ข้ามไปเนื้อหา

ไทยวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไทยวน
ᨤᩫ᩠ᨶᨾᩮᩬᩥᨦ
คนเมือง
การรำของชาวยวนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยนางรำ นุ่งซิ่นต๋าลื้อสวมเสื้อปั๊ด แบบชาวไทลื้อ ไทเขิน ประกอบการรำ
ประชากรทั้งหมด
6,000,000[1]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศไทย, ประเทศลาว (ห้วยทราย, เมืองต้นผึ้ง), ประเทศพม่า (ท่าขี้เหล็ก, เมียวดี)
ภาษา
ภาษาไทยเหนือ (คำเมือง) และ ภาษาไทยกลาง
ศาสนา
ศาสนาพุทธเถรวาท และศาสนาผี ส่วนน้อยนับถือ ศาสนาพุทธมหายาน ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ชาวไท

ยวน, โยน, โยนก, ไทยวน, ไตยวน, ไทยภาคเหนือ, ไทยล้านนา, คนเมือง (คำเมือง: ᨤᩫ᩠ᨶᨾᩮᩬᩥᨦ, คนเมือง)[2] เป็นประชากรที่พูดภาษาตระกูลภาษาขร้า-ไทกลุ่มหนึ่ง ตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของประเทศไทยซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนา[3] เป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักร ปัจจุบันชาวไทยวนเป็นพลเมืองหลักในภาคเหนือของประเทศไทย มักเรียกตนเองว่า "คนเมือง" ซึ่งเป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เพื่อฟื้นฟูประชากรในล้านนาหลังสงคราม โดยการกวาดต้อนกลุ่มคนจากที่ต่าง ๆ เข้ามายังเมืองของตน

ประวัติ

[แก้]

สมัยก่อนล้านนา

[แก้]

หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวไทยวนนั้นไม่แน่ชัด เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชนชาติไทย บ้างก็ว่าชาวไทยวนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาสู่แหลมอินโดจีน แล้วมาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งมีผู้คนอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาตั้งชุมชนตามหุบเขา ริมแม่น้ำ ที่ราบลุ่มต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงราย[4]

ตามตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า สิงหนวัติกุมารได้อพยพผู้คนบริวารมาจากนครไทยเทศ เมืองราชคฤห์ (เข้าใจว่าอยู่ในมณฑลยูนนาน) มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เชียงแสนราวต้นสมัยพุทธกาล ตั้งชื่อบ้านเมืองนี้ว่า โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น เรียกประชาชนเมืองนี้ว่า ยวน ซึ่งเป็นเสียงเพี้ยนมาจากชื่อเมือง "โยนก" นั่นเอง[5]

ส่วนตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่ามีชนชาติหนึ่งเข้ามาอยู่อาศัยอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดลำพูนและลำปาง บริเวณรอยต่อประเทศพม่า ลาว และไทย ในปัจจุบัน กล่าวกันว่ากษัตริย์ชาวลัวะองค์แรกเสด็จลงมาจากสวรรค์พร้อมกับบริวาร 1,000 คน มาเพื่อปกครองชนชาติอื่น ๆ นามว่า พระเจ้าลาวจักรเทวราชา (ลาวจกราช, ลวจักราช) ทรงสร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง ปฐมกษัตริย์น่าจะมาพร้อมกับผู้ติดตามกลุ่มไทยกลุ่มใหญ่ อพยพเข้าทางดินแดนของชาวลัวะเมื่อประมาณ พ.ศ. 1600–1700[6]

อาณาจักรล้านนา

[แก้]

พญามังรายทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาเมื่อ พ.ศ. 1802 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว ต่อมาย้ายราชธานีมาอยู่เชียงราย และมีอำนาจเหนือเมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือคือ แคว้นหริภุญไชย ละกอน(ลำปาง) ซึ่งเป็นแคว้นของชาวมอญ และเชียงของ เป็นต้น ต่อมาทรงสร้างเมืองใหม่ที่นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1839 พอในสมัยพญาผายูได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1882 เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร จนต่อมา พ.ศ. 2101 พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีได้นำทัพมาตี อาณาจักรล้านนา ทำให้พม่าปกครองเมืองเหนือเป็นเวลานานถึง 200 ปี

แยกย้าย

[แก้]

ใน พ.ศ. 2347 ซึ่งขณะนั้นเชียงแสนตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช พร้อมด้วยกองทัพลาว ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน เมื่อตีเมืองเชียงแสนได้แล้วจึงให้รื้อกำแพงเมือง รื้อบ้านเมือง และรวบรวมผู้คนชาวเชียงแสนโดยแบ่งเป็น 5 ส่วน ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่เชียงใหม่ ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่ที่ลำปาง ส่วนหนึ่งอยู่ที่น่าน ส่วนหนึ่งอยู่ที่เวียงจันทน์ และอีกส่วนหนึ่งให้เดินทางมายังภาคกลางโดยให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราชบุรีและสระบุรี[7]

ที่มาของชื่อ

[แก้]

ชื่อที่ใช้เรียกตนเอง

[แก้]

ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์และสังคีตวงศ์ ได้ระบุชื่อถึงว่าล้านนามีศูนย์กลางที่เชียงใหม่ชื่อ “พิงครัฐ” และมีคำว่า โยนรัฐและโยนประเทศ ที่หมายถึงแคว้นโยนก ในพงศาวดารโยนก ได้เรียกล้านนาว่า ล้านนาไทยโยนกประเทศ มหารัฏฐะ และสามเทสะ[8] ส่วนในตำนานพระเกศธาตุเมืองสร้อยได้เรียกล้านนาว่า "เมืองไทย" เช่นเดียวกับในโคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่ก็ได้เรียกล้านนาว่า "เมืองไทย" เช่นเดียวกัน และ "เมืองพิง" ก็เป็นอีกคำที่ใช้เรียก[9] แต่ชาวล้านนาในสมัยดังกล่าวจะนิยามตนเองหลากหลายชื่อ เช่น ไทย ไต ไท ไทโยน ไทยวน ไตโยน ไตยวน[10]

ส่วนคำว่า “คนเมือง” เป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เพื่อฟื้นฟูประชากรในล้านนาหลังสงคราม โดยการกวาดต้อนกลุ่มคนจากที่ต่าง ๆ เข้ามายังเมืองของตน เช่น ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ และไทยอง[ต้องการอ้างอิง]

ชื่อที่ชาวไทยภาคกลางใช้เรียก

[แก้]

ชาวไทยภาคกลางในสมัยโบราณเคยเรียกชาวไทยในถิ่นเหนือว่า "ยวน" โดยปรากฏหลักฐานในวรรณคดีเช่น ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งกวีของอยุธยารจนาขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นักวิชาการต่างประเทศสันนิษฐานว่า คำว่า ยวน อาจจะมาจากคำสันสกฤตว่า yavana แปลว่าคนแปลกถิ่นหรือคนต่างถิ่น[11]

