ข้ามไปเนื้อหา

ฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เนฟอาอารุดที่ 1 หรือ นัยเฟารุดที่ 1 และเป็นที่รู้จักกันดีในพระนามภาษากรีกว่า เนเฟริเตสที่ 1 เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ที่ยี่สิบเก้าแห่งอียิปต์ขึ้นในช่วง 399 ปีก่อนคริสตกาล

รัชสมัย

[แก้]

การขึ้นครองพระราชบัลลังก์

[แก้]

เป็นที่เชื่อกันว่า ฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 เดิมทรงเป็นแม่ทัพจากเมืองเมนเดส ซึ่งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ได้เริ่มการต่อต้านฟาโรห์อมิร์เตอุสในช่วงฤดูใบไม้ร่วงช่วงปี 399 ปีก่อนคริสตกาล โดยพระองค์ทรงเอาชนะในการต่อสู้แบบเปิด[3] แล้วทรงสำเร็จโทษฟาโรห์อมิร์เตอุสที่เมืองเมมฟิส[4] หลังจากนั้นฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ก็ทรงปราบดาภิเษกพระองค์เองขึ้นเป็นฟาโรห์ที่เมืองเมมฟิส และอาจจะที่เมืองซาอิสอีกด้วย ก่อนที่ทรงจะย้ายเมืองหลวงจากเมืองซาอิสไปยังเมืองเมนเดส[5] ซึ่งเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระองค์ และข้อเท็จจริงที่ว่าฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ทรงเลือกใช้พระนามฮอรัสเดียวกันกับฟาโรห์พซัมติกที่ 1 และพระนามฮอรัสทองคำของฟาโรห์อมาซิสที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองจากราชวงศ์ที่ยี่สิบหกแห่งอียิปต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงต้องการเชื่อมโยงรัชสมัยของพระองค์เข้ากับ 'ยุคทอง' ในช่วงก่อนหน้านี้ของประวัติศาสตร์อียิปต์[6]

กิจกรรมในรัชสมัย

[แก้]
ตุ๊กตาชวาบติของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1

ตามคำกล่าวของมาเนโท ฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 6 ปี ถึงแม้ว่าหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับพระองค์จะสามารถย้อนไปเพียงแค่ปีที่ 4 แห่งการครองราชย์[5]

พบหลักฐานการก่อสร้างในรัชสมัยของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ในหลายพื้นที่ทั่วพระราชอาณาจักร ในบริเวณอียิปต์ล่าง พระองค์ได้โปรดให้มีการก่อสร้างที่เมืองธมูอิส, เทล โรบา, บูโต (สถานที่ที่ค้นพบรูปสลักของพระองค์[7]), เมมฟิส, ซัคคารา (ที่ฝังพระศพเทพเจ้าอาปิสในช่วงปีที่ 2 แห่งการครองราชย์ของพระองค์) และเมืองเมนเดส ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวงและสถานที่พระราชสมภพของพระองค์ ในบริเวณอียิปต์กลางและบน พระองค์โปรดให้สร้างสั่งวิหารที่อาคอริส ในขณะที่ในอัคมิมที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองซอฮัก มีหลักฐานการบูชารูปสลักของพระองค์ ซึ่งวางไว้ภายในวิหาร นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้เพิ่มอาคารบางหลังที่เมืองคาร์นัก เช่น ห้องเก็บของและศาลเทพเจ้า[6][5] สฟิงซ์หินบะซอลต์ที่ปรากฏพระนามของพระองค์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ แต่ทราบกันว่าถูกนำไปยังยุโรปตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 โดยนำไปประดับประดาน้ำพุที่สวนวิลลาบอร์เกเซในกรุงโรม[8]

ในด้านการความสัมพันธ์กับดินแดนอื่น พระองค์ทรงกลับมาใช้พระราชนโยบายการแทรกแซงของอียิปต์ในดินแดนตะวันออกกลาง ตามที่ดิโอดอรัส ซิคูลัสกล่าว ในช่วง 396 ปีก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงสนับสนุนกษัตริย์สปาร์ตาพระนามว่า อะเกซิลาอุส ในการทำสงครามกับเปอร์เซีย โดยสปาร์ตาได้พิชิตเกาะไซปรัสและโรดส์ และยังพยายามขยายอิทธิพลออกไปทางตะวันออก ฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ได้ทรงจัดหาเมล็ดธัญพืชและวัสดุจำนวนห้าแสนหน่วยแก่สปาร์ตาสำหรับเรือหนึ่งร้อยลำ อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ่งของเหล่านี้เดินทางมาถึงเมืองโรดส์ มันก็เป็นช่วงเวลาหลังจากที่ชาวเปอร์เซียสามารถยึดเกาะคืนได้แล้ว ดังนั้น เกาะนี้จึงถูกยึดครองโดยโคนอนแห่งเอเธนส์ นักปรัชญาชาวเปอร์เซีย[9][10]

การสวรรคตและการสืบสันตติวงศ์

[แก้]

ฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 เสด็จสววรคตลงในฤดูหนาวช่วง 394/393 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลาหกปี[5] ในประชุมพงศาวดารเดมอติกได้ระบุไว้ว่า "พระราชโอรสของพระองค์" ได้ทรงรับพระราชานุญาตให้สืบทอดพระราชบัลลังก์โดยไม่ระบุพระนาม และปัจจุบันนี้เชื่อกันโดยทั่วไปว่าพระราชโอรสของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 คือ ฟาโรห์ฮาคอร์ ซึ่งปกครองพระราชอาณาจักรเป็นระยะเวลาเพียงหนึ่งปีก่อนที่จะถูกโค่นล้มพระราชบัลลังก์โดยฟาโรห์พซัมมูเธส ซึ่งเป็นผู้อ้างสิทธิ์ในการครองราชย์ที่ไม่เกี่ยวข้องทางสายพระโลหิต อย่างไรก็ตาม ฟาโรห์ฮาคอร์ก็ทรงสามารถยึดพระราชบัลลังก์ได้คืนในอีกปีถัดมา[11]

สถานที่ฝังพระบรมศพที่เป็นไปได้

[แก้]

สถานที่ฝังพระบรมศพที่เชื่อว่าเป็นของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ถูกค้นพบโดยทีมร่วมจากมหาวิทยาลัยโตรอนโตและมหาวิทยาลัยวอชิงตันในปี ค.ศ. 1992-93[12] ความเป็นไปได้ที่พระองค์จะทรงเป็นเจ้าของหลุมฝังศพนี้คือ การค้นพบตุ๊กตาชวาบติที่ปรากฏพระนามของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่พบหลักฐานยืนยันใดอีก[13] ถึงแม้ว่าจะยังคงหลงเหลือวัตถุในพิธีฝังศพและโลงศพหินปูนขนาดใหญ่ แต่เชื่อกันว่าหลุมฝังศพนี้ถูกทำลายโดยชาวเปอร์เซียในช่วง 343 ปีก่อนคริสตกาล[12] มีการค้นพบพบภาชนะเซรามิกที่มีลายปลาปลาและจารึกที่รายล้อมไปด้วยรูปสลักปลาในพื้นที่ฝังศพ ซึ่งการปรากฏตัวของปลานั้น ซึ่งมักถูกตีความว่าเป็นเครื่องเซ่นไหว้ อาจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสถานที่นี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของวิหารแห่งเทพีฮัตเมฮิต ซึ่งเป็นเทพีแห่งปลา[14]

ดูเพิ่ม

[แก้]

มูธิส – สันนิษฐานว่าเป็นฟาโรห์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าเป็นพระราชโอรสของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1

อ้างอิง

[แก้]
  1. Sphinx of Nepherites I - A 26
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Clayton, Peter A. Chronicle of the Pharaohs: The Reign-by-Reign Record of the Rulers and Dynasties of Ancient Egypt. p.203 Thames & Hudson. 2006. ISBN 0-500-28628-0
  3. 3.0 3.1 Redford, Donald B. (2004). Excavations at Mendes: The Royal Necropolis. Vol. 1. Leiden, Germany: Brill. p. 33. ISBN 978-90-04-13674-8.
  4. Dodson, Aidan (2000) [2000]. Monarchs of the Nile (2 ed.). Cairo, Egypt: The American University in Cairo Press. pp. 196. ISBN 978-0-9652457-8-4.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Grimal, Nicolas (1992). A History of Ancient Egypt. Oxford: Blackwell Books. pp. 372–3. ISBN 978-0-631-17472-1.
  6. 6.0 6.1 Shaw, Ian (2000). The Oxford History of Ancient Egypt. Oxford, UK: Oxford University Press. pp. 378. ISBN 978-0-19-280458-7.
  7. Gabra, G. (1981). "A lifesize statue of Nepherites I from Buto", SAK 9, pp. 119-23
  8. Royal Sphinx with the name of the Pharaoh Achoris. The Louvre. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-01. สืบค้นเมื่อ 4 July 2014.
  9. Sweeney, Emmet John (2008). The Ramessides, Medes, and Persians. Ages in Alignment. Vol. 4. USA: Algora. p. 147. ISBN 978-0-87586-544-7.
  10. Gardiner, Alan (1961). Egypt of the Pharaohs: an introduction. Oxford: University Press. p. 374.
  11. Ray, John D. (1986). "Psammuthis and Hakoris", The Journal of Egyptian Archaeology, 72: 149-158.
  12. 12.0 12.1 Arnold, Dieter (1999). Temples of the last Pharaohs. Oxford, UK: Oxford University Press. pp. 102. ISBN 978-0-19-512633-4.
  13. Dodson, Aidan (2009) [1994]. "6". The Canopic Equipment of the Kings of Egypt. Studies in Egyptology. Oxford, UK: Routledge. ISBN 978-0-7103-0460-5.
  14. Riggs, Christina, บ.ก. (2012). The Oxford Handbook of Roman Egypt. Oxford, UK: Oxford University Press. p. 34. ISBN 978-0-19-957145-1. สืบค้นเมื่อ 4 July 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]