ขนมกุยช่าย
ขนมกุยช่ายแบบนึ่ง ไส้เป็นกุยช่ายเขียว | |
ชื่ออื่น | ช่วยปั้น |
---|---|
แหล่งกำเนิด | จีน |
ส่วนผสมหลัก | ตัวขนมเป็นแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งมัน ไส้เป็นกุยช่ายเขียวหรืออื่น ๆ |
รูปแบบอื่น | แบบติ่มซำ แบบแต้จิ๋ว แบบถาด แบบปากหม้อ |
ขนมกุยช่าย (จีน: 韭菜粿; แต้จิ๋ว: กู๋ไช้ก้วย; เพ็งอิม: gu2 cai3 guê2; จีนกลาง: จิ่วไช่กั่ว) หรือที่เขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีเรียก ช่วยปั้น [1] เป็นขนมประเภทแป้งของชาวจีนแต้จิ๋วชนิดหนึ่ง ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งมัน ไส้ทำจากกุยช่ายเขียว ขนมกุยช่ายของชาวจีนแต้จิ๋วจะหมายถึงชนิดที่ไส้ทำจากกุยช่ายเท่านั้น[2] ส่วนในไทย ขนมกุยช่ายที่ทำจากแป้งอย่างเดียวกันแต่เปลี่ยนไส้เป็นแบบอื่น เช่น ไส้เผือก ไส้หน่อไม้ ไส้มันแกว ล้วนเรียกว่าขนมกุยช่าย[3] กุยช่ายแบบจีนนั้นมีแบบที่เป็นติ่มซำ ซึ่งทำชิ้นเล็ก แป้งใช้แป้งตังหมิ่นซึ่งเป็นแป้งสาลีที่นำกลูเต็นออกแล้วแทนแป้งข้าวเจ้า มีทั้งแบบนึ่งและทอด ถ้าทอดจะเรียกว่า ขนมกุยช่ายทอด อีกแบบหนึ่งเป็นขนมกุยช่ายแบบแต้จิ๋วที่มีขนาดใหญ่กว่า[4]
สำหรับขนมกุยช่ายที่เป็นที่นิยมในไทย มี 3 แบบ คือ ขนมกุยช่ายแบบแต้จิ๋ว ที่ทำเป็นก้อนขนาดใหญ่ ขนมกุยช่ายแบบถาด ที่ใส่กุยช่ายกวนไปพร้อมแป้งแล้วนึ่งให้สุก และขนมกุยช่ายปากหม้อหรือขนมกุยช่ายแป้งสด ซึ่งใช้แป้งแบบข้าวเกรียบปากหม้อ แต่เปลี่ยนไส้เป็นขนมกุยช่ายผัดแทน[3]
ขนมกุยช่ายโดยทั่วไปเนื้อแป้งจะเป็นสีขาว หากใช้ในงานเทศกาลหรือไหว้เจ้าต่าง ๆ เนื้อแป้งจะเป็นสีชมพูหรือแดงเรื่อ ๆ[5]
โดยสถานที่ ๆ ขึ้นชื่อเรื่องขนมกุยช่ายอร่อยนั้นคือ ตลาดพลู ในเขตธนบุรี สันนิษฐานว่าเข้ามาสู่ประเทศไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และแพร่หลายโดยทั่วไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ตลาดสดสนามเป้า 19 ตุลาคม 2557 (FULL) [HD] "9 คู่ฮา" โชว์ทีเด็ด ประชันแซบกลาง "ตลาดสดฯ"". ช่อง 5. 19 October 2014. สืบค้นเมื่อ 20 October 2014.
- ↑ ทัศน์ ศุกลรัตนเมธี. สืบสานตำนาน อาหารแต้จิ๋ว. กทม. ตู้กับข้าว. 2556
- ↑ 3.0 3.1 กุยช่าย. กทม. แม่บ้าน. 2555
- ↑ ติ่มซำห้องแถวเป็นอาชีพ. กทม. แสงแดด. 2556
- ↑ 5.0 5.1 "พินิจนคร: ตลาดพลู อู่อาหาร คลังการค้านานาชาติ แห่งราชธานี". ไทยพีบีเอส. 7 December 2009. สืบค้นเมื่อ 22 September 2014.