ข้ามไปเนื้อหา

พรรคเพื่อไทย

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ครอบครัวเพื่อไทย)

พรรคเพื่อไทย
หัวหน้าแพทองธาร ชินวัตร
รองหัวหน้า
เลขาธิการสรวงศ์ เทียนทอง
รองเลขาธิการ
เหรัญญิกทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์
นายทะเบียนสมาชิกณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช
โฆษกดนุพร ปุณณกันต์
รองโฆษก
กรรมการบริหาร
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
(2554–2557)
เศรษฐา ทวีสิน
(2566–2567)
แพทองธาร ชินวัตร
(2567–ปัจจุบัน)
คำขวัญคิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน[1]
คติพจน์เดินหน้าตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย แก้ปัญหาให้ประชาชน
ก่อตั้ง20 กันยายน พ.ศ. 2550; 17 ปีก่อน (2550-09-20)
ก่อนหน้าพรรคพลังประชาชน
พรรคไทยรักไทย (บ้านเลขที่ 111)
ที่ทำการ197 อาคารบีบีดี ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
ฝ่ายเยาวชนคณะทำงานเยาวชนและคนรุ่นใหม่[2][3][4]
สมาชิกภาพ  (ปี 2567)38,293 คน [5]
อุดมการณ์
จุดยืนกลาง ถึง ขวากลาง[7][11]
สี  แดง
  น้ำเงิน
เพลง"พรรคเพื่อไทย หัวใจเพื่อเธอ" (2562)
"คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน" (2566)
สภาผู้แทนราษฎร
142 / 495
สภากรุงเทพมหานคร
22 / 50
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
7 / 76
เว็บไซต์
www.ptp.or.th
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคเพื่อไทย (ย่อ: พท.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งโดยทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทยมีบทบาททางการเมืองแทนที่พรรคพลังประชาชนซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หลังพบว่ากรรมการบริหารพรรคมีความผิดฐานทุจริตการเลือกตั้ง โดยที่พรรคพลังประชาชนก็ได้เข้ามีบทบาททางการเมืองแทนที่พรรคเดิมของทักษิณ คือพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เนื่องจากละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง[12][13]

รายชื่อนายกรัฐมนตรี

ประวัติ

ตราสัญลักษณ์ยุคแรกเริ่มของพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยถูกจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550 มี บัณจงศักดิ์ วงศ์รัตนวรรณ และโอฬาร กิจเลิศไพโรจน์ เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรก มีที่ทำการพรรคแห่งแรกอยู่ที่ 111/1 อาคารนวสร ถนนพระรามที่ 3 แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม[14] โดยพรรคเพื่อไทยในช่วงแรกเป็นพรรคที่ได้รับการจดทะเบียนไว้เผื่อจะมีอุบัติเหตุทางการเมือง เช่น การยุบพรรคพลังประชาชน เป็นต้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยในช่วงแรกถูกจัดว่าเป็น "พรรคสำรอง" ต่อมาพรรคเพื่อไทยได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3/2551 เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551 มีมติให้สุชาติ ธาดาธำรงเวช ซึ่งเป็นแกนนำพรรคพลังประชาชนที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค พร้อมกับคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 13 คน และยังได้ทำการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์พรรครวมถึงย้ายที่ทำการพรรคมาอยู่ที่ 626 ซอยจินดาถวิล ถนนพระรามที่ 4 แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก[15] ก่อนที่ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 นายสุชาติจะได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลือต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ตราสัญลักษณ์ของพรรคเพื่อไทย (15 มกราคม พ.ศ. 2551 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2563)

วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ภายหลัง คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 สมาชิกพรรคพลังประชาชนส่วนมากได้ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยจึงจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2551 ขึ้น โดยมีวาระสำคัญในการลงมติเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมีการเสนอชื่อ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่เพียงชื่อเดียว

ต่อมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกจับตามองในช่วงแรกว่าจะได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ถัดจากยงยุทธนั้น ทว่าเธอดำรงตำแหน่งกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคแทน ซึ่งไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค โดยมีการวิเคราะห์จากนักวิชาการและสื่อมวลชนว่า เพื่อป้องกันการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ภายหลังจากที่ยงยุทธลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ได้มีการคัดเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ โดยมีการเสนอชื่อ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งผู้เสนอชื่อคือ พันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย โดยจารุพงศ์ได้รับการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในที่สุด[16]

ตราสัญลักษณ์ของพรรคเพื่อไทย (10 ตุลาคม พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน)

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563 พรรคเพื่อไทยได้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญ โดยที่ประชุมได้มีมติให้ปรับโลโก้พรรคเพื่อไทยใหม่ โดยใช้พื้นฐานตัวอักษรชื่อ อู่ทอง ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอักษรที่ใช้ตั้งแต่เริ่มต้นพรรค ซึ่งเป็นตัวอักษรที่มีหัว และโค้งมนมากขึ้น[17] โดยประกาศใช้ในวันที่ 10 ตุลาคม

ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ระหว่างการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งในงานมีการแสดงวิสัยทัศน์ของแกนนำพรรค ตลอดจนมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมและการเดินแฟชั่นผ้าไหมพื้นบ้านโดยตัวแทนสมาชิกพรรค และงานในวันนั้นมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ สมพงษ์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกลางที่ประชุมทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ พร้อมกับได้มีการเปิดตัวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของทักษิณ เป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรค และเปิดตัวสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นผู้อำนวยการพรรค ก่อนจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน รองหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคยังเป็นของประเสริฐ จันทรรวงทอง[18] โดยในปีเดียวกันนั้นพรรคยังประกาศจุดยืนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112[19]

ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2566 เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค พร้อมกับรับทราบการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของ ทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ เหรัญญิกพรรค และนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรค เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566[20]

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พรรคเพื่อไทยได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนที่ชลน่าน ศรีแก้ว ที่ประกาศลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อคำพูดที่ตนหาเสียงไว้ โดยก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า แพทองธาร ชินวัตร จะเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนเลขาธิการพรรคจะเป็นของสรวงศ์ เทียนทอง บุตรชายของเสนาะ เทียนทอง และโฆษกพรรคเป็นของ ดนุพร ปุณณกันต์[21] และที่ประชุมมีมติเลือก แพทองธาร, สรวงศ์ และดนุพร ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามกระแสข่าว[22]

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2567 พรรคเพื่อไทยได้ย้ายที่ทำการพรรคมาอยู่ที่อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 เป็นการชั่วคราว ก่อนจะประกาศย้ายไปอยู่ที่เลขที่ 197 อาคารบีบีดี ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยเป็นที่ทำการของวอยซ์ทีวี เป็นที่ทำการพรรค โดยพรรคให้เหตุผลว่าเพื่อเลี่ยงการจราจรติดขัด[23][24] และพรรคได้ย้ายที่ทำการอย่างสมบูรณ์หลังจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการประชุมพรรคครั้งแรกที่จัดในอาคารดีบีดี อนุมัติให้บังคับใช้ข้อบังคับพรรคเพื่อไทยฉบับใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการย้ายที่ทำการพรรคข้างต้น[25]

ต่อมาเมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม พ.ศ. 2567 พรรคเพื่อไทยมีการสัมมนาโครงการเสริมศักยภาพ สส. และบุคลากรทางการเมือง ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวปิดการสัมมนา โดยมีสาระสำคัญคือการปรับภาพลักษณ์ของพรรคใหม่ โดยมีโครงการ "โอกาสเพื่อไทย" ย่อมาจาก "โอกาสเพื่อคนไทย" ที่พรรคต้องการมอบให้ประชาชน ผ่าน สส. ส่วนใหญ่ที่เป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่[26][27]

บทบาททางการเมือง

การสนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นนายกรัฐมนตรี

ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2551 พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน แข่งกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ โดย ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ กล่าวว่า การที่พรรคเสนอชื่อดังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถดึงพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมถึง สส.กลุ่มต่าง ๆ เข้าร่วมกับพรรคจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้การเมืองในประเทศที่มีปัญหา หากพรรคการเมืองใหญ่ 2 ขั้ว มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เป็นหัวหน้ารัฐบาลก็จะเกิดความขัดแย้งได้อีก แต่หากได้นายกรัฐมนตรีเป็นคนจากพรรคขนาดกลาง อาจจะทำให้เกิดความสงบสุข[28]

ผลปรากฏว่าอภิสิทธิ์ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียง 235 ต่อ 198 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง[29]

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครม.อภิสิทธิ์

พรรคเพื่อไทยมีมติยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ยังมีมติเสนอชื่อ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน สส.พรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีแทน[30] โดยรัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีและถอดถอน 5 คนคือ กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะพบประเด็นการบริหารที่ผิดพลาดและทุจริตประพฤติมิชอบ[31]

และในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ศ. 2553 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ สส.สัดส่วนของพรรคได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ ขณะเดียวกันที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ตัดสินใจไม่ร่วมอภิปราย อ้างว่าอยากให้มิ่งขวัญได้ทำหน้าที่ได้เต็มที่ และในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 158 กำหนดไว้ว่า ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย จึงเท่ากับว่าเขามีโอกาสที่จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แม้จะเป็นเพียงในขั้นตอนของกฎหมายก็ตาม[32] แต่ก็ไม่ได้ถูกเสนอชื่อในการเลือกตั้งครั้งที่เกิดขึ้นในปีถัดมา

การนำพรรคโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยได้ประกาศเปิดตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1[33] และเป็นผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

และผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงทั้งหมด 15,744,190 เสียง ทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 265 คน เกินกึ่งหนึ่งของสภา จึงได้เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล รวมจำนวน 6 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน, พรรคพลังชล, พรรคมหาชน[34] , และ พรรคประชาธิปไตยใหม่ และชัยชนะครั้งนี้ ส่งผลให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งประเทศไทยคนแรกในประวัติศาสตร์

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 พรรคเพื่อไทยได้ส่งยิ่งลักษณ์เป็นผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรค ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 อีกครั้ง แทนที่ข่าวลือว่าจะส่ง พงศ์เทพ เทพกาญจนา พร้อมกับนำสมาชิกอดีตพรรคไทยรักไทย และ พรรคพลังประชาชน ซึ่งพ้นจากการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย เช่น สมชาย วงศ์สวัสดิ์, ภูมิธรรม เวชยชัย, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นต้น[35] นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกจากกลุ่มมัชฌิมาที่ย้ายจากพรรคภูมิใจไทยกลับมาอยู่พรรค และพร้อมจะลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย เช่น สมศักดิ์ เทพสุทิน[36]

แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากการชุมนุมของ กปปส. และนำมาซึ่งรัฐประหารในปีเดียวกัน

การนำพรรคโดยสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคเพื่อไทยประกาศรายชื่อผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคทั้งหมด 3 คน ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, และ ชัยเกษม นิติสิริ

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศการเลือกตั้ง โดยใช้รูปแบบบัตรใบเดียว และเปลี่ยนสูตรคำนวณจากแบบเดิมที่เคยใช้กันมา ซึ่งจะมีผลให้พรรคใหญ่ได้จำนวน สส.น้อยลง พรรคเพื่อไทยจึงตัดสินใจใช้ยุทธการแตกแบงค์พัน กล่าวคือ สมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนย้ายไปจัดตั้งพรรคไทยรักษาชาติ โดยมี ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต สส.ขอนแก่น ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนักการเมืองที่ย้ายมา ล้วนเป็นระดับแกนนำของพรรคเพื่อไทย ด้วยกติกาการเลือกตั้งที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้พรรคขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติจึงมีหน้าที่เก็บคะแนนเขตที่เพื่อไทยแพ้เลือกตั้ง เพื่อนำคะแนนดิบไปแลกจำนวน สส.แบบบัญชีรายชื่อ[37] แต่จากการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ให้เป็นผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ จึงทำให้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบลง

และผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครไปเพียง 250 เขต จากทั้งหมด 350 เขต ได้คะแนนเสียงทั้งหมด 7,881,006 เสียง ทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 136 คน ซึ่งล้วนเป็น สส. แบบแบ่งเขต และไม่มี สส.แบบบัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว แต่ถึงอย่างนั้น พรรคเพื่อไทยก็ยังคงรักษาตำแหน่งพรรคอันดับหนึ่งไว้ได้[38] และได้รวมเสียงสมาชิกสภากับ พรรคอนาคตใหม่, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเศรษฐกิจใหม่, พรรคเพื่อชาติ และ พรรคพลังปวงชนไทย

และเนื่องจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และพรรคร่วมได้เคยประกาศจุดยืนไว้ว่า จะส่งผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่ง สส. เท่านั้น เพื่อรักษาจุดยืนในวิถีประชาธิปไตย และตอบโต้วิธีการของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งส่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ถูกเสนอชื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ลงสมัคร สส. ในนามของพรรค แต่เพราะผู้ได้รับเสนอชื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจาก 2 ใน 3 คนที่ได้ลงสมัครเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อนั้น ไม่มีคะแนนบัญชีรายชื่อในพรรค ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อตามที่คาดหวังไว้ได้ จึงทำให้พรรคร่วมทั้ง 7 พรรคมีมติเสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคและผู้ถูกเสนอชื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคอนาคตใหม่แทน [39] แต่ทว่าคนแนนเสียงของพรรคร่วมฝั่งประชาธิปไตย แพ้คะแนนเสียงของประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพ่วงคะแนนจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างขาดลอย ด้วยคะแนน 244 ต่อ 500 คะแนน

หลังการเลือกตั้ง

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามอิสระ โดยได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยตัดสินใจจะไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคเพื่อไปตัดคะแนนกัน อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่า สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคในขณะนั้น พยายามผลักดันให้ส่งผู้สมัคร[40]

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2563 มีรายงานว่า มีสมาชิกคนสำคัญของพรรคประกาศลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคหลายคน เช่น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่าสะท้อนภาพลักษณ์ไม่มีเอกภาพในพรรคเพื่อไทย อาจเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงปลายปีเดียวกัน[41]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 สุดารัตน์ลาออกจากพรรคเพื่อไทย โดยระบุเหตุผล 3 ประการ ได้แก่ 1. ความไม่ชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 2. มีการตั้งกรรมการและอนุกรรมการโดยกีดกันทีมของเธอ และ 3. การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่ไม่อนุญาตให้เธอลงพื้นที่ช่วยหาเสียง[42] ต่อมาเธอแยกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทย

การนำพรรคโดยแพทองธาร ชินวัตร

แพทองธาร ชินวัตร

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565 พรรคเพื่อไทยเปิดตัวโครงการ ครอบครัวเพื่อไทย โดยแต่งตั้งแพทองธาร ชินวัตร เป็น หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยนิยามว่า "ครอบครัวเพื่อไทย" เป็นแนวคิดที่พรรคต้องการแก้ปัญหาการปิดกั้นโอกาสการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน นอกจากนี้ยังกระตุ้นผู้สนับสนุนพรรคให้เลือกพรรคเพื่อไทยจนชนะขาดลอย (landslide) ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า[43] ทั้งนี้แพทองธารยังไม่รับว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่ยอมรับว่าทักษิณเป็นที่ปรึกษามาโดยตลอด[44] ในปีเดียวกัน ยังมีข่าวผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลโต้คารมกันในเรื่องของอุดมการณ์รวมถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้านชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า "สรุปตรงไปตรงมา พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย มีขีดจำกัดเพราะสู้ไปกราบไป พรรคอนาคตใหม่จึงต้องอุบัติขึ้นมา"[45] ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและบิดาของแพทองธาร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า แนวทางของพรรคเพื่อไทยเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสม ส่วนถ้าใครชอบแบบ "เอ็กซ์ตรีม" ให้เลือกพรรคก้าวไกล[46]

นอกจากนี้มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ หลังร่วมมือกันไม่เข้าร่วมประชุมจนส่งผลให้สูตรคำนวณ สส. บัญชีรายชื่อแบบ "สูตรหาร 500" ต้องตกไป และกลับไปใช้สูตรหาร 100 โดยปริยาย[47] ในเรื่องนี้นักการเมืองพรรคเพื่อไทยบางคนกล่าวหาพรรคก้าวไกลที่ไม่ใช่วิธีการไม่เข้าร่วมประชุมเช่นกันว่าต้องการสูตรหาร 500[48][49] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ว่าไม่ปิดช่องจับมือกับพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล หากยอมรับเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ 1. มีอุดมการณ์เช่นเดียวกัน 2. ไม่เลือกพรรคที่สนับสนุนเผด็จการ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี และ 3. การทำงานร่วมกัน โดยการเอานโยบายมาสอดประสานเป็นนโยบายรัฐบาล[50]

ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงทั้งหมด 10,962,522 เสียง ทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 141 คน แบบแบ่งเขต 112 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 29 คน อยู่ในอันดับ 2 ของการเลือกตั้ง รองจากพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียง 14,438,851 เสียง มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 151 คน และเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ที่พรรคไม่สามารถชนะคะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่งของการเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ ภายหลังการเลือกตั้ง แกนนำพรรคได้ประกาศจุดยืนสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคอับดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยได้เข้าร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจของพรรคก้าวไกล พร้อมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ 3 พรรค และพรรคที่ได้รับเลือกตั้งใหม่อีก 3 พรรค[51]

21 กรกฎาคม พรรคก้าวไกลประกาศมอบสิทธิ์ให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน หลังจากที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว และรัฐสภามีมติห้ามเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำในสมัยประชุมเดียวกัน โดยเลขาธิการพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน กล่าวว่ามีองคาพยพของกลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ[52] ต่อมาพรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี[53] และยกเลิกบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคก้าวไกลทำขึ้น[54]

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย[55] จากนั้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม มีพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทยเพิ่มอีก 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคพลังสังคมใหม่, และ พรรคท้องที่ไทย[56] จากนั้นมีพรรคที่ประกาศร่วมรัฐบาลเพื่อไทยเพิ่มคือ พรรคชาติพัฒนากล้า[57], พรรคชาติไทยพัฒนา[58], พรรครวมไทยสร้างชาติ[59] และพรรคพลังประชารัฐ ทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนพรรคเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ 314 คน[60]

ในวันที่ 22 สิงหาคม เศรษฐาได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้ 482 คะแนน จากจำนวนสมาชิกที่มาลงคะแนนทั้งหมด 728 คน[61] พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แทนที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา[62][63] โดยมีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการในช่วงเย็นของวันถัดมา ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย[64] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี[65] โดยมีสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยมากที่สุด คือ 17 คน 20 ที่นั่ง ซึ่งรวมถึงเศรษฐาที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม สองวันถัดมาหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยมีมติให้การสนับสนุนแพทองธาร หัวหน้าพรรค ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในการลงมติที่มีขึ้นในวันถัดมา[66][67] ซึ่งครอบครัวชินวัตรรับฟังความต้องการของ สส. พรรคเพื่อไทย และยินยอมให้พรรคเสนอชื่อเธอ[68]

มติที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เห็นชอบให้แพทองธารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31[69] พิธีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งเธอเป็นนายกรัฐมนตรีมีขึ้นสองวันถัดจากนั้นที่อาคารวอยซ์สเปซ[70]

บุคลากร

รายชื่อหัวหน้าพรรค

ลำดับ รูป ชื่อ เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 บัณจงศักดิ์ วงศ์รัตนวรรณ 20 กันยายน พ.ศ. 2550 20 กันยายน พ.ศ. 2551
2 สุชาติ ธาดาธำรงเวช 21 กันยายน พ.ศ. 2551 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
3 ยงยุทธ วิชัยดิษฐ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2551 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555
- วิโรจน์ เปาอินทร์
(รักษาการ)
8 ตุลาคม พ.ศ. 2555 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555
4 จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557[71]
- วิโรจน์ เปาอินทร์
(รักษาการ)
16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561
5 วิโรจน์ เปาอินทร์ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561[72] 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562[73]
- ปลอดประสพ สุรัสวดี
(รักษาการ)
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562[74] 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
6 สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562[75] 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564
7 ชลน่าน ศรีแก้ว 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564[76] 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566
- ชูศักดิ์ ศิรินิล
(รักษาการ)
30 สิงหาคม พ.ศ. 2566[77] 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566
8 แพทองธาร ชินวัตร 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ปัจจุบัน

รายชื่อเลขาธิการพรรค

ลำดับ รูป รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 โอฬาร กิจเลิศไพโรจน์ 20 กันยายน พ.ศ. 2550 20 กันยายน พ.ศ. 2551
2 สุณีย์ เหลืองวิจิตร 21 กันยายน พ.ศ. 2551 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
7 ธันวาคม พ.ศ. 2551 14 กันยายน พ.ศ. 2553
3 สุพล ฟองงาม 15 กันยายน พ.ศ. 2553 20 เมษายน พ.ศ. 2554
4 จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555
5 ภูมิธรรม เวชยชัย 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555[78] 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
6 อนุดิษฐ์ นาครทรรพ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562[79] 26 กันยายน พ.ศ. 2563[80]
7 ประเสริฐ จันทรรวงทอง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566
8 สรวงศ์ เทียนทอง 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ปัจจุบัน

กรรมการบริหารพรรค


กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย[81]
Pheu Thai Party Executive Committee

หัวหน้าพรรค
แพทองธาร ชินวัตร
รองหัวหน้าพรรค
ชูศักดิ์ ศิรินิล
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย
จิราพร สินธุไพร
พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ
เผ่าภูมิ โรจนสกุล
เลขาธิการพรรค
สรวงศ์ เทียนทอง
รองเลขาธิการพรรค
ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์
ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์
ศรัณย์ ทิมสุวรรณ
เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิกพรรค โฆษกพรรค
ทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์
ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช
ดนุพร ปุณณกันต์
กรรมการบริหารพรรค
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
วรวงศ์ วรปัญญา
พชร จันทรรวงทอง
นิกร โสมกลาง
ธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล
จเด็ศ จันทรา
พลนชชา จักรเพ็ชร
ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ
สรัสนันท์ อรรณนพพร

กลุ่มย่อยในพรรค

การเลือกตั้ง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยทั่วไป

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยที่นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง สามารถกวาดที่นั่ง สส. 265 คน ทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปกว่า 100 คน พร้อมกับคว้าคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งและสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 พรรคได้รับเลือกตั้งจำนวน 136 ที่นั่ง มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร แต่มิได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยได้เสนอแพทองธาร ชินวัตร บุตรคนสุดท้องของทักษิณ ชินวัตร[82], เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการของ บมจ.แสนสิริ[83] และชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม[84] เป็นบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไทยของพรรค โดยก่อนหน้านี้พรรคมีการทาบทาม สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ซึ่งก่อตั้งโดยทักษิณ ให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคด้วย แต่สมชัยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ว่ายังไม่สนใจงานการเมือง[85] กระทั่งวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566 ทางพรรคเพื่อไทยได้เปิดตัวบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไทยของพรรคทั้ง 3 คนดังกล่าวอย่างเป็นทางการ[86] ทั้งนี้มีเพียงชัยเกษมเท่านั้นที่ลงสมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อ[87]

ผลการเลือกตั้งทั่วไป

การเลือกตั้ง จำนวนที่นั่ง คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ที่นั่งเปลี่ยน สถานภาพพรรค ผู้นำเลือกตั้ง
2554
265 / 500
15,752,470 48.41% เพิ่มขึ้น 265 แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
2557 การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
2562
136 / 500
7,881,006 22.16% ลดลง 129 ฝ่ายค้าน สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
2566
141 / 500
10,962,522 27.74% เพิ่มขึ้น 5 แกนนำจัดตั้งรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร

เลือกตั้งซ่อม

เขตเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ผลการเลือกตั้ง
ร้อยเอ็ด เขต 3 26 เมษายน พ.ศ. 2552 นิรันดร์ นาเมืองรักษ์ 47,762 39.36% ไม่ พ่ายแพ้
สกลนคร เขต 3 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 อนุรักษ์ บุญศล 83,348 63.83%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
ศรีสะเกษ เขต 1 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552 สุรชาติ ชาญประดิษฐ์ 124,327 61.93%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
สุราษฎร์ธานี เขต 1 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552 สมพล วิชัยดิษฐ 24,601 16.78% ไม่ พ่ายแพ้
ปราจีนบุรี เขต 1 10 มกราคม พ.ศ. 2553 พลเอก สิทธิ สิทธิมงคล 69,440 ไม่ พ่ายแพ้
กรุงเทพมหานคร เขต 6 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ก่อแก้ว พิกุลทอง 81,776 45.32% ไม่ พ่ายแพ้
สุราษฎร์ธานี เขต 1 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553 วรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ 22,404 13.09% ไม่ พ่ายแพ้
กรุงเทพมหานคร เขต 2 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553 พงษ์พิสุทธิ์​ จินตโสภณ 30,506 29.48% ไม่ พ่ายแพ้
ขอนแก่น เขต 2 ปรีชาพล พงษ์พานิช 143,007 79.74%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
สุรินทร์ เขต 3 ปทิดา ตันติรัตนานนท์ 75,147 41.92% ไม่ พ่ายแพ้
พระนครศรีอยุธยา เขต 1 องอาจ วชิรพงศ์ 78,497 45.23% ไม่ พ่ายแพ้
นครราชสีมา เขต 6 อภิชา เลิศพชรกมล 63,487 42.37% ไม่ พ่ายแพ้
ปทุมธานี เขต 5 21 เมษายน พ.ศ. 2555 สมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ 24,255 45.98% ไม่ พ่ายแพ้
เชียงใหม่ เขต 3 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เกษม นิมมลรัตน์ 72,385 78.27%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
ลำพูน เขต 2 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555 รังสรรค์ มณีรัตน์ 72,778 60.47%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
ลพบุรี เขต 4 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 พหล วรปัญญา 49,146 56.13%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
เชียงใหม่ เขต 3 21 เมษายน พ.ศ. 2556 เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ 67,101 73.01%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
กรุงเทพมหานคร เขต 12 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ยุรนันท์ ภมรมนตรี 30,624 47.51% ไม่ พ่ายแพ้
ขอนแก่น เขต 7 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ธนิก มาสีพิทักษ์ 38,010 48.38% ไม่ พ่ายแพ้
กำแพงเพชร เขต 2 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กัมพล ปัญกุล 37,989 44.81% ไม่ พ่ายแพ้
สมุทรปราการ เขต 5 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563 สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ 21,540 22.05% ไม่ พ่ายแพ้
กรุงเทพมหานคร เขต 9 30 มกราคม พ.ศ. 2565 สุรชาติ เทียนทอง 29,416 34.81%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
พิษณุโลก เขต 1 15 กันยายน พ.ศ. 2567 จเด็ศ จันทรา 37,209 54.84%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง

การเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร

ภาพป้ายหาเสียงของยุรนันท์ ภมรมนตรี

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552 พรรคเพื่อไทยมีมติส่ง ยุรนันท์ ภมรมนตรี ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยยุรนันท์ได้รับหมายเลข 10[88][89] สำหรับผลการเลือกตั้ง ยุรนันท์ได้รับ 611,669 คะแนน เป็นอันดับที่ 2[90]

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 พรรคเพื่อไทยมีมติส่ง พงศพัศ พงษ์เจริญ ลงสมัครชิงตำแหน่ง โดยในการเลือกตั้ง พงศพัศได้รับหมายเลข 9 สำหรับผลการเลือกตั้ง พงศพัศได้รับ 1,077,899 คะแนน เป็นอันดับที่ 2

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 พรรคเพื่อไทยมีมติไม่ส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้เสมือนมีตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยที่อาสาสมัครลงแข่งขันผู้ว่าฯ กทม. อยู่แล้ว (สื่อถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเมื่อปี พ.ศ. 2562 ซึ่งลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะนักการเมืองอิสระ) หากพรรคส่งผู้สมัครในนามพรรคจะทำให้เป็นการตัดคะแนนกันเอง จึงตัดสินใจไม่ส่งตัวแทน แต่ยังคงส่งผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ในนามพรรคทั้ง 50 เขตเช่นเดิม เพื่อทำงานร่วมกับชัชชาติ[91]

ป้ายหาเสียงของชัชชาติชิ้นหนึ่งในเขตบางบอน

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

การเลือกตั้ง ผู้สมัคร คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ผลการเลือกตั้ง
2552 ยุรนันท์ ภมรมนตรี 611,669 29.72% ไม่ พ่ายแพ้
2556 พงศพัศ พงษ์เจริญ 1,077,899 40.97% ไม่ พ่ายแพ้
2565 ไม่ส่งผู้สมัคร (สนับสนุน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ลงสมัครในฐานะนักการเมืองอิสระแทน)

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.)

การเลือกตั้ง จำนวนที่นั่ง คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ที่นั่งเปลี่ยน ผลการเลือกตั้ง
2553
14 / 61
เพิ่มขึ้น14 เสียงข้างน้อย
2565
21 / 50
620,009 26.77% เพิ่มขึ้น7 เสียงข้างมากร่วมกับพรรคก้าวไกล

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (สข.)

