กองกำลังทหารเสือพราน (ทสพ.) สามารถยึดแนวได้ตลอดเดือนมีนาคม ขณะที่กองทัพเวียดนามเหนือไม่สามารถบุกโจมตีและเอาชนะได้ในแนวรบล่องแจ้ง จนกระทั่งถึงฤดูฝนกองทัพเวียดนามจึงได้ยุติความพยายามดังกล่าว[25]

กองพันทหารเสือพราน (ทสพ.) ยังคงโอนย้ายไปยังพื้นที่ภาค 2 ซึ่งไทยสามารถยึดฐานทัพสำหรับการรบขั้นสูงที่เมืองสุ่ยคืนมาได้ในช่วงปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 ไทยยังได้จัดตั้งเครือข่ายฐานสนับสนุนการยิงปืนใหญ่ที่มีสนามแนวยิงเชื่อมต่อกันทั่วทุ่งไหหินเพื่อป้องกันกองกำลังของคอมมิวนิสต์[26]

ในช่วงปลายเดือนกันยายน กองกำลังทหารเสือพราน (ทสพ.) ได้เพิ่มกำลังขึ้นจนถึงจุดที่สามารถให้การสนับสนุนการส่งกลับสายแพทย์ได้ เฮลิคอปเตอร์ ยูเอช-1เอ็ม ติดอาวุธจำนวน 10 ลำ ได้รับการจัดหาและประจำการที่ฐานบินอุดรธานี นักบินชาวไทย 26 คน ได้รับการฝึกให้บินเฮลิคอปเตอร์ประเภทนี้ เฮลิคอปเตอร์มากถึง 6 ลำ จะบินไปทางเหนือทุกวันไปยังที่ราบ โดยตอบสนองต่อสัญญาณเรียกขานว่า ไวท์ฮอส หรือ ม้าขาว[27]

สิ้นปี พ.ศ. 2514 เวียดนามเริ่มปฏิบัติการทัพ แซด กองกำลังไทยในกองทัพลับ (L'Armée Clandestine) ได้เข้ามาแทนที่กองกำลังติดอาวุธส่วนใหญ่ที่เป็นชาวม้งเดิม แม้ว่าการโจมตีผสมของคอมมิวนิสต์จะยึดจุดต้านทานของไทยได้ 6 จุดในตอนแรก แต่การป้องกันฐานทัพสำคัญที่ล่องแจ้งของไทยช่วยให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมรอดพ้นจากความพ่ายแพ้ในสงครามได้อย่างหวุดหวิด[28] ฝ่ายไทยยังเป็นหน่วยหลักของปฏิบัติการสเตร็ง 1 และ ปฏิบัติการสเตร็ง 2 ของฝ่ายกษัตริย์ในการรุกโต้ตอบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม พ.ศ. 2515[29] ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2515 กำลังพลชาวม้งลดลงอย่างมากจนที่ปรึกษาของซีไอเอสังเกตเห็นว่ากองพันกองโจรของม้งที่เพิ่งได้รับการคัดเลือกใหม่มามีเยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปีมากกว่า 100 คน ร่วมอยู่ด้วย โดยมีประมาณ 12 คน อายุ 12 ปี หรือน้อยกว่านั้น อันที่จริงแล้ว ฝ่ายกษัตริย์มีกำลังพลไม่เพียงพอเนื่องจากประชากรลาวร้อยละ 6 อยู่ภายใต้การติดอาวุธโดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังทางชาติพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ กองกำลังทหารเสือพราน (ทสพ.) จึงเป็นกำลังพลส่วนใหญ่ในการปฏิบัติการภูเพียง 2[30] และปฏิบัติการภูเพียง 3 กองพันสุดท้ายของไทยคงอยู่ในสนามรบจนกระทั่งมีการหยุดยิงในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ก่อนจะถอนกำลังในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน[31]

ความสูญเสีย

[แก้]

จากรายงานในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์การสงครามไทยของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ระบุข้อมูลยอดสรุปความสูญเสียของฝ่ายไทยไว้[2] ดังนี้

  • มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1,914 นาย แบ่งเป็น
    • เสียชีวิตจากการรบ 1,751 นาย
    • เสียชีวิตจากมิใช่การรบ 163 นาย
  • ผู้สูญหายจำนวน 753 นาย

ผลลัพธ์

[แก้]

เมื่อเทียบกับทหารไทย 11,000 นายที่เคยประจำการในเวียดนามใต้ ในปี พ.ศ. 2514 อาจมีทหารไทยมากถึง 22,000 นายที่เคยประจำการในลาว ตัวเลขผู้เสียชีวิตของไทยมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 350 นาย และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 นาย[32] เมื่อการหยุดยิงยุติสงครามในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 กองกำลังทหารเสือพราน (ทสพ.) ประกอบด้วยกองพันทหารราบ 27 กองพัน และกองพันทหารปืนใหญ่ 3 กองพัน พร้อมด้วยกองร้อยอาวุธหนัก 6 กองร้อย หน่วยของไทยได้รับการจัดหน่วยเป็นหน่วยรบเฉพาะกิจ 3 หน่วย โดยมีกำลังพลทั้งหมด 17,808 นาย เมื่อการสู้รบสิ้นสุดลง การหลบหนีจึงเริ่มขึ้น ภายในหนึ่งเดือน กำลังพลของไทยลดลงเหลือ 14,900 นาย ขณะที่อาสาสมัครทหารเสือพราน (ทสพ.) ทยอยอพยพไปทางใต้เพื่อหางานใหม่ ภายในกลางปี ​​กองกำลังทหารเสือพรานลดลงเหลือ 10,000 นาย พวกเขาถูกถอนกำลังออกจากลาวในปีถัดมา แม้ว่าจะมีความคิดที่จะย้ายกำลังพลของกองกำลังทหารเสือพรานบางส่วนไปยังพื้นที่ของกัมพูชา แต่สุดท้ายกำลังทั้งหมดก็ถูกปลดประจำการ[33]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ชวาลศิลป์, บัญชร. "2503 สงครามลับ สงครามลาว (58)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์". www.matichonweekly.com. สืบค้นเมื่อ 2024-10-09.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 E-Book วิชาประวัติศาสตร์การสงครามไทย Thai War History MS 3003 นนร.ชั้นปีที่ 3 (PDF). กองวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม ส่วนวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. 2562.[ลิงก์เสีย]
  3. Kislenko, Arne (Summer 2004). "A Not So Silent Partner. Thailand's Role in Covert Operations, Counter-Insurgency, and the Wars in Indochina". The Journal of Conflict Studies. Volume 24, Issue 1, pp. 2–5.
  4. Conboy and Morrison, p. 24.
  5. "2503 สงครามลับ สงครามลาว (35) ปีที่ดีของฝ่ายขวา/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์". www.matichonweekly.com. สืบค้นเมื่อ 2024-10-08.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. Kislenko, Arne (Summer 2004). "A Not So Silent Partner. Thailand's Role in Covert Operations, Counter-Insurgency, and the Wars in Indochina". The Journal of Conflict Studies. Volume 24, Issue 1, p. 7.
  7. 7.0 7.1 ชวาลศิลป์, บัญชร. "2503 สงครามลับ สงครามลาว (35) ปีที่ดีของฝ่ายขวา/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์". www.matichonweekly.com. สืบค้นเมื่อ 2024-10-08.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. Conboy and Morrison, p. 111.
  9. 9.0 9.1 Kislenko, Arne (Summer 2004). "A Not So Silent Partner. Thailand's Role in Covert Operations, Counter-Insurgency, and the Wars in Indochina". The Journal of Conflict Studies. Volume 24, Issue 1, pp. 12–13.
  10. Conboy and Morrison, pp. 212–213.
  11. Ahern, p. 331.
  12. Anthony and Sexton, p. 323.
  13. Tapp, p. 82.
  14. Conboy and Morrison, p. 248.
  15. Kirkpatrick, Matthew D. Special Operations Squadron: Pony Express from Air War Vietnam retrieved June 6, 2007
  16. Conboy and Morrison, pp. 255, 263.
  17. Conboy and Morrison, pp. 284–285.
  18. 18.0 18.1 Conboy and Morrison, p. 296.
  19. 19.0 19.1 Conboy and Morrison, p. 285.
  20. Conboy and Morrison, pp. 353–354, note 11.
  21. Conboy and Morrison, pp. 304–309.
  22. Conboy and Morrison, pp. 328–329.
  23. Conboy and Morrison, pp. 349–354.
  24. Conboy and Morrison, pp. 296–297
  25. Conboy and Morrison, pp. 296–297, 301.
  26. Conboy and Morrison, pp. 302–304.
  27. Conboy and Morrison, pp. 303–304.
  28. Conboy and Morrison, pp. 323–334.
  29. Conboy and Morrison, pp. 335–338.
  30. Conboy and Morrison, pp. 345–349, 365.
  31. Conboy and Morrison, pp. 390–391.
  32. Kislenko, Arne (Summer 2004). "A Not So Silent Partner. Thailand's Role in Covert Operations, Counter-Insurgency, and the Wars in Indochina". The Journal of Conflict Studies. Volume 24, Issue 1, pp. 12–13, 18.
  33. Conboy and Morrison, pp. 405–406.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Ahern, Thomas L. Jr. (2006). Undercover Armies: CIA and Surrogate Warfare in Laos. Center for the Study of Intelligence. Classified control no. C05303949.
  • Anthony, Victor B. and Richard R. Sexton (1993). The War in Northern Laos. Command for Air Force History. OCLC 232549943.
  • Conboy, Kenneth and James Morrison (1995). Shadow War: The CIA's Secret War in Laos. Paladin Press. ISBN 9780873648257.
  • Tapp, Nicholas (2010). The Impossibility of Self: An Essay on the Hmong Diaspora: Volume 6 of Comparative Anthropological Studies in Society, Cosmology and Politics. LIT Verlag Münster. ISBN 9783643102584.