โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา | |
---|---|
Triam Udom Suksa School | |
ป้ายโรงเรียน | |
ที่ตั้ง | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | โรงเรียนเตรียมจุฬาฯ |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ |
คติพจน์ | ความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรม นิมิตฺตํ สาธุ รูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา (ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี) |
สถาปนา | 3 มกราคม พ.ศ. 2480 | (นับแบบเก่า)
ผู้ก่อตั้ง | จอมพล แปลก พิบูลสงคราม[1] |
หน่วยงานกำกับ | กระทรวงศึกษาธิการ |
ผู้อำนวยการ | บุณยพงศ์ โพธิวัฒน์ธนัต |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | มัธยมศึกษาตอนปลาย |
เพศ | สหศึกษา |
จำนวนนักเรียน | 4,442 คน (2565)[2] |
สี | สีชมพู |
เพลง | "ปิ่นหทัย" |
สังกัด | สพฐ. |
ศิษย์เก่า | สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ |
เว็บไซต์ | http://www.triamudom.ac.th |
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 1 (สพม.1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 (นับแบบเก่า) โดยพันเอก หลวงพิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนั้น โดยวารสารข่าวภาพไทยบันทึกว่า "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีกำเนิดเมื่อท่านอธิการบดี จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นพุทธศักราช 2481 เพื่อดำเนินการตามแผนการศึกษาใหม่ของรัฐบาล"[1]
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 227 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาณาบริเวณติดกับหลายคณะ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ภายในพื้นที่เช่าของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์ และที่ตั้งของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เดิมชื่อว่า "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เกิดขึ้นตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยนายกรัฐมนตรีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) โดยเหตุที่ลดชั้นมัธยมบริบูรณ์ลงเหลือเพียงมัธยมปีที่ 6 และจัดชั้นเตรียมอุดมศึกษาขึ้นนั้นมีกล่าวไว้ว่า "แผนการศึกษาชาติซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๕ นั้น มีระยะเวลาในการศึกษาสามัญยาวเกินสมควร นักเรียนต้องเสียเวลาเรียนในสายสามัญถึง ๑๒ ปี และยังจะต้องไปเข้าเรียนต่อในสายวิสามัญอีก ซึ่งเมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วจะเห็นได้ว่าโครงการศึกษาเก่าของเรากำหนดเวลาเรียนไว้เป็นเวลานานมาก" ขุนสุคนธ์วิทย์ศึกษากร รัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้มีหนังสือเวียนลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2480 ประกาศให้มีการเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาก่อนอุดมศึกษา
สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้กว่า 8 เดือน ขณะนั้น พันเอก หลวงพิบูลสงครามเป็นอธิการบดี หลวงแมนวิชาประสิทธิ์เป็นเลขาธิการของมหาวิทยาลัย หลวงพรตพิทยพยัตเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุดท้ายมีมติให้จัดตั้ง "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 โดยสภามหาวิทยาลัยประชุมในตึกอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือว่าวันนั้นเป็นวันก่อตั้งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สามวันต่อมา อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เรียกหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเข้าไปพบและมอบหมายให้จัดตั้ง "โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัย" ขึ้น โดยใช้สถานที่โรงเรียนมัธยมหอวังฯ แต่ให้ขยายไปจนจดถนนสนามม้า ให้ร่างโครงการเขียนแบบแปลนก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม หาครูอาจารย์เขียนหลักสูตร ร่างระเบียบรวมทั้งระเบียบการรับสมัครนักเรียนด้วย หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2480 โดยเปิดสอนโรงเรียนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2481
ใน วารสารข่าวภาพไทย กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ปรากฏข้อมูลบทบาทของคณะราษฎรกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีข้อความส่วนหนึ่งดังนี้ "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีกำเนิดเมื่อท่านอธิการบดี จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นพุทธศักราช 2481 เพื่อดำเนินการตามแผนการศึกษาใหม่ของรัฐบาล"[1]
ในช่วงแรก โรงเรียนฯ ริเริ่มพิธีมอบตัวให้เข้าศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษา จัดสร้างตึกเรียนเพิ่มขึ้นจนจดสนามม้า ทางด้านกีฬานักเรียนเล่นฟุตบอล ฮอกกี้ รักบี้ ฯลฯ ในเหตุการณ์กรณีพิพาทอินโดจีน โดยมีการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนกัน นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ไปร่วมเดินขบวนด้วย อาจารย์ชายต่างสมัครเข้าช่วยราชการทหาร ส่วนอาจารย์สตรีต่างสมัครเป็นอาสากาชาดเป็นจำนวนมาก นักเรียนต่าง ๆ ก็ช่วยกันทำงานอุตสาหกรรม ทำถุงของขวัญและบรรจุของขวัญเป็นการใหญ่ส่งไปให้ทหารที่ปฏิบัติการในสนาม ทั้งต้อนรับทหารกองทัพที่ 30 (ลำปาง) มาพักอยู่ที่โรงเรียน สิ้นเดือนมีนาคม 2483 วิทยุกระจายเสียงประกาศเปลี่ยนนโยบายการศึกษาของชาติตามมติคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญตอนหนึ่งให้ยุบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของรัฐบาล ฝ่ายหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการว่าในปีการศึกษา 2484 นี้ จะรับนักเรียนให้มากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2485 กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยและโรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนอพยพทางกรุงเทพฯ เปิดเรียนเมื่อต้นปีการศึกษา 2485 มีพิเศษคือจัด "หลักสูตรเร่ง" ให้นักเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เร่งหลักสูตร 3 ภาคเรียนให้จบใน 2 ภาค ถึงเดือนตุลาคมเกิดอุทกภัยใหญ่ทำให้ปิดโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2486 กิจการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาหัวเมืองเปิดรับสมัครที่เชียงใหม่ พิษณุโลกและกรุงเทพฯ แต่พอถึงเวลาเปิดภาคการศึกษา 2486 ทหารญี่ปุ่นได้ออกไปจากโรงเรียนแล้ว นักเรียนจึงได้เข้าเรียน ณ ที่เดิม แต่ยังคงต้องใช้หอใหม่ต่อไปเพราะจำนวนนักเรียนมาก นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาขาดไปหนึ่งรุ่น (รุ่น 9) เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนและให้งดสอบ ท่ามกลางสถานการณ์การทิ้งระเบิดพระนครของฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่มีการสอบคัดเลือกรับนักเรียนใหม่ในปี พ.ศ. 2488
เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นที่รับรองทหารสัมพันธมิตรที่ชนะสงคราม
ความรู้สึกเกี่ยวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาระยะนี้ก็ไม่สู้จะดีนัก ทางฝ่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่านักเรียนเตรียมอุดมศึกษาจำนวนมากนักและก็ไม่ได้เล่าเรียนเต็มเม็ดเต็มหน่วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับไว้ไม่ได้ทั้งหมด จะต้องมีการสอบคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งความวุ่นวายยุ่งเหยิงทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนทางด้านประชาชนทั่วไปนั้นก็ได้วิจารณ์ต่าง ๆ นานาเช่น
- ทำไมจึงให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ ผูกขาดการเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโรงเรียนเดียว
- ขอให้โรงเรียนอื่น ๆ เปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษาด้วยเถิด ชั้นมัธยมปีที่ 8 ก็เคยสอนมาแล้ว ถ้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสอนดี นักเรียนเตรียมก็คงจะเข้ามหาวิทยาลัยได้หมดตามเดิมไม่เดือดร้อนอะไร
- อยากให้นักเรียนที่จบมัธยมปีที่ 6 ได้เรียนต่อเพื่อจะได้มีความรู้สูงขึ้นมากกว่าที่จะให้ได้เข้ามหาวิทยาลัย ไม่ให้เข้าก็ไม่เป็นไร
ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ทางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงได้ร่วมกันพิจารณาที่จะเปิดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้ได้ เพราะทนปิดต่อไปไม่ไหวแล้ว กรมสามัญศึกษาจะเอื้อเฟื้อให้ยืมสถานที่ในโรงเรียนบางแห่ง สภามหาวิทยาลัยได้ประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ตกลงให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไปเปิดสอนที่โรงเรียนมัธยมวัดไตรมิตร โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส โรงเรียนศึกษานารี โดยจัดให้สองสองผลัด นักเรียนหญิงตอนเช้านักเรียนชายตอนบ่าย แต่ยังไม่ทันดำเนินการ ทหารแจ้งว่าต้องการใช้โรงเรียนศึกษานารี จึงต้องเปลี่ยนใหม่ ได้โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามมาแทน โรงเรียนเจ้าของสถานที่เอื้อเฟื้อเป็นอย่างมากโดยจัดนักเรียนของตนไปเรียนเป็นผลัดบ่าย ณ โรงเรียนอื่นแทน
ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เชิญผู้แทนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาประชุม และชี้แจงว่าจำเป็นจะต้องอนุโลมตามเสียงของประชาชน แต่จะตั้งชั้นมัธยมปีที่ 7 - 8 ขึ้นก็ไม่ได้เพราะขัดกับแผนการศึกษา จึงจะให้ขยายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแทน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่มีอยู่ก็ให้จัดต่อไป แต่จะให้โรงเรียนรัฐบาลแห่งอื่นและโรงเรียนราษฎร์เปิดสอนได้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อโอนมาอยู่ทางกรมสามัญศึกษาได้ก็ให้โอนมา กระทรวงจะเป็นผู้จัดสอบประโยคเตรียมอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะจัดสอบคัดเลือกผู้ที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกชั้นหนึ่ง ในการประชุมครั้งต่อมา กำหนดให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยรับนักเรียนใหม่ในปีการศึกษา พ.ศ. 2489 จำนวน 100 คนและกำหนดจะให้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดพระนคร ธนบุรี พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ สงขลาและอุบลราชธานี จังหวัดละ 2 โรงเรียน
การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการรื้อฟื้นชั้นมัธยมปีที่ 8 กลับมาอีก ไม่เหมือนนโยบายที่ประกาศครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2484 เพราะกลับเพิ่มชั้นเตรียมอุดมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแทนที่จะยุบ เรื่องนี้ได้พูดกันในที่ประชุมกรรมการอำนวยการคุรุสภาครั้งหนึ่ง กรรมการบางท่านไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ บอกว่าเป็นการเตรียมเสมียนและเป็นยาหอมสำหรับประชาชนมากกว่าอย่างอื่น เหตุการณ์นี้เป็นผลให้โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีอันยุบไป
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยก็ได้จัดการสอบคัดเลือกรับนักเรียนสำหรับโรงเรียนของตนเอง ประชาชนยังนิยมอยู่ มีผู้สมัครมากกว่าโรงเรียนอื่น ๆ โรงเรียนรัฐบาลในส่วนกลางแห่งหนึ่งมีผู้สมัครเพียง 30 คนเท่านั้น ขณะที่สมัครที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 1,112 คน ทุกโรงเรียนสอบคัดเลือกพร้อมในวันเดียวกัน พอสอบรับสมัครนักเรียนใหม่แล้ว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็จัดการสอบประจำปี พ.ศ. 2487 ซึ่งค้างเติ่งมาถึงต้นปีการศึกษา 2489 สอบปี 1 และปีที่ 2 พร้อมกัน มีผู้สอบประมาณ 3,000 คน ในจำนวนนี้ จบหลักสูตรได้เข้ามหาวิทยาลัย 664 คน จำนวนนักเรียนที่เหลือศึกษาอยู่ในโรงเรียนจึงมากพอใช้
สิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2489 ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้คืนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้แก่ประเทศไทย โดยมีทหาร ส.ห. เป็นผู้รับมอบแล้วจึงมอบให้แก่โรงเรียนอีกชั้นหนึ่ง บัดนี้นักเรียนก็ได้ทยอยกลับเข้ามาเรียนยังโรงเรียนทีละนิด ผู้อำนวยการโรงเรียนร้องว่าจะซ่อมโรงเรียนไปทำไมกัน เมื่อสภามหาวิทยาลัยประชุมตกลงว่าจะให้ย้ายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไปสังกัดกรมสามัญศึกษา ซึ่งขณะนั้นดูเหมือนหมายความว่าจะให้ย้ายอาจารย์และนักเรียนไปจากโรงเรียนเดิมให้หมดด้วย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ต่อสู้ที่จะอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เป็นผลสำเร็จ เกิดความยุ่งยากบางอย่างที่ไม่ได้คาดฝัน เช่นในต้น พ.ศ. 2490 ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมสามัญศึกษาต่างก็จะไม่วางฎีกาเบิกเงินเดือนให้ครูอาจารย์ เรื่องการโอนโรงเรียนนี้จึงโอ้เอ้กันอยู่นาน ในที่สุดได้โอนกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 แต่โอนเฉพาะสังกัด ยังใช้สถานที่โรงเรียนเดิมไม่ต้องโยกย้ายไปที่อื่น
เรื่องนี้กระทบกระเทือนจิตใจอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไม่น้อยกว่าเมื่อได้ยินวิทยุกระจายเสียงประกาศว่าจะยุบโรงเรียน เสียดายพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราของโรงเรียนอยู่เช่นเดียวกับของมหาวิทยาลัยและเสียดายสร้อยชื่อ "แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ซึ่งหม่อมหลวงปิ่นได้กล่าวว่า
"โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ชื่อยาวนัก จึงได้เปลี่ยนเป็น "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา" เฉย ๆ แต่พระเกี้ยวนั้นเป็นของสูง จะทิ้งกันได้อย่างไร โรงเรียนได้เก็บไว้เป็นเครื่องหมายรวมจิตใจ ของอาจารย์และนักเรียนจนกระทั่งทุกวันนี้
อาคารสถานที่ของโรงเรียนขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โรงเรียนจึงต้องดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงเป็นการใหญ่ นอกจากนั้นก็ต้องปรับปรุงจิตใจของนักเรียนด้วย งานทางด้านนี้ที่บังเกิดผลดีคือ ได้จัดตั้งคณะกรรมการนักเรียนขึ้นเพื่อให้จัดการในเรื่องที่ควรปล่อยให้นักเรียนทำเอง ให้ใช้ห้อง ๖๐ ที่โรงหัตถกรรมเป็นสำนักงานเรียกกรรมการนักเรียนนี้ว่า "กรรมการห้อง ๖๐" ซึ่งถือได้ว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจัดตั้งคณะกรรมการนักเรียนขึ้นมาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้แบ่งนักเรียนออกเป็นคณะ ๆ รวม 6 คณะ แต่ละคณะให้มี "สี" ประจำคณะ (ปัจจุบัน มี 7 สี ได้แก่ สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า สีแดง สีแสด สีม่วง และสีบานเย็น) และมีการแข่งขันกีฬาสีเป็นโรงเรียนแรก อีกด้วย
แต่เรื่องสำคัญที่สุดในปี พ.ศ. 2490 ก็ย่อมเป็นเรื่องขยายการศึกษา กล่าวคือเมื่อโรงเรียนรัฐบาลอื่น ๆ และโรงเรียนราษฎร์ต่างก็จัดชั้นเตรียมอุดมศึกษาได้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงไม่มีความสำคัญมากนัก แต่มีผู้มีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก ประจวบกับเป็นเวลาหลังสงคราม กระทรวงศึกษาธิการกำลังขยายการศึกษา ต้องการครูชั้นสูงเป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้จัดตั้งแผนกฝึกหัดครูมัธยมขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2490 เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยมีอาจารย์หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร ได้ทรงเป็นหัวหน้างานใหม่นี้
ปลายปีการศึกษา 2490 (มีนาคม พ.ศ. 2491) โรงเรียนจำใจต้องให้หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร โอนไปรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านได้ทรงเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการมาได้ 4 ปี
ในปี พ.ศ. 2496 จัดตั้ง โรงเรียนสาธิตปทุมวัน เพื่อเป็นหน่วยสาธิตของ แผนกฝึกหัดครูมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ฝค.ตอ.) ซึ่งโรงเรียนนี้นับเป็นแห่งแรกที่ใช้ชื่อว่า "โรงเรียนสาธิต" โดยดำเนินงานตามรูปแบบโรงเรียนมัธยมหอวังฯ เดิม (ต่อมา ฝค.ตอ. ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น วิทยาลัยวิชาการศึกษา ปทุมวัน และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ตามลำดับ)
ในปี พ.ศ. 2503 มีการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาแห่งชาติใหม่ เรียกชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 2 เดิมว่า ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ แบ่งเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 (มศ.4 - มศ.5) แผนกศิลปะ แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกทั่วไป มีหลักสูตรสองปีเท่าเดิม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงเป็นชื่อเฉพาะที่มีความหมายเช่นเดิม เพราะนักเรียนที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้ ส่วนมากต้องการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
ในปี พ.ศ. 2533 กระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ โดยหลักสูตร 2 ปี ปรับให้เป็นหลักสูตร 3 ปี (ม.4 - ม.6)
เครือข่ายวิชาการแห่งจุฬาฯ
ปัจจุบัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีฐานะเป็นโรงเรียนเครือข่ายวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยกัน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน โดยนักเรียนของทั้ง 3 โรงเรียนนี้ จะได้รับสิทธิเข้าเรียนโครงการเรียนล่วงหน้าจุฬาฯ (CUAP Program) ในรายวิชาที่นักเรียนสนใจและถนัดเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพิเศษที่ริเริ่มขึ้นมาสำหรับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโดยเฉพาะ ได้แก่ โครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในปีการศึกษาต่อมาได้เปิดรับนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ยังเป็นโรงเรียนแรกในประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนภาษาสเปน ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกโครงการหนึ่ง จัดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ลำดับ | รูป | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | |
1. | ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (24 ตุลาคม พ.ศ. 2446 — 5 ตุลาคม พ.ศ. 2538) | พ.ศ. 2480 | พ.ศ. 2487 | ||
2. | - | สนั่น สุมิตร (12 เมษายน พ.ศ. 2453 — 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2539) | พ.ศ. 2487 | พ.ศ. 2493 | |
3. | สงวน เล็กสกุล (8 มกราคม พ.ศ. 2452 — 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505) | พ.ศ. 2494 | พ.ศ. 2505 | ||
4. | - | คุณหญิง บุญเลื่อน เครือตราชู (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 — 7 มีนาคม พ.ศ. 2555) | พ.ศ. 2507 | พ.ศ. 2518 | |
5. | - | คุณหญิง สุชาดา ถิระวัฒน์ (20 มิถุนายน พ.ศ. 2467 — 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565) | พ.ศ. 2518 | พ.ศ. 2522 | |
6. | คุณหญิง พรรณชื่น รื่นศิริ (7 เมษายน พ.ศ. 2472 — 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551) | พ.ศ. 2522 | พ.ศ. 2532 | ||
7. | - | คุณหญิง พรรณี กาญจนะวสิต (4 สิงหาคม พ.ศ. 2480 —) | พ.ศ. 2532 | พ.ศ. 2540 | |
8. | - | สมพงศ์ ธรรมอุปกรณ์ (18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 —) | พ.ศ. 2540 | พ.ศ. 2542 | |
9. | - | อัศวิน วรรณวินเวศร์ (9 ตุลาคม พ.ศ. 2483 —) | พ.ศ. 2542 | พ.ศ. 2544 | |
10. | - | พรรณี เพ็งเนตร (19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 —) | พ.ศ. 2544 | พ.ศ. 2548 | |
11. | - | พิศวาส ยุติธรรมดำรง (2 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 — 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564) | พ.ศ. 2548 | พ.ศ. 2551 | |
12. | - | วิศรุต สนธิชัย (11 มกราคม พ.ศ. 2496 —) | พ.ศ. 2551 | พ.ศ. 2556 | |
13. | - | ปรเมษฐ์ โมลี (6 กันยายน พ.ศ. 2501 —) | พ.ศ. 2556 | พ.ศ. 2561 | |
14. | - | โสภณ กมล (25 เมษายน พ.ศ. 2503 —) | พ.ศ. 2561 | พ.ศ. 2563 | |
15. | - | วรรณดี นาคสุขปาน | พ.ศ. 2563 | พ.ศ. 2565 | |
16. | - | บุณยพงศ์ โพธิวัฒน์ธนัต | พ.ศ. 2565 | ปัจจุบัน |
สถานที่สำคัญภายในโรงเรียน
- อาคาร
- ตึก 1
- ตึก 2
- ตึก 3
- ตึก 4 (หอสมุด ม.ล.ปิ่น มาลากุล)
- ตึก 8
- ตึกคุณหญิงหรั่ง (หรั่ง กันตารัติ)
- โรงพลศึกษา (สร้างแทนที่เรือนเหลือง)
- ตึก 9
- ตึกศิลปะ (สร้างแทนที่เรือนเทา)
- หอประชุมโรงเรียน
- ตึก 50 ปี (สร้างแทนที่เรือนไม้อรชร 1)
- ตึก 55 ปี (สร้างแทนที่เรือนไม้อรชร 2)
- ตึก 60 ปี
- เรือนเกษตร
- ตึกเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ (สร้างแทนที่โรงอาหารหรั่ง กันตารัติ)
- ตึก 80 ปี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (สร้างแทนที่ตึกปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ซึ่งรื้อถอนเมื่อ พ.ศ. 2560)
- ตึก 81 ปี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- อาคารนันทนาการ
- อาคารสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาในพระบรมราชูปถัมภ์
สิ่งสักการะในโรงเรียน
- ศาลพระปริวรรติเทพ
- พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปิยมหาราช
- รูปปั้นหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ณ ห้องทำงานห้องแรก (ห้อง 57 ชั้นบน ตึก 1)
- อนุสรณ์สถาน ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล หน้าหอประชุมโรงเรียน
หลักสูตรที่เปิดสอน
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ โดยแบ่งตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เน้นดังนี้
หลักสูตรที่ถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2560
- วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ แบ่งกลุ่มย่อยตามวิชาเลือกได้อีก 6 กลุ่ม คือ
- ภาษา-คณิตศาสตร์ 3 ห้อง เรียนเพิ่มวิชาบริหารจัดการ
- ภาษา-ภาษา เรียนเพิ่มวิชาคุณภาพชีวิต โดยแบ่งกลุ่มวิชาภาษาที่เลือกได้ 6 กลุ่ม คือ
- ภาษาฝรั่งเศส 2 ห้อง
- ภาษาเยอรมัน 2 ห้อง
- ภาษาญี่ปุ่น 2 ห้อง
- ภาษาสเปน 1 ห้อง
- ภาษาจีน 2 ห้อง
- ภาษาเกาหลี 1 ห้อง
รายพระนามและรายนามนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง (เรียงลำดับตามรุ่น)
รายพระนามและรายนาม | รุ่น | เกียรติประวัติ |
---|---|---|
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล | ต.อ. 1 |
|
คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ | ต.อ. 1 |
|
หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค | ต.อ. 3 |
|
คุณหญิงพรรณชื่น รื่นศิริ | ต.อ. 7 |
|
จุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา | ต.อ. 7 |
|
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี | ต.อ. 10 |
|
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ | ต.อ. 10 |
|
อนันต์ อนันตกูล | ต.อ. 10 |
|
อาทิตย์ อุไรรัตน์ | ต.อ. 16 |
|
รองศาสตราจารย์ ธัชชัย สุมิตร | ต.อ. 20 |
|
ยงยุทธ วิชัยดิษฐ | ต.อ. 21 |
|
ศาสตราจารย์กิตติคุณ เทียนฉาย กีระนันทน์ | ต.อ. 23 |
|
ศาสตราจารย์ สุทัศน์ ยกส้าน | ต.อ. 24 |
|
ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม | ต.อ. 25 | |
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา | ต.อ. 28 |
|
ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ | ต.อ. 28 |
|
ธาริษา วัฒนเกส | ต.อ. 28 |
|
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ | ต.อ. 33 | |
ศาสตราจารย์ภิชาน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ | ต.อ. 33 |
|
ศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ | ต.อ. 33 |
|
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ | ต.อ. 34 | |
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุชัย เจริญรัตนกุล | ต.อ. 34 | |
พงศ์เทพ เทพกาญจนา | ต.อ. 35 | |
กิตติรัตน์ ณ ระนอง | ต.อ. 37 |
|
ศาสตราจารย์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ | ต.อ. 39 | |
อภิรักษ์ โกษะโยธิน | ต.อ. 39 | |
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ | ต.อ. 44 |
|
รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ | ต.อ. 44 |
|
ศาสตราจารย์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ | ต.อ. 44 | |
บุญยอด สุขถิ่นไทย | ต.อ. 44 |
|
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ | ต.อ. 56 |
|
อ้างอิง
- หนังสือ ๗๐ ปี เตรียมอุดมศึกษา
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "ประวัติ "เตรียมอุดมศึกษา" โรงเรียนสหศึกษาที่แรกของไทย ผลงานของคณะราษฎร". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 27 September 2020.
ในเอกสาร วารสารข่าวภาพไทย กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ปรากฏข้อมูลบทบาทของคณะราษฎรกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีข้อความส่วนหนึ่งดังนี้ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีกำเนิดเมื่อท่านอธิการบดี จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นพุทธศักราช 2481 เพื่อดำเนินการตามแผนการศึกษาใหม่ของรัฐบาล
- ↑ "จำนวนนักเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-10. สืบค้นเมื่อ 2022-07-31.
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์