โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
สถานะ | ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ | ||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||
|
ประวัติศาสตร์ไทย |
---|
ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ปีพุทธศักราช |
โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น (อักษรธรรมล้านนา: ᩰᨿᨶᩫ᩠ᨠᨶᨣᩬᩁᨩᩱ᩠ᨿᨷᩩᩁᩦᩁᩣ᩠ᨩᨵᩣᨶᩦᩆᩕᩦ ᨩ᩶ᩣ᩠ᨦᩯᩈ᩠᩵ᨶ) หรือ แคว้นโยนก (อักษรธรรมล้านนา: ᨣᩯ᩠ᩅ᩶ᨶᨿᩰᨶᩫ᩠ᨠ)[1] (พ.ศ. 1200–1650) เป็นรัฐของชาวไทยวน ที่ตั้งอยู่แถบลุ่มน้ำโขงตอนกลาง อันเป็นที่ราบลุ่มของน้ำแม่กก เป็นที่ตั้งแหล่งชุมชนที่มีมาอย่างช้านานซึ่งเป็นอาณาจักรแรกของชนชาติไทย ตั้งแต่ประมาณปี 1200-1650 อาณาจักรโยนก ก็ล่มสลายลงเมื่อเกิดการแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จึงอพยพย้ายเมืองหลวงมาเป็นเวียงปรึกษาแทน ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในตำนานสิงหนติกุมาร (มีหลายชื่อเรียก เช่น ตำนานโยนกนครเชียงแสน ตำนานโยนกนคร ตำนานโยนกไชยบุรีศรีช้างแส่น แล้วแต่ผู้จารจะเขียนกำกับ แต่เนื้อหาคล้ายกันหมด) และตำนานพระธาตุดอยตุง ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา ถ้ำเปลวปล่องฟ้า แต่ยังไม่มีการค้นพบหลักฐานที่เก่าถึงยุคสมัยจริง
ตำนานสิงหนติกุมาร
[แก้]ตามตำนานสิงหนติกุมาร (ไม่ใช่สิงหนวัติ หรือ สิงหนวติ เพราะไม่ปรากฏในเอกสารใบลานชั้นต้น ซึ่งปรากฏเพียง สิงหนติ) กล่าวว่า เจ้าสิงหนติราชกุมาร โอรสของพระเจ้าเทวกาลแห่งนครไทยเทศ หรือ เมืองราชคฤห์ ในอินเดีย ได้ทำการอพยพผู้คนออกจากนครไทยเทศ เดินทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จนมาถึงชัยภูมิที่เคยเป็นแคว้นสุวรรณโคมคำในอดีต ไม่ไกลแม่น้ำโขงมากนัก ซึ่งตอนนั้นมีชาวลัวะอาศัยอยู่ตามป่าเขาในบริเวณดอยดินแดน (ดอยตุง) มีหัวหน้าชื่อ ปู่เจ้าลาวกุย เจ้าสิงหนติได้พบกับพญานาคชื่อพันธุนาคราช ซึ่งจำแลงกายเป็นพราหมณ์มาพูดคุย และแนะนำให้สร้างเมืองในที่บริเวณนั้น แล้วกลับเป็นพญานาคช่วยขุดคูเมืองให้ เจ้าสิงหนติจึงตั้งเมืองบริเวณนั้น และนำชื่อตนประสมกับชื่อพญานาคเป็นชื่อเมืองว่า เมืองนาคพันธุสิงหนตินคร จากนั้นเจ้าสิงหนติได้แผ่อำนาจปราบปรามเมืองอุโมงคเสลานคร ซึ่งเป็นเมืองของพวกขอม และมีอำนาจเหนือกลุ่มชนพื้นถิ่นดั้งเดิมในแถบนั้นทั้งหมด ในสมัยพญาพันธนติ กษัตริย์องค์ที่ 2 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองมาเป็น เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น โดยเอาเหตุนิมิตเมื่อช้างมงคลของพญาสิงหนติเห็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ก็เกิดการตกใจร้องเสียงดัง "แส่นสะเคียร" (ช้างแส่น คือ ช้างสั่น ส่วน แส่นสะเคียร แปลว่า สั่นสะเทือน เป็นอากัปกิริยาของช้างคำรามเสียงดังสนั่นหวั่นไหว)
