ข้ามไปเนื้อหา

ขนมชะมด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขนมชะมด เป็นขนมที่มีหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและสุโขทัย มีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุว่า ในตลาดขายขนมหรือป่าขนมมีขนมชะมดขายด้วย

ขนมนี้จัดเป็นขนมเสี่ยงทายในงานแต่งงาน ไส้เป็นถั่วทองแช่น้ำนึ่งสุกโขลกผสมเกลือและพริกไทย เป็น 3 ลูกบีบติดแล้วชุบแป้งทอด ถ้าทอดแล้วแยกออกจากกัน หมายความว่าจะอยู่ด้วยกันไม่ยืด ถ้ายังติดกัน 2 ลูก หมายความว่าจะมีลูกยาก บางทีต้องชุบแป้ง 3-4 ครั้งจึงไม่แตกจากกัน การแตกจากกันของขนมนี้หมายถึงความแตกแยกของคู่สมรส บางครั้งต้องเปลี่ยนคนทำใหม่ เรียกว่า หาหมอมาแก้

ขนมที่ใกล้เคียงกับขนมชะมดได้แก่ ขนมสามเกลอ ซึ่งวิธีทำและรูปร่างคล้ายกันแต่ไส้ต่างไปคือไส้กระฉีกผสมถั่วทองบดหุ้มด้วยแป้งข้าวเหนียวแล้วชุบแป้งทอด กับขนมละมุดที่คล้ายขนมสามเกลอแต่ทำเป็นลูกโดดขนาดใหญ่[1]


ความเชื่อ ประเพณีนิยม ที่เกี่ยวข้องกับ ขนมชะมด ขนมสามเกลอ

ขนมสามเกลอ ขนมชะมด (รวมถึงขนมละมุด) นั้น เป็นขนมที่ใช้ในพิธีแห่ขันหมาก รวมถึง พิธีแต่งงาน อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก ขนมที่กล่าวมานี้ มีความหมายถึงครอบครัวอันเป็นปึกแผ่น และยังเป็นขนมเสี่ยงทายด้วย กล่าวคือ การที่เอาขนม 3 ลูก ติดกันแล้วนำไปชุบแป้งทอดนั้น ถ้าขนมยังติดกันทั้ง 3 ลูก หมายความว่า คู่บ่าวสาว จะอยู่กันราบรื่น ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง จะมีลูกด้วยกัน แต่ถ้าขนมติดกัน 2 ลูก หลุดออกไป 1 ลูก หมายความว่า คู่บ่าวสาวนี้ จะมีลูกยากไม่มีลูกด้วยกัน แต่ถ้าทั้ง 3 ลูก แตกจากกัน หมายความว่า จะอยู่กันไม่ยืด ไม่มีความสุข (อ้างอิงจาก หนังสือ แกะรอยสำรับไทย) ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จะใช้ไม้เสียบไว้ ไม่ให้ขนมหลุดแยกออกจากกัน หรืออาจนำขนมมาชุบแป้งทอดใหม่ ๓-๔ ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ขนมแยกออกจากกันได้ หรืออีกทางเลือกหนึ่งอาจเปลี่ยนคนทอดขนมใหม่ เรียกว่า หาหมอมาแก้ นอกจากนี้ ตอนทอดขนมก็มีความสำคัญ กล่าวคือ ถ้าทอดขนมฟู ลูกที่พองขึ้นกลมสวย ไม่แตกไม่ยุบ เรียกกันว่า หัวแก้วหัวแหวน เสี่ยงทายได้ว่าเป็นคู่ที่ดีเลิศ (อ้างอิงจาก หนังสือ อาหารที่เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่อง) ซึ่งนี่อาจจะเป็นกลอุบายของคนโบราณ ต้องการให้คนทำมีสมาธิในการปล่อยวางก้อนขนมสามเกลอในกระทะ ถ้าไม่ตั้งจิตตั้งใจทำ ขนมก็จะแยกจากกัน (อ้างอิงจาก หนังสือ แกะรอยสำรับไทย)

อ้างอิง

[แก้]
  • วันดี ณ สงขลา. อาหารไทยในวรรณคดี เล่ม 2. กทม. ผลิตภัณฑ์การพิมพ์. 2527
  • อ้างอิงจาก หนังสือ แกะรอยสำรับไทย
  • อ้างอิงจาก หนังสือ อาหารที่เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
  1. พลศรี คชาชีวะ. ขนมในพิธีแต่งงานของไทย. แม่บ้านทันสมัย. 7 (96): 45-48, สิงหาคม 2535