ข้ามไปเนื้อหา

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์
พิธีเปิดฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 71
ชื่ออื่นงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์–จุฬาฯ
กีฬาฟุตบอล
ประเภทเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัย
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร
ทีม2
พบกันครั้งแรก4 ธันวาคม พ.ศ. 2477
สนามหลวง
(ธรรมศาสตร์)
พบกันครั้งล่าสุด8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
(จุฬาฯ)
พบกันครั้งต่อไป15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
(ธรรมศาสตร์)
ออกอากาศไทยรัฐทีวี
สนามสนามกีฬาแห่งชาติ
รางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สถิติ
การพบกันทั้งหมด74 ครั้ง
ชนะสูงสุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชนะต่อเนื่องยาวนานที่สุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จุฬาฯ ธรรมศาสตร์
18 24
เสมอ
32

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หรือ งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ[a] เป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทย เริ่มจัดกิจกรรมครั้งแรกในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477[1] แต่ละมหาวิทยาลัยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทุกปี ชื่อของมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพจะได้รับเกียรติให้ขึ้นต้นชื่องานฟุตบอลประเพณีในปีนั้น สถานที่จัดการแข่งขันจะไม่สลับตามเจ้าภาพ แต่จะจัดงานที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นประจำทุกปี กองเชียร์ของมหาวิทยาลัยเจ้าภาพจะใช้อัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนือ อีกฝ่ายจะใช้อัฒจันทร์ฝั่งทิศใต้

กิจกรรมภายในงานอาจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การแข่งขันฟุตบอล และกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนิสิตจุฬาฯ กับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น การเดินพาเหรด การเชียร์ การแปรอักษร ขบวนพาเหรดล้อการเมืองและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์[2] ในทุกๆ ปี บรรยากาศภายในงานจะถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ตามลำดับ ยกเว้น ครั้งที่ 70 (มีการถ่ายทอดสดผ่านทางช่องไบรต์ทีวีร่วมอยู่ด้วย) และ ครั้งที่ 72 และ 74 ที่ถ่ายทอดสดเฉพาะช่องไทยรัฐทีวีในระบบความคมชัดสูง[3] รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการจัดงานทุกปีจะนำไปบริจาคเป็นสาธารณกุศล[1]

ผลการแข่งขันถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชนะ 24 ครั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชนะ 18 ครั้ง และเสมอกัน 32 ครั้ง (ไม่นับรวมการแข่งขันฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นการแข่งขันโดยตรงระหว่างนิสิตและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย)

ประวัติ

[แก้]
พิธีเปิดการแข่งขันครั้งที่ 66 อัฒจันทร์ฝั่งตรงข้ามในภาพเป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2477 โดยกลุ่มนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพื่อสร้างความสามัคคีนิสิตในหมู่นิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัย เนื่องจากมุมมองของนักเรียนในสมัยก่อนว่า ผู้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำเร็จมัธยมศึกษา ส่วนผู้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อในขณะนั้น) ไม่สำเร็จมัธยมศึกษา ทำให้มีการดูถูกกันหรือไม่สนิทสนมกันเหมือนเดิม จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมสานความสามัคคีและสร้างความปรองดองระหว่างกัน โดยมีแบบอย่างจากการแข่งขันเรือประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักร และการแข่งขันเบสบอลประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยเคโอและมหาวิทยาลัยวาเซดะในประเทศญี่ปุ่น แต่กลุ่มผู้ริเริ่มถนัดและสนใจกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่เมื่ออยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จึงตกลงที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลขึ้น

ผู้ริเริ่มฝ่ายจุฬาฯ ประกอบด้วย ประถม ชาญสันต์ เป็นหัวหน้านิสิตคณะอักษรศาสตร์ในขณะนั้น กับทั้งประสงค์ ชัยพรรค และประยุทธ์ สวัสดิ์สิงห์ เวลานั้น หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิวัฒน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำเรื่องเสนอผ่านกองกิจการนิสิตซึ่งมีหม่อมราชวงศ์สลับ ลดาวัลย์ เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อขออนุมัติจัดงานจากอธิการบดี ส่วนผู้ริเริ่มฝ่ายธรรมศาสตร์ คือ ต่อศักดิ์ ยมนาค และบุศย์ สิมะเสถียร ได้ทำเรื่องเสนอเดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อขออนุมัติจากผู้ประศาสน์การ เมื่อได้รับฉันทานุมัติจากมหาวิทยาลัยทั้งสองแล้ว งานก็ได้เริ่มขึ้นโดยมีธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ จัดที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 และมีการเก็บค่าผ่านประตูคนละ 1 บาท รายได้ทั้งหมดมอบให้แก่สมาคมปราบวัณโรค ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดในขณะนั้น

