ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนดาราวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนดาราวิทยาลัย
Dara Academy
ที่ตั้ง
แผนที่
196 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50000
ข้อมูล
ชื่ออื่นด.ว. / D.R.A
ประเภทเอกชน
คติพจน์สุขภาพเลิศ ปัญญาล้ำ คุณธรรมเยี่ยม
สถาปนาพ.ศ. 2421 ก่อตั้งโรงเรียน
ผู้ก่อตั้งนางโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี
โรงเรียนพี่น้องโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน

โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
หน่วยงานกำกับมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย
รหัส1150100027
ระดับปีที่จัดการศึกษาอนุบาล - มัธยมปลาย
สีแดง   ขาว  
เพลงเพลงประจำโรงเรียนดาราวิทยาลัย
เว็บไซต์http://www.dara.ac.th/
โรงเรียนดาราวิทยาลัย มีอายุครบ 130 ปี ในปีคริสต์ศักราช 2008 (พุทธศักราช 2551)

โรงเรียนดาราวิทยาลัย เคยเป็นโรงเรียนสตรีเอกชนแห่งแรกที่ก่อตั้งอยู่นอกกรุงเทพ และเป็นโรงเรียนสตรีเอกชนแห่งแรกประจำจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นโรงเรียนสตรีแห่งที่2 ในประเทศไทยอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้ใช้ชื่อ ตามพระราชอิสสริยยศของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา โรงเรียนดาราวิทยาลัยเริ่มก่อตั้งที่แรกเมื่อปีพ.ศ.2413 และเริ่มสอนเมื่อปีพ.ศ.2418 โดยมีนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 8คน เดิมชื่อว่า โรงเรียนสตรี แต่ได้มีการสถาปนาโรงเรียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2421 โดยปัจจุบันเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่และเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนแห่งนี้มีอายุแล้ว 147 ปี และยังเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่มากที่สุดเป็นอันดับที่3 ของประเทศไทย

ประวัติ

[แก้]

คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ส่งส่งมิชันนารีเข้ามาประกาศเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2383) โดยเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ และขยายตัวออกสู่ภูมิภาคโดยเริ่มต้นที่จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาในปี ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410) ศาสนาจารย์ ดาเนียล แมคกิลวารี พร้อมครอบครัว ภรรยา คือ นางโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี บุตรสาว 1 คน และบุตรชาย 1 คนได้ขึ้นมาทำงานที่ล้านนา ที่เชียงใหม่

ในระหว่างที่อยู่ในเชียงใหม่ ศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี พบว่าในเชียงใหม่มีผู้หญิงเพียง 2 คนเท่านั้นที่รู้หนังสือ จึงมีความคิดที่จะให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาเพื่อให้สามารถอ่านออก เขียนได้ ซึ่งจะสามารถช่วยให้อ่านพระคัมภีร์ ช่วยงานสามี และนำความรู้มาดูแลครอบครัวได้เพราะด้วยวิถีชีวิตของชาวล้านนาผู้ชายจะยกให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ในการปกครองเรือน และบริวาร จึงจำเป็นต้องมีความรู้

พ.ศ.2412 หลังจากนายแพทย์แมคกิลวารีได้ย้ายมาสร้างบ้านไม้สักริมแม่น้ำปิงบนที่ดินที่พระเจ้ากาวิโลรสให้เช่า ชุมชนชาวคริสต์ในเชียงใหม่ก็เริ่มปรากฏชัดขึ้นในทิศตะวันตกของแม่น้ำปิง[1]

ค.ศ.1870 (พ.ศ.2413) กลับมาที่นายแพทย์แมคกิลวารี หลังจากที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ขึ้นปกครองเชียงใหม่ บรรยากาศของการนับถือศาสนาในหมู่ประชาชนก็ผ่อนคลายลง มีชาวเชียงใหม่หันไปเข้ารีตของศาสนาคริสต์มากขึ้น และพระเจ้าอินทวิชยานนท์ก็ทรงพระราชทานที่ดินให้กับคริสตจักรเพื่อใช้สำหรับการก่อสร้างโบสถ์คริสต์หลังแรกของเมืองเชียงใหม่ และจากการผลักดันของนายแพทย์ จึงมีการก่อตั้งโรงเรียนสตรีแห่งแรกของเชียงใหม่ที่อยู่ติดกับบ้านพักของตน เดิม ณ สันป่าข่อย ชื่อเดิมว่าโรงเรียนสตรี หรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกกันว่าโรงเรียนสตรีสันป่าข่อย

ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2418) นางโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี ได้นำเด็กผู้หญิง 6 - 8 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคนทำงานในบ้านมา สอนภาษาไทย การเย็บปักถักร้อย พระคัมภีร์ การดูแลบ้านเรือน

ค.ศ. 1878 (พ.ศ. 2421) โรงเรียนดาราวิทยาลัยได้รับพระราชทานที่ดินเริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการและย้ายมา ณ ที่ปัจจุบัน โดยนางโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี (แม่ครูหลวง)

ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) คณะมิชชันนารีส่ง Miss Edna Sarah Cole และ Miss Mary Margaretta Campbell มารับผิดชอบและจัดระบบโรงเรียนผู้หญิง (Chiang Mai Girls'School) ที่นางแมคกิลวารีตั้งขึ้น

วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้เสด็จเยี่ยมโรงเรียนนี้และผู้บริหารโรงเรียนได้ทูลขอพระราชทานชื่อของโรงเรียน วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้มีโทรเลขถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรึกษาเรื่องชื่อของโรงเรียนผู้หญิงและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโทรเลขตอบกลับมาในวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) ให้เรียกชื่อโรงเรียนผู้หญิงว่า "โรงเรียนพระราชชายา" (Prarachaya School)

ปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) มีประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับแรกของประเทศไทย ผู้จัดการและครูใหญ่ของโรงเรียนพระราชชายาคือ Miss Julia A. Hatch ได้ทำเรื่องถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการขอ "ดำรง" โรงเรียนพระราชายาเป็นโรงเรียนราษฎร์ของคณะมิชชันนารีที่ตั้งมาก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 เป็นโรงเรียนที่ให้การศึกษาแก่นักเรียนหญิง ตั้งอยู่ที่บ้านสันป่าข่อย ตำบลวัดสระเกษ (วัดเกตในปัจจุบัน) ปี ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2466) Miss Julia A.Hatch ในฐานะผู้จัดการ ได้ทำหนังสือถึงเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ 2 ฉบับ ฉบับแรก ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อ "โรงเรียนพระราชายา" เป็น "โรงเรียนดาราวิทยาลัย แผนกประถม" เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ตอบรับทราบเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2466) และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2466) อีกฉบับขอตั้งโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า "ดาราวิทยาลัย" โดยมี Miss Julia A. Hatch เป็นผู้จัดการ และมี Miss Lucy Niblock เป็นครูใหญ่ ตั้งอยู่ที่บ้านหมู่ที่ 1 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดสระเกษ (วัดเกตในปัจจุบัน) อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ตอบรับเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2466) และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2466)

ปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) โรงเรียนดาราวิทยาลัยได้รับการรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนทั้งสองแห่งถูกรัฐบาลยึด เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) สงครามยุติ มิชชันนารีกลับเมืองไทย ดร. Kennel E. Well เป็นผู้รับอำนาจจากคณะมิชชันนารีในการทวงทรัพย์สิน คือโรงเรียนและโรงพยาบาลในเขตภาคเหนือคืนจากรัฐบาล Miss Helen F. Mcclure เดินทางมาถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) Miss Lucy Niblock เดินทางมาถึงเชียงใหม่เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) โรงเรียนดาราวิทยาลัยเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) โดยมีครูบัวชม อินทะพันธุ์ เป็นครูใหญ่ มีนักเรียน 350 คน โรงเรียนเปิดดำเนินการในลักษณะโรงเรียนไปจนกระทั่งประมาณ ปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) จึงได้มีการปิดโรงเรียนดาราวิทยาลัยแผนกประถม คงไว้แต่โรงเรียนดาราวิทยาลัยในปัจจุบัน

ปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) อาจารย์สมศรี ไชยเศรษฐ ผู้จัดการ และอาจารย์สมปรารถนา บุณยเกียรติ ครูใหญ่ โรงเรียนดาราวิทยาลัยได้ทำเรื่องนำเสนอมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรใรประเทศไทย ขออนุมัติให้โรงเรียนดาราวิทยาลัยเปิดสอนระบบสหศึกษา และได้รับการอนุมัติให้เปิดในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) โดยเปิดทีละชั้นเรียน

ปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) โรงเรียนดาราวิทยาลัยเปิดสอนโครงการ การเรียนภาษาต่างประเทศโดยเจ้าของภาษา (Native Speaker Program)

ปัจจุบัน โรงเรียนดาราวิทยาลัย มีอายุ 147 ปี และเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งมานานที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ และในภาคเหนือของประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง]

หลักสูตร

[แก้]
ป้ายหน้าโรงเรียนดาราวิทยาลัย สร้างขึ้นใหม่เนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปี โรงเรียนดาราวิทยาลัย

เปิดทำการสอนตั้งแต่ ชั้นเตรียมอนุบาล จนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6

ดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 โดยในรายวิชาภาษาอังกฤษได้มีหลักสูตรพิเศษที่เรียนกับเจ้าของภาษาโดยเฉพาะในรายวิชาภาษาอังกฤษ เรียกว่า โปรแกรม NP และในระดับช่วงชั้นที่ 3 ม.1-ม.3 ได้มีการบรรจุวิชาภาษาจีนไว้เป็นวิชาเรียนในรายวิชาเสริมทักษะภาษาต่างประเทศโดยนักเรียนทุกคนจะได้เรียนในรายวิชานี้เนื่องจากเห็นความสำคัญของภาษาจีนที่จะมีความสำคัญมากในอนาคต

โปรแกรมการเรียนภาษาอังกฤษโดยเจ้าของภาษา

โปรแกรมการเรียนภาษาอังกฤษโดยเจ้าของภาษาเป็นหลักสูตรเฉพาะ ที่นักเรียนจะได้เรียนกับครูเจ้าของภาษาจำนวน 4 หรือ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งโปรแกรมนี้มีตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6

ใน 1 ชั้นเรียนจะมีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 35 คน (เปรียบเทียบกับชั้นเรียนปกติที่มีจำนวนนักเรียนถึง 55 คน) นักเรียนจะได้เรียนในห้องเรียนปรับอากาศ ที่ติดตั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงอุปกรณ์เสียง / วีดีโอ  สมาร์ททีวี  และคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับของชั้นเรียน

ครูผู้สอนจะเน้นทักษะ การพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน นักเรียนจะได้ไปทัศนศึกษา เข้าค่ายภาษาอังกฤษ ร่วมงาน NP เล่นละครภาษาอังกฤษ และทำหนังสือพิมพ์ พร้อมวารสาร The Dara Star รายปี

โปรแกรมการเรียนไตรภาษา (Trilingual E Plus + Program)

โปรแกรมการเรียนไตรภาษา เน้นการเรียนรู้ผ่านการบูรณาการเนื้อหาและภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน พัฒนาทักษะภาษาวิชาการและภาษาเพื่อการสื่อสาร ตามหลักการ : ภาษาใช้ในการเรียนรู้เช่นเดียวกับใช้ในการสื่อสาร

วิชาเป็นตัวกำหนดเนื้อหาการเรียนการสอน การใช้ภาษาในการเรียนรู้ในขณะเดียวกันกับเรียนรู้ที่จะใช้ภาษา พัฒนาทักษะการคิดที่เชื่อมโยงกับรูปแบบความคิดทั้งความเข้าใจที่เป็นรูปธรรม นามธรรม และความเข้าใจในภาษา รวมถึงการเปิดรับมุมมองที่แตกต่างและความเข้าใจร่วมกันซึ่งทำให้มีความตระหนักรู้ในตนเองและผู้อื่นเพิ่มขึ้น ผ่านกิจกรรมตามจุดเน้นของรายวิชาแต่ละชั้นปีและ Clubs ที่ทันสมัยและหลากหลาย มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะการสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาจีน การคิดเชิงวิพากษ์และการคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์และการร่วมมือ และทักษะการมองอนาคต

มัธยมปลาย

[แก้]

แผนกมัธยมศึกษาตอนปลายมีแผนการเรียน ดังนี้

  • วิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์
  • วิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ (เตรียมวิศวกรรม)
  • ห้องเรียนพิเศษวิทยาสาสตร์และคณิตศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท.
  • อังกฤษ - คณิตศาสตร์
  • อังกฤษ - ฝรั่งเศส
  • อังกฤษ - เยอรมัน
  • อังกฤษ - ญี่ปุ่น
  • อังกฤษ - จีน
  • อังกฤษ - เทคโนโลยี
  • อังกฤษ - เกาหลี
  • อังกฤษ - บริหารธุรกิจ
  • เทคโนโลยีสารสนเทศ
  • เทคโนโลยีการอาหาร

บุคคลมีชื่อเสียง

[แก้]

โรงเรียนรางวัลพระราชทาน

[แก้]
  • โรงเรียนรางวัลพระราชทาน ระดับมัธยมศึกษา (ขนาดใหญ่) ประจำปีการศึกษา 2539[ต้องการอ้างอิง]
  • โรงเรียนรางวัลพระราชทาน ระดับก่อนประถม (ขนาดใหญ่) ประจำปีการศึกษา 2547[ต้องการอ้างอิง]
  • โรงเรียนรางวัลพระราชทาน ระดับประถมศึกษา (ขนาดใหญ่) ประจำปีการศึกษา 2550[ต้องการอ้างอิง]

กิจกรรมสำคัญ

[แก้]
  • วันพระราชชายา ตรงกับวันที่ 9 ธันวาคม มีกิจกรรมงานสังสรรค์ที่เรียกกว่า "ดาราไนท์" ในตอนกลางคืน โดยที่ศิษย์เก่าจะมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง
  • พิธีจบหลักสูตร หรือเรียกว่า Baccalaureate หรือ "วันแบ็ก" ตามความนิยมของนักเรียน ซึ่งในงานนี้จะจัดขึ้นให้แก่นักเรียนชั้นมัธยม 3 และมัธยม 6 ที่จะจบ จัดขึ้นในแบบของศาสนาคริสต์โปรเตสแตนท์ในเดือนกุมภาพันธ์

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. "Dara Museum - 18. หมอแมคกิลวารี มิชชั่นนารีคนแรกของเชียงใหม่ และรัฐประหารครั้งสำคัญของล้านนา". sites.google.com.