โรงพยาบาลอานันทมหิดล
โรงพยาบาลอานันทมหิดล | |
---|---|
Ananda Mahidol Hospital | |
ประเภท | โรงพยาบาลทหารและโรงพยาบาลทั่วไป |
ที่ตั้ง | เลขที่ 35 ถนนพิชัยดาบหัก ตำบลเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี รหัสไปรษณีย์ 15000 |
ข้อมูลทั่วไป | |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2480 |
วันเปิดทำการ | 6 มกราคม พ.ศ. 2481 |
สังกัด | กรมแพทย์ทหารบก กระทรวงกลาโหม |
ผู้อำนวยการ | พลตรี คิมห์ อิทธิกุล [1] |
จำนวนเตียง | 306 เตียง[2] |
แพทย์ | 74 คน |
บุคลากร | 1,016 คน |
เว็บไซต์ | https://anan-hosp.go.th/ |
โรงพยาบาลอานันทมหิดล (อังกฤษ: Ananda Mahidol Hospital) (อักษรย่อ: รพ.อ.ป.ร.) สังกัดกรมแพทย์ทหารบก ตั้งอยู่ในตำบลเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นโรงพยาบาลทหารขนาดใหญ่ในส่วนภูมิภาค ให้บริการระดับทุติยภูมิขั้นสูง เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกองทัพบกไทย ให้บริการทั้งข้าราชการทหารและพลเรือนรวมถึงประชาชนทั่วไป และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สามรองจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี
ศัยภาพของโรงพยาบาล
[แก้]ในปี 2560 โรงพยาบาลอานันทมหิดล มีการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลในการให้บริการด้านโรคหัวใจมากขึ้น ทั้งการพัฒนาแพทย์ด้านหัวใจ แพทย์สวนหัวใจเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนพัฒนาห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization Laboratory) ทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องมือ และห้อง ที่สามารถดูแลผู้ป่วยด้านหัวใจได้อย่างครบถ้วน
จากเดิมก่อนที่จะพัฒนาศักยภาพด้านโรคหัวใจและสวนหัวใจ ต้องส่งต่อคนไข้ไปรักษาที่กรุงเทพฯ เช่น รพ.พระมงกุฎ หรือส่งไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพสูงกว่า เมื่อมีการพัฒนาศักยภาพของ รพ.อานันทมหิดล ขึ้นมาเอง ก็ช่วยให้การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ได้มากขึ้น ลดจำนวนการส่งต่อ ลดปัญหาการเดินทางไกล และการรอคิวนาน[3]
ประวัติโรงพยาบาล
[แก้]ในอดีตจังหวัดลพบุรียังเป็นขนาดจังหวัดเล็ก ชุมชนยังไม่หนาแน่นมากจากบริเวณท่าหินไปถึงท่าโพธิ์ ซึ่งในปีนั้นกระทรวงกลาโหมโดยมี พันเอกหลวงพิบูลสงคราม (ยศขณะนั้น) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีดำริที่จะย้ายหน่วยทหารบางส่วนจากกรุงเทพมหานครมาตั้งที่จังหวัดลพบุรี ใน พ.ศ. 2480 พร้อมกับเล็งเห็นว่า เมื่อมีหน่วยทหารและครอบครัวมาตั้งรกรากมากขึ้นในจังหวัดลพบุรี หากมีการเจ็บป่วยก็ย่อมเป็นปัญหาใหญ่ทางการรักษาพยาบาลจึงได้คิดวางแนวทางที่จะตั้งโรงพยาบาลไว้ในจังหวัดลพบุรีอีกแห่งหนึ่ง เพื่อรองรับการแก้ปัญหาการเจ็บไข้ได้ป่วยของทหาร, ครอบครัว, ประชาชนและพลเรือนในจังหวัดลพบุรี รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง เพราะในระยะเวลานั้นทั้งจังหวัดสิงห์บุรี, จังหวัดเพชรบูรณ์, จังหวัดสระบุรี และจังหวัดลพบุรียังไม่มีโรงพยาบาลประจำจังหวัด นับว่าเป็นความคิดที่รอบคอบในการวางแผนระยะยาวในสมัยนั้น ดังนั้นโรงพยาบาลอานันทมหิดลก็ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2480 และแล้วเสร็จในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ มากระทำพิธีเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันเปิดค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พ.ศ. 2481 โรงพยาบาลอานันทมหิดล ได้เปิดดำเนินการโดยสามารถให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วยไม่เกิน 200 เตียงตัวอาคารของโรงพยาบาลไม่สามารถสร้างเสริมให้ครบตามแผนได้ เนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงมีเพียงอาคารศัลยกรรมหนึ่งหลังอายุรกรรมหนึ่งหลังและสูตินรีเวชกรรมหนึ่งหลังเท่านั้น
