ลาวเวียง
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
52,300 | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
ประเทศไทย | |
ภาษา | |
ภาษาไทย, ภาษาลาว | |
ศาสนา | |
ศาสนาพุทธ |
ลาวเวียง หรือ ลาวกลาง เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเองซึ่งได้ย้ายถิ่นฐานจากเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวลาวเวียงมักจะลงท้ายคำต่าง ๆ ว่า "ตี้" จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ลาวตี้ เมื่อชาวลาวเวียงอาศัยอยู่ในประเทศไทยจนกลายเป็นคนไทย ไม่ใช่ชาวลาวเช่นบรรพบุรุษรุ่นแรก จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ ไทยเวียง
ใน อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเล ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2416 เขียนไว้ว่า "ลาวเวียงจัน คือพวกลาวชาวเมืองเวียงจันที่บูราณเรียกเมืองศรีสัตนาคะนะหุตนั้น"[1]
ลาวเวียงได้เคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงธนบุรีถึงธนบุรี ในจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีและพระราชวิจารณ์รัชกาลที่ 5 ระบุว่า ลาวจากเวียงจันทน์และเมืองใกล้เคียงสมัครใจอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่สระบุรี ทัพกรุงธนบุรียึดเวียงจันทน์แล้วกวาดต้อนครัวเวียงจันทน์หลายหมื่นมาอยู่ใกล้กับพระนคร ตั้งถิ่นฐานที่สระบุรี ราชบุรี หัวเมืองตะวันตก จันทบุรี, บางยี่ขัน (เจ้านาย) และต่อมาโยกย้ายครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากการก่อกบฏเจ้าอนุวงศ์เมื่อ พ.ศ. 2369 มีการต้อนผู้คนจากเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองลาวใกล้เคียงกลับมา ชาวลาวที่ย้ายถิ่นเข้ามา ถูกส่งไปยังเมืองต่าง ๆ ในเขตหัวเมืองชั้นใน พื้นที่หลักที่มีกลุ่มชาวลาวเวียงตั้งถิ่นฐาน บริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง ได้แก่ ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยกระจายอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม เพชรบุรีและราชบุรี ต่อมามีชาวลาวบางส่วนเคลื่อนย้ายตามมาภายหลัง และตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายออกไปในจังหวัดกาญจนบุรี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม
ปัจจุบันพบว่ามีกลุ่มลาวเวียงตั้งบ้านเรือน เช่น บ้านอรัญญิกในจังหวัดอยุธยา ในอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอพนมทวน อำเภอบ่อพลอย และอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอพนมสารคาม อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น
อัตลักษณ์ของชาวลาวเวียงคือนับถือในพุทธศาสนาและเรื่องเหนือธรรมชาติควบคู่กัน มีงานหัตถกรรมสำคัญคือ ผ้าซิ่นตีนจก[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "ลาวในเมืองไทย กลุ่มชาติพันธุ์ที่คลุมเครือ". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
- ↑ "ลาวเวียง". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).