ข้ามไปเนื้อหา

เหมา เจ๋อตง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เหมาเจ๋อตง)
เหมา เจ๋อตง
毛泽东
เหมา ใน ค.ศ. 1959
ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
20 มีนาคม ค.ศ. 1943 – 9 กันยายน ค.ศ. 1976
รอง
ก่อนหน้าจาง เหวินเทียน (ในตำแหน่งเลขาธิการ)
ถัดไปฮฺว่า กั๋วเฟิง
ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
27 กันยานน ค.ศ. 1954 – 27 เมษายน ค.ศ. 1959
หัวหน้ารัฐบาลโจว เอินไหล
รองจู เต๋อ
ถัดไปหลิว เช่าฉี
ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
8 กันยายน ค.ศ. 1954 – 9 กันยายน ค.ศ. 1976
รอง
ถัดไปฮฺว่า กั๋วเฟิง
ประธานรัฐบาลประชาชนส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 – 27 กันยายน ค.ศ. 1954
หัวหน้ารัฐบาลโจว เอินไหล
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
หลี่ จงเหริน (ในตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน)
ประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน
ดำรงตำแหน่ง
9 ตุลาคม ค.ศ. 1949 – 25 ธันวาคม ค.ศ. 1954
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปโจว เอินไหล
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 ธันวาคม ค.ศ. 1893(1893-12-26)
เฉาชาน มณฑลหูหนาน ราชวงศ์ชิง
เสียชีวิต9 กันยายน ค.ศ. 1976(1976-09-09) (82 ปี)
ปักกิ่ง ประเทศจีน
ที่ไว้ศพหอรำลึกประธานเหมา ปักกิ่ง
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (1921–1976)
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
ก๊กมินตั๋ง (1925–1926)
คู่สมรส
บุตร
บุพการี
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยครูหูหนาน
ลายมือชื่อ
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ毛泽东
อักษรจีนตัวเต็ม毛澤東
Courtesy name
อักษรจีนตัวย่อ润之
อักษรจีนตัวเต็ม潤之
การเป็นสมาชิกสถาบันกลาง
  • 1964–1976: สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ
  • 1954–1959: สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ
  • 1938–1976: สมาชิกคณะกรรมธิการสามัญประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 6, 7, 8, 9, 10
  • 1938–1976: สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 6, 7, 8, 9, 10

การดำรงตำแหน่งอื่น

เหมา เจ๋อตง (จีน: 毛泽东; พินอิน: Máo Zédōng; 26 ธันวาคม ค.ศ. 1893 – 9 กันยายน ค.ศ. 1976) หรือที่รู้จักกันในนาม ประธานเหมา เป็นเป็นนักการเมือง นักทฤษฎีการเมือง นักยุทธศาสตร์การทหาร กวี และนักปฏิวัติชาวจีน ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาเป็นผู้นำประเทศนับตั้งแต่ก่อตั้งใน ค.ศ. 1949 กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1976 เหมายังดำรงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ ค.ศ. 1943 กระทั่งถึงแก่อสัญกรรม และเป็นผู้นำพรรคโดยพฤตินัยตั้งแต่ ค.ศ. 1935 ทฤษฎีซึ่งเขาปรับปรุงให้เข้ากับบริบทของจีนโดยอาศัยหลักของลัทธิมากซ์–เลนินเป็นที่รู้จักในนามลัทธิเหมา

เหมาเป็นลูกชายของชาวนาในเฉาชาน มณฑลหูหนาน เขารับอิทธิพลในช่วงต้นชีวิตจากเหตุการณ์การปฏิวัติซินไฮ่ใน ค.ศ. 1911 และขบวนการ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 ที่สนับสนุนลัทธิชาตินิยมจีนและต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อมาเขายอมรับลัทธิมากซ์–เลนินขณะทำงานเป็นบรรณารักษ์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และใน ค.ศ. 1921 เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังสงครามกลางเมืองจีนระหว่างก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1927 เหมาได้นำกำลังก่อการกำเริบฤดูเก็บเกี่ยวแต่ล้มเหลวและก่อตั้งโซเวียตเจียงซีขึ้น ณ ที่นั้นเขาช่วยก่อตั้งกองทัพแดงจีนและพัฒนายุทธวิธีการรบแบบกองโจร ใน ค.ศ. 1935 เหมาก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่างการเดินทัพทางไกล แม้ในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง คอมมิวนิสต์จีนจะร่วมมือกับก๊กมินตั๋งภายใต้แนวร่วมที่สอง แต่หลังญี่ปุ่นยอมจำนนใน ค.ศ. 1945 สงครามกลางเมืองจีนก็กลับมาดำเนินอีกครั้ง กองทัพของเหมาสามารถเอาชนะรัฐบาลชาตินิยมได้ ทำให้ต้องถอนทัพไปยังไต้หวันใน ค.ศ. 1949

วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เหมาประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐพรรคการเมืองเดียวที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาริเริ่มการปฏิรูปที่ดินและขยายอุตสาหกรรม ปราบปรามกลุ่มต่อต้านปฏิวัติ แทรกแซงสงครามเกาหลี และเริ่มต้นการรณรงค์ร้อยบุปผาและต่อต้านฝ่ายขวา ใน ค.ศ. 1958 เหมาเปิดตัวนโยบายก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของจีนจากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในจีน ใน ค.ศ. 1966 เหมาริเริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นขบวนการเพื่อขจัด "ศัตรูปฏิวัติ" โดยมีลักษณะเด่นคือการต่อสู้ระหว่างชนชั้นอย่างรุนแรง การทำลายโบราณวัตถุ และการยกย่องบูชาเหมาอย่างสุดโต่ง ตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา นโยบายต่างประเทศของเหมาถูกครอบงำด้วยความแตกแยกทางการเมืองกับสหภาพโซเวียต และในคริสต์ทศวรรษ 1970 เขาได้เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้จีนยังมีส่วนเกี่ยวในสงครามเวียดนามและสงครามกลางเมืองกัมพูชา ใน ค.ศ. 1976 เหมาถึงแก่อสัญกรรมหลังเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหลายครั้ง เขาถูกสืบทอดตำแหน่งผู้นำโดยฮฺว่า กั๋วเฟิง และใน ค.ศ. 1978 โดยเติ้ง เสี่ยวผิง การประเมินอย่างมรดกของเหมาเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งยกย่องและยอมรับว่าเขากระทำผิดพลาดในช่วงบั้นปลายชีวิต

เหมา เจ๋อตง ถือเป็นบุคคลสำคัญยิ่งคนหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 20 นโยบายของเขาก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวนมหาศาล มีการประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากความอดอยาก การถูกกดขี่ข่มเหง การใช้แรงงานทาส และการประหารชีวิตหมู่ตั้งแต่ 40 ล้านไปจนถึง 80 ล้านคน และระบอบการปกครองของเขาถูกอธิบายว่าเป็นระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ เขายังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปลี่ยนประเทศจีนจากประเทศกึ่งอาณานิคมให้กลายเป็นมหาอำนาจชั้นนำของโลกผ่านการส่งเสริมการรู้หนังสือ สิทธิสตรี การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน การศึกษาขั้นพื้นฐาน และอายุขัยเฉลี่ยของประชาชน ภายใต้การนำของเหมา ประชากรของจีนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 550 ล้านเป็นกว่า 900 ล้านคน ภายในประเทศจีน เขาได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษของชาติ ผู้ปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองและการกดขี่จากต่างชาติ เขากลายเป็นผู้นำทางอุดมการณ์และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดองค์กรลัทธิเหมาจำนวนมาก

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

วัยเด็กและการปฏิวัติซินไฮ่: ค.ศ. 1893–1911

[แก้]
เหมาในราวคริสต์ทศวรรษ 1910

เหมา เจ๋อตง เกิดวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1893 ใกล้หมู่บ้านเฉาชาน มณฑลหูหนาน[1] บิดาของเขาคือเหมา อี๋ชาง เดิมทีเป็นชาวนาที่ยากจน แต่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ร่ำรวยที่สุดในหมู่บ้าน เมื่อเติบโตขึ้นในชนบทของหูหนาน เหมาเล่าถึงบิดาของตนว่าเป็นผู้บังคับบัญชาที่เข้มงวด ซึ่งมักจะลงโทษด้วยการตีทั้งตัวเขาเองและพี่น้องอีกสามคน ได้แก่ เหมา เจ๋อหมิน เหมา เจ๋อถาน และเหมา เจ๋อเจี้ยน น้องสาวบุญธรรมหรือลูกพี่ลูกน้อง[2] มารดาของเหมาคือเหวิน ชีเม่ย์/ซู่ฉิน เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดผู้พยายามบรรเทาความเข้มงวดของสามี [3] เหมาเองก็เคยเข้ารีตเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ละทิ้งความเชื่อนี้ไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลาง[3] เมื่ออายุได้ 8 ปี เหมาถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนประถมศึกษาเฉาชาน หลังศึกษาค่านิยมลัทธิขงจื๊อแล้ว เขายอมรับในภายหลังว่าไม่ชื่นชอบตำราจีนโบราณที่สอนหลักคุณธรรมขงจื๊อ แต่กลับชอบวรรณกรรมคลาสสิกอย่างสามก๊กและซ้องกั๋งมากกว่า[4] เมื่ออายุได้ 13 ปี เหมาสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และบิดาของเขาได้จัดให้เขาแต่งงานแบบคลุมถุงชนกับหลัว อีซิ่ว หญิงสาววัย 17 ปีเพื่อรวมฐานะทางที่ดินของทั้งสองตระกูลเข้าด้วยกัน เหมาปฏิเสธที่จะยอมรับนางเป็นภรรยา กลายเป็นผู้วิจารณ์การคลุมถุงชนอย่างรุนแรงและย้ายหนีออกไปชั่วคราว หลัวเสียชื่อเสียงในท้องถิ่นและถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1911 ขณะอายุเพียง 20 ปี[5]

บ้านเกิดของเหมา เจ๋อตงในเฉาชาน ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

ขณะทำงานในไร่ของบิดา เหมาอ่านหนังสืออย่างกระหาย[6] และพัฒนา "สำนึกทางการเมือง" จากจุลสารของเจิ้ง กวานอิง ซึ่งคร่ำครวญถึงการเสื่อมถอยของอำนาจจีน และสนับสนุนการนำระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนมาใช้[7] เหมายังอ่านงานแปลของนักเขียนชาวตะวันตกหลายคน อาทิ อดัม สมิธ มงแต็สกีเยอ ฌ็อง-ฌัก รูโซ ชาลส์ ดาร์วิน และโทมัส ฮักซ์ลีย์[8]: 34  ด้วยความสนใจในประวัติศาสตร์ เหมาจึงรับแรงบันดาลใจจากความสามารถทางทหารและความรักชาติอันแรงกล้าของจอร์จ วอชิงตันและนโปเลียน โบนาปาร์ต[9] มุมมองทางการเมืองของเขาได้รับการหล่อหลอมจากการประท้วงที่นำโดยสมาคมเกอเหล่าฮุ่ย ซึ่งปะทุขึ้นหลังเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงในฉางชา เมืองหลวงของมณฑลหูหนาน เหมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง แต่กองกำลังติดอาวุธได้ปราบปรามผู้เห็นต่างและประหารชีวิตผู้นำของพวกเขา[10] ความอดอยากขยายวงกว้างไปถึงเฉาชาน ทำให้ชาวนาที่อดอยากปล้นข้าวของบิดาของเขาไป เขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกเขาเพราะมองว่าผิดศีลธรรม แต่กลับอ้างว่าเห็นใจในสถานการณ์ของพวกเขา[11] เมื่ออายุได้ 16 ปี เหมาย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประถมศึกษาตอนปลายในตงชานซึ่งอยู่ใกล้เคียง[12] ที่นั่นเขาถูกกลั่นแกล้งและดูถูกเพราะมีพื้นเพเป็นชาวนา[13]

ใน ค.ศ. 1911 เหมาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในฉางชา[14] ความรู้สึกปฏิวัติก่อกวนใจประชาชนในเมืองอย่างมาก มีการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจักรพรรดิผู่อี๋อย่างกว้างขวาง และมีผู้คนจำนวนมากสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐ ผู้นำฝ่ายสาธารณรัฐคือซุน ยัตเซน คริสเตียนผู้ได้รับการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ผู้นำสมาคมถงเหมิงฮุ่ย[15] ในฉางชา เหมาได้รับอิทธิพลจากหนังสือพิมพ์ของซุนคือหมินลี่เป้า (อิสรภาพของประชาชน)[16] และเรียกร้องให้ซุนขึ้นเป็นประธานาธิบดีในเรียงความที่โรงเรียน[17] ในฐานะสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านจักรพรรดิแมนจู เหมาและเพื่อนของเขาได้ตัดเปีย สัญลักษณ์แห่งความอ่อนน้อมต่อจักรพรรดิออกไป[18]

ด้วยแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์สาธารณรัฐของซุน กองทัพในภาคใต้ของจีนได้ลุกขึ้นต่อสู้ จุดชนวนให้เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ ผู้ว่าการฉางชาหลบหนี ปล่อยให้เมืองตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายสาธารณรัฐ[19] ด้วยความเห็นพ้องกับการปฏิวัติ เหมาได้เข้าร่วมกองทัพกบฏในฐานะพลทหาร แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการปะทะหรือสู้รบโดยตรง มณฑลทางเหนือยังคงภักดีต่อจักรพรรดิ และด้วยความหวังที่จะเลี่ยงสงครามกลางเมือง ซุน ผู้ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็น "ประธานาธิบดีเฉพาะกาล" โดยผู้สนับสนุนของเขาจึงทำข้อตกลงกับยฺเหวียน ชื่อไข่ แม่ทัพฝ่ายกษัตริย์ การปกครองระบอบกษัตริย์ถูกยกเลิก ทำให้เกิดสาธารณรัฐจีนขึ้น แต่ยฺเหวียนผู้สนับสนุนระบอบกษัตริย์ได้กลายเป็นประธานาธิบดี เมื่อการปฏิวัติจบลง เหมาออกจากกองทัพใน ค.ศ. 1912 หลังเป็นทหารได้หกเดือน[20] ประมาณช่วงเวลานี้ เหมาค้นพบลัทธิสังคมนิยมจากบทความในหนังสือพิมพ์ ต่อมาเขาอ่านจุลสารของเจียง คั่งหู่ นักศึกษาผู้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมจีน เหมาให้ความสนใจแนวคิดนี้แต่ยังไม่ปักใจเชื่อมั่นอย่างเต็มที่[21]

โรงเรียนฝึกหัดครูฉางชาที่สี่: ค.ศ. 1912–1919

[แก้]

ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา เหมาเข้าเรียนและลาออกจากสถาบันต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ โรงเรียนตำรวจ โรงเรียนผลิตสบู่ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนเศรษฐศาสตร์ และโรงเรียนมัธยมฉางชา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น[22] ด้วยความมุ่งมั่นศึกษาด้วยตนเอง เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องสมุดของฉางชา อ่านงานเขียนสำคัญของลัทธิเสรีนิยมคลาสสิก เช่น ความมั่งคั่งของประชาชาติ ของอดัม สมิธ และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ของมงแต็สกีเยอ รวมถึงผลงานของนักวิทยาศาสตร์และปรัชญาชาวตะวันตกคนอื่น ๆ เช่น ดาร์วิน มิลล์ รูโซ และสเปนเซอร์ [23] เมื่อมองตนเองว่าเป็นปัญญาชน หลายปีต่อมาเขายอมรับว่าในเวลานั้นเขาคิดว่าตนเองดีกว่าแรงงาน[24] เขาได้รับแรงบันดาลใจจากฟรีดริช พอลเซน นักปรัชญาและนักการศึกษาแนวนีโอ-คานเทียน ผู้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน นำไปสู่ความเชื่อของเหมาว่าบุคคลที่เข้มแข็งไม่จำเป็นต้องผูกมัดด้วยหลักศีลธรรม แต่ควรมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่[25] บิดาของเขามองไม่เห็นประโยชน์ในการแสวงหาความรู้ของบุตรชาย จึงตัดเงินค่าใช้จ่ายและบังคับให้เขาไปอาศัยอยู่ในหอพักสำหรับคนยากไร้[26]

เหมาใน ค.ศ. 1913

เหมามีความใฝ่ฝันจะเป็นครู จึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูฉางชาที่ 4 ซึ่งในเวลาต่อมาได้ยุบรวมกับโรงเรียนฝึกหัดครูหูหนานที่ 1 ที่นี่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในมณฑล[27] เมื่ออาจารย์หยาง ชางจี้ สนิทสนมกับเหมา เขาก็แนะนำให้เหมาอ่านหนังสือพิมพ์หัวรุนแรงฉบับหนึ่งชื่อว่า ซินชิงเหนียน (เยาวชนใหม่) ผลงานของเพื่อนเขาคือเฉิน ตู๋ซิ่ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แม้เขาจะเป็นผู้สนับสนุนลัทธิชาตินิยมจีน แต่เฉินก็ให้เหตุผลว่าจีนต้องหันไปมองตะวันตกเพื่อชะล้างความงมงายและระบอบเผด็จการ[28] ในปีแรกของการศึกษา เหมาสานมิตรกับรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อเซียว จื่อเชิง ทั้งสองร่วมกันเดินทางท่องเที่ยวทั่วหูหนาน โดยการขอทานและแต่งกลอนคู่เพื่อแลกกับอาหาร[29]

ในฐานะนักศึกษาที่เป็นที่นิยม เหมาได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสมาคมนักศึกษาใน ค.ศ. 1915 เขาตั้งสมาคมนักเรียนปกครองตนเองและนำการประท้วงต่อต้านกฎระเบียบของโรงเรียน[30] เหมาตีพิมพ์บทความแรกของเขาลงในซินชิงเหนียนในเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 โดยแนะนำให้ผู้อ่านเพิ่มความแข็งแกร่งทางกายเพื่อเข้าร่วมการปฏิวัติ[31] เขาเข้าร่วมสมาคมเพื่อการศึกษาหวัง ฟูจือ กลุ่มปฏิวัติที่ก่อตั้งโดยปัญญาชนชาวฉางชาที่มีความปรารถนาจะเลียนแบบปรัชญาของหวัง ฟูจือ[32] ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1917 เขาได้รับเลือกเป็นผู้บัญชาการกองทัพอาสาสมัครนักเรียน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันโรงเรียนจากกลุ่มทหารที่มาปล้นสะดม[33] ด้วยความสนใจในเทคนิคการสงครามที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงให้ความสนใจอย่างมากกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเริ่มพัฒนาความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับแรงงาน[34] เหมาฝึกฝนความอดทนทางกายอย่างหนักร่วมกับเซียว จื่อเชิง และไช่ เหอเซิน และร่วมกับนักปฏิวัติรุ่นใหม่ก่อตั้งสมาคมศึกษาการปฏิรูปประชาชนขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1918 เพื่ออภิปรายแนวคิดของเฉิน ตู๋ซิ่ว ด้วยความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม สมาคมนี้จึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้น 70–80 คน หลายคนในจำนวนนี้ได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในภายหลัง[35] เหมาจบการศึกษาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1919 โดยมีผลการเรียนอยู่ในลำดับที่สามของรุ่น[36]

กิจกรรมการปฏิวัติช่วงแรก

[แก้]

ปักกิ่ง ลัทธิอนาธิปไตย และลัทธิมากซ์: ค.ศ. 1917–1919

[แก้]
เหมาใน ค.ศ. 1924

เหมาย้ายไปปักกิ่ง ที่ซึ่งอาจารย์หยาง ชางจี้ได้งานใหม่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง[37] หยางเห็นว่าเหมา "ฉลาดและหน้าตาดีเป็นพิเศษ"[38] จึงช่วยให้เขาได้งานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์มหาวิทยาลัยคือ หลี่ ต้าเจา ผู้ซึ่งต่อมาจะได้เป็นคอมมิวนิสต์จีนคนสำคัญในยุคแรก[39] หลี่เขียนบทความชุดหนึ่งในซินชิงเหนียนเกี่ยวกับการปฏิวัติเดือนตุลาคมในรัสเซีย ซึ่งพรรคบอลเชวิคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของวลาดิมีร์ เลนินได้ยึดอำนาจ เลนินเป็นผู้สนับสนุนทฤษฎีทางสังคม-การเมืองของลัทธิมากซ์ ที่พัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยคาร์ล มาคส์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน และบทความของหลี่ได้นำเอาลัทธิมากซ์เข้ามาผสมผสานกับหลักคำสอนในขบวนการปฏิวัติของจีน[40]

ในช่วงที่แนวคิดของเหมาเริ่มก้าวเข้าสู่ความสุดโต่งมากยิ่งขึ้นนั้น เขาได้รับอิทธิพลเบื้องต้นจากลัทธิอนาธิปไตยของปีเตอร์ โครปอตกิน ซึ่งเป็นแนวคิดหัวรุนแรงที่เด่นชัดที่สุดในยุคนั้น นักอนาธิปไตยชาวจีน เช่น ไช่ ยฺเหวียนเผย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เรียกร้องให้มีการปฏิวัติสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ ในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม โครงสร้างครอบครัว และความเท่าเทียมทางเพศ แทนที่จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองอย่างที่นักปฏิวัติรุ่นก่อนเรียกร้องกัน เขาเข้าร่วมกลุ่มศึกษาของหลี่ และ "พัฒนาไปสู่ลัทธิมากซ์อย่างรวดเร็ว" ในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. 1919[41] แม้จะได้รับค่าจ้างน้อยนิด เหมาก็อาศัยอยู่ในห้องแคบ ๆ กับนักศึกษาชาวหูหนานอีกเจ็ดคน แต่เขาเชื่อว่าความงามของปักกิ่ง "ได้ชดเชยให้เขาอย่างคุ้มค่า"[42] เพื่อนของเขาหลายคนใช้ประโยชน์จากขบวนการเรียนรู้ผ่านการทำงาน (Mouvement Travail-Études) ที่จัดตั้งโดยกลุ่มอนาธิปไตย เพื่อไปศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศส แต่เหมาปฏิเสธโอกาสนี้ อาจเป็นเพราะความลำบากในการเรียนรู้ภาษา[43] กระนั้น เหมาได้ระดมทุนสำหรับขบวนการนี้[8]: 35 

ที่มหาวิทยาลัย เหมาถูกเพื่อนร่วมชั้นดูถูกเหยียดหยามจากสำเนียงหูหนานอันเป็นชนบทและฐานะที่ต่ำต้อยของเขา เขาเข้าร่วมสมาคมปรัชญาและสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัย และเข้าร่วมฟังการบรรยายและสัมมนาจากนักวิชาการชื่อดังอย่างเฉิน ตู๋ซิ่ว หู ชื่อ และเฉียน เสวียนถง[44] ช่วงเวลาที่เหมาใช้ชีวิตในปักกิ่งสิ้นสุดลงในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1919 เมื่อเขาเดินทางไปยังเซี่ยงไฮ้พร้อมกับเพื่อนฝูงที่กำลังเตรียมตัวจะไปฝรั่งเศส[45] เขาไม่ได้กลับไปยังเฉาชาน ซึ่งมารดาของเขากำลังล้มป่วยหนัก เธอเสียชีวิตในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1919 และสามีของเธอก็เสียชีวิตในเดือนมกราคมปีถัดมา[46]

วัฒนธรรมใหม่และการประท้วงทางการเมือง: ค.ศ. 1919–1920

[แก้]
เหมาใน ค.ศ. 1919

วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 นักศึกษาในกรุงปักกิ่งได้รวมตัวกันที่เทียนอันเหมินเพื่อประท้วงรัฐบาลจีนที่ต่อต้านการขยายอำนาจของญี่ปุ่นในจีนอย่างอ่อนแอ บรรดาผู้รักชาติรู้สึกโกรธแค้นอย่างมากต่ออิทธิพลที่ญี่ปุ่นได้รับจากข้อเรียกร้องยี่สิบเอ็ดประการใน ค.ศ. 1915 ความร่วมมือของรัฐบาลเป่ย์หยางภายใต้การนำของตฺวั้น ฉีรุ่ย และการทรยศต่อประเทศจีนในสนธิสัญญาแวร์ซายซึ่งญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้ครอบครองดินแดนในมณฑลชานตงต่อจากเยอรมนี การประท้วงเหล่านี้จุดชนวนให้เกิดขบวนการ 4 พฤษภาคมขึ้นทั่วประเทศ และเป็นเชื้อไฟให้เกิดขบวนการวัฒนธรรมใหม่ซึ่งกล่าวโทษความล้มเหลวทางการทูตของจีนว่าเป็นผลจากความล้าหลังทางสังคมและวัฒนธรรม[47]

ในฉางชา เหมาได้เริ่มสอนประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนประถมศึกษาซิ่วเย่[48] และจัดการประท้วงต่อต้านจาง จิ้งเหยา ผู้ว่าการมณฑลหูหนานที่สนับสนุนตฺวั้น ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "จางผู้เป็นพิษ" จากการปกครองที่ทุจริตและรุนแรงของเขา[49] ปลายเดือนพฤษภาคม เหมากับเหอ ชูเหิง และเติ้ง จงเซี่ย ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมนักศึกษาหูหนานขึ้น โดยจัดการนัดหยุดเรียนในเดือนมิถุนายน และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1919 ได้เริ่มตีพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์แนวหัวรุนแรงชื่อว่าเซียงเจียงผิงลุ่น (Xiang River Review) โดยใช้ภาษาพื้นถิ่นที่คนส่วนใหญ่ของจีนเข้าใจง่าย เขาได้สนับสนุนให้เกิด "การรวมตัวครั้งใหญ่ของมวลชน" และเสริมสร้างสหภาพแรงงานให้มีความสามารถในการปฏิวัติโดยปราศจากรุนแรง[โปรดขยายความ] แนวคิดของเขานั้นไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์อย่างเคร่งครัด แต่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวคิดเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของโครปอตกิน[50]

นักศึกษาในปักกิ่งชุมนุมระหว่างขบวนการ 4 พฤษภาคม

จางสั่งห้ามสมาคมนักศึกษา แต่เหมายังคงตีพิมพ์ต่อไปหลังรับตำแหน่งบรรณาธิการของนิตยสารแนวเสรีนิยมชื่อ ซินหูหนาน (New Hunan) และเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอดนิยม ต้ากงเป้า (Ta Kung Pao) บทความหลายชิ้นของเขาสนับสนุนแนวคิดสตรีนิยม เรียกร้องให้มีการปลดปล่อยสตรีในสังคมจีน ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากการแต่งงานที่ถูกบังคับของตนเอง[51] ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1919 เหมาได้จัดสัมมนาขึ้นที่ฉางชาเพื่อศึกษาประเด็นทางเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนแนวทางในการรวมพลังประชาชน ความเป็นไปได้ของสังคมนิยม และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับลัทธิขงจื๊อ[52] ในเวลานี้ เหมามีส่วนร่วมในงานการเมืองกับแรงงาน โดยก่อตั้งโรงเรียนภาคค่ำและสหภาพแรงงาน[52] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1919 เหมาให้ความช่วยเหลือในการจัดการนัดหยุดงานทั่วไปในหูหนาน ซึ่งประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์บางอย่าง แต่เหมาและผู้นำนักศึกษาคนอื่น ๆ รู้สึกถูกคุกคามจากจาง จึงเดินทางกลับไปปักกิ่ง และได้ไปเยี่ยมหยาง ชางจี้ ที่กำลังป่วยหนัก[53] เหมาพบว่าบทความของตนมีชื่อเสียงในหมู่ขบวนการปฏิวัติ และเริ่มต้นหาแนวร่วมเพื่อโค่นล้มจาง[54] เมื่อได้พบวรรณกรรมมาร์กซิสต์ที่แปลใหม่ของโทมัส เคิร์กอัป คาร์ล คอตสกี และมาคส์กับเอ็งเงิลส์ โดยเฉพาะแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) เขาก็รับอิทธิพลจากวรรณกรรมเหล่านั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังคงมีมุมมองหลากหลาย

เหมาเดินทางไปเยือนเทียนจิน จี่หนาน และชฺวีฟู่[55] ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ที่ซึ่งเขาทำงานเป็นคนซักผ้าและได้พบกับเฉิน ตู๋ซิ่ว โดยเหมาได้บันทึกไว้ว่าการที่เฉินยอมรับลัทธิมากซ์นั้น "สร้างความประทับใจแก่ตนอย่างลึกซึ้งในช่วงเวลาสำคัญยิ่งในชีวิต" ในเซี่ยงไฮ้ เหมาได้พบกับอี้ เผย์จี อดีตอาจารย์ของตน ผู้เป็นทั้งนักปฏิวัติและสมาชิกพรรคชาตินิยมจีน หรือก๊กมินตั๋ง ซึ่งกำลังได้รับการสนับสนุนและอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อี้ได้แนะนำเหมาให้รู้จักกับนายพลถาน เหยียนไข่ สมาชิกระดับสูงของก๊กมินตั๋งผู้มีอำนาจควบคุมทหารที่ประจำอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างมณฑลหูหนานกับกวางตุ้ง ถานกำลังวางแผนโค่นล้มจาง และเหมาได้ให้การสนับสนุนโดยการจัดระเบียบนักศึกษาฉางชา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1920 ถานนำกองทัพเข้ายึดฉางชา และจางหลบหนีไป ในการปรับโครงสร้างการบริหารส่วนมณฑลในเวลาต่อมา เหมาได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายประถมศึกษาของโรงเรียนฝึกหัดครูที่ 1 เมื่อฐานะมั่นคงขึ้น เขาจึงได้แต่งงานกับหยาง ไค่ฮุ่ย บุตรสาวของหยาง ชางจี้ ในฤดูหนาว ค.ศ. 1920[56][57]

การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน: ค.ศ. 1921–1922

[แก้]
สถานที่จัดการประชุมใหญ่ครั้งแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 ณ ซินเทียนตี้ อดีตเขตสัมปทานฝรั่งเศส เซี่ยงไฮ้

พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งโดยเฉิน ตู๋ซิ่ว และหลี่ ต้าเจา ในเขตสัมปทานฝรั่งเศสเซี่ยงไฮ้ใน ค.ศ. 1921 ในฐานะสมาคมศึกษาและเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ เหมาได้ก่อตั้งสาขาในฉางชา พร้อมทั้งก่อตั้งสาขาของเหล่ายุวชนสังคมนิยมและสมาคมหนังสือวัฒนธรรม ซึ่งได้เปิดร้านหนังสือเพื่อเผยแพร่วรรณกรรมปฏิวัติทั่วหูหนาน[58] เขาเข้าร่วมขบวนการเรียกร้องความเป็นอิสระของหูหนาน โดยมีความหวังว่ารัฐธรรมนูญของหูหนานจะนำไปสู่การขยายเสรีภาพพลเมืองและอำนวยความสะดวกให้กิจกรรมปฏิวัติของเขา เมื่อขบวนการประสบความสำเร็จในการสถาปนาอำนาจปกครองตนเองของมณฑลภายใต้ขุนศึกคนใหม่ เหมาจึงลืมส่วนร่วมของตนเอง[59][โปรดขยายความ] ภายใน ค.ศ. 1921 กลุ่มมาร์กซิสต์ขนาดเล็กได้ก่อตัวขึ้นในเมืองสำคัญหลายแห่งของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ฉางชา อู่ฮั่น กวางโจว และจี่หนาน จึงมีมติให้จัดการประชุมระดับกลางขึ้นซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 การประชุมใหญ่ครั้งแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีผู้แทนเข้าร่วม 13 คน รวมถึงเหมาด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐส่งสายลับตำรวจมาเข้าร่วมการประชุม คณะผู้แทนจึงย้ายไปยังเรือลำหนึ่งบนทะเลสาบหนานหูใกล้เมืองเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง เพื่อหลบเลี่ยงการถูกจับกุม แม้จะมีผู้แทนจากโซเวียตและโคมินเทิร์นเข้าร่วม แต่การประชุมครั้งแรกก็เพิกเฉยต่อคำแนะนำของเลนินที่ให้ยอมรับพันธมิตรชั่วคราวระหว่างคอมมิวนิสต์กับ "ประชาธิปไตยแบบชนชั้นกระฎุมพี" (bourgeois democrats) ซึ่งสนับสนุนการปฏิวัติแห่งชาติด้วยเช่นกัน แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขากลับเลือกยึดมั่นในความเชื่อดั้งเดิมของลัทธิมากซ์ที่ว่ามีเพียงชนชั้นกรรมาชีพในเมืองเท่านั้นที่จะนำการปฏิวัติสังคมนิยมได้[60]

เหมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลหูหนานโดยมีฐานตั้งอยู่ในฉางชา เขาใช้ยุทธวิธีต่าง ๆ มากมายเพื่อสร้างพรรคขึ้นที่นั่น[61] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1921 เขาก่อตั้งมหาวิทยาลัยศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงวรรณกรรมปฏิวัติ ในอาคารของสมาคมเพื่อการศึกษาหวัง ฟูจือ นักปรัชญาชาวหูหนานผู้ต่อต้านแมนจูในสมัยราชวงศ์ชิง[61] เขาเข้าร่วมขบวนการมวลชนศึกษาของวายเอ็มซีเอ (YMCA) เพื่อต่อสู้กับปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แม้เขาจะแก้ไขตำราเรียนให้มีแนวคิดสุดโต่งก็ตาม[62] เขายังคงจัดระเบียบให้แรงงานทำการนัดหยุดงานต่อต้านการบริหารของจ้าว เหิงที่ ผู้ว่าการมณฑลหูหนาน[63] อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรงงานยังคงเป็นประเด็นสำคัญ การนัดหยุดงานที่เหมืองถ่านหินอันหยวน [zh] ซึ่งประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง (ขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ของพรรคในภายหลัง) นั้นอาศัยทั้งกลยุทธ์ "ชนชั้นกรรมาชีพ" และ "ชนชั้นกระฎุมพี" หลิว เช่าฉี หลี่ ลี่ซาน และเหมาไม่เพียงแต่ระดมแรงงานเหมืองแร่เท่านั้น แต่ยังก่อตั้งโรงเรียนและสหกรณ์ รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับปัญญาชนท้องถิ่น ขุนนาง ทหาร พ่อค้า หัวหน้าแก๊งมังกรแดง และแม้แต่บาทหลวง[64] งานจัดระเบียบแรงงานของเหมาในเหมืองอันหยวนยังเกี่ยวข้องกับหยาง ไคฮุ่ย ภรรยาของเขา ซึ่งทำงานเพื่อสิทธิสตรี รวมถึงการส่งเสริมการรู้หนังสือและการศึกษาในชุมชนชาวนาใกล้เคียง[65] แม้เหมาและหยางจะไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มวิธีการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองแบบผสมซึ่งรวมเอาการจัดตั้งองค์กรแรงงานชายเข้ากับประเด็นสิทธิสตรีในชุมชน แต่ทั้งสองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้วิธีการนี้ได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด[65] ความสำเร็จในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองของเหมาในเหมืองอันหยวนทำให้เฉิน ตู๋ซิ่ว เทียบเชิญเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์[66]

เหมาอ้างว่าตนพลาดการประชุมใหญ่ครั้งที่สองของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1922 ที่เซี่ยงไฮ้เพราะทำที่อยู่หาย โดยยึดคำแนะนำของเลนิน ผู้แทนได้ตกลงร่วมมือกับ "ประชาธิปไตยแบบชนชั้นกระฎุมพี" ของก๊กมินตั๋งเพื่อประโยชน์ของ "การปฏิวัติแห่งชาติ" สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้าร่วมก๊กมินตั๋ง ด้วยความหวังจะผลักดันนโยบายพรรคให้เอียงไปทางซ้าย[67] เหมาเห็นด้วยอย่างกระตือรือร้นกับการตัดสินใจนี้ โดยให้เหตุผลสนับสนุนการสร้างพันธมิตรข้ามชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจของจีน และในที่สุดก็ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของพรรคก๊กมินตั๋ง[57] เหมาเป็นผู้ต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างเปิดเผย และในงานเขียนของเขาได้วิจารณ์รัฐบาลญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาอย่างรุ่นแรง โดยกล่าวถึงประเทศหลังว่าเป็น "เพชฌฆาตที่โหดเหี้ยมที่สุด"[68]

ความร่วมมือกับก๊กมินตั๋ง: ค.ศ. 1922–1927

[แก้]
เหมากำลังกล่าวสุนทรพจน์ (ไม่มีเสียง)

ในการประชุมใหญ่ครั้งที่สามของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เซี่ยงไฮ้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1923 ผู้แทนได้ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับก๊กมินตั๋งอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนจุดยืนดังกล่าว เหมาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการพรรค และย้ายไปพำนักที่เซี่ยงไฮ้[69] ในการประชุมใหญ่ครั้งแรกของก๊กมินตั๋ง ซึ่งจัดขึ้นที่กว่างโจวในช่วงต้น ค.ศ. 1924 เหมาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสำรองของคณะกรรมาธิการบริหารกลางพรรคก๊กมินตั๋ง และได้เสนอญัตติ 4 ข้อเพื่อกระจายอำนาจไปยังสำนักงานในเมืองและชนบท ความกระตือรือร้นในการสนับสนุนก๊กมินตั๋งของเขานำมาซึ่งความสงสัยจากหลี่ ลี่ซาน สหายร่วมหูหนานของเขา[70]

ปลาย ค.ศ. 1924 เหมากลับไปยังเฉาชาน อาจเป็นเพื่อพักฟื้นจากอาการป่วย เขาพบว่าชาวนาเริ่มมีความไม่สงบมากขึ้นเรื่อย ๆ และบางส่วนได้ยึดครองที่ดินจากเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่งเพื่อจัดตั้งเป็นคอมมูน เหตุการณ์นี้ทำให้เขาเชื่อมั่นศักยภาพในการปฏิวัติของชาวนา แนวคิดที่ก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้ายสนับสนุนแต่คอมมิวนิสต์ไม่ได้สนับสนุน[71] เหมาและคณะร่วมงานหลายคนเสนอให้ยุติความร่วมมือกับก๊กมินตั๋ง ซึ่งมีฮาอิล โบโรดิน ผู้แทนจากโคมินเทิร์นปฏิเสธ[72] ในฤดูหนาว ค.ศ. 1925 เหมาหลบหนีไปยังกว่างโจวหลังกิจกรรมปฏิวัติของตนดึงดูดความสนใจจากเจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคของจ้าว[73] ที่นั่น เขาเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรที่ 6 ของสถาบันฝึกอบรมขบวนการชาวนาของก๊กมินตั๋งระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ค.ศ. 1926[74][75] สถาบันดังกล่าวภายใต้การนำของเหมาได้ฝึกอบรมแกนนำและเตรียมความพร้อมให้พวกเขาสำหรับกิจกรรมปฏิวัติ โดยให้พวกเขาเข้ารับการฝึกทางทหารและศึกษาตำราพื้นฐานฝ่ายซ้าย[76]

เหมาในกว่างโจวใน ค.ศ. 1925

เมื่อซุน ยัตเซน หัวหน้าพรรคเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1925 เจียง ไคเชก ก็ได้สืบทอดตำแหน่งและทำการลดอิทธิพลของก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้ายและคอมมิวนิสต์[77] ทว่าเหมายังคงสนับสนุนกองทัพปฏิวัติแห่งชาติของเจียง ซึ่งเริ่มต้นการกรีธาทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบขุนศึกใน ค.ศ. 1926[78] หลังการกรีธาทัพครั้งนี้ ชาวนาได้ลุกขึ้นต่อต้าน ยึดที่ดินจากเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง ซึ่งในหลายกรณีถูกสังหาร การก่อกำเริบดังกล่าวทำให้บุคคลสำคัญในก๊กมินตั๋งซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินรู้สึกโกรธแค้นเป็นอย่างมาก เหตุการณ์นี้ยิ่งเน้นย้ำถึงช่องว่างระหว่างชนชั้นและความแตกแยกทางอุดมการณ์ภายในขบวนการปฏิวัติ[79]

การสมัยสามัญครั้งที่สามของคณะกรรมาธิการบริหารกลางพรรคก๊กมินตั๋งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1927 เหมาเป็นคนที่สามจากขวาในแถวที่สอง

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1927 เหมาปรากฏตัวในการประชุมคณะกรรมาธิการบริหารกลางพรรคก๊กมินตั๋งครั้งที่สามที่อู่ฮั่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอำนาจของนายพลเจียงโดยการแต่งตั้งวาง จิงเว่ย์ ขึ้นเป็นผู้นำ ที่นั่น เหมามีบทบาทสำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาชาวนา ปกป้อง "ระเบียบการปราบปรามผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นและขุนนางเลว" ซึ่งสนับสนุนการลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตสำหรับผู้ใดก็ตามที่พบว่ามีความผิดฐานต่อต้านการปฏิวัติ โดยให้เหตุผลว่าในสถานการณ์ปฏิวัติ "วิธีการโดยสันติเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ"[80] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1927 เหมาถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการที่ดินกลางของก๊กมินตั๋งซึ่งมี 5 คน โดยเขากระตุ้นให้ชาวนาปฏิเสธการจ่ายค่าเช่าที่ดิน เหมานำคณะทำงานจัดทำ "ร่างมติว่าด้วยปัญหาที่ดิน" ซึ่งเรียกร้องให้ยึดที่ดินจาก "ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ขุนนางเลว ข้าราชการทุจริต ทหาร และกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติในทุกหมู่บ้าน" เมื่อดำเนินการ "สำรวจที่ดิน" เขาได้ประกาศว่าผู้ใดครอบครองที่ดินเกิน 30 หมู่ (ประมาณ 12 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมด จะล้วนถูกจัดเป็น "ผู้ต่อต้านการปฏิวัติ" อย่างสิ้นเชิง เขายอมรับว่าความกระตือรือร้นในการปฏิวัติมีความต่างกันมากในทั่วประเทศ และจำเป็นต้องมีนโยบายกระจายที่ดินที่ยืดหยุ่น[81] เมื่อนำเสนอข้อสรุปต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการที่ดินใหญ่ มีผู้แสดงความสงสัยและข้อกังขาเป็นจำนวนมาก บางกลุ่มเห็นว่าเกินเลยไป และบางกลุ่มเห็นว่ายังไม่เพียงพอ ท้ายที่สุดแล้ว ข้อเสนอแนะของเขานั้นได้รับการนำไปปฏิบัติเพียงบางส่วน[82]


สงครามกลางเมือง

[แก้]

การก่อกำเริบหนานชางและฤดูเก็บเกี่ยว: ค.ศ. 1927

[แก้]
ธงกองทัพแดงของกรรมการและชาวนาจีน

หลังประสบความสำเร็จในการกรีธาทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบขุนศึก เจียงก็หันมาปราบคอมมิวนิสต์ ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกหลายหมื่นคนกระจายอยู่ทั่วประเทศจีน เจียงเพิกเฉยคำสั่งของรัฐบาลก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้ายที่ตั้งอยู่ในอู่ฮั่นและเคลื่อนทัพไปยังเซี่ยงไฮ้ เมืองที่ถูกควบคุมโดยกองกำลังติดอาวุธของคอมมิวนิสต์ ขณะคอมมิวนิสต์รอคอยการมาถึงของเจียง เขาได้ปลดปล่อย "ความสะพรึงขาว" และทำการสังหารหมู่ 5,000 คนโดยได้รับความช่วยเหลือจากแก๊งเขียว[80][83] ในปักกิ่ง ผู้นำคอมมิวนิสต์ 19 คนถูกสังหารโดยจาง จั้วหลิน[84][85] ในเดือนพฤษภาคมนั้น คอมมิวนิสต์และผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์หลายหมื่นคนถูกสังหาร และพรรคคอมมิวนิสต์จีนสูญเสียสมาชิกไปประมาณ 15,000 จากทั้งหมด 25,000 คน[85]

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้ายในอู่ฮั่น ซึ่งเป็นจุดยืนที่เหมาสนับสนุนในตอนแรก[85] แต่เมื่อถึงการประชุมใหญ่ครั้งที่ห้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาก็เปลี่ยนความคิดและตัดสินใจฝากความหวังทั้งหมดไว้กับกองกำลังชาวนา[86] คำถามดังกล่าวกลายเป็นเรื่องไร้ความหมายเมื่อรัฐบาลอู่ฮั่นขับไล่คอมมิวนิสต์ทั้งหมดออกจากก๊กมินตั๋งในวันที่ 15 กรกฎาคม[86] พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งกองทัพแดงของกรรมกรและชาวนาจีน หรือที่รู้จักในนาม "กองทัพแดง" ขึ้นเพื่อต่อสู้กับเจียง กองพันภายใต้การนำของนายพลจู เต๋อ ได้รับคำสั่งให้ยึดเมืองหนานชางในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1927 เหตุการณ์นี้ต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม การก่อกำเริบหนานชาง พวกเขาประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ถูกบังคับให้ถอยทัพหลังจากห้าวัน เดินทัพไปทางใต้สู่ซัวเถา และจากที่นั่นถูกผลักดันเข้าไปในถิ่นทุรกันดารของฝูเจี้ยน[86] เหมาถูกแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพแดงและนำทหารสี่กรมบุกโจมตีฉางชาในการก่อกำเริบฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อหวังจุดชนวนให้เกิดการลุกฮือของชาวนาทั่วหูหนาน ก่อนวันโจมตี เหมาได้แต่งบทกวีบทแรกที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เรียกว่า "ฉางชา" แผนของเขาคือโจมตีเมืองที่ก๊กมินตั๋งยึดครองจากสามทิศทางในวันที่ 9 กันยายน แต่กรมทหารที่ 4 กลับทรยศหันไปเข้าร่วมก๊กมินตั๋งและโจมตีกรมทหารที่ 3 กองทัพของเหมาสามารถเดินทางไปถึงฉางชา แต่ไม่สามารถยึดครองเมืองได้ ท้ายที่สุดในวันที่ 15 กันยายน เหมาก็ต้องรับความพ่ายแพ้และเดินทัพไปทางทิศตะวันออกยังเทือกเขาจิ่งกัง มณฑลเจียงซี พร้อมกำลังพลที่รอดชีวิตราว 1,000 นาย[87]

ฐานที่มั่นในจิ่งกังชาน: ค.ศ. 1927–1928

[แก้]
เหมาใน ค.ศ. 1927
革命不是請客吃飯,不是做文章,不是繪畫繡花,不能那樣雅緻,那樣從容不迫,文質彬彬,那樣溫良恭讓。革命是暴動,是一個階級推翻一個階級的暴烈的行動。

การปฏิวัติไม่ใช่งานเลี้ยงอาหารค่ำ การเขียนเรียงความ วาดภาพ หรือปักผ้า มันไม่อาจละเอียดอ่อน รื่นรมย์ อ่อนโยน ใจเย็น เมตตา สุภาพ อดกลั้น และใจกว้างได้ การปฏิวัติคือการก่อกบฏ การกระทำด้วยความรุนแรงที่ชนชั้นหนึ่งโค่นล้มอีกชนชั้นหนึ่ง

— เหมา, กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927[88]



คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งหลบซ่อนอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ได้ขับไล่เหมาออกจากพรรคและคณะกรรมาธิการประจำมณฑลหูหนาน เพื่อลงโทษในความผิดฐาน "ฉวยโอกาสทางทหาร" มุ่งเน้นกิจกรรมในชนบท และความเมตตาเกินควรต่อ "ขุนนางเลว" คอมมิวนิสต์สายอนุรักษ์นิยมโดยเฉพาะมองว่าชาวนาเป็นกลุ่มคนล้าหลังและเย้ยแนวคิดของเหมาที่ต้องการระดมกำลังพวกเขา[57] ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังคงยอมรับนโยบายสามประการที่เขายืนกรานมาโดยตลอด ได้แก่ การตั้งสภาแรงงานโดยทันที การยึดที่ดินทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น และการปฏิเสธก๊กมินตั๋ง การตอบสนองของเหมาคือการเพิกเฉยต่อเรื่องนี้[89] เขาตั้งฐานที่มั่นขึ้นในเมืองจิ่งกังชาน บริเวณหนึ่งของเทือกเขาจิ่งกัง โดยรวมหมู่บ้านห้าแห่งเข้าด้วยกันเพื่อจัดตั้งรัฐปกครองตนเอง และสนับสนุนการยึดที่ดินจากเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง ซึ่งถูกส่งไป "ปรับทัศนคติ" และบ้างถูกประหารชีวิต เขาได้ยืนยันให้มั่นใจว่าจะไม่มีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในภูมิภาคนั้น และดำเนินนโยบายที่ผ่อนปรนกว่าคณะกรรมาธิการกลางเสนอแนะ[90] นอกจากการปฏิรูปที่ดินแล้ว เหมายังส่งเสริมการรู้หนังสือและความสัมพันธ์แบบไม่แบ่งชั้นในหมู่ประชาชนในพื้นที่จิ่งกังชาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวและดึงดูดผู้สนับสนุนในท้องถิ่นจำนวนมาก[91]

เหมาประกาศว่า "แม้แต่คนง่อยเปลี้ย หูหนวกและตาบอด ก็ล้วนสามารถเป็นประโยชน์ในการต่อสู้เพื่อปฏิวัติได้" เขาจึงขยายกำลังทหาร[92] โดยการรวมสองกลุ่มกองโจรเข้ากับกองทัพของตน ทำให้มีกำลังพลประมาณ 1,800 นาย[93] เขาวางกฎเกณฑ์สำหรับทหารของตน ดังนี้ ปฏิบัติตามคำสั่งโดยทันที ทรัพย์สินที่ยึดได้ทั้งหมดต้องส่งมอบแก่รัฐบาล และห้ามยึดทรัพย์สินจากชาวนาที่ยากจน ด้วยการทำเช่นนี้ เขาได้หล่อหลอมกำลังพลของเขาให้กลายเป็นกองกำลังที่มีวินัย มีประสิทธิภาพ และพร้อมสำหรับการต่อสู้[92]

敵進我退,
敵駐我騷,
敵疲我打,
敵退我追。


ศัตรูบุก เราถอย
ศัตรูหยุด เรากวน
ศัตรูล้า เราตี
ศัตรูถอย เราไล่

— คำแนะนำของเหมาในการต่อสู้กับก๊กมินตั๋ง ค.ศ. 1928[94][95]

นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนในคริสต์ทศวรรษ 1920

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1928 คณะกรรมาธิการกลางสั่งให้กองกำลังของเหมาเคลื่อนไปยังตอนใต้ของหูหนาน โดยหวังจะจุดชนวนการลุกฮือของชาวนา เหมาไม่ค่อยแน่ใจนัก แต่ก็ยอมทำตาม พวกเขามาถึงหูหนานและถูกก๊กมินตั๋งโจมตีอย่างหนักจนต้องล่าถอยไปหลังได้รับความสูญเสียจำนวนมาก ขณะเดียวกัน กองกำลังของก๊กมินตั๋งก็รุกเข้ามาในพื้นที่จิ่งกังชาน ทำให้พวกเขาเสียฐานที่มั่น[96] ขณะที่กองกำลังของเหมากำลังเตร่ไปทั่วชนบท พวกเขาก็พบกับกองทหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยนายพลจู เต๋อ และหลิน เปียว ทั้งสองฝ่ายได้รวมตัวกันและพยายามยึดจิ่งกังชานคืน ในช่วงแรกพวกเขามีชัยชนะ แต่ก๊กมินตั๋งได้โต้กลับ และผลักดันพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ถอยร่นไป ในช่วงสัปดาห์ต่อ ๆ มา พวกเขาทำสงครามกองโจรอย่างแข็งแกร่งในภูเขา[94][97] คณะกรรมาธิการกลางได้สั่งให้เหมานำกำลังไปยังตอนใต้ของหูหนานอีกครั้ง แต่เขาปฏิเสธ และยังคงประจำอยู่ที่ฐานของตน ตรงกันข้าม จูได้ปฏิบัติตามคำสั่ง และนำกองทัพของตนออกไป กองกำลังของเหมาต้านก๊กมินตั๋งได้ 25 วันขณะเขาออกจากค่ายในเวลากลางคืนเพื่อหากำลังเสริม เขารวมตัวกับกองทัพของจูที่ถูกทำลายล้าง ร่วมกันกลับมายังจิ่งกังชานและยึดฐานที่มั่นคืน ที่นั่น พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากกรมทหารหนึ่งของก๊กมินตั๋งที่แปรพักตร์เข้ามาและกองทัพแดงที่ 5 ภายใต้การนำของเผิง เต๋อหวย ในพื้นที่ภูเขา พวกเขาไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลได้เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรทั้งหมด ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารตลอดฤดูหนาว[98]

ใน ค.ศ. 1928 เหมาพบและแต่งงานกับเฮ่อ จื่อเจิน นักปฏิวัติวัย 18 ปีซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดบุตรแก่เขา 6 คน[99][100]

สาธารณรัฐโซเวียตเจียงซีของจีน: ค.ศ. 1929–1934

[แก้]
เหมาในเหยียนอาน (คริสต์ทศวรรษ 1930)

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1929 เหมาและจูได้อพยพฐานที่มั่นพร้อมกำลังพล 2,000 นายและได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 800 นายจากเผิง และนำทัพเคลื่อนไปทางใต้ยังพื้นที่อำเภอถงกู่และซิ่นเฟิงในเจียงซี[101] การอพยพก่อเกิดความท้อแท้หมองใจในหมู่ทหาร และทหารจำนวนมากเริ่มฝ่าฝืนคำสั่งและลักขโมย สิ่งนี้สร้างความกังวลใจแก่หลี่ ลี่ซาน และคณะกรรมาธิการกลาง ซึ่งเห็นว่ากองทัพของเหมานั้นเป็นชนชั้นกรรมาชีพไร้รากฐาน (lumpenproletariat) ที่ไม่สามารถแบ่งปันสำนึกของชนชั้นกรรมาชีพได้[102][103] สอดคล้องกับแนวคิดมาร์กซิสต์ดั้งเดิม หลี่เชื่อว่ามีเพียงชนชั้นกรรมาชีพในเมืองเท่านั้นที่จะสามารถนำการปฏิวัติไปสู่ความสำเร็จได้ และเห็นว่ากำลังกองโจรชาวนาของเหมาไม่จำเป็นนัก เขาจึงสั่งให้เหมายุบกองทัพของตนออกเป็นหน่วยย่อยเพื่อส่งไปเผยแพร่แนวคิดปฏิวัติ เหมาตอบกลับว่าแม้เขาจะเห็นพ้องกับจุดยืนทางทฤษฎีของหลี่ แต่เขาจะไม่ยุบกองทัพหรือละทิ้งฐานที่มั่นของตน[103][104] ทั้งหลี่และเหมาต่างเห็นว่าการปฏิวัติจีนเป็นกุญแจสำคัญในการปฏิวัติโลก เชื่อว่าชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะจุดประกายให้เกิดการโค่นล้มจักรวรรดินิยมและทุนนิยมทั่วโลก ในเรื่องนี้ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางอย่างเป็นทางการของรัฐบาลโซเวียตและโคมินเทิร์น เจ้าหน้าที่ในมอสโกมีความปรารถนาจะควบคุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้มากขึ้น และปลดหลี่ออกจากอำนาจโดยเรียกให้เขาเดินทางไปรัสเซียเพื่อสอบสวนข้อผิดพลาดของตน[105] พวกเขาแทนที่หลี่ด้วยคอมมิวนิสต์จีนที่ได้รับการศึกษาจากโซเวียต ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "28 บอลเชวิค" โดยมีสองคนในจำนวนนี้คือ ปั๋ว กู่ และจาง เหวินเทียน ที่เข้าควบคุมคณะกรรมาธิการกลาง เหมาไม่เห็นด้วยกับผู้นำชุดใหม่ โดยเชื่อว่าพวกเขาเข้าใจสถานการณ์ของจีนน้อยมาก และในไม่ช้าเขาก็กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของพวกเขา[106][107]

การสวนสนามทหารในพิธีก่อตั้งสาธารณรัฐโซเวียตจีนใน ค.ศ. 1931

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1930 เหมาก่อตั้งรัฐบาลโซเวียตมณฑลเจียงซีตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นในพื้นที่ที่ตนควบคุม[108] ในเดือนพฤศจิกายน เขาต้องเผชิญกับความบอบช้ำทางจิตใจหลังหยาง ไค่ฮุ่ย ภรรยาคนที่สองของเขา และน้องสาวถูกก๊กมินตั๋งที่นำโดยนายพลเหอ เจี้ยน จับกุมและประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ[109] เมื่อเผชิญปัญหาภายใน สมาชิกของโซเวียตเจียงซีได้กล่าวหาเขาว่าเดินสายกลางเกินไป และด้วยเหตุนี้จึงต่อต้านการปฏิวัติ ในเดือนธันวาคม พวกเขาพยายามโค่นล้มเหมา นำไปสู่อุบัติการณ์ฟู่เถียน โดยผู้ภักดีต่อเหมาได้ทรมานผู้คนจำนวนมากและประหารชีวิตผู้เห็นต่างระหว่าง 2,000 ถึง 3,000 คน[110] คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนย้ายไปยังเจียงซีเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ในเดือนพฤศจิกายน พวกเขาประกาศให้มณฑลเจียงซีเป็นสาธารณรัฐโซเวียตจีน รัฐเอกราชที่ปกครองโดยคอมมิวนิสต์ แม้เขาจะได้รับการประกาศให้เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร แต่อำนาจของเหมาก็ลดลง เนื่องจากอำนาจควบคุมกองทัพแดงของเขาถูกมอบแก่โจว เอินไหล ในระหว่างนั้น เหมาก็หายจากวัณโรค[111]

กองทัพก๊กมินตั๋งได้ยึดเอาแนวทางการโอบล้อมและทำลายกองทัพแดงเป็นนโยบาย แม้จะมีกำลังน้อยกว่า แต่เหมาก็ตอบโต้ด้วยยุทธวิธีกองโจรที่ได้รับอิทธิพลจากผลงานของนักยุทธศาสตร์การทหารสมัยโบราณอย่างซุนวู แต่โจวและผู้นำคนใหม่กลับยึดนโยบายเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยและการสงครามแบบดั้งเดิม ด้วยการทำเช่นนั้น กองทัพแดงจึงสามารถเอาชนะการโอบล้อมครั้งที่หนึ่งและสองได้สำเร็จ[112][113] ด้วยความโกรธแค้นต่อความล้มเหลวของกองทัพ เจียง ไคเชกจึงมาบัญชาการปฏิบัติการด้วยตนเอง เขาเองก็เผชิญกับความพ่ายแพ้และถอยทัพเพื่อรับมือการรุกรานของญี่ปุ่นเข้ามาในจีนอย่างต่อเนื่อง[114] เนื่องจากก๊กมินตั๋งหันไปให้ความสำคัญกับการป้องกันประเทศจีนจากการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่น กองทัพแดงจึงสามารถขยายพื้นที่การควบคุมได้มากขึ้น จนในที่สุดก็ครอบคลุมประชากรถึง 3 ล้านคน[113] เหมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินต่อไป ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1931 เขาประกาศเริ่มโครงการ "ตรวจสอบที่ดิน" ซึ่งขยายขอบเขตออกไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1933 เขายังริเริ่มโครงการด้านการศึกษาและดำเนินมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีอีกด้วย[115] เจียงมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่กว่าญี่ปุ่น จึงกลับมายังเจียงซีและเริ่มปฏิบัติการโอบล้อมครั้งที่ห้า โดยการสร้าง "กำแพงไฟ" ล้อมเขตปกครองด้วยซีเมนต์และลวดหนาม พร้อมทั้งโจมตีทางอากาศ ซึ่งยุทธวิธีของโจวก็ไม่อาจต้านทานได้ เมื่อถูกติดอยู่ภายใน ขวัญกำลังใจของกองทัพแดงก็ลดลงเพราะเริ่มขาดแคลนอาหารและยา คณะผู้นำจึงตัดสินใจอพยพ[116]

การเดินทัพทางไกล: ค.ศ. 1934–1935

[แก้]
แผนที่ภาพรวมของการเดินทัพทางไกล
โจว เอินไหล เหมา เจ๋อตง และจู เต๋อ ระหว่างการเดินทัพทางไกล

วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1934 กองทัพแดงบุกทะลวงแนวป้องกันของก๊กมินตั๋ง ณ มุมตะวันตกเฉียงใต้ของโซเวียตเจียงซีที่เมืองซิ่นเฟิง โดยมีกำลังพล 85,000 นายและสมาชิกพรรคอีก 15,000 คน จากนั้นได้เริ่มต้น "การเดินทัพทางไกล" (Long March) เพื่อความสำเร็จในการหลบหนี ผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย สตรี และเด็กจำนวนมากถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยมีกองกำลังปฏิวัติกลุ่มหนึ่งคอยป้องกัน ซึ่งต่อมาถูกก๊กมินตั๋งสังหารหมู่[117] ผู้หลบหนีจำนวน 100,000 คนมุ่งหน้าไปยังตอนใต้ของหูหนาน ข้ามแม่น้ำเซียงหลังจากการต่อสู้ที่รุนแรง[118] และข้ามแม่น้ำอู่ในกุ้ยโจวก่อนจะยึดเมืองจุนอี้ได้ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1935 ขณะพักพิงชั่วคราวในเมือง พวกเขาก็จัดการประชุมขึ้น ณ ที่นี้ เหมาถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำ กลายเป็นประธานกรมการเมือง และเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของทั้งพรรคและกองทัพแดง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากโจเซฟ สตาลิน นายกรัฐมนตรีโซเวียต โดยยืนกรานให้ปฏิบัติการในลักษณะกองโจร เขากำหนดจุดหมายปลายทางคือโซเวียตเฉิ่นชื่อ ในฉ่านซี ทางตอนเหนือของจีน ซึ่งคอมมิวนิสต์จะสามารถมุ่งความสนใจไปที่การต่อสู้กับญี่ปุ่นได้ เหมาเชื่อว่าหากมุ่งเน้นการต่อสู้ต่อต้านจักรวรรดินิยม คอมมิวนิสต์จะสามารถได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจีน อันจะนำไปสู่การที่ประชาชนชาวจีนหันหลังให้ก๊กมินตั๋ง[119]

จากจุนอี้ เหมานำกองทัพของเขาไปยังด่านโหลว์ชาน ที่ซึ่งพวกเขาเผชิญหน้ากับการต่อต้านด้วยอาวุธแต่ก็ข้ามแม่น้ำไปได้สำเร็จ เจียงเดินทางโดยเครื่องบินเข้ามายังพื้นที่เพื่อนำกองทัพของตนมาปะทะกับเหมา แต่คอมมิวนิสต์ก็สามารถหลบหลีกและข้ามแม่น้ำจินชา.[120] เมื่อเผชิญภารกิจที่ยากลำบากยิ่งกว่าในการข้ามแม่น้ำต้าตู้ พวกเขาสามารถทำได้สำเร็จโดยการต่อสู้ชิงสะพานหลูติ้งในเดือนพฤษภาคม และยึดอำเภอหลูติ้ง[121] ที่มู่คง ทางตะวันตกของเสฉวน พวกเขาพบกับกองทัพหน้าที่ 4 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีกำลังพล 50,000 นายของจาง กั๋วเทา (ซึ่งเดินทางมาจากเทือกเขาบริเวณหม่าอันชาน[122]) และเคลื่อนทัพไปยังเหมาเอ๋อร์ไค่และต่อมายังกานซู่ร่วมกัน จางและเหมาไม่เห็นพ้องกันในสิ่งที่จะทำ เหมาต้องการเคลื่อนไปยังฉ่านซี ขณะที่จางต้องการถอยร่นไปทางตะวันตกสู่ทิเบตหรือสิกขิมให้ห่างจากภัยคุกคามของก๊กมินตั๋ง มีการตกลงกันว่าพวกเขาจะแยกย้ายกันไป โดยจู เต๋อ จะไปร่วมกับจาง[123] กำลังของเหมาเคลื่อนทัพไปทางเหนือ ผ่านทุ่งหญ้าหลายร้อยกิโลเมตร บริเวณดินเลน ซึ่งพวกเขาถูกโจมตีโดยชนเผ่าแมนจูและมีทหารจำนวนมากเสียชีวิตจากความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บ[124] เมื่อเดินทางมาถึงฉ่านซีในที่สุด พวกเขาก็ต้องต่อสู้กับทั้งก๊กมินตั๋งและกองทหารม้าอิสลามก่อนจะข้ามเทือกเขาหมินและภูเขาลิ่วผานไปยังโซเวียตเฉิ่นชื่อ โดยมีผู้รอดชีวิตเพียง 7,000–8,000 คนเท่านั้น[125] การเดินทัพทางไกลอันยาวนานได้ตอกย้ำสถานะของเหมาให้มั่นคงในฐานะบุคคลผู้มีอิทธิพลในพรรค ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1935 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหาร นับแต่นี้เป็นต้นไป เหมาจะกลายเป็นผู้นำที่ไม่มีผู้ใดโต้แย้งได้ของพรรคคอมมิวนิสต์ แม้เขาจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคจนกระทั่ง ค.ศ. 1943 ก็ตาม[126]

สงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

ผู้นำจีน

[แก้]

สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

[แก้]
เหมา เจ๋อตง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492

เหมา เจ๋อตง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนประตูแห่งสันติภาพสวรรค์ (เทียนอันเหมิน) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 และต่อมาในสัปดาห์เดียวกันก็ได้ประกาศว่า "มวลชนชาวจีนได้ลุกขึ้นแล้ว" (中国人民从此站起来了)[127] เหมาเดินทางไปกรุงมอสโกเพื่อการเจรจาที่ยาวนานในช่วงฤดูหนาวปี พ.ศ. 2492–2493 เหมาเป็นผู้ริเริ่มการเจรจาซึ่งมุ่งเน้นไปที่การปฏิวัติทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน นโยบายต่างประเทศ ทางรถไฟ ฐานทัพเรือ และความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโซเวียต สัญญาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความเหนือกว่าของสตาลินและความเต็มใจที่จะช่วยเหลือเหมา[128][129]

แนวคิดแบบมาร์กซิสต์ของเหมาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเลนิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสำคัญของกลุ่มแนวหน้า[130] เหมาเชื่อว่าเฉพาะการนำที่ถูกต้องของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่จะนำจีนก้าวสู่สังคมนิยมได้[130] ในทางกลับกัน เหมาก็เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเป็นสิ่งจำเป็นในการควบคุมระบบราชการ[130]

เหมา เจ๋อตง กับภรรยาคนที่สี่ เจียง ชิง หรือที่รู้จักกันในชื่อ "มาดามเหมา" ในปี พ.ศ. 2489

สงครามเกาหลี

[แก้]

เหมาผลักดันพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้จัดการรณรงค์เพื่อปฏิรูปสังคมและขยายการควบคุม การรณรงค์เหล่านี้ถูกเร่งให้มีความเร่งด่วนขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2493 เมื่อเหมาตัดสินใจส่งกองทัพอาสาสมัครประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยพิเศษของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้าร่วมสงครามเกาหลี และต่อสู้เพื่อเสริมกำลังให้กับกองทัพประชาชนเกาหลีซึ่งกำลังถอยร่นอย่างหนัก สหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรทางการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากการเข้าร่วมสงครามเกาหลี ซึ่งกินเวลานานจนกระทั่งความสัมพันธ์ดีขึ้นในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน มีทหารจีนเสียชีวิตอย่างน้อย 180,000 นายในสงครามเกาหลี[131]

เหมาควบคุมการปฏิบัติการอย่างละเอียดถี่ถ้วนในฐานะประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง เขาเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชนและสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย กองทัพจีนในเกาหลีอยู่ภายใต้การบัญชาการโดยรวมของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยมีนายพลเผิง เต๋อหวยเป็นผู้บัญชาการภาคสนามและคณะกรรมการการเมือง[132]

การปฏิรูปสังคม

[แก้]

ในช่วงการรณรงค์ปฏิรูปที่ดิน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดการประชุมประชาชนขนาดใหญ่ ยึดที่ดินจากเจ้าของเดิมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและชาวนาผู้ร่ำรวยนำไปแจกจ่ายให้กับชาวนาที่ยากจน ช่วงเวลานี้มีการประชาทัณฑ์ทำร้ายเจ้าของที่ดินและชาวนาผู้ร่ำรวยจำนวนมากจนเสียชีวิต ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก[133][134] นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ปราบปรามกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติ[135] ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ชนชั้นนายทุนข้าราชการอาทิ นายหน้าการค้า (คอมประดอร์) พ่อค้า และเจ้าหน้าที่ของพรรคก๊กมินตั๋ง ที่พรรคคอมมิวนิสต์มองว่าเป็นพวกเกาะกินเศรษฐกิจหรือศัตรูทางการเมือง[136] ในปี พ.ศ. 2519 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปฏิรูปที่ดินราว 1 ล้านคน และเสียชีวิตจากการรณรงค์ปราบปรามกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติราว 800,000 คน[137]

เหมาอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 700,000 คนจากการโจมตี "ศัตรูภายใน" ในช่วงปี พ.ศ. 2493 ถึง 2495[138] เนื่องจากมีนโยบายที่จะเลือก "เจ้าของที่ดินอย่างน้อยหนึ่งราย และโดยปกติแล้วมักจะเลือกหลายคน ในแทบทุกหมู่บ้านเพื่อประหารชีวิตในที่สาธารณะ"[139] จำนวนผู้เสียชีวิตจึงอยู่ระหว่าง 2 ล้าน[139][140][135] ถึง 5 ล้านคน[141][142] นอกจากนี้ยังมีผู้คนอย่างน้อย 1.5 ล้านคน[143] หรืออาจมากถึง 4 ถึง 6 ล้านคน[144] ถูกส่งไปยังค่าย "ปฏิรูปผ่านแรงงาน" ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก[144] เหมามีบทบาทส่วนตัวในการจัดระเบียบการปราบปรามหมู่มาก และสร้างระบบโควตาการประหารชีวิต[145] ซึ่งมักจะเกินจำนวน[135] เขาปกป้องการฆ่าเหล่านี้ว่าจำเป็นต่อการรักษาอำนาจ[146]

เหมาในงานฉลองวันเกิดครบรอบ 71 ปีของโจเซฟ สตาลิน ที่กรุงมอสโก ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2492

รัฐบาลของเหมาประสบความสำเร็จในการขจัดการผลิตและการบริโภคฝิ่นในช่วงทศวรรษที่ 1950 โดยใช้การปราบปรามอย่างหนักและการปฏิรูปสังคม[147][148] ผู้ติดสารเสพติดกว่า 10 ล้านคนถูกบังคับเข้ารับการบำบัด ผู้ค้ายาเสพติดถูกประหารชีวิต และพื้นที่เพาะปลูกฝิ่นถูกเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชชนิดใหม่ การผลิตฝิ่นที่เหลืออยู่ได้ย้ายไปทางใต้ของชายแดนจีนเข้าสู่พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ[148]

ซานฝ่านอู่ฝ่าน

[แก้]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เหมาได้ริเริ่มขบวนการต่อเนื่องสองครั้งเพื่อกวาดล้างความทุจริตในเมือง โดยการโจมตีกลุ่มทุนนิยมที่ร่ำรวยและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งเรียกว่า "การรณรงค์ต้านสาม" และ "การรณรงค์ต้านห้า" หรือซานฝ่านอู๋ฝ่าน โดยต้านสามมุ่งเป้าไปที่การกวาดล้างเจ้าหน้าที่ของรัฐ อุตสาหกรรม และพรรค ส่วนต้านห้านั้นมีขอบเขตที่กว้างกว่า โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มทุนนิยมโดยทั่วไป[149] คนงานได้กล่าวหาเจ้านาย ภรรยาหันมาใส่ร้ายสามี และลูกได้แจ้งจับพ่อแม่ ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกนำตัวไปประจานในที่สาธารณะ โดยถูกทารุณทั้งทางวาจาและร่างกายจนกว่าจะสารภาพผิด เหมายืนยันว่าผู้กระทำผิดเล็กน้อยควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และแก้ไข หรือส่งไปค่ายแรงงาน "ในขณะที่คนเลวที่สุดควรจะถูกยิง" ขบวนการเหล่านี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลายแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

เหมาและโจว เอินไหล พบปะกับทะไลลามะ (ขวา) และแป็นแช็นลามะ (ซ้าย) เพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ทิเบต ในกรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2498

ที่เซี่ยงไฮ้ การฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากตึกสูงกลายเป็นเรื่องปกติจนชาวบ้านต้องหลีกเลี่ยงการเดินบนทางเท้าใกล้ตึกสูงเพราะกลัวว่าผู้ฆ่าตัวตายจะตกใส่[150] นักเขียนชีวประวัติบางคนชี้ให้เห็นว่า การผลักดันให้ศัตรูฆ่าตัวตายเป็นกลยุทธ์ทั่วไปในยุคเหมา ในชีวประวัติของเหมา ฟิลิป ชอร์ตระบุว่าเหมาได้สั่งอย่างชัดเจนในขบวนการแก้ไขเหยียนอานว่า "ห้ามฆ่าแกนนำใด ๆ" แต่ในทางปฏิบัติกลับอนุญาตให้คัง เชิง หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงกดดันฝ่ายตรงข้ามให้ฆ่าตัวตาย และ "รูปแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดระยะเวลาการเป็นผู้นำของเขาในสาธารณรัฐประชาชนจีน"