ชื่อที่ชาวต่างชาติใช้เรียก

[แก้]

ชื่อที่ชาวอังกฤษใช้เรียก

[แก้]

เจ้าอาณานิคมอังกฤษในสมัยที่เข้าปกครองพม่ามองว่าชาวยวนเป็นพวกเดียวกับชาวชาน (ไทใหญ่) โดยเรียกพวกนี้ว่า "ชานสยาม" (Siamese Shan) เพื่อแยกแยะออกจากจากชาวรัฐชานในประเทศพม่าที่อังกฤษเรียกว่า "ชานพม่า" (Burmese Shan)[12] แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทใหญ่หลาย ๆ กลุ่ม

ชื่อที่ชาวจีนใช้เรียก

[แก้]

หลักฐานจีนเรียกล้านนาว่า ปาไป่สีฟู่กั๋ว แปลว่า "อาณาจักรสนมแปดร้อย" เป็นชื่อที่ราชวงศ์หยวนใช้เรียกอาณาจักรล้านนา ที่มาของชื่อมีอธิบายในพงศาวดารราชวงศ์หยวนฉบับใหม่ กล่าวไว้ว่า "อันปาไปสีฟู่ [สนมแปดร้อย] นั้น ชื่อภาษาอี๋ว่าจิ่งไม่ [เชียงใหม่] เล่าลือกันว่าผู้เป็นประมุขมีชายาถึงแปดร้อย แต่ละคนเป็นผู้นำค่ายหนึ่ง จึงได้นามตามนี้…"[13] พระยาประชากิจกรจักร์(แช่ม บุนนาค) ได้กล่าวไว้ในพงศาวดารโยนกว่า “ยวน” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ยุนซาง” หรือ “ฮวนซาน” ในภาษาจีนแปลว่า กลุ่มที่อยู่อาศัยอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งหมายถึงคนซานหรือสยามนั่นเอง[8] ส่วนชาวจีนยูนนาน หรือฮ่อ เฉพาะที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น เรียกชาวไทยวน หรือชาวไทยภาคเหนือว่า “เกอหลอ” บางท้องถิ่นออกเสียงว่า “โกโล” หรือ “กอลอ” ซึ่งชื่อเรียกนี้เป็นคำที่มาจากคำว่า กร๋อม กล๋อม กะหลอม ก๋าหลอม หรือ “ขอม” ซึ่งคำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกผู้คนที่อยู่บริเวณทางทิศใต้เขตแดนของตนลงมา ไม่ได้หมายถึงชาวเขมรแต่อย่างใด[14]

ชื่อที่ชาวพม่าใช้เรียก

[แก้]

“ไตยวน” “ไตยน” “โยน” “ยูน” เป็นคำเรียกจากกลุ่มชาวพม่า[15]

ชื่อที่ชาวลาวใช้เรียก

[แก้]

ชาวลาวเรียกชาวไทยภาคเหนือว่า “ยน” หรือ “ยวน”[14]

อื่นๆ

[แก้]

จากตำนานชินกาลมาลีปกรณ์และสังคีติยวงศ์ได้ระบุชื่อถึงว่าล้านนามีศูนย์กลางที่เชียงใหม่ชื่อ “พิงครัฐ” และมีคำว่า โยนรัฐและโยนประเทศ ที่หมายถึงแคว้นโยนก แต่ชาวล้านนาในสมัยดังกล่าวจะนิยามตนเองหลากหลายชื่อ เช่น ไตหรือไท ไทโยน ไทยวน

ในงานเรื่อง ชนชาติไท ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2466 วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ มิชชันนารีชาวอเมริกันซึ่งทำงานที่เชียงรายนานถึง 32 ปี (พ.ศ. 2429–2461) กล่าวถึงคนเขตภาคเหนือตอนบนของไทยว่าเป็น "ชาวยวน" มิใช่ “ชาวลาว” ดังที่หลายฝ่ายเข้าใจ

นิยามชาติพันธุ์ไทยวน

[แก้]

ไทยวนเป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทซึ่งเป็นประชากรหลักของแคว้นโยนกและอาณาจักรล้านนาในอดีต มีศูนย์กลางอำนาจอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกกและแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน แต่ในบริบทปัจจุบันมิได้หมายถึงเชื้อชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแสดงออกทางสังคมที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนคำว่า คนเมือง ในบริบทปัจจุบัน ก็มิได้หมายถึงคนยวนแต่เพียงกลุ่มเดียว แต่ยังรวมถึงคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งพูดภาษาตระกูลไทที่มีสำนึกและแสดงออกในทางสังคมบางประการร่วมกัน

หากนิยามชาวไทยวนแบ่งตามยุคสมัย ดังตารางดังนี้[16]

นิยามชาวไทยวนแบ่งตามยุคสมัย
ช่วงเวลา แนวโน้มกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน
ในระหว่างยุคตำนานถึง พ.ศ. 1839 (แคว้นโยนกและแคว้นพะเยาในยุคก่อนประวัติศาสตร์) ชาวไทยวนหมายถึงกลุ่มคนผู้ใช้ภาษาตระกูลไท (อาจเป็นชาวไทลื้อ) และคนพื้นเมือง (อาจเป็นชาวลัวะ)
สถาปนาเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 1839 ถึงช่วง พ.ศ. 1985–2030) ชาวแคว้นโยนกเดิมรวมถึงคนพื้นเมืองในบริเวณลุ่มน้ำปิง (แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน) เช่น ชาวมอญ ชาวลัวะ และชาวแคว้นพะเยาเดิม
อาณาจักรล้านนา–ฟื้นม่าน ชาวแคว้นโยนกเดิม แคว้นพะเยาเดิม และแคว้นพิงค์ รวมถึงคนพื้นเมืองบางกลุ่มในภาคเหนือ เช่นประชากรกลุ่มใหญ่บริเวณลุ่มน้ำวัง ยม น่าน ฯลฯ และอาจรวมถึงคนกลุ่มน้อยและเชลยจากต่างถิ่นที่ถูกกลืนกลายเป็นชาวยวน
ต้นรัตนโกสินทร์ ประชากรของอาณาจักรล้านนาเดิมที่หลงเหลืออยู่ในภาคเหนือรวมถึงชาวยวนในภาคเหนือที่เรียกตนเองว่า คนเมือง และชาวล้านนาเดิมนอกภาคเหนือของประเทศไทยที่ยังเรียกตนเองว่า ยวน
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวพื้นเมืองในภาคเหนือ (ประกอบด้วยชาวล้านนาเดิมและคนกลุ่มอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาตระกูลไทและมีวิถีชีวิตแบบสังคมเมือง โดยเรียกตนเองว่า คนเมือง) และชาวล้านนาเดิมนอกภาคเหนือของประเทศไทยที่ยังเรียกตนเองว่า ยวน รวมไปถึงชาวล้านนาเดิมนอกประเทศไทยที่ยังเรียกตัวเองว่า ไต
ปัจจุบัน จากข้อมูลทางพันธุศาสตร์ประชากร อาจกล่าวได้ว่าชาวยวนอยู่ในเขตภาคเหนือของไทย คือ คนพื้นเมือง ไทลื้อ ไทยอง ปะหล่อง พล่าง และอื่น ๆ รวมถึงนอกเขตภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นประชากรที่เป็นลูกหลานของชาวล้านนาเดิม และยังพบว่ามีพันธุกรรมใกล้ชิดกับไทลื้อ โดยยังมีสำนึกทางชาติพันธุ์และเรียกตนเองว่า ยวน รวมไปถึงชาวล้านนาเดิมนอกประเทศไทยที่ยังเรียกตัวเองว่า ไต[17]

