สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497
สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 | |
---|---|
สะพานข้ามแม่น้ำมูลอุบลฯ | |
พิกัด | 15°13′22″N 104°51′26″E / 15.2227°N 104.8573°E |
เส้นทาง | ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24, ถนนอุปราช |
ข้าม | แม่น้ำมูล |
ที่ตั้ง | ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย |
ชื่อทางการ | สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
เหนือน้ำ | สะพานข้ามแม่น้ำมูล ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานี |
ท้ายน้ำ | สะพาน 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ประเภท | สะพานแบบคาน |
วัสดุ | คอนกรีตอัดแรง |
ความยาว | 450 เมตร |
ความกว้าง | 9 เมตร |
จำนวนตอม่อ | 19 |
ประวัติ | |
ผู้ออกแบบ | กรมโยธาเทศบาล |
วันเริ่มสร้าง | พ.ศ. 2496 |
วันสร้างเสร็จ | พ.ศ. 2497 |
วันเปิด | 24 มิถุนายน(สันนิษฐาน) พ.ศ. 2497 |
ที่ตั้ง | |
สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 หรือ สะพานข้ามแม่น้ำมูล อุบลราชธานี เป็นสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งแรกในจังหวัดอุบลราชธานี เชื่อมต่อระหว่างเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบ ถนนบนตัวสะพานเป็นเส้นทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 หรือ ถนนอุปราช (เรียกกันในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี) ซึ่งสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 จะตั้งอยู่คู่กับสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปีในด้านทิศตะวันออก โดยสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 จะเป็นสะพานฝั่งขาเข้าเมืองอุบลราชธานี ส่วนสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปีจะเป็นฝั่งขาออกเมืองอุบลราชธานี
สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เคยเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2497
ประวัติ
[แก้]ก่อนเริ่มสร้างสะพาน (ก่อน พ.ศ. 2496)
[แก้]ในอดีตการเดินทางข้ามแม่น้ำมูลระหว่างฝั่งเมืองอุบลราชธานี และเมืองวารินชำราบนั้น อาศัยการสัญจรทางเรือเป็นหลัก นิยมใช้เรือแจว และแพขนานยนต์ ล่องไปมาระหว่างหาดสวนยา ฝั่งเมืองวารินชำราบ และท่าจวน หรือ ท่าวังใหม่ ฝั่งเมืองอุบลราชธานี ไม่มีสะพานข้ามเป็นกิจจะลักษณะ เมื่อปี พ.ศ. 2473 มีการเปิดใช้สถานีรถไฟวารินทร์ (สถานีรถไฟอุบลราชธานีในปัจจุบัน) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งเมืองวารินชำราบ เป็นครั้งแรกที่มีการเดินรถไฟมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้มีการสัญจรระหว่างสองฝั่งแม่น้ำมูลเพิ่มมากขึ้น จึงมีความคิดริเริ่มในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูลขึ้นมา[1]
ก่อสร้างสะพาน ตั้งชื่อ และเปิดใช้งาน (พ.ศ. 2496-2535)
[แก้]สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เริ่มการก่อสร้างใน พ.ศ. 2496 ใช้ค่าก่อสร้างจากงบประมาณแผ่นดินประมาณแปดล้านบาทเศษ โดยมีกรมโยธาเทศบาล (ปัจจุบัน คือ กรมโยธาธิการและผังเมือง) เป็นหน่วยงานหลักในการออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง มีวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างสะพานคือ คุณประสิทธิ์ สุทัศน์กุล และบริษัทผู้รับเหมาสร้างสะพาน คือ บริษัท กำจรก่อสร้าง
สะพานที่ก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีต ไม่มีโครงเหล็กยึดโยงเชื่อมกัน มีความยาว 450 เมตร กว้าง 9 เมตร มีเสา 3 ต้นเป็นตอม่อคอยรับน้ำหนักตัวสะพาน คานของสะพานสร้างด้วยคอนกรีตโปร่งรูปเหลี่ยม ลักษณะคล้ายลูกกรงระเบียง ทางเดินเท้าเป็นทางเท้าลอย ยื่นออกมาจากตัวสะพาน ไม่มีเสารองรับ ด้วยลักษณะโครงสร้างดังกล่าวทำให้ระหว่างการก่อสร้างมีการวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงว่าวิตกกังวลในหมู่ประชาชนชาวอุบลราชธานีว่า สะพานดูไม่มีความแข็งแรง ไม่น่าจะรองรับน้ำหนักอะไรได้ ดูไม่เหมือนสะพานที่ข้ามแม่น้ำสำคัญ ๆ อย่างเช่น สะพานพระพุทธยอดฟ้า, สะพานพระราม 6 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กรุงเทพฯ หรือ สะพานนวรัฐ ข้ามแม่น้ำปิง ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่กลับเหมือนสะพานข้ามคลองเล็ก ๆ มากกว่า หลังจากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับตัวแบบสะพาน ทางราชการก็ได้มีการชี้แจงโต้กลับว่า โครงสร้างของสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 นั้นมีการออกแบบสอดคล้องตามหลักวิชาการสมัยใหม่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการชี้แจงดังกล่าวแล้ว ก็ยังไม่สามารถคลายความวิตกกังวลของชาวอุบลราชธานีได้
เมื่อการก่อสร้างสะพานใกล้จะแล้วเสร็จ จึงต้องมีการตั้งชื่อสะพานเพื่อใช้ในพิธีเปิด และกำหนดให้เป็นชื่อสะพานอย่างเป็นทางการ จึงมีการเปืดให้มีการแสดงความคิดเห็นในการตั้งชื่อสะพาน มีความคิดเห็นต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับชื่อสะพานถูกเสนอขึ้นมา ทั้งจากกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนชาวอุบลราชธานี ซึ่งสามารถแยกความคิดเห็นได้เป็น 3 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1 เสนอจากกลุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี (หนึ่งในนั้น คือ นายยงยุทธ พึ่งภพ ส.ส. อุบลราชธานี ชุดที่ 7) ว่าควรตั้งชื่อสะพานนี้ว่า สะพานบูรกรมโกวิท หรือ สะพานบูรกรมเนรมิต โดยมาจากชื่อของ พันเอกหลวงบูรกรรมโกวิท อธิบดีกรมโยธาเทศบาล หนึ่งในบุคคลสำคัญในการก่อสร้างสะพานนี้ โดยเป็นผู้สรรหางบประมาณมาก่อสร้าง ด้วยการแปรญัตติจากโครงการต่าง ๆ พร้อมออกใบปลิวแจ้งเพื่อหาเสียงสนับสนุน อย่างไรก็ตามประชาชนชาวอุบลราชธานีโดยทั่วไปไม่เห็นด้วยกับชื่อนี้ เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล มิใช่ส่วนรวม
แนวทางที่ 2 เสนอจากกลุ่มข้าราชการบำนาญเมืองอุบลราชธานี (ประกอบด้วย ขุนสาธก ศุภกิจ อดีตสรรพากรจังหวัด, ขุนวรเวธวรรณกิจ อดีตศุภมาตราจังหวัด, ขุนวรวาทพิสุทธิ์ อดีตศึกษาธิการจังหวัด, ขุนอุทารระบิล อดีตปลัดเทศบาลเมืองอุบลราชธานี และขุนวิเลขกิจโกศล อดีตสมุหบัญชีเทศบาลเมืองอุบลราชธานี) ได้แสดงความคิดเห็นว่า สมควรขอพระราชทานนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มาเป็นชื่อสะพานแห่งนี้ โดยใช้ชื่อว่า สะพานอุบลรัตน์ โดยให้เหตุผลว่า การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรมนั้น จะนำชื่อจังหวัดต่าง ๆ มาตั้งพระนามบรรดาศักดิ์หรือราชทินนาม เช่น จังหวัดสุโขทัย ใน กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ 7), จังหวัดสงขลา ใน กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระบรมราชชนกฯ) แต่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ เป็นหัวเมืองเอก ยังไม่มีการนำชื่อจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งพระนามาบรรดาศักดิ์ หรือราชทินนาม พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดเลย แต่ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้งพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกว่า อุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ชาวอุบลราชธานีต่างก็มีความปราบปลื้ม ภาคภูมิใจ เป็นอย่างมาก จึงสมควรขอพระราชทานนาม อุบลรัตน์ มาเป็นชื่อสะพานแห่งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคล
แนวทางที่ 3 เสนอจากกลุ่มคณะกรรมการหาทุนสร้างอนุสาวรีย์ "พระวอ-พระตา" และแนวร่วม แสดงความคิดเห็นว่า ควรตั้งชื่อสะพานนี้ว่า สะพานพระวอ-พระตา เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้สร้างเมืองอุบลราชธานี เช่นเดียวกับ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ที่ตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระผู้สร้างกรุงเทพมหานคร
หลังจากที่ได้มีการเสนอชื่อสะพานจากทั้ง 3 แนวทาง ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์โต้เถียงกันเป็นวงกว้าง จนเมื่อใกล้กำหนดการเปิดสะพานก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงได้มีการรวบรวมความคิดเห็นทั้ง 3 แนวทาง เสนอให้รัฐบาลเป็นคนตัดสินชี้ขาด รัฐบาลสมัยนั้นมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และกำลังอยู่ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็เรียกตนเองว่าเป็นประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วเป็นการปกครองระบอบเผด็จการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมุ่งหมายรณรงค์ให้โลกรู้ว่า การปกครองของประเทศไทยนั้นเป็นการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย (Free-Democracy) ทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศไทย จะต้องเป็นเสรีประชาธิปไตย มิใช่ประชาธิปไตยในรูปแบบที่ลัทธิคอมมิวนิสต์กล่าวอ้าง จึงให้ตั้งชื่อสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งนี้ว่า สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 และชื่อนี้ก็ได้เป็นชื่อที่ใช้เรียกชื่อสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งนี้นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งมีการติดตั้งแผ่นป้ายชื่อสลักว่า "สะพานเสรีประชาธิปไตย ๒๔๙๗" ที่จุดขึ้นลงทั้งสองฝั่งของสะพาน[2][3]
สำหรับวันเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการของสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 นั้นไม่ได้มีข้อมูลบันทึกไว้แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาหลังจากวันที่ 1 พฤกษภาคม พ.ศ. 2497 เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันที่มีพิธีเปิดศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี (ศ.อ.ศ.อ.) โดยมีพลเอก มังกร พรหมโยธี เดินทางมาเป็นประธาน มีวิดีโอบันทึกไว้ว่า "พลเอก มังกร ต้องเดินทางด้วยแพขนานยนต์ข้ามไปฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำมูลยังก่อสร้างไม่เสร็จ" จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าวันที่เปิดสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 น่าจะเป็นเวลาหลังจากนั้น บ้างสันนิษฐานว่าคือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497 เนื่องจากตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 สอดคล้องกับชื่อเสรีประชาธิปไตยของสะพาน[1]
หลังจากเปิดใช้งานสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 สะพานแห่งนี้ก็ได้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นสะพานที่ยาวที่สุดของประเทศไทยในสมัยนั้น (ช่วง พ.ศ. 2497) (ปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) สะพานที่ยาวที่สุดของประเทศไทยคือ สะพานติณสูลานนท์) โดยเป็นสะพานสำหรับการคมนาคมที่มีช่องจราจร 2 ช่องจราจร เดินรถได้สองทาง และมีทางเท้าขนาบยาวทั้งสองข้างของสะพาน[2]
รื้อถอน และสร้างสะพานใหม่ (พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน)
[แก้]สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เปิดใช้งาน และตั้งอยู่คู่เมืองอุบลราชธานีเป็นเวลา 36 ปี จึงเริ่มชำรุด และหมดอายุการใช้งาน ในปี พ.ศ. 2535 จึงได้มีการรื้อถอน และสร้างสะพานขึ้นใหม่ที่จุดตำแหน่งของสะพานเดิม โดยยังใช้ชื่อ สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เช่นเดิม พร้อมทั้งสร้างสะพานใหม่อีกหนึ่งสะพานขนานทางด้านข้างทางทิศตะวันออก ตั้งชื่อว่า สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี รวมมี 4 ช่องจราจร ได้กำหนดให้ช่องจราจรบนสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เป็นช่องจราจรที่ใช้สำหรับเข้าเมืองอุบลราชธานี ส่วนช่องจราจรบนสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นช่องจราจรที่ใช้สำหรับออกจากเมืองอุบลราชธานี
ส่วนแผ่นป้ายชื่อบนสะพานถูกเปลี่ยนใหม่เป็นป้าย "สะพานเสรีประชาธิปไตย ๒๔๙๗ (สร้างใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕)" และนำไปตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางสะพาน ตรงขอบราวด้านข้างสะพาน สำหรับแผ่นป้ายชื่อเก่า "สะพานเสรีประชาธิปไตย ๒๔๙๗" แรกเริ่มจะถูกทำลายทิ้ง แต่นายลำดวน สุขพันธ์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ในสมัยนั้น ได้ขอให้นำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี[4][5]
รายละเอียดของสะพาน
[แก้]เป็นสะพานแบบคาน สร้างด้วยคอนกรีตอัดแรง ความยาวรวม 450 เมตร โดยประมาณแล้ว เป็นระยะทางลาดฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี 60 เมตร ระยะทางลาดฝั่งอำเภอวารินชำราบ 200 เมตร และระยะทางเหนือน้ำ 190 เมตร ความกว้างสะพาน 9 เมตร มีช่องจราจรบนสะพาน 2 ช่อง เป็นแบบเดินรถทางเดียวไปทางทิศเหนือ (เข้าเมืองอุบลราชธานี) ปัจจุบันเป็นเส้นทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 หรือช่วงหนึ่งของ ถนนอุปราช ด้านข้างมีทางเดินเท้าพร้อมราวคอนกรีตกั้นทั้งสองฝั่งซ้ายขวา บริเวณกลางสะพานมีป้ายสลักชื่อ "สะพานเสรีประชาธิปไตย ๒๔๙๗ (สร้างใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕)" ด้วยตัวอักษรสีทอง พื้นหลังสีขาว ขนาบข้างทั้งสองเลนถนน
ปลายสะพานฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี (ด้านทิศเหนือ) จะเชื่อมต่อกับถนนอุปราช และตัดกับถนนพรหมเทพที่วงเวียนน้ำพุ ฝั่งทิศตะวันออกติดตลาดสดเทศบาล 3 เมืองอุบลราชธานี (ตลาดใหญ่) ฝั่งทิศตะวันตกอยู่ใกล้กับสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนปลายสะพานฝั่งอำเภอวารินชำราบ (ด้านทิศใต้) เชื่อมกับบถนนสถิตนิมานการ[6][7]
เหตุการณ์สำคัญ
[แก้]สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี
การชุมนุมปิดสะพานของ นปช. พ.ศ. 2553
[แก้]วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มชักธงรบ พร้อมมวลชนประมาณ 300 คน นำรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ขึ้นไปปิดสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 และสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยอ้างสาเหตุของการปิดสะพาน เพื่อเป็นการประท้วงตอบโต้รัฐบาลที่เริ่มใช้ความรุนแรงกดดันผู้ชุมนุมในการชุมนุมของแนวร่วมที่กรุงเทพมหานคร[8]
การชุมนุมของกลุ่มราษฎร คณะประชาชนปลดแอก และแนวร่วม พ.ศ. 2563-64
[แก้]สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญในการประท้วงของแนวร่วมกลุ่มราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ใน พ.ศ. 2563-64 มีฐานะเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์ในการเรียกร้องประชาธิปไตยอันสมบูรณ์สอดคล้องกับเป้าหมายของผู้ชุมนุม การประท้วงถูกจัดบนสะพานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การอ่านแถลงการณ์ พร้อมชูป้ายขับไล่รัฐบาลของกลุ่มเสรีประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561[9], การรวมตัวของกลุ่มวิ่งไล่ลุง ชูป้ายรุปภาพคณะราษฎร พร้อมทั้งอ่านประกาศคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563[10], กิจกรรม "ดันเพดาน" ของกลุ่มราษฎรอุบลราชธานี พร้อมแนวร่วมสี่ภาค รวมตัว ปราศัย พร้อมอ่านประกาศคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564[11], การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยอุบลราชธานี ปิดสะพาน แสดงกิจกรรมโบกธงประจำกลุ่ม พร้อมชูป้ายผ้าเขียนข้อความโจมตีรัฐบาล และปราศรัยเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลแยกตัวไม่สนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564[12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ไทอีสาน, ภาพเก่าเล่าเรื่อง : สะพานเสรีประชาธิปไตย พ.ศ. 2497 จังหวัดอุบลราชธานี, สืบค้นเมื่อ 2021-09-03
- ↑ 2.0 2.1 สุวิช คูณผล, "สะพานเสรีประชาธิปไตย สะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งแรกของอุบล". ไกด์อุบล. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03
- ↑ งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (2015-10-26). "สะพานเสรีประชาธิปไตย | ภาพเก่าเล่าเรื่อง..เมืองอุบลราชธานี". esanpedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-03. สืบค้นเมื่อ 2021-08-03.
- ↑ ตัก อริโย, "บันทึกการเดินทาง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี". www.gotoknow.org.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) สืบคนเมื่อ 2021-09-03 - ↑ Phaholtap, Hathairat (2020-08-07). "10 ปีชายคาเรื่องสั้น : วารสารเพื่อเสรีชน". เดอะอีสานเรคคอร์ด. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03
- ↑ กรมทางหลวง. "ระบบสารสนเทศโครงข่ายทางหลวง". central road database. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-13. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.
- ↑ ทีมข่าวเฉพาะกิจ (2019-10-26). "[สาระ+ภาพ] เข้า Google Maps ตามหาอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "แดงอุบลฯปิดสะพานข้ามน้ำมูล". posttoday. 2010-06-14. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ประชาไท (2018-03-01). "กลุ่มเสรีประชาธิปไตยแถลงฯ 4 ล้มเหลว 4 เลวร้าย ไล่ คสช". prachatai.com. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ matichon (2020-06-24). "อุบลฯ ชูภาพ 'คณะราษฎร' กลางสะพานเสรีประชาธิปไตย ชี้ 'ปากกา' เปลี่ยนการเมือง". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ไทยรัฐ (2021-06-24). "กลุ่มราษฎรที่อุบลราชธานี ร่วมกิจกรรม "ดันเพดาน" พร้อมเครือข่าย 4 ภาค". www.thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ เนชั่นทีวี (2021-08-15). "สามนิ้วชุมนุมสี ครม.บาป เรียกร้อง ตร.ทหาร เลิกหนุนเผด็จการ". NationTV. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
สะพานข้ามแม่น้ำมูลในปัจจุบัน | |||
---|---|---|---|
เหนือน้ำ สะพานข้ามแม่น้ำมูล ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานี |
สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 |
ท้ายน้ำ สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี |