ข้ามไปเนื้อหา

ศิลป พีระศรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศิลป พีระศรี
ภาพถ่ายอย่างเป็นทางการของ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี
คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
ดำรงตำแหน่ง
12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ก่อนหน้าสถาปนาคณะ
ถัดไปเขียน ยิ้มศิริ
(
รักษาราชการแทน
)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
กอร์ราโด เฟโรชี

15 กันยายน พ.ศ. 2435
เมืองฟลอเรนซ์ ราชอาณาจักรอิตาลี
เสียชีวิต14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 (69 ปี)
จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย
เชื้อชาติ
อิตาลี (
โดยกำเนิด
) ไทย (
หลัง พ.ศ. 2485
)
คู่สมรสแฟนนี วิเวียนนี
มาลินี เคนนี่
บุตร
บุพการี
  • อาตูโต เฟโรชี (บิดา)
  • ซานตีนา เฟโรชี (มารดา)
ศิษย์เก่าสถาบันศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์
ชื่ออื่นอาจารย์ฝรั่ง
ผลงานที่สำคัญ
อนุสรณ์วันศิลป พีระศรี (ดูเพิ่ม)
ลายมือชื่อ

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี[Note 1] (15 กันยายน พ.ศ. 2435 — 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) เดิมชื่อ กอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลีสัญชาติไทย เป็นประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะและมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์คนแรก[1] มีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่ตลอดจนเป็นที่รักและนับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน

เขายังเป็นผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่จากการที่ได้พร่ำสอนและผลักดันลูกศิษย์ให้ได้มีความรู้ความสามารถในวิชาศิลปะทั้งงานจิตรกรรมและงานช่าง มีจุดประสงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะและสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของตนเอง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนไทยเพื่อที่จะออกไปสร้างศิลปะเพื่อแผ่นดินของตน และถึงแม้จะริเริ่มรากฐานของความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันเขาได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาความงามของศิลปะไทยเอาไว้ จึงได้เกิดการสร้างลูกศิษย์ที่มีความรู้ทั้งงานศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยออกไปเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการศิลปะไทยเป็นจำนวนมาก และเกิดรูปแบบงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในที่สุด

ด้วยคุณูปการนี้เขาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากรและของประเทศไทย โดยเฉพาะในงานประติมากรรมที่ได้มีผลงานที่โดดเด่นมากมายที่สร้างไว้แก่ประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมไปถึง พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์ศิลป จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และเป็น ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในวันที่ 15 กันยายน ของทุกปีจะถือเป็นวันศิลป พีระศรี ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดงานรำลึกขึ้นทุกปีเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีที่มีต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทยนานัปการ[2]

ประวัติ[แก้]

วัยหนุ่มและชีวิตที่ฟลอเรนซ์[แก้]

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี มีนามเดิมว่าคอร์ราโด เฟโรชี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของนายอาตูโด เฟโรชีและนางซานตินา เฟโรชี ซึ่งประกอบธุรกิจการค้า และเนื่องจากเกิดและอาศัยอยู่ ณ เมืองฟลอเรนซ์ นครแห่งการกำเนิดศิลปะเรอเนซองส์ชื่อก้องของอิตาลี คอร์ราโดจึงมีความสนใจในวิชาศิลปะมาตั้งแต่วัยเด็ก คอร์ราโดนั้นมีความสนใจและชื่นชอบในผลงานประติมากรรมของมิเกลันเจโลและโลเรนโซ กีแบร์ตีในมหาวิหารฟลอเรนซ์เป็นอย่างมาก จึงได้สมัครเป็นลูกมือช่วยงานศิลปินที่มีชื่อเสียงตามสตูดิโอต่างๆของเมืองฟลอเรนซ์ เขามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะศึกษาวิชาศิลปะและเป็นศิลปินให้ได้ อย่างไรก็ตามบิดามารดาของคอร์ราโดกลับไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขาเพราะต้องการให้มาสืบทอดธุรกิจของครอบครัวต่อไปมากกว่า แต่คอร์ราโดมีความตั้งใจที่จะศึกษาศิลปะอย่างแรงกล้า จึงได้เก็บสะสมเงินและเข้าศึกษาในสถาบันศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ (Accademia di Belle Arti di Firenze) หลักสูตร 7 ปี ในปีพ.ศ. 2451 และจบการศึกษาในปีพ.ศ. 2458 ในขณะที่มีอายุ 23 ปีด้วยเกียรตินิยมอันดับที่หนึ่ง และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ต่อมาได้สอบคัดเลือกและได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำราชวิทยาลัย ศาสตราจารย์คอร์ราโดมีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมเป็นอย่างสูง ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายและได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์จากรัฐบาลหลายครั้ง อาทิเช่น ผลงานอนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 บนเกาะเอลบา เป็นต้น