ชาติพันธุ์วิทยา

[แก้]

เริ่มมีการศึกษาชาวไทยวนครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเป็นส่วนหนึ่งในร้อยกรองชื่อ "โคลงภาพคนต่างภาษา" ที่ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์ ซึ่งโคลงนี้เรียกชาวไทยวนว่า ลาวยวน ถอดความได้ว่า "เป็นคนแถวหริภุญไชย ชอบสักขาสักพุงดำเหมือนพวกพม่า ใส่ต่างหูทองเนื้อแปด โพกผ้าสีชมพู ชอบใส่กำไลข้อมือทั้งสองข้าง โคลงซอเป็นลักษณะเด่นตามประเทศ คนทั้งแก่หนุ่มชอบแอ่วสาว"[18]

ในปี 2007 อาจารย์จตุพล คำปวนสาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำปริญญาเอกภายใต้ที่ปรึกษาคืออาจารย์ดาวรุ่ง กังวานพงศ์ ศึกษาดีเอ็นเอของกลุ่มคนไทกะไดภาคเหนือ เช่น ไทยวน รวมไปถึง ไทลื้อ ไทเขิน และไทยอง เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของคนจีนตอนใต้และดีเอ็นเอของคนมอญ และลัวะ พบว่าดีเอ็นเอของกลุ่มคนไทกะไดในภาคเหนือคล้ายกับดีเอ็นเอของคนจีนตอนใต้

แนวคิดทางพันธุศาสตร์ประชากรจากการอ้างอิงหลักฐานทางชีววิทยา เมื่อ พ.ศ. 2537 มีการวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมของตัวอย่างประชากร 15 กลุ่ม ใน 10 จังหวัด ในทุกภาคของประเทศไทยพบว่า ตัวอย่างของกลุ่มคนไทยมีความใกล้ชิดทางทางพันธุกรรมมากที่สุดกับพวกออสโตร-เอเชียติก (กลุ่มที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร) และห่างมากที่สุดจากพวกที่พูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบตทุกกลุ่ม ส่วนกลุ่มคนไทยพื้นเมืองจากจังหวัดเชียงใหม่ ยังเกาะกลุ่มพันธุกรรมกับคนไทยและเขมรจากตอนใต้ของภูมิภาคดังกล่าว โดยได้แยกตัวออกจากกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองทางตอนใต้ของจีน (กลุ่มที่พูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบต) อย่างชัดเจน

ในการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2548 โดยใช้ดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรีย ระหว่างประชากรที่พูดภาษาตระกูลภาษาไทในภาคเหนือของประเทศไทย 4 กลุ่ม (เรียกรวมในชื่อ คนเมือง) ได้แก่ ไทยวน ไทลื้อ ไทยอง และไทเขิน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรในภาคเหนือ 3 กลุ่ม ได้แก่ มลาบรี ปะหล่อง และพล่าง พบว่า การแบ่งกลุ่มประชากรโดยอาศัยข้อมูลทางพันธุศาสตร์นั้น ไม่สอดคล้องกับการจัดแบ่งกลุ่มด้วยข้อมูลทางภาษาศาสตร์ การกระจายทางภูมิศาสตร์หรือประวัติศาสตร์การอพยพ ชาวไทยวนจากจังหวัดสระบุรีมีความแตกต่างจากชาวไทยวนในภาคเหนืออย่างชัดเจน ตัวแทนประชากรกลุ่มไทยวนจากจังหวัดสระบุรีจึงมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับชาวไทลื้อและไทยองมากกว่า ส่วนตัวแทนประชากรกลุ่มไทยวนในภาคเหนือ พบว่ามีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับชาวไทลื้อและไทยองและยังมีความใกล้ชิดกับกลุ่มประชากรที่พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร (ชาวปะหล่องและชาวพล่าง) มากกว่าตัวแทนประชากรกลุ่มอื่น ๆ[16]

ในการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2566 รศ.ดร. วิภู กุตะนันท์ นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา เขียนรายงานในหัวข้อ Reconstructing the Human Genetic History of Mainland Southeast Asia: Insights from Genome-Wide Data from Thailand and Laos ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Biology and Evolution ฉบับเดือนสิงหาคม 2021 ได้ผลปรากฏว่า ไทยวน หรือคนเมือง ซึ่งเป็นประชากรหลักในภาคเหนือของไทย มีดีเอ็นเอคล้ายกับชาวไดในสิบสองปันนา ประเทศจีนทางตอนใต้[19]



วัฒนธรรม

[แก้]

ไทยวน มีภาษา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ในสังคมของชาวไทยวนมีความคิดในเรื่องผีผสมศาสนาพุทธ โดยเฉพาะผีปู่ย่า (ผีบรรพบุรุษ) จะมีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมของลูกหลานไทยวนให้ประพฤติตนถูกต้องตามจารีตประเพณีและกรอบที่ดีงามของสังคม รวมไปถึงประเพณีการฟ้อนผีมด ผีเม็ง อีกทั้งมีความเชื่อเรื่อง ขึด คือข้อห้ามหรือข้อควรปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับตัวเองและครอบครัว[20]

ภาษา

[แก้]

ภาษาเขียนและภาษาพูดของไทยวนมีรูปแบบเป็นของตนเอง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังพบเป็นการใช้ภาษาเขียนในพระธรรมคัมภีร์ศาสนาพุทธ และปั๊บสา ใบลาน ทั้งนี้ภาษาเขียนของไทยวน (หรือเรียกว่า "อักษรล้านนา" และ "อักษรธรรม") ยังใช้ในกลุ่มชาวไทลื้อที่เชียงรุ่งและชาวไทเขินที่เชียงตุง ด้วย เนื่องจากในอดีตชาวล้านนาได้นำศาสนาพุทธเข้าไปเผยแพร่ยังสองดินแดนนี้[21]

คำเมืองหรือภาษาไทยวนยังสามารถแบ่งออกเป็นสำเนียงล้านนาตะวันตก (ในจังหวัดเชียงใหม่, ลำพูน และแม่ฮ่องสอน) และสำเนียงล้านนาตะวันออก (ในจังหวัดเชียงราย, พะเยา, ลำปาง, อุตรดิตถ์, แพร่ และน่าน) ซึ่งจะมีความแตกต่างกันบ้าง คือ สำเนียงล้านนาตะวันออกส่วนใหญ่จะไม่พบสระเอือะ เอือ แต่จะใช้สระเอียะ เอียแทน (มีเสียงเอือะและเอือเพียงแต่คนต่างถิ่นฟังไม่ออกเอง เนื่องจากเสียงที่ออกมาจะเป็นเสียงนาสิกใกล้เคียงกับเอียะ เอีย)

คำเมืองหรือภาษาไทยวนมีไวยากรณ์คล้ายกับภาษาไทยกลาง แต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกันและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เดิมใช้คู่กับอักษรธรรมล้านนาซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่ใช้อักษรมอญเป็นต้นแบบ

ในยุคสมัยปัจจุบัน ชาวยวนในภาคเหนือเป็นพลเมืองไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาแบบไทย ทำให้ส่งผลต่อวัฒนธรรมทางภาษาไทยวนเป็นอย่างมาก ที่มักไม่มีการสนับสนุนการสอนในโรงเรียนเกี่ยวกับวิชาภาษาท้องถิ่น ทำให้บางคนไม่ได้เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่คลุกคลีกับภาษาไทยวน หรือ อาจเกิดจากครอบครัวไม่สืบทอดความรู้ทางภาษาโดยหันไปพูดคุยด้วยภาษาไทยกลางแทน กลายเป็นว่าชาวยวนรุ่นใหม่บางส่วนพูดคำเมืองไม่ได้เลย ในทางกลับกัน คนที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่คลุกคลีภาษาไทยวนกับครอบครัวเป็นประจำก็จะสามารถสื่อสารตามสำเนียงท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ได้ ทั้งยังสื่อสารคำเมืองทางข้อความโดยใช้อักษรไทย มีส่วนน้อยที่สามารถเขียนและอ่านอักษรธรรมล้านนาดั้งเดิมไว้ได้ เพราะเกิดจากในอดีตรัฐไทยสั่งห้ามใช้อักษรธรรมล้านนาและพูดภาษาไทยวนตามที่สาธารณะ[22]

อักษร

[แก้]
อักษรธรรมล้านนา

อักษรธรรมล้านนา หรือ ตัวเมือง เป็นอักษรที่ใช้ในสามภาษา ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ, ภาษาไทลื้อ ในประเทศจีน และภาษาไทเขิน ในประเทศพม่า นอกเหนือจากนี้ อักษรล้านนายังใช้กับลาวธรรม (หรือลาวเก่า) เพราะเนื่องจากอักษรธรรมล้านนาได้แพร่เข้าไปยังอาณาจักรล้านช้างเดิมผ่านความสัมพันธ์ทางการทูตและทางศาสนาระหว่างล้านนากับล้านช้างและภาษาถิ่นอื่นในคัมภีร์ใบลานพุทธและสมุดบันทึก อักษรนี้ยังเรียก อักษรธรรมหรืออักษรยวน นอกจากอักษรธรรมล้านนาแล้ว ยังมีอักษรไทยฝักขาม และอักษรไทยนิเทศอีกด้วย

อักษรไทยฝักขาม หรือ อักษรไทยล้านนา เป็นอักษรที่เคยใช้ในล้านนา คาดว่าพัฒนาไปจากอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และแพร่หลายเข้าสู่ล้านนาในสมัยพญาลิไท พบจารึกภาษาไทยเขียนด้วยอักษรฝักขามในล้านนาชิ้นแรกคือจารึกวัดพระยืน อายุราว พ.ศ. 1954 ถือว่าเป็นจารึกอักษรไทย ภาษาไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในล้านนา และคาดว่าใช้มาจนถึงประมาณ พ.ศ. 2124 จึงเปลี่ยนมาใช้อักษรธรรมล้านนาแทน[23]

อักษรไทยนิเทศ เป็นอักษรชนิดหนึ่งของล้านนา พัฒนาขึ้นจากอักษรไทยฝักขาม และอักษรธรรมล้านนา

ภาษาไทยถิ่นเหนือเป็นภาษาใกล้ชิดกับภาษาไทยและเป็นสมาชิกของตระกูลภาษาเชียงแสน มีผู้พูดเกือบ 6,000,000 คนในภาคเหนือของประเทศไทย และหลายพันคนในประเทศลาว ซึ่งมีจำนวนน้อยที่รู้อักษรล้านนา อักษรนี้ยังใช้อยู่ในพระสงฆ์อายุมาก ภาษาไทยถิ่นเหนือมีหกวรรณยุกต์ ขณะที่ภาษาไทยมีห้าวรรณยุกต์ ทำให้การถอดเสียงเป็นอักษรไทยมีปัญหา มีความสนใจในอักษรล้านนาขึ้นมาอีกบ้างในหมู่คนหนุ่มสาว แต่ความยุ่งยากเพิ่มขึ้น คือ แบบภาษาพูดสมัยใหม่ ที่เรียก คำเมือง ออกเสียงต่างจากแบบเก่า

พยัญชนะ

[แก้]

อักษรธรรมล้านนาจัดตามกลุ่มพยัญชนะวรรคตามพยัญชนะภาษาบาลี แบ่งออกเป็น 5 วรรค วรรคละ 5 ตัว เรียกว่า“พยัญชนะวรรค”หรือ“พยัญชนะในวรรค”อีก 8 ตัวไม่จัดอยู่ในวรรคเรียกว่า“พยัญชนะอวรรค”หรือ“พยัญชนะนอกวรรค”หรือ“พยัญชนะเศษวรรค”ส่วนการอ่านออกเสียงเรียกพยัญชนะทั้งหมดนั้น จะเรียกว่า“ตั๋ว”เช่น ตั๋ว กะ/ก/ ตั๋ว ขะ/ข/ ตั๋ว จะ/จ/ เป็นต้น

สระ

[แก้]
  • สระจม

เป็นสระที่ไม่สามารถออกเสียงได้ด้วยตัวเอง ต้องนำไปผสมกับพยัญชนะก่อนจึงจะสามารถออกเสียงได้เลย

  • สระลอย

เป็นสระที่มาจากภาษาบาลี สามารถออกเสียงได้ด้วยตัวเองไม่จำเป็นต้องนำไปผสมกับพยัญชนะก่อน แต่บางครั้งก็มีการนำไปผสมกับพยัญชนะหรือสระแท้ เช่น คำว่า "เอา" สามารถเขียนได้โดยเขียนสระจากภาษาบาลี 'อู' ตามด้วย สระแท้ 'า' คือ ᩐᩣ

