ความจริงวันนี้
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ความจริงวันนี้ | |
---|---|
ประเภท | ความเห็นทางการเมือง |
พัฒนาโดย | บริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด |
พิธีกร | วีระกานต์ มุสิกพงศ์ จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก่อแก้ว พิกุลทอง |
ผู้ประพันธ์ดนตรีแก่นเรื่อง | ความจริงวันนี้ |
ประเทศแหล่งกำเนิด | ไทย |
ภาษาต้นฉบับ | ไทย |
การผลิต | |
สถานที่ถ่ายทำ | ห้องส่งดี-สเตชัน ห้องส่งเอ็นบีที |
ความยาวตอน | ดี-สเตชัน: 60 นาที เอ็นบีที: 45 นาที (60 นาที ในวันอาทิตย์) |
ออกอากาศ | |
เครือข่าย | ดี-สเตชัน, เอ็นบีที |
ออกอากาศ | 19 มกราคม – 25 มีนาคม พ.ศ. 2552 (ทาง ดี-สเตชัน) 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 – 9 มีนาคม พ.ศ. 2553 (ทาง พิเพิล แชนแนล) – 21 กรกฎาคม – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (ทาง เอ็นบีที) |
การแสดงที่เกี่ยวข้อง | |
เพื่อนพ้องน้องพี่ มหาประชาชน (เอ็มวีทีวี 5) |
ความจริงวันนี้ (อังกฤษ: Truth Today หรือ Today Fact) เป็นรายการโทรทัศน์ประเภทความเห็นทางการเมืองของประเทศไทย ที่ออกอากาศในระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ทุกวันจันทร์–วันศุกร์ เวลา 22.15–23.00 น. และวันอาทิตย์ เวลา 22.00–23.00 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) รวมถึงถ่ายทอดคลื่นคามถี่เสียงผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เอฟเอ็ม 92.5 เมกะเฮิร์ตซ์ และเอเอ็ม 891 กิโลเฮิร์ตซ์ ผลิตรายการโดย บริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด มีนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นผู้ร่วมรายการ
ต่อมารายการได้กลับมาออกอากาศอีกครั้ง ทางสถานีประชาธิปไตย (ดี-สเตชัน) โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552 ซึ่งในช่วงนี้ ได้มีพิธีกรเสริมทดแทน กรณีที่พิธีกรชุดเดิมคนใดคนหนึ่ง ไม่สามารถมาดำเนินรายการได้ อีก 3 คน คือ นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายสมหวัง อัสราษี และนางสาวนารีรัตน์ นานเนิ้น แต่เนื่องจาก ดี-สเตชัน ถูกสั่งระงับออกอากาศ รายการจึงจำเป็นต้องยุติไปอีกครั้ง แต่ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวบนเวทีปราศรัยของกลุ่มคนเสื้อแดงในงานแดงทั้งแผ่นดินสัญจรว่ารายการจะกลับมาออกอากาศอีกครั้ง ทางสถานีประชาชน (พีเพิลแชแนล) ฉายอีกครั้งวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
เกี่ยวกับรายการ
[แก้]รายการความจริงวันนี้ เกิดขึ้นจากดำริของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งกล่าวในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ว่า จะมอบหมายให้กลุ่มโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผลิตรายการโทรทัศน์ ในทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 22.15-23.00 น. เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหา ที่ผู้บริหารองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ปฏิบัติราชการแทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น ตลอดจนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำมาโจมตีรัฐบาล ผ่านสื่อในเครือผู้จัดการ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี ช่อง นิวส์วัน
แต่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แถลงว่ากลุ่มโฆษกรัฐบาลไม่สามารถผลิตรายการดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของรายการ “ข่าวหน้าสี่” ซึ่งมี บริษัท นิวไทม์ เทเลวิชั่น จำกัด เป็นผู้ผลิตอยู่แต่เดิมแล้ว ทางรัฐบาลจึงทาบทามให้ บริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์พีทีวี เมื่อปี พ.ศ. 2550 และผู้ผลิตรายการ “เพื่อนพ้องน้องพี่” และ “มหาประชาชน” ทางสถานีโทรทัศน์เอ็มวีทีวี ช่อง 5 มาผลิตรายการร่วมกับ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยมี นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกรรมการ บจก.เพื่อนพ้องน้องพี่ เป็นผู้ดำเนินรายการหลัก พร้อมทั้งเชิญ นายจตุพร พรหมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 6 พรรคพลังประชาชน และนายณัฐวุฒิ มาเป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ
ทั้งนี้ รายการดังกล่าวมีชื่อตั้งต้นว่า ชาวสนามหลวง แต่เมื่อถึงเวลาออกอากาศครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม รายการก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อ ความจริงวันนี้ (ซึ่งนายจตุพรเปิดเผยในงานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ที่ราชมังคลากีฬาสถานว่า นายสมัครเป็นผู้ตั้งชื่อนี้ให้กับรายการ) และในสัปดาห์แรกนั้นเอง ก็ได้รับเวลาออกอากาศเพิ่มในวันอาทิตย์ เวลา 22.00-23.00 น. ต่อมา ในราวกลางเดือนกันยายน รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้มอบหมายให้นายณัฐวุฒิ เข้าดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายก่อแก้ว พิกุลทอง จึงเข้ามาแทนที่นายณัฐวุฒิ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายก่อแก้ว ก็เข้ามาเป็นพิธีกรแทนนายจักรภพ เพ็ญแข ในรายการเพื่อนพ้องน้องพี่ และมหาประชาชนมาแล้ว
นิตยสารรายปักษ์ประชาทรรศน์ ฉบับความจริงวันนี้
[แก้]นายพิธาน คลี่ขจาย บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์รายวัน ติดต่อขอเข้าพบกลุ่มพิธีกรของรายการฯ เพื่อเสนอโครงการตีพิมพ์นิตยสาร ที่นำเนื้อหาข้อเท็จจริงจากรายการฯ ไปเผยแพร่ต่อในกลุ่มนักอ่านหนังสือ เพิ่มเติมต่อยอดจากกลุ่มผู้ชมรายการฯ ทางโทรทัศน์ และเพื่อให้ผู้ชมได้เก็บไว้เป็นบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกด้วย เมื่อกลุ่มพิธีกรฯ เห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าว จึงได้มอบข้อมูลที่ออกอากาศในรายการฯ ไปแล้วทั้งหมด แก่สำนักข่าวประชาทรรศน์ เพื่อนำไปจัดพิมพ์เป็นนิตยสารรายปักษ์ประชาทรรศน์ ฉบับความจริงวันนี้ โดยเปิดตัวฉบับปฐมฤกษ์ ปักษ์แรก เดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ในงาน ครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก่อนวางตลาดตามแผงหนังสือทั่วไป
ปัจจุบันมิได้พิมพ์จำหน่ายแล้ว เนื่องจาก นายเนวิน ชิดชอบ ผู้ลงทุนก่อตั้งประชาทรรศน์ ย้ายไปร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ และตั้งพรรคภูมิใจไทย จึงนับเป็นการเปลี่ยนจุดยืนไปอยู่ตรงข้ามกับคณะผู้ดำเนินรายการความจริงวันนี้ เป็นเหตุให้มิได้ร่วมงานกันต่อไป
เพลงประกอบรายการ
[แก้]- ความจริงวันนี้ โดย วิสา คัญทัพ เพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการโจมตีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และมีหลักธรรม "สจฺจํเว อมตา วาจา วาจาจริงเป็นสิ่งไม่ตาย" เป็นเนื้อหาหลักของเพลงด้วย เพลงมีความยาว 5.45 นาที
- ก้าวไปพร้อมกัน โดย ไพจิตร อักษรณรงค์
- วีระมาแล้ว โดย วีระ มุสิกพงศ์
- ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย โดย จักรภพ เพ็ญแข
- หัวใจผูกพัน โดย จตุพร พรหมพันธุ์
- ขอบคุณ โดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
- รักสาวเสื้อแดง โดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (ทำนองจากเพลง รักสาวเสื้อลาย)
- ปณิธานแห่งเสรีชน โดย จิ้น กรรมาชน
- สีแดง โดย จิ้น กรรมาชน
- เดิมพัน โดย จิ้น กรรมาชน
- ความจริงไม่ตาย โดย อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (ทำนองจากเพลง เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง)
- คิดถึงจัง โดย อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง
การยกเลิกรายการทางเอ็นบีที
[แก้]นับแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา รายการมักถูกงดอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากทางเอ็นบีทีจะนำเวลาไปถ่ายทอดรายการพิเศษ แต่ก็จะมีการแจ้งให้กลุ่มพิธีกรของรายการทราบล่วงหน้าทุกครั้ง แต่เอ็นบีทีกลับงดรายการ ประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม โดยมิได้แจ้งล่วงหน้าดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อนำไปออกรายการพิเศษ “โฉมใหม่ราชการไทย” ที่ดำเนินต่อเนื่อง ในช่วงเวลาของรายการ ประจำวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม ต่อมา ในวันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม เอ็นบีทียังนำเวลาของรายการ ไปออกรายการพิเศษ “160 ปี ท่านเจ้าพระยา บดินทรเดชาสดุดี” ที่บันทึกเทปงานดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปตั้งแต่เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา
จากนั้น วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม เอ็นบีทีนำเทปบันทึกภาพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีสมโภชพระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร และทรงยกสัปตปฎลเศวตฉัตร ที่ใช้กางกั้นเหนือพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานมาประดิษฐาน เหนือพระประธานพระอุโบสถ คณะรังสี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มาออกอากาศระหว่างเวลา 22.00-23.00 น.