การเข้ารับราชการในแผ่นดินสยาม[แก้]

ศาสตราจารย์คอร์ราโด สมรสกับนางแฟนนี วิเวียนนี มีบุตรสาวชื่อ อิซซาเบลล่า และสืบเนื่องจากปี พ.ศ. 2466 ท่านได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรปและยังมีความต้องการแสวงหาสถานที่ปฏิบัติงานแห่งใหม่ ประกอบกับในช่วงเวลานั้นซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านศิลปะตะวันตกเพื่อที่จะเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นในแผ่นดินไทยและทำการฝึกสอนช่างไทยให้มีความสามารถในการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตกได้ ทางรัฐบาลอิตาลีจึงได้ยื่นข้อเสนอโดยการส่งคุณวุฒิและผลงานของศาสตราจารย์คอร์ราโดให้สยามพิจารณา โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นบุคคลสำคัญในการคัดเลือกศาสตรจารย์คอร์ราโดให้มาปฏิบัติงานในสยาม ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์คอร์ราโดจึงเดินทางสู่แผ่นดินสยามพร้อมกับภรรยาและบุตรสาวโดยทางเรือ เพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 ขณะมีอายุได้ 32 ปี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ. 2469

เมื่อแรกเริ่มการเข้ารับราชการ ศาสตาจารย์คอร์ราโดทำสัญญารับราชการในสยามเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้วยอัตราเงินเดือน 800 บาท แต่ในตอนแรกก็ยังไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าใดเนื่องจากยังไม่มีใครได้เห็นฝีมือของท่าน จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งได้ประทับทดลองเป็นแบบปั้นให้กับศาสตราจารย์คอร์ราโด และปรากฏว่าศาสตราจารย์คอร์ราโดสามารถปั้นได้อย่างสมจริงเป็นอย่างมาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงกราบบังคมทูล เชิญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จมาเป็นแบบจริงให้แก่ศาสตราจารย์คอร์ราโด โดยปั้นหุ่นเฉพาะพระพักตร์ ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัยและเป็นที่ยอมรับของคนในกระทรวง แรกเริ่มศาสตราจารย์คอร์ราโดได้วางหลักสูตรอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรมซึ่งส่วนมาจบการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่างโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ซึ่งต่อมาบุคคลที่ผ่านการอบรมก็ได้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของกิจการงานปั้นหล่อของกรมศิลปากร ทำให้ทางราชการได้ขอให้ศาสตราจารย์คอร์ราโดวางหลักสูตรการศึกษารูปแบบเดียวกันกับสถาบันศิลปะในยุโรป

ศาสตรจารย์คอร์ราโดได้วางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้น เพื่อใช้ในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ที่พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) ก่อตั้งขึ้น ภายหลังได้รวมโรงเรียนเข้ากับโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง” และพัฒนาการเรียนการสอนเรื่อยมา จนในปี พ.ศ. 2485 กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในขณะนั้นโดย ฯพณฯจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โดยจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโดก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะจิตรกรรมควบคู่ไปกับตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนอีกด้วย

การได้รับสัญชาติไทยและชีวิตในบั้นปลาย[แก้]

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2485 ประเทศอิตาลียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาลี ในประเทศไทยจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของญี่ปุ่น เนื่องจากฝ่ายญี่ปุ่นเองต้องการสืบให้ทราบว่าชาวอิตาลีกลุ่มนี้ภักดีต่อกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาวอยผู้ซึ่งประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรหรือสนับสนุนฝ่ายสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีที่ประกาศขอสู้ต่อกันแน่ ทำให้ศาสตราจารย์คอร์ราโดเองก็ถูกควบคุมตัวไว้เช่นกัน แต่รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสามารถท่านและได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจีเอาไว้เองเพื่อคุ้มครองท่านไว้ ไม่ต้องไปถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกให้สร้าง ทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี โดยหลวงวิจิตรวาทการ ได้ดำเนินการทำเรื่องราวขอโอนสัญชาติจากสัญชาติอิตาลีมาเป็นสัญชาติไทย โดยเปลี่ยนชื่อของท่านจากนายคอร์ราโด เฟโรจีให้มาเป็น "นายศิลป พีระศรี" นับแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างมากภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่าครองชีพในประเทศไทยสูงขึ้น ทำให้สถานะทางการเงินของท่านได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเขาจำต้องขายทั้งรถยนต์และบ้าน รวมถึงที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางการเงิน แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ในท้ายที่สุด เขาจึงจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังอิตาลี ประเทศบ้านเกิดพร้อมกับครอบครัวหรือก็คือการลาออกจากราชการนั่นเอง แต่เนื่องจากงานในประเทศไทยที่ยังคงติดค้างอยู่มาก รวมไปถึงความรักในประเทศไทยและอุดมการณ์ในการพัฒนาวงการศิลปะไทยของท่าน ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางกลับมารับราชการและรับตำแหน่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกครั้งในพ.ศ. 2492 แต่ในครั้งนี้นางแฟนนี อิซาเบลลาและโรมาโน(ลูกชายที่เกิดในประเทศไทย) นั้นไม่ได้เดินทางกลับมาด้วย ทำให้อาจารย์ศิลป ต้องจากครอบครัวและหยุดชีวิตสมรสของท่านลงเช่นกัน

ในช่วงบั้นปลายชีวิต ได้อุทิศเวลาที่เหลือให้กับวงการศิลปะไทย ทั้งการสอน การสร้างสรรค์ผลงาน รวมไปถึงการได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เพื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะไทยสมัยใหม่ที่ควรจะมีเอกลักษณ์ของไทยไว้ให้สืบต่อไปแม้ความรู้ด้านศิลปะตะวันตกเริ่มแพร่หลายแล้วก็ตาม งานของศาสตรจารย์ศิลป์จึงถือเป็นงานแรกเริ่มของศิลปะไทยสมัยใหม่ที่แม้จะได้รับอิทธิพลตะวันตกแต่ก็ผสมผสานศิลปะแบบไทยประเพณีไว้อย่างกลมกลืน

ศาสตราจารย์ศิลป แต่งงานใหม่กับนางมาลินี เคนนี่ ในปีพ.ศ. 2502 แต่ไม่ได้มีบุตรด้วยกัน โดยยังคงทุ่มเทเวลาและอุทิศชีวิตให้กับวงการศิลปะไทยเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2505 ท่านได้ล้มป่วยลงด้วยอาการโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรมในวันที่14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวภายหลังการเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ สิริอายุได้ 69 ปี 241 วัน โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่17 มกราคม พ.ศ. 2506 ซึ่งอัฐิถูกแยกไปสามส่วนด้วยกันคือที่สุสานชิมิเตโร เดญลี อัลลอรี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ส่วนที่สองถูกบรรจุในอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ณ ลานศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และส่วนที่สามถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป พีระศรี อนุสรณ์ ในกรมศิลปากร

โดยตลอดชั่วชีวิตการทำงานกว่า 39 ปีในประเทศไทย ท่านได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทยจำนวนมาก และยังรวมไปถึงการออกแบบพระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป ได้ศึกษาพระพุทธรูปลีลาของศิลปะสุโขทัยอย่างลึกซึ้ง จนสามารถสร้างพระพุทธรูปลีลาที่มีการผสมผสานรูปแบบศิลปะสุโขทัยเข้ากับศิลปะไทยสมัยใหม่และมีความงดงามเป็นอย่างมากที่สุดองค์หนึ่งของไทย ผลงานของท่านยังคงปรากฏให้เห็นต่อสายตาชาวไทย เฉกเช่นเดียวกับคุณงามความดีของท่านที่ยังเป็นที่ระลึกถึงเสมอมา

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

เขาถือเป็นบุคคลที่มีใจรักในศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เป็นสิ่งทีท่านให้ความสนใจมากกว่าสิ่งอื่นใด ท่านก็สามารถส่งเสียตัวเองจนเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับที่ 1 และสามารถสอบเข้าเป็นศาสตราจารย์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่งงานครั้งแรกกับนางพาโอล่า แองเจลินี แต่ก็ได้ขอแยกทางตามคำสั่งศาลในหนึ่งปีให้หลัง จากนั้นท่านแต่งงานใหม่กับ แฟนนี วิเวียนนี มีบุตรสองคน บุตรสาวชื่อ อิซาเบลลา ส่วนบุตรชายชื่อ โรมาโน (เกิดและเติบโตที่ไทย) เมื่อเข้ารับราชการในประเทศไทยท่านได้รับเงินเดือนที่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัวของท่าน เขามีนิสัยรักธรรมชาติ ชอบความเรียบง่ายและหลงรักในวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยพัฒนาวงการศิลปะไทยให้ก้าวหน้า ในมุมมองของลูกศิษย์นั้น เขาเป็นคนที่มีความรักใคร่ ห่วงใยละปรารถนาดีต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก ในเวลาสอนเขาจะจริงจังและเป็นคนที่มีความตรงต่อเวลา สอนด้วยความเข้มงวดและมักจะพร่ำสอนให้นักศึกษาทำงานหนักอยู่เป็นประจำ เพราะงานศิลปะที่ดีนั้นย่อมมาจากการฝึกฝนอย่างหนัก โดยท่านยังมีความเป็นกันเองกับนักศึกษา มักจะแทนตัวเองว่า “ฉัน” และแทนนักศึกษาว่า “นาย” เมื่อนักศึกษาคนไหนขาดแคลนทุนทรัพย์ท่านก็มักจะช่วยเหลือเสมอ[3] ท่านยังโปรดปรานการฟังเพลงเป็นอย่างมาก โดยเพลงที่ท่านมักจะฮัมเวลาทำงานอยู่บ่อยๆก็คือเพลงซานตาลูเซีย เพลงพื้นเมืองภาษาอิตาลีซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศาสตราจารย์ศิลป ยังเป็นคนที่ตั้งใจในการทำงานอย่างแท้จริง ท่านจะมาทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ ใช้เวลาพักผ่อนในช่วงกลางวันแค่สั้นๆเพื่อที่จะไม่เป็นการเสียเวลาต่อการทำงาน และจะกลับบ้านก็ต่อเมื่อค่ำแล้วเท่านั้น โดยจะใช้เวลาไปกับการทำงานในห้องทำงาน สอนนักศึกษาและหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านจะพิมพ์คัดลอกเอกสารสำหรับสอนนักศึกษาไว้เพิ่มเติมอีกหนึ่งชุดเสมอเพื่อป้องกันความเสียหายจากระเบิด หลังจากสงครามสิ้นสุดท่านจำต้องขายทั้งรถ บ้านและที่ดินเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินครอบครัว แต่ก็ยังปั่นจักรยานจากบ้านทางถนนสุขุมวิทมาสอนอยู่ทุกวัน เมื่อจำเป็นต้องเดินทางกลับอิตาลีเพราะวิกฤตทางการเงินแต่ท่านก็ยังห่วงงานที่ประเทศไทยที่ยังคงคั่งค้าง จึงจำเป็นต้องแยกทางกับครอบครัวเพื่อที่จะมาสานต่ออุดมการณ์ของท่านต่อ ในช่วงบั้นปลายแม้จะป่วยหนักแต่เขาก็ยังทำงานของท่านต่อ ท่านยังตรวจข้อสอบของนักศึกษาในขณะที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านได้บอกกล่าวกับลูกศิษย์ไว้ว่า "นาย ถ้าฉันตาย นายนึกถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องไปทำอะไร นายทำงาน" ซึ่งเป็นคำสอนที่ลูกศิษย์ยึดถือไว้อีกประโยคหนึ่งเพื่อช่วยสืบต่ออุดมการณ์ของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ในการพัฒนาวงการศิลปะไทยต่อไปตราบนานเท่านาน[4]

คุณูปการต่อศิลปะไทย[แก้]

พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล ผลงานที่มีการผสมผสานความงามแบบเก่าและใหม่อย่างลงตัว ถือเป็นการริเริ่มศิลปะไทยสมัยใหม่อย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ศิลป มีอุดมการณ์ที่จะต้องการพัฒนาวงการศิลปะไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นไปอีก และในยุคที่ศิลปะตะวันตกกำลังรุ่งเรืองในประเทศไทย สิ่งที่ท่านเล็งเห็นก็คือการทำอย่างไรให้คนไทยสามารถสร้างผลงานรูปแบบตะวันตกได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องว่าจ้างช่างตะวันตก และมีงานศิลปะที่เป็นตัวของตัวเองไม่ลอกเลียนแบบตะวันตกไปเสียหมด ด้วยแนวคิดนี้จึงเกิดโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้นเพื่อเพาะพันธุ์เมล็ดศิลปินที่จะเติบโตไปเป็นช่างแห่งกรุงสยามในภายภาคหน้า อีกสาเหตุหนึ่งที่ท่านตัดสินใจตั้งโรงเรียนขึ้นก็เพราะท่านมองว่าการเปิดโรงเรียนสอนเพื่อผลิตศิลปินนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อวงการศิลปะมากกว่าการสร้างสรรค์งานแต่ตัวท่านเพียงลำพัง นอกจากนี้เขายังได้มีส่วนช่วยในการจัดหาทุนทรัพย์และทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาศิลปะชาวไทยเพื่อรักษาให้ชาติยังคงมีศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นต่อไป เนื่องจากในยุคข้าวยากหมากแพงนั้นผู้ปกครองแทบทุกคนไม่สนับสนุนให้ลูกของตนเรียนวิชาศิลปะ เขาจึงได้พยายามอย่างสุดความสามารถให้ไทยสามารถมีช่างที่มีฝีมือได้ต่อไป ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเพราะบรรดาลูกศิษย์ของท่านเริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง

จากความรู้ในด้านศิลปะตะวันตกที่ท่านได้พร่ำสอนให้แก่ลูกศิษย์นี้เองทำให้วงการศิลปะไทยเกิดศิลปินหน้าใหม่ที่มีฝีมือและรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ออกมาได้ ศาสตราจารย์ศิลป ได้รับมอบหมายให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และอนุสาวรีย์สำคัญของไทยมากมายหลายแห่ง ซึ่งท่านได้ใช้ความรู้ในด้านศิลปะตะวันตกสร้างงานแต่ก็ยังมิได้ละทิ้งความงามของศิลปะไทยหรือที่เรียกกันว่า ศิลปะแบบไทยประเพณีไป ทั้งนี้เพราะท่านได้เล็งเห็นว่าศิลปะไทยก็มีความงามและเอกลักษณ์เป็นของตน อีกทั้งช่างไทยยังได้มีการสืบทอดความรู้วิชาในด้านศิลปะไทยมายอย่างยาวนาน การที่จะทำให้วงการศิลปะไทยก้าวหน้าก็ต้องไม่ลืมรากเหง้าเดิมของไทยที่มีมาแต่โบราณ ท่านจึงได้ทำการศึกษาศิลปะไทยอย่างละเอียดโดยเฉพาะการศึกษาพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัยที่ท่านได้ยกย่องไว้ว่ามีความงดงามเป็นที่สุด ได้มีการศึกษารูปแบบศิลปะของพระพุทธรูปและมีบทความวิชาการตีพิมพ์ออกมามากมาย ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการออกแบบพระพุทธรูปพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของความงามของศิลปะไทย มีการนำความรู้ใหม่คือศิลปะตะวันตกในลัทธิสัจนิยมที่เชื่อในเรื่องของความสมจริงมาผนวกใช้กับความงามแบบดั้งเดิมของศิลปะสุโขทัย ที่สร้างแบบศิลปะไทยประเพณีจนก่อให้เกิดความงามรูปแบบใหม่ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นต้นแบบของศิลปะไทยสมัยใหม่อย่างแท้จริง เนื่องจากเขาได้เป็นผู้วางรากฐานให้อย่างมั่นคง จึงส่งผลให้ศิลปินรุ่นหลังสามารถสืบทอดงานศิลปะไทยออกไปได้อย่างเต็มที่

นอกไปจากนั้นแล้วศาสตราจารย์ศิลป ยังได้เป็นกำลังหลักในการผลักดันให้เกิดการประกวดวาดเส้น จิตรกรรมและประติมากรรม จนเกิดเป็นงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้น มีจุดประสงค์ให้ศิลปินไทยเกิดการแข่งขันในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีออกสู่สาธารณชนและช่วยให้ศิลปะไทยมีความก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไม่มีหยุด และเล็งเห็นต่องานช่างและงานศิลปะไทยในสาขาอื่นๆ จึงได้ส่งเสริมให้มีการก่อตั้งคณะในมหาวิทยาลัยศิลปากรเพิ่มคือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งในระยะแรกเรียกว่าคณะสถาปัตยกรรมไทย คณะโบราณคดี และคณะมัณฑนศิลป์ ด้วยคุณูปการนานัปการนี้ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี จึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยที่ได้พลิกโฉมรูปแบบศิลปะไทยแบบเดิมให้มีความก้าวหน้าไปอย่างสูงทัดเทียมสากล เกิดศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่สามารถสืบทอดงานศิลปะไทยต่อไปได้นานเท่านาน ไม่เพียงแต่งานด้านจิตรกรรม ประติมากรรมแต่ยังรวมไปถึงงานด้านสถาปัตยกรรม โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมไปถึงมัณฑนศิลป์อีกด้วย

