สถานีวิทยุศาลาแดง
สถานีวิทยุศาลาแดง | |
---|---|
อาคารสถานีวิทยุศาลาแดงหลังเดิม | |
ที่ตั้ง | ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร |
สร้างเมื่อ | พ.ศ. 2456 |
สถานะ | ถูกรื้อถอน |
เจ้าของ |
|
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | สถานีวิทยุศาลาแดง |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร (ฝั่งพระนคร) |
เลขอ้างอิง | 0000109 |
สถานีวิทยุศาลาแดง เป็นสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของไทย ตั้งอยู่ในแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เคยเป็นที่ตั้งของกองสัญญาณทหารเรือ และกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในช่วงที่โรงเรียนเตรียมทหารย้ายมาใช้พื้นที่ แต่ได้ถูกรื้อถอนออกในช่วงที่มีการก่อตั้งสวนลุมไนท์บาซาร์ อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา โครงการวัน แบงค็อก ก็ได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์โดยจำลองสถาปัตยกรรมอาคารนี้บางส่วนรวมทั้งเสาวิทยุขึ้นในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
ประวัติ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงทหารเรือจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขขึ้น 2 สถานี คือ สถานีกลาง ที่ตำบลศาลาแดง อำเภอประทุมวัน จังหวัดพระนครธนบุรี มณฑลกรุงเทพ[1][2] และสถานีภูมิภาค ที่จังหวัดสงขลา โดยสถานีกลางใช้ชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งว่า "สถานีราดิโอโทรเลขทหารเรือ"[3] เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธีเปิดสถานีวิทยุโทรเลขของราชการแห่งแรกในสยาม ที่ตำบลศาลาแดง เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 และได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานส่งทางวิทยุโทรเลขถึงกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งประทับอยู่ที่สถานีสงขลา ความว่า "GREETING TO YOU ON THIS, WHICH WILL BE ONE OF THE MOST IMPORTANT DAY IN OUR HISTORY"[4]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนซึ่งเชื่อมระหว่างถนนเพลินจิตกับถนนพระรามที่ 4 และตัดผ่านด้านหน้าสถานีนี้ว่า "ถนนวิทยุ"[5]
หลังจากนั้น กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ย้ายที่ทำการจากตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขหลังเก่า มาทำการที่สถานีแห่งนี้ แต่ปรากฏว่าผลการรับฟังวิทยุกระจายเสียงบริเวณโดยรอบกรุงเทพฯ นั้นไม่ชัดเจน และมีอาการขาดหายเป็นช่วง ๆ กองช่างวิทยุที่ศาลาแดงจึงประกอบเครื่องส่งวิทยุขึ้นเองเป็นคลื่นความถี่ปานกลาง ทางด้านเครื่องรับวิทยุหากเป็นเครื่องประดิษฐ์เอง หรือวิทยุแร่ ว่ากันว่าแม้เสียงจะดังเหมือนแมลงหวี่ แต่ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนในเวลานั้น[4]
บทบาททางการเมือง
[แก้]ในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน หลังการเจรจาเพื่อให้ทหารเรือส่งตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่เป็นผล ฝ่ายรัฐบาลนำโดยพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) จึงสั่งการให้ตำรวจและทหารบกโจมตีที่ตั้งของทหารเรือทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงสถานีวิทยุดังกล่าวอันเป็นที่ตั้งของกองสัญญาณทหารเรือด้วย ฝ่ายรัฐบาลได้นำรถยานเกราะบุกเข้าไปแต่ก็ถูกตอบโต้ด้วยปืนต่อสู้รถถัง ทำให้ยานเกราะตำรวจและทหารบกหมอบไปหลายคัน ต้องถอยกลับ[6] อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ดังกล่าว กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้ย้ายกองสัญญาณทหารเรือออกจากพื้นที่นี้ในปี พ.ศ. 2494[7]
พื้นที่หลังจากย้ายสถานีวิทยุ
[แก้]โรงเรียนเตรียมทหาร
[แก้]หลังกองสัญญาณทหารเรือย้ายออกไป พื้นที่กองสัญญาณทหารเรือเก่าจึงเป็นพื้นที่ร้างอยู่หลายปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2504 โรงเรียนเตรียมทหาร ได้ย้ายมาจากที่ตั้งชั่วคราวบริเวณโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถนนราชดำเนิน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพบก) มาพื้นที่ดังกล่าว[8] ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 โรงเรียนได้รับมอบพื้นที่เพิ่มเติมจากกองพันทหารสื่อสาร และกองร้อยทหารสื่อสารซ่อมบำรุงเขตหลัง กองบัญชาการกองทัพบก ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2543 โรงเรียนเตรียมทหารได้ย้ายไปยังอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก[9]
ในช่วงที่โรงเรียนเตรียมทหารใช้พื้นที่ดังกล่าว อาคารสถานีวิทยุรวมถึงเสาอากาศในบริเวณใกล้เคียง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2526[10]
สวนลุมไนท์บาซาร์
[แก้]หลังจากโรงเรียนเตรียมทหารย้ายออกไป ในปี พ.ศ. 2544 พี.คอน. ดีเวล็อปเมนท์ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเก่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อประกอบกิจการตลาดกลางคืนขึ้นในชื่อสวนลุมไนท์บาซาร์[11] ซึ่งประกอบด้วยตลาด, ร้านอาหาร, โรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก และบางกอกฮอลล์ (ชื่อเดิม: บีอีซี-เทโร ฮอลล์) แต่ได้มีการรื้ออาคารสถานีวิทยุศาลาแดงที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานออก สวนลุมไนท์บาซาร์ปิดกิจการในปี พ.ศ. 2554 และย้ายไปยังโครงการใหม่ที่ย่านรัชดาภิเษกจนถึงปัจจุบัน
วัน แบงค็อก
[แก้]ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2557 กลุ่มทีซีซีชนะการประมูลพื้นที่สวนลุมไนท์บาซาร์เก่าพร้อมทั้งพื้นที่สนามมวยเวทีลุมพินีเดิม[12] สามปีถัดจากนั้นกลุ่มทีซีซีได้เปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่ คือ วัน แบงค็อก และเริ่มก่อสร้างในปีถัดมา จากนั้นเปิดให้บริการระยะแรกเมื่อปี พ.ศ. 2567 และกำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี พ.ศ. 2570 ทั้งนี้ โครงการได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ "เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ แอท วัน แบงค็อก" โดยนำสถาปัตยกรรมบางส่วนจากอาคารสถานีวิทยุศาลาแดงเดิมมาปรับใช้[13][14] รวมทั้งมีการจำลองเสาวิทยุเพื่อเป็นการระลึกถึงสถานีดังกล่าวด้วย[15]
ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
[แก้]ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานีวิทยุศาลาแดง ยังเป็นที่ตั้งของศาลประดิษฐานพระรูป พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เดิมเป็นเพียงศาลไม้ขนาดเล็กและมีสภาพทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ต่อมาในสมัยที่โรงเรียนเตรียมทหารเข้าใช้พื้นที่นี้ ได้มีการบูรณะศาลแห่งนี้ใหม่ ในสมัยที่พลตรี ธีรวัฒน์ เอมะสุวรรณ เป็นผู้บัญชาการ ใช้รูปทรงเดียวกับศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่แหลมปู่เจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี[16]
พิธีหล่อพระรูปขนาดเท่าพระองค์จริงเพื่อประดิษฐานที่ศาลใหม่ มีขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ณ วัดหนองไทร อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี หลังจากนั้นในวันที่ 19 ธันวาคม ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญดวงพระวิญญาณเข้าสถิตในองค์พระรูป และอัญเชิญพระรูปประดิษฐานในศาล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลหลังใหม่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2530[16]
หลังโรงเรียนเตรียมทหารย้ายไปยังจังหวัดนครนายก ได้มีการสร้างศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ใหม่ที่นั่น ส่วนศาลเดิมได้มีการปรับปรุงและเปิดให้เข้าสักการะในปี พ.ศ. 2555[17] ต่อมาเมื่อกลุ่มทีซีซีเข้าดำเนินกิจการโครงการวัน แบงค็อก ซึ่งพื้นที่ศาลดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับศูนย์การค้าเดอะ สตอรีส์ และโรงแรมแอนดาซ ได้มีการปรับปรุงศาลนี้อีกครั้ง โดยรื้อถอนศาลเดิมและก่อสร้างศาลใหม่ กำหนดเปิดให้เข้าสักการะในปี พ.ศ. 2569 ระหว่างนี้ได้มีการอัญเชิญพระรูปไปประดิษฐานชั่วคราวที่ฐานทัพเรือกรุงเทพ[18]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วันคล้ายวันสถาปนากรมสื่อสารทหารเรือ". ryt9.com.
- ↑ กรุงเทพมหานคร เมื่อประมาณร้อยปีก่อนหน้าตาเมืองเป็นอย่างไร
- ↑ 4.0 4.1 ตำนานวิทยุไทย เครื่องมือสร้าง-ชาติ
- ↑ "7 เรื่องราว "ถนนวิทยุ" ย่านนึงที่ไฮเอนด์ที่สุดในประเทศไทยที่คุณอาจยังไม่รู้". ไอ–เออเบิน.
- ↑ "เรือบินไทยบอมบ์เรือรบไทย ในศึกชิงอำนาจ! ฝ่ายแพ้ชนะใจคนดู สนุกยิ่งกว่าดูหนังสงคราม!!". mgronline.com. 2017-04-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-10-29.
- ↑ ปลดเขี้ยวเล็บ “กองทัพเรือ” ผลกระทบจากกบฏแมนฮัตตัน
- ↑ "คู่มือนักเรียนเตรียมทหาร พ.ศ. 2552" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-19. สืบค้นเมื่อ 2024-10-29.
- ↑ เกี่ยวกับ ONE BANGKOK
- ↑ ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน - ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
- ↑ LADY (4 เมษายน 2017). ""One Bangkok" จุดหมายปลายทางแลนด์มาร์คระดับโลกแห่งใหม่ใจกลางเมือง". unlockmen. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2019.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ตัวเลือกสำหรับการพัฒนาที่ดินเดิมของสวนลุมไนท์บาซาร์ในกรุงเทพมหานคร". Property-report.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2014.
- ↑ Limited, Bangkok Post Public Company. "One Bangkok: A New Era of Urban Living Begins on 25 October". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-10-18.
- ↑ เอื้อศิริศักดิ์, ธนาดล (2024-11-01). "ลายแทงงานศิลปะ One Bangkok ตั้งแต่นิทรรศการรากเหง้าถนนวิทยุ ถึงชิ้นงานหาดูยากเข้าชมฟรี". The Cloud.
- ↑ "รีวิว One Bangkok (วันแบงค็อก)". trueid.net.
- ↑ 16.0 16.1 "โลกพระวิญญาณ "เสด็จเตี่ย" เฮี้ยน !!". www.marinerthai.net.
- ↑ "ศาลกรมหลวงชุมพรฯ พระราม 4 เปิดให้สักการะแล้ว หลังปรับปรุงใหม่". mgronline.com. 2012-09-23.
- ↑ "กองทัพเรืออัญเชิญพระรูปหล่อพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มาประดิษฐาน ณ บก.ฐท.กท.เป็นการชั่วคราว". ฐานทัพเรือกรุงเทพ.