ปีต่อมา ย้ายสถานที่จัดการแข่งขันมายังสนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จน พ.ศ. 2492 จึงย้ายมาที่สนามศุภชลาศัยถึงปัจจุบัน รายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้วมอบให้แก่หน่วยงานการกุศลทุกครั้ง จน พ.ศ. 2521 จึงเริ่มนำรายได้ถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

การพระราชทานถ้วยรางวัลมีขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2492 โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จมาเป็นองค์ประธาน จน พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานและพระราชทานถ้วยรางวัลด้วยพระองค์เอง แต่ปัจจุบัน โปรดให้ผู้แทนพระองค์มาแทน

อัฒจันทร์ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แปรอักษร

เหตุการณ์ที่ทำให้ต้องยกเลิกการจัดงานฟุตบอลประเพณีมีหลายครั้ง เช่น พ.ศ. 2485 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ทั่วจังหวัดพระนคร, พ.ศ. 2487–2491 เกิดสงครามแปซิฟิก, พ.ศ. 2494 เกิดกบฏแมนฮัตตัน, พ.ศ. 2516 – 2518 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่าการจัดงานฟุตบอลประเพณีใช้งบประมาณมาก เป็นกิจกรรมที่ฟุ่มเฟือย, พ.ศ. 2557 เกิดวิกฤตการณ์การเมือง, พ.ศ. 2560 ยกเลิกกิจกรรมเพื่อเป็นการแสดงความอาลัยในช่วงพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลังจากนั้นได้ยกเลิกกิจกรรมในชื่อนี้ไปอีก 4 ปีติดต่อกัน ใน พ.ศ. 2564 – 2567 เนื่องจากตั้งแต่ พ.ศ. 2564 – 2566 ยกเลิกกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ พ.ศ. 2567 มีการแข่งขันฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ ขึ้นทดแทน

เอกลักษณ์เด่น

[แก้]

ขบวนพาเหรด

[แก้]

ตามธรรมเนียมก่อนเข้าสู่การแข่งขัน จะมีการเดินพาเหรดขบวนล้อการเมือง โดยกลุ่มอิสระล้อการเมือง ม.ธรรมศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ เป็นสิ่งแสดงความคิดความอ่านทางการเมืองของนักศึกษาที่จะต้องโตขึ้นไปอยู่ในสังคมที่ถูกขับเคลื่อนโดยแรงขับทางการเมือง ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ดังนั้น การทำล้อการเมืองแสดงผ่านหุ่น ผ่านข้อความในป้ายผ้า เป็นบทกลอน จะสะท้อนความคิดเห็นของนักศึกษาหลากหลายคณะในมหาวิทยาลัยจากการเรียนในวิชาต่างๆ ออกมาเป็นตัวหุ่น เป็นป้ายผ้า ซึ่งล้อการเมืองมีมาทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นในยุครัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากกว่าหลายล้านเสียงก็ตาม ตรงนี้ล้อการเมืองก็ยังอยู่มาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นบรรทัดฐานของการล้อที่ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ล้อการเมืองจะไม่ขาดช่วงไปจากสังคมไทย[4]

ในขณะที่ขบวนสะท้อนสังคม ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบโดยกลุ่มสะท้อนสังคม เป็นการนำปัญหาของสังคมที่เกิดในรอบปี โดยการนำเสนอผ่านงานศิลปะ อาทิตัวหุ่น และป้ายผ้า ซึ่งการสะท้อนสังคมเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่สามารถทำได้ในฐานะนิสิต โดยเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีถูกผิด เพียงแค่ต้องอยู่ในกรอบเท่านั้น[5]

ทั้งขบวนล้อการเมือง และขบวนสะท้อนสังคม มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสังคม โดยนำเสนอภายใต้ขอบเขต ซึ่งจะไม่โจมตีไปที่ใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อให้นิสิต-นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักและตื่นตัวต่อปัญหา/สถานการณ์ที่เกิดขึ้น และร่วมกันหาทางแก้ไขเพื่อให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[แก้]
ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว

การอัญเชิญพระเกี้ยว

[แก้]

การอัญเชิญพระเกี้ยวปรากฏหลักฐานครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2507 โดยมีนิสิตหญิง 1 คน เป็นผู้อัญเชิญ โดยการอัญเชิญพระเกี้ยวเข้ามาสู่สนามการแข่งขันเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักกีฬาและกองเชียร์ โดยจะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นนิสิตชาย 1 คน และ นิสิตหญิง 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนบรรดานิสิตอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามแข่งขัน ถึงแม้ว่านิสิตทุกคนต่างมีฐานะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว[6] แต่เนื่องจากในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถให้ทุกคนเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวได้ จึงต้องคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นตัวแทนนิสิตเพื่อทำหน้าที่นี้[7]

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติในการประชุมสามัญ 29:0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นธรรมเนียมที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม และพบว่ามีการบังคับนิสิตให้มาแบกเสลี่ยงโดยอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ใช้หอพัก[8]

ประธานเชียร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[แก้]

ผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือฝั่งจุฬาจะเรียกว่า "ประธานเชียร์" นอกจากจะทำหน้าที่นำเชียร์ ควบคุมจังหวะการร้องเพลงเชียร์ของสแตนด์แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนิสิตจุฬา ในการประชาสัมพันธ์งานฟุตบอลประเพณีฯ และบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะอีกด้วย ในระยะแรกนั้นผู้นำเชียร์หรือประธานเชียร์จะเป็นผู้ให้จังหวะปรบมือแก่กองเชียร์ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงท่าทางของผู้นำเชียร์ขึ้นใหม่ โดยเน้นหลักการสำคัญของผู้นำเชียร์แห่งจุฬาฯ นั้น มี 5 ประการ ได้แก่ การให้จังหวะ การควบคุมกองเชียร์ ความสวยงาม ความพร้อมเพรียง และรูปแบบในการนำเสนอ มีการแต่งตัวให้สวยงาม สร้างสีสันให้กับสแตนด์เชียร์ การสรรหาผู้นำเชียร์ฯ จากการเปิดรับสมัครคัดเลือกอย่างเป็นทางการจากนิสิตทั่วไป ไม่จำกัดคณะและชั้นปี ในแต่ละปีนั้นมีจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือกแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมของผู้สมัครในปีนั้น ๆ โดยทั่วไปแล้วมักมีจำนวนเฉลี่ยรุ่นละ 11-13 คน

จุฬาฯ คทากร

[แก้]

จุฬาฯคทากรมีหน้าที่หลักคือ การเดินนำขบวนพาเหรดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังมีหน้าที่แสดงควงคทาประกอบเพลงประจำมหาวิทยาลัยอีกด้วย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[แก้]

ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

[แก้]
อัฒจันทร์ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะกำลังแปรอักษรว่า "รัก CU นะ"

ในอดีตผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในขบวนอัญเชิญธรรมจักร ถ้วยพระราชทาน ป้ายนามมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และดรัมเมเยอร์ ได้มาจากการคัดเลือกเช่นเดียวกับการอัญเชิญพระเกี้ยวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาใน พ.ศ. 2516 ประเพณีการคัดเลือกก็ได้งดไป เนื่องจากถูกมองว่าเป็นความฟุ่มเฟือยและเกิดเป็นที่มาของคำขวัญว่า "ธรรมจักรเป็นของชาวธรรมศาสตร์ทุกคน ทุกคนจึงมีสิทธิในการอัญเชิญได้" จึงคงไว้เพียงขบวนอัญเชิญธรรมจักรและรับสมัครทุกคนที่สนใจร่วมแบกเสลี่ยงอัญเชิญโดยไม่มีผู้แทน จนกระทั่ง พ.ศ. 2544 สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ฟื้นฟูผู้นำในขบวนอัญเชิญธรรมจักรและดรัมเมเยอร์และทำหน้าที่ในการบำเพ็ญประโยชน์ ตลอดจนการรณรงค์และส่งเสริมให้นักศึกษาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมกันมากขึ้นกลับมา ในชื่อว่า "ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" โดยเริ่มตั้งแต่ 2545 เป็นต้นมา หน้าที่ของทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์คือเป็นตัวแทนนักศึกษาในการนำขบวนพาเหรดทั้งหมดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าสู่สนาม โดยเป็นผู้อัญเชิญป้ายนามมหาวิทยาลัย ถ้วยพระราชทาน อัญเชิญพานพุ่มนำขบวนอัญเชิญธรรมจักรและดรัมเมเยอร์ รวมถึงการบำเพ็ญประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย การคัดเลือกทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะพิจารณาถึงทั้งลักษณะ บุคลิก ความรู้ความสามารถ ทั้งในด้านการเรียน และในความรู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การมีจิตอาสา มีคุณธรรมและพร้อมที่จะช่วยเหลือแก่สังคม

แม่ทัพเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[แก้]

ผู้นำเชียร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือฝั่งธรรมศาสตร์จะเรียกว่า "แม่ทัพเชียร์" เป็นตัวแทนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสำหรับทำหน้านำกองเชียร์ร้องเพลงส่งเสียงเชียร์ ประกอบรหัส สัญญาณ การเคลื่อนไหวร่างกาย หรืออุปกรณ์ เพื่อความพร้อมเพรียง ความสวยงาม และความสนุกสนานของการเชียร์และแปรอักษร โดยทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีแนวคิดและต้นแบบแรงบันดาลใจจาก ผู้ควบคุมวงดนตรีหรือวาทยากร ที่ทำหน้าที่นำการเล่นดนตรีวงใหญ่หรือการร้องประสานเสียง ผู้นำเชียร์นั้นนอกจากจะมีท่วงท่าสง่างาม ยังมีรหัสสัญญาณมือที่สื่อความหมายสามารถประยุกต์ใช้กับการร้องเพลงเป็นหมู่คณะของกองเชียร์

เพลงประจำการแข่งขัน

[แก้]
  • เพลงพระราชนิพนธ์ของทั้งสองมหาวิทยาลัย
    • เพลงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง
    • เพลงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ เพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์
  • เพลงจามจุรีประดับโดมในดวงใจ เป็นการนำเพลงของทั้งสองมหาวิทยาลัยมาร่วมกันคือเพลงจามจุรีประดับใจ และเพลงโดมในดวงใจ
  • เพลงชั่วดินฟ้า เป็นเพลงของจุฬา และธรรมศาสตร์บอกถึงความรักความสามัคคีของทั้งสองสถาบันนี้
  • เพลงธรรมศาสตร์-จุฬา สามัคคี แต่งโดยจิตร ภูมิศักดิ์
  • เพลงธรรมศาสตร์-จุฬา ภาราดรณ์ ไม่ปรากฏผู้แต่ง

ผลการแข่งขัน

[แก้]

ผลการแข่งขันจนนับจาก พ.ศ. 2477 ถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชนะ 24 ครั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชนะ 18 ครั้ง และเสมอกัน 33 ครั้ง ดังนี้[9]

หมายเหตุ

  จุฬาฯ ชนะ   ธรรมศาสตร์ชนะ   เสมอ

ครั้งที่ วันที่ เจ้าภาพ ชนะเลิศ ผลการแข่งขัน รองชนะเลิศ สนามแข่งขัน
1 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 1–1
เสมอ
จุฬาลงกรณ์ สนามหลวง
2 พ.ศ. 2478 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 3–3
เสมอ
ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
3 พ.ศ. 2479 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 4–1 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
4 พ.ศ. 2480 จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ 2–1 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
5 พ.ศ. 2481 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2–1 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
6 พ.ศ. 2482 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 0–0
เสมอ
ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
7 พ.ศ. 2483 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2–2
เสมอ
จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
8 พ.ศ. 2484 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 2–0 ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
9 พ.ศ. 2486 ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ 3–1 ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
10 30 ธันวาคม พ.ศ. 2492 จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ 3–2 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
11 30 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ 5–3 ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
12 27 ธันวาคม พ.ศ. 2495 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 0–0
เสมอ
ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
13 19 ธันวาคม พ.ศ. 2496 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 3–1 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
14 25 ธันวาคม พ.ศ. 2497 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 1–0 ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
15 24 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2–2
เสมอ
จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
16 25 ธันวาคม พ.ศ. 2499 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 0–0
เสมอ
ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
17 21 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 3–1 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
18 20 ธันวาคม พ.ศ. 2501 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 3–2 ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
19 26 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2–1 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
20 27 ธันวาคม พ.ศ. 2503 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 1–1
เสมอ
ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
21 23 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 1–1
เสมอ
จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
22 22 ธันวาคม พ.ศ. 2505 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 0–0
เสมอ
ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
23 8 มกราคม พ.ศ. 2506 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 3–1 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
24 26 ธันวาคม พ.ศ. 2507 จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ 3–0 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
25 25 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2–1 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
26 24 ธันวาคม พ.ศ. 2509 จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ 2–0 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
27 30 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 1–1
เสมอ
จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
28 21 ธันวาคม พ.ศ. 2511 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 2–0 ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
29 27 ธันวาคม พ.ศ. 2512 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 1–0 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
30 30 มกราคม พ.ศ. 2514 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 0–0
เสมอ
ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
31 29 มกราคม พ.ศ. 2515 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 4–0 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
32 23 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ 2–1 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
33 31 มกราคม พ.ศ. 2519 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2–0 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
34 21 มกราคม พ.ศ. 2521 จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ 1–0 จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
35 20 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ 2–0 ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
36 20 มกราคม พ.ศ. 2523 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 0–0
เสมอ
ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
37 31 มกราคม พ.ศ. 2524 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 1–1
เสมอ
จุฬาลงกรณ์ สนามศุภชลาศัย
38 27 มกราคม พ.ศ. 2525 จุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ 2–2
เสมอ
ธรรมศาสตร์ สนามศุภชลาศัย
39 29 มกราคม พ.ศ. 2526 ธรรมศาสตร์ เสมอ 1–1
40 21 มกราคม พ.ศ. 2527 จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ 1–0
41 27 มกราคม พ.ศ. 2528 ธรรมศาสตร์ เสมอ 1–1
42 26 มกราคม พ.ศ. 2529 จุฬาลงกรณ์ เสมอ 1–1
43 25 มกราคม พ.ศ. 2530 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 1–0
44 30 มกราคม พ.ศ. 2531 จุฬาลงกรณ์ จุฬาฯ 2–1
45 21 มกราคม พ.ศ. 2532 ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ 2–0
46 20 มกราคม พ.ศ. 2533 จุฬาลงกรณ์ 1-1
47 19 มกราคม พ.ศ. 2534 ธรรมศาสตร์ เสมอ 0–0
48 18 มกราคม พ.ศ. 2535 จุฬาลงกรณ์ เสมอ 1–1
49 23 มกราคม พ.ศ. 2536 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2–1
50 22 มกราคม พ.ศ. 2537 จุฬาลงกรณ์ เสมอ 2–2
51 21 มกราคม พ.ศ. 2538 ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ 2–1
52 20 มกราคม พ.ศ. 2539 จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ 1–0
53 18 มกราคม พ.ศ. 2540 ธรรมศาสตร์ เสมอ 1–1
54 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 จุฬาลงกรณ์ เสมอ 0–0
55 23 มกราคม พ.ศ. 2542 ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ 2–1
56 15 มกราคม พ.ศ. 2543 จุฬาลงกรณ์ เสมอ 0–0
57 20 มกราคม พ.ศ. 2544 ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ 2–0
58 19 มกราคม พ.ศ. 2545 จุฬาลงกรณ์ เสมอ 2–2
59 25 มกราคม พ.ศ. 2546 ธรรมศาสตร์ เสมอ 0–0
60 24 มกราคม พ.ศ. 2547 จุฬาลงกรณ์ เสมอ 0–0
61 22 มกราคม พ.ศ. 2548 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 1–0
62 21 มกราคม พ.ศ. 2549 จุฬาลงกรณ์ จุฬาฯ 2–0
63 20 มกราคม พ.ศ. 2550 ธรรมศาสตร์ เสมอ 1–1
64 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 จุฬาลงกรณ์ เสมอ 0–0
65 31 มกราคม พ.ศ. 2552 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2–0
66 16 มกราคม พ.ศ. 2553 จุฬาลงกรณ์ เสมอ 0–0
67 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ 3–1
68 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 จุฬาลงกรณ์ จุฬาฯ 1–0
69 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ 1–0
70 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ 2–0
71 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 5–1
72 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 จุฬาลงกรณ์ เสมอ 1–1
73 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ 2–1
74 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จุฬาลงกรณ์ จุฬาฯ 2–1
75 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ธรรมศาสตร์

หมายเหตุ : ปี พ.ศ. 2567 ใช้ชื่อการแข่งขันว่า ฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2567 (CU-TU Unity Footbal Match 2024) จัดโดยองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากติดขัดเรื่องวันจัดงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ที่สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่จะเป็นเจ้าภาพ ไม่สามารถตกลงกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ลงตัว[10]

ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75

[แก้]
ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75
วันที่15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
สนามสนามศุภชลาศัย, กรุงเทพมหานคร
2563

การแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 เป็นงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 75 และเป็นการจัดงานดังกล่าวครั้งแรกในรอบ 5 ปี (หากไม่นับฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2567 ที่เป็นการแข่งขันของนิสิตและนักศึกษาในรุ่นปัจจุบันของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย) หลังจากครั้งล่าสุดคือฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 เมื่อปี พ.ศ. 2563 และงดเว้นไปเนื่องจากการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน พบกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำหนดแข่งขันกันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ที่สนามศุภชลาศัย ในกรุงเทพมหานคร[11][12]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ชื่อมหาวิทยาลัยใดนำหน้าเป็นเจ้าภาพ

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์: สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ .” เว็บไซต์ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. http://www.cuaa.chula.ac.th/activities/cu-tu-football[ลิงก์เสีย] (2559 ธันวาคม 7 ที่เข้าถึง).
  2. สวัสดิ์ จงกล. “แรกมีในเมืองไทยเกี่ยวกับฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์: หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.” เว็บไซต์ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 18 มีนาคม 2553. http://www.memocent.chula.ac.th/article/ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์/ (8 ธันวาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  3. www.thairath.co.th. (2018). จุฬาฯ-มธ. พร้อมลุยบอลประเพณี ไทยรัฐทีวี ถ่ายสด 3 ก.พ.. [online] Available at: https://www.thairath.co.th/content/1174057 [Accessed 2 Feb. 2018].
  4. พาเหรดล้อการเมือง 'สะท้อนสังคม หรือ ท้าทายอำนาจ' ?. 5 กุมภาพันธ์ 2016. https://www.voicetv.co.th/read/322320
  5. พร้อมมากบอลประเพณี! จุฬาฯ เต้นโชว์ ชูคอนเซ็ปต์ตื่นเต้นได้เลือกตั้ง – มธ. งัดเซอร์ไพรส์กลางสนาม. 7 กุมภาพันธ์ 2562. https://www.amarintv.com/news-update/news-16819/335873/
  6. หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “การอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี: หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.” เว็บไซต์ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 7 พฤศจิกายน 2552. http://www.memocent.chula.ac.th/article/อัญเชิญพระเกี้ยว/ (8 ธันวาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  7. การอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี จาก หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. "ยกเลิกพิธีแบกเสลี่ยง "อัญเชิญพระเกี้ยว" งานบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์". คมชัดลึกออนไลน์. 2021-10-23.
  9. ชมพู-เหลืองแสด, ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ศึกแห่งตำนาน ศักดิ์ศรี และมิตรภาพ, สยามกีฬา, ปีที่ 28, ฉบับที่ 10184, 20 มกราคม 2556, หน้า 19
  10. "ลุ้นมิติใหม่งานบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 2024 ฟาดแข้ง 31 มี.ค. นี้". THE STANDARD. 2024-02-17.
  11. "ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์- จุฬาฯ เตรียมกลับมาจัดยิ่งใหญ่หลังหายไป 5 ปี". พีพีทีวี. 10 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "กลับมาแล้ว! งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 เจอกัน 15 ก.พ.68". มติชน. 12 มกราคม 2025. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

ดูเพิ่ม

[แก้]