พ.ศ. 2482 พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ก็ได้มองเห็นว่าประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านการแพทย์อีกมากมาย จึงได้วางแผนผลิตแพทย์ชั้นหนึ่งภายใต้โครงการร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยให้กรมแพทย์ทหารบกจัดตั้งโรงเรียนเสนารักษ์เพื่อผลิตนายแพทย์ทหารไว้ใช้ในการสงคราม เป็นการเตรียมพร้อมกำลังพลในด้านการแพทย์ และความประสงค์ในอันดับต่อมาก็คือการกระจายแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งออกไปสู่ชนบททั่วประเทศโครงการผลิตแพทย์จากโรงพยาบาลอานันทมหิดลซึ่งนับว่าเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่สอง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผลผลิตไม่สามารถดำเนินการได้ตามโครงการ เพราะการผลิตแพทย์ไม่เหมือนกับการผลิตบุคลากรอื่น ดังนั้นเมื่อจบโครงการจึงสามารถผลิตบุคลากรสำเร็จออกมาเป็นแพทย์ได้เพียง 167 คน
พ.ศ. 2486 เนื่องจากสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับประเทศอังกฤษ กองทัพไทยต้องส่งทหารเข้าร่วมในการรบด้วย เช่น กองทัพพายัพทำให้ทหารต้องเจ็บป่วยและบาดเจ็บมาก โรงพยาบาลในเขตแนวหน้าและเขตหลังคือกองพยาบาลมณฑลที่ 1 (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้เพียงพอ กรมเสนารักษ์กรมแพทย์ทหารบกจึงได้ดำเนินการปรับปรุงโรงพยาบาลอนันทมหิดล เพื่อให้มีขีดความสามารถรับทหารป่วยเจ็บเพิ่มขึ้นและจัดตั้งศูนย์พักฟื้นทหารป่วยเจ็บของกองทัพบก อีกทั้งได้อาคารชั่วคราวขึ้น 4 หลัง แต่ละหลังรับผู้ป่วยได้ 200 เตียง รวมอาคารเดิมแล้วสามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 1,000 เตียง
พ.ศ. 2514 ในการรับผู้ป่วยที่ส่งกลับจากโรงพยาบาลประจำถิ่นและหน่วยสนับสนุนทางการแพทย์ในเขตหน้าและในพื้นที่การรบ จากภารกิจซึ่งต้องสนับสนุนกองทัพบกตลอดมา รวมทั้งการต้องดูแลทหาร, ครอบครัวและพลเรือนที่เจ็บป่วยเป็นจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดลพบุรี พันเอกยง วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการ ได้เสนอแผนและโครงการต่อกองทัพบกขออนุมัติสร้างอาคารใหม่ 6 ชั้น ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบสมบูรณ์ภายในอาคารเดียวกันและได้รับความเห็นชอบสนับสนุนจาก พลเอกสุรกิจ มัยลาภ (เสนาธิการทหารบกขณะนั้น) จัดสรรงบประมาณและกรุณามาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 เวลา 18.30 น. อาคาร 6 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปีเศษ ใช้งบประมาณ 50 กว่าล้านบาท เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วนับว่าเป็นโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลทั่วไปที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
รายชื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลอานันทมหิดล
[แก้]รายนาม | ปีที่ดำรงตำแหน่ง | |
---|---|---|
|
|
การฝึกอบรมหรือเป็นสถาบันสมทบในการฝึกอบรม
[แก้]โรงพยาบาลอานันทมหิดล เป็นสถานที่ฝึกอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ซึ่งได้รับอนุมัติจากแพทยสภาและเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกของนักเรียนพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกชั้นปีที่ 4 และนักเรียนนายสิบเหล่าแพทย์ นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวกับงาน ทางสาธารณสุขด้านต่าง ๆ เช่น งานกายภาพบำบัด งานพยาธิวิทยา งานเวชระเบียน เป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
- ↑ "ระบบรายงานทรัพยากรสาธารณสุข". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-10. สืบค้นเมื่อ 2010-02-09.
- ↑ https://mgronline.com/qol/detail/9600000085231
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- โรงพยาบาลอานันทมหิดล เก็บถาวร 2010-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงพยาบาลอานันทมหิดล
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์