หลวงจำรูญเนติศาสตร์ (จำรูญ โปษยานนท์)
หลวงจำรูญเนติศาสตร์ (จำรูญ โปษยานนท์) | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 9 มีนาคม พ.ศ. 2512 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 | |
ก่อนหน้า | พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) |
ถัดไป | กมล วรรณประภา |
ประธานศาลฎีกา คนที่ 13 | |
ดำรงตำแหน่ง 1 มิถุนายน พ.ศ. 2502 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช |
ก่อนหน้า | พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (บุญจ๋วน บุญยะปานะ) |
ถัดไป | ประวัติ ปัตตพงศ์ |
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
ดำรงตำแหน่ง 22 ตุลาคม พ.ศ. 2500 – 7 มกราคม พ.ศ. 2503 | |
ก่อนหน้า | ทวี แรงขำ |
ถัดไป | ถนอม กิตติขจร |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 7 เมษายน พ.ศ. 2445 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 3 มิถุนายน พ.ศ. 2518 (73 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | อรุณ จำรูญเนติศาสตร์ |
บุตร | โกวิทย์ โปษยานนท์ |
ศาสตราจารย์ หลวงจำรูญเนติศาสตร์ (จำรูญ โปษยานนท์) (7 เมษายน พ.ศ. 2445 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2518) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ อดีตประธานศาลฎีกา และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประวัติ
[แก้]หลวงจำรูญเนติศาสตร์ หรือจำรูญ เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดในสกุล “โปษยานนท์” ที่บ้านตำบลถนนราชวงศ์ อำเภอจักรวรรดิ์ จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 7 เมษายน ปี 2445 บิดาชื่อนายฮง มารดาชื่อนางเน้ย ท่านกำพร้าบิดามาตั้งแต่อายุได้ 10 ปี ได้อาคือพระยาพิพัฒนธนากร (ฉิม โปษยานนท์) ส่งเสียให้เรียนหนังสือ การศึกษาเริ่มที่โรงเรียนครูแดงกับโรงเรียนทองนพคุณ แล้วจึงไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบตอนที่มีอายุได้ 10 ปี ก่อนที่จะไปเข้าเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ท่านดูจะเป็นคนเรียนเก่ง ในปี 2461 ก็ได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จบการศึกษาได้เป็นเนติบัณฑิตไทยในปี 2465 ปีถัดมาจึงได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมให้ไปศึกษาด้านกฎหมายต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยท่านได้เข้าเรียนที่สำนักมิดเดิลเทมเปิล เรียนจบได้เนติบัณฑิตเกียรตินิยมในปี 2471 เดินทางกลับไทยเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา ในปี 2472 สำหรับชีวิตสมรส ท่านแต่งงานกับคุณอรุณ โปษยะจินดา
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคนที่รับราชการทำงานทางด้านตุลาการดูจะไม่กระทบกระเทือนมากนัก หลวงจำรูญเองก็ก้าวหน้าในตำแหน่งราชการ ได้ขึ้นเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในปี 2485 สมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งอยู่ในช่วงสงคราม และในปี 2487 ท่านก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ดังนั้นต่อมาในปี 2488 ถึงต้นปี 2489 ท่านจึงเป็นหนึ่งในคณะผู้พิพากษาคดีอาชญากรสงคราม คดีนี้เป็นคดีดังและสำคัญที่มีอดีตนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. และรัฐมนตรีบางนายที่ร่วมงานในยามสงครามตกเป็นผู้ต้องหาด้วย ศาลพิพากษาว่าโมฆะจะใช้กฎหมายย้อนหลังไม่ได้ ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา
ทางด้านวิชาการ หลวงจำรูญฯ ได้เข้ามาเป็นผู้บรรยายหรืออาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2483 ตั้งแต่สมัยที่มหาวิทยาลัยยังใช้ชื่อดั้งเดิมว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และยังมีศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การ ท่านได้เป็นอาจารย์พิเศษมากว่า 10 ปีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยในปี 2497 สมัยที่มีพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์เป็นคณะบดีคณะนิติศาสตร์ และมีอธิการบดีชื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ท้ายที่สุดท่านก็ได้ขึ้นเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อจากวาระของจอมพล ป. ในวันที่ 23 ธันวาคม ปี 2500 ตอนนั้นเพิ่งจะเสร็จจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ของปี จึงเป็นช่วงเวลาก่อนที่พลโท ถนอม กิตติขจร จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในตอนต้นปี 2501 ขณะนั้นผู้ที่ช่วยอธิการบดีทำงานประจำคือเลขาธิการมหาวิทยาลัย
หลวงจำรูญฯเป็นอธิการบดีอยู่ประมาณ 2 ปี จนถึงต้นปี 2503 ท่านจึงได้พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะท่านได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ตั้งแต่ปลายปี 2502 สายงานตุลาการเป็นงานที่ท่านรักและยึดเป็นอาชีพมาตั้งแต่จบการศึกษาจากอังกฤษ ดังนั้นจึงวางมือจากงานมหาวิทยาลัย ตอนที่ท่านขึ้นเป็นประธานศาลฎีกานั้นเป็นเวลาที่จอมพล สฤษดิ์ หัวหน้าคณะปฏิวัติที่ยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเองแล้ว และต่อมานายกฯ ท่านนี้ก็ได้เข้ามาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย โดยให้นายทหารที่เป็นรองนายกฯ คือพลเอก ถนอมเข้ามาเป็นอธิการบดีสืบต่อจากหลวงจำรูญฯ ทางหลวงจำรูญฯ นั้นท่านได้เป็นประมุขของอำนาจตุลาการอยู่ประมาณ 2 ปี ท่านก็ได้เกษียณอายุราชการจากศาลฎีกาในปี 2504
สำหรับตำแหน่งทางการเมืองนั้นหลวงจำรูญฯ ได้เข้ามารับตำแหน่งภายหลังการเกษียณอายุราชการแล้วถึง 8 ปี ท่านได้รับเชิญจากจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีให้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลของนายกฯจอมพล ถนอม เมื่อภายหลังการเลือกตั้ง ปี 2512 ครั้งนั้นเป็นรัฐบาลที่มีพรรคสหประชาไทยเป็นพรรครัฐบาล แต่ไม่มีชื่อว่าท่านได้มีบทบาทในการเลือกตั้ง เชื่อว่าท่านเข้ามาสู่ตำแหน่งในฐานะผู้อาวุโสทางศาลที่จะให้ไปดูแลงานเกี่ยวกับกฎหมาย และท่านก็ได้อยู่ร่วมรัฐบาลจนจอมพล ถนอมยึดอำนาจล้มรัฐบาลตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2514 ครั้นต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2516 เมื่อจอมพล ถนอมตั้งรัฐบาลใหม่ หลวงจำรูญฯได้รับตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปีเดียวกันนี้ท่านได้ยังได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการของศาลโลกที่กรุงเฮกอีกด้วย
ศาสตราจารย์ หลวงจำรูญเนติศาสตร์ได้พ้นวงการเมืองไปได้ 2 ปีท่านก็ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2518
ตำแหน่ง
[แก้]- 14 พฤษภาคม 2462 – มหาดเล็กวิเศษ[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2503 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2498 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2503 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[4]
- พ.ศ. 2512 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[5]
- พ.ศ. 2490 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศกรมมหาดเล็ก
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๑๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๙๕ ง หน้า ๓๐๔๓, ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๔๑ ง หน้า ๑๔๔๖, ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2022-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๔๖ ง หน้า ๑๘๓๕, ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๓๓๗๔, ๑๖ ธันวาคม ๒๔๙๐