ข้ามไปเนื้อหา

ขนมเทียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขนมเทียน หรือ ขนมนมสาว ทางภาคเหนือเรียกว่า ขนมจ็อก ทางภาคใต้เรียกว่า ขนมเถ้าเป้า ส่วนภาษาอีสานเรียกว่า ขนมหมก เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีไส้ ห่อด้วยใบตองเป็นทรงสามเหลี่ยมหรือทรงพีระมิด ไส้ทำด้วยถั่วทองนึ่ง พริกไทย เกลือ และน้ำตาลทราย ผัดให้เข้ากัน[1] เป็นขนมที่นิยมใช้ในงานบุญ โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ แต่เดิมมีไส้มะพร้าวและไส้ถั่วเขียว แต่ในปัจจุบันมีการดัดแปลงไส้ออกไปหลากหลายมาก[2]

ขนมเทียนมีกล่าวไว้ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า[1]

รสรักยักลำนำ ประดิษฐ์ทำขนมเทียน
คำนึงนิ้วนางเจียน เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม

เหตุที่เรียกว่าขนมเทียน สันนิษฐานว่าเป็นเพราะเนื้อแป้งของขนมเทียนมีลักษณะเนียนเป็นมันคล้ายเนื้อของเทียน ในภาษาจีนกลางไม่มีคำเรียกขนมเทียน ส่วนในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกด้วยคำภาษาไทยว่า หนุมเทียน สันนิษฐานว่าคนจีนในประเทศไทยคงผสมผสานวัฒนธรรม นำขนมซึ่งเป็นขนมในงานบุญของไทยมาใช้เป็นขนมไหว้ผีในเทศกาลสารทจีนและตรุษจีน จนขนมเทียนกลายมาเป็นขนมประจำเทศกาลทั้งสองนี้ คู่กับขนมเข่งซึ่งป็นขนมประจำเทศกาลตรุษจีนมาแต่เดิม[1]

ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมใช้ขนมเทียนในการไหว้บรรพบุรุษช่วงวันตรุษและวันสารท ไส้เป็นถั่วเขียวกวนบด ถ้าแบบเค็มจะใส่พริกไทยและเกลือ แบบหวานใส่มะพร้าวและน้ำตาลลงไปเพิ่ม ตัวแป้งทำด้วยแป้งถั่วและเห็นไส้ด้วยเรียกขนมเทียนแก้ว

ในพิธีกรรมของชาวชอง จะใช้ขนมเทียนในพิธีไหว้ผีหิ้งด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ขนมเทียน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
  2. "อาหารล้านนา: ขนมจ็อก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-20. สืบค้นเมื่อ 2010-05-01.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]