รูปภาพของเหมาขณะนั่งอยู่ ซึ่งตีพิมพ์ใน "คติพจน์จากประธานเหมา เจ๋อตง" ประมาณปี พ.ศ. 2498

แผนห้าปี

[แก้]

หลังจากรวมอำนาจแล้ว เหมาได้เปิดตัวแผนห้าปีฉบับแรก (พ.ศ. 2496–2501) ซึ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า พลังงานไฟฟ้า ถ่านหิน วิศวกรรมหนัก วัสดุก่อสร้าง และเคมีภัณฑ์พื้นฐาน โดยมีเป้าหมายสร้างโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้เงินทุนสูง โรงงานเหล่านี้หลายแห่งได้รับความช่วยเหลือจากโซเวียต ทำให้อุตสาหกรรมหนักเติบโตอย่างรวดเร็ว[151] นอกจากนี้ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการค้าถูกจัดตั้งเป็นสหกรณ์แรงงาน[152] ช่วงเวลานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของจีน และประสบความสำเร็จอย่างมาก.[153]

แม้ตอนแรกเหมาจะเห็นด้วยกับรัฐบาลปฏิรูปของอิมแร นอจ แต่เมื่อการปฏิวัติฮังการีในปี พ.ศ. 2499 ดำเนินต่อไปและทวีความรุนแรงขึ้น เหมาเริ่มกลัวการ "ฟื้นฟูปฏิกิริยา" ในฮังการี เขาคัดค้านการถอนทหารของโซเวียตโดยสั่งให้หลิว เช่าฉี แจ้งตัวแทนโซเวียตให้ใช้การแทรกแซงทางทหารต่อผู้ประท้วงและรัฐบาลของนอจที่ "ได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดินิยมตะวันตก" อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่าจุดยืนของเหมาส่งผลต่อการตัดสินใจบุกฮังการีของนีกีตา ครุชชอฟ มากน้อยเพียงใด และยังไม่ชัดเจนว่าจีนถูกบังคับให้ยอมรับจุดยืนของโซเวียตเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและการฉายภาพอำนาจที่ด้อยกว่าของจีนเมื่อเทียบกับสหภาพโซเวียต แม้ว่าเหมาจะไม่เห็นด้วยกับการครอบงำของมอสโกในกลุ่มประเทศตะวันออก แต่เขามองว่าความสมบูรณ์ของขบวนการคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศสำคัญกว่าการปกครองตนเองของประเทศในเขตอิทธิพลของโซเวียต วิกฤตฮังการียังมีอิทธิพลต่อการรณรงค์ร้อยบุปผาของเหมา เหมาตัดสินใจผ่อนปรนท่าทีต่อปัญญาชนชาวจีน และอนุญาตให้พวกเขาแสดงความไม่พอใจต่อสังคมและวิจารณ์ข้อผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งเหมาต้องการใช้การขบวนการนี้เพื่อป้องกันการเกิดการลุกขึ้นต่อต้านในลักษณะเดียวกันในจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนชาวจีนเริ่มวิจารณ์นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการนำของเหมาหลังจากการรณรงค์ร้อยบุปผา เหมาได้ปราบปรามขบวนการที่เขาเริ่มต้นและเปรียบเทียบกับการปฏิวัติฮังการีที่ "ต่อต้านการปฏิวัติ"[154]

ในช่วงการรณรงค์ร้อยบุปผา เหมาแสดงท่าทีเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับการปกครองประเทศจีน เมื่อได้รับอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น ชาวจีนกลุ่มเสรีนิยมและปัญญาชนเริ่มคัดค้านพรรคคอมมิวนิสต์และตั้งคำถามต่อการนำของพรรค ในช่วงแรกการกระทำนี้ได้รับการยอมรับและสนับสนุน แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน รัฐบาลของเหมาได้เปลี่ยนนโยบายและดำเนินการปราบปรามผู้ที่วิจารณ์พรรค ซึ่งอาจมีจำนวนถึง 500,000 คน[155] รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าวิจารณ์ด้วย ในสิ่งที่เรียกว่า "ขบวนการต่อต้านฝ่ายขวาจัด" นำไปสู่การข่มเหงประชาชนอย่างน้อย 550,000 คน ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและผู้เห็นต่าง[156] หลี่ จื้อสุย แพทย์ประจำตัวของเหมาเสนอว่า ในตอนแรกเหมามองว่านโยบายนี้เป็นวิธีการลดทอนความเป็นปฏิปักษ์ต่อเขาภายในพรรค และเขารู้สึกประหลาดใจกับขอบเขตของการวิจารณ์และความจริงที่ว่ามันถูกนำไปใช้กับการนำของเขาเอง[157]

โครงการทางทหาร

[แก้]

การข่มขู่ของประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ของสหรัฐในช่วงวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันครั้งแรกว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีเป้าหมายทางทหารในมณฑลฝูเจี้ยน ได้กระตุ้นให้เหมาริเริ่มโครงการนิวเคลียร์ของจีน[158]: 89–90  ภายใต้โครงการ "ระเบิดสองลูก หนึ่งดาวเทียม" ของเหมา จีนได้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และระเบิดไฮโดรเจนได้อย่างรวดเร็ว[หาจำนวน] และปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเพียงไม่กี่ปีหลังจากที่โซเวียตปล่อยดาวเทียมสปุตนิก[159]: 218 

โครงการ 523 (จีน: 523项目)[160] เป็นชื่อรหัสของโครงการลับทางทหารในปี พ.ศ. 2510 ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อค้นหายารักษาโรคมาลาเรีย[161] ตั้งชื่อตามวันที่เริ่มดำเนินการโครงการคือ 23 พฤษภาคม เพื่อแก้ไขปัญหาโรคมาลาเรียซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญในสงครามเวียดนาม ตามคำร้องขอของโฮจิมินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหนือ โจว เอินไหลได้โน้มน้าวเหมาให้เริ่มโครงการขนาดใหญ่ "เพื่อรักษาความพร้อมรบของกองทัพพันธมิตร" ตามที่บันทึกการประชุมระบุ มีการเกณฑ์นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนกว่า 500 คนเข้าร่วมโครงการ โครงการแบ่งออกเป็นสามสายงาน[162] หนึ่งในนั้นคือการศึกษาเกี่ยวกับยาแผนจีนโบราณ ซึ่งค้นพบและนำไปสู่การพัฒนายากลุ่มใหม่ที่เรียกว่า "อาร์ทีมิซินิน"[162][163] โครงการ 523 เริ่มต้นและดำเนินต่อไปตลอดช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2524

นโยบายก้าวกระโดดไกล

[แก้]
เหมากับนีกีตา ครุชชอฟ, โฮจิมินห์ และซ่ง ชิ่งหลิงในงานเลี้ยงของรัฐในกรุงปักกิ่งในปี พ.ศ. 2502

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2501 เหมาได้เปิดตัวแผนห้าปีฉบับที่สองซึ่งรู้จักกันในชื่อ "การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า" แผนนี้มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงจีนจากประเทศเกษตรกรรมให้กลายเป็นอุตสาหกรรม[164] และเป็นรูปแบบทางเลือกสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แทนแบบอย่างโซเวียตที่เน้นอุตสาหกรรมหนักซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนอื่น ๆ ในพรรค ภายใต้โครงการเศรษฐกิจนี้ สหกรณ์การเกษตรขนาดเล็กที่มีอยู่เดิมได้ถูกควบรวมกันอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคอมมูนประชาชนขนาดใหญ่ และชาวนาจำนวนมากได้รับคำสั่งให้ทำงานในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตอาหารส่วนบุคคลถูกห้าม ปศุสัตว์และเครื่องมือทางการเกษตรถูกนำมาไว้ภายใต้กรรมสิทธิ์ร่วม[165]

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด เหมาและผู้นำพรรคคนอื่น ๆ ได้สั่งการให้คอมมูนนำเอาเทคนิคการเกษตรใหม่ ๆ ที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์และไร้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาใช้ ผลรวมของการเบี่ยงเบนแรงงานไปสู่การผลิตเหล็กและโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ ทำให้ผลผลิตธัญพืชลดลงประมาณ 15% ในปี 2502 ตามด้วยการลดลงอีก 10% ในปี 2503 และไม่มีการฟื้นตัวในปี 2504[166]

เจ้าหน้าที่ระดับล่างของพรรคได้รายงานผลผลิตธัญพืชเกินจริงเพื่อเอาใจผู้บังคับบัญชาและหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ จากข้อมูลเท็จดังกล่าวรัฐบาลจึงสั่งให้เก็บเกี่ยวธัญพืชในปริมาณมากเกินความเป็นจริงเพื่อส่งไปยังเมืองและส่งออก ด้วยนโยบายนี้รวมกับภัยธรรมชาติอย่างภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้ชาวนามีอาหารไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ส่งผลให้ประชาชนหลายล้านคนเสียชีวิตจากความอดอยาก ประชาชนในเมืองได้รับอาหารผ่านบัตรอาหาร แต่ชาวนาต้องปลูกข้าวเองและส่งมอบส่วนหนึ่งให้รัฐบาล ซึ่งทำให้ความสูญเสียชีวิตในชนบทรุนแรงกว่าในเมือง รัฐบาลยังคงส่งออกอาหารในขณะที่ประชาชนกำลังอดอยาก[167] ความอดอยากเป็นสาเหตุโดยตรงของการเสียชีวิตของชาวนาจีนราว 30 ล้านคน ระหว่างปี 2502 ถึง 2505[168] นอกจากนี้เด็กจำนวนมากที่ขาดสารอาหารในช่วงความอดอยากได้เสียชีวิตหลังจากการก้าวกระโดดไกลสิ้นสุดลงในปี 2505[166]

ในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2501 เหมาได้ประณามแนวปฏิบัติที่ใช้ในช่วงการก้าวกระโดดไกลเช่น การบังคับให้ชาวนาทำงานหนักเกินไปโดยไม่มีอาหารหรือการพักผ่อนเพียงพอ ซึ่งนำไปสู่การระบาดของโรคและความอดอยาก เขาได้ยอมรับว่าการรณรงค์ต่อต้านพวกขวาจัดเป็นสาเหตุหลักของ "การผลิตที่สละความเป็นอยู่" เขาปฏิเสธที่จะละทิ้งการก้าวกระโดดไกลเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่เขาก็เรียกร้องให้เผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น หลังการเผชิญหน้ากับเผิง เต๋อหวยที่การประชุมหลูชานในเดือนกรกฎาคม 2502 เหมาก็ได้เปิดฉากการปราบปรามฝ่ายขวาจัดครั้งใหม่ พร้อมกับนโยบายสุดโต่งที่เขายกเลิกไปก่อนหน้านี้ จนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิปี 2503 เหมาจึงแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเสียชีวิตที่ผิดปกติและการละเมิดอื่น ๆ อีกครั้ง แต่เขาก็ไม่ได้ดำเนินการเพื่อหยุดยั้ง เบิร์นสไตน์สรุปว่าเหมา "เพิกเฉยต่อบทเรียนจากระยะแรกของความสุดโต่งเพื่อบรรลุเป้าหมายทางอุดมการณ์และการพัฒนาที่รุนแรง"[169]

แจสเปอร์ เบ็คเกอร์ บันทึกว่าเหมาไม่สนใจรายงานเรื่องการขาดแคลนอาหารในชนบท และปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแนวทาง โดยเชื่อว่าชาวนาโกหก และพวกขวาจัดและคูลักนั้นซ่อนข้าวเอาไว้ เขาปฏิเสธที่จะเปิดคลังธัญพืชของรัฐ[170] และแทนที่จะทำเช่นนั้น เขาได้เปิดฉากการต่อต้าน "การซ่อนข้าว" ซึ่งนำไปสู่การกวาดล้างและการฆ่าตัวตายจำนวนมาก[171] การรณรงค์ที่รุนแรงอื่น ๆ ตามมา โดยที่ผู้นำพรรคเดินทางไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อค้นหาอาหารที่ถูกซ่อนไว้ ไม่ใช่แค่ข้าวเท่านั้น เพราะเหมาตั้งโควตาสำหรับหมู ไก่ เป็ด และไข่ด้วย ชาวนาจำนวนมากถูกกล่าวหาว่าซ่อนอาหาร จึงถูกทรมานและตีจนตาย[172]

ความรุนแรงของสถานการณ์ที่เหมาทราบนั้นเป็นที่ถกเถียงกัน หลี่ จื้อสุย แพทย์ประจำตัวของเหมากล่าวว่าเหมาอาจไม่ทราบถึงความรุนแรงของความอดอยาก เนื่องจากบางส่วนเป็นเพราะความไม่เต็มใจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่จะวิจารณ์นโยบายของเขา และความเต็มใจของเจ้าหน้าที่ของเขาที่จะพูดเกินจริงหรือปลอมแปลงรายงาน[173] หลี่เขียนว่า เมื่อทราบถึงความรุนแรงของความอดอยาก เหมาได้สาบานว่าจะหยุดกินเนื้อซึ่งเป็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่ของเขาทำตาม[174]

เหมาจับมือกับชาวนาในคอมมูน ในปี 2502

เหมาลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2502 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ เช่น ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง[175] ตำแหน่งประธานาธิบดีถูกส่งผ่านให้กับหลิว เช่าฉี[175] ในที่สุด เหมาถูกบังคับให้ละทิ้งนโยบายในปี พ.ศ. 2505 และสูญเสียอำนาจทางการเมืองให้กับหลิว เช่าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง[176]

การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สำหรับชาวจีน แม้ว่าจะมีการรายงานว่าสามารถผลิตเหล็กได้ตามเป้าหมาย แต่เหล็กเกือบทั้งหมดที่ผลิตในชนบทนั้นเป็นเหล็กแท้ ๆ เนื่องจากมันถูกหลอมจากเศษเหล็กต่าง ๆ ในเตาหลอมแบบบ้าน ๆ ที่ไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงที่เชื่อถือได้ เช่น ถ่านหิน ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถควบคุมสภาวะการหลอมเหล็กได้อย่างถูกต้อง ตามที่เจียง หรงเม่ย์ ครูสอนเรขาคณิตในชนบทของเซี่ยงไฮ้ในช่วงการก้าวกระโดดไกลกล่าวไว้ว่า "เราเอาเฟอร์นิเจอร์ หม้อ และกระทะทุกอย่างที่มีในบ้านของเรามา รวมถึงของเพื่อนบ้านด้วย เราใส่ทุกอย่างลงในกองไฟขนาดใหญ่และหลอมโลหะทั้งหมดลง"[ต้องการอ้างอิง] ความอดอยากที่เลวร้ายที่สุดถูกเบี่ยงเบนไปยังศัตรูของรัฐ[177] แจสเปอร์ เบ็คเคอร์ อธิบายว่า "กลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดของจีนประมาณ 5% เป็นกลุ่มที่เหมาเรียกว่า 'ศัตรูของประชาชน' ผู้ใดก็ตามที่ถูกตราหน้าว่าเป็น 'องค์ประกอบดำ' ในการปราบปรามครั้งก่อนหน้านี้จะได้รับความสำคัญต่ำสุดในการจัดสรรอาหาร เจ้าของที่ดิน ชาวนาที่ร่ำรวย อดีตสมาชิกรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ผู้นำศาสนา กลุ่มขวาจัด กลุ่มต่อต้านการปฏิวัติ และครอบครัวของบุคคลเหล่านี้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุด"[178]

ตามสถิติอย่างเป็นทางการของจีนสำหรับแผนห้าปีฉบับที่สอง (พ.ศ. 2501–2505) ได้แก่ มูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า มูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 35% ผลผลิตเหล็กในปี 2505 อยู่ระหว่าง 10.6–12 ล้านตัน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็น 40% จาก 35% ในช่วงแผนห้าปีฉบับแรก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และรายได้เฉลี่ยของคนงานและชาวนาเพิ่มขึ้นสูงสุด 30%[179]

ในปี พ.ศ. 2505 ที่กรุงปักกิ่ง ได้มีการจัดประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "การประชุมคณะทำงานเจ็ดพันนาย" ประธานหลิว เช่าฉี ได้ประณามการก้าวกระโดดไกลโดยกล่าวโทษโครงการนี้ว่าเป็นสาเหตุของการอดอยากอาหารครั้งใหญ่ในจีน[180] ผู้แทนส่วนใหญ่เห็นพ้องกัน แต่รัฐมนตรีกลาโหม หลิน เปียว กลับปกป้องเหมาอย่างแข็งขัน[180] ตามมาด้วยการผ่อนปรนระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่เหมาและหลินวางแผนการกลับมา[180] หลิว เช่าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง ได้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการยุบคอมมูนประชาชน นำระบบการควบคุมแบบเอกชนมาใช้กับที่ดินขนาดเล็กของชาวนา และนำเข้าเมล็ดพืชจากแคนาดาและออสเตรเลียเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการอดอยาก[181]

เหมากับเฮนรี คิสซินเจอร์ และโจวเอินไหลในปี พ.ศ. 2515

ในที่ประชุมหลูชานในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม พ.ศ. 2502 รัฐมนตรีหลายคนแสดงความกังวลว่าการก้าวกระโดดไกลนั้นไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอมพลเผิง เต๋อหวย รัฐมนตรีกลาโหมและวีรบุรุษสงครามเกาหลี ที่ได้วิพากษ์วิจารณ์การก้าวกระโดดไกลอย่างตรงไปตรงมา หลังจากการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เหมาได้สั่งการให้ปลดเผิงและผู้สนับสนุนออกจากตำแหน่งเพื่อปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รายงานความจริงเกี่ยวกับความอดอยากให้เหมาทราบถูกตราหน้าว่าเป็น "โอกาสนิยมขวา" [182] มีการเปิดฉากการรณรงค์ต่อต้านโอกาสนิยมขวา ส่งผลให้สมาชิกพรรคและชาวนาธรรมดาถูกส่งตัวไปคุมขังในค่ายแรงงาน ซึ่งหลายคนเสียชีวิตจากความอดอยากในเวลาต่อมา หลายปีต่อมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สรุปว่า มีผู้คนถึง 6 ล้านคนถูกลงโทษผิดพลาดในการรณรงค์ครั้งนี้[183]

จักรพรรดิฮึยเลอ เซึลลาเซที่ 1 แห่งเอธิโอเปียกับเหมาในปี พ.ศ. 2514 หลังการเสียชีวิตของหลิน เปียว

จำนวนผู้เสียชีวิตจากการอดอยากในช่วงการก้าวกระโดดไกลนั้นเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากจนกระทั่งกลางทศวรรษที่ 1980 เมื่อรัฐบาลจีนได้เผยแพร่ตัวเลขสำมะโนอย่างเป็นทางการ จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของภัยพิบัติในชนบทจีนเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักสังเกตการณ์ชาวตะวันตกจำนวนน้อยที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงในช่วงเวลานั้นถูกจำกัดอยู่แต่ในหมู่บ้านตัวอย่าง ซึ่งพวกเขาถูกหลอกให้เชื่อว่านโยบายก้าวกระโดดไกลประสบความสำเร็จอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีสมมติฐานว่ารายงานรายบุคคลเกี่ยวกับภาวะอดอยากที่ไหลไปถึงตะวันตกโดยส่วนใหญ่ผ่านฮ่องกงและไต้หวันน่าจะเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่หรือถูกพูดเกินจริง เนื่องจากจีนยังคงอ้างว่าเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นสถิติ และเป็นผู้ส่งออกธัญพืชสุทธิตลอดช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากเหมาต้องการชำระหนี้ให้กับโซเวียตจำนวน 1.973 พันล้านหยวนตั้งแต่ปี 2503–2505[184] การส่งออกจึงเพิ่มขึ้นเป็น 50% และประเทศคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้านอย่างเกาหลีเหนือ เวียดนามเหนือ และแอลเบเนียได้รับธัญพืชฟรี[170]

ประเทศจีนได้ทำการสำรวจสำมะโนประชากรในปี พ.ศ. 2496, 2507 และ 2525 การพยายามวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตจากความอดอยากครั้งแรกนั้นดำเนินการโดย ดร.จูดิธ แบนิสเตอร์ นักประชากรศาสตร์ชาวอเมริกัน และตีพิมพ์ในปี 2527 เนื่องจากช่วงเวลาระหว่างการสำรวจสำมะโนประชากรแต่ละครั้งนั้นมัความยาวนาน และมีความสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของข้อมูล จึงยากที่จะหาตัวเลขที่แน่นอน อย่างไรก็ตามแบนิสเตอร์ได้สรุปว่าข้อมูลอย่างเป็นทางการบ่งชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตเกินจำนวนประมาณ 15 ล้านคนในประเทศจีนระหว่างปี 2501–2503 และจากการสร้างแบบจำลองประชากรศาสตร์ของจีนในช่วงเวลาดังกล่าวและคำนึงถึงการรายงานตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริงในช่วงปีที่เกิดความอดอยาก ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านคน หู เย่าปัง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 20 ล้านคนตามสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาล[185] หยาง จื้อเฉิง อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัว ซึ่งมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลและเครือข่ายที่นักวิชาการคนอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าถึง ได้ประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตไว้ที่ 36 ล้านคน[184] แฟรงก์ ดิโคตเตอร์ ได้ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอย่างน้อย 45 ล้านคนอันเนื่องมาจากการก้าวกระโดดไกลตั้งแต่ปี 2501–2505[186] แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ระบุตัวเลขอยู่ระหว่าง 20–46 ล้านคน[187][188][189]

เสื่อมความสัมพันธ์กับโซเวียต

[แก้]
วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ประธานาธิบดีสหรัฐ เจอรัลด์ ฟอร์ด มองดูเฮนรี คิสซินเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ทำการจับมือกับเหมา เจ๋อตง ระหว่างการเยือนจีน

ในเวทีระหว่างประเทศ ช่วงเวลานั้นโดดเด่นด้วยการแยกตัวออกจากสังคมโลกมากขึ้นของจีน ความแตกแยกระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตนำไปสู่การที่นีกีตา ครุชชอฟ ยกเลิกการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและความช่วยเหลือทั้งหมดของตนออกจากจีน ความแตกแยกนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นผู้นำของลัทธิคอมมิวนิสต์โลก สหภาพโซเวียตมีเครือข่ายพรรคคอมมิวนิสต์ที่ให้การสนับสนุน จีนจึงสร้างเครือข่ายคู่แข่งของตนเองขึ้นเพื่อแย่งชิงอำนาจควบคุมฝ่ายซ้ายในหลายประเทศ[190] ลอเรนซ์ เอ็ม. ลูธี กล่าวว่า: "ความแตกแยกของจีนกับโซเวียตเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของสงครามเย็น มีความสำคัญเทียบเท่ากับการสร้างกำแพงเบอร์ลิน, วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา, สงครามเวียดนามครั้งที่สอง และการสานสัมพันธ์จีน–อเมริกา ความความแตกแยกนี้ช่วยกำหนดกรอบของสงครามเย็นครั้งที่สองโดยทั่วไป และส่งผลต่อแนวทางของสงครามเวียดนามครั้งที่สองโดยเฉพาะ"[191]

ความแตกแยกเกิดขึ้นจากการบริหารประเทศสหภาพโซเวียตที่ผ่อนคลายลงของครุชชอฟหลังจากการเสียชีวิตของสตาลินในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2496 มีเพียงแอลเบเนียเท่านั้นที่เข้าข้างจีนอย่างเปิดเผย นำไปสู่การเป็นพันธมิตรระหว่างสองประเทศ ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปจนหลังจากการเสียชีวิตของเหมาในปี พ.ศ. 2519 เมื่อได้รับคำเตือนว่าโซเวียตมีอาวุธนิวเคลียร์ เหมาก็ลดทอนภัยคุกคามนั้นลง แจสเปอร์ เบ็คเกอร์ กล่าวว่า "เหมาเชื่อว่าระเบิดปรมาณูเป็น 'เสือกระดาษ' และประกาศกับครุชชอฟว่า ไม่สำคัญว่าจีนจะสูญเสียประชากรไป 300 ล้านคนในสงครามนิวเคลียร์: ประชากรอีกครึ่งหนึ่งจะอยู่รอดเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะ"[192] การต่อสู้กับการแก้ไขลัทธิคอมมิวนิสต์ของโซเวียต (Soviet revisionism) และจักรวรรดินิยมสหรัฐ เป็นประเด็นสำคัญในความพยายามของเหมาที่จะนำการปฏิวัติไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง[193]

