ข้ามไปเนื้อหา

คดีระบายข้าวจีทูจี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คดีระหว่างอัยการสูงสุด กับภูมิ สาระผล และพวก
(คดีระบายข้าวจีทูจี)
สาระแห่งคดี
ข้อกล่าวหา ทำสัญญาขายข้าวให้แก่รัฐวิสาหกิจจีนรวม 4 สัญญา โดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดทำให้รัฐเสียหาย ความจริงเป็นการขายข้าวบางส่วนให้แก่พ่อค้าข้าวในประเทศ มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐฯ
คู่ความ
โจทก์ อัยการสูงสุด
ผู้ร้อง กรมการค้าต่างประเทศ, ที่ 1
กับพวก รวม 5 คน
จำเลย • ภูมิ สาระผล, ที่ 1
• บุญทรง เตริยาภิรมย์, ที่ 2
• บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด, ที่ 10
• อภิชาติ จันทร์สกุลพร, ที่ 14
กับพวก รวม 28 คน
ศาล
ศาล ไทย ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
พิพากษา
" ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึง 21 ยกเว้นจำเลยที่ 3 และที่ 16 ซึ่งหลบหนี ลดหลั่นลงตามพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด และให้จำเลยที่ 10, 14 และ 15 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งนับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ จำเลยอื่นให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 22 ถึง 28 "
คดีหมายเลขดำที่ • อม. 25/2558
• อม. 1/2559
ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2560
มติ มติองค์คณะผู้พิพากษา
กฎหมาย
  • ประมวลกฎหมายอาญา
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

คดีระหว่างอัยการสูงสุด กับภูมิ สาระผล และพวก หรือคดีระบายข้าวจีทูจี เป็นคดีแพ่งและอาญาที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลย และพวกรวม 28 คน ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการทำสัญญาขายข้าวกับบริษัทของประเทศจีนจำนวน 4 สัญญาโดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ แต่ความจริงเป็นการขายข้าวบางส่วนแก่พ่อค้าข้าวในประเทศ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558

ศาลฯ อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ว่า จำเลยที่ 1 ถึง 21 ยกเว้นจำเลยที่ 3 และที่ 16 ซึ่งหลบหนี มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกลดหลั่นลงตามพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด ให้จำเลยบางส่วนชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง และให้ยกฟ้องจำเลยบางส่วน

เบื้องหลัง

[แก้]

วันที่ 20 มกราคม 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 7–0 ชี้มูลความผิดของบุญทรงกับพวก แบ่งเป็นนักการเมือง 3 คน เจ้าหน้าที่รัฐ 3 คนและเอกชน 15 คน รวมทั้งอภิชาติ จันทร์สกุลพร ตัวเลขของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวสรุปว่า โครงการดังกล่าวมียอดขาดทุนสะสม 6 แสนล้านบาท[1]

วันที่ 15 มีนาคม 2558 หลังได้รับสำนวนของ ป.ป.ช. ตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด สั่งยื่นฟ้องบุคคล ได้แก่ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว, ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว และอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 คน, ข้าราชการการเมือง 3 คน นิติบุคคลและกรรมการบริษัทรวม 21 คน ตามความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต ศาลให้ประกันจำเลย วงเงินระหว่าง 5–20 ล้านบาท[2]

คำฟ้องมีว่าว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 21 ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ และพ่อค้าข้าว ร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำสัญญาขายข้าวให้แก่บริษัท Guangdong Stationery & Sporting Goods Import & Export Corporation ("บริษัทกวางตุ้ง") และบริษัท ไห่หนาน เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล เทรดดิ้ง จำกัด ("บริษัทห่ายหนาน") ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวม 4 สัญญา โดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดทำให้รัฐเสียหาย ความจริงเป็นการขายข้าวบางส่วนให้แก่พ่อค้าข้าวในประเทศเป็นการเสนอราคาซื้อขายโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ งบประมาณแผ่นดิน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ประเทศชาติ และประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86, 91, 151, 157 และว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10, 12 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123, 123/1 และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญา 2 สัญญา จำนวน 23,498 ล้านบาท และปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 ร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญาทั้ง 4 สัญญา จำนวน 35,274 ล้านบาท[3]

วันที่ 29 มิถุนายน 2558 จำเลยมาแสดงตัวครั้งแรกต่อองค์คณะผู้พิพากษา ขาดพันตรี นายแพทย์ วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการ และอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 3 และสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 ไม่มาศาลตามนัดมีพฤติการณ์หลบหนีคดี ศาลจึงให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีชั่วคราวของจำเลยทั้งสองไว้ตั้งแต่นั้น[2]

ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2559 ผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นส่วนราชการได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 28 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 26,366 ล้านบาท คดีจึงกลายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

คดีนี้ศาลอนุญาตให้นำพยานโจทก์เข้าไต่สวน 27 ปาก พยานจำเลย 103 ปาก รวมพยาน 130 ปาก กำหนดนัดไต่สวน 20 นัด ไต่สวนพยานนัดแรกได้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายแล้วเสร็จวันที่ 5 กรกฎาคม 2560

คำพิพากษา

[แก้]

ศาลฯ นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 วันนั้นตำรวจได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยรอบศาล โดยเปิดให้รถเข้าทางเดียว รถของผู้สื่อข่าวจะต้องแจ้งทะเบียนรถล่วงหน้า ส่วนสื่อมวลชนอนุญาตให้เข้าฟังในห้องพิจารณา 70 คน[4]

ศาลอ่านคำพิพากษา เห็นว่า ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ใช้เกณฑ์ราคาขายแบบหนังคลังสินค้าซึ่งผิดไปจากแนวทางปฏิบัติในกรณีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ จากนั้นเห็นชอบให้ขายข้าวแก่บริษัทกว่างตง จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน 2 สัญญา ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย 11,011 ล้านบาท ต่อมา บุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวแทน เห็นชอบสัญญาซื้อขายข้าวกับบริษัทกว่างตง 1 ฉบับ ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย 5,694 ล้านบาท ทั้งเห็นชอบให้ทำสัญญากับบริษัทห่ายหนาน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 162 ล้านบาท ภายหลังการซื้อขายทั้งสี่ฉบับปรากฏว่ามีการชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คภายในประเทศและรับมอบข้าวไปขายต่อภายในประเทศ โดยไม่มีการส่งข้าวออกไปยังประเทศอื่น กระบวนการดังกล่าวกระทำโดยภูมิ, บุญทรง, อภิชาติ จันทร์สกุลพรและวกร่วมกันนำบริษัทกว่างตงและบริษัทห่ายหนานมาขอซื้อข้าวโดยแอบอ้างว่าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนมาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าท้องตลาดโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมอันเป็นการเอาเปรียบแก่กรมการค้าต่างประเทศ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เมื่อราคาข้าวในท้องตลาดลดลง รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อข้าวก็จะไม่ยอมมารับข้าวตามสัญญา แต่มาขอทำสัญญาฉบับใหม่ซื้อข้าวชนิดเดียวกันในคาคาต่ำลงกว่าสัญญาเดิม โดยบุญทรงไม่เปิดประมูลขายข้าวภายในประเทศ ทำให้ข้าวในท้องตลาดขาดแคลน ผู้ประกอบการค้าข้าวไม่สามารถหาซื้อข้าวในท้องตลาดได้ จำต้องไปหาซื้อข้าวจากกลุ่มบริษัทและพนักงานของอภิชาติ ศาลเห็นว่าเป็นการซื้อโดยไม่ทราบว่าเป็นข้าวที่มาจากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

พิพากษาจำคุกบุญทรง เตริยาภิรมย์ 42 ปี ภูมิ สาระผล 36 ปี อภิชาติ จันทร์สกุลพร 48 ปี จำเลยที่เหลือจำคุกลดหลั่นลงตามพฤติการณ์แห่งความผิด และให้ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด, อภิชาติ จันทร์สกุลพรและนิมลร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง 16,912 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ จำเลยอื่นให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 22 ถึง 28

หลังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวขึ้นรถเรือนจำออกจากศาล เพื่อนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทนายความจำเลยได้เขียนคำร้องเพื่อยื่นประกันจำเลยระหว่างที่รอใช้สิทธิอุทธรณ์คดี[5] แต่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฯ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง[6] ทั้งนี้ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 195 ได้ โดยให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่มีคำพิพากษา

สำนักข่าวอิศราจำแนกบทลงโทษจำเลยแต่ละคนไว้ดังนี้[7]

ชื่อและตำแหน่ง ความผิด บทลงโทษ หมายเหตุ
ป.อ.
ม. 151
พ.ร.บ.ฮั้ว
ม. 4
พ.ร.บ.ป.ป.ช.
ม. 123/1
ภูมิ สาระผล
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
จำคุก 36 ปี
บุญทรง เตริยาภิรมย์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณชย์
จำคุก 48 ปี
พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ
อดีตผู้ช่วยเลขานุการ และอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
หลบหนี
มนัส สร้อยพลอย
อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
จำคุก 40 ปี
ฑิฆัมพร นาทวรทัต
อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว
จำคุก 32 ปี
อัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง
อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ
จำคุก 24 ปี
สมคิด เอื้อนสุภา
อ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากกวางตุ้ง และห่ายหนาน
จำคุก 16 ปี
ลิตร พอใจ
อ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากกวางตุ้ง และห่ายหนาน
จำคุก 8 ปี
รัฐนิธ โสจิระกุล
อ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทกวางตุ้ง
จำคุก 8 ปี
• รัตนา แซ่เฮ้ง
• เรืองวัน เลิศศลารักษ์
เครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด
จำคุก 16 ปี
อภิชาติ จันทร์สกุลพร
เครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด
จำคุก 48 ปี
นิมล รักดี
เครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด
จำคุก 32 ปี
• สุทธิดา ผลดี
• สุนีย์ จันทร์สกุลพร
• กฤษณะ สุระมนต์
กรรมการ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด
จำคุก 4 ปี
สุธี เชื่อมไธสง หลบหนี
สมยศ คุณจักร ยกฟ้อง
ธันยพร จันทร์สกุลพร หลบหนี
จำเลยที่ 22-28 ยกฟ้อง

คดีที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

ในปีเดียวกัน ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยให้จำคุกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 5 ปีฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโรงการดังกล่าว[8]

ในเดือนเมษายน 2564 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมบังคับคดีอายัดไว้ 35,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดแล้วมูลค่า 49.5 ล้านบาท แต่ศาลพิเคราะห์ว่าหน่วยงานทั้งสองไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง จึงไม่ต้องรับผิด แต่ก่อนหน้านั้น ในเดือนมีนาคม ศาลปกครองกลางเห็นว่าคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ให้จำเลยในคดีนี้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนชอบด้วยกฎหมายแล้ว[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มติปปช.เอกฉันท์ฟันบุญทรงร่วมกับพวกทุจริต
  2. 2.0 2.1 ลำดับเหตุการณ์คดี'บุญทรง-พวก'ทุจริตระบายข้าวจีทูจี
  3. ศาลฎีกาสั่งจำคุกบุญทรง 42 ปี คดีขายข้าวรัฐต่อรัฐ ไม่รอลงอาญา สั่งเอกชนชดใช้ 1.6 หมื่นล้าน
  4. 25ส.ค.ชี้ชะตา ‘ปู’ กับพวก-ศาลอ่านคดี ‘จีทูจี’ ก่อน ‘จำนำข้าว’
  5. ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก “บุญทรง”ขายข้าวจีทูจี 42 ปี
  6. "บุญทรง"วืดประกันนอนคุกยาวฮั้วจีทูจี
  7. INFO:จำแนกครบ17จำเลย-โทษเรียงคนคดีทุจริตข้าวจีทูจีเจ๊งหมื่นล.ยกฟ้อง 8-ออกหมายจับ3
  8. "สั่งจำคุก 5 ปี ยิ่งลักษณ์ ไม่รอลงอาญา คดีจำนำข้าว". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 3 April 2021.
  9. "เปิดสาระสำคัญคำสั่งศาลปกครอง ทำไมยิ่งลักษณ์ไม่ต้องชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน คดีจำนำข้าว". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 3 April 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]