โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย
โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย | |
---|---|
Pibulwitthayalai School | |
ที่ตั้ง | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | พ.บ. / P.B. |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล |
คติพจน์ | สติ โลกสฺสมิ ชาคโร (สติเป็นเครื่องปลุกให้ทันโลก) |
สถาปนา | 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 (125 ปี 154 วัน) |
ผู้ก่อตั้ง | พระสังฆภารวาหมุนี (เนียม ภุมมสโร) |
หน่วยงานกำกับ | สพฐ. |
ผู้อำนวยการ | วีระวัฒน์ ระนาท (พ.ศ. 2567–ปัจจุบัน) |
สี | เขียว แดง |
เพลง | มาร์ชลูกพิบูล |
ดอกไม้ประจำโรงเรียน | ดอกประดู่แดง |
เว็บไซต์ | www.pibul.ac.th |
โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย (อังกฤษ: Pibulwitthayalai School) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายขนาดใหญ่พิเศษแห่งแรกและแห่งเดียวของกรมสามัญศึกษาในภูมิภาค สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาลพบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 777 ถนนนารายณ์มหาราช เทศบาลเมืองลพบุรี ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
โรงเรียนพิบูลวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 ในนาม โรงเรียนประจำเมืองลพบุรี วัดเสาธงทอง โดยพระสังฆภารวาหมุนี (เนียม ภุมมสโร) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ครั้น พ.ศ. 2458 เมื่อมีนักเรียนเพิ่มจำนวนขึ้นจึงย้ายไปทำการสอนที่บ้านหลวงรับราชทูต ใช้ชื่อว่า โรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี วิชาเยนทร์ โดยมีนักเรียนหญิงเข้ามาเรียนด้วย แต่ภายหลังได้แยกไปเปิดเป็นโรงเรียนลวะศรี ต่อมา พ.ศ. 2471 มีการย้ายสถานที่สำหรับตั้งโรงเรียนบริเวณทางเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและวัดราชา (ปัจจุบันคือสวนราชานุสรณ์) ใช้ชื่อว่า โรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี พระนารายณ์ ครั้น พ.ศ. 2481 จอมพล แปลก พิบูลสงครามปรับปรุงผังเมืองลพบุรีเป็นเมืองทหาร ได้ทำย้ายโรงเรียนมายังสถานที่ปัจจุบันและเปลี่ยนนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า โรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี พิบูลวิทยาลัย และได้ใช้ชื่อเป็น โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จนถึงปัจจุบัน
ประวัติ
[แก้]โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย กำเนิดครั้งแรกที่วัดเสาธงทอง ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีท่านพระครูลวลพบุรีคณาจารย์ (เนียม ภุมมสโร) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ซึ่งต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระสังฆภารวาหมุนี ดำรงตำแหน่งผู้กำกับคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี เป็นองค์ริเริ่มก่อตั้งมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 ใช้ตึกคชสาร หรือโคโรซาน เป็นที่เรียนโดยมีนักเรียนครั้งแรก 18 คน จ้างครูมาสอนโดยทุนของท่านเจ้าคุณ ต่อมามีนักเรียนมากขึ้นได้สร้างสถานที่ เรียนด้านทิศเหนือตึกปิจู ในวัดเสาธงทองเป็นที่เรียน โดยมีนักเรียนประมาณ 150 คน (ตึกทั้งสองใช้เป็นที่พักและที่ทำงานของครู ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะและขึ้นทะเบียนไว้แล้ว) โรงเรียนที่ตั้งขึ้นนี้ชื่อว่า โรงเรียนประจำเมืองลพบุรี วัดเสาธงทอง
เมื่อนักเรียนมากขึ้น ได้ย้ายมาสร้างที่เรียนใหม่ บริเวณบ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชาเยนทร์) สร้างโดยทุนของเท่านเจ้าคุณพระสังฆภารวามุนี ร่วมกับเงินบริจาคของประชาชน และส่วนราชการธรรมการจังหวัดลพบุรี ย้ายนักเรียนมาเรียนที่ใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2458 และใช้ชื่อว่า โรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี "วิชาเยนทร์" ชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมปีที่ 3 ได้ปรับปรุงกิจการลูกเสือขึ้น ลูกเสือราบ ลูกเสือม้า ลูกเสือพยาบาล พร้อมที่จะปฏิบัติงานช่วยเหลือทางราชการได้ทุกเวลา โดยทางกรมทหารปืนใหญ่ที่ 3 ส่งครูมาช่วยฝึก ในช่วงนี้มีนักเรียนหญิงมาร่วมเรียนด้วย แต่ไม่ถึง 10 คน เมื่อทางจังหวัดเปิดโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้น ชื่อว่า โรงเรียนสตรีลพบุรี "ลวะศรี" นักเรียนหญิงก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนแห่งใหม่
ปี พ.ศ. 2471 ทางราชการยุบกรมทหารปืนใหญ่ที่ 3 (ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณโรงเรียนปัจจุบัน) อาคารต่าง ๆ โอนให้กระทรวงธรรมการ โรงเรียนวิชาเยนทร์ จึงย้ายมาอยู่ที่ใหม่ชั่วคราว และทางราชการได้ให้หาสถานที่ ใหม่สร้างอาคารเรียนคือบริเวณด้านเหนือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดราชา) สร้างอาคารไม้ 2 ชั้น อาคารเรียนอีก 1 หลัง (อาคารทั้ง 2 ยังอยู่ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2473 ได้ย้ายนักเรียนไปเรียนที่ใหม่ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้เสด็จมาเปิดอาคารเรียน และขนานนามโรงเรียนใหม่ว่า "โรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี พระนารายณ์" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 ถึง พ.ศ. 2480 การศึกษาได้เจริญขึ้นตามลำดับ เปิดการสอนถึงชั้นมัธยมปีที่ 6 มีนักเรียนประมาณ 300 คน ครู 12 คน อาคารดังกล่าว ปัจจุบันเป็นที่ทำการหน่วยศิลปากรที่ 1 ลพบุรี และบริเวณโรงเรียนก็คือ สวนราชานุสรณ์
เมื่อ พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บูรณะเมืองลพบุรี ให้เป็นเมืองทหาร ปรับปรุงผังเมืองใหม่ ตั้งแต่ทางรถไฟไปจนถึงเมืองใหม่ ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการศึกษาไปด้วย เห็นว่าโรงเรียนเดิมที่คับแคบมาก จึงหาที่เรียนใหม่ เห็นว่าบริเวณกรมทหารปืนใหญ่ที่ 3 เดิม มีที่มาก จึงสร้างอาคารเรียนใหม่คือตึก 1 ด้วยงบประมาณของกระทรวงกลาโหม
ปี พ.ศ. 2481 ได้ย้ายนักเรียนมาสอนที่โรงเรียนใหม่ และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี พิบูลวิทยาลัย" อันเป็นมงคลนามของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สถาปนาโรงเรียนใหม่
ปี พ.ศ. 2481 ได้มีการสร้างตึก 2 และโรงอาหาร เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนปิดชั่วคราวเนื่องจากใช้เป็นที่ฝึกทหาร และใช้ตึก 2 เป็นที่พักนักเรียนต้องอพยพย้ายไปเรียนตามโรงเรียนวัดต่าง ๆ เมื่อสงครามสงบก็กลับมาเรียนที่เดิม
กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดแผนฝึกหัดครูขึ้น ชื่อว่า โรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลวิทยาลัย เปิดสอนเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 รับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาเรียน 3 ปี ได้วุฒิ ป.ป. แผนกฝึกหัดครู เปิดสอนอยู่ถึงปี พ.ศ. 2489 ก็ยุบนำนักเรียนไปเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ธนบุรี
ปี พ.ศ. 2497 ได้สร้างตึก 3 หอประชุม เปิดการเรียนการสอน ถึงชั้นเตรียมอุดมศึกษา (มัธยมปีที่ 7) จัดเป็นสหศึกษา มีนักเรียนหญิงมาเรียนในชั้นมัธยมศึกษาเป็นรุ่นแรก สร้างบ้านพักครู ตึกแถว 10 ห้อง
ปี พ.ศ. 2498 เปิดรับนักเรียนหญิงที่จบชั้น ป.4 มาเรียนชั้น ม.1 เป็นรุ่นแรก
ปี พ.ศ. 2502 จัดเป็นโรงเรียนประเคราะห์ ภาคการศึกษา6
ปี พ.ศ. 2510 ก่อสร้างอาคารเรียนอุตสาหกรรม จัดเป็นโรงเรียนมัธยมแบบประสม (ค.ม.ส.) รุ่นแรกของกรมสามัญศึกษา สร้างอาคารเรียนตึก 4 บ้านพักครู 10 หลัง บ้านพักภารโรง 6 หลัง
ปี พ.ศ. 2512 สร้างอาคารเรียนคหกรรมบ้านพักครู 10 หลัง ปี พ.ศ. 2519 โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนพระราชทานดีเด่นขนาดใหญ่ของกรมสามัญศึกษา ปี พ.ศ. 2520 สร้างอาคารเรียนตึก 5 เปิดสอนตามหลักสูตร มศ.1 และปี 2521 เปิดสอนตามหลักสูตร ม.1 ปี พ.ศ. 2526 สร้างอาคารเรียนอเนกประสงค์ (อาคารพลานามัย) ปี พ.ศ. 2537 สร้างหอประชุมใหม่ (หอประชุมพิบูลสงคราม) ปี พ.ศ. 2541 สร้างอาคารเรียนตึก 6 อาคาร 4 ชั้นใต้ถุนโล่ง 24 ห้องเรียน
ในปี พ.ศ. 2522 โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย มีนักเรียนมากประมาณ 5,400 คน ครูประมาณ 320 คน โรงเรียนจึงได้ไปสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ โดยแยกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปในปี พ.ศ. 2523 โดย ใช้ชื่อว่า โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย 2 ต่อมากรมสามัญศึกษาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพระนารายณ์ ตามชื่อเดิมของโรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี พระนารายณ์ โรงเรียนตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เปิดสอนระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1, 2 และ 3
ปัจจุบันโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายคือชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ มัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกและแห่งเดียวของกรมสามัญศึกษาในภูมิภาค มีห้องรวม 78 ห้อง นักเรียนประมาณ 3,333 คน ครูอาจารย์ 163 คน มีอาคารเรียนรวม 7 หลัง อาคารชั่วคราว อาคารประกอบอีกมากมาย ประวัติและผลงาน ของโรงเรียนดีเด่นตลอดมาทั้งการเรียนในสายสามัญ วิชาชีพ ศิลปะ ดนตรี กีฬา และกิจกรรมต่าง ๆ ศิษย์เก่าของโรงเรียน ตั้งแต่รุ่นวัดเสาธงทองวิชาเยนทร์-พระนารายณ์ จนมาถึงพิบูลวิทยาลัย ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ทางโรงเรียน ได้ประกอบอาชีพทางการงาน ทั้งส่วนราชการ ส่วนตัว สร้างประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมเป็นจำนวนมาก นับแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบันนี้[1]
สัญลักษณ์เกี่ยวกับโรงเรียน
[แก้]- มงกุฎครอบจักร มีธรรมจักรอยู่ตรงกลาง เครื่องหมายนี้จอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีบัญชาให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบเนื่องจากผู้อุปการะโรงเรียนเป็นทหารและโรงเรียนมีความใกล้ชิดกับทหารมาโดยตลอด จึงมีเครื่องหมายคล้ายคลึงกับทหารบกและให้เกี่ยวข้องกับการศึกษาจึงมีรูปธรรมจักรอยู่กลางอีกชั้นหนึ่ง นับว่าเราได้เครื่องหมายของโรงเรียนอย่างมีความหมายสำคัญและเป็นมงคลโดยแท้[2]
- ปรัชญาของโรงเรียน การให้การศึกษา เป็นการสร้างพื้นฐานแห่งการพัฒนาตนและส่วนรวม
- คติพจน์โรงเรียน สติ โลกสฺสมิ ชาคโร สติเป็นเครื่องปลุกให้ทันโลก
- คำขวัญของโรงเรียน มานะ วินัย ซื่อสัตย์ สามัคคี
- พระพุทธรูปประจำโรงเรียน หลวงพ่อขาววัดพระยาออก ซึ่งวัดตั้งอยู่ภายในโรงเรียน เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่สมัยอยุธยาและมีความศักดิ์สิทธิ์มาก
- สีประจำโรงเรียน เขียว-แดง ซึ่งเป็นสีประจำวันเกิดของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
รายนามผู้อำนวยการ
[แก้]ลำดับ | ชื่อ-สกุล | ปี | ชื่อโรงเรียน |
---|---|---|---|
1 | ครูเจียม (ไม่ทราบนามสกุล) | พ.ศ. 2442–2444 | วัดเสาธงทอง |
2 | ขุนประจิตดรุณแพทย์ (เฟี้ยม สังขะฤกษ์) | พ.ศ. 2444–2446 | |
3 | พระภิกษุมิ่ง (วัดมณีชลขันธ์) | พ.ศ. 2446–2448 | |
4. | พระภิกษุพุฒ (วัดหลวงสุวรรณาราม) | พ.ศ. 2448–2449 | |
5. | นายฉัตร สายสอน | พ.ศ. 2449–2450 | |
6. | นายคร้าม (ครุฑ) อินทุทรัพย์ | พ.ศ. 2450–2451 | |
7. | ขุนสันทิสวิทยาสรรพ์ (เล็ก ไพรลักษณ์) | พ.ศ. 2451–2452 | |
8. | ขุนจันทรามะระศึกษากร (ชุ่ม จันทรามะระ) | พ.ศ. 2452–2458 | |
9. | ขุนประสพจรรยา (สนั่น สุนทรเนตร) | พ.ศ. 2458–2461 | บ้านวิชาเยนทร์ |
10. | นายบุนนาค ดิสพงษ์ | พ.ศ. 2461–2468 | |
11. | นายนพ จุลฤกษ์ | พ.ศ. 2468–2471 | |
12. | นายชาญคณิต (หลี) ศุกรีเขตร | พ.ศ. 2471–2476 | พระนารายณ์ |
13. | นายคร้าม (ครุฑ) อินทุทรัพย์ | พ.ศ. 2476–2478 | |
14. | นายสำเภา กุฎีศรี | พ.ศ. 2478–2481 | |
15. | นายสุรินทร์ สรศิริ | 12 มิถุนายน พ.ศ. 2481 – 8 มิถุนายน พ.ศ. 2483 | พิบูลวิทยาลัย |
16. | นายสาย ภานุรัตน์ | 12 มิถุนายน พ.ศ. 2483 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2491 | |
17. | นายอาคม ชาติกำแหง | 1 กันยายน พ.ศ. 2491 – 10 มิถุนายน พ.ศ. 2496 | |
18. | นายเขียว มัณฑรมย์ | 10 มิถุนายน พ.ศ. 2496 – 13 มิถุนายน พ.ศ. 2498 | |
19. | นายสุด น้ำหอม | 13 มิถุนายน พ.ศ. 2498 – 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 | |
20. | นายชงค์ วงษ์ขันธ์ | 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 – 30 ตุลาคม พ.ศ. 2519 | |
21. | นายเจือ หมายเจริญ | 1 ธันวาคม พ.ศ. 2519 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 | |
22. | นายเจตน์ แก้วโชติ | 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 – 25 มกราคม พ.ศ. 2526 | |
23. | นายทวีวัฒน์ อยู่ทวี | 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2528 | |
24. | นายลือชา สร้อยพาน | 19 ตุลาคม พ.ศ. 2528 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2532 | |
25. | นายชลิต เจริญศรี | 10 เมษายน พ.ศ. 2532 – 30 กันยายน พ.ศ. 2537 | |
26. | นายสง่า เชยประเสริฐ | 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 – 29 ธันวาคม พ.ศ. 2542 | |
27. | นายเพิ่มยศ บุญปาน | 20 มกราคม พ.ศ. 2543 – 30 กันยายน พ.ศ. 2546 | |
28. | นายละเอียด กันทริกา | 8 ตุลาคม พ.ศ. 2546 – 30 กันยายน พ.ศ. 2550 | |
29. | ว่าที่ร้อยตรี สุวิช พึ่งตน | 10 มกราคม พ.ศ. 2551 – 30 กันยายน พ.ศ. 2554 | |
30. | นายอมรศักดิ์ เรืองรุ่ง | 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554 – ตุลาคม พ.ศ. 2557 | |
31. | นางสมัย ลาเกลี้ยง | 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557 – ตุลาคม พ.ศ. 2559 | |
32. | นายธรรมวิทย์ ธรรมพิธี | 26 มกราคม พ.ศ. 2560 – 30 กันยายน พ.ศ. 2567 | |
33. | นายวีรวัฒน์ ระนาท | 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567 – ปัจจุบัน |
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- วิญญู อังคณารักษ์ - อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา - นายกรัฐมนตรีคนที่ 29
- พลเอก วรวัฒน์ อินทรทัต - อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหลมหูม
- พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ - อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุชัย เจริญรัตนกุล - อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- สมาน ภุมมะกาญจนะ - อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
- นิติพงษ์ ห่อนาค - นักแต่งเพลง ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นปี 2550
- วัฒน์ วรรลยางกูร - นักเขียน ได้รับรางวัลศรีบูรพาคนที่ 19 ประจำปี 2550 และได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นปี 2551[3]
- ทินกร พึ่งตาราวี (นิ้งหน่อง) - นักร้องนำวงแพนเค้ก
- วนัสนันท์ กัลยกิติ์ขจร (โน้ต) - ขวัญใจช่างภาพ มิสทีนไทยแลนด์; รางวัลนางงามผิวสวย และรางวัลมิสสมาร์ทมันนี่ควีน เวทีนางสาวไทย; ดีเจเรดิโอโอเค
- ธนบัตร งามกมลชัย (บอส) - นักร้อง/นักแสดง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่2จาก ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ซีซั่นที่ 7
- นภัส ธีรดิษฐากุล - ผู้ประกาศข่าว พิธีกร เนชั่นทีวี
- ณัฐดนัย ชนิตร์วัฒน์ - นักแสดง และนักการเมือง
- จรณ โสรัตน์ (ท็อป) เก็บถาวร 2021-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - นักแสดง
- จิรัชญา เกตุคง (ตะวัน) - นางแบบ และผู้ชนะจากเอเชียเน็กซต์ท็อปโมเดล ฤดูกาลที่ 4
- ญาดา โกเมศ (เปอติ๊ด) เก็บถาวร 2020-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - นักร้อง (ผู้เข้าประกวดเดอะว้อยซ์ไทยแลนด์ ซีซั่น4)
- ดร.สุรชัย รอดงาม (ทีวี) - อาจารย์ ติวเตอร์ และผู้เขียนหนังสือเตรียมสอบ ขายดี (จับตาย วายร้าย GAT&Admission)
- นิสามณี นาคประสิทธิ์ (เจส) - ผู้เข้าประกวด The One Miss Teen Beauty Queen 2015
- พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ - ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- มิลิน ดอกเทียน (น้ำหนึ่ง) - อดีตสมาชิกวงไอดอล BNK48 รุ่น 1 ทีม NV
อ้างอิง
[แก้]- ประวัติโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย เก็บถาวร 2009-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน