สเตเดียม วัน
Stadium One | |
พิกัด | 13°44′48″N 100°31′28″E / 13.746677183773286°N 100.52443658040288°E |
---|---|
ที่อยู่ | 849/17-18 ซอยจุฬาลงกรณ์ 6 ถนนบรรทัดทอง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 |
ผู้พัฒนา | บริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด |
ผู้บริหารงาน | พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย |
เจ้าของ | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
ขนส่งมวลชน | สนามกีฬาแห่งชาติ |
สเตเดียม วัน (อังกฤษ: Stadium One) เป็นศูนย์การค้าชุมชนด้านกีฬา (Sports community mall) แห่งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริหารงานโดย บริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด ตั้งอยู่บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณมุมตะวันออกเฉียงใต้ของแยกเจริญผล ระหว่างถนนพระรามที่ 1 กับถนนบรรทัดทอง และ ซอยจุฬาลงกรณ์ 5-6 อยู่ตรงข้ามกับสนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ และเชื่อมต่อกับอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ค้าปลีกด้านกีฬา ขนาด 5,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยร้านค้าปลีกจำนวน 129 ร้าน และ ศูนย์บริการการออกกำลังกาย โดยมีลานจัดกิจกรรมด้านกีฬาขนาด 2,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคาร[1]
ประวัติ
[แก้]พื้นที่ที่ตั้งบริเวณสนามศุภชลาศัยถึงซอยจุฬาลงกรณ์ 12 นั้น เดิมเป็นที่ตั้งของร้านค้าปลีกอุปกรณ์กีฬาอยู่แล้วเป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปี ต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เวนคืนพื้นที่ และย้ายร้านค้าปลีกเหล่านี้ให้เข้าไปขายริมถนนบรรทัดทองกับย่านสวนหลวง แต่จุฬาฯ ยังต้องการรักษาเอกลักษณ์ของกิจกรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับกีฬา เพราะพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ตรงข้ามกับสนามศุภชลาศัย จึงเปิดสัมปทานพื้นที่จำนวน 10 ไร่ ให้บริษัทเอกชนพัฒนาเป็นย่านกีฬา โดยเน้นกีฬาจักรยานและวิ่ง และกำหนดให้มีร้านค้าเกี่ยวกับธุรกิจดังกล่าวไม่น้อยกว่า 60 ร้าน[2]
เมื่อจุฬาฯ เปิดสัมปทานพื้นที่ดังกล่าว พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย, สิทธิชัย ศรีสงวนสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส.จี.ดี อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกล้องวงจรปิดฟูจิโกะ, ถนอมเกียรติ สัมมาวุฒิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอฟเวอร์เอ็นจ์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าครบวงจร และ ณัฐภัค รีกิจติศิริกุล ซึ่งทั้ง 4 คนจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมหุ้นส่วนกันและก่อตั้ง บริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด เพื่อเข้าร่วมประมูลสิทธิการบริหารพื้นที่ย่านดังกล่าวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2560 และสามารถประมูลชนะคู่แข่งอีก 4 บริษัท ทำให้ได้รับสัมปทานในระยะแรกเป็นระยะเวลา 7 ปี[3]
การจัดสรรพื้นที่
[แก้]โครงการสเตเดียม วัน แบ่งออกเป็น 5 โซน ที่จัดแบ่งออกเป็นสัดส่วน ดังนี้[4]
- Stand A จำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาทั้งแบบค้าปลีกและค้าส่ง มีทั้งร้านที่เคยขายอยู่เดิม และ ผู้ค้ารายใหญ่ คือ วอริกซ์ สปอร์ต ซึ่งเปิดเป็นร้านค้าอย่างเป็นทางการแห่งแรกในประเทศไทย, เอสซีจี เอ็กซ์เพรส ให้บริการจัดส่งสำหรับผู้ที่ต้องการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าหรือคนในพื้นที่ รวมถึง ร้านทำสกรีน และ ขายเครื่องมืออุปกรณ์การสกรีนต่าง ๆ
- Stand B จำหน่ายแบรนด์กีฬาและไลฟ์สไตล์ มากกว่ากว่า 50 ร้าน ทั้งแบรนด์ท้องถิ่น และแบรนด์ต่างประเทศ
- Stand C รวบรวมร้านอาหารข้างถนนในประเทศไทยชื่อดัง สลับเวลามาเปิดตลอดช่วงระหว่าง 8:00 – 24:00 น.
- Stand D เป็นร้านกาแฟ และพื้นที่ทำงานร่วมกัน เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
- Active Box เป็นโซนส่วนสำคัญของสเตเดียม วัน เป็นอาคารสูง 5 ชั้น โดยชั้นแรกจะเป็นร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้า อุปกรณ์กีฬา ส่วนชั้น 2-5 ให้บริการของฟิตเนส และสตูดิโอออกกำลังกาย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ""STADIUM ONE" สปอร์ต คอมมูนิตี้ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ ใจกลางกรุงเทพฯ เปิดบ้านต้อนรับคู่ค้าธุรกิจ". BrandAge. 30 กรกฎาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "จุฬาฯผุดเมืองใหม่ นำร่อง4พันล้าน-พลิกที่ดินสยามยันบรรทัดทอง". ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์. 4 พฤษภาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Sae-tang, Suporn (31 กรกฎาคม 2017). "พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย ดัน "สเตเดี้ยม วัน" สู้ยักษ์". ผู้จัดการ 360. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Soimilk Staff (12 มิถุนายน 2018). "เปิดแล้ว Stadium One สปอร์ตคอมมูนิตี้มอลล์ครั้งแรกของประเทศไทย แห่งแรกในอาเซียน". Soimilk. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2024.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)