ข้ามไปเนื้อหา

ถนนพญาไท

พิกัด: 13°45′01″N 100°31′53″E / 13.7502°N 100.5313°E / 13.7502; 100.5313
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พญาไท
ถนนพญาไทบริเวณด้านหน้าของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มุมมองไปยังสี่แยกปทุมวัน
ประวัติ
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศใต้ถนนพระรามที่ 4 / ถนนสี่พระยา ในเขตบางรัก / เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
 
ปลายทางทิศเหนืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

ถนนพญาไท (อักษรโรมัน: Thanon Phaya Thai) เป็นถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่ถนนพระรามที่ 4 (สี่แยกสามย่าน) ไปทางทิศเหนือในพื้นที่เขตปทุมวัน เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงวังใหม่กับแขวงปทุมวัน ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นตัดกับถนนพระรามที่ 1 (สี่แยกปทุมวัน) ข้ามคลองแสนแสบที่สะพานเฉลิมหล้า 56 หรือสะพานหัวช้าง เข้าสู่ท้องที่แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี ตัดกับถนนเพชรบุรี (สี่แยกราชเทวี) จากนั้นเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงทุ่งพญาไทและแขวงถนนพญาไท ตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามทางรถไฟสายตะวันออก ตัดกับถนนศรีอยุธยา (สี่แยกพญาไท) ไปสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยมีแนวถนนที่ตรงต่อเนื่องไปคือถนนพหลโยธิน

ประวัติ

[แก้]

ถนนพญาไทสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนว่า "ถนนพญาไท" เนื่องจากเป็นถนนที่มาออกที่สวนตำบลพญาไท "อีกไนยหนึ่งให้ความว่าเป็นถนนที่พระราม 4 เป็นไท ฤๅพระราชาของไท"

ถนนเส้นนี้มีกายภาพเปลี่ยนไปจากอดีตมาก เพราะเคยมีคูน้ำบริเวณหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ถมแล้ว) เคยมีวงเวียนน้ำพุราชเทวี (ปัจจุบันกลายเป็นสี่แยก ซึ่งมีสะพานข้ามแยกราชเทวีตามแนวถนนเพชรบุรี) และเคยมีสะพานพระราชเทวี ข้ามคลองประแจจีน (ถมแล้ว) ก่อนเข้าสู่ถนนเพชรบุรี

นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญในอดีต เช่นพระตำหนักลักษมีวิลาศ บริเวณหัวมุมสี่แยกพญาไท ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ด้านสถาบันแบ๊บติสต์) และอดีตโรงภาพยนตร์หลายแห่งในยุคเฟื่องฟู เช่น แมคเคนนา, พาราเมาท์, เอเธนส์, อีเอ็มไอ และเซ็นจูรี่

ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ถนนพญาไททั้งสองฝั่งช่วงตั้งแต่ทางแยกจุฬาฯ 12 ถึงทางแยกสามย่าน ห้ามจอดรถทุกชนิดตลอดเวลา ทั้งนี้เป็นไปตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อแก้ปัญหาการจราจรเช่นเดียวกับถนนอีกหลายสายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ซอยทองหล่อ, ถนนตรีเพชร, ถนนชัยพฤกษ์[1]

กายภาพ

[แก้]
ถนนพญาไทช่วงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(แบ่งเป็นช่วงจากสี่แยกสามย่าน ถึงสะพานเฉลิมหล้า 56 (สะพานหัวช้าง) ในเขตปทุมวัน และช่วงจากสะพานเฉลิมหล้า 56 ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในเขตราชเทวี)

  • ความยาว ช่วงแรก 1,643 เมตร ช่วงหลัง 1,850 เมตร รวม 3,493 เมตร
  • เขตถนน ช่วงแรก 33.50 เมตร ช่วงหลัง 34 เมตร
  • ผิวจราจร แบบแอสฟัลต์ ช่วงแรก 26 เมตร ช่วงหลัง 27 เมตร
  • ช่องจราจร 8 ช่อง ช่วงแยกสามย่านถึงแยกปทุมวัน และสะพานเฉลิมหล้า 56 และ 7 ช่อง ช่วงแยกปทุมวันถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ยกเว้นสะพานเฉลิมหล้า 56)
  • ทางเท้า ช่วงแรก ซ้ายกว้าง 3.5 เมตร ขวา 4 เมตร, ช่วงหลัง ซ้ายกว้าง 3.2 เมตร ขวา 4.3 เมตร[2]
  • เกาะกลางถนน เป็นเส้นทางยกระดับของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ตั้งแต่สี่แยกปทุมวัน ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยถนนพญาไทเป็นที่ตั้งของสถานีราชเทวี สถานีพญาไท (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์) และสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

รายชื่อทางแยก

[แก้]
รายชื่อทางแยกบน ถนนพญาไท ทิศทาง: สามย่าน–อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
ถนนพญาไท (สามย่าน–อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)
กรุงเทพมหานคร 0+000 แยกสามย่าน เชื่อมต่อจาก: ถนนสี่พระยา จากซอยกัปตันบุช
ถนนพระรามที่ 4 ไปหัวลำโพง ถนนพระรามที่ 4 ไปศาลาแดง
แยกปทุมวัน ถนนพระรามที่ 1 ไปเจริญผล ถนนพระรามที่ 1 ไปราชประสงค์
สะพานเฉลิมหล้า 56 ข้ามคลองแสนแสบ
แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี ไปเพชรพระราม ถนนเพชรบุรี ไปประตูน้ำ
จุดตัดทางรถไฟพญาไท ตรงไป: ข้ามทางรถไฟสายตะวันออก
แยกพญาไท ถนนศรีอยุธยา ไปศรีอยุธยา ถนนศรีอยุธยา ไปมักกะสัน
แยกรางน้ำ ถนนรางน้ำ ไปถนนราชปรารภ ไม่มี
แยกโยธี ไม่มี ถนนโยธี ไปถนนพระรามที่ 6
วงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนราชวิถี ไปสะพานกรุงธน ถนนราชวิถี ไปแยกสามเหลี่ยมดินแดง
ตรงไป: ถนนพหลโยธิน ไปสะพานควาย
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

สถานที่สำคัญที่ถนนตัดผ่าน

[แก้]
ป้ายชื่อถนนพญาไท และรถตุ๊กตุ๊กบนถนนพญาไท ช่วงแยกสามย่าน
การจราจรบนถนนพญาไทด้านหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
  3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย
  4. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  5. วังสระปทุม
  6. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
  7. สะพานเฉลิมหล้า 56 (สะพานหัวช้าง)
  8. สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ราชเทวี
  9. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (อาคารพญาไท พลาซ่า)
  10. กรมปศุสัตว์
  11. สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและสถานีรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พญาไท
  12. อาคารวรรณสรณ์
  13. สำนักงานเขตราชเทวี
  14. กรมแพทย์ทหารบก
  15. สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  16. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
  17. โรงพยาบาลราชวิถีและวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  18. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เช็คด่วน! ประกาศห้ามจอดรถในซอยทั่วกทม. ทั้งจำกัดเวลาและตลอดเวลา แก้รถติด". ข่าวสด. 2017-04-21. สืบค้นเมื่อ 2017-04-23.
  2. สถิติจราจร ปี 2548 สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร

13°45′01″N 100°31′53″E / 13.7502°N 100.5313°E / 13.7502; 100.5313