ข้ามไปเนื้อหา

เหตุการณ์ 6 ตุลา

พิกัด: 13°45′21.07″N 100°29′27.16″E / 13.7558528°N 100.4908778°E / 13.7558528; 100.4908778
หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม
ฝูงชนยิ้มขณะดูชายใช้เก้าอี้พับตีศพนิรนาม[a] ที่ถูกแขวนคอบริเวณท้องสนามหลวง (ภาพรางวัลพูลิตเซอร์ปี 2520)
สถานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°45′21.07″N 100°29′27.16″E / 13.7558528°N 100.4908778°E / 13.7558528; 100.4908778
วันที่6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (48 ปีที่แล้ว) 5.30–11.00 น.
เป้าหมายนักศึกษา กรรมกรและประชาชนผู้ประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพล ถนอม กิตติขจร
ประเภทอาชญากรรมโดยรัฐ, การยิงหมู่, การลงประชาทัณฑ์
อาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม16, ปืนเล็กสั้น, ปืนพก, กระสุนต่อสู้รถถัง, เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม79, ปืนครก, ระเบิดมือ, ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง
ตาย
  • 45 คน (ทางการ)[b]
  • 100+ คน (มูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์)[3]: 8 
  • 500+ คน (มูลนิธิร่วมกตัญญู)[4]
เจ็บ167 คน (ทางการ)
ผู้ก่อเหตุ
เหตุจูงใจการต่อต้านคอมมิวนิสต์
คตินิยมสุดขีดขวาจัด
"ลัทธิคลั่งเจ้า"
คำตัดสินการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) หรือในภาษาอังกฤษเรียกชื่อเชิงพรรณนาว่า การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[c] (อังกฤษ: Thammasat (University) massacre) เป็นการปราบปรามอย่างรุนแรงถึงชีวิตของตำรวจและการลงประชาทัณฑ์ของกำลังกึ่งทหารและคนมุงฝ่ายขวาต่อนักศึกษาและผู้ประท้วงฝ่ายซ้ายในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เป็นการปิดฉากการประท้วง การเดินขบวนและการยึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของนักศึกษา กรรมกรและผู้ประท้วงซึ่งต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2519 ในวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจใช้อาวุธสงครามปราบปรามการประท้วง ตามด้วยกลุ่มฝ่ายขวาที่ลงประชาทัณฑ์ในลักษณะร่วมมือกับตำรวจ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ สถิติพบผู้เสียชีวิต 45 คนที่มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี และถูกเผา แต่สถิติไม่เป็นทางการจากมูลนิธิป๋วยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) ทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจ บ้านเมืองมีบรรยากาศเสรีภาพ และเกิดการเฟื่องฟูของความคิดฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ตลอดจนการประท้วงของกรรมกรและชาวนาอยู่เนือง ๆ ร่วมกับความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง กลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ ซึ่งรู้สึกกังวลกับชัยของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้วิธีการก่อกวนขบวนการฝ่ายซ้ายจนมีผู้เสียชีวิตอยู่หลายโอกาส ขณะเดียวกัน มีฝ่ายกองทัพอย่างน้อยสองฝ่ายพยายามวางแผนให้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง โดยฝ่ายหนึ่งใช้วิธีการนำตัว "สามทรราช" กลับประเทศเพื่อหวังให้เกิดสถานการณ์บานปลาย วันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหารโดยมีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จฯ เยี่ยม นักศึกษาปักหลักประท้วงที่สนามหลวง และย้ายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ในวันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาจัดการแสดงล้อเหตุฆ่าคนงานฝ่ายซ้ายที่จังหวัดนครปฐม วันที่ 5 ตุลาคม มีการตีพิมพ์ข่าวการแสดงดังกล่าว โดยมีสื่อฝ่ายขวาลงว่าบุคคลที่ถูกแขวนคอนั้นมีใบหน้าคล้ายกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผลให้กำลังกึ่งทหารที่โกรธแค้นมาชุมนุมกันนอกมหาวิทยาลัยในเย็นนั้น ท่ามกลางสื่อฝ่ายขวาที่โหมปลุกความเกลียดชังอยู่ต่อเนื่อง มีผู้ประท้วงอยู่ในมหาวิทยาลัยราว 4,000 คน และมีตำรวจและคนมาล้อมไว้ราว 8,000 คน

วันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจปิดทางเข้าออกมหาวิทยาลัยไว้ทุกด้านตั้งแต่เวลาดึก ระหว่างเวลา 5.30–11.00 น. ตำรวจเปิดฉากใช้อาวุธสงครามหลายชนิดทั้งปืน เครื่องยิงลูกระเบิด ปืนต่อสู้รถถังและระเบิดมือเข้าปราบปรามผู้ประท้วง พลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ อนุญาตให้ยิงเสรี เกิดการยิงปะทะระหว่างสองฝ่ายช่วงสั้น ๆ ก่อนผู้ประท้วงเป็นฝ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว เป็นการใช้กำลังเกิดกว่าเหตุและขาดความชอบธรรม ในเหตุการณ์ที่นิตยสาร ไทม์ เรียกว่า "ฝันร้ายของการลงประชาทัณฑ์และการเผา"[8] นักศึกษาที่ยอมจำนนแล้วและที่กำลังหลบหนีกระสุนถูกทำร้ายร่างกาย ปล้นชิงทรัพย์สิน ล่วงละเมิดทางเพศ ถูกยิง เผาทั้งเป็น และทุบตีจนตาย ส่วนศพถูกทำลายและเผา ผู้ประท้วง 3,094 คนถูกจับ ส่วนผู้ลงมือฆ่าได้รับความดีความชอบ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองที่มีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจในเวลา 18.00 น. โดยอ้างเหตุนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีอาวุธหนัก

เหตุการณ์ 6 ตุลาและรัฐประหารเป็นจุดสิ้นสุดของ "ยุคการทดลองประชาธิปไตย" ซึ่งมีอายุไม่ถึงสามปี และกระแสสังคมนิยมเสื่อมลง มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีความคิดขวาจัดและเกิดการกวาดล้างฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรงทำให้บางส่วนหนีไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทำให้การก่อการกำเริบรุนแรงยิ่งขึ้น การเมืองต่อจากนี้ไม่มีกระทบผลประโยชน์ของชนชั้นนำอีก ไม่มีกระบวนการสอบสวนความจริงและชดเชยแก่ญาติผู้เสียหายของรัฐ มีแกนนำผู้ประท้วง 19 คนถูกฟ้องฐานพยายามก่อจลาจล แต่สุดท้ายรัฐบาลนิรโทษกรรมในปี 2521 รัฐบาลใช้วิธีการปล่อยให้สังคมลืม เมื่อถึงประมาณพุทธทศวรรษ 2530 มติมหาชนเปลี่ยนมาเห็นใจนักศึกษามากขึ้นแล้วแต่สังคมยังคาดหวังให้เงียบเพื่อความสมานฉันท์ของบ้านเมือง

หนังสือเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศไทยแทบทั้งหมดข้ามเหตุการณ์นี้ไปเสียเฉย ๆ มีความพยายามตีแผ่ข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และโครงการบันทึก 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานรำลึกเป็นประจำทุกปี และมีการสร้างประติมากรรมอนุสรณ์ในมหาวิทยาลัยในปี 2539

เบื้องหลัง

เหตุการณ์ 14 ตุลาและ "การทดลองประชาธิปไตย"

ปี 2501–2516 เป็นช่วงที่ประเทศไทยปกครองในระบอบเผด็จการทหารที่มีการควบคุมทางการเมืองและไม่มีการเลือกตั้ง ระหว่างนั้นโครงสร้างชนชั้นของสังคมไทยเกิดชนชั้นกระฎุมพีใหม่หลังเศรษฐกิจบูมจากการไหลเข้าของทุนสหรัฐและญี่ปุ่น เกิดเป็นฝ่ายขวาใหม่ซึ่งเข้าเป็นพันธมิตรกับชนชั้นปกครองเดิม[9]: 13–4  เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา มีการเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญเผด็จการและการปราบปรามประชาชนจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย สุดท้าย "สามทรราช" จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศ องคมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เป็นยุค "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" (หรือเรียกย้อนหลังว่า "การทดลองประชาธิปไตย") แต่รัฐบาลเผชิญกับปัญหาหลายด้าน วิกฤตการณ์น้ำมันและความปั่นป่วนในเศรษฐกิจโลกเริ่มมีผลกระทบทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยในปี 2517[9]: 18  รัฐบาลสัญญาตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของกรรมกรซึ่งขัดต่อผลประโยชน์ของชนชั้นกลางท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะงักงัน[9]: 18  สุดท้ายรัฐบาลสัญญาลาออกหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2517 และมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 26 มกราคม 2518 ก่อนหน้านั้นในเดือนธันวาคม 2517 ผู้คบคิดรัฐประหารนำจอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศไทย แต่เขาต้องออกนอกประเทศแทบทันที เพราะมติมหาชนคัดค้านการหวนกลับของระบอบทหารในขณะนั้นอย่างหนักแน่น[10]: 226 

ช่วงปี 2518 ถึง 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเป็นรัฐบาลผสม 12 พรรค เขาวางนโยบายให้สหรัฐถอนทหารออกจากไทย[11]: 67  รัฐประหารเป็นไปไม่ได้ตราบเท่าที่รัฐบาลยังได้รับการหนุนหลังจากพลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้อยู่ในอุปถัมภ์ของพลเอก กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งเป็นวีรบุรุษที่ได้รับความนิยมจากบทบาทในเหตุการณ์ 14 ตุลา; ฐานะของสหรัฐในอินโดจีนล้มลงอย่างรวดเร็ว กรุงไซ่ง่อนแตกและเกิดการรวมประเทศเวียดนามที่เป็นคอมมิวนิสต์ในเดือนเมษายน 2518 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยึดอำนาจของขบวนการปะเทดลาวอันเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศลาวในเดือนธันวาคมปีเดียวกันมีผลใหญ่หลวงต่อมติมหาชนของไทย หลายฝ่ายเกรงว่าประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายต่อไปของคอมมิวนิสต์[11]: 126–7  รัฐบาลคึกฤทธิ์ได้เปลี่ยนนโยบายการทูตที่สำคัญโดยเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518[11]: 81 

ผลลัพธ์ทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาทำให้ฝ่ายซ้ายมีสำนึกความรื่นเริงและความคิดสร้างสรรค์ ส่วนฝ่ายขวามองภาพลวงว่ารัฐบาลเสรีนิยมที่เพิ่งตั้งขึ้นเป็นสาเหตุของการระบาดของความคิดบ่อนทำลายประเทศ และโทษประชาธิปไตยสำหรับความล้มเหลวของเผด็จการทหารหลายทศวรรษก่อนหน้านี้[9]: 15  ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เป็นองค์การประสานงานระหว่างองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ และมีบทบาทมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ได้มีการรณรงค์เพื่อเป้าหมายทางสังคมอื่นอยู่เรื่อย ๆ[11]: 93–4  ฝ่ายขวาได้รณรงค์ข่มขู่ ทำร้ายร่างกายและลอบฆ่าเป็นเวลาสองปี[9]: 13  การโฆษณาใส่ร้าย ศนท. รวมถึงเพลงอย่าง "เราสู้", "หนักแผ่นดิน"[11]: 130  มีการกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตั้งแต่ปี 2517[11]: 132–3 

วันที่ 2 มกราคม 2519 กรรมกรทั่วกรุงเทพมหานครนัดหยุดงานทั่วไปเป็นจำนวนหลายหมื่นคนเพื่อคัดค้านนโยบายเลิกจำหน่ายข้าวสารราคาถูกแก่ประชาชน[11]: 88  ชวนให้นายทหารที่เคยถือรัฐธรรมนูญนิยมหลายคนมองว่า รัฐประหารอาจจำเป็นเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพ คึกฤทธิ์ยอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพทำให้ฝ่ายขวาเดือดดาล การชุมนุมจำนวน 15,000 คน ซึ่งจัดโดยกลุ่มกึ่งทหารนวพล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เรียกร้องให้คืนอำนาจแก่ทหาร[10]: 229  การชุมนุมดังกล่าวนำโดยพระกิตติวุฒโฑ พระภิกษุเจ้าของวาทะ "ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป" กลุ่มสมาชิกรัฐสภาเสรีนิยมจากพรรคประชาธิปัตย์แตกกับรัฐบาลผสมและเข้ากับฝ่ายค้านซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย[12]: 376  พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ คัดค้านความคิดรัฐบาลผสมเอียงซ้าย ซึ่งบีบให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งใหม่กำหนดมีขึ้นวันที่ 4 เมษายน[12]: 376  ซึ่งกระชั้นเกินไปแม้สำหรับนายทหารสายกลาง ตัวอย่างรัฐบาลผสมเอียงซ้ายของลาวที่พ่ายต่อคอมมิวนิสต์ยังสดใหม่ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงยื่นแผนรัฐประหาร[10]: 230  ศาสตราจารย์ บุญชนะ อัตถากร เล่าว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 พลเรือเอกสงัดนำความบ้านเมืองกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ว่าอาจมีความจำเป็นต้องรัฐประหาร บุญชนะบันทึกว่าสงัดได้สนทนากับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรดังนี้

สงัด: อยากได้พรจากพระโอษฐ์ให้ทางทหารดำเนินการได้ตามที่คิดไว้
ในหลวง: ให้คิดเอาเองว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป

...

สงัด: ถ้าทางทหารยึดอำนาจการปกครองได้แล้ว… ใครควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี
ในหลวง: จะทำอะไรลงไปก็ควรปรึกษานักกฎหมาย คือ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเสียด้วย[13]: 162 
ผู้นำการเมือง (ครม. 37, 38) และผู้นำทหารเด่น
ชื่อ ตำแหน่งและกลุ่ม
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีมหาดไทย, รัฐมนตรีกลาโหม(37/2)
พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, รัฐมนตรีกลาโหม(38)
กลุ่ม "สี่เสาเทเวศร์"
พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์
กลุ่ม "ซอยราชครู"
พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ รองผู้บัญชาการทหารบก
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด, เสนาธิการทหาร
กลุ่ม "สี่เสาเทเวศร์"
สมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย(37)
พลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ
กลุ่ม "ซอยราชครู"
(เลข) หมายถึง คณะรัฐมนตรี
บทวิเคราะห์กลุ่มแยกในกองทัพ ดูที่ [14]

ตรงข้ามกับพรรคพวกของพลเอก กฤษณ์ สีวะรา กับพลเรือเอกสงัด, กลุ่มของพลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ("ซอยราชครู") รวมเอาผู้คบคิดซึ่งไม่เคยยอมรับการปกครองแบบรัฐสภาหรือผู้ปลดจอมพล ถนอม กิตติขจร อันได้แก่ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายขวา พรรคชาติไทย และนายทหารแห่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อย่างสมบูรณ์ แผนสมคบรัฐประหารทั้งสองจะดำเนินเป็นเอกเทศต่อกัน

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากทั้งพลเอก กฤษณ์ สีวะรา และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐคว้าที่นั่งในสภาได้ถึงร้อยละ 40 ทำให้หัวหน้าพรรค หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช กลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย[12]: 395  รัฐบาลผสมประกอบด้วยพรรคการเมืองฝ่ายขวาสี่พรรค ประกอบด้วยประชาธิปัตย์ ชาติไทย ธรรมสังคมและสังคมชาตินิยม "กลุ่มซอยราชครู" ถือเป็นฝ่ายขวาในรัฐบาล; พรรคกิจสังคมของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชกลับเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายแทบไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเลย[12]: 382 

การเสียชีวิตอย่างกระทันหันของพลเอกกฤษณ์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2519 ส่งผลให้รัฐบาลพลเรือนขาดผู้นำกองทัพที่จะควบคุมให้ นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดความแตกแยกในกองทัพด้วย พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เขียนในปี 2545 ว่า "กองทัพสูญเสียผู้นำคนสำคัญที่คอยทำหน้าที่ประคับประคองความสามัคคีภายในกองทัพไปด้วย ทางสังคมเองก็ยอมรับว่าได้สูญเสียนายทหารที่เคยค้ำจุน หรือให้การประกันลมหายใจระบอบประชาธิปไตยไปเสียแล้ว"[15] ผู้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทน คือ พลเอก ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา สมาชิกพรรคพวกของพลตรีประมาณ

กลุ่มฝ่ายขวา

ด้วยมุมมองนักศึกษาเป็นฝ่ายสืบรับอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ชนชั้นปกครองไทยจึงดำเนินการทางลับเพื่อบ่อนทำลายขบวนการนิสิตนักศึกษา โดยมุ่งตั้งตนเป็นปรปักษ์กับกลุ่มนักศึกษา มีการยกกำลังเข้าทำร้ายนักศึกษาและทำลายสถานที่ถึงภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายครั้ง ในเวลาไล่เลี่ยกัน

กลุ่มทหารอาสาสมัครฝ่ายขวาหลายกลุ่มมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ก่อการสังหารหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจตระเวนชายแดนติดอาวุธและฝึกกลุ่มเหล่านี้เมื่อปลายปี 2517 เพื่อเตรียมการปราบปรามรุนแรง พอล แฮนด์ลีย์ ผู้ประพันธ์ เดอะคิงเนเวอร์สไมส์ อธิบายสถานการณ์นั้นว่าเป็น "ลัทธิศาลเตี้ยหลวง" (royal vigilantism)[10]: 214  ใจ อึ๊งภากรณ์ นักเขียนมาร์กซิสต์ เปรียบเทียบกลุ่มเหล่านี้กับกลุ่มกึ่งทหารฟาสซิสต์ในยุโรปช่วงทศวรรษ 1930[16] กลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางมั่งมีและชนชั้นสูง[11]: 28  แอนเดอร์สันชี้เหตุที่ชนชั้นกลางเปลี่ยนจากสนับสนุนประชาธิปไตยมาสนับสนุนเผด็จการและความรุนแรงว่า 1. ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตราคาน้ำมันปี 2516, 2. รัฐบาลคอมมิวนิสต์เถลิงอำนาจในประเทศเพื่อนบ้าน, 3. การประท้วงบ่อยครั้งของกรรมกร ชาวนาและนักศึกษา, 4. นักศึกษาจบใหม่ตกงานเป็นอันมาก[11]: 28–9  กลุ่มเหล่านี้เสื่อมลงหลังความพยายามรัฐประหารในปี 2520 ซึ่งคาดว่ามีนายทหารที่มีความสัมพันธ์กับ "กลุ่มนอกระบบ" เหล่านี้อยู่เบื้องหลัง[11]: 35 

ขบวนการนวพล

ขบวนการนวพลก่อตั้งขึ้นในปี 2517 โดย วัฒนา เขียววิมล และใช้คำขวัญว่า "ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์"[17] ชื่อนี้ยังหมายถึง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กลุ่มลับนี้มีสมาชิกราว 50,000 คนราวกลางปี 2518 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรให้ความช่วยเหลือทางทหารอย่างลับ ๆ และดำเนินการฝึกซ้อมอย่างทหารขั้นก้าวหน้าแก่สมาชิกที่วิทยาลัยจิตตภาวัน โรงเรียนสอนศาสนาพุทธในจังหวัดชลบุรี ซึ่งก่อตั้งโดยพระภิกษุฝ่ายขวา พระกิตติวุฒโฑ[10]: 225  กล่าวกันว่า การฝึกนี้รวมการฝึกการลอบสังหารด้วย และคาดว่าการฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งเป็นฝีมือของขบวนการนวพล[10]: 225–6  ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร ยังเป็นสมาชิกอาวุโสของกลุ่มนี้ด้วย[10]: 230 

ขบวนการกระทิงแดง

ขบวนการกระทิงแดงก่อตั้งขึ้นในปี 2517 โดย พันเอก (พิเศษ) สุตสาย หัสดิน นายทหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร[18] กลางปี 2518 กลุ่มนี้มีสมาชิก 25,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลา[11]: 133–4  เป็นผลจากความพยายามของฝ่ายขวาในการแบ่งแยกนักศึกษาอาชีวะออกจาก ศนท.[11]: 134  ขบวนการกระทิงแดงเป็นกองเยาวชนของขบวนการนวพล[19] มีลักษณะคล้ายกับเอสเอในประเทศเยอรมนีช่วงทศวรรษ 1930 สมาชิกขบวนการกระทิงแดงปลุกปั่นการต่อสู้ระหว่างนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายกับสหภาพแรงงาน[10]: 226  ขบวนการกระทิงแดงนี้สามารถออกมาขู่ฆ่าหรือปาระเบิดกลางเมืองได้โดยไม่ถูกจับกุม[11]: 135  มีความร่วมมือกับตำรวจอย่างใกล้ชิด เช่น มีวิทยุติดต่อกับตำรวจ และใช้รถตำรวจตระเวนรอบเมือง[11]: 135  นักการเมืองพรรคชาติไทย เช่น พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ มีส่วนสนับสนุน[11]: 28  พระมหากษัตริย์ทรงเคยทดสอบยิงอาวุธของขบวนการกระทิงแดงครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีเผยแพร่กว้างขวาง[10]: 232 

ลูกเสือชาวบ้าน

ลูกเสือชาวบ้าน (หรือ กองอาสารักษาดินแดน) ก่อตั้งขึ้นในปี 2497 เพื่อจัดการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย ตลอดจนการสนองต่อเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติธรรมชาติ ได้รับการขยายในปี 2517 เมื่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเข้าควบคุมลูกเสือชาวบ้าน[10]: 223  มีการขยายเข้าไปในเขตเมืองเพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้าย[10]: 224  พระบรมวงศานุวงศ์ (มักเป็นพระราชินี) เป็นผู้พระราชทานผ้าพันคอแก่ลูกเสือชาวบ้าน[10]: 224  ช่วงหนึ่ง คนวัยทำงานถึง 1 ใน 5 เคยเป็นสมาชิกลูกเสือชาวบ้าน[11]: 34–5  ในช่วง 6 ตุลาคม 2519 พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ล้วนมีบทบาทในการเรียกระดมกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน[20]: 250  ขบวนการนี้ได้กลายเป็นม็อบชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งรัฐปล่อยให้กลุ่มสลายไปหลังรัฐประหารปี 2519[11]: 35 

กลุ่มอื่น

กลุ่มฝ่ายขวาอื่น ๆ[d] เช่น ชมรมแม่บ้าน นำโดย วิมล เจียมเจริญ (ทมยันตี) ซึ่งรวบรวมภรรยาข้าราชการพลเรือนและทหาร และแม่บ้านเป็นสมาชิก มีบทบาทเด่นในการปกป้องภาพของสหรัฐ (เนื่องจากนักศึกษาเรียกร้องให้ถอนฐานทัพสหรัฐ)[11]: 142 , ชมรมวิทยุเสรี เป็นกลุ่มสถานีวิทยุของทหารที่มีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแกนกลาง มีพันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยาเป็นโฆษกสำคัญ มีบทบาทโจมตี ศนท. ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังเป็นแกนกลางประสานงานปราบปรามนักศึกษาอย่างเปิดเผย[11]: 140–1 

เหตุการณ์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2519

ลำดับเหตุการณ์
17 ส.ค.ประภาสกลับประเทศ
19–22 ส.ค.
  • นักศึกษาจัดชุมนุมต่อต้านประภาส
  • 21 ส.ค. นักศึกษากับกลุ่มกระทิงแดง
  • ประภาสเดินทางกลับ, นักศึกษาสลายตัว
19 ก.ย.
  • ถนอมกลับประเทศ, บวชที่วัดบวรนิเวศ
  • ศนท. มีมติคัดค้าน
  • วิทยุยานเกราะเรียกร้องให้ฆ่านักศึกษา
23 ก.ย.ฝ่ายซ้ายชุมนุม, เสนีย์ลาออก
24 ก.ย.พนักงานการไฟฟ้า 2 คนถูกฆ่าที่ จ. นครปฐม
25 ก.ย.ราชโองการให้เสนีย์เป็นนายกฯ อีก
ปลาย ก.ย., ต้น ต.ค.ชุมนุมประท้วงติด ๆ กัน
4 ต.ค.
  • ชุมนุมประท้วงที่สนามหลวงและ มธ.
  • การแสดงล้อเหตุฆ่าพนักงานการไฟฟ้า
5 ต.ค.วิทยุยานเกราะและ ดาวสยาม ประโคมข่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ราวกลางปี 2519 มีข่าวว่าจอมพล ประภาส จารุเสถียร จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบินจากไต้หวัน จอมพลประภาสกลับประเทศในวันที่ 17 สิงหาคม โดยพลเอกทวิชเป็นผู้จัดการให้ เพื่อเป็นการทดสอบมติมหาชน[16] กลุ่มนักเรียนอาชีวะขว้างระเบิดใส่นักศึกษาที่มาชุมนุมเรียกร้องให้ลงโทษประภาส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 38 คน[11]: 149  แต่ขณะนั้นยังไม่มีความพร้อมรัฐประหาร จึงให้ประภาสกลับออกนอกประเทศไปก่อนในวันที่ 22 สิงหาคม โดยได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรก่อนด้วย[11]: 149  อาศัยปฏิกิริยาดังกล่าว พลตรีประมาณตัดสินใจนำถนอมกลับประเทศไทยหวังจุดชนวนการเดินขบวนประท้วงซึ่งอาจใช้เป็นข้ออ้างรัฐประหารได้[16] หม่อมราชวงศ์เสนีย์พยายามดักการคบคิดเพิ่มเติมโดยถอดพลเอกทวิชจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัคร สุนทรเวชและสมบุญ ศิริธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้คบคิดรัฐประหารด้วยกัน วิจารณ์หม่อมราชวงศ์เสนีย์อย่างรุนแรงขัดระเบียบการของรัฐสภา[22][23] นำมาสู่การปลดทั้งสองในวันที่ 23 กันยายน 2519

สมัคร สุนทรเวช พระสหายที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงไว้วางพระทัย บินไปยังประเทศสิงคโปร์และบอกแก่จอมพลถนอมว่า พระราชวังอนุญาตให้เขาเดินทางกลับประเทศไทย[10]: 234  วันที่ 7 กันยายน มีการอภิปรายในหัวข้อ "ทำไมจอมพล ถนอม จะกลับมา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อภิปรายหลายคนสรุปว่า ส่วนหนึ่งเป็นแผนการที่วางไว้เพื่อวางแผนรัฐประหาร[11]: 150  เมื่อจอมพลถนอมเดินทางกลับในวันที่ 19 กันยายน เขาปฏิเสธแรงจูงใจทางการเมือง และกล่าวว่ากลับมาเพื่อสำนึกความผิดที่เตียงบิดาปัจฉิมวัยเท่านั้น[8] เขาอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดซึ่งสัมพันธ์กับราชวงศ์จักรีอย่างใกล้ชิด[e] สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเป็นผู้อุปสมบทให้[20]: 248  ธงชัยเขียนว่าสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดของไทยสมคบกัน[20]: 248  พิธีการถูกปิดอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเลี่ยงการคัดค้านการบวชและกลุ่มกระทิงแดงล้อมวัดไว้[10]: 234  จากนั้นมีวิทยุยานเกราะตักเตือนมิให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย มิฉะนั้นอาจต้องมีการประหารชีวิตสัก 30,000 คนเพื่อให้บ้านเมืองรอดปลอดภัย[11]: 150  วันที่ 23 กันยายน เวลา 21.30 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จไปวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ระหว่างการเยือน คุณหญิง เกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงแถลงว่า สมเด็จพระราชินีทราบว่าจะมีคนมาเผาวัด "ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกัน อย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด"[11]: 151  วันที่ 24 กันยายน 2519 สมัครแถลงว่า "การที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จวัดบวรนิเวศกลางดึกแสดงให้เห็นว่า พระองค์ต้องการให้พระถนอมอยู่ในประเทศต่อไป"[11]: 151–2  และเมื่อวันที่ 26 กันยายน พระกิตติวุฒโทแถลงย้ำว่า "การบวชของพระถนอมครั้งนี้ได้กราบบังคมทูลขออนุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้งขอเข้ามาในเมืองไทยด้วย ดังนั้นพระถนอมจึงเป็นผู้บริสุทธิ์"[11]: 152 

ศนท. และสภาแรงงานแห่งประเทศไทยคัดค้านสถานะภิกษุของจอมพลถนอม สภาแรงงานฯ ขอให้รัฐบาลเนรเทศพระถนอม[24]: 14–5  แนวร่วมยุวสงฆ์แห่งประเทศไทยมีหนังสือถึงมหาเถรสมาคมให้พิจารณาว่าการบวชพระถนอมผิดวินัยหรือไม่[24]: 15  แม้แต่สมเด็จพระสังฆราชก็ยอมรับว่าการบวชไม่ถูกต้อง[11]: 151  บิณฑบาตเช้าของพระถนอมมีขบวนทหารและตำรวจคุ้มกันอย่างหนาแน่น[3]: 5  ในช่วงแรกสาธารณะยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างใดนักเพราะเกรงว่าจะดูขัดขวางศาสนา แต่ไม่นานนักศึกษาก็มองผ่านกลยุทธ์นี้โดยเริ่มจัดการแสดงล้อขบวนพระและคนคุ้มกันติดอาวุธ[3]: 5  ต่อมาเริ่มมีการจัดการนัดชุมนุมขนาดใหญ่ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ไม่อาจจัดการอะไรได้ จึงขอลาออกในวันที่ 23 กันยายน[24]: 15  การชุมนุมของฝ่ายนิสิตนักศึกษาที่ลานโพในระยะแรกมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมไม่มากเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา แม้จะมีกิจกรรมแสดงละครล้อการเมืองเพื่อเรียกความสนใจให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม กิจกรรมอันหนึ่งคือการปิดโปสเตอร์แสดงจุดยืนและเชิญชวนให้เข้าร่วมการชุมนุมทั่วกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศ เป็นเหตุให้นักศึกษาและแนวร่วมซึ่งออกปิดโปสเตอร์ดังกล่าวถูกลอบทำร้ายบาดเจ็บหลายครั้ง ในวันที่ 24 กันยายน เกิดคดีที่วิชัย เกตุศรีพงศา กับชุมพร ทุมไมย นายช่างตรีสังกัดการไฟฟ้า เขตนครปฐม[24]: 15  ซึ่งร่วมกิจกรรมปิดโปสเตอร์ประท้วงที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตแล้วนำศพไปแขวนคอไว้หน้าประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าตำรวจนครปฐมเป็นผู้ลงมือ[11]: 152  คดีฆ่าดังกล่าวยิ่งเพิ่มกระแสของการประท้วง การชุมนุมใหญ่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 28 กันยายนมีผู้เข้าร่วมหลักหมื่นคน[24]: 16  มีวีรชน 14 ตุลาและญาติเข้าร่วมการประท้วงด้วย ญาติวีรชนอดอาหารประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ย้ายไปชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม[3]: 5 

การแสดงละครล้อกรณีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้านครปฐม, 4 ตุลาคม 2519

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) จัดการชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม[3]: 5  มหาวิทยาลัยยกเลิกการสอบและปิดวิทยาเขต ด้วยหวังไม่ให้เกิดเหตุตำรวจอาละวาดซ้ำรอยเมื่อปีกลาย ทว่า ผู้เดินขบวนพังประตูเข้าไปยึดวิทยาเขตและยึดพื้นที่ประท้วง[8] นอกจาก ศนท. แล้วยังมีสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงาน (Federation of Trade Unions) เป็นองค์การผู้ประสานงานหลักด้วยอีกองค์การหนึ่ง[19] สหภาพแรงงาน 43 แห่งเรียกร้องให้รัฐบาลเนรเทศจอมพลถนอมมิฉะนั้นจะนัดหยุดงานทั่วไป[8] การประท้วงคราวนี้ยิ่งกว่าคราวที่จอมพลประภาสกลับมาเสียอีก ส่วนฝ่ายรัฐบาลเห็นควรยับยั้งไว้ โดยมอบหมายให้ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์และดำรง ลัทธพิพัฒน์เป็นผู้แทนเจรจา แต่ก็ไม่เป็นผล ในวันที่ 1 ตุลาคม ฝ่ายขวารวมกันออกแถลงการณ์ว่า "ได้ปรากฏแน่ชัดแล้วว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นักศึกษา สภาแรงงานแห่งประเทศไทยและนักการเมืองฝ่ายซ้ายถือเอาพระถนอมมาเป็นเงื่อนไขสร้างความไม่สงบขึ้นภายในประเทศชาติถึงขั้นจะก่อวินาศกรรมทำลายวัดบวรนิเวศวิหาร และล้มล้างรัฐบาล เรื่องนี้กลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวประชุมลงมติว่า จะร่วมกันปกป้องวัดบวรนิเวศทุกวิถีทางตามพระราชเสาวนีย์"[11]: 153  ป๋วยเล่าว่าตนทราบจากนักศึกษาว่ากำหนดประท้วงต้นเดือนตุลาคมเพราะมีนายทหารเกษียณอายุราชการหลายนาย และการโยกย้ายตำแหน่งประจำปีอาจเป็นชนวนรัฐประหารได้อีกทางหนึ่ง[3]: 5  สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทยเข้าร่วมนักศึกษาโดยกำหนดนัดหยุดงานทั่วไปในวันที่ 8 ตุลาคม[3]: 5 

ช่วงบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม ชมรมศิลปการแสดงของธรรมศาสตร์จัดแสดงละครรำลึกถึงเหตุการฆ่าคนดังกล่าวที่ลานโพ แล้วในช่วงบ่ายเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ก่อนย้ายเข้าสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ในช่วงค่ำ[3]: 5  วันที่ 5 ตุลาคม มีการชุมนุมประท้วงในอีกหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา เป็นต้น[11]: 72  วันเดียวกันมีหนังสือพิมพ์กรุงเทพมหานครสองฉบับ ได้แก่ บางกอกโพสต์ และ ดาวสยาม ลงภาพการแสดงล้อการแขวนคอ สำหรับ ดาวสยาม ลงข่าวว่านักศึกษาที่แสดงเป็นเหยื่อ (วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์และอภินันท์ บัวหภักดี) มีใบหน้าคล้ายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารที่เพิ่งเสด็จฯ กลับประเทศจากประเทศออสเตรเลียในวันที่ 1 ตุลาคม 2519 ผู้ประท้วงจึงถูกกล่าวหาว่าแขวนคอรูปจำลองพระบรมวงศานุวงศ์ บางคนมองว่ามีการตกแต่งภาพให้นักศึกษาดูเหมือนพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารมากขึ้น แต่สำเนาทุกฉบับที่ยังเหลืออยู่เป็นภาพเดียวกัน[11]: 26  จากนั้น สถานีวิทยุยานเกราะของกองทัพบก นำโดย พันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุทธยา กล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และประกาศให้ "ฆ่ามัน" และ "ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์"[10]: 235  ทั้งนี้ จากหลักฐานพบว่า บางกอกโพสต์ นำเสนอข่าวจริง ส่วน ดาวสยาม และสถานีวิทยุยานเกราะประโคมข่าวเท็จ[11]: 26  เหตุการณ์นี้เปลี่ยนวาทกรรมจากการจ้องทำลายศาสนาพุทธในประเทศไทยมาเป็นความพยายามของนักคอมมิวนิสต์ในการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และทำลายชาติไทย[20]: 249  เย็นนั้น มีกำลังกึ่งทหารนิยมเจ้า 4,000 คนอยู่บริเวณประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[10]: 235 

"เหตุการณ์ที่ฝ่ายขวาก่อขึ้นมาในบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม 2519 นั้นเหมือนกับผีดูดเลือดที่เมื่อถูกปลุกขึ้นมาแล้วไม่มีใครสามารถควบคุมได้ ไม่มีใครสามารถทำให้มันสงบลงได้จนกว่ามันจะได้ดื่มเลือดคนจริงๆ

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล[13]: 160 

ค่ำวันที่ 5 ตุลาคม แกนนำ ศนท. นำตัวนักแสดงมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและติดต่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีในเช้าวันรุ่งขึ้น[13]: 155  แกนนำ ศนท. ตัดสินใจว่าจะสลายการชุมนุมในวันรุ่งขึ้น และยังไม่สลายการชุมนุมในเวลากลางคืนเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย[13]: 156  สมศักดิ์ออกความเห็นว่าถึงแม้มีการสั่งเลิกชุมนุม ความรุนแรงก็อาจจะเกิดในรูปแบบอื่นอยู่ดี เช่น คงมีการเผาทำลายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือลงประชาทัณฑ์แกนนำ ศนท. ที่มอบตัวกับตำรวจ[13]: 159–60  คืนวันที่ 5 ตุลาคมต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม กลุ่มฝ่ายขวาพยายามก่อกวนผู้ชุมนุม เช่น ยิงปืนสั้นหรือเผาสิ่งของติดรั้วมหาวิทยาลัย[11]: 177  พันตำรวจโท สล้าง บุนนาค อ้างว่าไปพบกับ "อาจารย์ธรรมศาสตร์" สามคนในเวลาใกล้เที่ยงคืน จัดเตรียมกำลังตำรวจปราบจลาจล และไปบ้านพักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 2.00 น. โดยไม่ได้รับคำสั่ง[13]: 189  แต่การสรุปเหตุการณ์ของฝ่ายตำรวจมีความสับสน ทั้งยังมีการส่งตำรวจบางนายเข้าปะปนกับกลุ่มนักศึกษาด้วย สำหรับธงชัย เขาว่าเหตุการณ์ถึงเวลา 2.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคมไม่มีสิ่งชี้บอกใดถึงความจำเป็นของการใช้กำลัง[20]: 250  วิทยุยานเกราะเรียกร้องให้ตำรวจดำเนินคดีต่อนักศึกษา และประกาศว่าจะจัดการชุมนุมที่อาคารรัฐสภาในเวลา 9.00 น.[3]: 6  5.00 น. การยิงปะทะกันรุนแรงขึ้น กลุ่มที่มาล้อมมหาวิทยาลัยมีผู้เสียชีวิต 1 รายขณะนำส่งโรงพยาบาล[3]: 6 

เหตุการณ์ 6 ตุลา

การสังหารหมู่

ภาพร้อยตำรวจโท วัชรินทร์ เนียมวณิชกุล ยิงปืนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะในปากยังคาบบุหรี่
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
video icon ศ.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตแกนนำนักศึกษาย้อนรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา (4:14), วิดีโอยูทูบ
video icon อดีตช่างภาพเอพี นีล อูเลวิช กล่าวสะท้อนเหตุการณ์ 6 ตุลา (2:12), วิดีโอยูทูบ

มีคนมาล้อมมหาวิทยาลัยทั้งตำรวจ กำลังกึ่งทหารและประชาชนรวมประมาณ 8,000 คน และมีนักศึกษาอยู่ประมาณ 4,000 คน[25]: 104  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ถูกล้อมไว้หมดทุกด้านตั้งแต่เวลา 3.00 น.[3]: 6  ตำรวจตั้งกองบัญชาการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อธิบดีกรมตำรวจประกาศเจตจำนงกวาดล้างมหาวิทยาลัยและจับผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเวลารุ่งสาง[3]: 6 

พยานเล่าว่าเมื่อเวลา 5.30 น. มีการยิงลูกระเบิดเอ็ม79 ลงกลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนและบาดเจ็บ 13 คน[25]: 102  เชื่อว่าเป็นฝีมือของผู้ชำนาญอาวุธ และคาดว่าน่าจะเป็นสัญญาณเข้าตี[11]: 167–8  ไม่นานจากนั้น ตำรวจภายใต้บังคับบัญชาของพลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ ใช้อาวุธสงครามประกอบด้วย ปืนเล็กยาว (เช่น เอ็ม16), ปืนกลหนัก เอชเค 33, ปืนเอ็ม79, และปืนไร้แรงสะท้อน[11]: 168 , ปืนครก[13]: 195  ปืนอานุภาพสูงติดกล้องเล็งและปืนต่อสู้รถถัง[25]: 103  ระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ประเทศไทย) และด้านหน้าของมหาวิทยาลัยในลักษณะไม่เลือกหน้า[11]: 168  พันตำรวจโท สล้าง บุนนาค ตำแหน่งรองผู้กำกับการ 2 เป็นผู้นำตำรวจปราบจลาจล 200 นายเข้าไปในมหาวิทยาลัย[26] เวลาประมาณ 5.40–6.00 น. สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท. พยายามติดต่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี และโฆษกให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในตึกบัญชีและตึกคณะวารสารฯ[25]: 102  6.00 น. การขนส่งผู้บาดเจ็บทางเรือถูกตำรวจสกัดไว้ และตำรวจและกระทิงแดงยิงปืนมาจากตลิ่งอีกฝั่ง[3]: 6  เวลา 7.00 น. ผู้ชุมนุมบางส่วนเล็ดรอดออกไปได้ แต่หลังจากนั้นประตูถูกปิดตาย แม้มีคำขอเปิดทางให้หญิงและเด็กแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยินยอม[13][25]: 103  มีกลุ่มคนไม่แต่งเครื่องแบบขับรถโดยสารประจำทางชนประตูใหญ่และตำรวจเร่งรุดเข้าไปในมหาวิทยาลัย[11]: 168  สุธรรมและผู้แทน ศนท. รวมทั้งนักแสดงในละครล้อในวันที่ 4 ตุลาคมออกมาในรถพยาบาลและขึ้นรถตำรวจ ตำรวจปฏิเสธคำขอพบนายกรัฐมนตรีและทั้งหมดถูกจับกุม[3]: 7  โฆษกเวทีที่ประกาศยอมจำนนถูกยิงด้วยปืนเอ็ม16[3]: 7  พลตำรวจโทชุมพลอนุญาตให้ยิงเสรีในมหาวิทยาลัย[10]: 255  ในเวลาประมาณ 7.30 น.[3]: 7  จนถึงเวลา 8.00 น. ตำรวจรุกเข้ามาในสนามฟุตบอล และยิงใส่ตึก อมธ. ตึกคณะวารสารฯ และตึกบัญชี แล้วนำกำลังเข้ายึด[25]: 104  เวลา 7.45 น. มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งหนีกระสุนปืนโดยปีนรั้วมหาวิทยาลัยออกไป จนถูกกลุ่มคนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์[25]: 104  ฝูงชนที่อยู่ตามดาดฟ้าเชียร์ตำรวจโดยบอกว่านักศึกษาไม่มีอาวุธหนัก[3]: 7 

มีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามต่อนักศึกษาที่หนีลงแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับผู้ที่ขึ้นฝั่งบริเวณท่าพระจันทร์และไปหลบตามบ้านเรือนราษฎรได้ก็ถูกตามจับตัวได้กว่า 1,000 คน[25]: 103  นักศึกษาที่หนีลงแม่น้ำเจ้าพระยาจมน้ำเสียชีวิตหลายคน[3]: 7  วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ถูกยิงขณะพยายามว่ายน้ำเข้าสู่ที่ปลอดภัย[16] นักศึกษาที่หนีขึ้นฝั่งได้และหลบอยู่ตามอาคารต่าง ๆ ถูกบังคับให้ยอมมอบตัว มิฉะนั้นตำรวจจะยิงปืนใส่ร้านอย่างไม่เลือก[3]: 8 

นีล อูเลวิชเล่าว่าเสียงกระสุนกว่าร้อยละ 90 มีทิศทางไปยังนักศึกษา[27] พฤติกรรมโหดร้ายทารุณของตำรวจในวันนั้น เช่น การทำร้ายฆ่าฟันนักศึกษาที่กำลังหนีหรือว่ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่ยอมจำนนแล้ว หรือถูกมัดมือแล้ว[11]: 169  ไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลเสนีย์มีอำนาจมากน้อยเพียงใดในวันนั้น[20]: 250  เสนีย์แถลงข่าวเมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. ว่าตำรวจจะเลือกใช้วิธีใดในการปราบปรามนั้นขึ้นอยู่กับตำรวจ[3]: 8  ในเดือนตุลาคม 2537 พันตำรวจตรี มนัส สัตยารักษ์ เขียนว่า ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุทั้งการใช้อาวุธและการควบคุมนักศึกษา "ตำรวจที่อยู่รอบนอก [มหาวิทยาลัย] ใช้อาวุธปืนประจำตัวยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้หวังผลอะไรมากไปกว่าสร้างความพอใจให้แก่ตัวเอง" และตำรวจบางนายไม่เห็นด้วยกับวิธีการปราบปรามในวันนั้น[11]: 39–40  เขายังเล่าว่าเขาถ่ายทอดคำสั่งให้หยุดยิงของพลตำรวจตรี วิเชียร แสงแก้ว แล้ว แต่ตำรวจตระเวนชายแดนไม่ยอมหยุด เขาเห็นว่าการปราบปรามครั้งนี้เห็นจะเป็นเรื่องส่วนตัว[13]: 192 