การเลือกตั้ง จำนวนที่นั่ง คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ที่นั่งเปลี่ยน ผลการเลือกตั้ง
2553
65 / 361
เพิ่มขึ้น65 เสียงข้างน้อย

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2563 พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครในนามของพรรคอย่างเป็นทางการ 25 จังหวัด ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 9 จังหวัด[92]

ภายหลังมีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ทำให้ตอนนี้มีนายกฯ อบจ.สังกัดพรรคเพื่อไทยรวมทั้งสิ้น 11 คน

3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค เปิดตัวผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในนามของพรรค 9 คน โดยมี 4 คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้ และหนึ่งในผู้สมัครของพรรคนั้น คือ อัครา พรหมเผ่า น้องชายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งปัจจุบันกำลังดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา[93]


ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดของพรรคเพื่อไทย
จังหวัด นาม หมายเหตุ ปีที่ลงเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้ง
กาฬสินธุ์ เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล บุตรสาว ยงยุทธ หล่อตระกูล
อดีตนายก อบจ.กาฬสินธุ์
2563 ไม่ พ่ายแพ้
2565  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
ชัยภูมิ สุชีพ เศวตกมล 2563 ไม่ พ่ายแพ้
เชียงราย สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภรรยา ยงยุทธ ติยะไพรัช 2555  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2568
บุศริณธญ์ วรพัฒนานันน์ อดีต สว.เชียงราย (2543-2549) 2557  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สส.เชียงราย 2563 ไม่ พ่ายแพ้
เชียงใหม่ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีต สว.เชียงใหม่ (2551-2557) 2563  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2568
นครนายก สิทธิชัย กิตติธเนศวร อดีต สส.นครนายก 2563 ไม่ พ่ายแพ้
นครปฐม วินัย วิจิตรโสภณ 2563 ไม่ พ่ายแพ้
นครพนม ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ หลานสาวพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ 2555 ไม่ พ่ายแพ้
สมชอบ นิติพจน์ อดีตนายก อบจ.นครพนม (2551-2563) 2563 ไม่ พ่ายแพ้
อนุชิต หงษาดี อดีตนายก อบต.โพนสวรรค์ 2568
นครราชสีมา ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา (2563-2567) 2568
น่าน นพรัตน์ ถาวงศ์ 2563  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2568
บึงกาฬ ว่าที่ร้อยตรี ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น 2568
ปทุมธานี ชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายก อบจ.ปทุมธานี (2547-2563) มิถุนายน 2567 ใบเหลือง ()
กันยายน 2567 ไม่ พ่ายแพ้
ประจวบคีรีขันธ์ วิชิต ปลั่งศรีสกุล อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย 2563 ไม่ พ่ายแพ้
ปราจีนบุรี เกียรติกร พากเพียรศิลป์ อดีต สส.ปราจีนบุรี (2550-2552) 2563 ไม่ พ่ายแพ้
ณภาภัช อัญชสาณิชมน อดีตรองประธานสภา อบจ.ปราจีนบุรี 2568
พะเยา อัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ.พะเยา (2563-2567) (ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง)
ธวัช สุทธวงค์ อดีตรองนายก อบจ.พะเยา 2567  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
แพร่ อนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่ (2550-ปัจจุบัน) 2563  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2568
มหาสารคาม ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต สว.มหาสารคาม (2543-2549) 2563 ไม่ พ่ายแพ้
พลพัฒน์ จรัสเสถียร น้องชาย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร 2568
มุกดาหาร จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ อดีต สว.มุกดาหาร (2551-2557) 2563  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
บุญฐิน ประทุมลี อดีต สส.มุกดาหาร เขต 2 (2554-2566) 2568
ยโสธร วิเชียร สมวงศ์ นายก อบจ.ยโสธร (2563-ปัจจุบัน) 2563  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2567  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
ร้อยเอ็ด มังกร ยนต์ตระกูล อดีต สส.ร้อยเอ็ด 2563 ไม่ พ่ายแพ้
เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ อดีต สส.ร้อยเอ็ด 2565  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
ระยอง เกรียงไกร กิ่งทอง 2563 ไม่ พ่ายแพ้
ลำปาง ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายก อบจ.ลำปาง (2563-ปัจจุบัน) 2563  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2568
ลำพูน อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีต สส.ลำพูน 2563  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2568
ศรีสะเกษ วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ อดีต สส.ศรีสะเกษ เขต 3 2568
สกลนคร ชูพงศ์ คำจวง 2555 ไม่ พ่ายแพ้
2563  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
นฤมล สัพโส ภรรยาของ พัฒนา สัพโส 2568
สมุทรสงคราม ธนวุฒิ โมทย์วารีศรี 2563 ไม่ พ่ายแพ้
สมุทรสาคร เชาวรินทร์ ชาญสายชล 2563 ไม่ พ่ายแพ้
สิงห์บุรี สุรสาล ผาสุข อดีต สส.สิงห์บุรี (2554-2556) 2563 ไม่ พ่ายแพ้
สุโขทัย มนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย
(2547-2554, 2563-ปัจจุบัน)
2567  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
สุพรรณบุรี พลตรี เทียมศักดิ์ สุขานุยุทธ 2563 ไม่ พ่ายแพ้
หนองคาย ธนพล ไลละวิทย์มงคล 2563 ไม่ พ่ายแพ้
วุฒิไกร ช่างเหล็ก 2568
หนองบัวลำภู วิชัย สามิตร 2563 ไม่ พ่ายแพ้
อำนาจเจริญ ดะนัย มะหิพันธ์ อดีต สส.อำนาจเจริญ เขต 2 2568
อุดรธานี ประสพ บุษราคัม อดีต สส.อุดรธานี (ถอนตัว ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ)[94]
วิเชียร ขาวขำ อดีต สส.อุดรธานี 2555  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2563  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส.อุดรธานี 2567  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
อุบลราชธานี กานต์ กัลป์ตินันท์ น้องชาย เกรียง กัลป์ตินันท์ 2563  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2567  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง

กิจกรรมอื่น ๆ ของพรรค

เพื่อไทยพลัส

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 พรรคได้เปิด "สถาบันเยาวชนเพื่อไทย" โดยแต่งตั้งให้ ณหทัย ทิวไผ่งาม เป็นผู้อำนวยการสถาบัน[95] ต่อมาได้มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อไทยพลัส (เพื่อไทยPLUS+) โดยถูกวางกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างพื้นที่การเมืองของคนรุ่นใหม่ สู้กับอดีตพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกลในภายหลัง โดยจัดกิจกรรมทางการเมืองเป็นระยะ อาทิ จัดเสวนาเพื่อไทยพลัสยุคใหม่ แข็งแกร่งกว่าเดิม โครงการเพื่อไทยยุคใหม่แข็งแกร่งเข้าถึงประชาชน โครงการอีสปอร์ตที่จะนำเสนอทิศทางในประเทศไทย และรายการเพื่อไทยพลัสออนไลน์ เสนอบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

กระทั่งในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 มีการยุติกลุ่มเพื่อไทยพลัส และมีกลุ่มใหม่เข้ามาแทนที่ คือ “คณะทำงานเยาวชนและคนรุ่นใหม่” เพื่อเป็นที่รวมตัวของคนรุ่นใหม่ในพรรค และอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ โดยมี จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน โครงสร้างการทำงานจะขึ้นตรง และรับคำสั่งจากคณะกรรมการบริหารพรรค[96]

CARE คิดเคลื่อนไทย

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563 มีการจัดตั้งกลุ่มการเมือง "CARE คิดเคลื่อนไทย" ที่วางแผนที่จะแยกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทย เพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยมี 7 สมาชิกเริ่มต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนักการเมืองที่เคยทำงานร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในยุคของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร มาแล้วทั้งสิ้น[97] ประกอบด้วย

โดยสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ให้สัมภาษณ์ถึงการขับเคลื่อนกลุ่มแคร์ หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการว่า การทำงานของกลุ่มไม่ใช่ลักษณะแบบพรรคการเมือง โดยจะเน้นเรื่องประชาสังคมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม แต่การขับเคลื่อนสังคมที่ผ่านมาจะเน้นประเด็นเฉพาะเรื่อง มองว่าจุดอ่อนการทำงานแบบเดิมคือ ไม่สามารถเห็นภาพรวม ทำให้ข้อเสนอต่างๆ ไม่รอบด้าน แต่การทำงานของกลุ่มแคร์ จะคิดในองค์รวม โดยไม่จำกัดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่คิดทุกเรื่องที่เป็นองค์ประกอบของสังคม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การกระจายอำนาจ การลดความเหลื่อมล้ำ จะไม่ใช่แค่คิดแล้วเสนอ แต่ต้องขับเคลื่อน ใช้เครือข่ายมาเชื่อมโยงการขับเคลื่อนเกื้อหนุนการทำงานกัน ไม่มีลำดับชั้น ทุกคนต้องมาฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และต้องครอบคลุมเครือข่ายทั้งประเทศ

การดำเนินการของกลุ่มแคร์นั้น นอกจากจะใช้โซเชียลมีเดียแล้ว ยังมีการใช้ระบบถ่ายทอดสดผ่านยูทูปและคลับเฮาส์ โดยมีแขกรับเชิญคนสำคัญอย่างอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มาร่วมรายการอยู่บ่อยครั้ง

ภายหลังการเปิดตัวได้มีการวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทย ซึ่งดำเนินโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลักษณะว่าไม่ใช่พรรคที่เป็นความหวังของประชาชนอีกแล้ว ทั้งยังจะเป็นพรรคต่ำร้อย[98]

แต่ภายหลังจากที่มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 กลุ่ม CARE ได้รับเชิญให้กลับมาร่วมทำงานกับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง[99]

ครอบครัวเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565 พรรคเพื่อไทยเปิดตัวโครงการ “ครอบครัวเพื่อไทย : บ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม” ซึ่งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยออกแบบมาเพื่อลดข้อกำหนดทางกฎหมาย ให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างแท้จริง มีการเปิดรับให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกครอบครัวเพื่อไทยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องการให้สมาชิกครอบครัวเพื่อไทยที่ได้กระจัดกระจายไปก่อนหน้านี้ได้กลับมารวมตัวกัน โดยมอบหมายให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย[100]

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 มีการจัดงาน “ครอบครัวเพื่อไทย ต้อนรับ ‘เขา’ กลับบ้าน” เพื่อต้อนรับณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กลับมาเป็นร่วมงานทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย โดยณัฐวุฒิเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เพื่อเป็นบุคลากรหลักในการทำกิจกรรมที่จัดขึ้นในนามครอบครัวเพื่อไทย[101] จากนั้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ให้คำปรึกษาแก่หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย คณะทำงานของพรรคที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าว และดำเนินการอื่นใดตามที่หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยมอบหมาย[102]

หลังจากพรรคเพื่อไทยนำพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมรัฐบาล ณัฐวุฒิได้ประกาศยุติบทบาทผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566[103]

ข้อวิจารณ์

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม

ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557

การเมืองไทยประวัติศาสตร์ไทย

วรชัย เหมะ และ นิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับ นปช. เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... (ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติวาระแรกในเดือนสิงหาคม 2556[104] ต่อมาในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ได้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมีบุคคลสำคัญ เช่น ถาวร เสนเนียม, สนธิ บุญยรัตนกลิน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น[105]

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการพิจารณา 35 คน ซึ่งจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมายังสภาฯ เพื่อพิจารณาในวาระสองและสาม คณะกรรมาธิการส่งร่างกฎหมายที่ได้รับการทบทวนแล้วเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556[106] ร่างกฎหมายดังกล่าวเปลี่ยนจากเดิมที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะแก่ผู้ชุมนุม ไม่รวมถึงแกนนำการชุมนุม และผู้สั่งการ ซึ่งรวมถึงผู้นำรัฐบาลและทหาร เป็น "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" ซึ่งรวมการนิรโทษกรรมให้ทั้งแกนนำการชุมนุม และผู้สั่งการด้วย ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 ความผิดที่จะได้รับนิรโทษกรรมนี้รวมข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงของทักษิณ ตลอดจนข้อกล่าวหาฆ่าคนของอภิสิทธิ์และสุเทพด้วย ต่อมา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 นาย นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาได้มีมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ 141 เสียง ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ถูกยับยั้งไว้ 180 วัน[107]

พรรคเพื่อไทยมีมติขับ สส.ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค 2 ราย[108] ได้แก่

  1. ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ อดีต สส.อุตรดิตถ์ ที่มีพฤติการณ์พูดกล่าวร้าย ทำให้พรรคเกิดความเสื่อมเสีย (ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อชาติ และพรรครวมไทยสร้างชาติตามลำดับ)
  2. พรพิมล ธรรมสาร อดีต สส.ปทุมธานี เหตุเพราะช่วงปี พ.ศ. 2562 - 2564 พรพิมลไม่เคยร่วมประชุมและทำกิจกรรมพรรค รวมถึงโหวตสวนมติพรรคตลอด (ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย)

การกระทำของสมาชิกและ สส. ของพรรค

6 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต นวัธ เตาะเจริญสุข สส.ขอนแก่นในขณะนั้น ข้อหาจ้างวานฆ่านายสุชาติ โคตรทุม อดีตปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2556 ก่อนจะลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตในเวลาต่อมา ส่งผลให้สมาชิกภาพ สส. ของนวัธสิ้นสุดทันที[109] และมีการจัดเลือกตั้งซ่อมในเวลาต่อมา

4 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งได้แสดงตนออกมาว่า ตนเคยถูกมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการใน คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรไทย (รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปทุมธานี ทำร้ายร่างกายเมื่อปี พ.ศ. 2549 จนเป็นผู้ป่วยติดเตียงเป็นเวลา 2 ปี และมีแผลเป็นบริเวณกะโหลกที่ยุบตัวจนถึงปัจจุบัน[110] นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2565 มนัสนันท์ก็มีคดีทำร้ายร่างกายภรรยาพนักงานขับรถเทศบาลตำบลธัญบุรี จนกระดูกแขนแตก โดยผู้เสียหายแจ้งว่าอีกฝ่ายไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น มีเพียงแค่โทรศัพท์มาขอโทษเท่านั้น[111] ในเวลาต่อมา มนัสนันท์ได้ออกมาชี้แจง และยอมรับว่าตนได้กระทำจริง โดยคดีแรกได้รับโทษจากสถานพินิจจนครบกำหนดแล้ว ส่วนคดีที่สองชี้แจงว่าเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งตนเองไม่มีเจตนาทำร้ายหญิงผู้เสียหาย หลังเกิดเหตุได้ยอมรับผิดและชดใช้ค่าเสียหาย รวมไปถึงศาลได้มีคำพิพากษาให้รอการลงโทษ และคดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า ประเด็นของตนได้มีการเผยแพร่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องของการหวังผลทางการเมือง เพื่อต้องการทำลายคะแนนนิยมของตนหรือไม่ ซึ่งข่าวที่กล่าวมาข้างต้นทำให้พรรคเพื่อไทยถูกตั้งคำถามว่า มีมาตรฐานคัดผู้สมัครอย่างไร ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคในขณะนั้น ออกมาแถลงว่า เข้าใจในความรู้สึกของคู่กรณี แต่เรื่องผู้สมัครของพรรคได้โพสต์แสดงความรับผิดชอบ ความรู้สึก ขอโทษในเหตุการณ์ที่ผ่านมา เรื่องนี้ตนคิดว่าประชาชนให้อภัย ขณะที่เป็น สจ.ก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนพรรคได้คัดเลือกให้เป็นผู้สมัคร ฉะนั้นพรรคมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวไม่กระทบการเลือกตั้ง[112]

คำร้องคัดค้านการเป็น สส.

15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 มีเอกสารที่นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ครั้งที่ 1 ปรากฏว่ามี ว่าที่ สส.ที่ประกาศผลรับรอง 329 คน ขณะที่มี 71 เขต ที่มีเรื่องร้องคัดค้าน มีรายงานว่า เอกสารดังกล่าวอาจเป็นเอกสารสรุปของฝ่ายปฏิบัติการ แจ้งเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ที่ยังไม่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม กกต.[113] โดยพรรคเพื่อไทยถูกร้องคัดค้านทั้งสิ้น 20 คน ซึ่งถือเป็นอันดับสองรองลงมาจากพรรคภูมิใจไทย โดยมีดังนี้

ลำดับ รายชื่อ สส. เขตที่ลงเลือกตั้ง ข้อกล่าวหา สถานะปัจจุบัน
1 อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ กาญจนบุรี เขต 1 ยังดำรงตำแหน่ง
2 ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี เขต 4 ยังดำรงตำแหน่ง
3 ศักดิ์ชาย ตันเจริญ ฉะเชิงเทรา เขต 3 ใช้อาชีพพิธีกรของ คชาภา ตันเจริญ พี่ชายของตน
ปราศรัยหาเสียงเอื้อประโยชน์ จูงใจคนลงคะแนนเลือกตั้ง
ยังดำรงตำแหน่ง
(ยกคำร้อง)[114]
4 ศิวะ พงศ์ธีระดุลย์ ชัยภูมิ เขต 5 ยังดำรงตำแหน่ง
5 ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม เขต 1 ยังดำรงตำแหน่ง
6 มนพร เจริญศรี นครพนม เขต 2 ยังดำรงตำแหน่ง
7 สมเกียรติ ตันดิลกตระกูล นครราชสีมา เขต 5 ยังดำรงตำแหน่ง
8 อภิชา เลิศพชรกมล นครราชสีมา เขต 10 ยังดำรงตำแหน่ง
9 นรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา เขต 12 ยังดำรงตำแหน่ง
10 ไชยวัฒนา ติณรัตน์ มหาสารคาม เขต 2 ยังดำรงตำแหน่ง
11 เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย เขต 1 ยังดำรงตำแหน่ง
12 ศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย เขต 2 ยังดำรงตำแหน่ง
13 สมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ เลย เขต 4 ยังดำรงตำแหน่ง
14 ธเนศ เครือรัตน์ ศรีสะเกษ เขต 1 ยังดำรงตำแหน่ง
15 สุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ เขต 2 ยังดำรงตำแหน่ง
16 วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี เขต 1 ยังดำรงตำแหน่ง
17 กิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี เขต 4 ยังดำรงตำแหน่ง
18 สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี เขต 7 ยังดำรงตำแหน่ง
19 พัฒนา สัพโส สกลนคร เขต 4 โพสต์หาเสียงเกินเวลาในเฟซบุ๊ก[115] ยังดำรงตำแหน่ง
20 สรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว เขต 3 ยังดำรงตำแหน่ง

แต่ถึงกระนั้น กกต. ก็ประกาศรับรอง สส. ทั้ง 500 คนก่อน โดยได้ชี้แจงว่าจะดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง

การตระบัดสัตย์

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยพร้อมกับพรรคการเมืองอีก 10 พรรคจำนวน 314 เสียงได้แถลงข่าวร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่รัฐสภา พร้อมเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคต่อรัฐสภาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 ในวันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566[116] ซึ่งในพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งนี้ นอกจากจะมีพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกวิจารณ์การเรื่องควบคุมสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในระดับที่ไม่เป็นที่พอใจ และเคยถูกพรรคเพื่อไทยโจมตีด้วยการจัดแคมเปญ "ไล่หนูตีงูเห่า" ในภาคอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565[117] แล้ว ยังมีพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กระทำการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นอีกด้วย