ในสมัยพญาอชุตราช กษัตริย์องค์ที่3 ได้มีการสร้างพระธาตุดอยตุง พระธาตุดอยกู่แก้ว พระธาตุในถ้ำปุ่ม ถ้ำเปลวปล่องฟ้า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเริ่มมีพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว (ซึ่งเป็นเพียงตำนานเท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่ค้นพบหลักฐานที่เก่าถึงยุคสมัยโยนกนคร) สมัยพญามังรายนราช กษัตริย์องค์ที่ 4 พระองค์ไชยนารายณ์ โอรสองค์สุดท้องของพระองค์ได้ไปตั้งเมืองใหม่ คือ เวียงไชยนารายณ์เมืองมูล (สันนิษฐานว่าควรอยู่บริเวณ ปงเวียงไชย บ้านปง ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย จ.เชียงราย)
เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นมีกษัตริย์ปกครองต่อ ๆ กันมา จนสมัย พระองค์พังคราช กษัตริย์องค์ที่ 42 เสียเมืองให้กับพระยาขอม เมืองอุโมงคเสลานคร และถูกเนรเทศไปเป็นแก่บ้าน เวียงสี่ทวง ส่งส่วยให้พระยาขอมเป็นทองคำปีละ 4 ทวงหมากพินน้อย (คือมะตูมลูกเล็กนำมาผ่าซีก 4 ส่วน นำทองคำหลอมลงไปเพียง 1 ซีก) ที่เวียงสี่ทวง พระองค์พังคราชมีลูกชาย 2 คน คนโตชื่อ ทุกขิตะกุมาร คนที่ 2 ชื่อ พรหมกุมาร เมื่อพรหมกุมารอายุได้ 13 ปี จึงมีความคิดที่จะสู้กับพระยาขอม ได้ไปจับช้างที่แม่น้ำโขงและตีพานคำ (พาน อ่านว่าปาน คือเครื่องดนตรีล้านนาชนิดหนึ่ง คล้ายฆ้องแต่ไม่มีโหม่ง ใช้ตี) แห่เข้าเวียงสี่ทวง และทำการขุดคูเมือง ปรับปรุงกำแพงและประตูเมือง แล้วเปลี่ยนชื่อ เวียงสี่ทวง เป็น เวียงพานคำ (สันนิฐานว่าเวียงสี่ทวงและเวียงพานคำควรอยู่บริเวณเมืองโบราณที่เรียกว่าเวียงแก้ว บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน และเวียงสี่ทวงกับเวียงพานคำไม่ควรอยู่บริเวณเมืองโบราณที่ อ.แม่สาย เพราะตำนานหลายฉบับกล่าวว่าบริเวณนั้นเป็นเมืองหิรัญนครเงินยาง) และทำการซ่องสุมผู้คน สู้รบกับพระยาขอมจนได้รับชัยชนะ ขับไล่พวกขอมและสามารถชิงเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นกลับคืนมาได้ ถวายเมืองคืนพระองค์พังคราช ส่วนพระองค์พรหมราช (พรหมกุมาร) ได้กลัวว่าจะมีข้าศึกมาอีก จึงไปสร้างเมืองใหม่ คือ เวียงไชยปราการ (สันนิษฐานว่าควรอยู่บริเวณ บ้านร่องห้า (ร่องห้าทุ่งยั้ง) ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย) เมื่อสิ้นพระองค์พรหมราชแล้ว พระองค์ไชยสิริ พระโอรสได้ครองเวียงไชยปราการต่อมา แต่ถูกเมืองสุธรรมวดีเข้ามาคุกคามอีก พระองค์ไชยสิริจึงพาชาวเมืองอพยพลงไปทางใต้ และตั้งเมืองที่เมืองกำแพงเพชร
ส่วนเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นนั้น มีกษัตริย์ครองเมืองต่อมา จนถึงสมัยพระองค์มหาไชยชนะ ชาวเมืองจับได้ปลาไหลเผือกยักษ์จากแม่น้ำกก แล้วนำมาแบ่งกันกินทั้งเมืองยกเว้นแม่หม้ายเฒ่าหนึ่งคน และในคืนนั้นเมืองโยนกก็ล่มสลายลงกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ ยกเว้นแม่หม้ายเฒ่าเพียงคนเดียวที่รอดตาย (สันนิฐานว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวจนเมืองถล่มลง จึงมาผูกเรื่องในตำนาน ปัจจุบันสันนิฐานว่าเวียงโยนกฯ อยู่บริเวณ เวียงหนองหล่ม ตั้งอยู่ระหว่าง ต.โยนก อ.เชียงแสน กับ ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย) ขุนพันนาและนายบ้านกับประชาชนที่รอดตายจึงรับเลี้ยงดูแม่หม้ายเฒ่า และประชุมปรึกษาเลือกนายบ้านผู้หนึ่ง ชื่อขุนลัง ให้เป็นผู้นำ และช่วยกันสร้างเมืองใหม่ริมฝั่งแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก และอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองโยนกนครฯ เรียกว่า เวียงเปิกสา (เวียงปรึกษา) ผู้ที่ครองเวียงเปิกสานั้นจะต้องได้รับการปรึกษาคัดเลือกจากประชาชนในเมืองทั้งหมด คล้ายกับแนวทางของระบอบประชาธิปไตย เรียกว่า ไพร่แต่งเมือง รวมเป็นขุนผู้ครองเวียงเปิกสา 16 คน เป็นอันจบตำนานสิงหนติกุมาร[2][3][4]
