ข้ามไปเนื้อหา

พระที่นั่งอนันตสมาคม

พิกัด: 13°46′18″N 100°30′48″E / 13.771649°N 100.513251°E / 13.771649; 100.513251
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตสมาคม ถ่ายจากประตูทวยเทพสโมสร
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะปรับปรุง
ประเภทพระที่นั่ง
สถาปัตยกรรมนีโอเรอเนสซองส์
ที่ตั้งแขวงดุสิต เขตดุสิต
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
ตั้งชื่อให้พระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์เดิม)
เริ่มสร้างพ.ศ. 2451
แล้วเสร็จพ.ศ. 2458
พิธีเปิด11 มกราคม พ.ศ. 2459
ปรับปรุงพ.ศ. 2560
ค่าก่อสร้าง15,000,000 บาท
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในกำกับดูแลของสำนักพระราชวัง
ความสูง49.50 เมตร
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างโดมใหญ่ตรงกลาง พร้อมด้วยโดมเล็กย่อยอีก 6 โดม
ผนังรับน้ำหนัก (ส่วนใหญ่)[1]
วัสดุหินอ่อน
จำนวนชั้น2 ชั้น
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิก
วิศวกรคาร์โล อัลเลกรี[3]
กำหนดให้เป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิต
เป็นที่รู้จักจากเป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย และเป็นอาคารทรงตะวันตก มีโดมขนาดใหญ่โดดเด่นในส่วนกลาง
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนพระที่นั่งอนันตสมาคม
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005683
ปัจจุบันอาคารรัฐสภาไทย ได้ย้ายไปที่รัฐสภาแห่งที่ 2 และแห่งที่ 3 ในปัจจุบัน

พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นท้องพระโรงเดิมของพระราชวังดุสิต ชื่อของพระที่นั่งนี้ นำมาจากพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่สร้างไม่ทันเสร็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต จึงสร้างต่อแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[3]จนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 รวมใช้เวลาสร้างทั้งหมด 8 ปี

พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นอาคารทรงยุโรปล้วน เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย[4] ซึ่งก่อสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวชั้นหนึ่งจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี[5] ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีนามว่า มาริโอ ตามานโญ มีแรงบันดาลใจมาจากโดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร งานก่อสร้างทั้งหมดมาจากแรงงานทั้งคนไทยและจีน ส่วนงานภายในที่มีการตกแต่งด้วยศิลปะเฟรสโก เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่าง ๆ มาจากฝีมือช่างจากอิตาลีเป็นส่วนใหญ่[3]

พระที่นั่งอนันตสมาคมมีจุดเด่นที่โดมใหญ่ตรงกลางซึ่งทำจากทองแดงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เมตร[6] และรวมไปถึงโดมย่อยอีก 6 โดม แต่เนื่องจากสนิมทำให้เปลี่ยนสีเป็นสีเขียวอมน้ำเงินในปัจจุบัน

ในอดีตพระที่นั่งอนันตสมาคมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามารับชมได้ จนในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ได้ปิดปรับปรุงโดยไม่มีกำหนดมาจนถึงปัจจุบัน[7]

ประวัติ

[แก้]
ภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมขณะก่อสร้าง

สืบเนื่องจากพระที่นั่งต่าง ๆ ในพระราชวังสวนดุสิต ซึ่งพระองค์โปรดให้สร้างขึ้น ณ ตำบลสามเสน คับแคบ ไม่กว้างขวางพอแก่การพระราชพิธีต่าง ๆ จึงเห็นควรให้ก่อสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่นี้ และพระราชมณเฑียรหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยของพระบรมชนกนาถ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถจะบำรุงรักษาต่อไปได้ ครั้นจะสร้างขึ้นใหม่ สถานที่ในพระบรมมหาราชวังก็คับแคบ[8] ด้วยเหตุนี้เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นโดยตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อใช้เป็นสถานที่เสด็จออกมหาสมาคม

พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ซึ่งตรงกับวันประกอบพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พร้อมทั้งพระราชทานชื่อพระที่นั่งว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์ในพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ด้วยสภาพที่ทรุดโทรมยากแก่การบูรณะจึงได้รื้อลง[9]

พระที่นั่งอนันตมหาสมาคมออกแบบโดยมาริโอ ตามานโญ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง และมี พระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) เป็นผู้ช่วย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตก่อนที่พระที่นั่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี ใช้งบประมาณประมาณ 15 ล้านบาท

สถาปัตยกรรม

[แก้]
โดมโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
โดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน
โดมพระที่นั่งอนันตสมาคม
โดมพระที่นั่งอนันตสมาคม 

พระที่นั่งอนันตมหาสมาคม มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองส์ (Neo Renaissance) และนีโอคลาสสิก (Neo classic)[10] โดยตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อน ซึ่งสั่งมาจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี โดยมีจุดเด่น คือ มีหลังคาโดมคลาสสิกของโรมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็ก ๆ โดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดง (ต่อมาเกิดสนิมสีเขียวขึ้นตามกาลเวลา) ขนาดขององค์พระที่นั่งฯ ส่วนกว้างประมาณได้ 49.50 เมตร ยาว 112.50 เมตร และสูง 49.50 เมตร [11]

ลักษณะของโดมมีอิทธิพลมาจากโดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ภายในพระที่นั่ง บนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เขียนบนปูนเปียก ซึ่งภาพจะติดทนกว่าภาพที่เขียนบนปูนแห้ง (ภาพจิตรกรรมไทยนิยมเขียนแบบปูนแห้ง) เกี่ยวกับ พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1-6 จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของ นายซี. รีโกลี และศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี

เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์

[แก้]

เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ เป็นเรือนยอดทรงไทยล้วน ตั้งอยู่ที่ทิศตะวันออกของพระที่อนันตสมาคม สร้างขึ้นโดยสถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดสร้างขึ้นในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2557 ถึงเดือนมิถุนายน 2559[12] เรือนยอดนี้ออกแบบมาทั้งหมด 9 ยอด ซึ่งถือเป็นอาคารที่มีจำนวนยอดปราสาทมากที่สุดในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มี 5 ยอด[13]

เหตุการณ์สำคัญ

[แก้]
การเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครบ 85 พรรษา

พระที่นั่งอนันตสมาคมได้ทำหน้าที่เป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากในช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ใช้พระที่นั่งองค์นี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ ณ อาคารรัฐสภาแห่งที่สอง ซึ่งตั้งอยู่ข้าง ๆ พระที่นั่งองค์นี้ พระที่นั่งอนันตสมาคม ยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี สำคัญ ๆ มากมาย อาทิ รัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และการเสด็จออกมหาสมาคมของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอีก 4 ครั้ง

พระที่นั่งอนันตสมาคม เคยใช้เป็นที่เสด็จออก ดังนี้

  1. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 7)เสด็จออกเนื่องในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
  2. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่ 9)เสด็จออกเนื่องในงานสมโภชเนื่องในการเสด็จนิวัติพระนคร หลังเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2504
  3. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออกเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542
  4. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออกเนื่องในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549
  5. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออกเนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา เมื่อวันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  6. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 10)เสด็จออกเนื่องในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ พระที่นั่งอนันตสมาคมยังเคยใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค 2003) พ.ศ. 2546[14]

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สืบศักดิ์ พรหมบุญ และ ชูเลิศ จิตเจือจุน, ประวัติศาสตร์งานแก้ไขฐานรากในประเทศไทย เก็บถาวร 2017-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เอกสารสัมมนา/บทความทางวิชาการ บ. อินเตอร-คอนซัลท์ จำกัด . สืบค้นเมื่อ 29/12/2559
  2. รู้จัก “พระที่นั่งอนันตสมาคม” กับภาพประวัติศาสตร์ที่กลับมาอีกครั้ง เก็บถาวร 2013-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์ .วันที่ 4 ธันวาคม 2555
  3. 3.0 3.1 3.2 รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว เก็บถาวร 2017-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 29/12/2559
  4. วลัญช์ สุภากร, พระที่นั่งอนันตสมาคม เกร็ดสถาปัตยกรรมคู่ประวัติศาสตร์, กรุงเทพธุรกิจ .วันที่ 29 มิถุนายน 2558
  5. พระที่นั่งอนันตสมาคม กับ เจ้าพระยายมราช, oknation .สืบค้นเมื่อ 29/12/2559
  6. โปสการ์ดรูปพระที่นั่งอนันตสมาคม 4[ลิงก์เสีย], เว็บไซต์สำเร็จรูป YouStore .สืบค้นเมื่อ 29/12/2559
  7. ไทยรัฐ (30 กันยายน 2560). "ปิดปรับปรุงไม่มีกำหนด พระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่ 1 ต.ค.2560". www.thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. แหล่งท่องเที่ยว พระที่นั่งอนันตสมาคม เก็บถาวร 2017-03-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, กาญจนาภิเษก .สืบค้นเมื่อ 30/12/2559
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงวัง ให้เรียกนามพระนั่ง ซึ่งจะสร้างขึ้นใหม่ที่วังสวนดุสิตว่าพระที่นั่งอนันตสมาคม, เล่ม ๒๔, ตอน ๔๙, วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๐, หน้า ๑๓๒๑
  10. รายการ 100 ปี ไกลบ้าน ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
  11. "พระที่นั่งอนันตสมาคม:ประวัติความเป็นมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-14. สืบค้นเมื่อ 2010-08-13.
  12. "เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์" อลังการงานศิลป์สุดวิจิตร เฉลิมพระเกียรติปีมหามงคล เก็บถาวร 2017-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์ .สืบค้นเมื่อ 30/12/2559
  13. งดงาม “เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์” เฉลิมพระเกียรติในหลวงครองราชย์ 70 ปี, มติชนออนไลน์ .สืบค้นเมื่อ 30/12/2559
  14. หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0504/ว.209

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°46′18″N 100°30′48″E / 13.771649°N 100.513251°E / 13.771649; 100.513251

งานศึกษาทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง

[แก้]