ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
บทความนี้ต้องการข้อความอธิบายความสำคัญที่กระชับ และสรุปเนื้อหาไว้ย่อหน้าแรกของบทความ |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน มีเนื้อหา รูปแบบ หรือลักษณะการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมสำหรับสารานุกรม |
ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ย่อ: ศนท.) เป็นขบวนการทางการเมืองในประเทศไทยในอดีต
ประวัติ
[แก้]ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 โดยมีสมาชิกระดับอุดมศึกษา 11 สถาบัน[1] อันเป็นผลมาจากการจัดสัมมนานิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันในหัวข้อ “บทบาทนักศึกษาในการพัฒนาประเทศ” ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจัดขึ้นที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในระหว่างการสัมมนาได้มีการอภิปรายถึงการก่อตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ต่อมา กลุ่มผู้นำนิสิตนักศึกษาได้เดินทางไปประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดโดยสมาคมบริการนักศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย (WUS) จากนั้นจึงได้แยกย้ายกันไปประชุมตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนก่อตั้ง ศนท. ได้สำเร็จ[2] มีนายโกศล โรจนพันธ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเลขาธิการคนแรก กิจกรรมของศูนย์ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 จนถึงปลายปี พ.ศ. 2515 ส่วนใหญ่ไม่ใช่กิจกรรมทางการเมือง เป็นกิจกรรมทางสังคมตามปกติ เช่น จัดรายการช่วยผู้ประสบภัย จัดรายการถวายพระพร เป็นต้น
กลุ่มนิสิตนักศึกษาอิสระ
[แก้]แนวความคิดในการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2511-2514 ของขบวนการนักศึกษา มักจะได้รับการเผยแพร่และชักจูงจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาอิสระอยู่ตลอด ได้แก่ สภาหน้าโดม (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) กลุ่มต่อต้านญี่ปุ่น (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ฯลฯ
การต่อสู้ของนักศึกษากลุ่มอิสระในแต่ละสถาบันนั้นจะรวมกันต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ภายในสถาบันของตนเองเป็นเบื้องแรก และนักศึกษากลุ่มนี้มีความสนใจต่อปัญหาทางการเมืองเสมอ นักศึกษากลุ่มอิสระมักจะโจมตีระบบการศึกษาภายในมหาวิทยาลัยตน และระบบบริหารกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย นักศึกษากลุ่มนี้มักจะพยายามชักจูงนักศึกษาส่วนใหญ่ให้มองเห็นปัญหาความผุโทรมในมหาวิทยาลัย แต่นักศึกษาส่วนใหญ่มักไม่เห็นด้วยและยังคงมุ่งเน้นในกิจกรรมประเภทบันเทิงและพิธีการต่างๆ เช่น การรับน้องใหม่ ไหว้ครู งานกีฬาประเพณีต่างๆ ระบบอาวุโสแบบผิดๆ ที่บังคับให้นักศึกษาปี 1 ประชุมเชียร์ การแต่งกายของนักศึกษาปี 1 ที่แตกต่าง และห้ามนักศึกษาปี 1 ผ่านสถานที่บางแห่ง ฯลฯ สาเหตุแห่งการต่อสู้ของนักศึกษากลุ่มนี้พอสรุปได้ว่า นักศึกษากลุ่มนี้มีทรรศนะว่าการพัฒนาทางการเมืองในสังคมไทยในขั้นต่อไปจะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน ถ้าในสังคมมหาวิทยาลัยสนับสนุนให้นักศึกษารุ่นพี่ปกครองรุ่นน้องในทางที่ผิด และริดรอนสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนความคิดใหม่ๆของรุ่นน้อง
โครงสร้างภายใน
[แก้]ลักษณะโครงสร้างการจัดองค์กรประกอบด้วย
- คณะกรรมการกลาง มาจากนายกสโสรนักศึกษา หรือนายกองค์การนักศึกษา ของแต่ละสถาบันที่เป็นสมาชิก เป็นกรรมการกลางโดยตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร มาจากสโมสรนักศึกษา หรือองค์การนักศึกษา ที่เป็นสมาชิก ส่งเข้ามาสถาบันละ 1 คน ส่วนใหญ่จะเป็นอุปนายกฝ่ายกิจการภายนอกของแต่ละสโมสรนักศึกษาหรือองค์การนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย
- เลขาธิการ คณะกรรมการกลางและกรรมการบริหารจะเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจากผู้สมัครที่ส่งชื่อมาจากแต่ละสโมสรนักศึกษาหรือองค์การนักศึกษาที่เป็นสมาชิก
- รองเลขาธิการ 3 คน เลือกตั้งมาในรูปแบบเดียวกับเลขาธิการ มี 3 คน 3 ฝ่าย คือ รองเลขาธิการฝ่ายการเมือง รองเลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ และรองเลขาธิการฝ่ายสังคมและการศึกษา
ในทางปฏิบัติ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2518 เป็นต้นมาจะมีการตกลงกันเองระหว่างกลุ่มนักศึกษาก้าวหน้า (ฝ่ายซ้าย) จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่านักศึกษาคนใดเหมาะสมจะเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการและรองเลขาธิการ[1]
การเดินขบวน ชุมนุมประท้วง และรณรงค์ของนิสิตนักศึกษา
[แก้]การเดินขบวน ชุมนุมประท้วง และรณรงค์ของศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยครั้งสำคัญมี 4 ครั้ง คือ
- ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ซึ่งมีธีรยุทธ บุญมี เลขาธิการศูนย์ฯ ปีการศึกษา พ.ศ. 2515-2516 เป็นผู้นำ ศูนย์ฯ ได้จัดให้มีการรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น และถือเอาวันที่ 20-30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 เป็นสัปดาห์ไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น ปรากฏว่าได้มีการเดินขบวนหลายครั้ง และนักศึกษามหาวิทยาลัยทุกสถาบันให้ความร่วมมือ ศูนย์ฯได้ยื่นหนังสือถึงหัวหน้ารัฐบาลให้หาทางลดการเสียเปรียบกับญี่ปุ่นทุกวิถีทาง และในที่สุด วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ศูนย์ได้จัดให้มีพิธีเผาหุ่นผู้ที่ร่วมมือกับพ่อค้าญี่ปุ่นที่สนามหลวงอันเป็นวันปิดท้ายของการรณรงค์
- การเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาหลายสถาบันร่วมเดินขบวนประท้วงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารก้าวก่ายอำนาจตุลาการ การประท้วงเริ่มดำเนินการขึ้นก่อนโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาศูนย์ฯจึงเข้าร่วมด้วย และได้ชักชวนให้สถาบันอื่นๆ มาร่วมประท้วงด้วย และมีการประท้วงข้ามคืนวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ในที่สุดรัฐบาลก็ยอมตามเสียงประท้วง
- ในตอนต้นปี พ.ศ. 2516 ระหว่าง 5-20 มกราคม ศูนย์ได้จัดการรณรงค์ให้มี "ปักษ์เลิกซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของต่างประเทศ" ทั้งนี้เพื่อหวังให้จะเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยที่นิยมใช้สินค้าฟุ่มเฟือย และหวังให้คนไทยกลับมานิยมใช้ของไทยแทน
- การประท้วงกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คนที่ทำหนังสือ "มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ" ถูกลบชื่อจากการเป็นนักศึกษาโดยคำสั่งของ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี นักศึกษารามคำแหงจึงประท้วงและศูนย์ฯได้เข้าสนับสนุน โดยมีนิสิตนักศึกษาทุกสถาบันเข้าร่วมเกินชบวนเมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ในการเดินขบวนครั้งนี้นิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนหลายสถาบันได้มาร่วมชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นคน และยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมาในอดีต ประชาชนได้ให้การสนับสนุน การเรียกร้องในการเดินขบวนระยะแรก เพียงต้องการให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับนักศึกษา 9 คนเข้าเป็นนักศึกษาตามเดิม และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก แต่ต่อมาได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชน และเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนอีกด้วย ผลลงเอยที่ฝ่ายนักศึกษาชนะ คือ อธิการบดีต้องลาออก แต่ข้อเรียกร้องของศูนย์ฯอีกข้อหนึ่งคือต้องการให้มีรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนนั้นไร้ผล[2]
ผลจากการเดินขบวนฯ
[แก้]ผลจากการเดินขบวนของนิสิตนักศึกษาภายใต้การนำของศูนย์ฯ 2 ครั้งคือกรณีต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น กับกรณีประท้วงเรื่องนักศึกษารามคำแหง 9 คนถูกลบชื่อ ทำให้ศูนย์ฯกลายเป็นกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองที่ท้าทายและทัดทานอำนาจเผด็จการของคณะไปโดยปริยาย
นอกจากการประท้วงของศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยแล้ว ในปี พ.ศ. 2516 ก็มีการประท้วงต่อรัฐบาลของนิสิตนักศึกษากลุ่มอิสระต่างๆ ด้วย แต่ไม่มีการเดินขบวน เช่น
- การประท้วงของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติทุกสถาบัน กรณีพรานบรรดาศักดิ์อันประกอบไปด้วยทหารตำรวจจำนวนหนึ่งไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร
- การประท้วงของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติทุกสถาบัน กรณีโรงงานอุตสาหกรรมทำให้น้ำในแม่น้ำแม่กลองเป็นพิษ
- การชุมนุมประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันอื่นๆ เรื่องการกำจัดเสรีภาพในการจัดอภิปรายในมหาวิทยาลัย
- การต่อต้านฐานทัพอเมริกัน และการแทรกซึมขององค์การซีไอเอ (CIA) ในประเทศไทย
- ความขัดแย้งเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหาร
ความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับรัฐบาลต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ความกดดันที่ได้สะสมมาช้านานได้ก่อให้เกิดการท้าทายของประชาชนทุกอาชีพต่อรัฐบาลของคณะปฏิวัติ ในการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของประชาชน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และรัฐบาลได้ใช้อำนาจเข้าจับกุมกลุ่มประชาชนผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยตั้งข้อหาเป็นกบฏต่อแผ่นดินและเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ผลที่ตามมาก็คือการผนึกกำลังกันต่อสู้เป็นคลื่นไฟลูกใหญ่ของมวลชน ภายใต้การนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เพื่อให้รัฐบาลทหารปลดปล่อย 13 ผู้ต้องหาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างไม่มีเงื่อนไขและให้รัฐบาลเร่งรัดประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว จนทำให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาต้องเอาชีวิตเลือดเนื้อและวิญญานเข้าแลกกับอาวุธที่ร้ายแรงของทหารตำรวจที่ได้รับคำสั่งจากทรราชย์ทั้ง 3 คือ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด จอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมตำรวจ และรองผู้บัญชาการทหาสูงสุด พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งทั้ง 3 คนและภรรยา ต้องหนีออกนอกประเทศไทยไป และได้มีการจัดตั้งรัฐบาล โดยพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการนำของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีขึ้นทำการบริหารประเทศชั่วคราว จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
ถูกยุบ
[แก้]ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยดำเนินงานเป็นเอกเทศโดยนิสิตนักศึกษา (ตามธรรมนูญศนท. พ.ศ. 2513 หมวด 1) แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 คณะปฏิรูปได้มีคำสั่งยุบทิ้ง[1]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ข้อมูลศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย เก็บถาวร 2012-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
- ↑ 2.0 2.1 บทความเรื่อง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เรียบเรียงโดยวีระศักดิ์ กีรติวรนันท์ จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า สืบค้นวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
บรรณานุกรม
[แก้]- วิทยากร เชียงกูล (บ.ก.). (2517). ขบวนการนักศึกษาไทย: จาก 2475 ถึง 14 ตุลาคม 2516. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม.: บริษัทแกรมมี่ พับลิชชิ่ง เฮาส์ จำกัด, 2536.