ข้ามไปเนื้อหา

ลิลิตยวนพ่าย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิลิตยวนพ่าย
กวีไม่ทราบ
ประเภทเฉลิมพระเกียรติ
คำประพันธ์ลิลิต
ยุคกรุงศรีอยุธยา
ปีที่แต่งประมาณ พ.ศ. 2034 - 2072
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

ลิลิตยวนพ่าย เป็นวรรณคดีประเภทสดุดีวีรกรรมของพระมหากษัตริย์ จัดเป็นวรรณคดีประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คำว่า "ลิลิต" หมายถึง คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองแบบหนึ่งซึ่งใช้โคลงและร่ายต่อสัมผัสกันเป็นเรื่องยาว ส่วน "ยวน" หมายถึง ชาวยวน ชาติพันธุ์หลักในอาณาจักรล้านนา ดังนั้นลิลิตยวนพ่ายจึงมีเนื้อหากล่าวถึงสงครามที่อาณาจักรอยุธยามีชัยเหนืออาณาจักรล้านนานั่นเอง[1]

ลิลิตยวนพ่ายแต่งเป็นลิลิตดั้น กล่าวคือ เป็นร่ายดั้น 2 ตอนและโคลงดั้นบาทกุญชร 365 บท[2] ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยโบราณ เขมร สันสกฤต และบาลี จึงอ่านเข้าใจได้ยาก ใช้ภาษาที่ประณีตงดงาม ศัพท์สูงส่งวิจิตร เต็มไปด้วยชั้นเชิงสูงด้านการใช้ภาษา และเป็นแบบอย่างในการแต่งลิลิตตะเลงพ่ายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เนื้อหา

[แก้]

เนื้อเรื่องของลิลิตยวนพ่ายจะกล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยเริ่มจากการกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าและยกหัวข้อธรรมะเพื่อสรรเสริญสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แล้วจึงเริ่มกล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ตั้งแต่ประสูติจนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมา เจ้าเมืองพิษณุโลกเอาใจออกห่างกรุงศรีอยุธยาโดยหันไปติดต่อกับพระเจ้าติโลกราช พระองค์จึงทรงยกทัพไปขึ้นไปตีและปราบปรามมาจนสงบและเสด็จประทับที่เมืองพิษณุโลก

ต่อมา จึงกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าติโลกราชเสียพระจริตประหารหนานบุญเรือง ราชบุตรและหมื่นดังนคร เจ้าเมืองเชียงชื่น เป็นเหตุให้ภรรยาของหมื่นดังนครไม่พอใจและส่งสารมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์จึงยกทัพไปช่วยจนเกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชทรงยกทัพมาป้องกันเมืองเชียงชื่น เสร็จแล้วเสด็จกลับไปรักษาเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงกรีธาทัพหลวงขึ้นไปรบตีเชียงใหม่พ่ายไปได้เมืองเชียงชื่น ตอนสุดท้ายป็นการยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอีกครั้งหนึ่ง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • สมเกียรติ วันทะนะ. (2561, มกราคม-มิถุนายน). โลกการเมืองในยวนพ่ายโคลงดั้น. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 40 ฉบับที่ 1: 180-210.
  • ปัทมา ฑีฆประเสิรฐกุล, ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. (2557, มกราคม - มีนาคม). เชียงชื่น: ความสำคัญที่มีต่อการสร้างวีรกรรมของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในยวนพ่ายโคลงดั้น. วารสารสุทธิปริทัศน์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 85: 270-286.

อ้างอิง

[แก้]
  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  2. "สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม ๒๔ เรื่องที่ ๑ วรรณคดีมรดก สมัยอยุธยา (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐) ลิลิตยวนพ่าย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-16. สืบค้นเมื่อ 2010-08-21.