การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย ธันวาคม พ.ศ. 2551
| ||||||||||||||
|
การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องจากวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ของคณะกรรมการบริหารพรรค คนละ 5 ปี
โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือเชิญสมาชิกเข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาลงมติ เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ระหว่างเวลา 09.30-11.30 น. ณ ห้องประชุมรัฐสภา อาคารรัฐสภา 1 โดยมี ส.ส.ลงนามเข้าร่วมการประชุม จำนวน 437 คน จากจำนวนทั้งหมดที่มีอยู่ 438 คน (นายแพทย์ ไกร ดาบธรรม ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ขาดประชุม และ นายสมบัติ สิทธิกรวงศ์ ส.ส.จังหวัดนนทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เสียชีวิตในช่วงเช้าของวันลงมติ) ซึ่งผู้ได้รับเลือกในกรณีดังกล่าว ต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ คือ 219 เสียง จึงจะสามารถนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม เพื่อให้สมาชิกลงมติเลือก จำนวน 2 คน โดย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 8 รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.สัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 6 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.สัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 5 หัวหน้าพรรคประชาราช เสนอชื่อ พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก ส.ส.สัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 3 หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน
ชื่อบุคคลที่ได้รับเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี
[แก้]ผู้ได้รับการเสนอชื่อในสภาผู้แทนราษฎร | |
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | ประชา พรหมนอก |
---|---|
ประชาธิปัตย์ | เพื่อแผ่นดิน |
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (14 พฤศจิกายน 2540 – 17 กุมภาพันธ์ 2544) |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (24 กันยายน – 2 ธันวาคม 2551) |
ผลการลงมติ
[แก้]ภายหลังเสร็จสิ้นการลงคะแนน นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ประกาศผลการนับคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับความเห็นชอบ จำนวน 235 คะแนน ส่วนพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินได้รับความเห็นชอบ 198 คะแนน และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรงดออกเสียง 3 คะแนน (คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายชัย ชิดชอบ และ นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ส.ส. นครราชสีมา พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา) จึงถือได้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาแล้ว จึงถือได้ว่านายอภิสิทธิ์ได้รับความเห็นชอบตามมติของสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พรรคการเมือง | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | ประชา พรหมนอก | งดออกเสียง | ไม่เข้าร่วมประชุม | รวม |
พรรคเพื่อไทย | - | 178 | - | - | 178 |
พรรคประชาธิปัตย์ | 163 | - | 1 | 1 | 165 |
พรรคเพื่อแผ่นดิน | 12 | 9 | - | - | 21 |
พรรคชาติไทยพัฒนา | 14 | 1 | - | - | 15 |
พรรคภูมิใจไทย | 8 | 3 | - | - | 11 |
พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา | 5 | 2 | 1 | 1 | 9 |
พรรคประชาราช | - | 5 | - | - | 5 |
กลุ่มเพื่อนเนวิน | 22 | - | 1 | - | 23 |
กลุ่มอื่น ๆ[1] | 11 | - | - | - | 11 |
รวม | 235 | 198 | 3 | 2 | 438 |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกอบด้วยกลุ่มของนายสุวิทย์ คุณกิตติ, กลุ่มราชบุรีของนายสรอรรถ กลิ่นประทุม, กลุ่มพ่อมดดำของนายสุชาติ ตันเจริญ และกลุ่มที่ถูกเรียกว่ากลุ่มอำนาจพิเศษ
- อภิสิทธิ์-ประชา" ลุ้นระทึก! ศึกชิงเก้าอี้นายก เก็บถาวร 2009-01-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย ธันวาคม พ.ศ. 2551 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย กันยายน พ.ศ. 2551 | การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในประเทศไทย |
การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2554 |