วรรณยุกต์

[แก้]

เนื่องจากล้านนาได้นำเอาระบบอักขรวิธีของมอญมาใช้โดยแทบจะไม่มีการปรับเปลี่ยนเลย และภาษามอญเองก็เป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์ ดังนั้นในอดีตจึงไม่ปรากฏว่ามีการใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ในการเขียนอักษรธรรมล้านนาเลย (เคยมีการถกเถียงกันเรื่องชื่อของล้านนาว่าจริงๆแล้วชื่อ "ล้านนา" หรือ "ลานนา" กันแน่ แต่ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า "ล้านนา") จนกระทั่งในระยะหลังเมื่ออิทธิพลของสยามแผ่เข้าไปในล้านนาจึงปรากฏการใช้รูปวรรณยุกต์ในการเขียนอักษรธรรมล้านนา

การแต่งกาย

[แก้]

การแต่งกายของบุรุษไทยวนในอดีตนิยม กางเกงชาวเลหรือกางเกงแบบชาวไทใหญ่ ที่เรียกว่า " เตี่ยวสะดอ" แจ็คเก็ตสไตล์แบบจีนสีขาวและบางครั้ง มักจะมีผ้าโพกหัว นอกจากนั้นบุรุษไทยวนมักนิยมสักขาถึงเอวเรียกว่า สับหมึก และใส่ผ้าต้อย มีการนุ่งแบบสั้นกับแบบยาวเรียกว่า โจงกระเบน แบบสั้นเรียกว่า เค็ดหม้าม หรือ เก๊นหม้าม นิยมนุ่งตามกาลเทศะ[24] ส่วนในโอกาสทางการผู้คนอาจเลือกสวมใส่ชุดประจำชาติไทยหรือชุดไทยพระราชนิยม

การแต่งกายของสตรีไทยวนในอดีตนิยม นุ่งผ้าซิ่นตะเข็บเดียวลายขวางลำตัว ซึ่งประกอบด้วย หัวซิ่น และตีนซิ่น นิยมใช้ผ้าสีอ่อน คล้องคอ ใช้ผ้าแถบคาดอก ปล่อยชายข้าวหนึ่งลงมา หรือห่มเฉวียงไหล่ ต่อมานิยมสวมเสื้อแขนกระบอก เสื้อแขนกุด เสื้อคอกระเช้า เสื้อแบบกี่เพ้าประยุกต์ เสื้อไทใหญ่ ห่มสไบเฉียง ไว้ผมยาวเกล้ามวย ปักปิ่นและประดับด้วยดอกไม้หอม[25]

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เกล้าพระเกศาแบบสตรีญี่ปุ่น ประดับปิ่น ฉลองพระองค์แบบสตรีอังกฤษสมัยพระราชินีวิกตอเรีย คือ “เสื้อแขนหมูแฮม” หรือ “ขาหมูแฮม” แต่ยังฉลองพระองค์ด้วยซิ่นตีนจกแบบสตรีไทยวนซึ่งในภาพตัวซิ่นเป็นผ้าซิ่นลุนตยาอะเชะแบบพม่าต่อตีนจกแบบไทยวน เป็นการแต่งกายในราชสำนักสมัย ร 5
การแต่งกายในราชสำนัก
[แก้]

การแต่งกายของสตรีไทยวนในราชสำนักได้ รูปแบบมาจากสยามประเทศ เนื่องด้วยยุคสมัยที่สยามประเทศได้มีอิทธิพลต่อล้านนาไทยมากขึ้น การแต่งกาย จึงมีการปรับเปลี่ยน และผสมผสานวัฒนธรรม ดังเช่นสมัยของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีการสวมเสื้อที่ตัดจากผ้าลูกไม้ ที่เรียกกันติดปากว่า “เสื้อแขนหมูแฮม” ชาวสยามนิยมที่จะนุ่งผ้าโจง หรือโจงกระเบน แต่พระราชชายาโปรดที่จะนุ่งผ้าซิ่น ตามแบบฉบับของล้านนาประเทศ ซิ่นที่พระราช ชายาเจ้าดารารัศมี ได้ทรงคิดค้นและประยุกต์ขึ้นและพระองค์พร้อมทั้งพระประยูร ญาติได้สวมใส่เมื่อครั้นพำนักอยู่ในสยามประเทศนั้นคือ “ซิ่นลุนตยาต่อตีนจก” ซึ่งเป็นการผสมผสานผ้าทอของราชสำนักมัณฑะเลย์ กับผ้าจกพื้นเมืองเหนือ เข้าด้วยกัน ทรงผมที่พระองค์ใช้ในสมัยนั้น เรียกกันว่า ทรงอี่ปุ่นหรือญี่ปุ่น

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา กับนางข้าหลวง

การแต่งกายของบุรุษไทยวนในราชสำนัก นิยมเสื้อที่ตัดเย็บตามแบบของสยามประเทศ คอเสื้อตั้งผ่าอก มีกระดุมทองเรียงกัน ๕ เม็ด หรือที่ชาวสยามเรียกว่า “เสื้อราชประแตน” นิยมตัดด้วยผ้าไหม หรือผ้าอื่น ๆ ตามชั้นยศ นิยมนุ่งโจงกระเบนตามแบบฉบับของกรุงสยาม แต่ผ้าที่นำมานุ่งนั้น นิยมนุ่งด้วยผ้าไหมพื้นเมือง หรือผ้าหางกระรอก พร้อมทั้งคาดเอวด้วยผ้าแพรนอก และทับด้วยเข็มขัดทองตามฐานะของผู้สวมใส่ จึงนับเป็นยุคสมัยที่ไทยวนในดินแดนล้านนา มีการเปลี่ยนแปลงและผสมผสานวัฒนธรรมกับสยามประเทศเป็นอย่างมาก[26]

การแต่งกายยุคฟื้นฟูวัฒนธรรม
[แก้]

ปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมการแต่งกายพื้นเมืองขึ้น ซึ่งหลายรูปแบบตามเผ่าพันธ์กลุ่มชนที่อาศัยอยู่อยู่ในอาณาจักรล้านนาในอดีต เป็นการประยุกต์รูปแบบของเสื้อผ้าในยุคดั้งเดิมมาแต่ง โดยพยายามรักษา ความเป็นเอกลักษณ์ของชาวพื้นเมืองไว้ ดังนั้น จึงได้มีการพิจารณา ให้ความเห็นชอบในรูป แบบการแต่งกายพื้นเมือง โดยคณะอนุกรรมการวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2534[27] ทำให้ปัจจุบัน ชาวไทยวนและชนกลุ่มต่างๆภาคเหนือของไทย แต่งกายแบบพื้นเมืองมากขึ้น โดยได้มีการแต่งชุดพื้นเมืองทุกวันศุกร์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการหรือนักเรียน

อาหาร

[แก้]
ข้าวซอย เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชาวจีน

อาหารส่วนใหญ่รสชาติไม่จัด ไม่นิยมใส่น้ำตาลในอาหาร ความหวานจะได้จากส่วนผสมของอาหารนั้น ๆ เช่น ผัก ปลา และนิยมใช้ถั่วเน่าในการปรุงอาหาร ชาวยวนมีน้ำพริกรับประทานหลายชนิด เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ผักที่ใช้จิ้มส่วนมากเป็นผักนึ่ง ส่วนอาหารที่รู้จักกันดีได้แก่ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ที่มีเครื่องปรุงสำคัญคือ เกสรตัวผู้ของดอกงิ้วแดง(ดอกเงี้ยว)ตากแห้ง ถือเป็นเครื่องเทศพื้นบ้านที่มีกลิ่นหอม; ตำขนุน และแกงขนุน ที่มีส่วนผสมเป็นผักชนิดอื่น เช่น ใบชะพลู ชะอม มะเขือเทศ นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชนชาติอื่นด้วย[28] เช่น แกงฮังเล ได้รับอิทธิพลมาจากชาวพม่า; ข้าวซอย ได้รับอิทธิพลมาจากชาวจีน

นาฏศิลป์

[แก้]
ฟ้อนเล็บ เป็นการฟ้อนที่มีดนตรีบรรเลงประกอบ จะมีเนื้อร้องหรือไม่มีเนื้อร้องก็ได้ มักแสดงในงานเทศกาลหรืองานวันสำคัญต่าง ๆ
ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา เป็นการฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลพม่า มีชื่อมาจากหญิงนางรำชาวพม่านามว่า เม้ยเจ่งตา ส่วนคำว่า ม่าน หมายถึง ชาวพม่า

นาฏศิลป์การแสดงพื้นบ้านและราชสำนักของไทยวน นั้นมีการผสมผสานอิทธิพลทางนาฏศิลป์จากคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นนาฏศิลป์ ไทยภาคกลาง ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ จีน พม่า ลาว และชาวไทยภูเขาอย่าง ลีซอ เข้ามาปรับท่าฟ้อนรำให้เข้ากับความเป็นชาวพื้นเมืองของไทยวนได้อย่างลงตัว มีความอ่อนช้อย นุ่มนวล และงดงาม เพลงบรรเลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ซึ่งนั่นเป็นเสน่ห์ของนาฏศิลป์การแสดงพื้นบ้านและราชสำนักของไทยวนหรือไทยภาคเหนือมาแต่โบราณ[29]

นาฏศิลป์ของไทยวนหรือชาวไทยภาคเหนือ เช่น ฟ้อนเมือง(ฟ้อนเล็บ ฟ้อนก๋ายลาย)ฟ้อนเทียน ฟ้อนจ้อง ฟ้อนวี ฟ้อนขันดอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง)ตีกลองสะบัดไชย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนน้อยไจยา ฟ้อนหริภุญชัย ฟ้อนล่องน่าน ฟ้อนแง้น เป็นต้น

การฟ้อนแบบคุ้มหลวง เป็นการฟ้อนที่เกิดขึ้นในคุ้มของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งมีลักษณะการฟ้อนของภาคกลางผสมอยู่ เช่น ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนน้อยใจยา เป็นต้น

ดนตรี

[แก้]

ดนตรีของไทยวน มีทั้งการบรรเลงเพลงเดี่ยวและรวมวง รวมถึงการขับร้องโดยไม่ใช้ดนตรีประกอบ เมื่อฟังดนตรีของภาคเหนือจะรู้สึกถึงความนุ่มนวล อ่อนหวาน สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของไทยวนหรือชาวเหนือที่มีชีวิตเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ เครื่องดนตรีที่ใช้ ได้แก่ สะล้อ ซอ ซึงและกลองแอว เป็นต้น[30]

เครื่องดนตรี
[แก้]
  1. ซึง
  2. สะล้อ
  3. กลองเต่งถิ้ง
  4. ขลุ่ย
  5. ปี่จุม
  6. กลองสะบัดชัย
  7. กลองตึ่งโนง
  8. ปี่แน
  9. ตะหลดปด (มะหลดปด)
  10. กลองปู่จา (กลองบูชา หรือ ปู่จา)
  11. วงกลองปูเจ่ (กลองปูเจ)
  12. วงปี่ป๊าดก้อง (วงปี่พาทย์ล้านนา)
  13. พิณเปี๊ยะ
เพลงร้อง
[แก้]
  • เพลงจ๊อย

ไทยวนมีภาษาพูดใกล้เคียงกับไทลื้อและไทเขิน จึงมีดนตรีหรือการละเล่นที่คล้ายคลึงกัน มีการร้องเพลง เรียกว่า “จ๊อย” เป็นการพูดที่เป็นทำนอง สื่อสารเพื่อความบันเทิงแก่ผู้ฟัง เป็นค่าวกลอนของภาคเหนือ ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ ไม่มีเวที สะดวกตรงไหนยืนร้องตรงนั้น เนื้อหาในการจ๊อยเกี่ยวกับนิทานชาดก คำสอน ประวัติ หรือการเกี้ยวพาราสี อาจจะเป็นจ๊อยคนเดียว หรือจ๊อยโต้ตอบกันก็ได้

  • เพลงซอ

เป็นเพลงที่ร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหญิง เป็นการแก้คารมกัน

  • ค่าว

เป็นคำประพันธ์ที่มีลักษณะร้อยสัมผัสสอดเกี่ยวกันไป(แบบร่าย) และจบลงด้วยโคลงสองหรือโคลงสามสุภาพ[31]

หัตถกรรม

[แก้]
ลักษณะผ้าซิ่นตีนจกของชาวไทยวน คือ มีหัวซิ่น ตัวซิ่นและตีนซิ่น

ผ้าทอ

[แก้]

ผ้าทอไทยวนโดดเด่นคือ ซิ่นตีนจก เป็นหัตถกรรมที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมา แต่โบราณกาลอันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น และสร้างลวดลายขึ้นบนผืนผ้าด้วยการจก คือการสอดหรือควักเส้นฝ้ายสีต่างๆ ที่พุ่งสลับกันเป็นช่วงๆ เพื่อให้เกิดเป็นรูปและลวดลายต่างๆ ขึ้นมาโดยใช้ขนเม่น โลหะ หรือไม้ปลายแหลมเป็นเครื่องมือ ผ้าซิ่นตีนจกจะแบ่งเป็นสามส่วน คือ ส่วนหัวซิ่น ส่วนตัวซิ่นและส่วนตีนซิ่น ทั้งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก เช่น มีเล็บซิ่น ซิ่นตีนจกมักมีลวดลายบริเวณตัวซิ่นเป็น ลายต๋า(ลายริ้วบริเวณขวางลำตัว) ลายต๋ามักมีชื่อเรียกตามแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน เช่น ซิ่นต๋าหมู่ มีลักษณะลายริ้วค่อนข้างใหญ่ประกอบไปด้วยเส้นด้ายหลายสีมักพบในผ้าซิ่นเชียงแสน อีกแบบหนึ่ง คือ ซิ่นต๋าแอ้ม มักพบใน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและแพร่ ส่วนใหญ่มักเรียกตามสีด้วย หากเป็นสีเหลืองมักเรียกต๋าเหลืองหรือต๋ามะนาวและยังมี ซิ่นต๋าเหล้ม ซึ่งมีลักษณะคล้าย ซิ่นต๋าหมู่

โดยแหล่งผลิต ซิ่นตีนจก มีหลายแห่งในจังหวัดต่างๆที่มีชาวไทยวนอาศัยอยู่ เช่น อำเภอเมือง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอสันกำแพง อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า[32] อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ หลายพื้นที่ในจังหวัดลำปาง[33] อำเภอลอง จังหวัดแพร่ อำเภอเมือง อำเภอเวียงสาในจังหวัดน่าน นอกเขตภาคเหนือตอนบน เช่น พิษณุโลก นครปฐม สระบุรีและราชบุรี เป็นต้น

ร่ม

[แก้]

ร่มมักจะใช้นำไปถวายวัดในฤดูเทศกาลประเพณีต่างๆ ต่อมาการทำร่มได้มีการขยายตัวขึ้น ชาวไทยภาคเหนือจึงได้ทำร่มเพื่อจำหน่ายกันทั่วไปในตลาด และยังได้มีการพัฒนาแบบอย่าง และวิธีการให้มีมากขึ้นตามความต้องการของท้องตลาดอีกด้วย

ปัจจุบันนี้การทำร่มมีที่หมู่บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง แบ่งออก เป็น 3 ประเภท คือ การทำร่มผ้าฝ้าย การทำร่มแพร การทำร่มกระดาษ

โคม

[แก้]
โคมล้านนา ใช้ประดับตกแต่งในงานประเพณีต่างๆ

โคม ในอดีต เกิดจากการที่ชาวนานั้นได้ไปทำนาในตอนกลางคืนได้จุดเทียนเพื่อให้แสงสว่างในการทำงาน บางครั้งลมพัดทำให้เทียนดับ ชาวนาจึงใช้ตระกร้าที่ใส่ของมาครอบเทียนแล้วนำกระดาษมาหุ้มรอบๆไม่ต้องลำบากในการจุดเทียนอีกต่อมาชาวบ้านได้ประยุกต์มาใช้ในการประดิษฐ์โคมไฟเพื่อใช้สำหรับบูชาพระพุทธเจ้าในช่วงประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา[34] โคมล้านนา แบ่งได้เป็น 8 ชนิด คือ

  1. โคมแปดเหลี่ยม
  2. โคมไห
  3. โคมดาว
  4. โคมหูกระต่าย
  5. โคมไต
  6. โคมดอกบัว
  7. โคมผัด
  8. โคมรูปสัตว์

ในปัจจุบัน มีการพัฒนาโคมให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นและยังนำโคมมาตกแต่งอาคารสถานที่ให้สวยงามเพื่อให้เกิดบรรยากาศสไตล์ล้านนา

พิพิธภัณฑ์

[แก้]

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ภายในสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงและอนุรักษ์เรือนล้านนาในรูปแบบต่างๆ ให้กับประชาชนทั่วไปได้ศึกษา ซึ่งเรือนแต่ละหลังเป็นเรือนโบราณที่ได้รับการสนับสนุนให้รื้อย้ายนำมาเก็บรักษาไว้ จากหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของเรือนล้านนา มีเรือนอยู่จำนวน 10 หลังและยุ้งข้าวอีก 4 หลัง แต่ละหลังก็มีที่มาและประวัติของตนเอง

หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน จังหวัดสระบุรี ก่อตั้งขึ้นโดย อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล จุดประสงค์เพื่อที่จะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ได้มีการรวบรวมสถานที่และสิ่งของ เช่น เรือนของเจ้าเมืองสระบุรี เรือนของพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธ  เรือนของเสือคง โจรเลื่องชื่อในอดีตในจังหวัดสุพรรณบุรี ผ้าทอโบราณแบบไทยวน เรือพื้นบ้านที่ใช้ลุ่มน้ำป่าสักและภาคกลางกว่า 20 ลำ โดยอาจารย์ตั้งใจว่าจะให้เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนในจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวล้านนาที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสน เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว

จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ก่อตั้งโดย ดร.อุดม สมพร ผู้อำนวยการจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว และประธานสหกรณ์ไท-ยวนราชบุรี ซึ่งเป็นลูกหลานเลือดเนื้อเชื้อไขไทยวนคูบัว บ้านไร่ต้นมะม่วงมาแต่กำเนิด มีแนวคิดที่อยากจะสืบทอดวัฒนธรรมไทยวน เพื่อให้ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงได้รวบรวมสิ่งของ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์

ไทยวนในภูมิภาคอื่น

[แก้]
ไทยวนอพยพ ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ไทยวนนอกจากจะอาศัยอยู่ทางภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ และแม่ฮ่องสอน ยังกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคอื่นอีกอย่างภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ ราชบุรี สระบุรี นครปฐม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เช่น นครราชสีมา เป็นต้น ปัจจุบัน พบชุมชนของไทยวนกลุ่มเชียงแสนตั้งถิ่นฐานอยู่ ในเขตจังหวัดต่างๆ ดังนี้

  1. จังหวัด สระบุรี อย่างน้อย 114 หมู่บ้าน
  2. จังหวัด ราชบุรี อย่างน้อย 77 หมู่บ้าน
  3. จังหวัด กาญจนบุรี ย่างน้อย 5 หมู่บ้าน
  4. จังหวัด นครปฐม อย่างน้อย 12 หมู่บ้าน
  5. จังหวัด ลพบุรี อย่างน้อย 51 หมู่บ้าน
  6. จังหวัด พิจิตร อย่างน้อย 8 หมู่บ้าน
  7. จังหวัด พิษณุโลก อย่างน้อย 20 หมู่บ้าน
  8. จังหวัด อุตรดิตถ์ อย่างน้อย 6 หมู่บ้าน
  9. จังหวัด สระแก้ว อย่างน้อย 12 หมู่บ้าน
  10. จังหวัด นครราชสีมา อย่างน้อย 9 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ ชุมชนไทยวนเชียงแสนที่เก่าแก่ที่สุดในตอนกลางของประเทศไทย ซึ่ง มีอายุมากกว่า 200 ปี อยู่ในบริเวณอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี[35]

ไทยวนในประเทศอื่น

[แก้]

ไทยวน ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานเดิมอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังสามารถที่จะพบไทยวนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอาณาเขตติดกับภาคเหนือของไทยได้อีกด้วย เช่น พม่าและลาว ไม่ว่าจะเป็นการอพยพเข้าไปอยู่หรืออาศัยอยู่เดิมเนื่องจากการแบ่งเขตแดน ซึ่งพบได้ในรัฐฉาน ประเทศพม่า เช่น ท่าขี้เหล็ก และรัฐกะเหรี่ยง พบได้ใน เมียวดี ส่วนในประเทศลาว พบได้ใน เมืองต้นผึ้งและเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว บ้านเวียงเหนือ แขวงหลวงน้ำทา เมืองเชียงฮ่อน แขวงไชยบุรี และแขวงหลวงพระบาง[36]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. Lewis, M. Paul (ed.), 2009. Ethnologue: Languages of the World, Sixteenth edition. Entry for Northern Thai Dallas, Tex.: SIL International. ISBN 978-1-55671-216-6.
  2. "ชาติพันธ์ุไทยวน". ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดพะเยา(Local Information Phayao). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-25. สืบค้นเมื่อ 2024-04-25.
  3. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554ISBN 978-616-7073-80-4.
  4. พิณ สุภา. "วิถีชีวิตคนไทยยวนในจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดหนองยาวสูง" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  5. อานันท์ กาญจนพันธ์ (2017). ประวัติศาสตร์สังคมล้านนา: ความเคลื่อนไหวของขีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น. พิษณุโลก: หน่วยวิจัยอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. pp. 52–55. ISBN 978-616-4260-53-5.
  6. ฮันส์ เพนธ์, "ความเป็นมาของล้านนาไทย," ใน ล้านนาอนุสรณ์ พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสรณ์สามกษัตริย์ (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2526), 10–11.
  7. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (2019-06-12). ""ยวน" มาจากไหน ? ใครคือ "ไทยวน"". มติชนสุดสัปดาห์.
  8. 8.0 8.1 แช่ม บุนนาค, ประชากิจกรจักร (2516). พงศาวดารโยนก. บุรินทร์การพิมพ์. p. 15.
  9. ดร. ประเสริฐ, ณ นคร (2522). "โคลงมังทราตีเชียงใหม่".{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. แสง มนวิทูร, แปล, พระรัตนปัญญาเถระ, (2501). "ชินกาลมาลีปกรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-03-28. สืบค้นเมื่อ 2023-05-15.{{cite web}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  11. Frederic Pain (2008), "An introduction to Thai ethnonymy: examples from Shan and Northern Thai", The Journal of the American Oriental Society, ISSN 0003-0279
  12. Andrew Turton (2004), "Violent Capture of People for Exchange on Karen-Tai borders in the 1830s", Structure of Slavery in Indian Ocean Africa and Asia, London: Frank Cass, p. 73, doi:10.1080/01440390308559156, ISBN 9780714654867
  13. ศิลปวัฒนธรรม (2021-06-30). "อ่านล้านนาจากหลักฐานจีน เรียกอาณาจักร "สนมแปดร้อย" และธนูอาบยาพิษของพระนางจามเทวี". ศิลปวัฒนธรรม.
  14. 14.0 14.1 จิตร ภูมิศักด์ (2519)
  15. บุญช่วย ศรีสวัสด์ (2503)
  16. 16.0 16.1 นราธิป ทับทัน และชินศักดิ์ ตัณฑิกุล. "ปริทัศน์การศึกษาว่าด้วยชาติพันธุ์ไทยวน". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  17. "คนไทยพลัดถิ่นที่ห้วยส้าน : วิถีไทยในประเทศพม่า". ประชาไท. 7 ธันวาคม 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2024.
  18. ถอดความจากร้อยกรองโดย ทวีศักดิ์ เผือกสม. คนแปลกหน้านานาชาติของกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน. 2546
  19. รศ.ดร., วิภู กุตะนันท์. "Reconstructing the Human Genetic History of Mainland Southeast Asia: Insights from Genome-Wide Data from Thailand and Laos". Molecular Biology and Evolution.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. "ไทยวน - สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". The Center for the Promotion of Arts and Culture, Chiang Mai University.
  21. "ไทยวน - สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". The Center for the Promotion of Arts and Culture, Chiang Mai University.
  22. ชลิดา หนูหล้า (2564-10-19). "อู้กับเพ็ญสุภา สุขคตะ เมื่อม็อบฅนเมืองไม่ 'ต๊ะต่อนยอน' ตามที่เขาหลอกลวง". ดิวันโอวันเวิลด์. กรุงเทพฯ: ดิวันโอวันเปอร์เซนต์. สืบค้นเมื่อ 2565-01-12. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. กรรณิการ์, วิมลเกษม (2527). อักษรฝักขามที่พบในศิลาจารึกภาคเหนือ. บุรินทร์การพิมพ์.
  24. "การแต่งกายของชาวล้านนาในอดีต". Digitized Lanna. 2012-09-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-18. สืบค้นเมื่อ 2021-12-18.
  25. Chalo (วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558). "ไทยวน". ไทยวน. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  26. tanawatpotichat (2011-12-29). "การแต่งกาย". tanawatpotichat (ภาษาอังกฤษ).
  27. พัฒนาการเครื่องแต่งกายชาวล้านนา (ไทยวน) โดย มาณพ มานะแซม
  28. "อาหารท้องถิ่น 4 ภาค". sites.google.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-30. สืบค้นเมื่อ 2021-10-30.
  29. "นาฏศิลป์ภาคเหนือ | สาระ ความรู้ ข่าวสาร ความบันเทิง ของชาวมัธยมศึกษา และประถมศึกษา : Knowledge for Thai Student | ThaiGoodView.com". www.thaigoodview.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-20. สืบค้นเมื่อ 2021-12-20.
  30. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (2019-06-12). ""ยวน" มาจากไหน ? ใครคือ "ไทยวน"". มติชนสุดสัปดาห์.
  31. นางสาวจิตติมา วงศาลาภและนางสาววรประภา พินิจสุวรรณ เว็บไซต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/335-----m-s เก็บถาวร 2022-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  32. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-04. สืบค้นเมื่อ 2022-02-04.
  33. ผ้าซิ่นตีนจกเมืองลำปาง https://archive.sacit.or.th/handicraft/1423
  34. โคมล้านนา http://lib.payap.ac.th/webin/ntic/koom.htm เก็บถาวร 2022-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  35. ภูมิหลังการเคลื่อนย้ายประชากรชาวยวนเชียงแสน และการตั้งถิ่นฐานในบริเวณตอนกลางของประเทศไทย The Movement Background of Chiang Saen Yuan People and the Settlement in the Central part of Thailand นราธิป ทับทัน และ ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล
  36. กลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ http://www.culture.cmru.ac.th/web60/learningcenter/กลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน/
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]