ข้ามไปเนื้อหา

จักรภพ เพ็ญแข

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรภพ เพ็ญแข
จักรภพ ใน พ.ศ. 2561
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
(0 ปี 113 วัน)
ดำรงตำแหน่งร่วมกับ
ชูศักดิ์ ศิรินิล
นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช
ก่อนหน้าทิพาวดี เมฆสวรรค์
ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์
ถัดไปสุขุมพงศ์ โง่นคำ
สุพล ฟองงาม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2546 – 14 มีนาคม พ.ศ. 2548
(1 ปี 96 วัน)
นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ก่อนหน้าศิธา ทิวารี
ถัดไปเฉลิมเดช ชมพูนุท
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 ตุลาคม พ.ศ. 2510 (57 ปี)
เขตบางแค จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองไทยรักไทย (2541–2549)
พลังประชาชน (2549–2551)
คู่อาศัยสุไพรพล ช่วยชู[1]

จักรภพ เพ็ญแข (เกิด 21 ตุลาคม พ.ศ. 2510) ชื่อเล่น เอก เป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร บุตรนางณัฐวรรณ เพ็ญแข อดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี อดีตผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ อดีตนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการบริหารงานสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จากเดิมคือ Television of Thailand (Channel 11) ไปสู่ National Broadcasting Services of Thailand

ประวัติ

[แก้]

ดร.จักรภพ เพ็ญแข เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2510[2] ศึกษาชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้น เข้าศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว จึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่วิทยาลัยระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์ (SAIS) มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา[3]

เริ่มการทำงานครั้งแรกกับเครือเจริญโภคภัณฑ์อยู่ระยะหนึ่ง แล้วลาออกไปเข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ทูต กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาได้ลาออกมาทำงานสื่อมวลชนเต็มตัว โดยเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์หลายรายการ เป็นระยะเวลากว่าสิบปี ภายหลังเข้าสู่วงการเมือง

การเมือง

[แก้]

ดร.จักรภพ เพ็ญแข ได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร ต่อมาไม่นาน ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในนามพรรคไทยรักไทย แต่ไม่ได้รับเลือกถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรก การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 จักรภพลงเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ เขต 30 แทนจักรพันธุ์ ยมจินดา แพ้ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ คือ องอาจ คล้ามไพบูลย์ ต่อมาครั้งที่สองใน การเลือกตั้งทั่วไป 2 เมษายน 2549 จักรภพเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวในเขต 5 กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เพราะได้คะแนนไม่ถึง 20% โดยที่มีผู้ไม่ลงคะแนนถึง 55,141 คะแนน [4][5] อย่างไรก็ตาม ต่อมา จักรภพได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ 2

หลังจากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 จักรภพ พร้อมด้วยกลุ่มผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี และองค์กรต่อต้านเผด็จการ เป็นแกนนำจัดเวทีปราศรัยต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ใช้ชื่อว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)

หลังพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในปี 2550 โดยมีสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จักรภพดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อมวลชนภาครัฐ ในวันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกัน จักรภพ เป็นประธานในการเปลี่ยนแปลงสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที)

ต่อมาเมื่อมีรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งที่ 49/2557 เรียกให้จักรภพไปรายงานตัว แต่เขามิได้ไปตามคำสั่งดังกล่าว ศาลทหารจึงออกหมายข้อหาฝ่าฝืนการไปรายงานตัว ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558 1 หมายจับ [6] และวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558 1 หมายจับ ข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง[7] รวมแล้วเขาถูกศาลทหารออกหมายจับ 2 หมายจับ และในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ศาลอาญาได้ออกหมายจับ เลขที่ 2692/60 ใน ข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและเป็นอั้งยี่[8]

ล่าสุด 27 มี.ค. 2567 จักรภพ เพ็ญแข ประกาศเตรียมกลับประเทศไทยหลังลี้ภัยทางการเมืองกว่า 10 ปี เผยต้องการกลับมารับใช้ชาติ


ข้อวิพากษ์วิจารณ์

[แก้]

ปาฐกถาเรื่องระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทย

[แก้]

จักรภพถูกตั้งข้อสงสัยถึงทัศนคติเกี่ยวกับสังคมไทย สืบเนื่องจากการปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อเรื่อง “ระบบอุปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความเป็นประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (เอฟซีซีที) หลังจากที่เขาถูกจับกุมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ และการบรรยายเป็นภาษาไทยต่อเครือข่ายคนรักทักษิณที่นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ดูคลิปวันที่ 10 พฤศจิกายน [9]

จากกรณีดังกล่าว พ.ต.ท. วัฒนศักดิ์ มุ่งกิจการดี พนักงานสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางมด แจ้งความต่อกองปราบปรามว่า เนื้อหาการปาฐกถาของจักรภพเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[10]

นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือถึงสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาเนื้อหาของคำกล่าวทั้งสองครั้ง โดยเห็นว่าเป็นทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อระบบการปกครอง พร้อมกับเรียกร้องให้สมัครพิจารณาปลดนายจักรภพออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ มีการเผยแพร่โดยเอฟซีซีที ขายดีวีดีแผ่นละ 600 บาท และการแปลรายละเอียดคำบรรยายเป็นภาษาไทยออกไปอย่างกว้างขวางในแวดวงข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร โดยเชื่อว่ามีภรรยาของนายทหารคนหนึ่งเป็นผู้เผยแพร่[11] ระหว่างนั้น จักรภพได้ให้สัมภาษณ์ว่าคำแปลที่ออกมาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ตนมิได้มีเจตนาเช่นนั้น รวมทั้งยืนยันในความจงรักภักดีและความบริสุทธิ์ใจของตนเอง ต่อมาในช่วงระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม จักรภพมิได้เข้ามาปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมิได้แจ้งลาราชการ

แต่ทั้งนี้ ในวันที่ 22 พฤษภาคม ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตแกนนำ นปก. แถลงข่าวที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ว่าจักรภพจะเปิดแถลงข่าวในวันที่ 26 พฤษภาคม เวลา 14.00 น. เพื่อชี้แจงถึงคำปาฐกถาและคำบรรยายต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาทั้งหมด พร้อมเปิดให้สื่อมวลชนสอบถามประเด็นที่สงสัยทุกเรื่องด้วย ต่อมา ค่ำวันที่ 23 พฤษภาคม จักรภพปรากฏตัวในงานฉลองวันเกิดครบรอบ 60 ปี ของวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปก. พร้อมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ยืนยันการแถลงข่าวในวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พร้อมให้รอฟังการตัดสินใจถึงอนาคตทางการเมืองของตน

วันที่ 26 พฤษภาคม จักรภพแถลงว่ามีการแปลบิดเบือน และขอลากิจ 7 วัน แต่ไม่ลาออกจากรัฐมนตรี ขอให้สังคมตัดสินจากเอกสารคำแปลที่แจก[12] ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม คณะกรรมการสอบสวนแถลงที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางว่า คดีที่จักรภพถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ประชุมสรุปความเห็นเบื้องต้นว่า จักรภพมีพฤติกรรมความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112[13]

วันที่ 30 พฤษภาคม 2551 เวลา 12.10 น. จักรภพ ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งต่อไป[14]

นโยบายกับสื่อมวลชนภาครัฐ

[แก้]

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พร้อมด้วยสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่าจักรภพกระทำการส่อไปในทางจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมายและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รวมถึงอาจเข้าข่ายมีการแทรกแซงสื่อ[15] รายละเอียดของข้อกล่าวหาดังกล่าว มีดังนี้

  • กรณีการกำกับดูแลสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ซึ่งเชื่อว่ามีความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการดำเนินการของกรมประชาสัมพันธ์ ในการจัดหาและจัดจ้างบริษัทคู่สัญญา และการทำสัญญากับบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ที่เชื่อว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
  • กรณีการเปิดโอกาสให้วิทยุชุมชนเข้าแสดงตัว ที่เชื่อว่ามีการยื่นข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ ให้ยอมรับเงื่อนไขในการเป็นเครือข่ายของรัฐบาล ในการนำเสนอข่าวสารเพื่อแลกกับการละเว้นดำเนินคดี
  • กรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเชื่อว่ามีการสกัดกั้นให้การแต่งตั้ง กสทช.เป็นไปอย่างล่าช้า เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการใช้อำนาจหน้าที่ เข้าแทรกแซงการทำงานสื่อมวลชนได้ต่อไป โดยระหว่างนี้ก็เชื่อว่ามีการเข้าแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่กำกับดูแลคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์อยู่ในขณะนี้ด้วย
  • กรณีการให้นโยบายกับกรมประชาสัมพันธ์ โดยให้ออกระเบียบห้ามมิให้สื่อมวลชนของรัฐสนับสนุนการทำรัฐประหาร ไม่อนุญาตให้ผู้ปฏิบัติงานแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐประหารผ่านสื่อมวลชนของรัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนการนำสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยกลับมาดำเนินการเอง เช่นเดียวกับที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เคยดำเนินการกับสถานีวิทยุ อสมท โมเดิร์น เรดิโอมาแล้ว แต่ในครั้งนั้นกลับไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด
  • กรณีการดำเนินการกับผู้ดำเนินรายการวิทยุ ที่เชื่อว่ามีการสั่งให้สถานีวิทยุวิสดอมเรดิโอ เอฟ.เอ็ม.105 เมกกะเฮิร์ทซ ถอดนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งนำเสนอบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ นายจักรภพแสดงความจำนงว่าจะไม่ต่อสัญญาให้กับบริษัท ฟาติมา บรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานจากกรมประชาสัมพันธ์และเป็นเจ้าของรายการที่นายเจิมศักดิ์จัดอยู่ นายเจิมศักดิ์จึงยอมลาออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการ เนื่องจากเข้าใจว่านายจักรภพเล็งมาที่ตน มากกว่าบริษัทฟาติมาฯ[16]

ผลงาน

[แก้]

รายการโทรทัศน์

[แก้]
  • โลก 360 องศา
  • สำรวจโลก
  • อรุณรุ่งที่เมืองไทย
  • เวลาโลก

หนังสือเล่ม

[แก้]
  • สงครามสุดท้าย? เมื่อมหาอำนาจจัดระเบียบโลก. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2544. ISBN 978-974-7381-98-6
  • ในทีวีไม่มีเทวดา (นะครับ). กรุงเทพฯ : สีดา, 2545. ISBN 978-974-7727-43-2
  • 100 ความเชื่อ 100 ความจริง. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2546. ISBN 978-974-484-030-1
  • พันธมิตรหรือพันธมาร. กรุงเทพฯ : ผู้จัดการ, 2546. ISBN 978-974-91468-8-0
  • ขอบฟ้าที่ตาเห็น. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, 2547. ISBN 978-974-91545-4-0
  • ชำเราชาวอิรัก. กรุงเทพฯ : Openbooks, 2547. ISBN 978-974-92602-5-8
  • ทะเลทรายกับสายหมอก. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, 2547. ISBN 978-974-92486-4-5
  • โลก...สุขกับโศก มิได้สิ้นอย่าสงสัย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, 2548. ISBN 978-974-92883-1-3
  • สยามตามหาเพื่อน. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, 2548. ISBN 978-974-93257-1-1
  • หยดเลือดในทะเลทราย. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้ากรุ๊ป, 2549. ISBN 978-974-94525-6-1
  • โลกทั้งใบให้ไทยเมืองเดียว. กรุงเทพฯ : ตกผลึก, 2550. ISBN 978-974-09-2414-2
  • ประชาธิปไตยในกรงขัง. กรุงเทพฯ : เพื่อนพ้องน้องพี่, 2550.
  • กลอนผ่านกระจก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เปิดใจ 'ป๊อป' แฟนจักรภพ ความรักกับการเมืองที่เคยคิดว่าไม่อาจเป็นไปได้!". posttoday. 2024-07-10.
  2. จักรภพ เพ็ญแข เก็บถาวร 2008-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - รัฐบาลไทย
  3. สัมภาษณ์พิเศษ ‘จักรภพ เพ็ญแข’ การต่อสู้นอกพรมแดน และชีวิตใต้ ‘เพดาน’
  4. "กกต.สรุปเลือกตั้งใหม่39เขต16จังหวัด จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-06-17.
  5. "คนใต้ถีบคว่ำ-ซ่อม38เขต! จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 4 เมษายน 2549". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-06-17.
  6. ศาลทหารออกหมายจับ28ผู้ต้องหา
  7. หมายจับ ข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง[ลิงก์เสีย]
  8. ออกหมายจับ ‘จักรภพ-4ผู้ต้องหา’ เอี่ยวอาวุธสงครามแปดริ้ว
  9. ไทยโพสต์, Enemy and Friend ตัวตนและความผิด 'จักรภพ เพ็ญแข' ทัศนคติเป็นอันตราย-ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ[ลิงก์เสีย], 18 พฤษภาคม 2551
  10. มติชน ,ทัศนคติ อันตราย ของ จักรภพ เพ็ญแข ข้อหาจาก ปชป.[ลิงก์เสีย], 15 พฤษภาคม 2551
  11. แฉ!เมียบิ๊กทหารแจกเอง เอกสารแปลถล่ม‘จักรภพ’[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์
  12. ประชาชาติ, 'จักรภพ'แค่ลากิจ 7 วันแต่ไม่ลาออก โบ้ยคนแปลมีอคติใช้ภาษามาร ท้า'อภิสิทธ์'เผยชื่อคนแปล[ลิงก์เสีย], 26 พฤษภาคม 2551
  13. มติชน, ตร.ชี้'จักรภพ'หมิ่นสถาบันอาฆาตมาดร้าย กษัตริย์ 'ผบ.สส.'จี้รับผิดชอบเยี่ยง'วีรบุรุษ' เก็บถาวร 2008-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 29 พฤษภาคม 2551
  14. ผู้จัดการออนไลน์, “เพ็ญ” แถลงลาออกแล้ว อ้างเพื่อ “รักษาขุนให้อยู่รอด” เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 พฤษภาคม 2551
  15. เปิดรายละเอียด หนังสือถอดถอน 'จักรภพ เพ็ญแข'[ลิงก์เสีย] - พรรคประชาธิปัตย์
  16. แนวหน้า, “เจิมศักดิ์” แฉซ้ำ “บิ๊กฟาติมา” เกลี้ยกล่อมให้ปิดปากอย่าบอกใคร[ลิงก์เสีย], 17 กุมภาพันธ์ 2551
  17. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๕๑ เก็บถาวร 2022-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๕ ข หน้า ๓, ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า จักรภพ เพ็ญแข ถัดไป
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์
ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551)
สุขุมพงศ์ โง่นคำ
สุพล ฟองงาม
นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(9 ธันวาคม พ.ศ. 2546 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2548)
พลตำรวจเอก เฉลิมเดช ชมพูนุท