แกงนอกหม้อ
ประเภท | แกง |
---|---|
มื้อ | อาหารจานหลัก |
แหล่งกำเนิด | ไทย |
ส่วนผสมหลัก | เนื้อสัตว์ (เนื้อไก่หรือเนื้อหมู) พริกแกง ผักต่าง ๆ |
แกงนอกหม้อ เป็นอาหารไทยประเภทแกง เป็นอาหารถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ ยังพบอำเภอที่ยังปรุงแกงนอกหม้อกันอยู่ เช่น อำเภอลาดยาว อำเภอชุมแสง อำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอบรรพตพิสัย และอำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นต้น
แกงนอกหม้อมีหน้าตาโดยรวมคล้าย ๆ แกงคั่ว เนื้อสัตว์ที่นิยมนำมาใช้คือ เนื้อไก่หรืออาจใช้เนื้อหมูก็ได้ จะมีการคั่วเครื่องแกงไว้ก่อน คั่วไก่ไว้ก่อน เสร็จแล้วก็เอาคั่วรวมกันอีกที โดยใส่ผักต่าง ๆ เช่น ผักชี หัวปลี (บางพื้นที่เอามาแกล้มสด ๆ บางพื้นที่ก็คั่วหรือผัดไปด้วยเลย)[1] มีรสชาติออกเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ มีกลิ่นของผงเครื่องเทศลาบ มีความมันของกะทิ มีความเผ็ดแบบที่ต้องมีข้าวกับผักมากินคู่กัน เช่นหยวกกล้วย[2] หรือกินกับหมี่ทอดกรอบ[3] บ้างสันนิษฐานว่าเมื่อรับประทานลาบบ่อย ๆ จึงเกิดเบื่อ จึงนำกะทิมาใส่ในลาบจึงเกิดเป็นอาหารรสชาติใหม่[4]
แกงนอกหม้อตามที่บันทึกไว้ในตำราอาหาร แม่ครัวหัวป่าก์ เขียนโดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ระบุว่าคำว่าแกงนอกหม้อนั้น น่าจะหมายถึงแกงหรืออาหารที่ไม่ได้นำส่วนผสมไปเคี่ยวหรือต้มให้สุก แต่เป็นแกงที่นำน้ำแกงมาราดที่ส่วนผสมของแกง แล้วสามารถรับประทานได้เลย คือเป็นการเสิร์ฟคล้ายการเสิร์ฟแบบจีนและญี่ปุ่น โดยการนำน้ำแกงราดในส่วนผสมและเสิร์ฟทันที สำหรับตำรับท่านผู้หญิงเปลี่ยน วัตถุดิบสำคัญ คือกุ้งสดต้ม ปลาช่อนแห้งและปลาสลิดแห้งปิ้ง ทั้งสามอย่างฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผักที่ใช้มีแตงกวาปอกเปลือก ฝานเอาแต่เนื้อบาง ๆ มะม่วงดิบสับซอย ใบผักชี พริกชี้ฟ้าหั่น ปรุงรสด้วยกระเทียมดองหั่นฝอยและน้ำกระเทียมดอง น้ำปลา น้ำมะนาว น้ำวัตถุดิบทั้งหมดใส่ในชามก้นลึก เอาหม้อน้ำต้มกุ้งตั้งไฟให้เดือด จึงตักน้ำต้มกุ้งร้อนจัดใส่ในชาม ให้ท่วมชิ้นวัตถุดิบเหล่านั้น[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ""แกงนอกหม้อ" นครสวรรค์ "1 จังหวัด 1 เมนู" 2567". ไทยรัฐ.
- ↑ "เรื่องเล่าจากแกงนอกหม้อ [นครสวรรค์]". ไทยพีบีเอส.
- ↑ "(คลิป)น่าลิ้มลอง! "แกงนอกหม้อ"เมนูนครสวรรค์คงรสสูตรโบราณ มีแต่งานบุญ-ปีใหม่รวมญาติถึงจะได้กิน". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "เมนูอาหารถิ่นของจังหวัด "รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste"" (PDF).
- ↑ กฤช เหลือลมัย. "แกงประชาธิปไตย ความหมายที่อยู่นอกหม้อ". มติชน.