สิงหนติ หรือ สิงหนวัติ
[แก้]ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 ตำนานสิงหนวติกุมาร เรียกชื่อเจ้าสิงหนติราชกุมารว่า สิงหนวติกุมาร และมีการเผยแพร่และเพี้ยนไปเป็น สิงหนวัติกุมาร และเป็นชื่อที่แพร่หลายใช้ในปัจจุบัน แต่จากการสำรวจและปริวรรตเอกสารใบลานต้นฉบับภาษาล้านนาของตำนานโยนกแล้ว กลับพบว่าเขียนว่า สิงหนติ ไม่พบว่ามีการเขียนชื่อ สิงหนวติ หรือ สิงหนวัติ ในตำนานทุกฉบับ จึงสรุปว่าควรใช้ สิงหนติ ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกต้อง[5]
รายพระนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น
[แก้]- พญาสิงหนติ (เจ้าสิงหนติราชกุมาร) เริ่มราชวงศ์เมืองนาคพันธุสิงหนตินคร
- พญาพันธติ สถาปนาเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น
- พญาอชุตราช
- พญามังรายนราช (พระองค์มังรายนราช)
- พระองค์เชือง
- พระองค์ชืน
- พระองค์คำ
- พระองค์เพิง
- พระองค์ชาต
- พระองค์เวา
- พระองค์แวน
- พระองค์แก้ว
- พระองค์เงิน
- พระองค์แวนที่ 2 (คนละองค์กับพระองค์แวนในลำดับที่ 11)
- พระองค์งาม
- พระองค์ลือ
- พระองค์รอย
- พระองค์เชิง
- พระองค์พัน
- พระองค์เพา
- พระองค์พิง
- พระองค์สี
- พระองค์สม
- พระองค์สวน
- พระองค์แพง
- พระองค์พวน
- พระองค์จัน
- พระองค์ฟู
- พระองค์ฝัน
- พระองค์วัน
- พระองค์มังสิง
- พระองค์มังแสน
- พระองค์มังสม
- พระองค์ทิพ
- พระองค์กอง
- พระองค์กม
- พระองค์ชาย
- พระองค์ชื่น
- พระองค์ชม
- พระองค์พัง
- พระองค์พิงที่ 2 (คนละองค์กับพระองค์พิงในลำดับที่ 21)
- พระองค์เพียง
- พระเจ้าพังคราช
- พระเจ้าทุกขิตะ (เจ้าทุกขิตะกุมาร)
- พระเจ้าพรหมมหาราช
- พระเจ้าชัยศิริ สิ้นสุดราชวงศ์สิงหนติ เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นล่มสลาย
(หมายเหตุ รายชื่อกษัตริย์ราชวงศ์สิงหนติ อ้างอิงจากตำนานสิงหนติโยนก ฉบับวัดลำเปิง จังหวัดเชียงราย เป็นหลัก)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 42
- ↑ ใบลานตำนานโยนกนครเชียงแสน ฉบับวัดเชียงมั่น เชียงใหม่.
- ↑ ใบลานตำนานสิงหนติโยนก ฉบับวัดลำเปิง เชียงราย.
- ↑ อภิชิต ศิริชัย. วิเคราะห์ตำนานจากเอกสารพื้นถิ่น ว่าด้วย โยนกนคร เวียงสี่ตวง เวียงพานคำ เมืองเงินยาง และ ประวัติวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย:ล้อล้านนา, 2560.
- ↑ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 ธันวาคม 2559,วันพฤหัสที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559,เพ็ญสุภา สุขคตะ. "ปริศนาโบราณคดี : ส่งท้าย “777 ปีชาตกาลพระญามังราย” ภารกิจสะสางประวัติศาสตร์ยังไม่จบสิ้น (1)" .[1]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประวัติศาสตร์อาณาจักรโยนกนคร เก็บถาวร 2020-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน