ข้ามไปเนื้อหา

เกาะตะรุเตา

พิกัด: 6°37′N 99°39′E / 6.617°N 99.650°E / 6.617; 99.650
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตะรุเตา
อ่าวตะโละวาว
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งช่องแคบมะละกา
พิกัด6°37′N 99°39′E / 6.617°N 99.650°E / 6.617; 99.650
กลุ่มเกาะกลุ่มเกาะตะรุเตา
พื้นที่152.01 ตารางกิโลเมตร (58.69 ตารางไมล์)
ระดับสูงสุด708 ม. (2323 ฟุต)
การปกครอง
จังหวัดสตูล
อำเภอเมืองสตูล
ตำบลเกาะสาหร่าย
ข้อมูลอื่น ๆ
เขตเวลา
รหัสไปรษณีย์91110
รหัสภูมิศาสตร์910106
ชายหาดของเกาะตะรุเตา

เกาะตะรุเตา เป็นเกาะหลัก เกาะใหญ่ที่สุดในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 51 เกาะ ตั้งอยู่ในช่องแคบมะละกา ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ห่างจากเกาะลังกาวี ของมาเลเซีย 4.8 กิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่บนเกาะและทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร

ประวัติศาสตร์

[แก้]

คำว่า "ตะรุเตา" เป็นภาษามลายู เพี้ยนมาจากคำว่า เตอลุกตาวาร์ (Teluk Tawar) แปลว่า "อ่าวจืด" หรือ "อ่าวน้ำจืด" เพราะบนเกาะแห่งนี้เป็นเกาะที่เดียวที่มีธารน้ำจืดอยู่ด้วย

ใน พ.ศ. 2479 มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสม ซึ่งในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้การนำของขุนพิธานทัณฑทัย ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณอ่าวตะโละอุดังและอ่าวตะโละวาว เพื่อจัดทำเป็นทัณฑสถาน โดยฟันฝ่าอุปสรรคทางธรรมชาตินานัปการเป็นเวลา 11 เดือน งานบุกเบิกจึงสิ้นสุดลง หลังจากเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2481 เกาะตะรุเตาก็เป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 ปลาย พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดีกบฏบวรเดช (พ.ศ. 2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ. 2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง โดยจำนวนนักโทษทั้งหมดมีราว 4,000 คน[1]

ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488) เกาะตะรุเตาถูกตัดขาดออกจากแผ่นดินใหญ่ เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ยา และเครื่องใช้ต่าง ๆ ต้น พ.ศ. 2487 ผู้คุมนักโทษได้ทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าชาวไทยและต่างประเทศที่แล่นแผ่นไปมา ในที่สุดรัฐบาลไทยและทหารอังกฤษได้เข้าปราบโจรสลัดเกาะตะรุเตาสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2489 และอีกสองปีต่อมากรมราชทัณฑ์ จึงได้ยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตาในที่สุด[1]

ในเกาะมีนักโทษการเมืองรวมกว่า 4,000 คน นักโทษเหล่านี้ถูกทารุณกรรมหลายรูปแบบ ทั้งการเฆี่ยนตี สมอบก การใช้แรงงานอย่างทารุณกรรม รวมถึงการฆาตกรรม เช่นการยิงทิ้ง ทั้งนี้ยังเจอกับนักการเมือง ที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง กักตุนยารักษาโรค อาหาร เป็นเหตุให้ต้องมีความอดอยาก เจ็บป่วยเหมือนขังลืม นักโทษที่หลงเหลือได้รับการอภัยโทษ ตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บรรดานักการเมือง เมื่อ 1 สิงหาคม 2487 โดย นายควง อภัยวงศ์[2]

ต่อมาใน พ.ศ. 2516 จึงได้มีการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล[3]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 วินทร์ เลียววาริณ. ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. กรุงเทพฯ : 113, สนพ., 2536. 304 หน้า. ISBN 9786167455037
  2. https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1614418
  3. Williams, China (2012). Thailand Travel Guide. Worldwide: Lonely Planet. pp. 816. ISBN 9781741797145.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]