ข้ามไปเนื้อหา

เรื่องเล่าเช้านี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรรมกรข่าวคุยนอกจอ)
เรื่องเล่าเช้านี้
ประเภทข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน
พิธีกร
ประเทศแหล่งกำเนิดไทย ไทย
ภาษาต้นฉบับไทย ไทย
การผลิต
ผู้อำนวยการสร้างสรยุทธ สุทัศนะจินดา
อังคณา วัฒนมงคลศิลป์
สถานที่ถ่ายทำสตูดิโอชั้น 10 อาคารมาลีนนท์
กล้องหลายกล้อง
ความยาวตอน145 นาที
บริษัทผู้ผลิตปัจจุบัน
ฝ่ายข่าว ช่อง 3 เอชดี
บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด
อดีต
บริษัท ไร่ส้ม จำกัด
เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
บางกอกการละคอน
ออกอากาศ
เครือข่ายปัจจุบัน
ช่อง 3 เอชดี (โทรทัศน์)
วิทยุครอบครัวข่าว (วิทยุ)
อดีต
อีซี่เอฟเอ็ม 105.5 (ปัจจุบัน คือ อีซี่เอฟเอ็ม 102.5)
ออกอากาศ2 มิถุนายน พ.ศ. 2546 –
ปัจจุบัน

เรื่องเล่าเช้านี้ เป็นรายการโทรทัศน์ไทยภาคเช้าประเภทเล่าข่าว โดยมี สรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ประกาศข่าวหลัก ผลิตโดยฝ่ายข่าวของช่อง 3 ร่วมกับบริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด ของสรยุทธ เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546

ปัจจุบันมีการแบ่งรายการในกลุ่มเรื่องเล่าออกเป็น 4 รายการ คือ เรื่องเล่าเช้านี้ ออกอากาศทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 06:00 - 08:25 น., เรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์ ออกอากาศทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 10:15 - 12:15 น., เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง ออกอากาศทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 05:30 - 06:00 น. โดย 3 รายการนี้ออกอากาศทางช่อง 3 เอชดี รวมทั้งช่องทางสื่อสังคมของเรื่องเล่าเช้านี้ และ กรรมกรข่าวคุยนอกจอ ออกอากาศทุกวันจันทร์ - ศุกร์ หลังจบรายการเรื่องเล่าเช้านี้ โดยเผยแพร่ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมของสรยุทธ

ประวัติ

[แก้]

จุดเริ่มต้นของรายการนี้มาจากการที่ สุพล วิเชียรฉาย ผู้กำกับละครจากค่ายบางกอกการละคอน ในเครือบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (ชื่อในขณะนั้น) นำสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวจากเนชั่น แชนแนล ในขณะนั้น มาเป็นพิธีกรในรายการเกมโชว์รายการใหม่ของตน ชื่อว่า "กล่องวิเศษ Magic Box" ออกอากาศทางช่อง 3 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2546 ทำให้ประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารช่อง 3 ในขณะนั้น เกิดแนวคิดในการผลิตรายการภาคเช้าในรูปแบบของสรยุทธ[1]

ในช่วงเริ่มแรก ช่อง 3 ต้องการให้สรยุทธทำหน้าที่จัดรายการภาคเช้าทุกวันจันทร์-ศุกร์ วันละครึ่งชั่วโมง ก่อนไปจัดรายการ "เก็บตกจากเนชั่น" ทางเนชั่น แชนแนลต่อ แต่ปรากฏว่า บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์เนชั่น แชนแนล ไม่ยินยอมที่จะให้ไปทำรายการดังกล่าว ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546 สรยุทธจึงลาออกจากการเป็นพนักงานของเนชั่น แชนแนล เพื่อมาทำหน้าที่ในรายการดังกล่าวเต็มรูปแบบ[2]ส่วนชื่อรายการ สรยุทธเล่าว่า เดิมเกือบตั้งชื่อรายการว่า "คุยคุ้ยข่าว" (ซึ่งต่อมาเป็นชื่อรายการที่สรยุทธทำกับกนก รัตน์วงศ์สกุล ออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี) และอีกหลากหลายชื่อที่มีคำว่า "เช้า" เข้ามาผสม จนกระทั่งลงตัวที่ชื่อรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" และเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546[3]

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563 กลุ่มบีอีซีเวิลด์ ได้ขายหุ้นทั้งหมดของบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้กับไบรอันลินด์เซ มาร์การ์ กรรมการผู้จัดการของบีอีซี-เทโร เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด บีอีซี-เทโร จึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) แต่เทโรได้จำหน่ายลิขสิทธิ์และโอนในการผลิต การบริหาร รวมถึงโอนพนักงานในรายการข่าวในกลุ่มเรื่องเล่าทั้ง 3 รายการ คือ เรื่องเล่าเช้านี้ เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง และเรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์ กลับมาให้ช่อง 3 และกลุ่มบีอีซีเวิลด์ เนื่องจากเป็นรายการข่าวที่เป็นรูปแบบของช่อง 3 อย่างชัดเจน ส่งผลให้ในปัจจุบัน ทั้ง 3 รายการ ผลิตโดยฝ่ายข่าวของช่อง 3 เป็นหลัก[4]

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2565 บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้ปิดกิจการ[5]ทำให้บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด ซึ่งเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่สรยุทธก่อตั้ง เป็นผู้ร่วมผลิตรายการเรื่องเล่าเช้านี้ในส่วนที่สรยุทธร่วมผลิตแทน

รูปแบบรายการ

[แก้]

ปัจจุบันรายการในกลุ่มเรื่องเล่ามีทั้งหมด 4 รายการ ดังนี้

เรื่องเล่าเช้านี้

[แก้]

เรื่องเล่าเช้านี้ เป็นรายการโทรทัศน์ภาคเช้าประเภทเล่าข่าว ด้วยภาษาที่เป็นกันเองกับผู้ชม ปัจจุบันออกอากาศทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 06:00 - 08:25 น. ทางช่อง 3 เอชดี รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางช่องทางเฟซบุ๊ก ยูทูบ และติ๊กต็อกของเรื่องเล่าเช้านี้ เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546[3]

รูปแบบรายการเป็นการจัดรายการคู่กันระหว่างสรยุทธ สุทัศนะจินดา กับผู้ประกาศข่าวหญิงซึ่งได้ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เช่น ปุณยวีร์ สุขกุลวรเศรษฐ์, มีสุข แจ้งมีสุข, สู่ขวัญ บูลกุล, กฤติกา ขอไพบูลย์ และปัจจุบันคือพิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ[6]ส่วนการนำเสนอข่าว เป็นรายการข่าวรายการแรกของประเทศไทยที่ไม่ได้ใช้รูปแบบการอ่านข่าวแบบเดิม แต่ใช้การเล่าข่าว คือนำเสนอข่าวให้สามารถจินตนาการภาพได้โดยที่ผู้ชมไม่ต้องเห็นภาพจริง ไม่มีสคริปต์ และไม่มีการเรียงลำดับของข่าว (Run down) ดังนั้น การนำเสนอข่าวในแต่ละวันจะแตกต่างกัน และยังมีจุดเด่นที่การนำเสนอข่าวของสรยุทธที่ทำให้เป็นที่จดจำของผู้ชม รวมถึงโครงการช่วยเหลือสังคมต่าง ๆ ที่เรื่องเล่าเช้านี้จัดขึ้น ซึ่งเริ่มแรกจะมีการแบ่งรายการเป็นช่วง ๆ เช่น เรื่องเล่าเช้านี้เด็ก, ข่าวต่างประเทศ (ปัจจุบันถูกย้ายไปอยู่ในเรื่องเล่าหน้าหนึ่ง), Share of the Day, ข่าวกีฬา และ ครอบครัวบันเทิง (ปัจจุบันแยกออกมาเป็นรายการออนไลน์ ในชื่อ "ครอบครัวบันเทิงออนไลน์")[7]

ภายหลังจากสรยุทธประกาศยุติการจัดรายการทุกรายการในช่อง 3 ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 ฝ่ายข่าวช่อง 3 ได้ปรับรูปแบบรายการเรื่องเล่าเช้านี้ให้พิชญทัฬห์เป็นผู้ประกาศข่าวหลัก โดยคู่กับกฤติกา ขอไพบูลย์[8], เจก รัตนตั้งตระกูล[9], พิภู พุ่มแก้วกล้า[10]และภาษิต อภิญญาวาท[11]ตามลำดับ ก่อนจะกลับไปใช้รูปแบบเดิมหลังจากสรยุทธกลับมาจัดรายการอีกครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 มาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์

[แก้]
เรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์
ประเภทข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน
พิธีกร
ประเทศแหล่งกำเนิดไทย ไทย
ภาษาต้นฉบับไทย ไทย
การผลิต
ผู้อำนวยการสร้างสรยุทธ สุทัศนะจินดา
อังคณา วัฒนมงคลศิลป์
สถานที่ถ่ายทำสตูดิโอชั้น 10 อาคารมาลีนนท์
กล้องหลายกล้อง
ความยาวตอน120 นาที
บริษัทผู้ผลิตปัจจุบัน
ฝ่ายข่าว ช่อง 3 เอชดี
บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด
อดีต
บริษัท ไร่ส้ม จำกัด
เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
บางกอกการละคอน
ออกอากาศ
เครือข่ายช่อง 3 เอชดี (โทรทัศน์)
วิทยุครอบครัวข่าว (วิทยุ)
ออกอากาศ2 ตุลาคม พ.ศ. 2547 –
ปัจจุบัน

เรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์ เป็นรายการโทรทัศน์ประเภทเล่าข่าว ด้วยภาษาที่เป็นกันเองกับผู้ชม ที่ออกอากาศในช่วงวันอาทิตย์ แบ่งได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 (พ.ศ. 2547 - 2549)

[แก้]

เรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์ เดิมเป็นรายการภาคเช้าที่ บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ โดยบางกอกการละคอนผลิตขึ้น เพื่อให้ผู้ชมได้รับชมข่าวสารในช่วงเช้าของวันหยุด ออกอากาศตั้งแต่เวลา 07:00 น. เป็นต้นไป ดำเนินรายการโดย กฤษณะ ละไล, อรอุมา เกษตรพืชผล และแอนดรูว์ บิ๊กส์ โดยออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2547 และออกอากาศในรูปแบบนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 หลังจากนั้น ช่อง 3 ได้ปรับรูปแบบรายการเรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์ ให้มีรูปแบบเดียวกับเรื่องเล่าเช้านี้ โดยนำสรยุทธมาจัดรายการเป็นแกนหลักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และย้ายไปออกอากาศในช่วงสายค่อนไปทางกลางวัน ส่วนเรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์ รูปแบบเดิม ได้ปรับเปลี่ยนเป็น "ก๊วนข่าวเช้าวันหยุด", "คิดเช่นเห็นต่าง" และ "ข่าวเช้าวันหยุด" ตามลำดับ

รูปแบบที่ 2 (พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน)

[แก้]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ช่อง 3 และบีอีซี-เทโร ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการเรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์ ให้มีรูปแบบเดียวกับเรื่องเล่าเช้านี้ แต่ปรับเป็นการจัดรายการคู่กันระหว่างสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวหลักจากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ร่วมกับผู้ประกาศข่าวอีก 1 คน เพื่อเว้นให้ผู้ประกาศข่าวหญิงจากเรื่องเล่าเช้านี้ได้พักผ่อน[6]เช่น สู่ขวัญ บูลกุล[12], ภาษิต อภิญญาวาท[13], กฤติกา ขอไพบูลย์[14] เป็นต้น (โดยจะมีเพียงบางครั้ง ที่ผู้ประกาศข่าวหญิงของรายการเรื่องเล่าเช้านี้ มาจัดรายการคู่กับสรยุทธ) ทำให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และบริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด ของสรยุทธ เข้ามามีบทบาทในการร่วมผลิตรายการนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนเวลาออกอากาศเป็นช่วงสายค่อนไปทางกลางวัน โดยรูปแบบใหม่นี้เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2550[12]ปัจจุบันสรยุทธจัดรายการคู่กับปรินดา คุ้มธรรมพินิจ (วันเสาร์) และอริสรา กำธรเจริญ (วันอาทิตย์) ออกอากาศทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 10:15 - 12:15 น. ทางช่อง 3 เอชดี รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมของเรื่องเล่าเช้านี้

เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง

[แก้]

เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง เป็นรายการภาคเช้าประเภทนำเสนอข่าวที่แยกออกมาจากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ออกอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 (โดยสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ร่วมผลิตรายการนี้ ในขณะที่ผันตัวมาทำเบื้องหลัง) โดยเน้นการสรุป "ข่าวเด่น ประเด็นสำคัญ สำหรับคนตื่นเช้า" จากพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์เป็นหลัก[15] แต่ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