จนกระทั่ง วันอังคารที่ 16 ธันวาคม เอ็นบีทีจึงเริ่มปรับผังรายการ ในช่วงเวลา 21.00-00.00 น.เสียใหม่ กล่าวคือ “เอ็นบีทีฮอตนิวส์” จะออกอากาศระหว่างเวลา 21.00-22.30 น. และ “กรองสถานการณ์วาไรตี้” จะออกอากาศระหว่างเวลา 22.30-00.00 น. ซึ่งเท่ากับเป็นการแบ่งเวลาของรายการความจริงวันนี้ เพื่อนำไปเพิ่มให้กับทั้งสองรายการเดิม เป็นรายการละ 1 ชั่วโมง 30 นาที จึงถือได้ว่า รายการความจริงวันนี้ ออกอากาศเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551
ด้านนายสุริยงค์ หุณฑสาร ผู้อำนวยการเอ็นบีทีชี้แจงว่า ตามปกติสัญญาของแต่ละรายการจะมีอายุ 3 เดือน ซึ่งในส่วนของความจริงวันนี้ เหลืออีก 1 เดือน แต่ทางเอ็นบีทีมีสิทธิจะเรียกเวลาคืนได้ เนื่องจากยังมีรายการที่เป็นประโยชน์ รอการออกอากาศอีกเป็นจำนวนมาก จึงเห็นสมควรให้โอกาสรายการเหล่านั้น ลงในช่วงเวลาไพร์มไทม์บ้าง แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่า สาเหตุที่รายการถูกแขวนไว้ น่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง ที่มีแนวโน้มจะเกิดการเปลี่ยนขั้วสลับข้างขึ้น จึงพักรายการไว้รอดูสถานการณ์ก่อน ประกอบกับเพื่อตัดช่องทางการประชาสัมพันธ์งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ในวันที่ 13 ธันวาคม ด้วยนั่นเอง
ครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร
[แก้]เมื่อจัดรายการมาได้ระยะหนึ่ง กลุ่มพิธีกรของรายการ จึงมีดำริในการจัดงานพบปะระหว่างพิธีกรกับผู้ชมรายการ เพื่อย้อนรำลึกถึงบรรยากาศในการชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหาร ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยใช้ชื่อว่า งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ปัจจุบัน (ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2552) เปลี่ยนชื่อเป็น แดงทั้งแผ่นดินสัญจร
ปฏิกิริยาตอบรับจากผู้ชม
[แก้]หลังจากเริ่มเปิดตัวรายการมาได้ไม่กี่วัน ก็มีกระแสตอบรับจากพรรคการเมืองต่าง ๆ และทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า เป็นรายการกระบอกเสียงของรัฐบาล โดยมีผู้เสียหายจากข้อเท็จจริง จนต้องออกมาฟ้องหมิ่นประมาทอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช. รวมไปถึงคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา[ต้องการอ้างอิง] จนนำไปสู่การบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 และเคยมีการก่อหวอดประท้วงรายการนี้ โดยพนักงานราชการอัตราจ้างบางส่วนของเอ็นบีที[1]รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 22 คน ทีไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้นให้ตรวจสอบรายการนี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 266 [2]
ทางด้านของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวในรายการสนทนาประสาสมัคร ถึงกรณีที่ ป.ป.ช.รับพิจารณาคำร้อง ว่าอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โดยปล่อยให้รายการความจริงวันนี้ออกอากาศว่า “ตนเป็นนายกรัฐมนตรี มีทีวี รัฐบาลอยู่ช่องนี้ ก็ใช้อย่างกระเหม็ดกระเหม่ มีรายการความจริงวันนี้ เขาก็พูดดี มีเหตุผล เรียบร้อย แต่กลับมีคนไปร้องเรียน แต่เมื่อ ป.ป.ช.ออกมาอย่างนี้ ก็เอา อาจจะเพราะเขามาแฉตัวเอง ขอถามว่า รายการความจริงวันนี้ ออกอากาศแค่ 45 นาที แต่เอเอสทีวีออกทั้งวัน กลับไม่มีใครไปร้องเรียน”[ต้องการอ้างอิง]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-12. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
- ↑ รายการเทปวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 (ข่าวอักษรวิ่งด้านล่างจอ)