ขนมต้ม
ขนมต้ม เป็นขนมที่มีหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เข้ามาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์และลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้า โดยเชื่อกันว่าพระพิฆเนศโปรดขนมนี้มาก ครั้งหนึ่งเสวยเข้าไปจนเต็มพุง เมื่อขี่หนูกลับวิมาน ระหว่างทางหนูมาเจองู ตกใจจึงหยุดทันที พระพิฆเนศตกจากหลังหนู พุงแตก พระพิฆเนศเสียดายขนมจึงกอบเข้าใส่พุงใหม่แล้วเอาซากงูที่ตีตายแล้วมาพันพุงไว้ แล้วจึงกลับไปวิมาน[1] ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในพิธีบวงสรวงเทวดา ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ยกเสาเอก ตั้งศาลพระภูมิ ในประเพณีสู่ขอแต่โบราณในบางท้องที่ใช้ขนมต้มด้วย ดังมีเพลงพวงมาลัยร้องเล่นว่า[2]
โอ้ละเหยลอยมา | ลอยมาแล้วก็ลอยไป | |
พ่อแม่ท่านเลี้ยงมายาก | จะกินขันหมากให้ได้ |
ไม่ได้กินหนมต้มอมน้ำตาล | น้องไม่รับประทานของใคร | |
พวงเจ้าเอ๋ยมาลัย | ถอยหลังกลับไปเถิดเอย |
ขนมต้มขาวนั้น ใช้แป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลม ใส่ไส้น้ำตาลหม้อ ลงไปต้มให้สุก โรยด้วยมะพร้าวขูด ต่อมาจึงทำหน้ากระฉีก ซึ่งเป็นมะพร้าวขูดมาเคี่ยวกับน้ำตาลหม้อจนเหนียว ใช้เป็นไส้แทน ส่วนขนมต้มแดง ใช้แป้งข้าวเหนียวแผ่เป็นแผ่นแบน ต้มให้สุก ราดด้วยหน้ากระฉีกที่ค่อนข้างเหลว[1]
ขนมที่เรียกว่าขนมต้มของภาคใต้จะต่างไปจากภาคกลาง ขนมต้มของภาคใต้จะเป็นข้าวเหนียวผสมน้ำกะทิห่อใบกะพ้อแล้วเอาไปต้ม บางท้องที่เรียกห่อต้ม ขนมที่ทำแบบนี้ทางภาคกลางเรียก ข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มผัด[3]