ผลงาน[แก้]

ภาพ ชื่อ ที่ตั้ง สร้างเมื่อ ข้อมูล
อนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 เกาะเอลบา ประเทศอิตาลี พ.ศ. 2465 เขาได้รับรางวัลชนะเลิศมอบโดยรัฐบาลอิตาลีจากอนุสาวรีย์นี้
ปฐมบรมราชานุสรณ์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ประดิษฐานที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2472 ศาสตราจารย์ศิลป ได้ปั้นแบบและควบคุมการหล่อด้วยตัวเองที่ประเทศอิตาลี
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี นครราชสีมา พ.ศ. 2476 เป็นอนุสาวรีย์ของวีรสตรีไทยที่มีความงดงามและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวโคราช
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2482 ศาสตราจารย์ศิลป ปั้นแบบประติมากรรมและควบคุมงานก่อนสร้างทงหมด
พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2484 มีขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง แรกเริ่มออกแบบให้ทรงถือพระมาลา ก่อนจะเปลี่ยนให้สวมพระมาลาในภายหลัง
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2485 ศาสตราจารย์ศิลป ปั้นและควบคุมการหล่อประติมากรรมบุคคลทั้งห้าและควบคุมการสร้างอนุสาวรีย์
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2493 มีความโดดเด่นด้วยลักษณะประติมากรรมที่งดงาม มีเอกลักษณ์และสมจริงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะประติมากรรมม้าที่อยู่ในท่ายืนพร้อมวิ่งและถูกสัดส่วนกายวิภาค
พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. 2497
พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2498 สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาเนื่องในเนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี เป็นผลสำเร็จของการศึกษาศิลปะสุโขทัยอย่างลึกซึ้งของศาสตราจารย์ศิลป เกิดการสร้างพระพุทธรูปรูปแบบใหม่ที่ถือเป็นผสมผสานลัทธิสัจนิยมของตะวันตกเข้ากับศิลปะไทยประเพณีแบบดั้งเดิม ถือเป็นการคงเอกลักษณ์เก่าไปพร้อมกับการสร้างสรรค์รูปแบบศิลปะสมัยใหม่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะไทยสมัยใหม่อย่างแท้จริง

ผลงานประติมากรรมของ ศิลป์ พีระศรี[แก้]

การรำลึกและอนุสรณ์[แก้]

วันสำคัญ[แก้]

มีการรำลึกถึงท่านทุกวันที่ 15 กันยายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายเกิดของท่าน เรียกกันว่าวันศิลป พีระศรี โดยถือเป็นวันสำคัญของวงการศิลปะไทยและนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ในวันศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร จะจัดกิจกรรมขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่าหรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน มีการวางดอกไม้เป็นการรำลึกถึงท่านที่ลานอาจารย์ศิลปบริเวณหน้าคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ โดยนักศึกษาจะเปิดร้านขายของที่ระลึกและมีการแสดงดนตรีสดตลอดทั้งวัน นอกจากนั้นยังมีการเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความเคารพต่ออัฐิของท่านในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป พีระศรี อนุสรณ์ และพิธีสำคัญจะเริ่มขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งทุ่ม ซึ่งจะเป็นการจุดเทียนที่ลานอาจารย์ศิลป ร่วมร้องเพลงซานตา ลูเซียและ เพลงศิลปากรนิยม เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านในวันสำคัญนี้

อนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถาน[แก้]

อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

เหล่าลูกศิษย์ก็ได้มีความพยายามที่จะจัดสร้างอนุสาวรีย์ของเขาเพื่อเป็นเกียรติแด่ท่านที่ได้มีคุณูปการต่อศิลปะไทยและเป็นผู้ก่อตั้งและวางรากฐานให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เนื่องด้วยกฎหมายของประเทศไทยในตอนนั้นไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งอนุสาวรีย์ของคนต่างชาติในประเทศได้ ถึงอย่างนั้นอาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ของเขา ได้แอบสร้างอนุสาวรีย์ของเขาขนาดเท่าคนจริงขึ้น แต่ก็ไม่มีที่ที่จะสามารถจัดตั้งได้จึงจำเป็นต้องเก็บเอาไว้ในห้องคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ จนกระทั่งในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ นำโดยพิษณุ ศุภนิมิตร ได้เข้าไปนำอนุสาวรีย์ออกมาจากห้องคณบดี ก่อฐานแล้วทำการติดตั้งอนุสาวรีย์เขาโดยไม่เกรงกลัวกับการโดนจับ ซึ่งในปัจจุบันอนุสาวรีย์นี้ก็ยังคงตั้งอยู่เช่นเดิม โดยลานแห่งนี้มีชื่อเรียกกันในหมู่นักศึกษาว่า ลานอาจารย์ศิลป และยังมีการสร้างเพิ่มเติมในภายหลังที่วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์และวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีอีกด้วย

นอกเหนือไปจากการจัดทำอนุสาวรีย์แล้วยังได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นเสมือนอนุสรณ์สถานแก่เขา โดยใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป พีระศรี อนุสรณ์ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างบรรดาลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิดเขา เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของท่าน ตั้งอยู่ในกรมศิลปากร มีการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2527 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 92 ปี ของท่าน โดยนายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นมาเป็นประธานในพิธี ซึ่งปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สังกัดในสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ในเครือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ภายในตัวอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร มีการแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ห้องจัดแสดง คือห้องชั้นนอกตรงทางเข้าพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผลงานศิลปะของลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด อาทิเช่น ผลงานของ เฟื้อ หริพิทักษ์, ชลูด นิ่มเสมอ, เขียน ยิ้มศิริ และ สวัสดิ์ ตันติสุข ซึ่งถือเป็นศิลปินรุ่นแรก ๆ ของศิลปะไทยแบบสมัยใหม่ที่ได้สืบทอดความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และอุดมการณ์ที่เขาได้วางรากฐานไว้ให้ ในส่วนของห้องที่สองหรือห้องชั้นใน จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของเขาในช่วงที่ท่านยังมีชีวิต เช่น โต๊ะทำงาน เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องมือปั้น เป็นต้น โดยในห้องที่สองนี้ได้มีการจำลองห้องทำงานแบบดั้งเดิมในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ รวมไปถึงแบบร่างอนุสาวรีย์และประติมากรรมชิ้นสำคัญและหนังสือหายากที่เขาเคยใช้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะตะวันตกซึ่งให้บริการแก่ผู้เข้าชมอีกด้วย

เกียรติยศ[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

สมัญญานาม[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ^ ตามที่ปรากฏในผลงานของบุคคลนี้ ในเอกสาราชการ และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบุคคลนี้ เช่น

ส่วนเอกสารปัจจุบันบางฉบับเปลี่ยนไปสะกดว่า "ศิลป์ พีระศรี" เช่น วิจิตร อภิชาตเกรียงไกร, บ.ก. (ม.ป.ป.). 109 ปีแห่งชีวิตและจิตวิญญาณ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (PDF) (2 ed.). กรุงเทพฯ: Yearbook Publisher. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-12. สืบค้นเมื่อ 2010-02-01. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)

อ้างอิง[แก้]

  1. "เปิดประวัติ 'ศิลป์ พีระศรี' บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-31. สืบค้นเมื่อ 2022-01-31.
  2. 15 กันยายน "วันศิลป์ พีระศรี" เปิดประวัติอาจารย์ชาวอิตาลีสัญชาติไทย
  3. สยามศิลปิน - ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย
  4. ชีวประวัติบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยใ­นประเทศไทย
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๘๔ หน้า ๒๘๑๑, ๑๔ ธันวาคม ๒๔๙๗
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2012-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๗๒ ง หน้า ๔๖๕๓, ๙ ธันวาคม ๒๔๙๕
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๑๔ ง หน้า ๖๙๑, ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๒๙ ง หน้า ๑๑๒๖, ๒๘ เมษายน ๒๔๘๕
  9. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  10. ประวัติวันศิลป์ พีระศรี 15 กันยายน บิดาแห่งวงการศิลปะ
  11. "บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-06. สืบค้นเมื่อ 2018-07-13.

งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]