ข้ามไปเนื้อหา

พรรคพลังธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรคพลังธรรม
ผู้ก่อตั้งพลตรี จำลอง ศรีเมือง
หัวหน้าภมร นวรัตนากร
เลขาธิการนิทัศน์ วีระไวทยะ
คำขวัญคุณภาพคู่คุณธรรม (พ.ศ. 2531)
กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง (พ.ศ. 2539)
ก่อตั้ง9 มิถุนายน พ.ศ. 2531
ถูกยุบ19 ตุลาคม พ.ศ. 2550 (19 ปี)
ถัดไปพรรคพลังธรรมใหม่
ที่ทำการ107 หมู่ 5 ถนนนครราชสีมา-ปักธงชัย ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000
สี  น้ำเงิน
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคพลังธรรม เป็นพรรคการเมืองขนาดกลาง หัวหน้าพรรคคนแรก คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2531 และยุบพรรคในปี พ.ศ. 2550 เป็นพรรคการเมืองที่เคยได้รับคะแนนความนิยมโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร

ประวัติ

[แก้]

หลังยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531 บุคคลจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกลุ่มสันติอโศก ภายใต้การนำของ สมณะโพธิรักษ์ ร่วมตั้งพรรคพลังธรรมขึ้นคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองได้ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้วจึงได้ออกหนังสือเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมลงชื่อเป็นสมาชิกพรรคมีสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นคน ต่อมาในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2531[1] นายทะเบียนพรรคการเมือง กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศรับการจดทะเบียนพรรคพลังธรรม ซึ่งถือว่าวันที่ 9 มิถุนายน เป็นวันกำเนิดพรรคพลังธรรม โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค

บทบาททางการเมือง

[แก้]

ในการเลือกตั้งครั้งแรกของปี พ.ศ. 2535 คือ การเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคพลังธรรมได้รับความนิยมสูงสุดจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสามารถกวาดตำแหน่ง ส.ส. ได้มากถึง 32 ที่นั่ง จากทั้งหมด 35 ที่นั่ง เหลือไว้เพียง 3 ที่ให้สมัคร สุนทรเวช, ลลิตา ฤกษ์สำราญ จากพรรคประชากรไทย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งลงสมัครครั้งแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ เท่านั้น ซึ่งในเช้าวันต่อมา พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ถึงกับพาดหัวว่า "พลังผักชนะพลังเงิน" แทนที่จะพาดหัวข่าวถึงผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ เหมือนฉบับอื่น[2]

แต่ต่อมาสภาฯ ชุดนี้ต้องสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ปีเดียวกัน เนื่องจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากสัญญาที่ได้ให้ไว้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬว่า จะไม่รับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง[2] [3]

ภายหลังจากการลาออกของ พล.ต.จำลอง นั้น ทำให้บทบาทของพรรคพลังธรรม ในเวทีการเมืองระดับชาติถดถอยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือ ส.ส. เพียงคนเดียวในสภาฯ เมื่อการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็เคยมาแล้ว[4] โดยขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค แต่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย

ซึ่งหลังการเลือกตั้งในครั้งนั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ได้รับการโหวตจาก สภาฯได้เป็นนายกรัฐมนตรี และ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม ในวันเดียวกับที่การเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นลง ต่อมา ทักษิณได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีสมัย พล.อ.ชวลิต เป็นนายกฯ ในโควตาพรรคความหวังใหม่

นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังธรรมทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคพลังธรรม จัดให้มีการประชุมใหญ่พรรค เพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารชุดใหม่ ในที่ประชุมเสนอ สอง ชื่อให้สมาชิกเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ โดยนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ซึ่งขณะนั้นเป็น ส.ส.คนเดียวของพรรค ได้ลุกขึ้นแถลงต่อที่ประชุมใหญ่พรรค ขอถอนตัวจากการเสนอชื่อให้เป็นหัวหน้าพรรค จึงเป็นผลให้นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค[4]

ในปี พ.ศ. 2541 ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้ก่อตั้ง พรรคไทยรักไทย ขึ้น และสมาชิกพรรคหลายคนเช่น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, สุรนันท์ เวชชาชีวะ, น.พ.ประจวบ อึ๊งภากรณ์, ศันสนีย์ นาคพงษ์ เป็นต้น ได้ลาออกไปเข้าร่วม จนทำให้พรรคพลังธรรมกลายเป็นเพียงพรรคการเมืองธรรมดา ที่ไม่มีบทบาทสำคัญอะไร ไม่มีสัดส่วนในรัฐสภาอีก

บุคลากร

[แก้]

หัวหน้าพรรค

[แก้]
หัวหน้าพรรคพลังธรรม
ลำดับที่ รูป รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ ตำแหน่งสำคัญ
1

(1)

พลตรี จำลอง ศรีเมือง 9 มิถุนายน พ.ศ. 2531 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2535
- พลเรือเอก ศิริ ศิริรังษี 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2535
(รักษาการ)
6 ตุลาคม พ.ศ. 2535
- สุเทพ อัตถากร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2535
(รักษาการ)
8 เมษายน พ.ศ. 2536
2 บุญชู โรจนเสถียร 9 เมษายน พ.ศ. 2536 17 กันยายน พ.ศ. 2537
1

(2)

พลตรี จำลอง ศรีเมือง 17 กันยายน พ.ศ. 2537 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2538
3 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
4 ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 24 ธันวาคม พ.ศ. 2544
5 ภมร นวรัตนากร 3 มีนาคม พ.ศ. 2545 19 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เลขาธิการพรรค

[แก้]

ผลการเลือกตั้ง

[แก้]

ผลการเลือกตั้งทั่วไป

[แก้]
การเลือกตั้ง จำนวนที่นั่ง คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ผลการเลือกตั้ง สถานภาพพรรค ผู้นำเลือกตั้ง
2531
15 / 357
3,586,878 9.1% เพิ่มขึ้น7 ที่นั่ง ฝ่ายค้าน พลตรี จำลอง ศรีเมือง
มี.ค. 2535
41 / 360
5,104,849 5.1% เพิ่มขึ้น26 ที่นั่ง
ก.ย. 2535
47 / 360
8,293,457 18.0% เพิ่มขึ้น6 ที่นั่ง ร่วมรัฐบาล
2538
23 / 391
4,209,135 7.61% ลดลง24 ที่นั่ง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
2539
1 / 393
1,550,170 4.09% ลดลง22 ที่นั่ง ฝ่ายค้าน
2544
0 / 500
ลดลง 1 ที่นั่ง ไม่ได้รับเลือกตั้ง ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์
2549
1 / 500
เพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ภมร นวรัตนากร

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

[แก้]
การเลือกตั้ง ผู้สมัคร คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ผลการเลือกตั้ง
2528[a] พลตรี จำลอง ศรีเมือง 480,233 50.51%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2533 703,671 63.49%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2535 ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา 363,668 48.04%  สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง
2539 พลตรี จำลอง ศรีเมือง 514,401 33.09% ไม่ พ่ายแพ้
2547 วิทยา จังกอบพัฒนา 811 ไม่ พ่ายแพ้
  1. ลงสมัครในนามกลุ่มรวมพลัง

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.)

[แก้]
การเลือกตั้ง จำนวนที่นั่ง คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ที่นั่งเปลี่ยน ผลการเลือกตั้ง
2533
50 / 57
เพิ่มขึ้น50 เสียงข้างมาก
2537
23 / 55
ลดลง27

นโยบาย

[แก้]
  1. ปฏิรูปการเมือง กลไกทางการเมืองในปัจจุบัน ยังไม่สามารถผลักดัน สังคมไทยไปสู่ความร่มเย็น ดังจะเห็นได้จากความวุ่นวายแตกแยกเป็นฝักฝ่าย การขายรัฐวิสาหกิจ การละเมิดสิทธิของประชาชน การฉ้อฉลอำนาจรัฐ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างและกลไก เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ความ ร่มเย็น เป็นสุข
  2. ปฏิรูปราชการ ระบบราชการ คือ ระบบการดำเนินกิจกรรมเพื่อความร่มเย็น เป็นสุข ระบบราชการต้องมีขนาดกะทัดรัด ภารกิจแจ่มชัด การปฏิบัติโปร่งใส ข้าราชการ คือ ข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ยอมอุทิศประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม
  3. ปฏิรูปงานรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจ เป็นมรดกของชาติ เป็นฐานอำนาจของรัฐ และเป็นสมบัติของปวงชน การบริหารรัฐวิสาหกิจต้องมุ่งสู่ผลแห่งความกินดีอยู่ดีของชนในชาติ และการรักษาดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ
  4. ชุบชีวิตสังคมไทย จัดระบบการถือครองที่ดิน ให้ที่ทำกิน ให้ที่อยู่อาศัย ให้การศึกษา พัฒนาวิชาชีพ

โดยยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพโดยชอบ”

สิ้นสภาพพรรคการเมือง

[แก้]

พรรคพลังธรรม ได้ถูกยุบพรรคลงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เนื่องจากไม่ส่งรายงานการดำเนินกิจการพรรคการเมือง ตามข้อบังคับของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)[5] โดยหัวหน้าพรรคพลังธรรมคนสุดท้ายคือ นายภมร นวรัตนากร

การรื้อฟื้นพรรค

[แก้]

วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559 ไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นคนสนิทและใกล้ชิดกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าได้ทำการพูดคุยกับอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และอดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) บางคนที่เป็นอดีตสมาชิกพรรคพลังธรรมและภาคประชาชนบางส่วนในการเตรียมจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่มีแนวทางเดียวกับพรรคพลังธรรม โดยมี ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรมเป็นหัวหน้าทีมประสานงานเพื่อเตรียมตัวลงเลือกตั้ง

ต่อมาได้มีการแถลงข่าวจัดตั้ง พรรคพลังธรรมใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561 ที่ห้องปทุมวัน โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวีและได้ไปยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยมีนายแพทย์ ระวี มาศฉมาดล อดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคและว่าที่ร้อยตรี นคร ดิวรางกูร รับตำแหน่งโฆษกพรรค

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง "พรรคพลังธรรม"" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
  2. 2.0 2.1 มาร์ค : เขาชื่อ...อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. กรุงเทพฯ : วิถีไท, 2548. 186 หน้า. หน้า 57-65. ISBN 9749335813
  3. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง. ร่วมกันสู้. กรุงเทพฯ : ธีระการพิมพ์, กรกฎาคม 2535. 208 หน้า. หน้า 111. ISBN 974-88799-9-2
  4. 4.0 4.1 หน้า 2, 'คุณหญิงหน่อย' เส้นทาง'สายวัด' ทางลัดสู่ 'อำนาจใหม่' . "ในข่าว". คมชัดลึกปีที่ 16 ฉบับที่ 5652: วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560
  5. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ ๑๙/๒๕๕๐ เรื่อง นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังธรรม

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]