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้มีแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยติดเทรนด์ในเอ็กซ์ เช่น #เพื่อไทยตระบัดสัตย์ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว[118] และ #ชลน่านลาออกกี่โมง เพื่อเรียกร้องให้นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ลาออกจากหัวหน้าพรรคหลังจากเคยประกาศเมื่อตอนหาเสียงว่าจะลาออกหากจับมือกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ[119] ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ที่นิยมชมชอบพรรคเพื่อไทยและสมาชิก นปช. จำนวนหนึ่ง ออกมาเทของ[120] และทำลายของสะสมที่เกี่ยวข้องกับ นปช.[121] และมีการประท้วงจากกลุ่มผู้ชุมนุมทะลุวังที่หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย โดยการสาดเลือดหมู จุดไฟเผาหุ่น[122]

นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคเพื่อไทยยกเลิกบันทึกความเข้าใจจัดตั้งรัฐบาลที่ทำร่วมกับพรรคก้าวไกล แล้วนำพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลแทน ได้ทยอยยุติการร่วมงานทางการเมืองกับพรรค ดังนี้

  • ธีรชัย ระวิวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Care และผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม เหตุเพราะมีความรู้สึกไม่ดีกับการตัดสินใจของพรรคที่เลือกแยกทางกับพรรคก้าวไกล
  • พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยงานกฎหมายให้กับพรรค ได้แจ้งลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม โดยเขาเป็นสมาชิกพรรคมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 รวมเป็นระยะเวลา 10 ปี[123]
  • ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศของพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ประกาศว่าแนวทางที่พรรคเพื่อไทยเลือก เป็นแนวทางที่ตนไม่สามารถร่วมช่วยเหลือหรือผลักดันอะไรได้ จึงลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม[124]
  • ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ช่วยหาเสียง จากการปราศรัยโจมตี 2 พรรคดังกล่าวในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ประกาศยุติบทบาทผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย และไม่ร่วมงานทางการเมืองกับพรรคและรัฐบาล ในรายการ "กรรมกรข่าวคุยนอกจอ" ของสรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม[103]
  • ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส. เชียงใหม่ของพรรค ซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากการถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จับกุมตัวระหว่างการรณรงค์ให้ประชาชนกาบัตรออกเสียงไม่เห็นชอบในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2559 ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม วันเดียวกับที่ณัฐวุฒิประกาศยุติบทบาท[125]

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.00 น. นายแพทย์ชลน่าน ได้แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบตามที่เคยประกาศไว้ ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลือพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่ยังรักษาการคณะกรรมการบริหารพรรคต่อไป ยกเว้นหัวหน้าพรรค ที่คณะกรรมการบริหารพรรคได้มีมติแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค ขึ้นรักษาการหัวหน้าพรรคแทน[77] และกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการพ้นจากตำแหน่งหลังจากการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เชิญพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล

แม้จะมีความขัดแย้งร่วมกันมานับยี่สิบปี ตั้งแต่การเป็นคู่ตรงข้ามกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร สมัยพรรคไทยรักไทย และยังคงมีความขัดแย้งร่วมกันมา ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำบาตรการเลือกตั้งสองหน (พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557), การตั้ง กปปส. เพื่อขับไล่รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเป็นต้นเหตุให้เกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เป็นต้น

แต่หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 มีสัญญาณจาก สส.ในพรรคบางกลุ่ม ที่มีความประสงค์จะร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เริ่มตั้งแต่การลงมติเห็นชอบให้ เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้มติพรรคจะให้งดออกเสียง

วันที่ 28 สิงหาคม สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์เพื่อส่งหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่ามีอุดมการณ์ร่วมกัน [126] เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความขัดแย้งใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่ความรักความเข้าใจและการให้อภัยกับพรรคเพื่อไทย ส่วนการพูดคุยกับผู้สนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วกับวันนี้ สถานการณ์ทางการเมืองไม่เหมือนกัน ปัญหาของประเทศก็ไม่เหมือนกัน รวมถึงแนวคิดในการพัฒนาประเทศก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ทั้งสองพรรคเข้ากันได้และเดินหน้าไปด้วยกันถือเป็นสิ่งที่ดีงาม[127]

นอกจากนี้ยังมีอดีตแกนนำ นปช. ให้การสนับสนุนวาระดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น วรชัย เหมะ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า ตนมองว่าเป็นความจำเป็น เพราะด้วยเงื่อนไขสถานการณ์และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะให้คนตั้งรัฐบาลทำอย่างไร ถึงจะบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ในยุคของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สลายม็อบคนเสื้อแดง แต่ตนมองว่านายอภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่พรรคประชาธิปัตย์แล้ว และพรรคในวันนี้เป็นคนรุ่นใหม่ผลัดใบ เป็นคนละกลุ่มกับแกนนำรุ่นเก่า อีกทั้ง เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคในปัจจุบัน ไม่มีส่วนร่วมในการสลายม็อบคนเสื้อแดง แม้จะมีความรู้สึกถึงการสลายม็อบ 99 ศพ รวมถึงความเจ็บปวดของคนเสื้อแดง แต่เราต้องแยกคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ และต้องเห็นใจรัฐบาล ที่ต้องเพิ่มเสียงเพื่อความมั่นคง[128] และยังมี ก่อแก้ว พิกุลทอง ที่แสดงความเห็นด้วย[129]

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับอดีต สส.ของพรรค เช่น ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.เชียงใหม่ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน แสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ว่า "ปี 53 ที่ตายนั่นเค้าคือ มนุษย์ นะคะ"[130] รวมถึงยังมีการวิพากษ์วิจารณ์จากอดีตประธานและแกนนำ นปช. ที่เป็นฝ่ายคัดค้านถึง 3 คน เช่น นพ.เหวง โตจิราการ, ธิดา ถาวรเศรษฐ และ จตุพร พรหมพันธุ์

การครอบงำพรรคโดยทักษิณ

จากการที่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรียกรักษาการรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 ที่เหลืออยู่หลังการถอดถอนเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันเดียวกัน[131] รวมถึงแกนนำจากพรรคการเมืองหลักของฝ่ายรัฐบาลที่มีสมาชิกพรรคเป็นรัฐมนตรี ซึ่งมีจำนวน 6 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาชาติ เข้าพบที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อประชุมเรื่องการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในการลงมติในอีกสองวันถัดมา[132] ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคการเมืองเหล่านี้ถูกทักษิณครอบงำ

เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2567 นพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองจำนวน 6 พรรคดังกล่าว โดยระบุว่า การเดินทางเข้าพบทักษิณของแกนนำทั้ง 6 พรรค เป็นการยินยอมให้ทักษิณซึ่งเป็นบุคคลนอกพรรคครอบงำการดำเนินงานของพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 21, 28, 29 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)[133]

การแยกไปตั้งพรรค

พรรคเพื่อไทยเคยมีสมาชิกพรรคที่ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือย้ายไปเป็นกรรมการบริหารพรรค โดยมีดังนี้

พรรคการเมืองที่แยกจากเพื่อไทย เพื่อแก้ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 มีดังนี้[134]

หมายเหตุ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. ""คิดใหญ่ ทำเป็น" พท. เปิด 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท – จบป.ตรี 25,000 บาท". workpointTODAY. 2022-12-06. สืบค้นเมื่อ 2022-12-07.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. ""อ้อเล็ก" โผล่คุมงานเยาวชนเพื่อไทย "ปู-โอ๊ค-อ้วน" รับบทกุนซือ". 24 October 2013.
  3. "พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญวัยใส เปิดตัวสถาบันเยาวชนเพื่อไทย".
  4. เพื่อไทย–กลุ่มแคร์ สั่ง ยุติบทบาท “เพื่อไทยพลัส” ยุค “เจ๊หน่อย”
  5. "ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567" (PDF). 30 June 2024.
  6. Phongpaichit, Pasuk; Baker, Chris (2009). Thaksin (Second ed.). Silkworm Books. pp. 115–123.
  7. 7.0 7.1 "Major players in Thailand's election".
  8. Boris Sullivan (5 June 2011). "Is Thaksin's Pheu Thai a Populist Party?". Thailand Business News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
  9. "Thailand's main political parties". AlJazeera. 2 July 2011.
  10. Peter Warr (20 September 2011). "'Thaksinomics' and Thai Populism Redux". Global Asia. 6 (3).
  11. Pichayada Promchertchoo (2023-08-17). "She added that the shift in Pheu Thai's political image towards the right wing has brought its conservative nature into focus, thus breaking its facade falsely perceived by some voters as leftist..." CNAasia.
  12. "Historical rulings unfold". The Nation (Thailand). Bangkok. 30 May 2007.
  13. "The Constitutional Tribunal disbands Thai Rak Thai". The Nation (Thailand). Bangkok. 30 May 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2016.
  14. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคเพื่อไทย
  15. "ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค ข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  16. "ย้อนรอยหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก่อนพบคนใหม่ ในยุค ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน". plus.thairath.co.th.
  17. ""เพื่อไทย"ปรับโลโก้พรรคใหม่ ใช้อักษรแบบมีหัว". posttoday. 2020-09-28.
  18. เปิดรายชื่อ 23 กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่
  19. "Thai opposition party seeks review of security laws after protest arrests". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 1 November 2021. สืบค้นเมื่อ 2 November 2021.
  20. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
  21. 'เพื่อไทย'ยุค 'แพทองธาร' 'สรวงศ์'เลขาฯ-'ดนุพร'โฆษก
  22. มติเพื่อไทย เลือก "แพทองธาร" หัวหน้าพรรคคนใหม่
  23. "วิสุทธิ์ ยอมรับ ย้ายที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพราะปรับฮวงจุ้ย ส.ส.แฮปปี้กว่าอยู่ที่เดิม". มติชน. 14 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. "ย้ายที่ทำการ!! เพื่อไทย เล็งเปลี่ยนใช้ตึก อดีต วอยซ์ทีวี แทนตึก OAI หนีรถติด". มติชน. 13 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. "ประเดิมที่ทำการพรรคใหม่ เพื่อไทยจัดประชุมใหญ่ประจำปี". เดอะสแตนดาร์ด. 19 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  26. "พรรคเพื่อไทย เปิดแบรนดิ้งใหม่ 'โอกาสเพื่อไทย' ปลุกใจ สส. ยึดมั่นอุดมการณ์ ย้ำ". THE STANDARD. 2024-12-14.
  27. "เพื่อไทย เตรียมรีแบรนดิ้งพรรคใหม่ "โอกาสเพื่อไทย" มั่นใจกลับมายิ่งใหญ่อันดับหนึ่ง". www.thairath.co.th. 2024-12-14.
  28. "หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอ"ประชา"เป็นนายกฯหวังดึง". ryt9.com.
  29. "ด่วน !! "อภิสิทธิ์" ได้รับโหวตนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 27". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-28. สืบค้นเมื่อ 2009-06-07.
  30. พรรคเพื่อไทยมีมติส่งเฉลิมชิงเก้าอี้นายกฯ เดินยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ
  31. "เพื่อไทยมีมติยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ5รมต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-10. สืบค้นเมื่อ 2009-06-07.
  32. "ย้อนอดีต "มิ่งขวัญ" เฉียดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเพื่อไทย". workpointTODAY.
  33. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
  34. "ปูจับมือ4พรรคตั้งรัฐบาล". Post Today.
  35. "เปิดโผ 125 ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย". www.thairath.co.th. 2013-12-23.
  36. "'สมศักดิ์ เทพสุทิน'นำกลุ่ม'มัชฌิมา'10 คน สมัครสมาชิกพท.แล้ว". www.thairath.co.th. 2013-12-17.
  37. "กลยุทธ์! เพื่อไทย –ไทยรักษาชาติ แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แก้เกมรัฐธรรมนูญ". pptvhd36.com. 2018-11-27.
  38. "กกต. แถลงผลเลือกตั้ง 100% คะแนนมหาชนของ พปชร. พุ่งเป็น 8.4 ล้านเสียง". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-07-16.
  39. "สุดารัตน์ ประกาศ "จะไม่รับตำแหน่งใด ๆ ทั้งสิ้น"". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-07-16.
  40. "ชัชชาติ ประกาศชิงผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ยกเหตุผล "ประชาชนเบื่อความขัดแย้ง"". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 27 May 2022.
  41. "รอยปริร้าวลึก ท่อน้ำเลี้ยงชะงัก สัญญาณ "เพื่อไทย" วงแตก ปรับทัพอาณาจักรทักษิณ". ไทยรัฐ. 26 September 2020. สืบค้นเมื่อ 26 September 2020.
  42. "คุณหญิงสุดารัตน์ เปิด 3 เหตุผล ลาออกจากพรรคเพื่อไทยทุกตำแหน่ง". ประชาชาติธุรกิจ. 30 November 2020. สืบค้นเมื่อ 27 May 2022.
  43. ""เพื่อไทย" ตั้ง "แพทองธาร" เป็น "หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย" ลั่นสมัยหน้าต้องตั้ง รบ.ให้ได้". ผู้จัดการออนไลน์. 20 March 2022. สืบค้นเมื่อ 27 May 2022.
  44. ""อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร" ยังเลี่ยงตอบสื่อปมแคนดิเดต พท. รับ "ทักษิณ" ให้คำปรึกษามาตลอด". ไทยรัฐ. 8 May 2022. สืบค้นเมื่อ 31 August 2022.
  45. "ศึกชิงแดง "พิธา" ฉกสาวก "ทักษิณ" คว่ำแลนด์สไลด์". กรุงเทพธุรกิจ. 1 May 2022. สืบค้นเมื่อ 31 August 2022.
  46. ""ทักษิณ" ซัดกลับ "จตุพร" อย่าไปฟังเลย ฟังไปก็เปลืองน้ำยาล้างหู". pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 26 January 2023.
  47. "สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ : สภาล่มตามคาด ปิดม่านสูตรหาร 500 กลับไปใช้สูตรหาร 100". BBC News ไทย. 15 August 2022. สืบค้นเมื่อ 15 August 2022.
  48. "แพแตก! 'บิ๊กเพื่อไทย' ประณาม 'ก้าวไกล' เล่นบทสองหน้า ปู้ยี่ปู้ยำประชาธิปไตย". ไทยโพสต์. 8 July 2022. สืบค้นเมื่อ 31 August 2022.
  49. "สูตรหาร 500 เอฟเฟกต์! ส.ส.วัน ลั่นผมมีสิทธิ์ที่จะคิด 'ก้าวไกล' เล่นบทสองหน้า". ไทยโพสต์. 8 July 2022. สืบค้นเมื่อ 31 August 2022.
  50. "เพื่อไทยบีบ 3 เงื่อนไข จับมือพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล แต่ต้องไม่มี "บิ๊กตู่"". ไทยรัฐ. 24 October 2022. สืบค้นเมื่อ 3 November 2022.
  51. เพื่อไทยแสดงความยินดีกับก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันไม่คิดตั้งรัฐบาลแข่ง
  52. "ก้าวไกล ส่งไม้ต่อ เพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล". mcot.net. 2023-07-21.
  53. พรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
  54. "ย้อนรอย 72 วัน อวสาน MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล". thansettakij. 2023-08-03.
  55. "เพื่อไทย-ภูมิใจไทย: ภูมิใจไทยถอนฟ้อง เศรษฐา ทวีสิน ประเดิมตั้งรัฐบาลขั้นต่ำ 212 เสียงร่วมกับเพื่อไทย". BBC News ไทย. 2023-08-07.
  56. "เพื่อไทย จับมือ 6 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล". Thai PBS.
  57. ชาติพัฒนากล้ามาอีกพรรค ร่วมตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ล่าสุดตอนนี้ได้ 238 เสียงแล้ว
  58. "เปิดแถลงการณ์พรรคชาติไทยพัฒนา-เพื่อไทย สลายขั้วการเมือง". Thai PBS.
  59. "ดีลจบ! รวมไทยสร้างชาติร่วมเพื่อไทย ตั้งรัฐบาล". Thai PBS.
  60. ""เพื่อไทย" จับมือ 11 พรรค จัดตั้งรัฐบาล 314 เสียง พรรค 2 ลุงมาครบ". pptvhd36.com. 2023-08-21.
  61. JINTAMAS SAKSORNCHAI, Associated Press (2023-08-22). "Former Thai leader Thaksin goes to jail as political party linked to him wins vote to take power". The Hill (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.
  62. "1st LD: Srettha Thavisin elected as Thailand's new prime minister - China.org.cn". www.china.org.cn. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.
  63. "โปรดเกล้าฯ เศรษฐา เป็นนายกฯคนที่ 30 เตรียมอันเชิญพระบรมราชโองการ". www.khaosod.co.th. สืบค้นเมื่อ 2023-08-23.
  64. "นายกฯ คนที่ 30: เศรษฐา ทวีสิน รับพระราชโองการ ประกาศ "4 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง"". บีบีซีไทย. 2023-08-23. สืบค้นเมื่อ 2023-11-10.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  65. "ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 140 (พิเศษ 214 ง): 1–3. 2023-09-02. สืบค้นเมื่อ 2023-09-02.
  66. "มติสส.เพื่อไทย ดัน แพทองธาร โหวตชิงนายกรัฐมนตรี 16 ส.ค." โพสต์ทูเดย์. 15 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  67. "ด่วน! กก.บห.เพื่อไทย เสนอชื่อ "แพทองธาร ชินวัตร" นั่งนายกฯ". bangkokbiznews. 2024-08-15.