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 เหมาได้เขียนบันทึกเพื่อวิจารณ์ตำราเศรษฐศาสตร์การเมืองฉบับสหภาพโซเวียต พร้อมทั้งเขียนบทความ (วิจารณ์เศรษฐกิจแบบโซเวียต) ตอบโต้แนวคิดทางเศรษฐกิจของสตาลินในหนังสือ "ปัญหาเศรษฐกิจของสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต"[194]: 51  เนื้อหาเหล่านี้สะท้อนถึงมุมมองของเหมาที่มองว่าสหภาพโซเวียตกำลังห่างเหินจากประชาชน และบิดเบือนแนวทางการพัฒนาสังคมนิยม[194]: 51 

นักประวัติศาสตร์ หลี่ หมิงเจียง มองว่าเหมาจงใจยกระดับความตึงเครียดทางการทูตระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการยึดอำนาจทางการเมืองภายในประเทศอีกครั้ง และลดอำนาจของคู่แข่ง โดยการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในแนวทางปฏิวัติและจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อ "ลัทธิแก้" ของสหภาพโซเวียต ซึ่งเหมาเห็นว่าเป็นการทรยศต่ออุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์[195]

แนวหน้าที่สาม

[แก้]

หลังจากความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดไกล ผู้นำจีนได้ชะลอความเร็วในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมลง[196]: 3  โดยหันไปลงทุนในเขตชายฝั่งทะเลของจีนมากขึ้นและมุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค[196]: 3  แผนร่างเบื้องต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีฉบับที่สามไม่มีบทบัญญัติสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภายในประเทศจีน[196]: 29  อย่างไรก็ตาม รายงานของคณะเสนาธิการกองทัพได้สรุปว่า การรวมภาคอุตสาหกรรมของจีนไว้ที่เมืองสำคัญแถบชายฝั่งทะเล ทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากมหาอำนาจต่างชาติ เหมาจึงแย้งว่าควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในพื้นที่ที่ปลอดภัยภายในประเทศ[196]: 4, 54  แม้ว่าในตอนแรกผู้นำคนสำคัญคนอื่น ๆ จะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่อุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2507 ยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อการรุกรานที่อาจเกิดขึ้นโดยสหรัฐ และผลักดันให้เกิดการสนับสนุนข้อเสนอการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมของเหมา ซึ่งต่อมาเรียกว่า "แนวหน้าที่สาม"[196]: 7  หลังจากอุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ย ความกังวลของเหมาเกี่ยวกับการรุกรานของสหรัฐก็เพิ่มมากขึ้น[197]: 100  เขาเขียนจดหมายถึงคณะกรรมการกลางว่า "จะมีสงครามเกิดขึ้น ฉันจำเป็นต้องพิจารณาการกระทำของฉันอีกครั้ง" และผลักดันให้สร้างแนวรบที่สามอย่างหนักแน่นยิ่งขึ้น[197]: 100 

โครงการก่อสร้างลับ "แนวหน้าที่สาม" เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟ เช่น ทางรถไฟสายเฉิงตู–คุนหมิง[196]: 153–164  อุตสาหกรรมอวกาศ เช่น สถานที่ปล่อยดาวเทียม[196]: 218–219  อุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก เช่น บริษัทเหล็กและเหล็กกล้ากล้าพันจือฮัว[196]: 9 

การพัฒนาแนวหน้าที่สามชะลอตัวลงในปี พ.ศ. 2509 ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่กลับมาเร่งตัวอีกครั้งหลังจากความขัดแย้งชายแดนจีน–โซเวียตที่เกาะเจินเป่า ซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการรุกรานของสหภาพโซเวียตเพิ่มสูงขึ้น[196]: 12, 150  แต่ก็กลับมาชะลอตัวลงอีกครั้งหลังการเยือนจีนของประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสันในปี พ.ศ. 2515 และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน[196]: 225–229  เมื่อมีการปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้นหลังการเสียชีวิตของเหมา จีนก็เริ่มยุติโครงการแนวหน้าที่สามลงทีละน้อย[198]: 180  แนวหน้าที่สามมีการกระจายทรัพยากรทางกายภาพและบุคลากรไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคลดลงในที่สุด และสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดในอนาคต[198]: 177–182 

การปฏิวัติทางวัฒนธรรม

[แก้]
การปรากฏตัวต่อสาธารณะของประธานเหมาและหลิน เปียว ท่ามกลางกลุ่มยุวชนแดงในกรุงปักกิ่ง ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (พฤศจิกายน พ.ศ. 2509)

ในช่วงต้นยุค 1960 เหมาเริ่มกังวลเกี่ยวกับสภาพการณ์ของจีนหลังปี พ.ศ. 2502 เขาเห็นว่าการการก้าวกระโดดไกลได้แทนที่ชนชั้นปกครองชุดเก่าด้วยชนชั้นปกครองชุดใหม่ เขาเป็นกังวลว่าบรรดาผู้มีอำนาจกำลังห่างเหินจากประชาชนที่พวกเขาควรรับใช้ เหมาเชื่อว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมจะช่วยปลดแอกและสั่นคลอน "ชนชั้นปกครอง" รวมถึงทำให้จีนอยู่ในสภาวะของ "การปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง" ซึ่งตามทฤษฎีแล้วจะทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มากกว่าชนชั้นปกครองที่แคบแค้นและมีสิทธิพิเศษเพียงกลุ่มน้อย[199] ประธานหลิว เช่าฉี และเลขาธิการพรรค เติ้ง เสี่ยวผิง เห็นพ้องกันว่าควรถอดถอนเหมาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศทั้งประมุขและหัวหน้ารัฐบาล แต่ยังคงให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่ เพื่อรักษาภาพลักษณ์และเกียรติคุณในฐานะผู้ก่อตั้งพรรค โดยพรรคจะยกย่องสรรเสริญคุณูปการของเหมาในการปฏิวัติจีน หลิวและเติ้งพยายามลดความสำคัญของเหมาลงด้วยการเข้าควบคุมนโยบายเศรษฐกิจและสร้างอิทธิพลทางการเมือง หลายฝ่ายเชื่อว่าเหมาตอบโต้ความเคลื่อนไหวของหลิวและเติ้งด้วยการปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพในปี พ.ศ. 2509 มีนักวิชาการบางคนเช่น เกา มั่วปั๋ว แย้งว่าบทบาทของความขัดแย้งนี้อาจถูกตีความเกินจริง[200] บุคคลอื่น ๆ เช่น แฟรงก์ ดิกเคอเตอร์ นักประวัติศาสตร์ มองว่าเหมาจงใจให้เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เพื่อแก้แค้นผู้ที่กล้าท้าทายเขาเกี่ยวกับความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดไกล[201]

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้นำไปสู่การทำลายมรดกทางวัฒนธรรมโบราณอันทรงคุณค่าของจีนจำนวนมาก รวมถึงการคุมขังประชาชนจีนจำนวนมหาศาล และก่อให้เกิดความโกลาหลทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวงในประเทศ ชีวิตผู้คนหลายล้านคนถูกทำลายในช่วงเวลานี้ เนื่องจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้แทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนของชีวิตชาวจีน ดังที่เห็นได้จากภาพยนตร์จีนเรื่องต่าง ๆ เช่น To Live, The Blue Kite และหลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม มีการประมาณการว่าประชาชนหลายแสนคนหรืออาจจะถึงหลายล้านคนเสียชีวิตจากความรุนแรงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[189] ซึ่งรวมถึงบุคคลสำคัญ เช่น หลิว เช่าฉี[202][203][204]

เมื่อมีรายงานถึงความสูญเสียมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่ถูกบีบให้ฆ่าตัวตายนั้น มีการกล่าวอ้างว่าเหมาได้แสดงความเห็นว่า "คนที่พยายามฆ่าตัวตาย—อย่าพยายามช่วยเหลือพวกเขาเลย! ... จีนเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น ไม่ใช่ว่าเราขาดคนไปไม่ได้สักสองสามคน"[205] เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เรดการ์ดทำร้ายและฆ่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เซี่ย ฟู่จือ หัวหน้าตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า "อย่าพูดว่าการทำร้ายคนเลวมันผิด: ถ้าด้วยความโกรธแค้นพวกเขาฆ่าใครตาย ก็ช่างมัน"[206] มีรายงานว่าในเดือนสิงหาคมและกันยายน พ.ศ. 2509 มีผู้คนถูกเรดการ์ดฆาตกรรม 1,772 คนในกรุงปักกิ่งเพียงแห่งเดียว[207]

ในช่วงเวลานี้เองที่เหมาได้เลือกหลิน เปียว ผู้ซึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดทั้งหมดของเหมาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง ต่อมาหลินก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดของเหมาอย่างเป็นทางการ แต่ในปี พ.ศ. 2514 ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองก็เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของจีนระบุว่าหลินกำลังวางแผนก่อการรัฐประหารหรือลอบสังหารเหมา หลินเสียชีวิตในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2514 ในเหตุการณ์เครื่องบินตกเหนือน่านฟ้ามองโกเลีย คาดว่าน่าจะเป็นขณะที่เขากำลังหลบหนีออกนอกจีนเพื่อหนีการถูกจับกุม พรรคคอมมิวนิสต์จีนกล่าวหาว่าหลิน เปียว วางแผนจะโค่นล้มเหมา และได้ขับไล่หลินออกจากพรรคอย่างมิให้กลับคืน (หลังเสียชีวิต) เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เหมาสูญเสียความไว้วางใจในบุคคลสำคัญหลายคนภายในพรรค พลโทอีออน มีไฮ ปาเชปา ผู้แปรพักตร์จากหน่วยข่าวกรองระดับสูงสุดของกลุ่มประเทศค่ายสังคมนิยมโซเวียต อ้างว่าเขาเคยสนทนากับนีกอลาเอ ชาวูเชสกู ผู้นำโรมาเนีย ซึ่งได้เล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับแผนการลอบสังหารเหมาโดยอาศัยความช่วยเหลือจากหลิน เปียว และวางแผนโดยเคจีบี (หน่วยสืบราชการลับโซเวียต)[208]

แม้ว่าเหมาจะประกาศยุติการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2512 แต่บรรดานักประวัติศาสตร์ทั้งชาวจีนและต่างชาติต่างก็เห็นตรงกันว่าจริง ๆ แล้วการปฏิวัติทางวัฒนธรรมน่าจะยุติลงในปี พ.ศ. 2519 หลังจากการเสียชีวิตของเหมาและการจับกุม "แก๊งออฟโฟร์" ซึ่งเป็นแก๊งสี่คนที่กุมอำนาจช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม[209] ในปี พ.ศ. 2524 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็น "ความล้มเหลวอย่างรุนแรง" ของสาธารณรัฐประชาชนจีน[210] นักวิชาการส่วนใหญ่ทั่วโลกมองว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่สร้างความปั่นป่วนให้กับจีนเป็นอย่างมาก[211] แม้ว่าระบอบการปกครองของเหมาจะมีแนวคิดช่วยเหลือคนยากจน แต่ นโยบายเศรษฐกิจของเขากลับนำไปสู่ความยากจนอย่างกว้างขวาง[212]

การประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงทั้งพลเรือนและยุวชนแดง มีตัวเลขที่แตกต่างกันไปอย่างมาก ตัวเลขที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือประมาณ 400,000 คนซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดตามที่มอริส เมสเนอร์ กล่าวอ้าง[213] แมคฟาร์คัวร์และโชนฮอลล์ชี้ให้เห็นว่า ในชนบทของจีนเพียงแห่งเดียวมีผู้คนถูกข่มเหงรังแกประมาณ 36 ล้านคน โดยมีผู้เสียชีวิตระหว่าง 750,000 ถึง 1.5 ล้านคน และอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บถาวร[214]

นักประวัติศาสตร์ ดาเนียล ลีส เขียนว่าในช่วงทศวรรษที่ 1950 บุคลิกภาพของเหมาแข็งกร้าวขึ้น ดังความว่า "ความประทับใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพของเหมาที่ปรากฏในเอกสารนั้นน่ารำคาญ มันเผยให้เห็นพัฒนาการตามช่วงเวลาจากผู้นำที่ติดดิน เป็นมิตรเมื่อไม่ได้รับการโต้แย้ง และบางครั้งก็ไตร่ตรองถึงข้อจำกัดของอำนาจตัวเอง ไปเป็นเผด็จการที่โหดเหี้ยมและเอาแต่ใจตัวเองมากขึ้น ความพร้อมของเหมาที่จะยอมรับคำวิจารณ์นั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง"[215]

การเยือนต่างประเทศ

[แก้]
ประเทศ วันที่ เจ้าภาพ
 สหภาพโซเวียต 16 ธันวาคม พ.ศ. 2492 โจเซฟ สตาลิน
 สหภาพโซเวียต 2–19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 นีกีตา ครุชชอฟ

ในช่วงเวลาที่เป็นผู้นำประเทศ เหมาเดินทางออกนอกประเทศจีนเพียงแค่สองครั้งเท่านั้น ทั้งสองครั้งเป็นการเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกที่เหมาเดินทางไปต่างประเทศคือ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2492 เพื่อไปร่วมฉลองวันเกิดครบ 70 ปีของผู้นำสหภาพโซเวียต โจเซฟ สตาลิน ที่กรุงมอสโก ในงานเลี้ยงครั้งนั้นมีรองประธานสภารัฐมนตรีเยอรมนีตะวันออก วัลเทอร์ อุลบริชท์ และเลขาธิการพรรคประชาชนมองโกเลีย ยัมจากิน เซเดนบัล เข้าร่วมด้วย[216] การเดินทางไปมอสโกครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายนปี 1957 เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการนาน 2 สัปดาห์ จุดเด่นของการเยือนครั้งนี้ ได้แก่ การเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของการปฏิวัติเดือนตุลาคม โดยเหมาได้เข้าร่วมพิธีสวนสนามประจำปีของกองทหารมอสโกที่ จัตุรัสแดง รวมถึงงานเลี้ยงที่เครมลินด้วย การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเหมาได้พบปะกับผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ เช่น คิม อิล-ซ็อง แห่งเกาหลีเหนือ[217] และแอลแวร์ ฮอจา แห่งแอลเบเนีย

เมื่อเหมาลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2502 หน้าที่การเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ และการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะสหภาพโซเวียต หรือประเทศอื่น ๆ จึงถูกมอบหมายให้ประธานาธิบดีหลิว เช่าฉี นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล หรือรองนายกรัฐมนตรีเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้ดำเนินการแทนตัวเหมาเอง[ต้องการอ้างอิง]

อสัญกรรมและผลพวง

[แก้]
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
video icon Official Chinese documentary on Mao's funeral
เหมา เจ๋อตง กับรองประธานาธิบดีอียิปต์ ฮุสนี มุบาร็อก ในระหว่างการเยือนปักกิ่งเมื่อปี พ.ศ. 2519

สุขภาพของเหมาทรุดโทรมลงในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งอาจเลวร้ายลงจากการสูบบุหรี่จัดเป็นนิสัย[218] ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเหมา อาการป่วยหลายอย่างเกี่ยวกับปอดและหัวใจของเขากลายเป็นความลับของชาติ[219] มีรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเหมาอาจเป็นโรคพาร์คินสัน[220][221] ร่วมกับโรค ALS (amyotrophic lateral sclerosis) ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าโรคลู เกห์ริก[222] ครั้งสุดท้ายที่เหมา ปรากฏตัวต่อสาธารณะและภาพถ่ายสุดท้ายที่เขายังมีชีวิตอยู่คือวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 เมื่อเขาได้พบกับซัลฟิการ์ อาลี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถานที่มาเยือน[223] เหมาประสบอาการหัวใจวายรุนแรงสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนมีนาคม อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 5 กันยายน อาการหัวใจวายครั้งที่สามทำให้เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และถึงแก่อสัญกรรมในอีก 4 วันต่อมาเมื่อเวลา 00:10 น. ของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2519 ด้วยวัย 82 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ได้ชะลอการประกาศข่าวการถึงแก่อสัญกรรมจนถึงเวลา 16:00 น. โดยมีการออกอากาศทางวิทยุแห่งชาติเพื่อแจ้งข่าวและเรียกร้องความสามัคคีในพรรค[221]

ร่างของเหมาที่ผ่านการดองถูกคลุมด้วยธงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และตั้งไว้ที่มหาศาลาประชาชนเป็นเวลา 1 สัปดาห์[224] ชาวจีนกว่าหนึ่งล้านคนเข้าแถวเพื่อเคารพศพ บ่อยครั้งที่พวกเขาร้องไห้กันอย่างเปิดเผยหรือแสดงความโศกเศร้า ในขณะที่ชาวต่างชาติเฝ้าดูผ่านทางโทรทัศน์.[225][226] รูปภาพอย่างเป็นทางการของเหมาแขวนอยู่บนผนังพร้อมป้ายที่มีข้อความว่า “สืบสานเจตนารมณ์ของท่านประธานเหมา และเดินหน้าการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพต่อไปจนถึงที่สุด”[224] วันที่ 17 กันยายน ร่างของเขาถูกเคลื่อนย้ายโดยรถมินิบัสไปยังโรงพยาบาล 305 เพื่อเก็บรักษาอวัยวะภายในด้วยฟอร์มาลิน[224]

ในวันที่ 18 กันยายน เสียงปืน ไซเรน นกหวีด และแตรทั่วทั้งประเทศจีนดังขึ้นพร้อมกัน ขณะเดียวกันก็มีการไว้อาลัยด้วยความเงียบเป็นเวลา 3 นาที[227] จัตุรัสเทียนอันเหมินมีประชาชนหลายล้านคนมาชุมนุม และวงดนตรีทหารบรรเลงเพลง “แองเตอร์นาซิอองนาลฮฺว่า กั๋วเฟิง กล่าวสดุดีรำลึกหน้าประตูเทียนอันเหมินเป็นเวลา 20 นาที[228] แม้ว่าเหมาจะสั่งเสียให้เผาร่างของเขา แต่ร่างของเขาก็ถูกเก็บรักษาไว้โดยการจัดแสดงอย่างถาวรที่อนุสรณ์สถานประธานเหมา ในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้ประชาชนชาวจีนได้มาเคารพศพ[229]

ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2524 คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เห็นชอบ มติเกี่ยวกับบางประเด็นทางประวัติศาสตร์ของพรรคตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการประเมินมรดกของยุคเหมา และทิศทางต่อไปของพรรค[230]: 166  มตินี้กล่าวถึงความล้มเหลวในช่วงปี พ.ศ. 2500–07 (แม้ว่าโดยทั่วไปจะยืนยันช่วงเวลาดังกล่าว) และความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 โดยระบุว่าความผิดพลาดของเหมาเป็นผลจากแนวโน้มที่เห็นแก่ตัวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเขาละทิ้งมุมมองร่วมกันของผู้นำ[230]: 167  ในแง่ของมรดกของเหมานั้น มติพรรคระบุว่า บทบาทของเหมาในช่วงการปฏิวัติจีนนั้น ยิ่งใหญ่กว่าความผิดพลาดของเขามาก[231]: 445 

มรดก

[แก้]
รูปปั้นเหมาเจ๋อตงชิงเหนียนในฉางชา เมืองหลวงของมณฑลหูหนาน

เหมาได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญและมีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20[232][233] เขาได้รับการอธิบายว่าเป็นปัญญาชนทางการเมือง นักทฤษฎี นักยุทธศาสตร์ทางการทหาร กวี และผู้มีวิสัยทัศน์[234] เขาได้รับการยกย่องและชื่นชมสำหรับการขับไล่จักรวรรดินิยมออกจากจีน[235] การรวมชาติจีน และการยุติสงครามกลางเมืองในช่วงหลายทศวรรษก่อน เขายังได้รับการยกย่องว่ามีส่วนช่วยยกระดับสถานะของสตรีในประเทศจีน รวมไปถึงการพัฒนาการรู้หนังสือและการศึกษาด้วย[147][236][237][238] ในเดือนธันวาคม 2013 โพลสำรวจของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ซึ่งเป็นของรัฐบาลระบุว่าประมาณร้อยละ 85 ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,045 คนมีความรู้สึกว่าความสำเร็จของเหมามีมากกว่าข้อผิดพลาดของเขา[239] ในจีนมีคำกล่าวว่าเหมาดี 7 ส่วน และชั่ว 3 ส่วน[8]: 55 [231]: 445 

นโยบายของเขาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านคนในจีนในช่วงที่เขาปกครอง[240][241][242] โดยเกิดจากความอดอยาก การข่มเหง การใช้แรงงานทาสในค่ายแรงงาน และการประหารหมู่[243][240] เหมาแทบจะไม่เคยสั่งการเกี่ยวกับการกำจัดชีวิตผู้คนโดยตรง[244] ตามที่ฟิลิป ชอร์ตระบุ ผู้เสียชีวิตจากนโยบายของเหมาส่วนใหญ่เป็นเหยื่อที่ไม่ได้ตั้งใจของทุพภิกขภัย ขณะที่อีกสามหรือสี่ล้านคนนั้นเหมามองว่าเป็นเหยื่อที่จำเป็นในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงจีน[245] ประเทศจีนในยุคเหมามักถูกระบุว่าเป็นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ครอบงำทุกด้านของชีวิตประชาชน และก่อให้เกิดการปราบปรามประชาชนในวงกว้าง[246][247][248][249][250] เหมาถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในทรราชผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20[251][252][243][240] เหมามักถูกยกมาเปรียบเทียบกับจิ๋นซีฮ่องเต้ ในฐานะผู้นำที่ทรงอิทธิพลในการรวมชาติจีน[253][254][255][252][a]

ภายใต้การปกครองของเขา ประชากรของจีนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 550 ล้านคนเป็นมากกว่า 900 ล้านคน[256][257] กลยุทธ์การก่อการกำเริบของเหมายังคงถูกนำมาใช้โดยกลุ่มกบฏ และอุดมการณ์ทางการเมืองของเขายังคงได้รับการยอมรับจากองค์กรคอมมิวนิสต์จำนวนมากทั่วโลก[258]

ห้องเรียนของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ได้ติดภาพเหมือนของประธานฮฺว่า กั๋วเฟิง ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น และประธานเหมา เจ๋อตง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานมาก่อน

ในประเทศจีน

[แก้]

ในจีนแผ่นดินใหญ่ เหมาเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากจากประชาชนส่วนใหญ่ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยกระดับอายุขัยเฉลี่ยของประชาชนจีนจาก 35 ปีในปี 1949 เพิ่มขึ้นเป็น 63 ปีในปี 1975 นอกจากนี้ยังนำพา "ความเป็นหนึ่งและความมั่นคงมาสู่ประเทศที่เคยเผชิญสงครามกลางเมืองและการรุกรานจากต่างชาติ" และได้วางรากฐานให้จีน "ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก"[259] เขาได้รับการยกย่องอย่างมากจากการดำเนินการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ ส่งเสริมสถานะสตรี เพิ่มระดับการรู้หนังสือของประชาชน และ "เปลี่ยนแปลงสังคมจีนไปในทางที่ดีอย่างสิ้นเชิง"[259] เหมาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ส่งเสริมให้ระดับการรู้หนังสือของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก (จากเพียง 20% ในปี 1949 เพิ่มเป็น 65.5% ใน 30 ปีต่อมา) ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้นเป็นสองเท่า ประชากรเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า และพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของจีน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน[260][237][238]

การต่อต้านเหมาอาจนำไปสู่การเซ็นเซอร์หรือผลกระทบต่ออาชีพในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่[261] จึงมักกระทำกันในที่ส่วนตัว[262] เมื่อคลิปวิดีโอของปี้ ฝูเจี้ยน พิธีกรรายการโทรทัศน์ กำลังดูหมิ่นเหมาในงานเลี้ยงส่วนตัวเมื่อปี 2015 ถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ปี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใช้เว่ย์ปั๋ว โดย 80% ระบุในการสำรวจความคิดเห็นว่าปี้ไม่ควรขอโทษท่ามกลางการต่อต้านจากหน่วยงานรัฐ[263][264] ประชาชนชาวจีนตระหนักดีถึงความผิดพลาดของเหมา แต่หลายคนยังคงยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษของชาติ เขาถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองของญี่ปุ่นและการแสวงหาผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมตะวันตกที่ย้อนกลับไปถึงสงครามฝิ่น[265] ระหว่างปี 2015 ถึง 2018 วอชิงตันโพสต์ได้สัมภาษณ์ชาวจีน 70 คนเกี่ยวกับยุคของเหมา ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ชื่นชมความเรียบง่ายของยุคนั้น โดยเชื่อว่าชีวิตในยุคสมัยนั้นมี "ความหมายที่ชัดเจน" และความเหลื่อมล้ำน้อยมาก พวกเขาอ้างว่า "ชีวิตจิตวิญญาณ" ในยุคนั้นอุดมสมบูรณ์ พร้อมกันนั้นผู้ให้สัมภาษณ์ยังยอมรับถึง "ชีวิตวัตถุ" ที่ยากลำบาก และประสบการณ์ด้านลบอื่น ๆ ในยุคของเหมา[265]

จัตุรัสเหมา เจ๋อตง ที่เฉาชาน

วันที่ 25 ธันวาคม 2008 จีนได้เปิดจัตุรัสเหมา เจ๋อตง ให้ประชาชนเข้าชมในบ้านเกิดของเขา ซึ่งอยู่ในมณฑลหูหนานตอนกลาง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 115 ปีชาตกาลของเขา[266]

ซู เสี่ยวฉี อดีตเจ้าหน้าที่พรรคได้แสดงความเห็นว่า "เขาเป็นอาชญากรทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นพลังแห่งความดีที่ยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน"[267] ในทำนองเดียวกัน หลิว ปินเอี๋ยน นักข่าวได้อธิบายว่าเหมาคือ "ทั้งอสูรและอัจฉริยะ"[267] หลี่ รุ่ย เลขาส่วนตัวของเหมาและสหายร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ได้แสดงความเห็นว่า "วิธีคิดและการปกครองของเหมา เจ๋อตง นั้นน่าสะพรึงกลัว เขาไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ และการตายของผู้อื่นไม่มีความหมายอะไรต่อเขา"[268]

คำกล่าวของเฉิน ยฺหวิน ที่ว่า "หากเหมาสิ้นชีวิตในปี 1955 ชื่อเสียงของเขาจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ หากเขาสิ้นชีวิตในปี 1966 เขาก็ยังคงเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็มีข้อบกพร่อง แต่เขากลับสิ้นชีวิตในปี 1976 อนิจจา จะพูดอย่างไรดี"[269] ต่อมาเติ้ง เสี่ยวผิง ได้กล่าวเตือนเขาว่า "ประธานเหมาได้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อชาติจีน เขาช่วยเหลือพรรคและการปฏิวัติในยามวิกฤตที่สุด สรุปแล้วการมีส่วนร่วมของเขายิ่งใหญ่มากจนหากไม่มีเขา ประชาชนจีนก็คงจะหาเส้นทางเพื่อหลุดพ้นจากความมืดมิดยากกว่านี้มาก ทั้งนี้ เราไม่ควรลืมว่าประธานเหมาเป็นผู้ผสานคำสอนของมากซ์และเลนินกับความเป็นจริงของประวัติศาสตร์จีน เขาเป็นผู้ประยุกต์ใช้หลักการเหล่านั้นอย่างสร้างสรรค์ ไม่เพียงแต่ด้านการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงปรัชญา ศิลปะ วรรณกรรม และยุทธศาสตร์ทางทหารด้วย"[270]

นอกประเทศจีน

[แก้]
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
video icon Booknotes interview with Philip Short on Mao: A Life, April 2, 2000, ซี-สแปน

ฟิลิป ชอร์ต กล่าวว่าส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตในยุคเหมานั้นเกิดจากผลกระทบที่ไม่ตั้งใจจากความอดอยาก[245] เขาระบุว่าชนชั้นเจ้าของที่ดินไม่ได้ถูกกำจัดไปจากสังคมทั้งหมดเพราะความเชื่อของเหมาที่ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงผู้คนได้ด้วยการปฏิรูปความคิด[245] และได้เปรียบเทียบเหมากับนักปฏิรูปชาวจีนในศตวรรษที่ 19 ที่ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมของจีนในยุคที่จีนเผชิญกับการล่าอาณานิคมของตะวันตก ชอร์ตยังเขียนว่า "ความน่าเศร้าและความยิ่งใหญ่ของเหมาคือการที่เขายังคงหลงใหลในความฝันปฏิวัติของตนเองจนถึงวาระสุดท้าย... เขาได้ปลดปล่อยจีนออกจากกรอบความคิดแบบขงจื๊อในอดีต แต่อนาคตสีแดงสดใสที่เขาสัญญาไว้กลับกลายเป็นนรกที่ไร้ประโยชน์"[245]

ในชีวประวัติของอเล็กซานเดอร์ วี. แพนต์ซอฟ และสตีเวน ไอ. เลวีน ได้ยืนยันว่าเหมาเป็นทั้ง "ผู้สร้างที่ประสบความสำเร็จและผู้ทำลายล้างที่ชั่วร้ายในที่สุด" แต่ยังโต้แย้งว่าเขาเป็นบุคคลที่ซับซ้อนซึ่งไม่ควรยกย่องเป็นนักบุญหรือลดทอนให้เป็นปีศาจ เนื่องจาก "เขาทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองและความเคารพนับถือจากนานาชาติมาสู่ประเทศของเขา"[271] พวกเขายังได้กล่าวถึงมรดกของเหมาว่า: "นักการเมืองชาวจีนผู้มากความสามารถ นักประวัติศาสตร์ กวี และนักปรัชญา ผู้นำเผด็จการผู้ทรงอำนาจและผู้จัดระเบียบที่มีพลัง นักการทูตผู้ชำนาญและนักสังคมนิยมอุดมคติ ประมุขแห่งรัฐที่มีประชากรมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นนักปฏิวัติผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผู้พยายามอย่างจริงใจที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและจิตสำนึกของผู้คนนับล้าน วีรบุรุษแห่งการปฏิวัติประชาชาติ และนักปฏิรูปสังคมผู้เลือดเย็น—นี่คือภาพของเหมาในประวัติศาสตร์ ขนาดของชีวิตเขานั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าจะสรุปเป็นความหมายเดียว" ซิดนีย์ ริตเทนเบิร์ก ล่ามแปลภาษาอังกฤษส่วนตัวของเหมา ได้เขียนไว้ในบันทึกความทรงจำของเขาว่า "แม้เหมาจะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์" แต่เขาก็เป็น "อาชญากรผู้ยิ่งใหญ่ด้วย ไม่ใช่ว่าเขาต้องการหรือตั้งใจ แต่ในความเป็นจริง จินตนาการอันป่าเถื่อนของเขาทำให้ผู้คนหลายสิบล้านคนต้องเสียชีวิต"[272]

เหมาทักทายประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐ ระหว่างการเยือนจีนของนิกสันในปี 1972

สหรัฐได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อจีน เนื่องจากการเข้าร่วมสงครามเกาหลีของจีน และมาตรการดังกล่าวได้ดำเนินมากระทั่งถึงสมัยของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ซึ่งได้ตัดสินใจว่าการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ[273] รายการโทรทัศน์ไบออกราฟีระบุว่า "[เหมา] เปลี่ยนจีนจากดินแดนศักดินาล้าหลังให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก... ระบอบการปกครองของจีนที่เขาปฏิวัติโค่นล้มนั้นล้าสมัยและฉ้อฉล แทบไม่มีใครแย้งได้ว่าเขาดึงจีนเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 แต่ต้องแลกมาด้วยชีวิตมนุษย์ที่มากมายมหาศาล"[267] ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ วาสเซอร์สตรอม ได้เปรียบเทียบความสัมพันธ์ของจีนที่มีต่อเหมากับความทรงจำของสหรัฐที่มีต่อแอนดรูว์ แจ็กสัน โดยทั้งสองประเทศต่างมองผู้นำของตนในแง่บวก แม้ว่าทั้งสองคนจะมีส่วนในการกำหนดนโยบายที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงก็ตาม แจ็กสันบังคับให้ชาวอเมริกันพื้นเมืองเดินทางผ่านเส้นทางธารน้ำตา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ขณะที่เหมากำลังเป็นผู้นำอยู่[274][b]

รูปปั้นเหมาที่ลี่เจียง

จอห์น คิง แฟร์แบงก์ ได้กล่าวไว้ว่า "ความจริงที่เรียบง่ายเกี่ยวกับอาชีพการงานของเหมาดูเหมือนจะน่าเหลือเชื่อ ในแผ่นดินอันกว้างใหญ่ที่มีประชากร 400 ล้านคน เขาได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเมื่ออายุ 28 ปี พร้อมด้วยสหายอีกเพียงโหล และภายในเวลา 50 ปี เขาสามารถคว้าอำนาจ จัดระเบียบ ปฏิรูปประชาชน และปรับเปลี่ยนแผ่นดิน ประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึกความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ อเล็กซานเดอร์ ซีซาร์ ชาร์เลอมาญ กษัตริย์ยุโรปทุกองค์ นโปเลียน บิสมาร์ค เลนิน ผู้นำในอดีตคนใดก็ไม่อาจเทียมกับขอบเขตความสำเร็จของเหมาได้ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกโบราณและยิ่งใหญ่เท่ากับจีน"[275] ในหนังสือ In China: A New History แฟร์แบงก์และโกลด์แมนได้ประเมินมรดกของเหมาไว้ว่า: "นักประวัติศาสตร์ในอนาคตอาจสรุปได้ว่าบทบาทของเหมาคือการพยายามทำลายความเหลื่อมล้ำอันยาวนานของจีนระหว่างชนชั้นปกครองที่มีการศึกษาจำนวนน้อย และประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนและไร้การศึกษา เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาประสบความสำเร็จในระดับใด เศรษฐกิจของจีนกำลังพัฒนา แต่เป็นภาระของผู้สืบทอดอำนาจในการสร้างโครงสร้างทางการเมืองใหม่"[276]

สจวร์ต อาร์. ชแรม กล่าวว่าเหมาเป็น "กบฏนิรันดร์ ผู้ปฏิเสธที่จะถูกผูกมัดด้วยกฎของพระเจ้าหรือมนุษย์ ธรรมชาติหรือลัทธิมากซ์ เขานำพาประชาชนของเขาเป็นเวลาสามทศวรรษในการแสวงหาวิสัยทัศน์อันสูงส่ง ซึ่งค่อย ๆ กลายเป็นภาพลวงตา และในที่สุดก็กลายเป็นฝันร้าย เขาเป็นเฟาสต์หรือโพรมีธีอุส ผู้พยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพื่อมวลมนุษยชาติ หรือเป็นทรราชผู้ทะเยอทะยานอย่างไม่ยั้งคิด เมาหมกอยู่กับอำนาจและความฉลาดของตนเอง?"[277] ชแรมยังกล่าวอีกว่า "ผมเห็นด้วยกับมุมมองของคนจีนในปัจจุบันที่ว่าคุณความดีของเหมามีมากกว่าข้อเสีย แต่การจะหาตัวเลขที่ชัดเจนมาวัดผลดีผลเสียของเขานั้นเป็นเรื่องยาก จะประเมินอย่างไรดีว่า บุญคุณที่ชาวนาหลายร้อยล้านคนได้รับที่ดินนั้นมีน้ำหนักมากกว่าการประหารชีวิตผู้คนนับล้านในระหว่างการปฏิรูปที่ดินและการปราบปรามขบวนการต่อต้านการปฏิวัติ หรือในเหตุการณ์อื่น ๆ ที่บางคนอาจสมควรตาย แต่บางคนก็ไม่สมควรอย่างแน่นอน? จะประเมินผลสำเร็จทางเศรษฐกิจในแผนพัฒนาห้าปีแรก หรือตลอดระยะเวลา 27 ปีที่เหมาเป็นผู้นำหลังปี 1949 อย่างไร ในเมื่อต้องเผชิญกับความอดอยากขาดอาหารอันเกิดจากความกระตือรือร้นที่ผิดพลาดของการก้าวกระโดดไกล หรือความวุ่นวายนองเลือดในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม?" เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า "อย่างไรก็ดี ในการวิเคราะห์ครั้งสุดท้าย ผมสนใจในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากความคิดของเขามากกว่าการส่งเหมาไปสวรรค์หรือยมโลกในฐานะคน ๆ หนึ่ง"[278]

มอริส ไมส์เนอร์ ได้ประเมินมรดกของเหมาไว้ว่า "รอยด่างในประวัติศาสตร์ของลัทธิเหมา โดยเฉพาะการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าและการปฏิวัติวัฒนธรรม จะถูกตราตรึงอยู่ในจิตสำนึกทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของเราอย่างลึกซึ้งที่สุดในปัจจุบัน เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่และก่อความสูญเสียต่อมนุษย์อย่างมหาศาล เราไม่อาจและไม่ควรลืมเลือน แต่ในอนาคต นักประวัติศาสตร์จะบันทึกยุคเหมาในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน (ไม่ว่าจะตัดสินอย่างไร) ว่าเป็นหนึ่งในยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และเป็นยุคที่นำมาซึ่งประโยชน์ทางสังคมและมนุษยแก่ชาวจีนอย่างมาก[279]

โลกที่สาม

[แก้]

ลัทธิเหมาได้ส่งอิทธิพลต่อคอมมิวนิสต์จำนวนมาก โดยเฉพาะในโลกที่สาม รวมถึงขบวนการปฏิวัติ เช่น เขมรแดงในกัมพูชา[280] ทางสว่างในเปรู และขบวนการปฏิวัติเนปาล ภายใต้อิทธิพลของลัทธิสังคมนิยมเกษตรกรรมและการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเหมา พล พตและเขมรแดงได้คิดค้นนโยบาย "ปีที่ศูนย์" ที่นำมาซึ่งหายนะ ซึ่งได้กวาดล้างครู ศิลปิน และปัญญาชนออกจากประเทศ และกวาดล้างเมืองต่าง ๆ จนเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา[281] พรรคคอมมิวนิสต์ปฏิวัติสหรัฐ ก็อ้างลัทธิมากซ์–เลนิน–เหมาเป็นอุดมการณ์ของตน เช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ทั่วโลกที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิวัติสากลนิยม หลังจากการอสัญกรรมของเหมา จีนได้ออกห่างจากแนวทางลัทธิเหมาอย่างชัดเจน และคนส่วนใหญ่ที่อยู่นอกประเทศจีนและเรียกตัวเองว่าเหมาอิสต์ต่างมองว่าการปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยวผิงเป็นการทรยศต่อลัทธิเหมา ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเหมาเองเกี่ยวกับ "ผู้เดินตามเส้นทางทุนนิยม" (capitalist roaders) ภายในพรรคคอมมิวนิสต์[282] เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจแบบตลาดในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 และผู้นำจีนรุ่นหลังเข้ามามีอำนาจ การยกย่องสรรเสริญเหมาก็ลดน้อยลงไป สิ่งนี้สอดคล้องกับการที่รัฐลดการให้ความสำคัญกับเหมาในช่วงหลังเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลจัดกิจกรรมและสัมมนาเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของเหมา กระนั้น รัฐบาลจีนก็ไม่เคยปฏิเสธยุทธวิธีของเหมาอย่างเป็นทางการ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้ซึ่งคัดค้านการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าและการปฏิวัติวัฒนธรรม ได้กล่าวไว้ว่า "เมื่อเราเขียนถึงความผิดพลาดของเขา เราไม่ควรพูดเกินจริง เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะทำให้ประธานเหมา เจ๋อตง เสียชื่อ และนั่นหมายถึงการทำให้พรรคและประเทศของเราเสียชื่อเช่นกัน"[283]

สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์บางประเภท ในเดือนกรกฎาคม 1963 ได้เพิ่มความกังวลของจีนต่อการปรับความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียตที่หันมาคุกคามจีน และเป็นแรงผลักดันให้เหมาเสนอแนวคิด "เขตกลางสองชั้น"[158]: 96–97  เหมามองว่าแอฟริกาและลาตินอเมริกาเป็น "เขตกลางแรก" ซึ่งสถานะของจีนในฐานะอำนาจที่ไม่ใช่คนผิวขาว อาจจะทำให้จีนสามารถแข่งขันและแทนที่อิทธิพลของทั้งสหรัฐและโซเวียตได้[158]: 48  เขตกลางอีกแห่งหนึ่งก็คือกลุ่มประเทศพันธมิตรที่ร่ำรวยกว่าของสหรัฐในยุโรป[158]: 97 

ยุทธศาสตร์การทหาร

[แก้]

งานเขียนทางทหารของเหมายังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อทั้งกลุ่มคนที่ต้องการก่อกบฏและกลุ่มคนที่ต้องการปราบปรามการกบฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทำสงครามกองโจร ซึ่งเหมาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นอัจฉริยะ[284] กลุ่มลัทธิเหมาเนปาลได้รับอิทธิพลอย่างมากจากมุมมองของเหมาเกี่ยวกับสงครามยืดเยื้อ ประชาธิปไตยใหม่ การสนับสนุนมวลชน ความถาวรของการปฏิวัติ และการปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ[285] ผลงานสำคัญที่สุดของเหมาต่อวิทยาศาสตร์การทหารคือทฤษฎีสงครามประชาชน ซึ่งไม่เพียงแต่รวมถึงการรบแบบกองโจรเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงกลยุทธ์การรบแบบเคลื่อนที่ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่า เหมาประยุกต์ใช้ยุทธวิธีสงครามเคลื่อนที่ในสงครามเกาหลีได้อย่างสำเร็จ ทำให้สามารถล้อมขนาบ ผลักดัน และหยุดกองกำลังสหประชาชาติในเกาหลีได้ แม้กองกำลังสหประชาชาติจะมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่าอย่างชัดเจน[286]

วรรณกรรม

[แก้]

บทกวีและงานเขียนของเหมามักถูกอ้างถึงโดยทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ การแปลสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีบารัก โอบามาเป็นภาษาจีนอย่างเป็นทางการได้นำเอาบทกวีที่มีชื่อเสียงบทหนึ่งของเหมามาใช้[287] ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 ภาพของเหมาเริ่มปรากฏบนธนบัตรเหรินหมินปี้ชุดใหม่ทั้งหมดของจีน การทำเช่นนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันการปลอมแปลง เนื่องมาจากใบหน้าของเหมาเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปเมื่อเทียบกับรูปภาพทั่วไปที่ปรากฏบนธนบัตรชุดเก่า ในวันที่ 13 มีนาคม 2006 หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป่าได้รายงานว่า สมาชิกคนหนึ่งของที่สภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีนได้เสนอให้มีการใส่รูปของซุน ยัตเซ็น และเติ้ง เสี่ยวผิง ลงในธนบัตรเหรินหมินปี้[288]

ภาพลักษณ์สาธารณะ

[แก้]

เหมาให้คำกล่าวที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการสร้างลัทธิบูชาบุคคล ในปี 1956 เพื่อตอบสนองต่อรายงานของครุชชอฟที่วิพากษ์วิจารณ์โจเซฟ สตาลิน เหมาได้กล่าวว่าลัทธิบูชาบุคคลเป็น "สิ่งที่หลงเหลือจากอุดมการณ์อันเป็นพิษของสังคมเก่า" และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของจีนที่มีต่อความเป็นผู้นำร่วมกัน[289] ในการประชุมพรรคที่เฉิงตูในปี 1958 เหมาได้แสดงการสนับสนุนลัทธิบูชาบุคคลของผู้ที่เขาเห็นว่าคู่ควรอย่างแท้จริง ไม่ใช่การบูชาแบบตาบอดหรือไร้เหตุผล[290]

ในปี 1962 เหมาได้เสนอขบวนการศึกษาสังคมนิยมเพื่อเป็นการอบรมชาวนาให้ต้านทานต่อสิ่งล่อใจจากระบอบศักดินาและรากเหง้าของทุนนิยมที่เขามองว่ากำลังผุดขึ้นมาใหม่ในชนบทอันเป็นผลมาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของหลิว[291] มีการผลิตและเผยแพร่งานศิลปะที่มีเนื้อหาทางการเมืองโดยมีเหมาเป็นศูนย์กลางจำนวนมาก โปสเตอร์ ตราสัญลักษณ์ และบทเพลงจำนวนมากมักกล่าวถึงเหมาในวลีที่ว่า "ประธานเหมาคือตะวันสีแดงในใจเรา" (毛主席是我們心中的紅太陽; Máo Zhǔxí Shì Wǒmen Xīnzhōng De Hóng Tàiyáng)[292] และ "ผู้ช่วยชีวิตปวงประชา" (人民的大救星; Rénmín De Dà Jiùxīng)[292]

ในเดือนตุลาคม 1966 คติพจน์จากประธานเหมา เจ๋อตง หรือที่รู้จักกันในชื่อหนังสือเล็กแดง ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ สมาชิกพรรคได้รับการส่งเสริมให้พกพาสำเนาติดตัวไปด้วย และการครอบครองหนังสือเล่มนี้แทบจะเป็นข้อบังคับสำหรับการเป็นสมาชิก ตามหนังสือ เหมา เจ๋อตง: เรื่องราวที่ไม่เคยเปิดเผย โดยจฺวิน หยาง การตีพิมพ์เผยแพร่และจำหน่ายหนังสือเล่มนี้อย่างแพร่หลายมีส่วนทำให้เหมากลายเป็นเศรษฐีคนเดียวในประเทศจีนในคริสต์ทศวรรษ 1950 (หน้า 332) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาพของเหมาถูกนำไปแสดงเกือบทุกที่ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน สำนักงาน หรือร้านค้า คติพจน์ของเขาได้รับการเน้นย้ำด้วยวิธีการพิมพ์ โดยการพิมพ์เป็นตัวหนาหรือตัวสีแดงแม้แต่ในงานเขียนที่คลุมเครือที่สุด ดนตรีในยุคนั้นเน้นย้ำถึงสถานะของเหมา เช่นเดียวกับเพลงกล่อมเด็ก วลีที่ว่า "ประธานเหมาจงเจริญอายุยืนหมื่นปี" เป็นที่ได้ยินกันทั่วไปในยุคนั้น[293]

นักท่องเที่ยวรอคิวเพื่อเข้าชมสุสานของเหมา เจ๋อตง

เหมายังคงปรากฏตัวอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก ซึ่งภาพของเขามักปรากฏอยู่บนสินค้าหลากหลายชนิดตั้งแต่เสื้อยืดไปจนถึงแก้วกาแฟ ข่ง ตงเหมย์ หลานสาวของเหมาได้ออกมาปกป้องปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยกล่าวว่า "มันแสดงถึงอิทธิพลของเขาที่มีอยู่ในจิตสำนึกของผู้คนและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนจีนหลายชั่วรุ่น เช่นเดียวกับเช เกบารา ที่เขาได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมการปฏิวัติ[272] ตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา มีผู้คนมากกว่า 40 ล้านคนเดินทางไปเยี่ยมชมบ้านเกิดของเหมาในเฉาชาน มณฑลหูหนาน[294]

การสำรวจของ YouGov ในปี 2016 พบว่าชาวอเมริกันรุ่นมิลเลนเนียลร้อยละ 42 ไม่เคยได้ยินชื่อของเหมามาก่อน[295][296] ผลสำรวจของ CIS ในปี 2019 พบว่ามีชาวออสเตรเลียที่เกิดในยุคมิลเลนเนียมเพียงร้อยละ 21 ที่รู้จักเหมา เจ๋อตง[297] ในคริสต์ทศวรรษ 2020 ของจีน คนรุ่น Z กำลังหันมาให้ความสนใจกับแนวคิดปฏิวัติของเหมา รวมถึงความรุนแรงต่อชนชั้นนายทุนท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และโอกาสทางเศรษฐกิจที่ลดน้อยลง[298] ณ ต้นคริสต์ทศวรรษ 2020 การสำรวจความคิดเห็นบนจีฮูมักจัดให้เหมาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์จีน[8]: 58 

วงศ์ตระกูล

[แก้]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]
เหมาและจาง ยฺวี่เฟิ่งในปี ค.ศ. 1964

ชีวิตส่วนตัวของเหมาถูกเก็บเป็นความลับอย่างมากในช่วงที่เขาครองอำนาจ ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา แพทย์ส่วนตัวของเขาคือ หลี่ จื้อสุย ได้ตีพิมพ์หนังสือบันทึกความทรงจำชื่อ The Private Life of Chairman Mao ซึ่งได้กล่าวถึงรายละเอียดบางประการในชีวิตส่วนตัวของเหมา อาทิ การสูบบุหรี่จัด การติดยานอนหลับที่มีฤทธิ์รุนแรง และการมีคู่นอนจำนวนมาก[299] นักวิชาการและบุคคลที่รู้จักเหมาเป็นการส่วนตัวบางส่วนได้โต้แย้งถึงความถูกต้องของบันทึกและลักษณะนิสัยเหล่านี้[300]

เนื่องจากเติบโตในมณฑลหูหนาน เหมาจึงพูดภาษาจีนกลางที่ออกสำเนียงหูหนานอย่างชัดเจน[301] รอส เทอร์ริล กล่าวว่า "เหมามีต้นกำเนิดมาจากชาวนา เป็นคนพื้น ๆ และเรียบง่าย คล้ายกับบุตรแห่งผืนดิน"[302] ขณะที่แคลร์ ฮอลลิงเวิร์ธ กล่าวว่า "เหมาภาคภูมิใจในความเป็นชาวนา มีกิริยาและมารยาทแบบชาวบ้าน มีสำเนียงหูหนานชัดเจน และมักแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องทางเพศในลักษณะตรงไปตรงมา"[301] ลี ไฟกอน กล่าวว่า "ความติดดินของเหมาทำให้เขาสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของชาวจีนได้"[303]

สจวร์ต อาร์. ชแรม นักจีนวิทยา ได้เน้นย้ำถึงความโหดร้ายของเหมา แต่ในขณะเดียวกันก็สังเกตเห็นว่าเหมาไม่ได้แสดงอาการยินดีในการทรมานหรือการฆ่าเพื่อการปฏิวัติเลย[304] ลี ไฟกอน มองว่าเหมาเป็นผู้นำที่โหดร้ายและเผด็จการเมื่อเผชิญกับภัยคุกคาม แต่มีความเห็นว่าเหมาไม่ได้เป็น "คนชั่วร้าย" ในระดับเดียวกับสตาลิน[305] อเล็กซานเดอร์ แพนต์ซอฟ และสตีเวน ไอ. เลวีน ได้ให้ความเห็นว่า "เหมาเป็นชายที่มีอารมณ์ซับซ้อน ผู้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะนำพาประเทศจีนให้มีความเจริญรุ่งเรืองและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยระบุว่าเหมาไม่ใช่ทั้งนักบุญและปีศาจ"[306] พวกเขากล่าวว่า ในช่วงวัยเยาว์ เหมามีความมุ่งมั่นที่จะเป็น "วีรบุรุษที่แข็งแกร่ง มีความตั้งใจแน่วแน่ และมีจุดมุ่งหมายชัดเจน ไม่ยึดติดกับพันธะทางศีลธรรมใด ๆ" และเขายัง "ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้รับชื่อเสียงและอำนาจ"[307]

เหมาศึกษาภาษาอังกฤษเป็นบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการสอนของนางจาง หันจือ ซึ่งเป็นทั้งครูสอนภาษาอังกฤษ ล่าม และนักการทูต ต่อมาได้สมรสกับเฉียว กวนหฺวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศจีนประจำสหประชาชาติ[308] ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในการพูดของเขาค่อนข้างจำกัด โดยสามารถพูดได้เพียงศัพท์ วลี และประโยคสั้น ๆ เท่านั้น

เหมาได้เลือกเรียนภาษาอังกฤษอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1950 ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะภาษาต่างประเทศที่สอนในโรงเรียนของจีนเป็นหลักในยุคนั้นคือภาษารัสเซีย[309]

งานเขียนและประดิษฐ์อักษร

[แก้]

การพรรณนาในสื่อ

[แก้]

เหมาได้รับการนำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์และโทรทัศน์หลานต่อหลายครั้ง นักแสดงที่โดดเด่นบางคน ได้แก่ ฮั่น ฉือ ซึ่งเป็นนักแสดงคนแรกที่รับบทเป็นเหมาในละครเรื่อง Dielianhua ปี 1978 และต่อมาอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Cross the Dadu River ปี 1980[310] กู่ ยฺเว่ ผู้ซึ่งเคยรับบทเป็นเหมาบนหน้าจอถึง 84 ครั้งตลอดอาชีพการงาน 27 ปีของเขา และได้รับรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลร้อยบุปผาในปี 1990 และ 1993 [311][312] หลิว เย่ ผู้ซึ่งรับบทเป็นเหมาในวัยเยาว์ในภาพยนตร์เรื่อง The Founding of a Party (2011)[313] ถัง กั๋วเฉียง ผู้ซึ่งรับบทเป็นเหมาบ่อยครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาในภาพยนตร์เรื่อง The Long March (1996) และ The Founding of a Republic (2009) และละครโทรทัศน์เรื่อง Huang Yanpei (2010) และอื่น ๆ[314] เหมาเป็นตัวละครหลักในอุปรากรเรื่อง Nixon in China (1987) ซึ่งประพันธ์โดยจอห์น แอดัมส์ นักประพันธ์เพลงชาวอเมริกัน บทเพลง "Revolution" ของวงเดอะบีเทิลส์ได้กล่าวถึงเหมาในท่อนที่ว่า "but if you go carrying pictures of Chairman Mao you ain't going to make it with anyone anyhow..." ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1972 จอห์น เลนนอน ได้แสดงความเสียใจที่ได้ใส่เนื้อร้องส่วนนี้ลงไปในเพลง[315][316]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Schram 1966, p. 19; Hollingworth 1985, p. 15; Pantsov & Levine 2012, p. 11.
  2. Schram 1966, pp. 19–20; Terrill 1980, pp. 4–5, 15; Feigon 2002, pp. 13–14; Pantsov & Levine 2012, pp. 13–.
  3. 3.0 3.1 Schram 1966, p. 20; Terrill 1980, p. 11; Pantsov & Levine 2012, pp. 14, 17.
  4. Schram 1966, pp. 20–21; Terrill 1980, p. 8; Pantsov & Levine 2012, pp. 15, 20
  5. Terrill 1980, p. 12; Feigon 2002, p. 23, Pantsov & Levine 2012, pp. 25–28
  6. Feigon 2002, p. 15 Terrill 1980, pp. 10–11
  7. Schram 1966, p. 23; Terrill 1980, pp. 12–13; Pantsov & Levine 2012, p. 21
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Marquis, Christopher; Qiao, Kunyuan (2022). Mao and Markets: The Communist Roots of Chinese Enterprise. New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0-300-26883-6. OCLC 1348572572.
  9. Schram 1966, p. 25; Terrill 1980, pp. 20–21; Pantsov & Levine 2012, p. 29
  10. Schram 1966, p. 22; Terrill 1980, p. 13; Pantsov & Levine 2012, pp. 17–18
  11. Terrill 1980, p. 14; Pantsov & Levine 2012, p. 18
  12. Schram 1966, p. 22; Feigon 2002, p. 15; Terrill 1980, p. 18; Pantsov & Levine 2012, p. 28
  13. Schram 1966, p. 26; Terrill 1980, p. 19; Pantsov & Levine 2012, pp. 28–30
  14. Schram 1966, p. 26; Terrill 1980, pp. 22–23; Pantsov & Levine 2012, p. 30
  15. Pantsov & Levine 2012, pp. 32–34
  16. Schram 1966, p. 27;Terrill 1980, p. 22; Pantsov & Levine 2012, p. 33
  17. Schram 1966, pp. 26–27; Terrill 1980, pp. 22–24; Pantsov & Levine 2012, p. 33
  18. Schram 1966, p. 26; Terrill 1980, p. 23; Pantsov & Levine 2012, p. 33
  19. Schram 1966, pp. 30–32; Pantsov & Levine 2012, pp. 32–35
  20. Schram 1966, p. 34; Pantsov & Levine 2012, pp. 34–35
  21. Schram 1966, pp. 34–35; Terrill 1980, pp. 23–24
  22. Schram 1966, pp. 35–36; Terrill 1980, pp. 22, 25; Pantsov & Levine 2012, p. 35.
  23. Schram 1966, p. 36; Terrill 1980, p. 26; Pantsov & Levine 2012, pp. 35–36.
  24. Pantsov & Levine 2012, pp. 36–37.
  25. Pantsov & Levine 2012, pp. 40–41.
  26. Pantsov & Levine 2012, p. 36.
  27. Schram 1966, pp. 36–37; Terrill 1980, p. 27; Pantsov & Levine 2012, p. 37.
  28. Schram 1966, pp. 38–39.
  29. Pantsov & Levine 2012, p. 43; see also Yu, Hsiao (1959). Mao Tse-Tung and I Were Beggars. Syracuse, N.Y.: Syracuse University Press.
  30. Schram 1966, pp. 42–43; Terrill 1980, p. 32; Pantsov & Levine 2012, p. 48.
  31. Schram 1966, p. 41; Terrill 1980, p. 32; Pantsov & Levine 2012, p. 42.
  32. Schram 1966, pp. 40–41; Terrill 1980, pp. 30–31.
  33. Schram 1966, p. 43; Terrill 1980, p. 32; Pantsov & Levine 2012, pp. 49–50.
  34. Pantsov & Levine 2012, pp. 49–50.
  35. Schram 1966, p. 44; Terrill 1980, p. 33; Pantsov & Levine 2012, pp. 50–52.
  36. Schram 1966, p. 45; Terrill 1980, p. 34; Pantsov & Levine 2012, p. 52.
  37. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, pp. 47, 56–57.
  38. Feigon 2002, p. 18; Pantsov & Levine 2012, p. 39.
  39. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, p. 59.
  40. Schram 1966, p. 47; Pantsov & Levine 2012, pp. 59–62.
  41. Schram 1966, pp. 48–49; Pantsov & Levine 2012, pp. 62–64.
  42. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, pp. 57–58.
  43. Schram 1966, p. 51; Pantsov & Levine 2012, pp. 53–55, 65.
  44. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, pp. 62, 66.
  45. Schram 1966, pp. 50–52; Pantsov & Levine 2012, p. 66.
  46. Pantsov & Levine 2012, pp. 66–67.
  47. Schram 1966, pp. 51–52; Feigon 2002, pp. 21–22; Pantsov & Levine 2012, pp. 69–70.
  48. Pantsov & Levine 2012, p. 68.
  49. Pantsov & Levine 2012, p. 76.
  50. Schram 1966, pp. 53–54; Pantsov & Levine 2012, pp. 71–76.
  51. Schram 1966, p. 55; Pantsov & Levine 2012, pp. 76–77.
  52. 52.0 52.1 Huang, Yibing (2020). An ideological history of the Communist Party of China. Vol. 1. Qian Zheng, Guoyou Wu, Xuemei Ding, Li Sun, Shelly Bryant. Montreal, Quebec: Royal Collins Publishing Group. p. 16. ISBN 978-1-4878-0425-1. OCLC 1165409653.
  53. Schram 1966, pp. 55–56; Pantsov & Levine 2012, p. 79.
  54. Pantsov & Levine 2012, p. 80.
  55. Pantsov & Levine 2012, p. 84.
  56. Schram 1966, pp. 56–57.
  57. 57.0 57.1 57.2 Mair, Victor H.; Sanping, Sanping; Wood, Frances (2013). Chinese Lives: The people who made a civilization. London: Thames & Hudson. p. 211. ISBN 978-0500251928.
  58. Schram 1966, p. 63; Feigon 2002, pp. 23, 28
  59. Schram 1966, pp. 63–64; Feigon 2002, pp. 23–24, 28, 30
  60. Schram 1966, pp. 64–66.
  61. 61.0 61.1 Schram 1966, p. 68.
  62. Schram 1966, pp. 68–69.
  63. Schram 1966, p. 69.
  64. Perry, Elizabeth J. (14 January 2013). "Anyuan: Mining China's Revolutionary Tradition". The Asia-Pacific Journal. 11 (1). ISBN 978-0520271890. reprinting Ch 2 of Elizabeth J. Perry. Anyuan: Mining China's Revolutionary Tradition. Berkeley: University of California Press, 2012.
  65. 65.0 65.1 Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. pp. 22–23. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
  66. Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. p. 23. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
  67. Schram 1966, pp. 69–70.
  68. Schram 1966, pp. 73–74; Feigon 2002, p. 33
  69. Schram 1966, pp. 74–76.
  70. Schram 1966, pp. 76–82.
  71. Schram 1966, p. 78.
  72. Wilbur, C. Martin; How, Julie Lien-ying (1989). Missionaries of Revolution: Soviet Advisers and Nationalist China, 1920–1927 (ภาษาอังกฤษ). Harvard University Press. ISBN 978-0674576520.
  73. Schram 1966, p. 83.
  74. Mao Zedong (1992), Schram, Stuart Reynolds; และคณะ (บ.ก.), National Revolution and Social Revolution, December 1920 – June 1927, Mao's Road to Power, Vol. II, M. E. Sharpe, p. 465.
  75. Liu Xiaoyuan (2004), Frontier Passages: Ethnopolitics and the Rise of Chinese Communism, 1921–1945, Stanford: Stanford University Press, p. 66, ISBN 978-0804749602 – โดยทาง Google Books
  76. Schram 1966, pp. 82, 90–91.
  77. Schram 1966, pp. 84, 89.
  78. Schram 1966, pp. 87, 92–93; Feigon 2002, p. 39
  79. Schram 1966, p. 95.
  80. 80.0 80.1 Feigon 2002, p. 42.
  81. Schram 1966, pp. 99–100.
  82. Schram 1966, p. 100.
  83. Schram 1966, p. 106; Carter 1976, pp. 61–62
  84. Schram 1966, pp. 106–109, 112–113.
  85. 85.0 85.1 85.2 Carter 1976, p. 62.
  86. 86.0 86.1 86.2 Carter 1976, p. 63.
  87. Carter 1976, p. 64; Schram 1966, pp. 122–125; Feigon 2002, pp. 46–47
  88. "Mao Zedong on War and Revolution". Quotations from Mao Zedong on War and Revolution. Columbia University. สืบค้นเมื่อ 12 November 2011.; Feigon 2002, p. 41
  89. Schram 1966, p. 125; Carter 1976, p. 68
  90. Schram 1966, p. 130; Carter 1976, pp. 67–68; Feigon 2002, p. 48
  91. Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. p. 36. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
  92. 92.0 92.1 Carter 1976, p. 69
  93. Schram 1966, pp. 126–127; Carter 1976, pp. 66–67
  94. 94.0 94.1 Carter 1976, p. 70
  95. Schram 1966, p. 159; Feigon 2002, p. 47
  96. Schram 1966, p. 131; Carter 1976, pp. 68–69
  97. Schram 1966, pp. 128, 132.
  98. Schram 1966, pp. 133–137; Carter 1976, pp. 70–71; Feigon 2002, p. 50
  99. "Memorial opened to commemorate Mao's 2nd wife". www.china.org.cn. 20 November 2007. สืบค้นเมื่อ 7 October 2021.
  100. Ni, Ching-ching (27 March 2007). Written at Beijing. "Death illuminates niche of Mao life". Los Angeles Times. Los Angeles, California. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 October 2020. สืบค้นเมื่อ 7 October 2021.
  101. Schram 1966, p. 138; Carter 1976, pp. 71–72
  102. Schram 1966, pp. 138, 141
  103. 103.0 103.1 Carter 1976, p. 72
  104. Schram 1966, p. 139.
  105. Schram 1966, pp. 146–149; Carter 1976, p. 75; Feigon 2002, p. 51
  106. Carter 1976, p. 75.
  107. Schram 1966, pp. 149–151.
  108. Schram 1966, p. 149.
  109. Feigon 2002, p. 50; Carter 1976, p. 75; Schram 1966, p. 153
  110. Schram 1966, p. 152; Carter 1976, p. 76; Feigon 2002, pp. 51–53
  111. Carter 1976, p. 77; Schram 1966, pp. 154–155; Feigon 2002, pp. 54–55
  112. Schram 1966, pp. 155–161
  113. 113.0 113.1 Carter 1976, p. 78
  114. Carter 1976, p. 77; Schram 1966, pp. 161–165; Feigon 2002, pp. 53–54
  115. Schram 1966, pp. 166–168; Feigon 2002, p. 55
  116. Schram 1966, pp. 175–177; Carter 1976, pp. 80–81; Feigon 2002, pp. 56–57
  117. Schram 1966, p. 180; Carter 1976, pp. 81–82; Feigon 2002, p. 57
  118. Feigon 2002, p. 57; Schram 1966, pp. 180–181; Carter 1976, p. 83
  119. Schram 1966, p. 181; Carter 1976, pp. 84–86; Feigon 2002, p. 58
  120. Schram 1966, p. 183; Carter 1976, pp. 86–87
  121. Schram 1966, pp. 184–186; Carter 1976, pp. 88–90; Feigon 2002, pp. 59–60
  122. Carter 1976, pp. 90–91.
  123. Schram 1966, p. 186; Carter 1976, pp. 91–92; Feigon 2002, p. 60
  124. Schram 1966, pp. 187–188; Carter 1976, pp. 92–93; Feigon 2002, p. 61
  125. Feigon 2002, p. 61; Schram 1966, p. 188; Carter 1976, p. 93
  126. Barnouin, Barbara; Yu, Changgen (2006). Zhou Enlai: A Political Life. Hong Kong: Chinese University of Hong Kong. p. 62. ISBN 9629962802. สืบค้นเมื่อ 12 March 2011 – โดยทาง Google Books.
  127. Cheek, T., บ.ก. (2002). Mao Zedong and China's Revolutions: A Brief History with Documents. New York: Palgrave Macmillan. p. 125. ISBN 978-0312256265. The phrase is often mistakenly said to have been delivered during the speech from the Gate of Heavenly Peace, but was first used on September 21, at the First Plenary Session of the Chinese People's Political Consultative Conference, then repeated on several occasions
  128. Westad, Odd Arne (1996). "Fighting for Friendship: Mao, Stalin, and the Sino-Soviet Treaty of 1950". Cold War International History Project Bulletin. 8 (9): 224–236.
  129. North, Robert C. (1950). "The Sino-Soviet Agreements of 1950". Far Eastern Survey. 19 (13): 125–130. doi:10.2307/3024085. ISSN 0362-8949. JSTOR 3024085.
  130. 130.0 130.1 130.2 Cai, Xiang; 蔡翔 (2016). Revolution and its narratives: China's socialist literary and cultural imaginaries (1949-1966). Rebecca E. Karl, Xueping Zhong, 钟雪萍. Durham: Duke University Press. pp. 100. ISBN 978-0-8223-7461-9. OCLC 932368688.
  131. "180,000 Chinese soldiers killed in Korean War". china.org.cn. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  132. Burkitt, Laurie; Scobell, Andrew; Wortzel, Larry M. (2003). The lessons of history: The Chinese people's Liberation Army at 75 (PDF). Strategic Studies Institute. pp. 340–341. ISBN 978-1584871262. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 5 February 2012. สืบค้นเมื่อ 14 July 2009.
  133. Short 2001, pp. 436–437.
  134. Scheidel, Walter (2017). The Great Leveler: Violence and the History of Inequality from the Stone Age to the Twenty-First Century. Princeton University Press. p. 226. ISBN 978-0691165028. In Zhangzhuangcun, in the more thoroughly reformed north of the country, most "landlords" and "rich peasants" had lost all their land and often their lives or had fled. All formerly landless workers had received land, which eliminated this category altogether. As a result, "middling peasants," who now accounted for 90 percent of the village population, owned 90.8 percent of the land, as close to perfect equality as one could possibly hope for.
  135. 135.0 135.1 135.2 Kuisong 2008.
  136. Mosher, Steven W. (1992). China Misperceived: American Illusions and Chinese Reality. Basic Books. pp. 72–73. ISBN 0465098134.
  137. Shalom, Stephen Rosskamm (1984). Deaths in China Due to Communism. Center for Asian Studies Arizona State University. p. 24. ISBN 0939252112.
  138. Spence 1999[ต้องการเลขหน้า]. Mao got this number from a report submitted by Xu Zirong, Deputy Public Security Minister, which stated 712,000 counter-revolutionaries were executed, 1,290,000 were imprisoned, and another 1,200,000 were "subjected to control.": see Kuisong 2008.
  139. 139.0 139.1 Twitchett, Denis; Fairbank, John K.; MacFarquhar, Roderick (1987). The Cambridge history of China. Cambridge University Press. ISBN 978-0521243360. สืบค้นเมื่อ 23 August 2008 – โดยทาง Google Books.
  140. Meisner, Maurice (1999). Mao's China and After: A History of the People's Republic (Third ed.). Free Press. p. 72. ISBN 0684856352. ... the estimate of many relatively impartial observers that there were 2,000,000 people executed during the first three years of the People's Republic is probably as accurate a guess as one can make on the basis of scanty information.
  141. Mosher, Steven W. (1992). China Misperceived: American Illusions and Chinese Reality. Basic Books. p. 74. ISBN 0465098134. ... a figure that Fairbank has cited as the upper range of 'sober' estimates.
  142. Feigon 2002, p. 96: "By 1952 they had extended land reform throughout the countryside, but in the process somewhere between two and five million landlords had been killed."
  143. Short 2001, p. 436.
  144. 144.0 144.1 Valentino 2004, pp. 121–122.
  145. Changyu, Li. "Mao's "Killing Quotas." Human Rights in China (HRIC). September 26, 2005, at Shandong University" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 29 July 2009. สืบค้นเมื่อ 21 June 2009.
  146. Brown, Jeremy. "Terrible Honeymoon: Struggling with the Problem of Terror in Early 1950s China". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 June 2009.
  147. 147.0 147.1 Bottelier, Pieter (2018). Economic Policy Making In China (1949–2016): The Role of Economists (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 131. ISBN 978-1351393812 – โดยทาง Google Books. We should remember, however, that Mao also did wonderful things for China; apart from reuniting the country, he restored a sense of natural pride, greatly improved women's rights, basic healthcare and primary education, ended opium abuse, simplified Chinese characters, developed pinyin and promoted its use for teaching purposes.
  148. 148.0 148.1 McCoy, Alfred W. "Opium History, 1858 to 1940". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 April 2007. สืบค้นเมื่อ 4 May 2007.
  149. Fairbank, John; Goldman, Merle (2002). China: A New History. Cambridge, MA: The Belknap Press of Harvard University Press. p. 349.
  150. "High Tide of Terror". Time. 5 March 1956. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 March 2008. สืบค้นเมื่อ 11 May 2009.
  151. "China – Economic policies". Encyclopedia Britannica. 1998.
  152. Doing Business in the People's Republic of China. Price, Waterhouse. 1994. p. 3 – โดยทาง Google Books. At the same time, agriculture was organized on a collective basis (socialist cooperatives), as were industry and trade.
  153. "China – The transition to socialism, 1953–57". Encyclopedia Britannica. 1998.
  154. Teszar, David Tibor (October 2015). "The Hungarian Connection: the 1956 Hungarian Revolution and its Impact on Mao Zedong's Domestic Policies in the late 1950s" (PDF). Global Politics Review. 1 (1): 18–34.
  155. Vidal, Christine (2016). "The 1957–1958 Anti-Rightist Campaign in China: History and Memory (1978–2014)". Hal-SHS.
  156. MacFarquhar, Roderick (13 January 1997). The Politics of China: The Eras of Mao and Deng. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-58863-8 – โดยทาง Google Books.
  157. Li 1994, pp. 198, 200, 468–469
  158. 158.0 158.1 158.2 158.3 Crean, Jeffrey (2024). The Fear of Chinese Power: an International History. New Approaches to International History series. London, UK: Bloomsbury Academic. ISBN 978-1-350-23394-2.
  159. Jin, Keyu (2023). The New China Playbook: Beyond Socialism and Capitalism. New York: Viking. ISBN 978-1-9848-7828-1.
  160. Hsu, Elisabeth (2006). "Reflections on the 'discovery' of the antimalarial qinghao". British Journal of Clinical Pharmacology. 61 (6): 666–670. doi:10.1111/j.1365-2125.2006.02673.x. PMC 1885105. PMID 16722826.
  161. Senthilingam, Meera. "Chemistry in its element: compounds: Artemisinin". Chemistry World. Royal Society of Chemistry. สืบค้นเมื่อ 27 April 2015.
  162. 162.0 162.1 Hao, Cindy (29 September 2011). "Lasker Award Rekindles Debate Over Artemisinin's Discovery". Science. สืบค้นเมื่อ 23 July 2020.
  163. Tu, Youyou (2011). "The discovery of artemisinin (qinghaosu) and gifts from Chinese medicine". Nature Medicine. 17 (10): 1217–1220. doi:10.1038/nm.2471. PMID 21989013. S2CID 10021463.
  164. King, Gilbert. "The Silence that Preceded China's Great Leap into Famine". Smithsonian. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  165. Slatyer, Will (20 February 2015). The Life/Death Rhythms of Capitalist Regimes - Debt Before Dishonour: Timetable of World Dominance 1400-2100 (ภาษาอังกฤษ). Partridge Publishing Singapore. p. 509. ISBN 978-1-4828-2961-7 – โดยทาง Google Books.
  166. 166.0 166.1 Spence 1999[ต้องการเลขหน้า]
  167. Yushi, Mao (22 September 2014). "Lessons from China's Great Famine". The Cato Journal. 34 (3): 483–491. แม่แบบ:Gale.
  168. Smil, V. (18 December 1999). "China's great famine: 40 years later". BMJ. 319 (7225): 1619–1621. doi:10.1136/bmj.319.7225.1619. PMC 1127087. PMID 10600969.
  169. Thomas P., Bernstein (June 2006). "Mao Zedong and the Famine of 1959–1960: A Study in Wilfulness". The China Quarterly. 186 (186): 421–445. doi:10.1017/S0305741006000221. JSTOR 20192620. S2CID 153728069.
  170. 170.0 170.1 Becker 1998, p. 81 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBecker1998 (help)
  171. Becker 1998, p. 86. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBecker1998 (help)
  172. Becker 1998, p. 93. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBecker1998 (help)
  173. Li 1994, pp. 283–284, 295.
  174. Li 1994, p. 340.
  175. 175.0 175.1 Li, Xiaobing; Tian, Xiansheng (2013). Evolution of Power: China's Struggle, Survival, and Success (ภาษาอังกฤษ). Lexington Books. p. 41. ISBN 978-0739184981 – โดยทาง Google Books.
  176. "Three Chinese Leaders: Mao Zedong, Zhou Enlai, and Deng Xiaoping". Columbia University. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 December 2013. สืบค้นเมื่อ 22 April 2020.
  177. Valentino 2004, p. 128.
  178. Becker, K. (1998), "Schlankheitsmittel", Leitfaden der Ernährungsmedizin, Springer Berlin Heidelberg, pp. 97–103, ISBN 978-3-642-80339-0, สืบค้นเมื่อ 2024-07-15
  179. People's Republic of China Yearbook (ภาษาอังกฤษ). Vol. 29. Xinhua Publishing House. 2009. p. 340 – โดยทาง Google Books. Industrial output value had doubled; the gross value of agricultural products increased by 35 percent; steel production in 1962 was between 10.6 million tons or 12 million tons; investment in capital construction rose to 40 percent from 35 percent in the First Five-Year Plan period; the investment in capital construction was doubled; and the average income of workers and farmers increased by up to 30 percent.
  180. 180.0 180.1 180.2 Chang & Halliday 2005, pp. 568, 579
  181. Tibbetts, Jann (2016). 50 Great Military Leaders of All Time (ภาษาอังกฤษ). Vij Books India Pvt Ltd. ISBN 978-9385505669 – โดยทาง Google Books.
  182. Becker 1998, pp. 92–93. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBecker1998 (help)
  183. Valentino 2004, p. 127.
  184. 184.0 184.1 O'Neill, Mark (6 July 2008). "A hunger for the truth: A new book, banned on the mainland, is becoming the definitive account of the Great Famine". South China Morning Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 February 2012.
  185. Larin, Alexander V.; Meurice, Nathalie; Leherte, Laurence; Rajzmann, Michel; Vercauteren, Daniel P.; Trubnikov, Dmitrii N. (2001), "Theoretical Analysis of Hydrolysis of Sulfur Fluorides SFn (n = 3 - 6) in the Gas Phase", Gaseous Dielectrics IX, Springer US, pp. 425–430, ISBN 978-1-4613-5143-6, สืบค้นเมื่อ 2024-07-15
  186. Akbar, Arifa (17 September 2010). "Mao's Great Leap Forward 'killed 45 million in four years'". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 20 September 2010.; Dikötter 2010, p. 333
  187. Bramall, Chris (December 2011). "Agency and Famine in China's Sichuan Province, 1958–1962" (PDF). The China Quarterly. 208: 990–1008. doi:10.1017/s030574101100110x. ISSN 0305-7410. S2CID 56200410.
  188. Wemheuer, Felix; Dikötter, Frank (July 2011). "Sites of Horror: Mao's Great Famine [with Response] Mao's Great Famine: The History of China's Most Devastating Catastrophe, 1958–1962. Frank Dikötter". The China Journal. 66: 155–164. doi:10.1086/tcj.66.41262812. ISSN 1324-9347. S2CID 141874259.
  189. 189.0 189.1 "Source List and Detailed Death Tolls for the Twentieth Century Hemoclysm". Historical Atlas of the Twentieth Century. สืบค้นเมื่อ 23 August 2008.
  190. Scalapino, Robert A. (1964). "Sino-Soviet Competition in Africa". Foreign Affairs. 42 (4): 640–654. doi:10.2307/20029719. JSTOR 20029719.
  191. Lüthi, Lorenz M. (2010). The Sino-Soviet Split: Cold War in the Communist World. Princeton University Press. p. 1. ISBN 978-1400837625 – โดยทาง Google Books.
  192. Becker, Jasper (2002). The Chinese. Oxford University Press. p. 271. ISBN 978-0199727223 – โดยทาง Google Books.
  193. Garver, John W. (2016). China's Quest: The History of the Foreign Relations of the People's Republic of China (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. p. 132. ISBN 978-0190261054 – โดยทาง Google Books.
  194. 194.0 194.1 Hammond, Ken (2023). China's Revolution and the Quest for a Socialist Future. New York, NY: 1804 Books. ISBN 9781736850084.
  195. Li, Mingjiang (27 October 2010). "Ideological dilemma: Mao's China and the Sino-Soviet split, 1962–63". Cold War History. 11 (3): 387–419. doi:10.1080/14682745.2010.498822. S2CID 153617754. สืบค้นเมื่อ 12 February 2023.
  196. 196.00 196.01 196.02 196.03 196.04 196.05 196.06 196.07 196.08 196.09 Meyskens, Covell F. (2020). Mao's Third Front: The Militarization of Cold War China. Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press. doi:10.1017/9781108784788. ISBN 978-1-108-78478-8. OCLC 1145096137. S2CID 218936313.
  197. 197.0 197.1 Hou, Li (2021). Building for oil: Daqing and the Formation of the Chinese Socialist State. Harvard-Yenching Institute monograph series. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Asia Center. ISBN 978-0-674-26022-1.
  198. 198.0 198.1 Marquis, Christopher; Qiao, Kunyuan (2022). Mao and Markets: The Communist Roots of Chinese Enterprise. New Haven: Yale University Press. doi:10.2307/j.ctv3006z6k. ISBN 978-0-300-26883-6. JSTOR j.ctv3006z6k. OCLC 1348572572. S2CID 253067190.
  199. Feigon 2002, p. 140.
  200. For a full treatment of this idea, see Gao 2008
  201. Jonathan Mirsky. Livelihood Issues. เก็บถาวร 6 กันยายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Literary Review
  202. Vasilogambros, Matt (16 May 2016). "The Cultural Revolution's Legacy in China". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  203. "Debating the Cultural Revolution in China". Reviews in History. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  204. Pye, Lucian W. (1986). "Reassessing the Cultural Revolution". The China Quarterly. 108 (108): 597–612. doi:10.1017/S0305741000037085. ISSN 0305-7410. JSTOR 653530. S2CID 153730706.
  205. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 110.
  206. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 125.
  207. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 124.
  208. Ion Mihai Pacepa (28 November 2006). "The Kremlin's Killing Ways". National Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 August 2007. สืบค้นเมื่อ 23 August 2008.
  209. Great Proletarian Cultural Revolution lasting until 1976:
  210. "Resolution on Certain Questions in the History of Our Party Since the Founding of the People's Republic of China", (Adopted by the Sixth Plenary Session of the Eleventh Central Committee of the Communist Party of China on 27 June 1981) Resolution on CPC History (1949–81). (Beijing: Foreign Languages Press, 1981). p. 32.
  211. Chirot 1996, p. 198.
  212. Ravallion, Martin (25 January 2021). "Poverty in China since 1950: A Counterfactual Perspective". National Bureau of Economic Research. Working Paper Series (ภาษาอังกฤษ). doi:10.3386/w28370. S2CID 234005582.
  213. Meisner, Maurice (1999). Mao's China and After: A History of the People's Republic (3rd ed.). Free Press. p. 354. ISBN 978-0684856353 – โดยทาง Google Books.
  214. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 262.
  215. Daniel Leese, "Mao the Man and Mao the Icon" in Cheek, Timothy, บ.ก. (2010). A Critical Introduction to Mao. Cambridge University Press. p. 233. ISBN 978-1139789042 – โดยทาง Google Books.
  216. Лев Котюков. Забытый поэт. เก็บถาวร 28 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  217. Park, Kyung-Ae; Snyder, Scott (2012). North Korea in Transition: Politics, Economy, and Society. Rowman & Littlefield Publishers. p. 214. ISBN 978-1442218130.
  218. Heavy smoker:
  219. "The Kissenger Transcripts: Notes and Excerpts". nsarchive.gwu.edu. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  220. Parkinson's disease:
  221. 221.0 221.1 "Mao Tse-Tung Dies In Peking At 82; Leader Of Red China Revolution; Choice Of Successor Is Uncertain". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 25 October 2014.
  222. Amyotrophic lateral sclerosis:
  223. Chang & Halliday 2005.
  224. 224.0 224.1 224.2 Quigley, Christine (1998). Modern Mummies: The Preservation of the Human Body in the Twentieth Century (illustrated, reprint ed.). McFarland. pp. 40–42. ISBN 978-0786428519. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015 – โดยทาง Google Books.
  225. "Chinese bid Mao sad farewell". UPI (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
  226. James, S. L. "China: Communist History Through Film". Internet Archive. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  227. "1976: Chairman Mao Zedong dies". BBC News. 9 September 1976. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  228. "Chinese Bid Farewell to Nation's Leader". Florence Times + Tri-Cities Daily. United Press International. 18 September 1976. สืบค้นเมื่อ 8 October 2015.
  229. Lu, Xing (2017). The Rhetoric of Mao Zedong: Transforming China and Its People (ภาษาอังกฤษ). University of South Carolina Press. p. 50. ISBN 978-1611177534 – โดยทาง Google Books. In 1956 Mao signed a proposal for cremation along with 151 other high-ranking officials. According to hearsay, Mao wrote in his will that he wanted to be cremated after his death. Ironically his successors decided to keep his dead body on display for the nation to pay its respects.
  230. 230.0 230.1 Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the Twentieth-Century World: a Concise History. Asia-Pacific series. Durham, NC: Duke University Press. doi:10.2307/j.ctv11hpp6w. ISBN 978-0-8223-4780-4. JSTOR j.ctv11hpp6w.
  231. 231.0 231.1 Meisner, Maurice J. (1999). Mao's China and After: a History of the People's Republic (3rd ed.). New York, NY: Free Press. ISBN 978-0-684-85635-3.
  232. Webley, Kayla (4 February 2011). "Top 25 Political Icons". Time.
  233. "Mao Zedong". The Oxford Companion to Politics of the World. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 March 2006. สืบค้นเมื่อ 23 August 2008.
  234. Short 2001, p. 630 "Mao had an extraordinary mix of talents: he was visionary, statesman, political and military strategist of cunning intellect, a philosopher and poet."
  235. "Chinese Leader Mao Zedong / Part I". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 July 2015. สืบค้นเมื่อ 2 April 2015.
  236. Pantsov, Alexander V.; Levine, Steven I. (2013). Mao: The Real Story. Simon & Schuster. p. 574. ISBN 978-1451654486.
  237. 237.0 237.1 Galtung, Marte Kjær; Stenslie, Stig (2014). 49 Myths about China. Rowman & Littlefield. p. 189. ISBN 978-1442236226 – โดยทาง Google Books.
  238. 238.0 238.1 Babiarz, Kimberly Singer; Eggleston, Karen; และคณะ (2015). "An exploration of China's mortality decline under Mao: A provincial analysis, 1950–80". Population Studies. 69 (1): 39–56. doi:10.1080/00324728.2014.972432. PMC 4331212. PMID 25495509. China's growth in life expectancy at birth from 35–40 years in 1949 to 65.5 years in 1980 is among the most rapid sustained increases in documented global history.
  239. "Mao's achievements 'outweigh' mistakes: poll". Al Jazeera. 23 December 2013.
  240. 240.0 240.1 240.2 Fenby, J. (2008). Modern China: The Fall and Rise of a Great Power, 1850 to the Present. Ecco Press. p. 351. ISBN 978-0061661167. Mao's responsibility for the extinction of anywhere from 40 to 70 million lives brands him as a mass killer greater than Hitler or Stalin, his indifference to the suffering and the loss of humans breathtaking
  241. Evangelista, Matthew (2005). Peace Studies: Critical Concepts in Political Science (ภาษาอังกฤษ). Taylor & Francis. p. 96. ISBN 978-0-415-33923-0. It resulted in an estimate of as many as 80 million deaths resulting from Chinese government policies under Mao Zedong between 1950 and 1976.
  242. Strauss, Valerie; Southerl, Daniel (17 July 1994). "How Many Died? New Evidence Suggest Far Higher Numbers for the Victims of Mao Zedong's Era". The Washington Post. ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  243. 243.0 243.1 Short 2001, p. 631.
  244. Short 2001, p. 631–632.
  245. 245.0 245.1 245.2 245.3 Short 2001, p. 632.
  246. "The Cultural Revolution and the History of Totalitarianism". Time. สืบค้นเมื่อ 14 December 2020.
  247. Johnson, Ian (5 February 2018). "Who Killed More: Hitler, Stalin, or Mao?". The New York Review of Books (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 February 2018. สืบค้นเมื่อ 18 July 2020.
  248. Fenby, Jonathan (2008). Modern China: The Fall and Rise of a Great Power, 1850 to the Present. Penguin Group. p. 351. ISBN 978-0061661167.
  249. Schram, Stuart (March 2007). "Mao: The Unknown Story". The China Quarterly (189): 205. doi:10.1017/s030574100600107x. S2CID 154814055.
  250. Evangelista, Matthew A. (2005). Peace Studies: Critical Concepts in Political Science (ภาษาอังกฤษ). Taylor & Francis. p. 96. ISBN 978-0415339230 – โดยทาง Google Books.
  251. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 471: "Together with Joseph Stalin and Adolf Hitler, Mao appears destined to go down in history as one of the great tyrants of the twentieth century"
  252. 252.0 252.1 252.2 Lynch, Michael (2004). Mao. Routledge Historical Biographies. Routledge. p. 230.
  253. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 428.
  254. Mao Zedong sixiang wan sui! (1969), p. 195. Referenced in Lieberthal, Kenneth (2003). Governing China: From Revolution to Reform (Second ed.). W. W. Norton & Company. p. 71. ISBN 0393924920.
  255. Zedong, Mao. "Speeches At The Second Session Of The Eighth Party Congress". Marxists Internet Archive. สืบค้นเมื่อ 28 June 2016.
  256. Attane, Isabelle (2002). "China's Family Planning Policy: An Overview of Its Past and Future". Studies in Family Planning. 33 (1): 103–113. doi:10.1111/j.1728-4465.2002.00103.x. ISSN 0039-3665. JSTOR 2696336. PMID 11974414.
  257. Wu, J. (1994). "Population and family planning in China". Verhandelingen – Koninklijke Academie voor Geneeskunde van Belgie. 56 (5): 383–400, discussion 401–402. ISSN 0302-6469. PMID 7892742.
  258. Lovell, Julia (16 March 2019). "Maoism marches on: the revolutionary idea that still shapes the world". The Guardian. ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 20 January 2020.
  259. 259.0 259.1 Gao 2008, p. 81.
  260. Ebrey, Patricia Buckley (2010). The Cambridge Illustrated History of China. Cambridge University Press. p. 327. ISBN 978-0521124331 – โดยทาง Google Books.
  261. "China 'fires' editors over criticism of Mao, detains leftist activist". Refworld. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  262. Tatlow, Didi Kirsten (5 May 2011). "Mao's Legacy Still Divides China". The New York Times. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  263. "Everyone is a victim of Mao, but no one dares to say it, says TV host in China, draws ire". Firstpost. 10 April 2015. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  264. "Chinese TV Anchor To Be Punished For Mao Jibe". Sky News. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  265. 265.0 265.1 Ding, Iza; Javed, Jeffrey (26 May 2019). "Why Maoism still resonates in China today". The Washington Post.
  266. "Chairman Mao square opened on his 115th birth anniversary". China Daily. 25 December 2008. สืบค้นเมื่อ 2 January 2013.; "Mao Zedong still draws crowds on 113th birth anniversary". People's Daily. 27 December 2006. สืบค้นเมื่อ 2 January 2013.
  267. 267.0 267.1 267.2 Biography (TV series) Mao Tse Tung: China's Peasant Emperor A&E Network 2005, ASIN B000AABKXG แม่แบบ:Time needed
  268. Watts, Jonathan (1 June 2005). "China must confront dark past, says Mao confidant". The Guardian (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 September 2018. สืบค้นเมื่อ 13 August 2021.
  269. "Big bad wolf". The Economist. 31 August 2006. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  270. "Deng: Cleaning up Mao's mistakes". The Washington Post. 1980. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 August 2019. สืบค้นเมื่อ 20 November 2021.
  271. Pantsov, Alexander V.; Levine, Steven I. (2013). Mao: The Real Story. Simon & Schuster. pp. 5–6. ISBN 978-1451654486.
  272. 272.0 272.1 Granddaughter Keeps Mao's Memory Alive in Bookshop เก็บถาวร 4 มกราคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Maxim Duncan, Reuters, 28 September 2009
  273. Chen, Xin-zhu J. (2006). "China and the US Trade Embargo, 1950–1972". American Journal of Chinese Studies. 13 (2): 169–186. ISSN 2166-0042. JSTOR 44288827.
  274. 274.0 274.1 "Some China Book Notes". Matt Schiavenza.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 February 2015. สืบค้นเมื่อ 8 February 2015.
  275. Fairbank, John King (1983). The United States and China (4th Revised and Enlarged ed.). Harvard University Press. ISBN 9780674036642.
  276. Fairbank, John King; Goldman, Merle (2006). China: a new history (2nd enlarged ed.). Cambridge (Mass.): Belknap Press of Harvard University Press. ISBN 0-674-01828-1.
  277. Schram, Stuart R. (1989). The thought of Mao Tse-Tung. Cambridge [Cambridgeshire]: Cambridge University Press. ISBN 978-0521310628.
  278. MacFarquhar, Roderick (December 2012). "Stuart Reynolds Schram, 1924–2012". China Quarterly. 212 (212): 1099–1122. doi:10.1017/S0305741012001518.
  279. Meisner, Maurice J. (1999). Mao's China and after: a history of the People's Republic (3. ed.). New York, NY: Free Press. ISBN 0684856352.
  280. Alexander, Robert Jackson (1999). International Maoism in the developing world. Praeger. p. 200.; Jackson, Karl D. (1992). Cambodia, 1975–1978: Rendezvous with Death. Princeton University Press. p. 219. ISBN 978-0691025414 – โดยทาง Google Books.
  281. Biography (TV series): Pol Pot; A&E Network, 2003.
  282. Clissold, Tim (2014). Chinese Rules: Mao's Dog, Deng's Cat, and Five Timeless Lessons from the Front Lines in China. NY: Harper. ISBN 978-0062316578.
  283. Dirlik, Arif (4 June 2012). "Mao Zedong in Contemporary Chinese Official Discourse and History". China Perspectives (ภาษาอังกฤษ). 2012 (2): 17–27. doi:10.4000/chinaperspectives.5852. ISSN 2070-3449.
  284. Ghandhi, R.K.S. (1965). "Mao Tse-tung: His Military Writings and Philosophy". Naval War College Review. 17 (7): 1–27. ISSN 0028-1484. JSTOR 44635448.
  285. Upreti, Bhuwan Chandra (2008). Maoists in Nepal: From Insurgency to Political Mainstream (ภาษาอังกฤษ). Gyan Publishing House. p. 56. ISBN 978-8178356877 – โดยทาง Google Books.
  286. "Zhang, Mao's Military Romanticism: China and the Korean War, 1950-1953, 1995 | US-China Institute". china.usc.edu (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 19 May 2023.
  287. "Àobāmǎ jiùzhí yǎnshuō yǐn máozédōng shīcí" 奧巴馬就職演說 引毛澤東詩詞 [Obama Inaugural Speech Quotes Mao Zedong's Poetry]. People's Daily (ภาษาจีน). 22 January 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 August 2009. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  288. "Portraits of Sun Yat-sen, Deng Xiaoping proposed adding to RMB notes". People's Daily. 13 March 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2016. สืบค้นเมื่อ 23 August 2008.
  289. Meisner, Maurice (2007). Mao Zedong: A Political and Intellectual Portrait. Polity. p. 133.
  290. "Cult of Mao". library.thinkquest.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 June 2008. สืบค้นเมื่อ 23 August 2008. This remark of Mao seems to have elements of truth but it is false. He confuses the worship of truth with a personality cult, despite there being an essential difference between them. But this remark played a role in helping to promote the personality cult that gradually arose in the CCP.
  291. "Stefan Landsberger, Paint it Red. Fifty years of Chinese Propaganda Posters". chineseposters.net. สืบค้นเมื่อ 7 November 2017.
  292. 292.0 292.1 Chapter 5: "Mao Badges – Visual Imagery and Inscriptions" in: Helen Wang: Chairman Mao badges: symbols and Slogans of the Cultural Revolution (British Museum Research Publication 169). The Trustees of the British Museum, 2008. ISBN 978-0861591695.
  293. Lu, Xing (2004). Rhetoric of the Chinese Cultural Revolution: the impact on Chinese thought, Culture, and Communication. University of South Carolina Press. p. 65. ISBN 978-1570035432 – โดยทาง Google Books.
  294. "Sháoshān shēng qǐ yǒngyuǎn bù luò de hóng tàiyáng" 韶山升起永远不落的红太阳 [The red sun that never sets rises in Shaoshan] (ภาษาจีน). Shaoshan.gov.cn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 November 2014. สืบค้นเมื่อ 25 October 2014.
  295. "Poll: Millennials desperately need to bone up on the history of communism". MarketWatch. 21 October 2016.
  296. "Poll Finds Young Americans More Open to Socialist Ideas". VOA News. 23 October 2016.
  297. Switzer, Tom (23 February 2019). "Opinion: Why Millennials are embracing socialism". The Sydney Morning Herald.
  298. Yuan, Li (8 July 2021). "'Who Are Our Enemies?' China's Bitter Youths Embrace Mao". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 8 July 2021.
  299. Li, 1994.
  300. DeBorga and Dong 1996. p. 4.
  301. 301.0 301.1 Hollingworth 1985, pp. 29–30.
  302. Terrill 1980, p. 19.
  303. Feigon 2002, p. 26.
  304. Schram 1966, p. 153.
  305. Feigon 2002, p. 53.
  306. Pantsov & Levine 2012, pp. 5–6.
  307. Pantsov & Levine 2012, pp. 42, 66.
  308. Barboza, David (29 January 2008). "Zhang Hanzhi, Mao's English Tutor, Dies at 72". The New York Times.
  309. "Jiēmì máozédōng wèishéme xué yīngyǔ:"Zhè shì dòuzhēng de xūyào"" 揭秘毛泽东为什么学英语:"这是斗争的需要" [Demystifying why Mao Zedong learned English: "This is the need of struggle"]. People's Daily (ภาษาChinese (China)). 9 July 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 January 2018. สืบค้นเมื่อ 12 January 2018.
  310. "Being Mao Zedong". Global Times. 4 July 2011. สืบค้นเมื่อ 15 March 2013.
  311. "Famous actor playing Mao Zedong dies". People's Daily. 5 July 2005. สืบค้นเมื่อ 15 March 2013.
  312. "Actor famous for playing Mao Zedong dies of miocardial infarction". People's Daily. 5 July 2005. สืบค้นเมื่อ 15 March 2013.
  313. Liu, Wei (3 June 2011). "The reel Mao". China Daily European Weekly. สืบค้นเมื่อ 15 March 2013.
  314. Xiong, Qu (26 November 2011). "Actors expect prosperity of Chinese culture". CCTV News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 December 2013. สืบค้นเมื่อ 15 March 2013.
  315. Aldridge, Alan; Beatles (1969). The Beatles Illustrated Lyrics. Houghton Mifflin Harcourt. p. 104. ISBN 978-0395594261.
  316. Spignesi, Stephen J.; Lewis, Michael (2004). Here, There, and Everywhere: The 100 Best Beatles Songs. New York: Black Dog. p. 40. ISBN 978-1579123697.

บรรณานุกรม

[แก้]

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า เหมา เจ๋อตง ถัดไป
สถาปนาตำแหน่ง ประธานาธิบดีจีน
(27 กันยายน พ.ศ. 2497 – 27 เมษายน พ.ศ. 2502)
หลิว เช่าฉี


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน