สังคีติยวงศ์
ผู้ประพันธ์ | สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน |
---|---|
ผู้แปล | พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) |
ประเทศ | สยาม |
ภาษา | ภาษาบาลี |
ประเภท | พงศาวดารพระพุทธศาสนาและพงศาวดารบ้านเมือง |
สังคีติยวงศ์ เป็นพงศาวดารพระพุทธศาสนาและพงศาวดารบ้านเมือง นิพนธ์เป็นภาษาบาลีโดย สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน สมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์พระพิมลธรรม ซึ่งรจนาใน พ.ศ. 2332 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[1] และแปลเป็นภาษาไทยโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)[2] พิมพ์เผยแพร่ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย ใน พ.ศ. 2466[3]
เนื้อหา
[แก้]สังคีติยวงศ์ มีเนื้อหาว่าด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนา การสังคายนาครั้งต่อ ๆ มา จนสิ้นสุดเมื่อ พ.ศ. 2331 มีเนื้อหาว่าด้วยการสังคายนาซึ่งตรงกับเหตุการณ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎกในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์[4] ส่วนที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ บรรยายพระราชกรณียกิจแต่ละพระองค์อย่างสังเขป ส่วนมากกล่าวถึงบุญญาธิการของพระมหากษัตริย์อันเนื่องจากการเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกภ์และการบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ พงศาวดารฉบับนี้เป็นพงศาวดารฉบับแรกที่ใช้พุทธศักราชในการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่ทุกศักราชก็มีความคลาดเคลื่อนเมื่อเทียบกับพงศาวดารฉบับอื่นที่ชำระภายหลัง[5]
ต้นฉบับเดิมของเป็นคัมภีร์ลานมี 7 ผูก เนื้อหาแบ่งออกเป็น 9 ปริเฉท ดังนี้
- ปริเฉทที่ 1 กล่าวถึง การสังคายนาพระไตรปิฎกในชมพูทวีป 3 ครั้ง
- ปริเฉทที่ 2 กล่าวถึง การสังคายนาพระไตรปิฎกในลังกาทวีป 4 ครั้ง
- ปริเฉทที่ 3 กล่าวถึง การประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป
- ปริเฉทที่ 4 กล่าวถึง การประดิษฐานพระทันตธาตุในที่ต่าง ๆ
- ปริเฉทที่ 5 กล่าวถึง กษัตริย์ในอาณาจักรหริภุญชัย
- ปริเฉทที่ 6 กล่าวถึง กษัตริย์ในอาณาจักรล้านนา
- ปริเฉทที่ 7 กล่าวถึง กษัตริย์ในอาณาจักรอยุธยาและการล่มสลาย
- ปริเฉทที่ 8 กล่าวถึง การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์
- ปริเฉทที่ 9 กล่าวถึง อานิสงส์และความปรารถนาของผู้แต่ง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สามารถ มังสัง. "ถึงเวลาทำสังคายนาพระธรรมวินัยหรือยัง?". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "สังคีติยวงศ์ เอกสารสมัยรัชกาลที่ 1 เผยสภาพอยุธยาหลังกรุงแตก". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "สังคีติยวงส์". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
- ↑ สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล. "การสืบทอดพระไตรปิฎกใบลานอักษรขอม ในประเทศไทยและกัมพูชา".
- ↑ อุบลศรี อรรถพันธุ์. "การชำระพระราชพงศาวการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.