  68. "สะพัด จ่อชงชื่อ "อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร" ชิงนายกฯ คนที่ 31". ไทยรัฐ. 15 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  69. "มติสภา 319:145 โหวตหนุน แพทองธาร ชินวัตร นั่งนายกฯ คนที่ 31". บีบีซีไทย. 16 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  70. https://www.pptvhd36.com (2024-08-16). "เปิดกำหนดการพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ นายกฯคนที่ 31". PPTV. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  71. "'จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นัดถกเลือกกก. 30 ต.ค." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-03. สืบค้นเมื่อ 2014-06-25.
  72. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
  73. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
  74. ""วิโรจน์" ลาออก "หน.เพื่อไทย" ตั้ง"ปลอดประสพ"นั่งรักษาการแทน". สยามรัฐ. 2019-07-02.
  75. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
  76. "ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (4 ง): 210–211. 2022-01-13. สืบค้นเมื่อ 2023-11-10.
  77. 77.0 77.1 ""หมอชลน่าน" ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว - "ชูศักดิ์" นั่งรักษาการแทน". ไทยรัฐ. 2023-08-30. สืบค้นเมื่อ 2023-11-10.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  78. 332 เสียงเพื่อไทยเคาะ "จารุพงศ์" นั่งหัวหน้าพรรค
  79. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
  80. ‘สมพงษ์’ ลาออก หัวหน้าพรรคพท. นัดถกเลือกกก.บห.ชุดใหม่ 1 ต.ค.
  81. "เปิด 23 รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย". ทีเอ็นเอ็น 16. 2023-10-27. สืบค้นเมื่อ 2023-10-27.
  82. Limited, Bangkok Post Public Company. "Pheu Thai Party names 'Ung-ing' as PM candidate". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-12-31.
  83. ""เศรษฐา" ตัวช่วย "อุ๊งอิ๊ง"? 1 ใน 3 "แคนดิเดตนายกฯ"". bangkokbiznews. 2022-11-19.
  84. matichon (2023-03-27). "เพื่อไทย เคาะแล้ว 'ชัยเกษม นิติสิริ' แคนดิเดตนายกฯ ชื่อที่ 3". มติชนออนไลน์.
  85. "สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอ เอไอเอส แคนดิเดตชื่อที่ 3 ของเพื่อไทย ?". BBC News ไทย. 2023-01-23.
  86. ตามคาด! เพื่อไทย ยื่น 3 ชื่อแคนดิเดตนายกฯ ‘อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา-ชัยเกษม’
  87. "เลือกตั้ง 2566 : เปิดลำดับบัญชีรายชื่อ 100 คน "พรรคเพื่อไทย"". pptvhd36.com.
  88. "ยุรนันท์ สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคเพื่อไทย ได้เบอร์ 10". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-08. สืบค้นเมื่อ 2009-06-08.
  89. เพื่อไทยส่ง ยุรนันท์ ลุยศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.
  90. "ซิวเก้าอี้-ผู้ว่าฯกทม. "สุขุมพันธุ์" ชนะขาด"แซม-ปลื้ม"!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-19. สืบค้นเมื่อ 2009-06-08.
  91. ""เพื่อไทย" ไม่ส่งผู้สมัครลงชิงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม". Thai PBS.
  92. ""เพื่อไทย" เข้าวิน 9 จังหวัดว่าที่นายกอบจ. จาก 25 จังหวัด". pptvhd36.com. 2020-12-21.
  93. เพื่อไทย เปิดตัว 9 ว่าที่ผู้สมัคร นายกอบจ. มี น้องชายธรรมนัส ลงชิงเก้าอี้ที่พะเยา
  94. "รมว.ยุติธรรมนำทีมเปิดตัว "วิเชียร ขาวขำ" ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี". mgronline.com. 2012-05-09.
  95. “อ้อเล็ก” โผล่คุมงานเยาวชนเพื่อไทย “ปู-โอ๊ค-อ้วน” รับบทกุนซือ
  96. เพื่อไทย–กลุ่มแคร์ สั่ง ยุติบทบาท “เพื่อไทยพลัส” ยุค “เจ๊หน่อย”
  97. "เปิดตัว กลุ่ม "CARE คิด เคลื่อน ไทย" หรือ "คณะผู้ห่วงใยประเทศ"". www.thairath.co.th. 2020-06-13.
  98. ""เพื่อไทย" ปรี๊ด "กลุ่มแคร์" เผาบ้าน นัดตั้งโต๊ะตบปาก สยบคำปรามาส". ไทยรัฐ. 2020-06-10. สืบค้นเมื่อ 2023-08-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  99. ""เพื่อไทย" ยุคใหม่ "กลุ่มแคร์" รีเทิร์น ดึงคนทษช.นั่งโฆษกแทน "อนุสรณ์"". ThaiQuote. 2020-09-29. สืบค้นเมื่อ 2023-08-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  100. "เปิดโครงการ "ครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม" ณ อุดรธานี". มติชน. 2022-03-29. สืบค้นเมื่อ 2023-08-14.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  101. "'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' รับตำแหน่ง ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย หวังถึงเป้า 'แลนด์สไลด์' ได้จริง". ประชาไท. 2022-06-15. สืบค้นเมื่อ 2023-08-14.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  102. "เพื่อไทย ตั้ง "เศรษฐา ทวีสิน" เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย". ไทยรัฐ. 2023-03-01. สืบค้นเมื่อ 2023-08-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  103. 103.0 103.1 ""ณัฐวุฒิ" ประกาศยุติบทบาท ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย หลังพรรคจับมือพรรคลุง". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-08-21. สืบค้นเมื่อ 2023-08-21.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  104. Mongkol Bangprapa; Manop Thip Osod; Aekarach Sattaburuth (9 August 2013). "Amnesty bill cruises first reading". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2013.
  105. "ด่วนที่สุด เรื่อง ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองของภาคประชาชน พ.ศ. ..." (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-12-05. สืบค้นเมื่อ 2017-03-02.
  106. Mongkol Bangprapa (18 October 2013). "Amnesty bill revision slammed". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2013.
  107. วุฒิสภามีมติคว่ำร่างนิรโทษกรรม - โพสต์ทูเดย์ ข่าวการเมือง[ลิงก์เสีย]
  108. "ด่วน! เพื่อไทย ลงโทษ 7 ส.ส.งูเห่า- ขับ "ศรัณย์วุฒิ-พรพิมล" พ้นพรรค". matichon.co.th. 2021-09-13.
  109. "จำคุกตลอดชีวิต "นวัธ เตาะเจริญสุข" จ้างวานฆ่าปลัด อบจ.ขอนแก่น". สำนักข่าวไทย อสมท (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-08-06.
  110. ""มนัสนันท์ หลีนวรัตน์" ผู้สมัคร ส.ส. เพื่อไทย แจงปมฉาวทำร้ายร่างกายเกือบพิการ". matichonweekly.com.
  111. Sukahnont, Jeerawat. "สาวร้อง ก.ยุติธรรมถูก 'ส.จ.' ชื่อดังทำร้ายแขนหัก เพราะไม่ยอมให้ตบหัวสามี". เดลินิวส์.
  112. "เพื่อไทย กางปีกป้อง ผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี โดนขุดคดีทำร้ายร่างกาย ยันเรื่องจบแล้ว". khaosod.co.th.
  113. "เปิดชื่อ 71 ว่าที่ ส.ส. กกต.จ่อแขวน เหตุร้องคัดค้าน". Thai PBS.
  114. ""มดดำ-มดเล็ก" รอด กกต.ตีตกคำร้องใช้อาชีพพิธีกรหาเสียง". Thai PBS.
  115. "กกต.สั่งเอาผิดอาญา "พัฒนา" สส.สกลนคร โพสต์หาเสียงเกินเวลา". Thai PBS.
  116. ด่วน!‘เพื่อไทย’นำแถลงจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง แบ่งเก้าอี้ ครม.เสร็จสรรพ
  117. "เพื่อไทยรับโอกาสตั้งรัฐบาลสำเร็จสูง "ไล่หนูตีงูเห่า" แคมเปญหาเสียงให้ได้คะแนน (คลิป)". ไทยรัฐ. 2023-08-07. สืบค้นเมื่อ 2023-11-10.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  118. "สื่อทั่วโลกจับตา "ไทย" ปูพรมแดงวีไอพีต้อนรับ "ทักษิณกลับบ้าน" แฮชแท็ก #เพื่อไทยตระบัดสัตย์กระหึ่มโลกโซเชียล". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-08-21. สืบค้นเมื่อ 2023-11-22.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  119. "ชาวเน็ตแห่ถาม ชลน่านลาออกกี่โมง หลังจับมือรวมไทยสร้างชาติ". องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. 2023-08-18. สืบค้นเมื่อ 2023-11-22.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  120. "หญิงเสื้อแดงสุดทนเพื่อไทย บุกตึกแถลงข่าว-เทของ นปช. ลั่นไม่เหลือหลักการแล้ว". www.sanook.com/news. 2023-07-04.
  121. ข่าวอดีต นปช. ถอดเสื้อแดงเผาทั้งน้ำตา บอกลาพรรคเพื่อไทย ลั่นรับไม่ได้ไปจับมือเผด็จการ, สืบค้นเมื่อ 2024-02-27
  122. "กลุ่มผู้ชุมนุม สาดเลือดหมู จุดไฟเผาหุ่น หน้าพรรคเพื่อไทย หลังฉีก MOU". workpointTODAY.
  123. ลาออกจากพรรคเพื่อไทย มีชื่อใครบ้าง หลังตั้งรัฐบาลสลายขั้ว
  124. treesukee, natthakan. "มัดรวม 'สมาชิกพรรคเพื่อไทย' ใครบ้างเลือกลาออก หลังตั้งรัฐบาลสลายขั้ว". เดลินิวส์.
  125. ไปอีกราย! ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ลาออกพรรคเพื่อไทย ขอบคุณที่ให้โอกาสมายาวนาน
  126. "เปิดเทียบเชิญ'เพื่อไทย'ชวน'ประชาธิปัตย์'ร่วมรัฐบาล ยกมีอุดมการณ์ร่วมกัน". แนวหน้า. 28 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2024.
  127. "เพื่อไทยส่งเทียบเชิญ ปชป. ร่วมรัฐบาล สรวงศ์ขอปล่อยผ่านอดีต ทิ้งความขัดแย้ง". THE STANDARD. 2024-08-28.
  128. เสื้อแดงเข้าใจ เพื่อไทย จับมือปชป.ต้องการเสียงเพิ่ม ชี้ อภิสิทธิ์สั่งสลาย 99 ศพ ไม่อยู่แล้ว
  129. "ก่อแก้วมองประชาธิปัตย์ผลัดใบแล้ว แกนนำเป็นคนละรุ่นกับกลุ่มที่สลายการชุมนุมปี 53". THE STANDARD. 2024-08-28.
  130. "อดีตส.ส.เพื่อไทย เชียงใหม่ โพสต์คนตายปี'53 คือมนุษย์ หลังพท.เชิญปชป.ร่วมรัฐบาล". มติชน. 28 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  131. "'เศรษฐา' ไม่รอด! ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ชี้ชะตาเศรษฐาพ้นเก้าอี้นายกฯ ทันที". เดอะ แมทเทอร์. 14 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  132. ""ทักษิณ" เรียกแกนนำพรรคร่วม เข้าหารือด่วนบ้านจันทร์ส่องหล้า". พีพีทีวี. 14 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  133. "ยื่น กกต.ยุบ 6 พรรค เข้าพบ 'ทักษิณ' ก่อนจัดตั้งรัฐบาล ส่อผิดครอบงำพรรค". มติชน. 9 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  134. "(คลิปข่าว) เจาะ 4 พรรคอะไหล่ "เพื่อไทย"". เนชั่นทีวี. 2018-11-06.

แหล่งข้อมูลอื่น