  • Headline News: สรุปข่าวเด่นจากพาดหัวหนังสือพิมพ์
  • เรื่องเล่ารอบโลก: สรุปข่าวต่างประเทศ
  • เรื่องเล่าการเมือง: สรุปข่าวการเมือง

เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ออกอากาศทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 05:30 - 06:00 น. ทางช่อง 3 เอชดี รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมของเรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งในช่วงแรกจะดำเนินรายการโดยผู้ประกาศข่าวของเรื่องเล่าเช้านี้ เช่น อรชุน รินทรวิฑูรย์, พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ, ภาษิต อภิญญาวาท และเมจกา สุพิชญางกูร ปัจจุบันดำเนินรายการโดย เมจกา สุพิชญางกูร (จันทร์-พฤหัสบดี), อติรุจ กิตติพัฒนะ (จันทร์-พุธ, ศุกร์) และ ประวีณมัย บ่ายคล้อย (พฤหัสบดี-ศุกร์)

กรรมกรข่าวคุยนอกจอ

[แก้]

กรรมกรข่าวคุยนอกจอ เป็นรายการภาคเช้าประเภทเล่าข่าวที่แยกออกมาจากเรื่องเล่าเช้านี้ มาออกอากาศเฉพาะทางสื่อสังคม เพื่อให้สรยุทธสามารถแสดงความคิดเห็นในข่าวต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก โดยไม่มีข้อจำกัดของการจัดรายการทางโทรทัศน์มาควบคุม และทำให้การนำเสนอข่าวในช่วงนี้ของสรยุทธมักถูกพูดถึงในสื่อสังคมอยู่เสมอ ออกอากาศทุกวันจันทร์ - ศุกร์ หลังจบรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่องทางสื่อสังคมของสรยุทธในชื่อ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว[16] เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยเดิมมีการทดลองออกอากาศในชื่อ กรรมกรข่าวเปิดอกคุย ซึ่งเป็นรายการเฉพาะกิจที่เป็นการพูดคุยระหว่างสรยุทธกับแขกรับเชิญซึ่งเป็นนักการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 7, 11, 12, 18 และ 20 เมษายน พ.ศ. 2566 และมีการทดลองออกอากาศในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับกรรมกรข่าวคุยนอกจอในปัจจุบันเมื่อวันที่ 19 เมษายน โดยออกอากาศทางยูทูบ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว และเฟซบุ๊กเรื่องเล่าเช้านี้

การตอบรับ

[แก้]

รายการเรื่องเล่าเช้านี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วง 2 ปีแรกของการออกอากาศ เนื่องจากการที่สรยุทธนำสาระมาสอดแทรกในแต่ละข่าว มุกตลกที่ดึงดูดผู้รับชม รวมถึงการเกลี่ยข่าวแบบไม่ลำดับความสำคัญ โดยเน้นเรื่องที่ชาวบ้านสนใจก่อน ทำให้เรื่องเล่าเช้านี้มีเรตติ้งผู้รับชมเป็นอันดับที่ 1 ในบรรดารายการภาคเช้าทั้งหมด และทำให้มีการขึ้นค่าโฆษณาในช่วง 2 ปีแรกของการออกอากาศเป็นจำนวน 3 ครั้ง คือ จากเดิมที่เริ่มต้นที่ 50,000 บาท ขยับขึ้นเป็น 80,000 บาท, 100,000 บาท และ 135,000 บาทตามลำดับ[6] ส่งผลให้เรื่องเล่าเช้านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับช่อง 3 ได้ถึง 200-300 ล้านบาทต่อปี จนกลายเป็นรายการที่สร้างรายได้มากที่สุดในกลุ่มรายการข่าวที่ออกอากาศในสมัยนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ นำรายการข่าวมาออกอากาศมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับรูปแบบรายการภาคเช้าประเภทข่าวเพื่อแข่งขันกับเรื่องเล่าเช้านี้โดยเฉพาะ[3]

อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดสรยุทธในคดีที่ตนและ บจก.ไร่ส้ม สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของ บมจ.อสมท ยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลา เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555 ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันและสมาชิก 40 องค์กรเอกชน จึงได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังช่อง 3 ให้พิจารณาการทำหน้าที่ของสรยุทธ หากไม่เช่นนั้นแล้วจะถอนโฆษณาออกจากรายการของสรยุทธทั้งหมด และมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จำนวน 4 ราย ยกเลิกการซื้อเวลาโฆษณาในรายการของสรยุทธตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2556[17] แต่ช่อง 3 ก็ยังคงให้สรยุทธจัดรายการตามปกติ[18] และภายหลังจากเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกสรยุทธเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน แต่ช่อง 3 ยังคงให้สรยุทธจัดรายการตามปกติ สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยว่ามีสินค้าบางรายการ ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่และกลุ่มธนาคาร ขอถอนโฆษณาออกจากรายการของสรยุทธเพิ่มเติม[19] อย่างไรก็ตาม ในที่สุด สรยุทธก็ได้ประกาศยุติการจัดรายการทุกรายการในช่อง 3 รวมถึงเรื่องเล่าเช้านี้ด้วย มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559[20] ซึ่งต่อมามีการเปิดเผยว่าเป็นผลจากการสั่งการของ บมจ.อสมท ที่เป็นโจทก์ของสรยุทธ แต่เป็นการสั่งการในฐานะคู่สัญญากับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ในการดำเนินกิจการช่อง 3 แอนะล็อกในขณะนั้น[21]

อย่างไรก็ตาม จากการประกาศยุติการจัดรายการของสรยุทธ ส่งผลกระทบต่อรายการเรื่องเล่าเช้านี้โดยตรง เนื่องจากทำให้เรตติ้งและรายได้จากการขายโฆษณาของรายการเรื่องเล่าเช้านี้ลดลงตามไปด้วย[9] ทำให้ต่อมาช่อง 3 ตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการลดเวลาออกอากาศรายการเรื่องเล่าเช้านี้ลง[22] รวมถึงการแยกรายการออกมาเป็น "เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง" ในปี พ.ศ. 2561 เป็นต้น[15]

ภายหลังจากสรยุทธได้รับการพักโทษในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ของกลุ่มบีอีซีเวิลด์ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลช่อง 3 โดยตรง เปิดเผยว่า ช่อง 3 ได้ปรับผังรายการใหม่ โดยเฉพาะการเพิ่มเวลารายการเรื่องเล่าเช้านี้ เพื่อรองรับการกลับมาจัดรายการอีกครั้งของสรยุทธโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นบุคลากรสำคัญของฝ่ายข่าวของช่อง 3[23] ซึ่งการปรับผังในครั้งนี้ส่งผลในทางบวกต่อเรตติ้งโดยรวมของรายการข่าวช่อง 3 ทั้งหมด[24] รวมถึงทำให้มีอัตราขายโฆษณาในรายการเหล่านี้มากขึ้น[25] มีรายการข่าวบางรายการที่ขายโฆษณาได้เต็มรายการ และส่งผลดีต่อผลประกอบการโดยรวมของช่อง 3 โดยตรง ทำให้ช่อง 3 เพิ่มเวลารายการข่าวอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ในรายการข่าวที่ออกอากาศในวันเสาร์ - อาทิตย์ ซึ่งเรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์ ของสรยุทธ ก็ได้เวลาออกอากาศเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 10-15 นาที[26]

พิธีกร

[แก้]

พิธีกรหลัก

[แก้]

ปัจจุบัน

[แก้]
ชื่อ วัน ระยะเวลา รายการในปัจจุบัน
สรยุทธ สุทัศนะจินดา จันทร์-อาทิตย์ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2559[27]
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564[28] – ปัจจุบัน
  • เรื่องเล่าเช้านี้
  • กรรมกรข่าวคุยนอกจอ
  • เรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์
พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ จันทร์-ศุกร์ 3 มกราคม พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน
  • เรื่องเล่าเช้านี้
  • กรรมกรข่าวคุยนอกจอ
เอกราช เก่งทุกทาง พ.ศ. 2546 – ปัจจุบัน
  • เรื่องเล่าเช้านี้ (ข่าวกีฬา)
ปรินดา คุ้มธรรมพินิจ เสาร์ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน
  • เรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์
อริสรา กำธรเจริญ อาทิตย์ 24 เมษายน พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน
เมจกา สุพิชญางกูร จันทร์-พฤหัสบดี 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558[29] – ปัจจุบัน
  • เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง
อติรุจ กิตติพัฒนะ จันทร์-พุธ, ศุกร์ 4 มกราคม พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน
ประวีณมัย บ่ายคล้อย พฤหัสบดี, ศุกร์ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน

อดีต

[แก้]

เฉพาะกิจ

[แก้]
  • อริสรา กำธรเจริญ (แทนพิชญทัฬห์)
  • ปรินดา คุ้มธรรมพินิจ (แทนพิชญทัฬห์)
  • ภาษิต อภิญญาวาท (แทนสรยุทธ)
  • พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ (แทนภาษิตในช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 และในปัจจุบันจะแทนปรินดาหรืออริสรา ในรายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์)

รางวัล

[แก้]

เป็นรางวัลเฉพาะตัวรายการ ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล

ปี รางวัลที่ได้เข้าชิง รางวัล/สาขา ผล
พ.ศ. 2547 ท็อปอวอร์ด 2004 รายการวาไรตี้ – ทอล์คโชว์ยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล
พ.ศ. 2549 ท็อปอวอร์ด 2006 รายการวาไรตี้ – ทอล์คโชว์ยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
พ.ศ. 2553 รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 1 รายการข่าวยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล
พ.ศ. 2554 ดาราเดลี่ เดอะ เกรท อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 รายการโทรทัศน์ที่สุดแห่งปี เสนอชื่อเข้าชิง
พ.ศ. 2555 รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 3 รายการข่าวยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล
พ.ศ. 2558 รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 6 รายการข่าวยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล
พ.ศ. 2561 รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 9 รายการเล่าข่าวยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล
พ.ศ. 2565 Thailand Zocial Awards 2022 Best Entertainment Performance on Social Media สาขา Thai News Program (สาขารายการข่าว) ได้รับรางวัล
พ.ศ. 2566 รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 14 รายการเล่าข่าวยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""เดอะงัด"แมวมองค้นคนข่าว". Positioning Magazine. 5 กันยายน 2005. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "เบื้องหลัง"สรยุทธ"หัก"เนชัน"ซบช่อง 3-โชว์เข้าตา"มิ่งขวัญ" เรียกตอบแทน". สำนักข่าวอิศรา. 19 ตุลาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 3.2 "เดอะวินเนอร์…เรื่องเล่าเช้านี้". Positioning Magazine. 5 กันยายน 2005. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. Techasriamornrat, Sirarom (2020-12-09). "เปิดเบื้องหลังปิดดีลขาย 'BEC-TERO' ไบรอันยกสิทธิ 'เรื่องเล่า' คืนช่อง 3 ลุ้นสรยุทธคืนจอปีหน้า". สำนักข่าวทูเดย์. สืบค้นเมื่อ 2023-07-17.
  5. "'สรยุทธ' เลิกแล้ว บ.ไร่ส้มคดี 138 ล.! ร่วมทุน 'เสี่ยตัน' ทำธุรกิจอสังหาฯ". สำนักข่าวอิศรา. 15 กรกฎาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 6.2 "การกลับมาของสรยุทธ ในฐานะนักข่าวเบอร์หนึ่งของประเทศไทย". The Modernist. 15 มีนาคม 2021. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-06. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2023.
  7. ดีสุวรรณ, ภูษิต; มุทิตาเจริญ, ประไพพิศ. "กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อสร้างอัตลักษณ์ผู้ประกาศข่าวรายการเรื่องเล่าเช้านี้ กรณีศึกษา: สรยุทธ สุทัศนะจินดา" (PDF). Media and Communication Inquiry. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 3 (2): 72–81. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-12-24. สืบค้นเมื่อ 2023-12-24 – โดยทาง ฐานข้อมูลคติชนไทยภาคเหนือ.
  8. "ช่อง 3 ดึง "กุ๊ก-กฤติกา" เสียบแทน "สรยุทธ" รายการเรื่องเล่าเช้านี้". ไทยพีบีเอส. 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. 9.0 9.1 ""เรื่องเล่าเช้านี้" เมื่อ "น้องไบรท์" เอาไม่อยู่". ผู้จัดการออนไลน์. 1 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "ผ่านมั้ย? "ต๊ะ พิภู" นั่งแท่นพิธีกรเรื่องเล่าเช้านี้คนใหม่คู่ "ไบรท์"". ผู้จัดการออนไลน์. 16 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "เรื่องเล่าเช้านี้ ปรับโฉมใหม่อีกครั้ง ดึง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เสริมทัพ". กระปุก.คอม. 2 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. 12.0 12.1 "ทีวีปี' 50 สู้สนุก - คนเนชั่นขายดี - "ปลื้ม" นั่งจ้อเรื่องเล่าฯ". ผู้จัดการออนไลน์. 3 มกราคม 2007. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2023. แต่ที่เป็นที่สนใจของคนส่วนใหญ่ก็คือข่าวลือของการเข้ามานั่งเก้าอี้ตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายข่าวของ "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" รวมไปถึงการที่เจ้าตัวได้เวลาไปทำรายการ "เรื่องเล่า - เสาร์ อาทิตย์" ในเวลา 11.00 น. คู่กับ "สู่ขวัญ" เพิ่มขึ้นมา{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "ภาษิต อภิญญาวาท ดาวดวงใหม่ของช่อง 3". Positioning Magazine. 5 มิถุนายน 2009. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. "กุ๊ก กฤติกา กลับมาแล้ว คืนจอเล่าข่าวคู่ สรยุทธ". สนุก.คอม. 1 มิถุนายน 2014. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. 15.0 15.1 "ช่อง 3 ทนเรตติ้งข่าวเช้าร่วงไม่ไหว ผ่าเวลา เรื่องเล่าเช้านี้ เป็น 2 ช่วง". Positioning Magazine. 3 สิงหาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. "สรยุทธ เผย สาเหตุกรรมกรข่าวปลิว เพราะอะไร ตอนแรกนึกว่าตึง ที่จริงเส้นผมบังภูเขา". กระปุก.คอม. 25 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. "4 บริษัทยักษ์นำทีมแบน "สรยุทธ" ถอนโฆษณาเรื่องเล่าเช้านี้". สนุก.คอม. 11 ตุลาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. "ช่อง3ไม่ถอดสรยุทธ ยันไม่มีสปอนเซอร์ถอนตัว". สนุก.คอม. 17 ตุลาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. "สมาคมมีเดียเอเยนซี่ฯ ยืนยันสินค้าบางรายการถอนโฆษณา หลังช่อง 3 ปล่อย "สรยุทธ" จัดรายการ". ไทยพีบีเอส. 1 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. ""สรยุทธ" ประกาศยุติทำหน้าที่พิธีกร ช่อง 3 เผยยังไม่มีแผนหาคนนั่งแทนใน "เรื่องเล่าเช้านี้"". ไทยพีบีเอส. 3 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. "เบื้องหลังที่เพิ่งเปิดเผย ทำไม ช่อง 3 สั่ง สรยุทธ์ หยุดจัดรายการ". สนุก.คอม. 20 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. "ช่อง 3 หั่นเวลา'เรื่องเล่าฯ' นำ'ผู้หญิงถึงผู้หญิง'เสียบ คาดเรตติ้งตกหลัง'สรยุทธ'ยุติบทบาท". มติชน. 30 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  23. Jan (13 มีนาคม 2021). ""สรยุทธ" คัมแบ็ค "ช่อง 3" เตรียมขยายเวลาข่าวโกยเรตติ้ง โบรกฯ ชี้ปีนี้เห็นกำไร". Brand Buffet. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. Jan (22 เมษายน 2021). ""สรยุทธ" รีเทิร์น! ช่อง 3 เขย่าเรตติ้งรายการข่าวทีวีเปลี่ยนมือ จับตาดูดผู้ชมคืนจากช่องไหน?". Brand Buffet. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. Jan (1 พฤษภาคม 2021). "วันแรก "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" คืนจอช่อง 3 โฆษณาแน่น "เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์"". Brand Buffet. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  26. Jan (9 มีนาคม 2022). "โฆษณาแน่น! 'ช่อง 3' ขยายเวลารายการข่าว ประเดิมเสาร์-อาทิตย์ โบรกฯคาดปีนี้ฟาดกำไร 1,000 ล้าน". Brand Buffet. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. "14 ปีแห่งความทรงจำ สรยุทธ สุทัศนะจินดา อำลาเรื่องเล่าเช้านี้". สนุก.คอม. 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2023-07-14.
  28. "เปิดเรตติ้ง "สรยุทธ"คืนจอ "เรื่องเล่าเช้านี้-เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์" ดันโฆษณารายการข่าวช่อง 3 พุ่ง 50%". Brand Buffet. 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2023-07-14.
  29. "เซน เมจกา คนสวยอ่านข่าวที่น่ารัก เสียงหวานที่สุดแห่งปี 2558". บล็อกเกอร์. 8 มีนาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]