ข้ามไปเนื้อหา

สวนลุมพินี

พิกัด: 13°43′50″N 100°32′30″E / 13.73056°N 100.54167°E / 13.73056; 100.54167
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวนลุมพินี
แผนที่
ประเภทสวนสาธารณะระดับย่าน
ที่ตั้งแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
พิกัดภูมิศาสตร์13°43′50″N 100°32′30″E / 13.73056°N 100.54167°E / 13.73056; 100.54167
พื้นที่142 เอเคอร์ (57 เฮกตาร์)
360 ไร่
เปิดตัวพ.ศ. 2468
ผู้ดำเนินการตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
สถานะ04.30 – 22.00 น. ทุกวัน
ขนส่งมวลชน ศาลาแดง
สีลม, ลุมพินี
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสวนลุมพินี
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005516

สวนลุมพินี หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า สวนลุม เป็นสวนสาธารณะระดับย่าน และถือเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 4 ล้อมรอบด้วยถนนวิทยุ ถนนราชดำริ และถนนสารสิน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในที่ดินเดิมเนื้อที่ 360 ไร่ ณ ทุ่งศาลาแดง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้สำหรับสร้าง "สยามรัฐพิพิธภัณฑ์" เพื่อจัดแสดงสินค้าไทยเป็นครั้งแรก และจัดให้เป็น "สวนสาธารณะ" สำหรับประชาชน พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า "สวนลุมพินี" ซึ่งเป็นชื่อสถานที่ประสูติของพระโคตมพุทธเจ้าในประเทศเนปาล แต่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนจึงไม่แล้วเสร็จ

ประวัติ

[แก้]
สวนลุมพินี พ.ศ. 2489

สวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร เป็นพระราชมรดกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้แก่ชาวพระนคร โดยมีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติครบ 15 ปี ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จึงมีพระราชดำริที่จะจัดงานแสดงพิพิธภัณฑ์สรรพสินค้าและทรัพยากรธรรมชาติ ดังเช่นประเทศตะวันตกที่ทำได้ผลมาแล้ว โดยกำหนดจัดในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนมกราคมถึงมีนาคม พ.ศ. 2468 (นับศักราชแบบเก่า) เรียกว่า งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ และมีพระราชดำริว่าเมื่อเลิกการจัดงานแล้ว สถานที่นั่นควรจัดทำเป็นสวนพฤกษชาติ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและใช้พักผ่อน โดยทรงเลือกบริเวณทุ่งศาลาแดง ซึ่งเป็นที่ดินส่วนพระองค์ที่เหลือจากการแบ่งไปให้เป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว เป็นที่จัดงานและทรงสละพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการเตรียมสถานที่ ครั้งนั้นมีการขุดสระกว้าง สร้างเกาะลอยกลางน้ำ ตัดถนน และสร้างถาวรวัตถุ เช่น หอนาฬิกา ตึกแบบกรีก ทรงพระราชทานชื่อว่า สวนลุมพินี ซึ่งหมายถึง สถานที่ประสูติแห่งพระโคตมพุทธเจ้า ณ ตำบลลุมพินีวัน ประเทศเนปาล แต่เนื่องด้วยพระองค์เสด็จสวรรคตก่อนกำหนดเปิด งานจึงต้องล้มเลิกงานไป

เมื่อสิ่งก่อสร้างสำหรับงานถูกรื้อถอนออกไป สวนลุมพินีถูกทิ้งให้เป็นพงรก จนในปี พ.ศ. 2472 โครงการนี้จึงถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง นายพลตำรวจตรี พระยาคทาธรสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) อดีตจเรตำรวจ ข้าราชบริพารใกล้ชิดรัชกาลที่ 6 ขอเช่าพื้นที่ 90 ไร่จากกรมโยธาเทศบาล จัดทำเป็นสวนสนุกชื่อ วนาเริงรมย์ คล้ายสวนสนุก และนำค่าเช่ามาปรับปรุงที่ดิน ส่วนที่เหลือเปิดเป็นสวนสาธารณะ นับตั้งแต่นั้น สวนลุมพินีจึงเป็นสถานที่ให้ความเพลิดเพลินสนุกสนานแก่ประชาชน มีทั้งการละเล่น แข่งว่าว วิ่งวัว ชิงช้า ม้าหมุน โดยทรงพระราชทานที่ดินให้รัฐบาลดูแล และมีกระแสรับสั่งให้ใช้เพื่อสวนสาธารณะเท่านั้น ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สวนลุมพินีกลายเป็นที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่น สวนแห่งนี้จึงลดบทบาทลง

ต่อมา พ.ศ. 2478 หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ นายช่างชั้น 1 กองช่างนคราธร จึงเข้าปรับปรุงให้กลับมาเป็นสวนสาธารณะอีกครั้ง โดยติดต่อนายโอวบุ้นโฮ้ว เศรษฐีจากสิงคโปร์ให้ช่วยสร้างสนามกีฬาสำหรับเด็กขึ้น และจัดตั้งสวนเพาะชำขยายพันธุ์ไม้สำหรับตกแต่ง และมีการวางรางรถไฟเล็ก โดยจากนั้นสวนลุมพินีก็ใช้เป็นสถานที่จัดงานระดับชาติ เช่น งานฉลองรัฐธรรมนูญ การประกวดนางสาวไทย รวมทั้งเป็นที่จัดงานวันลอยกระทง งานวันเด็กแห่งชาติ และจัดรายการโชว์จากต่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงใช้จัดงานกาชาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561

สวนลุมพินีเคยมีภัตตาคารที่โด่งดังชื่อ Peninsula หรือชื่อภาษาไทย คือ กินรีนาวา เป็นภัตตาคารอาหารจีนขนาดใหญ่ สร้างเป็นรูปเรืออยู่กลางน้ำใกล้เกาะลอย[1]

ในปี พ.ศ. 2568 สวนลุมพินีจะมีอายุครบ 100 ปี กรุงเทพมหานครจึงมีการปรับภูมิทัศน์และปรับปรุงทัศนียภาพต่าง ๆ ภายในสวนให้ทันวาระครบรอบ

ภายในสวน

[แก้]
ภูมิทัศน์เมืองโดยรอบสระเก็บน้ำสวนลุมพินี
  • พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2485 เพื่อระลึกถึงมหากรุณาธิคุณขององค์ผู้ให้กำเนิดสวนลุมพินี
  • ลานตะวันยิ้ม ลานเพื่อกิจกรรมนันทนาการที่ออกแบบเพื่อคนพิการโดยเฉพาะ เช่น มีทางลาดแทนขั้นบันได สนามเด็กเล่นชนิดพิเศษ ที่จอดรถคนพิการ และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนด้อยโอกาสครบครัน
  • สโมสรพลเมืองอาวุโสแห่งเมืองกรุงเทพมหานคร' ตั้งอยู่ ณ อาคารลุมพินีสถาน เป็นที่พบปะสังสรรค์ พักผ่อนออกกำลังกายและฝึกอาชีพของผู้สูงอายุ เปิดบริการเวลา 08.00 – 18.00 น. ทุกวัน และในอาคารยังมีเวทีลีลาศหมุนได้ใช้เป็นที่จัดกิจกรรมลีลาศและฝึกสอนในวันเสาร์ – อาทิตย์
  • ศูนย์สร้างโอกาสเด็กสวนลุมพินี ให้บริการแนะนำ ปรึกษา ช่วยเหลือ สอนหนังสือแก่เด็กเร่ร่อน เปิดบริการ 10.00 – 19.00 น. ทุกวัน
  • ห้องสมุดประชาชนสวนลุมพินี เสนอบริการในรูปแหล่งค้นคว้าความรู้จากหนังสือและวิดีทัศน์ เปิดบริการเวลา 08.00 – 20.00 น. วันอังคาร – อาทิตย์
  • ศูนย์เยาวชนลุมพินี นำเสนอกิจกรรมกีฬา และฝึกสอนแก่เด็กและเยาวชน จัดสถานที่และอุปกรณ์กีฬาไว้ให้บริการสมาชิก เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ บาสเก็ตบอล ฝึกสอนลีลาศ เปิดบริการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 10.00 – 20.00 น. และวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น.
  • ศูนย์อาหารศรีไทยเดิม จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม เปิดบริการ เวลา 04.30 – 10.00 น. ทุกวัน
  • จักรยานน้ำ เป็นจุดบริการของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว อยู่ตรงข้าม เกาะลอยใกล้ห้องสมุด
  • ธรรมะในสวนกิจกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีการทำบุญตักบาตร และแสดงธรรมะโดยพระสงฆ์ ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน เวลา 06.00 – 08.00 น.
  • ดนตรีในสวน มีการจัดแสดงดนตรีไทยและสากล เช่น การบรรเลงเพลงจากวง Bangkok Symphony Orchestra (BSO)

สถานที่ตั้ง

[แก้]

สวนลุมพินีถูกล้อมรอบด้วยถนนทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

การเดินทาง

[แก้]
สะพานเขียว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสวนลุมพินี เป็นทางเดินที่ใช้เชื่อมต่อไปยังสวนเบญจกิติ
  • ถนนพระราม 4 สาย 4 14 45 46 47 50 67 74 76 115 141 505 507 A3
  • ถนนวิทยุ สาย 13 50 62 76 505 A3
  • ถนนสารสิน สาย 13 50 76 505 A3
  • ถนนราชดำริ สาย 14 15 17 74 77 504 505 514 A3

สถานที่ใกล้เคียง

[แก้]
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อมองจากสวนลุมพินี

ในบริเวณใกล้เคียงสวนลุมพินี ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น

อ้างอิง

[แก้]
  1. โรม บุนนาค. ""ทุ่งศาลาแดง" สถานหย่อนใจเก่าแก่ของคนกรุงเทพฯ กลิ่นปลาหมึกย่างเคล้าน้ำหอม ประทับใจ!!!". ผู้จัดการออนไลน์.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°43′50″N 100°32′30″E / 13.73056°N 100.54167°E / 13.73056; 100.54167