โรงแรมรัตนโกสินทร์
โรงแรมรัตนโกสินทร์ รอยัลรัตนโกสินทร์ | |
---|---|
Royal Rattanakosin Hotel | |
โรงแรมรัตนโกสินทร์เมื่อปี 2021 | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | โรงแรม |
สถาปัตยกรรม | คลาสสิกตะวันออก[1] สถาปัตยกรรมคณะราษฎร |
เมือง | เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2485 (83 ปี) |
เจ้าของ | บริษัท อิทธิผล จำกัด |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | คอนกรีตเสริมเหล็ก |
โรงแรมรัตนโกสินทร์ หรือ รอยัลรัตนโกสินทร์ (อังกฤษ: Royal Rattanakosin Hotel) เป็นโรงแรมเก่าแก่ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2485 และได้เปิดอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2486 โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นประธานเปิด[ต้องการอ้างอิง] โดยการบริหารงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาปี พ.ศ. 2513 บริษัท อิทธิผล จำกัด ได้เช่าดำเนินกิจการโรงแรมเรื่อยมา[2] มีผู้จัดการคนแรกคือ นายยี่ทวน กาญจนนัค (สุรพงศ์ กาญจนนัค) โรงแรมรัตนโกสินทร์ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในโรงแรมที่สวยที่สุดและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยนั้น ด้วยการขึ้นชื่อว่าเป็นโรงแรม 5 ดาว มีห้องพักถึง 45 ห้อง โดยแต่ละห้องตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ลวดลายกนกทองที่สวยงาม[3] และรูปทรงภายนอกอาคารที่เป็นตึกสมัยใหม่ทรงเหลี่ยม[1]
ในช่วงแรกโรงแรมมีแนวโน้มที่จะขาดทุน เนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้นักทักเที่ยวได้ลดหายไปมาก จนเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ในเดียวกันนี้เอง รัฐบาลได้จัดโรงแรมรับรองแห่งนี้เพื่อเป็นที่พักของนายทหารอังกฤษ และทหารอเมริกัน เมื่อทหารเหล่านี้เดินทางออกไปหมด แขกส่วนใหญ่จึงเหลือแต่เพียงเจ้าหน้าที่สถานทูตและเศรษฐีเท่านั้น ต่อมานายเสียง และ นายโหง๊วเอ๊งตั้ง นักธุรกิจชาวจีนเชื้อสายไหหลำ ได้ทำการเช่ากิจการแล้วดำเนินการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรงแรมรอยัล (โรงแรมรัตนโกสินทร์)" [ต้องการอ้างอิง]
ปัจจุบันโรงแรมแห่งนี้ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีจุดเด่นที่สำคัญคือที่ตั้งซึ่งติดกับพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และท้องสนามหลวง โรงแรมรัตนโกสินทร์ยังเป็นโรงแรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ภายหลังปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 จนถึงพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เป็นโรงแรมที่อยู่คู่กับถนนราชดำเนินเพียงแห่งเดียวในบริเวณนั้นและยังเป็นหนึ่งในโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเขตพระนคร [ต้องการอ้างอิง]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 สถาปัตยกรรมในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๔๘๙, นิทรรศรัตนโกสินทร์ .สืบค้นเมื่อ 27/05/2559
- ↑ เรื่องเล่า “รัตนโกสินทร์” โรงแรมคู่ประวัติศาสตร์ “พระราชพิธี-การเมือง” - 9 ตุลาคม 2560
- ↑ รัตนโกสินทร์" ลมหายใจที่ไม่สุดสิ้นริมถนนการเมือง[ลิงก์เสีย], พลังจิต .วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2549