ข้ามไปเนื้อหา

พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)
เกิด20 มิถุนายน พ.ศ. 2422
พระนครศรีอยุธยา
เสียชีวิต20 กันยายน พ.ศ. 2487 (65 ปี)
สัญชาติไทย
นายจ้างกระทรวงยุติธรรม
คู่สมรสคุณหญิงเพ็ง ณ ป้อมเพชร์ (สุวรรณศร)
บุตร12 คน
บิดามารดาพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค)
หม่อมราชวงศ์ลำเจียก ภุมรินทร์
ญาติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

มหาอำมาตย์ตรี[1]พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (20 มิถุนายน พ.ศ. 2422 - 20 กันยายน พ.ศ. 2487) อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกและคนสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้เป็นต้นสกุล "ณ ป้อมเพชร์"

ประวัติ

[แก้]

พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา มีนามเดิมว่า "ขำ" เป็นบุตรของพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) อดีตผู้รักษากรุงเก่า กับหม่อมราชวงศ์ลำเจียก (สกุลเดิม: ภุมรินทร์) เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2422 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เกาะบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในขณะที่บิดารับราชการอยู่ ณ พระราชวังบางปะอิน

นายขำได้ศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ สอบไล่ได้ประโยค 2 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดตามหลักสูตรวิชาสามัญในขณะนั้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ. ศ. 2438 และได้ไปเรียนภาษาเพิ่มเติมที่สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) จากนั้นก็สมัครเข้าเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเวลานั้นเรียกว่าโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และรับราชการเป็นเสมียนสามัญในกระทรวงมหาดไทย

เมื่อสำเร็จการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ได้รับประกาศนียบัตรของกระทรวงมหาดไทย (ภายหลังโรงเรียนแห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนข้าราชการพลเรือน และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ใน พ.ศ. 2443 ก็เริ่มรับราชการเป็นปลัดอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

พ.ศ. 2445 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอปากพนัง เมืองนครศรีธรรมราช ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับที่อำเภอปากพนังเมื่อ พ.ศ. 2447 ทอดพระเนตรเห็นการปฏิบัติงานของนายอำเภอเป็นที่พอพระราชหฤทัย โดยเฉพาะในส่วนการเรือนจำ ทรงชมเชยการทำอิฐของเรือนจำอำเภอปากพนัง ว่าเป็นอิฐที่ทนทาน แข็งแรง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งอิฐไปร่วมพระราชกุศลในการสร้างวัดเบญจมบพิตร ก่อนเสด็จกลับได้พระราชทานซองบุหรี่เงินลงยา มีพระปรมาภิไธยสยามินทร์ แก่นายขำ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนายขำก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงวิชิตสรไกร" ถือศักดินา ๘๐๐ [2] จากนั้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449 โปรดเกล้าฯ ให้ หลวงวิชิตสรไกร พ้นจากตำแหน่งนายอำเภอปากพนัง และมารับตำแหน่งปลัดกรมพลัมภังแทนตำแหน่งที่ว่าง[3]

ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงมหาดไทย มณฑลราชบุรี[4] ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสพระแท่นดงรัง หลวงวิชิตสรไกร (ขำ) ได้มีหน้าที่จัดการรับเสด็จ จัดการปรุงแต่งทางที่จะเสด็จไปสู่พระแท่น และจัดสร้างพลับพลาที่ประทับจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ก่อนเสด็จกลับได้พระราชทานซองบุหรี่เงินรูปหีบไฟ มีพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. แกะเป็นรัศมีล้อม ต่อมาหลวงวิชิตสรไกรได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดมณฑลอิสาน ประจำจังหวัดสุรินทร์ แทนพระกรุงศรีบริรักษ์ที่ขอลาออกจากหน้าที่ราชการเนื่องจากมีอาการป่วยเรื้อรัง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 [5]

พ.ศ. 2454 หลวงวิชิตสรไกรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ[6] และได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น อำมาตย์เอก "พระสมุทบุรานุรักษ์" ถือศักดินา 3,000[7]

จังหวัดสมุทรปราการในเวลานั้น มีปัญหาอาชญากรรม โจรผู้ร้ายชุกชุม พระสมุทบุรานุรักษ์ได้จัดการปราบปรามและป้องกันให้การอาชญากรรมลดน้อยลง ในส่วนที่เกี่ยวกับการบำรุงก่อสร้าง เวลานั้นงบประมาณแผ่นดินมีไม่มากพอ ท่านจึงได้ใช้แรงงานนักโทษจัดสร้างและปรับปรุงถนนในจังหวัดสมุทรปราการหลายสาย ทั้งได้เริ่มทำถนนเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ โดยสร้างถนนต่อจากถนนในเมืองขนานกับทางรถไฟสายปากน้ำ

เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่พักตากอากาศชายทะเลที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นสถานที่ที่ใกล้ที่สุด ท่านเจ้าเมืองได้จัดการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่นิยมของชาวกรุงเทพฯ และผู้ที่ประสงค์จะเที่ยวพักผ่อน พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในได้เสด็จไปเป็นจำนวนมาก บางพระองค์ประทับเป็นแรมเดือน

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จมาประทับใน พ.ศ. 2456 พระสมุทบุรานุรักษ์ (ขำ) ได้จัดการรับเสด็จเป็นที่พอพระราชหฤทัย ในการปฏิบัติราชการครั้งนี้ถือเป็นความชอบพิเศษจึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอสิริยาภรณ์ตริตาภรณ์ช้างเผือกเป็นกรณีพิเศษ ข้ามลำดับชั้นจากจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย ซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อ พ. ศ. 2454

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับแรมที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ได้พระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” แก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) เป็นอันดับที่ 150 ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2456[8]

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับแรม ณ เมืองสมุทรปราการ ใน พ.ศ. 2457 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) ให้เป็น "พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ" ถือศักดินา 3,000[9] ซึ่งการพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษเพราะไม่ปรากฏอยู่ในทำเนียบบรรดาศักดิ์มาแต่เดิม (บรรดาศักดิ์ของผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสมุทรปราการจะมีปรากฏว่า "พระสมุทบุรานุรักษ์") เนื่องจากได้ทรงพระราชดำริให้สมกับเหตุการณ์ที่ประจักษ์แก่พระองค์ โดยขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ ณ พลับพลาที่ประทับ ได้เกิดพายุพัดแรงจัดและฝนตกหนักผิดปกติ ทำให้เครื่องกันฝนที่พลับพลาชำรุด พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) ได้อำนวยการซ่อมแซมเครื่องกันฝนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป้องกันมิให้พายุฝนทำความเสียหายแก่พลับพลาที่ประทับ วันรุ่งขึ้นได้มีพระบรมราชโองการให้เข้าไปเฝ้าที่พลับพลาและพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ ซึ่งหมายความว่า "มีอำนาจเหนือฝน" อันเป็นศิริแก่จังหวัดสมุทรปราการ

พ.ศ. 2458 ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์ตรี "พระยาเพชร์ชฎา"[10] อันเป็นนามบรรดาศักดิ์ที่พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้อมเพชร์) ผู้เป็นบิดาเคยได้รับพระราชทานเมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำมหันตโทษ (เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร) ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุลเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตรา “พระราชบัญญัติจัดตั้งกรมราชทัณฑ์” ขึ้น[11] และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ มหาอำมาตย์ตรี พระยาเพชร์ชฎา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก[12]

เมื่อเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ท่านได้จัดวางรูปแบบราชการให้มีความเป็นระบบระเบียบ เช่น ได้จัดรวบรวมพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ข้อบังคับ คำสั่ง เข้าเป็นเล่มเดียวกันทำนองประมวลการราชทัณฑ์ นอกจากนี้ได้วางระเบียบเรื่องการใช้แรงงานนักโทษ การโบยนักโทษ โดยกำหนดอำนาจผู้สั่งโบยและให้มีแพทย์ตรวจก่อนโบย ในส่วนการคลังนั้น ได้ประสานงานกับกระทรวงการคลัง โดยขอข้าราชการกระทรวงการคลังมาเป็นหัวหน้ากองคลัง โดยข้าราชการผู้นั้นยังอยู่ในกระทรวงการคลัง การประสานงานวิธีนี้เป็นมาโดยเรียบร้อย นอกจากการจัดระบบงานดังได้กล่าวมาแล้ว พระยาเพชร์ชฎาได้จัดอบรมนักโทษเช่นเดียวกับการฝึกวิชาชีพ และการใช้แรงงานนักโทษทำงานสาธารณะ หารายได้นำส่งกระทรวงการคลัง จัดการก่อสร้างเรือนจำถาวรและชั่วคราวขึ้นหลายแห่ง

25 สิงหาคม พ. ศ. 2467 พระยาเพชร์ชฎาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมดา"[13] และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ใน พ.ศ. 2468

ใน พ.ศ. 2468 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าให้ยุบเลิกกรมราชทัณฑ์[14] โดยมีความปรากฏตามประกาศยุบเลิกกรมราชทัณฑ์ ว่า

....ทรงพระราชดำริเห็นว่า บัดนี้ราชการในกรมราชทัณฑ์ได้จัดวางระเบียบข้อบังคับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าจะยุบเลิกกรมราชทัณฑ์ กิจการทั้งปวงในกรมนี้ให้ยกมารวมอยู่ในกรมบัญชาการ กระทรวงยุติธรรม จะเป็นทางประหยัดพระราชทรัพย์ลงได้ส่วนหนึ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยุบเลิกกรมราชทัณฑ์…

ต่อมาเมื่อได้มีการประกาศพระบรมราชโองการยกเลิกบรรดาศักดิ์ใน พ. ศ. 2485 พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมดาจึงได้กลับไปใช้นามและนามสกุลเดิม คือ ขำ ณ ป้อมเพชร์ และได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคความดันโลหิตสูง เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2487 รวมอายุได้ 65 ปี

ชีวิตครอบครัว

[แก้]

พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ได้สมรสกับคุณหญิงเพ็ง ณ ป้อมเพชร์ (สกุลเดิม: สุวรรณศร) บุตรีของหลวงแก้วสัสดี (ดี สุวรรณศร) กับนางนิล สุวรรณศร (สกุลเดิม: สุขุม) มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 12 คน ดังนี้

  • นางพิศ บุนนาค สมรสกับ พันตำรวจเอก พระอดิศักดิ์อภิรัตน์ (เต็มสุริยวงศ์ บุนนาค) บุตรชายของ พลโท เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์
  • หลวงวิชิตอัคนีนิภา (ขาว ณ ป้อมเพชร์)
  • นายเข็ม ณ ป้อมเพชร์
  • นางสารี ปุณศรี สมรสกับ หลวงศรีราชบุรุษ (แปลง ปุณศรี)
  • ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ สมรสกับ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย
  • นางอัมพา สุวรรณศร (เป็นยายของ ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ ภริยาอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย) สมรสกับ ศาสตราจารย์ประมูล สุวรรณศร
  • นางเพียงแข สุนทร-วิจารณ์(2458 - 2531:73 ปี) สมรสกับ ศาสตราจารย์เย็น สุนทร-วิจารณ์
  • นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์
  • เด็กหญิงเภา ณ ป้อมเพชร์
  • นางอุษา สุนทรวิภาต สมรสกับ นายประสงค์ สุนทรวิภาต
  • นายอานนท์ ณ ป้อมเพชร์
  • นายชาญชัย ณ ป้อมเพชร์

ยศ

[แก้]

ยศเสือป่า

[แก้]
  • – นายหมู่โท
  • 3 มกราคม 2456 – นายหมู่เอก[15]
  • – นายหมวดโท
  • 2 กันยายน 2459 – นายหมวดเอก[16]
  • 14 ตุลาคม 2463 – นายกองตรี[17]

ตำแหน่ง

[แก้]
  • 4 เมษายน 2462 – องคมนตรี[18]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชทานยศ
  2. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  3. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย, เล่ม ๒๔, ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๐, หน้า ๓๕๕
  5. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้หลวงวิชิตสรไกรมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ , เล่ม ๒๘, ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔, หน้า ๖๓๐
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์, เล่ม ๒๘, ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔, หน้า ๑๘๐๘
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมุรธาธร เรื่อง ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๓, เล่ม ๓๐, ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๘๓๓
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์, เล่ม ๓๑, ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗, หน้า ๒๐๐๘
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์, เล่ม ๓๒, ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๑๓๗๗
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ตั้งกรมราชทัณฑ์, เล่ม ๓๒, ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๓๑๗
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ตั้งอธิบดีกรมราชทัณฑ์, เล่ม ๓๒, ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๓๕๐
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์, เล่ม ๔๑, ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗, หน้า ๑๖๔๗
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง ยุบเลิกกรมราชทัณฑ์ , เล่ม ๔๒, ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๔๑๔
  15. เลื่อนและตั้งยศนายกองนายหมู่เสือป่า
  16. พระราชทานยศเสือป่า
  17. "พระราชทานยศนายเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 2548. 7 พฤศจิกายน 1920.
  18. บัญชีรายพระนามและนามผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นองคมนตรี
  19. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๕๕, ๑ มกราคม ๒๔๖๗
  20. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า, เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๕๕๑, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๘
  21. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๘, ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๕๖
  22. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ ส่งเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลาไปพระราชทาน, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๙๔, ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘
  23. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๓๘๗, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
  • “คำนำ” (อุทิศแด่ท่านขำ ณ ป้อมเพชร์) ในหนังสืออธิบายอาชญาวิทยา (ตอนที่ว่าด้วยทัณฑวิทยาทั่วไป) พระนคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธัมสาตรและการเมือง, 2487 (ปรีดีเขียนลงวันที่ 22 ตุลาคม 2487)