กลุ่มกึ่งทหาร ได้แก่ ลูกเสือชาวบ้านและกระทิงแดงจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยพร้อมกับตำรวจเพื่อเข้าทำร้ายนักศึกษา ในลักษณะทำงานร่วมกับตำรวจและตำรวจมิได้ห้ามปราม[11]: 177  หลายคนมีบทบาทโดยตรงในการทำร้ายฆ่าฟัน เช่น แขวนคอ เผาทั้งเป็น ทุบตีจนตาย และยังรวมถึงการทำลายศพ เช่น ตอกไม้ ใช้ไม้ทำอนาจารศพหญิง หรือปัสสาวะรด[11]: 177  หญิงคนหนึ่งถูกเปลื้องผ้าและยิงปืนใส่หลายครั้ง[3]: 8  นักศึกษาจำนวนหนึ่งหนีกระสุนปืนโดยปีนรั้วมหาวิทยาลัยออกไปถูกกลุ่มคนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์[25]: 104  ผู้ประท้วงที่หนีออกไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัยจำนวน 20 คนถูกลากไปแขวนคอทั้งที่ยังมีชีวิต และมีการนำศพมาเผากลางถนนราชดำเนิน[25]: 104  กลุ่มนี้พยายามลงประชาทัณฑ์นักศึกษาที่ตำรวจจับไว้แล้วที่สนามฟุตบอลแต่ตำรวจห้ามไว้และช่วยหญิงไว้ได้คนหนึ่ง[3]: 8  มีการแขวนคอศพผู้ที่เสียชีวิตแล้วไว้กับต้นไม้ริมสนามหลวงแล้วเตะต่อย ทั้งถุยน้ำลายรดและตะโกนด่าสาปแช่ง[8] ศพของวัชรี เพชรสุ่นถูกเปลื้องผ้า นำไม้มาวางไว้ข้างศพให้เข้าใจว่าถูกไม้นั้นแทงอวัยวะเพศจนเสียชีวิต โดยมีคนอยู่รอบศพด้วยความพอใจ[28] ธงชัยตั้งข้อสังเกตว่าชายปรากฏในภาพใช้เก้าอี้ฟาดศพ (ของอูเลวิช), ภาพการแขวนคอวิชิตชัยและภาพเผาศพ 4 ศพเป็นคนคนเดียวกัน[29] อาจเป็นสายลับที่ถูกส่งมาปลุกปั่นให้คนอื่นเลียนแบบตามหรือไม่[20]:281 มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ใช้วิธีการป่าเถื่อนกับศพนั้นน่าจะเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบหรืออดีตทหาร-ตำรวจที่ได้รับการฝึกจากอเมริกา[13]: 182  ด้านพระกิตติวุฒิโฑไล่นักศึกษาที่เข้าไปหลบในวัดมหาธาตุออกนอกเขตวัดไปให้ตำรวจจับ[11]: 177 

ป้ายจัดแสดงในนิทรรศการ 44 ปี 6 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวลาประมาณ 11.00 น.[25]: 104  นักศึกษาและประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทั้งชายหญิงราว 1,000 คนถูกบังคับให้ถอดเสื้อนอนลงกับพื้น ส่วนผู้หญิงให้ถอดเหลือแต่ยกทรง บังคับให้คลานไปตามพื้นสนามหญ้า ทั้งถูกเตะต่อยและรุมทำร้าย[8] เช่นเดียวกับมีการนำศพมาวาง[25]: 104  กลุ่มฝ่ายขวาปล้นทรัพย์สินส่วนตัวของนักศึกษา[11]: 170  ตำรวจถอดพระเครื่องของนักศึกษา เพราะเป็นคอมมิวนิสต์ไม่คู่ควร[30] แพทย์สามคนไม่รีบรักษาผู้ประท้วงที่มีเลือดออกถึง 2 ชั่วโมงเพราะ "กำลังรอคำสั่ง"[30] จากนั้นตำรวจยิงปืนกลข้ามหัวนักศึกษาที่หมอบคว่ำอยู่เข้าไปในตึกคณะบัญชี[11]: 170  เย็นนั้น กลุ่มนวพลบางคนอวดเพื่อนว่า ตน "ล้วงผู้หญิงตามสบาย"[11]: 171  ผู้ได้รับบาดเจ็บในวันนั้นต้องรอการรักษาพยาบาลเป็นเวลานาน ส่วนผู้ที่ถูกจับต้องรอหลายวัน[11]: 171 

สุธรรมเล่าว่าตนถูกตำรวจรั้งตัวไว้ขณะเดินทางเพื่อไปเจรจากับนายกรัฐมนตรี ตำรวจไปส่งที่จวนนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ได้เข้าพบ จนสุดท้ายตำรวจนำตัวสุธรรมเข้าที่คุมขังทันทีซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สุดท้ายการเจรจาระหว่าง ศนท. กับนายกรัฐมนตรีจึงไม่เกิดขึ้น[20]: 250  หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ผ่านไปแล้ว ช่วงบ่ายมีลูกเสือชาวบ้านและตำรวจจะเข้าไปทำร้ายป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยพันตำรวจโท สล้าง บุนนาคที่เดินทางไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองโดยไม่มีคำสั่งตบหูโทรศัพท์ของป๋วย[11]: 176  จากเหตุการณ์ ตำรวจพบอาวุธของผู้ชุมนุมเพียงปืนเล็กยาว 2 กระบอกเท่านั้น ไม่มีอาวุธหนัก[3]: 8 

นักศึกษาและประชาชนที่รอดชีวิต 3,094 คนถูกจับกุมภายในวันนั้น[11]: 63  ถูกนำตัวไปคุมขังที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน ที่จังหวัดนครปฐมและชลบุรี[4] ผู้ถูกจับกุมเกือบทุกคนถูกตำรวจรุมซ้อมเมื่อมาถึงสถานที่คุมขัง[11]: 171  นอกจากนี้ ยังมีพยานว่าตำรวจเรียกผู้ถูกจับกุมว่า "เชลย" อันสื่อว่า ตำรวจกำลังทำสงครามกับนักศึกษา[11]: 171  ส่วนใหญ่ได้รับประกันตัวในสัปดาห์ถัดมา

ตัวเลขอย่างเป็นทางการบ่งว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน และบาดเจ็บ 167 คน[10]: 236  ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้น ให้ตัวเลขประมาณผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการกว่า 100 คน โดยอิงแหล่งข้อมูลนิรนามในสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย (Chinese Benevolent Association) ซึ่งกำจัดศพ[3][f] ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัย ระบุว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิตจากไฟล์ชันสูตรพลิกศพ มีจำนวน 45 คน ไม่มีการกล่าวถึงชาวเวียดนามจำนวน 10 คน และทราบว่ามีผู้เสียชีวิตถูกแขวนคอ 4 คน แต่อาจมากกว่านั้น ทราบชื่อได้แก่ วิชิตชัย อมรกุล และปรีชา แซ่เฮีย[31] มีรายงานว่าช่างภาพยูไนเต็ดเพรสอินเตอร์เนชันแนลเสียชีวิต[3]: 7  มีนักศึกษาแพทย์และพยาบาลที่เป็นสมาชิกหน่วยอาสาสมัคร "พยาบาลเพื่อมวลชน" ถูกฆ่าตาย 5 คน[11]: 170  การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎการศึกอนุสัญญาเจนีวา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผู้เสียชีวิตจริงสูงกว่านี้ ข้อมูลของมูลนิธิร่วมกตัญญูระบุว่าผู้ประท้วงและประชาชนเสียชีวิตกว่า 500 คน และมีมูลค่าความเสียหายทรัพย์สินกว่า 50 ล้านบาท[4] พยานนายตำรวจนายหนึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 คน[32] พยานนักศึกษาและอดีตกระทิงแดงเห็นศพที่ถูกแขวนคอ "เป็นสิบ ๆ คน"[32] วิโรจน์ มุทิตานนท์ อดีตช่างภาพ ไทยรัฐ บรรยายเหตุการณ์ว่า "คือการเข่นฆ่าคนที่ไร้ทางสู้ ... เป็นการปิดประตูตีแมว"[11]: 170  นิตยสารไทม์ อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น "ฝันร้ายของการลงประชาทัณฑ์และการเผา"[8]

ผู้รับผิดชอบและผู้บงการ

"คำถามที่ว่า ใครก่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ยังตอบไม่ได้อย่างเป็นทางการ เวลาที่ตอบไม่ได้อย่างเป็นทางการไม่ใช่ว่าประชาชนไม่รู้ รู้แต่ไม่ตอบ เพราะคดี 6 ตุลาเป็นคดีลึกลับเหมือนประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์นั้นแหละ ไม่ว่าจะตอบได้หรือไม่ได้ ผลมันเหมือนกันหมด เหมือนกับคดีสวรรคตนั่นแหละ"

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ[33]

หน่วยตำรวจที่ปฏิบัติการในวันที่ 6 ตุลาคมมีสามหน่วย ได้แก่ ตำรวจตระเวนชายแดน พลร่มจากค่ายนเรศวรฯ หัวหิน ภายใต้การบังคับบัญชาของพลตำรวจตรี กระจ่าง ผลเพิ่ม และพลตำรวจตรี เสน่ห์ สิทธิพันธ์, ตำรวจกองปราบ ภายใต้บังคับบัญชาของพลตำรวจตรี วิเชียร แสงแก้ว, และกองปฏิบัติการพิเศษตำรวจนครบาล ภายใต้การบังคับบัญชาของพลตำรวจตรีเสริม จารุรัตน์[11]: 169  สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลประเมินว่ามีตำรวจอย่างน้อย 400 นาย[13]: 190–1  เวลา 2.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม พยานตำรวจว่า ตำรวจตระเวนชายแดนที่หัวหินได้รับคำสั่งที่ไม่มีคำอธิบายให้เคลื่อนเข้ากรุงเทพมหานคร แต่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้สั่ง[20]: 249–50  แต่ควรทราบว่าตำรวจตระเวนชายแดนมีความใกล้ชิดกับราชสำนัก[20]: 250 [13]: 194  นายกรัฐมนตรีระบุว่ามาตรการกวาดล้างมีความจำเป็นเพราะมีการโจมตีสวนตำรวจขณะเข้าจับกุม[3]: 9  ต่อมาตำรวจแสดงหลักฐานคำสั่งจับกุมของนายกรัฐมนตรีลงเวลา 7.30 น. วันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นเวลาหลังผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้ามอบตัวแล้วตั้งแต่ 7.00 น.[3]: 9  คำสั่งของพลตำรวจเอก ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจ ไม่น่าจะใช่ผู้สั่งการแท้จริง หรือก็คงเป็นคำสั่งตรายางเท่านั้น[13]: 196  รัฐบาลเสนีย์ไม่ได้รู้เห็นกับคำสั่งบุกปราบปรามผู้ประท้วงหรือยุทธวิธีที่ตำรวจใช้เลย นายกรัฐมนตรีเพียงแต่ออกแถลงการณ์ในวันที่ 5 ตุลาคมกำชับให้ตำรวจสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดเท่านั้น[13]: 195 

คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สรุปว่า ตำรวจก่ออาชญากรรมทางการเมือง ปราบปรามนักศึกษาโดยใช้อาวุธสงคราม และปล่อยให้มีผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าบริเวณท้องสนามหลวง[11]: 15  คณะกรรมการฯ พิจารณาเหตุผลที่ฝ่ายรัฐอ้างในการปราบปราม พบว่าทั้งหมดนั้นขาดน้ำหนักและเหตุผลโดยสิ้นเชิง[11]: 16  โดยสรุปคือ

เหตุผลตามอ้างของรัฐในการปราบปราม ข้อค้นพบของคณะกรรมการฯ
นักศึกษาเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมาชิกกลุ่มนวพล ตำรวจ และสื่อมวลชนที่ชมการแสดงในวันที่ 4 ตุลาคม ไม่มีผู้ใดมองว่าเป็นการเล่นละครดูหมิ่น นายตำรวจพยานโจทก์หลายนายว่า ตนทราบข่าวนักศึกษาหมิ่นฟ้าชายจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม[11]: 86 
นักศึกษาชุมนุมและสะสมอาวุธในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อก่อกบฏ โฆษกรัฐบาลยอมรับว่าหาอุโมงลับและบังเกอร์ไม่พบ และเมื่อนักข่าวถามว่า "นักศึกษามีอาวุธมากน้อยแค่ไหน ขอดูได้ไหม และถ้านักศึกษามีอาวุธทำไมนักศึกษาตายมากกว่าตำรวจ" เขาตอบว่า "ไม่ทราบ"[11]: 89–90 

ในเรื่องการพกอาวุธของนักศึกษานั้น มีความจำเป็นเพราะการชุมนุมมักถูกกลุ่มกระทิงแดงก่อกวนลอบยิงและขว้างระเบิดใส่เป็นประจำ อาวุธที่นักศึกษามีในมหาวิทยาลัยวันที่ 6 ตุลาคมมีปืนสั้นไม่เกิน 30 กระบอก ปืนลูกซองยาว 2 กระบอก และระเบิดมือประมาณ 10 ลูกเท่านั้น[11]: 90 

ตำรวจควบคุมสถานการณ์ระหว่างสองฝ่ายไว้ไม่ได้ พลตำรวจโทชุมพลอ้างว่า ตำรวจต้องใช้อาวุธบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อปกป้องประชาชนที่บุกเข้าไป "มือเปล่า" ขณะที่นักศึกษายิงปืนออกมา เขาว่าพลเรือนที่บุกเข้าไปมีเป็น "พัน ๆ" แต่พยานฝ่ายโจทก์ว่ามีเพียง 70–80 คนเท่านั้น ฝ่ายพันตำรวจโทสล้างชี้แจงว่า ตนควบคุมลูกน้องไม่ได้[11]: 92  ทว่า คำบอกเล่าของพยานว่า ตำรวจยิงปืนกลกราดเข้าไปในตึกบัญชี และมีการนำตำรวจมาประจำทางเข้าออกเพื่อป้องกันนักศึกษาหนี[11]: 93  ด้านประเสริฐ ณ นคร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า "การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้กระทำเกินกว่าเหตุ เพราะในวันดังกล่าวประชาชนมีความเคียดแค้น และต้องการเข้าจับตัวนักศึกษาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เข้าไปปฏิบัติงานก่อน ประชาชนที่เคียดแค้นก็อาจจะเข้าไปประชาทัณฑ์นักศึกษา และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยทั้งหมดอาจถูกทำลาย" ซึ่งเป็นความเท็จ[11]: 93–4 
นักศึกษาฉวยโอกาสเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อันมีวัตถุประสงค์ทำลายชาติ ฝ่ายขวามองว่าการปกป้องชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์จะใช้ความรุนแรงเท่าไรก็ได้ และมีความชอบธรรมทั้งสิ้น และมองว่าสังคมจะมีเสถียรภาพได้ต้องมีเผด็จการ ทว่า แม้แต่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังมองว่า เสถียรภาพของสังคมไทยมาจากสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ นักศึกษาที่ไปเข้ากับ พคท. ถกเถียงกับผู้นำพรรคก่อนออกจากป่า เพราะไม่พอใจที่พรรคเป็นเผด็จการ ซึ่งช่วยลดบทบาทและอิทธิพลของพรรคในที่สุด[11]: 94–5 
"คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน"
(คณะรัฐประหาร)
กลุ่มซอยราชครู–"ทรราช"

พบว่ามีนายทหารอย่างน้อยสองกลุ่มที่เตรียมรัฐประหารโดยฉวยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นข้ออ้าง กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มสายกลางซึ่งก่อการเพื่อชิงตัดหน้ากลุ่มขวาจัดของพลตรีประมาณ[16] ชัยอนันต์ สมุทวณิชกับเดวิด มอร์เรล อธิบายว่า พรรคชาติไทย ฝ่ายขวาของพรรคประชาธิปัตย์ และนายทหารที่ใกล้ชิดกับจอมพลประภาส-ถนอมวางแผนนำตัว "ทรราช" กลับประเทศเพื่อก่อเรื่อง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเห็นว่าตัวการปราบปรามนักศึกษาน่าจะเป็นกลุ่มพลเอกฉลาดและพลโทวิทูรย์ และเตรียมก่อรัฐประหารในเวลาดึก[11]: 75  ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบอยู่ว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ด้วยหรือไม่ และผู้สมคบคิดอื่น ๆ (ของกลุ่มหลัง) เช่น ตำรวจและลูกเสือชาวบ้านได้รับประโยชน์หรือไม่ แต่เท่าที่เห็นคือ สมาชิกหลายคนยังเป็นผู้มีอิทธิพลในการเมืองไทยในคริสต์ทศวรรษ 1990[20]: 251 

นักวิชาการลงความเห็นว่าสหรัฐไม่มีความจำเป็นต้องสั่งการปราบปรามนักศึกษา และชนชั้นปกครองไทยมีเหตุผลสำคัญลงมือเอง ศรพรหม วาดสุรางค์สรุปว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีองค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์[11]: 40  สำหรับบทบาทโดยอ้อมจะเป็นไปในทางให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารและช่วยจัดตั้งองค์การฝ่ายขวามากกว่า[11]: 41  นอกจากนี้ ในช่วงเวลานั้นสหรัฐเน้นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมากขึ้น[11]: 40 

พคท. ได้สมาชิกเพิ่มขึ้นมากหลังจากเหตุการณ์ จนมีการกล่าวหาว่าพรรคอาจอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้เพื่อบีบให้ฝ่ายซ้ายหันการต่อสู้ในเมืองเข้าป่าแทน แต่หลักฐานพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้คือไม่ทราบว่าการแสดงล้อการเมืองจะนำมาสู่การกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[20]: 251–2  แม้สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเคยโพสต์ว่า ขบวนการนักศึกษา "เป็นขบวนการเมืองคอมมิวนิสต์ (อยู่ภายใต้การนำทางความคิด การเมืองและจัดตั้งของ พคท.)"[34] อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ฉบับ กอ.รมน. เชื่อว่ามีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ต่างประเทศ คำให้การของพันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยามองว่าคอมมิวนิสต์สายจีนกับโซเวียตแตกกัน ขบวนการนักศึกษาอยู่ใต้อิทธิพลของโซเวียต มีความต้องการปองร้ายพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ฝ่ายจีนที่เสียการควบคุมนักศึกษามาป้อนข่าวแก่ทางราชการหวังให้ขบวนการนักศึกษาปะทะกับฝ่ายขวาแล้วฝ่ายจีนรอตวงผลประโยชน์[21]: 451 

บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อเหตุการณ์สังหารหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ยังคงเคลือบคลุม พคท. กล่าวหาว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จากอาชญากรรมดังกล่าว[20]: 259  สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการและนักเคลื่อนไหว ถูกจำคุกฐานพิมพ์เผยแพร่บทความตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันในเหตุการณ์[35]: 278–9  อย่างไรก็ดี นักวิชาการต่างประเทศอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนส่งเสริมเหตุการณ์ เช่น การสนับสนุนลูกเสือชาวบ้านและการเสด็จฯ เยี่ยมพระถนอม[11]: 31 

การรายงานของสื่อ

สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งเดียวที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในเวลาเช้า สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้อำนวยการ ไปถ่ายภาพเพื่อ "เอาความจริงมาเปิดเผยให้คนรับรู้ นี่เป็นหน้าที่ของผม" ต่อมาเขาถูกปลดจากตำแหน่ง[11]: 178  ในช่วงบ่าย สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และวิทยุยานเกราะถ่ายทอดสดการสัมภาษณ์ตำรวจ 5 นาย พันตำรวจโทสล้างให้สัมภาษณ์ว่า "รัฐบาลควบคุมบงการไม่ให้ตำรวจลงมือจับกุม", พวกตนตกลงนำชาวบ้านที่กระเหี้ยนกระหือรือเข้าไป เขายังเล่าว่านักศึกษาทำร้ายตำรวจที่ถือธงนำเข้าไปขอเจรจาอย่างไม่มีเหตุผล ตลอดการให้สัมภาษณ์มีการสอดแทรกมุกตลก และเปิดเพลง "หนักแผ่นดิน"[21]: 421–2  ภาพถ่ายของนีล อูเลวิชจากสำนักข่าวเอพี (ที่อยู่บนสุดของบทความ) เป็นภาพที่ขึ้นชื่อที่สุดจากเหตุการณ์ ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 2520 สาขาข่าวสด (spot news) ต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของผลงานศิลปะอีกหลายงาน

การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

รัฐบาลตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้ช้า ช่วงเช้าวันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีนัดประชุมด่วนเพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายยุติการชุมนุม แต่ชาติชายคัดค้านเพราะต้องการให้ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมต่อ[20]: 250  พลตำรวจโทชุมพลรายงานเท็จว่าตำรวจซึ่งเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกนักศึกษาทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตเป็นอันมาก แต่รายงานของพลตำรวจเอกศรีสุขซึ่งน่าจะไม่ได้ร่วมแผนรัฐประหารด้วย แจ้งว่ามีตำรวจได้รับบาดเจ็บเพียงไม่กี่นาย สุดท้ายรัฐบาลออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงของฝ่ายนักศึกษา โดยไม่ได้มีมาตรการอย่างอื่น[20]: 251  ในวันเดียวกัน รัฐบาลออกข้อหาโดยไม่มีมูลว่ามีเวียดนามปะปนอยู่กับผู้ประท้วง[3]: 10 

9.30 น. ลูกเสือชาวบ้านและฝ่ายขวาชุมนุมกันประมาณ 30,000 คนที่ลานพระบรมรูปทรงม้า บางคนมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา[3]: 9  เวลาประมาณ 16.00 น. ลูกเสือชาวบ้านและประชาชนเดินทางไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ถนนพระอาทิตย์ เรียกร้องให้ปลดสมาชิกระดับสูง 3 คน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ได้แก่ สุรินทร์ มาศดิตถ์, ดำรง ลัทธพิพัฒน์ และชวน หลีกภัย โดยนำเชือกไปด้วยเพื่อเตรียมแขวนคอบุคคลทั้งสาม เพราะเชื่อว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ต่อมาประชาชนกลุ่มนี้เดินทางต่อไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นคำขาดต่อนายกรัฐมนตรี ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าจนหลังรัฐประหาร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารปรากฏพระองค์และตรัสให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน[20]:251

ในเวลา 18.00 น. คณะทหารที่เรียกตนเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ซึ่งมีพลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้าคณะ ประกาศยึดอำนาจ เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งในวันที่ 25 กันยายน คณะรัฐประหารมีแถลงการณ์ว่าการยึดอำนาจมีความจำเป็นเพราะนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและขัดขืนการจับกุมโดยมีอาวุธหนักและร่วมมือกับนักคอมมิวนิสต์เวียดนาม[30] ข้อเท็จจริงที่ว่าชุมพลเจตนาอนุญาตให้ยิงแสดงว่าเขาทราบว่าจะมีรัฐประหาร เพราะรัฐบาลพลเรือนจะสั่งดำเนินคดีต่อเขา[10]: 255 

หลังเหตุการณ์

ผลกระทบทางการเมือง

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่พระมหากษัตริย์โปรด เป็นนายกรัฐมนตรี ธานินทร์เลือกคณะรัฐมนตรีด้วยตัวเองโดยไม่สนใจรายชื่อของคณะรัฐประหาร[10]: 259  รัฐบาลสั่งปิดสื่อห้ามเผยแพร่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งหมด 3 วัน รัฐบาลชุดนี้เป็นชุดที่นิยมเจ้าและต่อต้านฝ่ายซ้ายดุดันที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาหนีไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กว่า 3,000 คน[20]:258 มีการโจมตีกองโจรเป็นระลอกตามมา ซึ่งเพิ่มถึงขีดสุดในต้นปี 2520[36] มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นภัยสังคมเชื่อว่าจำนวนอย่างน้อย 8,000 คนระหว่างเดือนตุลาคม 2519 ถึงมิถุนายน 2520[37]: 50  และถูกนำเข้าฝึกอบรมหลายเดือนเพื่อมิให้เป็นภัยต่อสถาบันหลักของชาติ[21]: 423  มีสื่อไม่กี่สำนักซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเหลือรอดจากเหตุการณ์[37]: 52  มีเจ้าหน้าที่ราชการลับคอยนั่งฟังบรรยายของครูอาจารย์[37]: 52  ไม่ช้าลัทธิคลั่งชาติของธานินทร์ก็ได้บาดหมางกับแทบทุกภาคส่วนของสังคมไทย[10]: 246  รัฐบาลถูกวิจารณ์ว่ามีแนวคิดขวาจัด อีกทั้งเสถียรภาพของรัฐบาลเองก็ไม่มั่นคงเพราะถูกคณะนายทหารครอบงำ วันที่ 26 มีนาคม 2520 มีความพยายามรัฐประหารโดยมีพลเอก ฉลาด หิรัญศิริ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้นำ แต่กระทำการไม่สำเร็จ พลเอกฉลาดถูกประหารชีวิตฐานเป็นกบฏ[38] สุดท้ายรัฐบาลชุดนี้สิ้นสุดลงด้วยรัฐประหารโดยคณะที่มีพลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้าคณะ โดยอ้างถึงความมั่นคงของรัฐ และความล่าช้าในการร่างรัฐธรรมนูญ[38] ทั้งนี้ สุรพล ธรรมร่มดี ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์ เห็นว่าบทบาทของ พคท. ช่วยถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายซ้ายและขวา ทำให้ไม่เกิดการปราบปรามรุนแรงและภาวะเผด็จการยาวนานเหมือนกับประเทศอินโดนีเซียสมัยซูการ์โน[39]: 100 

หลังหมดรัฐบาลธานินทร์การปฏิรูปประชาธิปไตยเป็นไปอย่างทีละน้อย แต่เป็นระบอบที่ไม่ท้าทายผลประโยชน์ของชนชั้นนำเหมือนสมัยปี 2516–2519 อีก คือไม่สนใจเรื่องความขัดแย้งของชนชั้น[40]: 65  กระแสสังคมนิยมถูกทำลาย[40]: 76  หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีความพยายามตีความเหตุการณ์ 6 ตุลาใหม่โดยไม่ได้มองว่าเป็นจุดจบของกระบวนการประชาธิปไตยอีกต่อไป แต่เป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อไปได้ใหม่[20]:271

ผลกระทบทางสังคม

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการชั่วคราวที่ระลึกถึงเหตุการณ์

กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้รับการแก้ไขหลังเกิดเหตุการณ์นี้ มีการปรับโทษจากเดิมไม่เกินเจ็ดปี เป็นจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี สำหรับคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร จะมีผลทำให้มีการตีความถอยกลับคืออาจมีการฟ้องคดีซ้ำได้แม้ศาลต่างประเทศพิพากษาถึงที่สุดและยังไม่พ้นโทษ, คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระมเหสี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกรัชกาล และต้องระวางความตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายทหารต่างกรรมกัน และห้ามอุทธรณ์ฎีกาในเวลาไม่ปกติ (เช่น กฎอัยการศึก)[41]

ผลของรัฐประหารปี 2519 ทำลายขบวนการเคลื่อนไหว 3 ประสาน หรือแนวร่วมระหว่างนักศึกษา กรรมกรและชาวนา ทำให้องค์การแรงงานต้องพึ่งตนเอง[42]: 82  ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นช้ามากเมื่อเทียบกับช่วงประชาธิปไตย คือ จาก 12 บาทต่อวันในปี 2516 เป็น 25 บาทต่อวันในปี 2518 ก่อนเพิ่มเป็น 28 บาทต่อวันในปี 2520 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่บังคับใช้นานที่สุดนับแต่มีกำหนดขึ้น[42]: 82  การดำเนินการของสหภาพแรงงานถูกควบคุมอย่างสูง มีการจัดตั้งองค์การน้อยลง จำนวนข้อพิพาทแรงงานลดลง[42]: 82  ลูกจ้างที่หยุดงานในช่วงรัฐบาลธานินทร์ถูกจับในข้อหาภัยสังคม[42]: 85  รัฐบาลออกกฎหมายห้ามนัดหยุดงานอยู่ช่วงหนึ่งก่อนยกเลิกไป[42]: 86–7  มีการออกกฎกระทรวงจำกัดสิทธิการนัดหยุดงานของกิจการบางประเภทที่ใช้มาถึงปัจจุบัน เช่น รัฐวิสาหกิจ กิจการขนส่งหรือกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง[42]: 88 

ช่วงปี 2521–3 นักศึกษาจัดตั้งองค์การเคลื่อนไหวได้ใหม่อีกแต่อยู่ภายใต้อิทธิพลของ พคท. อย่างลึกซึ้ง จนอิทธิพลดังกล่าวหมดไปในปี 2526[43]: 144  ช่วงปี 2526–31 หลังจากเครือข่ายนักศึกษาระหว่างสถาบันหมดบทบาทลง ได้มีการจัดตั้งองค์การเคลื่อนไหว 4 แนวทาง เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)[43]: 166  การประท้วงของนิสิตนักศึกษาหายไปจนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (2535) และสร้างบรรยากาศกดขี่อย่างทารุณจนถึงคริสต์ทศวรรรษ 1980[44]: 77  ชาญวิทย์ เกษตรศิริเตือนในปี 2563 ว่า หากคิดจัดการชุมนุมทางการเมืองอย่าค้างคืนเพื่อไม่ให้ทางการวางแผนปราบปรามได้ จะซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา[45]

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่เกินปกติเป็นลบช่วงสั้น ๆ แต่เปลี่ยนกลับมาเป็นบวกภายใน 1–2 สัปดาห์[46]: 20–1 

วงการภาพยนตร์ไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลามีแต่ภาพยนตร์ข่าวของทางการเป็นส่วนใหญ่ ภาพยนตร์กึ่งสารคดี ทองปาน ว่าด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ทีมงานต้องหนีออกนอกประเทศ และกลับมาฉายในปี 2520 หลังตัดต่อแล้ว สำหรับเรื่องที่สะท้อนทัศนะของคนที่สมัยนั้น เช่น หนักแผ่นดิน กำกับโดยสมบัติ เมทะนี เนื้อหาว่าด้วยลูกเสือชาวบ้านที่ต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย[47]

กระบวนการทางกฎหมาย

"แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ"[11]: 64 

ผู้ประท้วง 27 คนถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี ไม่มีผู้ก่อการคนใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อันที่จริงผู้ฆ่าได้รับความดีความชอบในฐานะผู้พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์[11]: 64  สมาชิกคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองได้รับการนิรโทษกรรม แต่ไม่ห้ามดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง[10]: 266  นอกจากนี้ ไม่มีการสืบสวนของรัฐใด ๆ ทั้งสิ้นต่อสาเหตุของเหตุการณ์ หรือว่านักศึกษาสะสมอาวุธหรือไม่[11]: 8–9  ธงชัยเห็นว่าสุดท้ายแล้วไม่น่าเอาผิดผู้ใดได้ ส่วนหนึ่งเพราะความจริงจะทำลายบุคคลจำนวนมาก และสามสถาบันของชาติ[20]:252 จนถึงปี 2554 ญาติผู้เสียชีวิตกล่าวว่ายังไม่มีการชดเชยจากรัฐบาลใด[48]

สุวรรณ แสงประทุมกับพวกรวม 18 คนที่ถูกจำคุกมาตั้งแต่แรกโดยไม่มีการตั้งข้อหา จนถูกฟ้องฐานก่อกบฏ ก่อจลาจล ต่อสู้และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และรวมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ และอีก 1 คนถูกฟ้องศาลพลเรือนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[21]: 434  คดีเริ่มในศาลทหารตามคำสั่งของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2520 หรือประมาณ 10 เดือนหลังถูกจับ รัฐบาลกำหนดให้ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิใช้ทนายความ แต่มีผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ในคดีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส[20]:254 ต่อมา หลังรัฐบาลธานินทร์ล้มไป นักวิชาการและผู้นำพลเรือน ทนายความ ชาวไทยในต่างประเทศ รัฐและองค์การระหว่างประเทศจำนวนมากเข้าชื่อเรียกร้องให้นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดี[20]:254 ผู้ต้องหาค่อยได้รับอนุญาตให้มีทนายความ[21]: 434  การพิจารณาคดีทุกครั้งมีผู้เข้าร่วมนับพันคน ข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผยมากขึ้น ฝ่ายผู้เกี่ยวข้องได้รับการชี้ความผิดและข้อน่าสงสัยจนเป็นผู้เสียประโยชน์เอง[21]: 434–5 

รัฐบาลเร่งผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ กรณี 6 ตุลาอย่างรวดเร็วจนตราในวันที่ 16 กันยายน 2521[21]: 435  จำเลยในคดีถูกปล่อยตัวและถอนข้อหาทั้งหมด[49]:44 นับเป็นการเคลื่อนไหวทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สังหารหมู่และรัฐประหารไม่ต้องถูกดำเนินคดีใด ๆ ในอนาคต[49]: 64  กฎหมายยังระบุด้วยว่าจำเลยกระทำความผิดเนื่องจากด้อยประสบการณ์[20]:254 เกรียงศักดิ์ย้ำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอภัยโทษให้ จำเลยควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเตือน "ไม่ให้ผิดซ้ำอีก"[20]:254

ปฏิกิริยาและมติมหาชน

อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาเกือบไม่ได้สร้างขึ้น เพราะปฏิกิริยาของเหตุการณ์ 6 ตุลา

ประชาชนต้อนรับรัฐประหารด้วยความโล่งใจอย่างกว้างขวางเพราะการชุมนุมประท้วงสร้างความวิตกกังวลใหญ่หลวง[8] หนังสือพิมพ์ระหว่างเดือนตุลาคม 2519 ถึงมกราคม 2520 เรียกผู้เสียหายว่าผู้ก่อความไม่สงบ ผู้ก่อความวุ่นวาย คอมมิวนิสต์ กบฏ ผู้หลงผิดและศัตรู[20]:253 ทางการจัดกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อในหลายจังหวัด เช่น นิทรรศการเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่บริเวณสนามไชย[21]: 422  ซึ่งเล่าว่าประชาชนที่เคียดแค้นพยายามจะเข้าไปจัดการกับ ศนท. ด้วยตนเอง ส่วนเจ้าหน้าที่พยายามระงับเหตุไทยฆ่ากันเอง แต่ถูกนักศึกษาใช้อาวุธก่อนจึงต้องตอบโต้ และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำทารุณ[21]: 423  วันที่ 7 ตุลาคม 2519 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอสองพระองค์เสด็จ ฯ เยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ และอีกสองสัปดาห์เสด็จฯ ในงานบรรจุศพของลูกเสือชาวบ้านผู้เสียชีวิต[21]: 423  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระราชดำรัสในวันที่ 31 ธันวาคม 2519 ตอนหนึ่งว่า "...ประชาชนคนไทยมีการแสดงออกชัดเจนขึ้น ว่าต้องการอะไร เมื่อแสดงออกมาเช่นนี้ ก็ทำให้รู้ใจกัน และสามารถช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสิ่งที่ต้องการ มีจะมีอุปสรรค แม้ความยากลำบากขัดขวางอยู่ก็ทำได้ ขอเพียงให้ร่วมมือ ร่วมใจกันจริง ๆ..."[50] ด้านพลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร นายตำรวจพระราชสำนัก ให้ความเห็นต่อพระราชดำรัสว่า "ที่ถูกที่สุดก็คืออย่าแปล รับสั่งว่าอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น ถ้าแปลแล้วอาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้"[51]

การพิจารณาคดี 6 ตุลาในปี 2520–21 ทำให้มติมหาชนเปลี่ยนไป โดยในคดีนั้นธงชัยรู้สึกว่ารัฐกลายเป็นจำเลยเสียเอง[20]:254 อย่างไรก็ดี แม้หลังรัฐบาลนิรโทษกรรมแกนนำนักศึกษาแล้ว แต่รัฐบาลยังห้ามเผยแพร่วาทกรรมสวนทาง คือจะปล่อยให้สังคมลืมไปเอง[20]:254 รัฐบาลใช้วิธีตรวจพิจารณาสื่อ คงไว้เฉพาะการรำลึกถึงในมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งเท่านั้น[20]:255 แม้สังคมจะหันมาเห็นใจนักศึกษามากขึ้นแล้ว แต่ก็มาพร้อมเงื่อนไข "หุบปากเหยื่อ"[11]: 37–8  กิจกรรมรำลึกครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ในปี 2539 มีปฏิกิริยาของสื่อและสาธารณะในทางยอมรับเสียงของผู้ถูกกระทำ เริ่มมีการพูดถึงในวงกว้างขึ้นในฐานะความเหี้ยมโหดที่ไทยฆ่ากันเองเพราะความเห็นต่าง เป็นประวัติศาสตร์ที่รอการชำระ[21]: 445 

วีรชนเดือนตุลาที่กลุ่มการเมืองแทบทุกฝ่ายยกเว้นกองทัพกลับถูกตีความใหม่ว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย เป็นเหตุให้ไม่ได้สร้างอนุสาวรีย์ทั้งที่วางศิลาฤกษ์แล้วในเดือนตุลาคม 2518[20]:266 เริ่มมีความพยายามสร้างอนุสาวรีย์แก่วีรชนเดือนตุลา และนักศึกษา 6 ตุลาในปี 2532 แต่ล่าช้ามาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายในปี 2541 มีการตั้งอนุสาวรีย์อุทิศให้แก่วีรชน 14 ตุลา 2516 ซึ่งธงชัยแย้งว่าที่ตั้งได้ส่วนหนึ่งเพราะกันนักศึกษา 6 ตุลาไปแล้ว[g]

ปฏิกิริยาของฝ่ายซ้าย

ทัศนะเกี่ยวกับการล่มสลายของขบวนการฝ่ายซ้ายที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดมีว่า การกระทำของฝ่ายซ้ายเองในช่วงปี 2516–2519 ทำให้ฝ่ายขวามีข้ออ้างสวนกลับได้[20]:270 ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ดูไม่ออกเลยว่าคณะรัฐประหารจะรอดจากปฏิกิริยา แต่หลังเหตุการณ์ทำให้การประท้วงเป็นไปไม่ได้อีก[3]: 10  นักศึกษาจำนวนมากไปเข้ากับ พคท. เพราะเชื่อตามพรรคที่ว่าแนวทางรัฐสภาใช้ไม่ได้ผล[20]:258–9 หลายคนรู้สึกขมขื่นและแค้นใจซึ่งหวังใช้พรรคแก้แค้นเพื่อนที่เสียชีวิต[20]:259 แต่ต่อมานักศึกษาที่เข้าป่าก็ขัดแย้งกับ พคท. หมดศรัทธาเนื่องจากอุดมการณ์แบบลัทธิเหมาซึ่งเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ ต่างทยอยออกมารับข้อเสนอของรัฐให้กลับคืนสู่สังคม[20]:260–1 นับแต่นั้นฝ่ายซ้ายหลายคนจึงละอายใจ ส่วนหนึ่งเพราะกลับมารับความเมตตาของรัฐไทย อีกส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกผิดกับการแบ่งฝ่ายและความตายของสมาชิกที่ชักชวนเข้าพรรค[20]:261–2 หลายคนฆ่าตัวตาย บางคนยังยึดถือแนวทางรุนแรงก็ไปเข้ากับศาสนาพุทธมูลวิวัติและองค์การนอกภาครัฐประชานิยม[20]:261 หลังปี 2539 ฝ่ายซ้ายหลายคนกล้าเปิดเผยเรื่องของตนมากขึ้น หลายคนเล่าอดีตที่เคยเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ด้วยความภูมิใจ[21]: 445 

ปฏิกิริยาของฝ่ายขวา

ความจริงที่เขาและผู้เขียนรู้อาจจะเป็นชุดเดียวกันมากที่สุดก็เป็นได้ แต่เขาก็จะไม่แคร์และไม่ปิดบัง เพียงแต่เขาให้คุณค่าความหมายแบบหนึ่ง ผู้เขียนให้ตรงข้ามไปอีกแบบ [...] -ณ- ต้องการเทศนาแก่ผู้เขียนว่าจะต้องเข้าใจความจริงนั้นในแบบที่เขาคิด แถมยังเตือนว่าความเข้าใจแบบนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ผู้เขียนเองได้ยินได้ฟังมานักต่อนักซ้ำแล้วซ้ำอีกแต่ยังคงดื้อด้านอยู่ ดังนั้นก็จงตระหนักว่ามี "คนประเภทเดียวกับเขา" อยู่เต็มประเทศไทย

—ธงชัย วินิจจะกูล[h]

หลายเดือนหลังจากนั้นฝ่ายขวาตอกย้ำความเลวร้ายของนักศึกษา และตนประกอบวีรกรรมรักษาประเทศชาติไว้ได้[21]: 411  ฝ่ายขวาได้สร้างความทรงจำแบบฉบับขึ้นแทบทันที[21]: 426  เป็นการโฆษณาที่ ท่ามกลางบรรยากาศ "ล่าแม่มด" สมัยรัฐบาลธานินทร์มีครูบาอาจารย์ให้การแก่ตำรวจเรื่องนักเรียนนักศึกษาฝ่ายซ้าย อาจารย์แพทย์รายหนึ่งแจ้งจับแพทย์และบุคลากรโรงพยาบาลเดียวกัน ข้าราชการมหาวิทยาลัยให้ชื่ออาจารย์และบุคลากรร่วมมหาวิทยาลัย[21]: 430 

การส่งเสริมให้สังคมลืมเหตุการณ์หลังพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ปี 2521 หมายความว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่ใช่ชัยที่ควรฉลองอีกต่อไป[21]: 436  ผู้มีอำนาจหลายคน เช่น พลตรี จำลอง ศรีเมือง นายทหารกลุ่ม "ยังเติร์ก", พลเอกชาติชาย และสมัคร[21]: 437–8  ต่างปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่และความสัมพันธ์กับขบวนการฝ่ายขวา[20]:255–6 เป็นอันว่าวาทกรรมของฝ่ายขวาก็ถูกกดให้เงียบ คงเหลือเพียงการแก้ตัวหรือหลบเลี่ยง[21]: 438  ถึงอย่างนั้นควรสังเกตว่าพวกเขาไม่ประณามเหตุดังกล่าว เข้าใจว่าบุคคลเหล่านี้กลบเกลื่อนไว้เพื่อประโยชน์ด้านความนิยมเท่านั้น[20]:256–7 บทความของพันตำรวจตรีมนัสในปี 2537 นับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายปราบปรามออกมาเล่าแย้งกับทัศนะแบบฉบับของฝ่ายขวา เช่น เห็นนักศึกษายอมแพ้[21]: 439  กระนั้นเขายังมีทัศนะฝ่ายขวาว่านักศึกษาเป็น "เชลย" และคนถูกยิงเป็นญวน[21]: 439–40  ในปี 2541 พลตำรวจโท สมควร หริกุล ผู้ร่วมก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่านักศึกษาและ พคท. หวังดีต่อชาติ[11]: 45  ส่วนพลตรี สุดสาย หัสดิน หัวหน้ากระทิงแดง ว่ายัง "ภูมิใจที่ช่วยให้ประเทศไทยยังรักษาประชาธิปไตยไว้ได้"[11]: 45  เมื่อปี 2551 สมัคร สุนทรเวชปฏิเสธว่าไม่เคยมีการสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาว่ามีผู้เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุเพียงคนเดียว โดยอ้างถึง "ชายโชคร้ายคนหนึ่งถูกทุบตีและเผาที่สนามหลวง" (คือศิลปิน มนัส เศียรสิงห์ ซึ่งร่างถูกลากออกมาจากกองศพและถูกตัดแขนขาต่อหน้าผู้เห็นเหตุการณ์ที่ยืนเชียร์)[52][53]

ฝ่ายขวาหลายคนรู้สึกว่าพวกตนตกเป็นจำเลยสังคม แต่ส่วนใหญ่ยังมิได้มองว่าพวกตนกระทำผิด[21]: 411–2  สมาชิกกระทิงแดงระดับล่างหลายคนบอกว่าพวกตนเป็น "ผู้ปิดทองหลังพระ" หมายความถึง การยอมรับการถูกประณามเพื่อส่วนรวม "คนเบื้องหลังที่เป็นอีแอบของคน 2 กลุ่มเคยถูกขุดคุ้ยออกมาพูดไหม ไม่เคย คนที่เป็นอีแอบปัจจุบันก็ยังเป็นอีแอบอยู่"[21]: 445  ยืนยันว่าพวกตนไม่ได้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์โดยตรง คนหนึ่งว่าจะเข้าไปช่วยนักศึกษาด้วยซ้ำ[21]: 448  ธงชัยเสนอว่ายังมีฝ่ายขวาในประเทศไทยอีกมากที่รับทราบข้อเท็จจริง และยอมรับโดยไม่ปิดบัง แต่มีทัศนะต่างไปจากฝ่ายซ้าย ซึ่งทำให้ตนถูก และฝ่ายซ้ายผิดอยู่ดี[21]: 495 

ประวัติศาสตร์นิพนธ์

ภาพประตูเหล็กที่ใช้แขวนคอพนักงานการไฟฟ้าในนิทรรศการระลึก 44 ปีหกตุลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประวัติศาสตร์กระแสหลักแทบไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ในปี 2562 หนังสือพิมพ์ประชาไท ได้สำรวจแบบเรียนสังคมศึกษาระดับมัธยมจำนวน 23 เล่ม ที่ใช้หลักสูตรปี 2544, 2559 และ 2560 มี 17 เล่ม (74%) ที่ไม่กล่าวถึงเลย, 2 เล่ม (8.5%) กล่าวถึงในลักษณะพาดพิงเท่านั้น, 4 เล่ม (17.5%) ให้รายละเอียดและบริบทมากน้อยต่างกัน[54] ตัวอย่างของความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีอยู่น้อย เช่น การระบุว่าภาพที่ถ่ายโดยนีล อูเลวิชนั้น เป็นภาพถ่ายร่างของวิชิตชัย อมรกุล ซึ่งเพิ่งมาทราบว่าผิดเมื่อโครงการ 6 ตุลาตีแผ่[32] ศาสตราจารย์ ธงชัย วินิจจะกูล หนึ่งในผู้ประท้วงนักศึกษา เขียนว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ผิดที่ทางในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของไทย เพราะเบี่ยงเบนไปจากวาทกรรมปกติอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะไทยฆ่ากันเองอย่างรุนแรงจนบุคคลทั่วไปคาดไม่ถึง และเป็นการกระทำในนามของสามสถาบันหลักของไทย ทั้งยังสั่นคลอนความเชื่อว่าประเทศไทยมีแต่ความสงบสุข[20]:265 แม้แต่ชื่อ "เหตุการณ์ 6 ตุลา" ก็ยังกำกวมเพราะส่อความเลื่อนลอยและบดบังอดีต[20]:265 ประวัติศาสตร์ฉบับสมบูรณ์ของเหตุการณ์ไม่อาจเขียนขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข[20]:253 ธงชัยเสนอเหตุผลที่ทำให้ไม่มีประวัติศาสตร์สาธารณะของเหตุการณ์ 6 ตุลาว่าส่วนหนึ่งเพราะเหตุการณ์นี้เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ไม่ได้มีผู้ร้ายเป็นเผด็จการทหารฝ่ายเดียวเหมือนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา จึงมักมีการแบ่งแยกสองเหตุการณ์นี้ นอกจากนี้แม้สังคมไทยจะเปลี่ยนทัศนคติจากที่มองว่านักศึกษากระทำผิดเป็นเหยื่อ แต่กระแสหลักของสังคมกำหนดให้เลิกตั้งข้อสงสัยต่าง ๆ "เพื่อสมานฉันท์สังคม"[11]: 23 

อนุสรณ์ในปี 2539 เป็นการหยุดการปิดปากเงียบที่สำคัญ แต่ยังงดกล่าวถึงกองทัพหรือองค์การอนุรักษนิยม[20]:274 แม้แต่การประณามความรุนแรงโดยรัฐก็เลี่ยงไม่โทษบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพียงยกย่องการเสียสละตนของผู้เสียหายเท่านั้น[20]:274–5 ด้านไทเรล ฮาเบอร์คอร์น สันนิษฐานว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคตในปี 2559 คงทำให้เอ่ยถึงผู้ลงมือได้ยากยิ่งขึ้นเพราะรัชกาลของพระองค์จะถูกทำให้เป็นอุดมคติ[35]: 271  มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519" ราวเดือนกรกฎาคม 2543 โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ชลธิชา สัตยาพัฒนาเป็นประธาน คณะกรรมการฯ ได้รับฟังข้อมูลจากผู้มาให้ปากคำ 62 คนในเดือนกันยายน 2543[11]: 8–9  ประกอบกับใช้หลักฐานอื่น เช่น คำให้การของตำรวจ แหล่งข้อมูลตีพิมพ์ และเทปบันทึกภาพและเสียง จนได้รายงานออกมาสองเล่ม คือ อาชญกรรมรัฐ ในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง และ กรีดแผล กลัดหนอง กรองความจริง โดยผู้หญิง 6 ตุลาฯ[11]: 10  ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ ฟ้าเดียวกัน เป็นผู้พบเอกสารที่หอจดหมายเหตุของสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อราวปี 2540 แล้วคัดลอกออกมาเท่าที่ได้[32] พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งโครงการหอจดหมายเหตุ (archive) "บันทึก 6 ตุลา"[55] การค้นหาข้อมูลของโครงการฯ ได้ชุดภาพถ่ายของเหตุการณ์จากหลายแหล่ง ส่วนหนึ่งได้มาจากแฟรงค์ ลอมบาร์ด อดีตนักข่าวสถานีวิทยุนิวซีแลนด์ที่เป็นภาพสีถ่ายด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งได้มาจากปฐมพร ศรีมันตะ ซึ่งได้มาจากผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง เมื่อดูจากมุมมองที่ถ่ายแล้วน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐถ่าย[32] ข้อมูลจากเอกสารชันสูตรพลิกศพของโรงพยาบาลศิริราชทำให้สามารถระบุรูปพรรณของผู้ถูกแขวนคอได้อีก 1 คน[32] การค้นหาข้อมูลจากเอกสารราชการเพิ่มเติมอาจไม่สามารถกระทำต่อไปได้แล้วเพราะกฎหมายให้ทำลายเอกสารราชการที่มีอายุเกิน 25 ปี[32] สำหรับการสืบสวนหลักฐานที่มูลนิธิร่วมกตัญญูพบว่าภาพถ่ายเหตุการณ์ถูกทำลายไปแล้วในปี 2535[32] ส่วนมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งไม่อนุญาตให้เข้าถึงภาพนั้นเพราะเป็นเรื่องการเมือง[32] ภัทรกรติดต่อญาติผู้เสียชีวิตเพื่อขอสัมภาษณ์ พบว่ามีปฏิกิริยาทั้งยินดี โกรธ กลัวและเย็นชา บางครอบครัวมองว่าการเปิดเผยข้อมูลไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ส่วนบางครอบครัวบอกว่าต้องการความจริง[56]

ภาพจากแหล่งข้อมูลภายนอก
image icon ภาพ "ตอกอก" โดยปรีชา การสมพจน์ ที่เพิ่งเผยแพร่ในปี 2565

ภาพถ่ายของอูเลวิชเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพยนตร์และละครเวทีหลายเรื่อง และกลายเป็นอินเทอร์เน็ตมีมเสียดสีที่ใช้กับความคิดเชิงต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์[57] ความพยายามตามหาชายที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ปรากฏในภาพของอูเลวิชในปี 2560 นั้นไม่เป็นผล[58] ในปี 2562 พวงทองนำประตูแดงอันเป็นที่พบศพพนักงานการไฟฟ้าในจังหวัดนครปฐมมาเก็บไว้เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์[59] ในปี 2565 มีการเปิดเผยว่ายังมีรูปถ่ายประวัติศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีการเผยแพร่เนื่องจากคำสั่งตรวจพิจารณาสื่อหลังรัฐประหารปี 2519 ในนิทรรศการ 6 ตุลาปี 2565 มีการเปิดเผยภาพถ่ายของปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งมีภาพคนใช้ไม้ตอกอกศพนักศึกษาที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยในปี 2519 และเป็นภาพที่สำนักข่าวเอพีคัดสรรให้เป็นหนึ่งในภาพข่าวยอดเยี่ยมที่สุดแห่งศตวรรษในปี 2542[60]

อนุสรณ์และมรดก

อนุสรณ์ 6 ตุลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การรำลึก

การจัดงานรำลึกประจำปีปกติเน้นเพื่อกระตุ้นเตือนสังคมถึงการไม่ต้องรับผิด จิตวิญญาณประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ไม่ค่อยเกิดผลเท่าใดนัก[61] วิภา ดาวมณี อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า หลังวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตแตกออกเป็นเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ทำให้ขาดความร่วมมือในการจัดงานรำลึก[48]

ในปี 2539 มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 20 ปี เป็นครั้งแรกที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์รวมกันบอกเล่าเรื่องในแบบผู้ถูกกระทำ[21]: 444  มีการตีพิมพ์หนังสือหลายเรื่องซึ่งเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ตัวอย่างหนังสือสำคัญ เช่น เราไม่ลืม 6 ตุลา, มหาวิทยาลัยของฉัน, ตุลากาล, 6 ตุลาจารึก ความทรงจำ ความหวัง บทเรียน ฯลฯ

งานรำลึกครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 6–8 ตุลาคม 2559 แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติอนุญาตให้จัดงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เตือนว่าได้วางกำลังนอกเครื่องแบบ และอาจสั่งปิดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม[35]: 272–3  นับเป็นงานที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดนับแต่งานครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ในปี 2539[35]: 273  การจัดงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ นักแสดง กล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมและมาตรฐานเดียว ส่วนเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าอาจต้องรออีก 40 ปีเหตุการณ์นี้จึงจะเป็นประวัติศาสตร์ของสังคม เช่นเดียวกับการสังหารหมู่นานกิงที่เป็นบทเรียนแก่ชาวญี่ปุ่น[61] เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรม มองว่ากลยุทธ์อันจืดชืดของนักกิจกรรมในอดีตอาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้มีการจัดรำลึกของนักศึกษาน้อย ส่วนเขาจัดกิจกรรมโดยมีเกม และระดมทุนจากการขายเสื้อยืด[62] นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในปี 2562 มีการจัด "นิทรรษการ | พยาน" และโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ซึ่งรวบรวมพยานหลักฐานในเหตุการณ์[63] ในเดือนตุลาคม 2564 มีการมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย เป็นครั้งแรกโดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มอบให้แก่นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรียกร้องและปกป้องประชาธิปไตย โดยตั้งชื่อตามจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักกิจกรรมที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา[64] การจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาในปีหลัง ๆ ถูกขัดขวางจากผู้บริหารสถานศึกษาหลายกรณี[65][66][67] ในงานดนตรี "6ตุลาหวังว่าเสียงลมจะพาล่องไป" เมื่อปี 2565 เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันเมื่อผู้ร่วมการแสดงบางส่วนไม่พอใจที่มีนักกิจกรรมเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในงาน[68] โดยมีคำพูดอย่าง "ใครตายก็ช่างแม่ง จะดูคอนเสิร์ต"[69]

วัฒนธรรมสมัยนิยม

ในปี 2520 มีภาพยนตร์ที่สะท้อนทัศนะฝายขวา เก้ายอด โดยสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ที่นำภาพข่าวชุมนุมมาสื่อว่าต้องการล้มล้างประชาธิปไตย[47] แต่ในปีเดียวกัน ก็มีชาวญี่ปุ่น โอโอกะ เรียวโออิจิ เรียบเรียงฟุตเทจภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาถึง 6 ตุลา เป็นภาพยนตร์ชื่อ จักจำไว้จนวันตาย (They Will Never Forget)[70] ปี 2546 ภาพยนตร์สั้นเรื่อง อย่าลืมฉัน ที่ได้รางวัลรัตน์ เปสตันยี ประจำปี 2546[71] ในปี 2548 มีภาพยนตร์เรื่อง โคลิค เด็กเห็นผี มีการเล่าเรื่องลิฟท์แดงซึ่งเกิดจากการยิงปืนเข้าไปในลิฟต์ระหว่างเหตุการณ์ 6 ตุลา[72] ปี 2552 มีภาพยนตร์ที่เนื้อหาว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา หลายเรื่อง เช่น ฟ้าใส ใจชื่นบาน เล่าเรื่องของนักศึกษาที่หนีเข้าป่าในเชิงขบขัน, มหาลัยสยองขวัญ ตอนลิฟท์แดง และ October Sonata: รักที่รอคอย ที่นำเสนอผ่านความรัก การรอคอย และนวนิยายเรื่อง สงครามชีวิต ของศรีบูรพา[47]

ภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง (2559) เล่าถึงผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต้องการสร้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นภาพยนตร์ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม[73] ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ และชมรมวิจารณ์บันเทิง และเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์[47] แต่ตำรวจสั่งงดฉายในประเทศไทย[73] ภาพยนตร์สั้น พิราบ (2560) กำกับโดยบัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยเรื่องราวของนักศึกษาที่ถูกปราบปรามในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับรางวัลพิราบขาว จากมูลนิธิ 14 ตุลา และรางวัลชมเชย สาขาช้างเผือก[74]

ภัทรภร ภู่ทองเป็นผู้กำกับสารคดีบทสัมภาษณ์ญาติและเพื่อนของผู้เสียชีวิต ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ด้วยความนับถือ (Respectfully Yours, 2559) ฉายครั้งแรกในวันครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์ นำเสนอบทสัมภาษณ์ของญาติผู้เสียชีวิต พวงทอง ภวัครพันธุ์ ผู้ผลิต กล่าวว่า เป็นความพยายามขับเน้นใบหน้าของผู้เสียหาย ไม่ใช่ถูกทำให้เป็นตัวเลข[75] เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการหอจดหมายเหตุดิจิทัล[35]: 273  สองพี่น้อง เป็นภาพยนตร์สั้นที่นำเสนอนิยายของนักกิจกรรมสองพี่น้องช่างไฟฟ้านักกิจกรรมที่ถูกลงประชาทัณฑ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 ภาพยนตร์แสดงบทสัมภาษณ์ชีวประวัติของญาติผู้เสียชีวิต ชุมพรและวิชัย ภาพยนตร์ยังแสดงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นประตูทางเข้าที่ดินว่างเปล่าแปลงหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ที่เรียก "ประตูแดง"[55] อีกเรื่องหนึ่งคือ ความทรงจำ-ไร้เสียง (2557)[47]

ในปี 2561 มิวสิกวิดีโอเพลงแร็ปใต้ดิน "ประเทศกูมี" ของกลุ่มแร็ป Rap Against Dictatorship ใช้ฉากหลังเป็นการลงประชาทัณฑ์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา[76]

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

  1. มักเข้าใจผิดว่าเป็นวิชิตชัย อมรกุล[1]
  2. เป็นผู้ประท้วง 40 คน และ ผู้ก่อการ 5 คน; ลดลงจาก 46 คน หลังมีการชำระภายหลังโดยโครงการบันทึก 6 ตุลา[2]
  3. ดูที่ [5][6][7]
  4. ต่อมากลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ กลายเป็นเครือข่ายของกลุ่มอภิรักษ์จักรี[21]: 416 
  5. เนื่องจากพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชที่วัดนี้[20]: 248 
  6. This figure was accepted by the Washington Post. ("Deaths" [Obituary for Sudsai Hasadin], Washington Post, August 18, 2001)
  7. เรื่องอนุสาวรีย์วีรชนเดือนตุลานั้น ในปี 2532 รัฐบาลชาติชาย (ซึ่งตัวเขาเองสนับสนุนการเดินขบวนของฝ่ายขวาในเหตุการณ์ 6 ตุลา) ตกลงจะสร้างอนุสาวรีย์ แต่ก็ไม่ได้สร้าง ในปี 2538 แผนการสร้างอนุสาวรีย์ได้เริ่มขึ้นแล้วที่สวนสันติพร แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างถนนเลี่ยงเมืองในบริเวณนั้น ทำให้แผนต้องถูกยกเลิกไปอีก จนในปี 2541 ธีรยุทธ บุญมีอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอานันท์ ปันยารชุนเจรจาทำสัญญาส่วนตัวกับผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนสุดท้ายมีการสร้างอนุสาวรีย์จนได้ แต่อุทิศให้แก่วีรชน 14 ตุลา 2516 เท่านั้น[20]:268–9
  8. ธงชัย วินิจจะกูลเขียนในบทความ "6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519–2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)" เล่าถึงการสัมภาษณ์ของตนกับนายพล "ณ" นายทหารเกษียณอายุราชการ ผู้เคยมีบทบาทในสถานีวิทยุยานเกราะ[21]: 495 

อ้างอิง

  1. "'คนตายมีชื่อ' ตามหาข้อมูลที่หายไปใน '6 ตุลา 19' พวงทอง ภวัครพันธุ์-ภัทรภร ภู่ทอง". สืบค้นเมื่อ 2020-07-19.
  2. "รายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จำนวน 40 คน". DOCUMENTATION OF OCT 6. สืบค้นเมื่อ 24 September 2021.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 3.19 3.20 3.21 3.22 3.23 3.24 3.25 3.26 3.27 3.28 3.29 Ungpakorn, Puey (July–September 1977). "Violence and the military coup in Thailand". Bulletin of Concerned Asian Scholars. 9 (3). doi:10.1080/14672715.1977.10406422. ISSN 0007-4810. สืบค้นเมื่อ 2020-07-20.
  4. 4.0 4.1 4.2 "คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 : แง่มุมในหลืบประวัติศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-21. สืบค้นเมื่อ 2020-07-21.
  5. Solomon, Feliz (6 ตุลาคม 2559). "Thailand Is Marking the Darkest Day in Its Living Memory". time.com. TIME. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  6. Rojanaphruk, Pravit (6 ตุลาคม 2559). "The Will to Remember: Survivors Recount 1976 Thammasat Massacre 40 Years Later". khaosodenglish.com. Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  7. Associated Press (6 ตุลาคม 2559). "Today in history: Thailand's Thammasat University massacre that killed 46 pro-democracy activists". scmp.com. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 "THAILAND: A Nightmare of Lynching and Burning, Time, October 18, 1976.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Anderson, Ben (1977). "Withdrawal symptoms: Social and cultural aspectsof the October 6 coup". Bulletin of Concerned Asian Scholars,. 9 (3). doi:10.1080/14672715.1977.10406423. สืบค้นเมื่อ 2020-07-22.{{cite journal}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  10. 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 10.10 10.11 10.12 10.13 10.14 10.15 10.16 10.17 10.18 10.19 10.20 10.21 Handley, Paul M. The King Never Smiles: A Biography of Thailand's Bhumibol Adulyadej. Yale University Press. ISBN 0-300-10682-3.
  11. 11.00 11.01 11.02 11.03 11.04 11.05 11.06 11.07 11.08 11.09 11.10 11.11 11.12 11.13 11.14 11.15 11.16 11.17 11.18 11.19 11.20 11.21 11.22 11.23 11.24 11.25 11.26 11.27 11.28 11.29 11.30 11.31 11.32 11.33 11.34 11.35 11.36 11.37 11.38 11.39 11.40 11.41 11.42 11.43 11.44 11.45 11.46 11.47 11.48 11.49 11.50 11.51 11.52 11.53 11.54 11.55 11.56 11.57 11.58 11.59 11.60 11.61 11.62 11.63 11.64 11.65 11.66 11.67 11.68 11.69 11.70 11.71 11.72 11.73 11.74 11.75 11.76 อึ๊งภากรณ์, ใจ; ยิ้มประเสริฐ, สุธาชัย; และคณะ (2544). อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง (PDF). คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. ISBN 9748858626. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-07-19.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Neher, Clark D., Modern Thai politics: from village to nation (1979).
  13. 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 13.10 13.11 13.12 13.13 เจียมธีรสกุล, สมศักดิ์ (2544). ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก. ISBN 9745728772.
  14. 6. กลุ่มทหารหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
  15. 40 ปี รัฐประหาร 26 มีนาคม (1) รำลึก “พลเอกฉลาด หิรัญศิริ” | สุรชาติ บำรุงสุข
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 Ungpakorn, Ji Giles, "From the city, via the jungle, to defeat: the 6th Oct 1976 bloodbath and the C.P.T. เก็บถาวร 2013-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Radicalising Thailand: New Political Perspectives. (2003) Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University.
  17. Leifer, Michael, Dictionary of the modern politics of South-East Asia (2001), p. 199.
  18. Glassman, Jim, Thailand at the Margins: Internationalization of the State and the Transformation of Labour (2004), p. 68.
  19. 19.0 19.1 Harris, Nigel "Thailand: The Army Resumes Command" Notes of the Month, International Socialism (1st series), No.93, November/December 1976, pp.8-9.
  20. 20.00 20.01 20.02 20.03 20.04 20.05 20.06 20.07 20.08 20.09 20.10 20.11 20.12 20.13 20.14 20.15 20.16 20.17 20.18 20.19 20.20 20.21 20.22 20.23 20.24 20.25 20.26 20.27 20.28 20.29 20.30 20.31 20.32 20.33 20.34 20.35 20.36 20.37 20.38 20.39 20.40 20.41 20.42 Thongchai Winichakul (2002). "Remembering/ Silencing the Traumatic Past". In Shigeharu Tanabe and Charles F. Keyes eds., Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos. Honolulu: University of Hawaii Press.
  21. 21.00 21.01 21.02 21.03 21.04 21.05 21.06 21.07 21.08 21.09 21.10 21.11 21.12 21.13 21.14 21.15 21.16 21.17 21.18 21.19 21.20 21.21 21.22 21.23 21.24 21.25 21.26 ธงชัย วินิจจะกูล, ศาตราจารย์ (2553). "6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519–2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)". ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย (PDF). มติชน. ISBN 9789740207009.
  22. "Samakography : Part 1," Bangkok Pundit.
  23. Walker, Andrew, "Samak Sundaravej เก็บถาวร 2012-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", New Mandala
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 เชื้อไทย, สมยศ (บ.ก.). คดีประวัติศาสตร์ ๖ ตุลา ใครคือฆาตกร. พี.เต.พริ้นติ้งเฮ้าส์.
  25. 25.00 25.01 25.02 25.03 25.04 25.05 25.06 25.07 25.08 25.09 25.10 25.11 "20 ปี 6 ตุลา 19 บทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่หลายคนอยากลืม". สารคดี. 12 (140). ตุลาคม 2539. ISSN 0857-1538.
  26. สล้าง บุนนาค กับเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา 2519
  27. Oct. 6 Massacre: The Photographer Who Was There.
  28. พวงทอง ภวัครพันธุ์; ธงชัย วินิจจะกูล (2561). "การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา 2519: ใคร อย่างไร ทำไม". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 2020-07-19.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  29. Puangthong Pawakapan : A Record of the Search for the Chair Man
  30. 30.0 30.1 30.2 Brutal Thai coup
  31. "สรุปวงเสวนา 'ความรู้และความไม่รู้ ว่าด้วย 6 ตุลา 2519' 40 ปีที่ยังหาคำตอบไม่ได้". 30 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 2020-07-19.
  32. 32.0 32.1 32.2 32.3 32.4 32.5 32.6 32.7 32.8 ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (2): นักสืบประวัติศาสตร์ผู้(กำลัง)ทำงานแข่งกับเวลา
  33. 6 ตุลา ประวัติศาสตร์อิหลักอิเหลื่อ และความพ่ายแพ้ทางประวัติศาสตร์ของอนุรักษ์นิยม
  34. "'สุวินัย' ยันขบวนนักศึกษา6ตุลาเป็นคอมมิวนิสต์แบบเหมาอิสต์ 'สมศักดิ์เจียม' ยังยอมรับความจริง". Thai Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  35. 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 Haberkorn, Tyrell (2017). "The Anniversary of a Massacre and the Death of a Monarch" (PDF). The Journal of Asian Studies. 76 (2): 269. doi:10.1017/S0021911817000018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 3 April 2020.
  36. Franklin B. Weinstein, "The Meaning of National Security in Southeast Asia,". Bulletin of Atomic Scientists, November 1978, pp. 20-28.
  37. 37.0 37.1 37.2 Human Rights in Thailand : Hearings Before the Subcommittee on International Organizations of the Committee on International Relations, House of Representatives, Ninety-Fifth Congress, First Session, June 23 and 30, 1977, U.S. Government Printing Office, 1977.
  38. 38.0 38.1 นรนิติ เศรษฐบุตร ศ., 26 มีนาคม คอลัมน์ส่วนร่วมสังคมไทย: หน้า 8 เดลินิวส์ฉบับที่ 22,807 ประจำวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555
  39. ธรรมร่มดี, สุรพล (มกราคม–มิถุนายน 2545). "พินิจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และดอกผลของการปฏิวัติสังคม". สังคมศาสตร์. 33 (1). สืบค้นเมื่อ 2020-07-21.
  40. 40.0 40.1 อึ๊งภากรณ์, ใจ (2545). "จากโศกนาฏกรรมถึงลิเกการเมือง การปฏิรูปการเมืองการปกครองไทยในเงาของ ๖ ตุลา". สังคมศาสตร์. 33 (1). สืบค้นเมื่อ 2020-07-21.
  41. พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล "มาตรา 112 : ผลพวงรัฐประหาร 6 ตุลา 2519"
  42. 42.0 42.1 42.2 42.3 42.4 42.5 ธนชัยเศรษฐวุฒิ, บัณฑิตย์ (มกราคม–มิถุนายน 2545). "อาชญากรรมคดี 6 ตุลา กับผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน". สังคมศาสตร์. 33 (1). สืบค้นเมื่อ 2020-07-22.
  43. 43.0 43.1 ชมสินทรัพย์มั่น, ภาคิไนย์. "ขบวนการนักศึกษาไทย: วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาไทยในเมืองช่วงระหว่าง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2531" (PDF). การเมือง การบริหาร และกฎหมาย. 4 (2). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-24. สืบค้นเมื่อ 25-07-2563. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  44. Sripokangkul, S. (2019). "Understanding the social environment determinants of student movements: A consideration of student activism in Thailand and the Thai "social cage."" (PDF). International Journal of Asia Pacific Studies. 15 (1). doi:10.21315/ijaps2019.15.1.3. สืบค้นเมื่อ 2020-07-24.
  45. “ชาญวิทย์” เตือนม็อบ “เยาวชนปลดแอก” อย่าค้างคืน หวั่นซ้ำรอย “6 ตุลา”
  46. Nimkhunthod, Weerasak (2007). An Impact of Political Events on the Stock Exchange of Thailand (MSc). Faculty of Commerce and Accountancy, Thammasat University.
  47. 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 ‘6 ตุลา’ ผ่านสายตานักทำหนังไทย สืบค้น 24-07-2020.
  48. 48.0 48.1 photos of 6 Oct 1976 massacre emerge[ลิงก์เสีย]
  49. 49.0 49.1 Haberkorn, Tyrell (2015). "The Hidden Transcript of Amnesty: The 6 October 1976 Massacre and Coup in Thailand". Critical Asian Studies, Vol. 47, No. 1.
  50. เผยพระราชดำรัส 'รัชกาลที่9' ประกอบ MV เพลงสรรเสริญพระบารมี
  51. พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ตอนที่ 7 : “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519”
  52. Interview with Samak Sundaravej (recovered 8:06 PM 2/22/2008)
  53. Bryce Beemer, Forgetting and Remembering "Hok Tulaa", the October 6 Massacre
  54. ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (1): สำรวจแบบเรียน-ความเข้าใจของนักเรียนไทยในปี 2562
  55. 55.0 55.1 Rithdee, Kong. "The inciting incident". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 4 April 2020.
  56. 40 ปีผ่าน เจอข้อมูลใหม่ 6 ตุลา! คนถูกแขวนคอสนามหลวงมีมากกว่า 2 คน
  57. Rithdee, Kong (30 September 2016). "In the eye of the storm". Bangkok Post. Post Publishing. สืบค้นเมื่อ 5 October 2016.
  58. Puangthong Pawakapan : A Record of the Search for the Chair Man
  59. รื้อประตูแดงชนวนเหตุ ‘6 ตุลา’ รอแสดงนิทรรศการบันทึกความรุนแรงรัฐต่อ ปชช.
  60. "6 ตุลา : การเผชิญหน้า "ปีศาจ" ของช่างภาพข่าวในวันที่ "คนไทยฆ่ากันเอง"". BBC News ไทย. 1 October 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
  61. 61.0 61.1 ‘Digestible’ methods commemorate 6 October Massacre
  62. 6 October to mark new generation of student activists
  63. ประจักษ์ I พยาน’ พยานวัตถุของความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519[ลิงก์เสีย]. สืบค้น 24-07-2020.
  64. ""43 ปี 6 ตุลา" รวบรวมหลักฐานจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา"" [Collecting evidences to build 6 October Musuem']. Thai PBS. 6 October 2019.
  65. "มธ.แจ้งปิดท่าพระจันทร์ ถึงสิ้นต.ค. กระทบงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา". ข่าวสด. 5 October 2021. สืบค้นเมื่อ 6 October 2021.
  66. "กลายร่างชั่วข้ามคืน เปิดภาพ 'สนามบอล มธ.' หลัง 'เครือข่าย น.ศ.' จะใช้กรรไกรตัด เข้าไปจัด 6 ตุลา". มติชนออนไลน์. 4 October 2022. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
  67. "ฝ่ายบริหารจุฬาฯ ไม่ให้จัดงาน 6 ตุลาฯ ที่อุทยาน 100 ปี อ้างไม่ไว้ใจคนนอกจะใส่ประเด็นการเมือง". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
  68. "ผู้จัดคอนเสิร์ต 6 ตุลาแถลงขอโทษ แจงให้ถือได้ไม่ผิด แต่เริ่มมีกระทบกระทั่งเลยให้เอาลง". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 8 October 2022.
  69. "สรุปดราม่า คอนเสิร์ต 6 ตุลา ผู้จัดโบ้ยศิลปิน สุดท้ายต้องแถลงขอโทษ". ข่าวสด. 7 October 2022. สืบค้นเมื่อ 8 October 2022.
  70. หอภาพยนตร์จัด ‘ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง’ รำลึก 6 ตุลา 19 ฉาย ‘จักจำจนวันตาย’ ให้ดูการต่อสู้สำคัญทางการเมือง
  71. ศาสวัต บุญศรี: 6 ตุลา 2519 อย่าลืมฉัน ประชาไท สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2555
  72. konmongnangetc (2015-10-05). ""ลิฟท์แดง" : หนังว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ไปไกลกว่าเรื่องความรุนแรง". คนมองหนัง (ภาษาอังกฤษ).
  73. 73.0 73.1 “ดาวคะนอง” ชวด ออสการ์รอบสุดท้าย
  74. '6 ตุลา' มองผ่านหนัง#2: ภาษิต พร้อมนำพล ‘พิราบ’ ในความทรงจำของพ่อ
  75. Rithdee, Kong. "Massacre's memory". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 4 April 2020.
  76. แด่เผด็จการ? เจาะลึก MV "ประเทศกูมี" ทำไมต้องใช้ฉาก เหตุการณ์ 6 ตุลา (คลิป)

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น