ชาวกฺ๋อง
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
600 คน (พ.ศ. 2547)[1] | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
สุพรรณบุรี · อุทัยธานี · กาญจนบุรี![]() | |
ภาษา | |
ภาษาลาวครั่ง · ไทย · กะเหรี่ยง ส่วนน้อยพูดภาษากฺ๋อง[1] | |
ศาสนา | |
พุทธ |
ชาวกฺ๋อง หรือ โอกฺ๋อง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็กที่พบในเขตจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และอุทัยธานี มีประชากรราว 600 คน ชนกลุ่มนี้เรียกตัวเองและภาษาพูดว่า กฺ๋อง แต่คนภายนอกอาจเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ละว้า หรือ ลัวะ เอกสารเก่าเรียก ละว้าเมืองกาญจนบุรี[2] ซึ่งเป็นคนละชาติพันธุ์กันด้วยความเข้าใจผิด เพราะชาวละว้าหรือลัวะเป็นชาติพันธุ์จากตระกูลภาษามอญ-เขมร ขณะที่ชาวกฺ๋องเป็นชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต[3] เชื่อกันว่าถิ่นฐานเดิมของชาวกฺ๋องอยู่ในประเทศพม่า แต่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีชาวกฺ๋องจำนวนไม่มากที่ยังพูดภาษาดั้งเดิมของตนเอง เพราะส่วนใหญ่หันไปพูดภาษาอื่น ผู้ที่สามารถใช้ภาษาดั้งเดิมของตนได้จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
ประวัติ
[แก้]ประวัติของชาวกฺ๋องไม่ปรากฏแน่ชัดนัก เข้าใจว่าเดิมตั้งถิ่นฐานบริเวณชายแดนไทย-พม่า และถูกกองทัพไทยกวาดต้อนเข้าไปแถบลุ่มแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อยเมื่อราว 200 ปีก่อน มีถิ่นฐานหลักที่บ้านหนองปรือ ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนกระจายตัวไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านละว้าวังควาย (ภาษากฺ๋องเรียก กะบี) ตำบลวังยาว และบ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนจะอพยพไปอำเภอบ้านไร่และห้วยคต จังหวัดอุทัยธานีอีกจำนวนหนึ่ง[1][4] บ้างก็ว่ากฺ๋องที่บ้านละว้าในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบรรพบุรุษของชาวกฺ๋องบ้านละว้าคอกควาย อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี[5]
ในวรรณกรรม ขุนช้างขุนแผน ซึ่งถูกแต่งโดยกวีหลายท่านช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะดำเนินอยู่ในเมืองสุพรรณบุรีเป็นหลัก โดยในตอนขุนช้างตามนางวันทอง ซึ่งสันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง มีเนื้อหาที่ขุนแผนพานางวันทองเข้าไปในเขตแดนของละว้า ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า[3]
ครั้นถึงเชิงเขาเข้าเขตไร่ | เห็นรอยถางกว้างใกล้ไพรระหง | |
ที่ตีนเขาเหล่าบ้านละว้าวง | พาวันทองน้องตรงเข้าไร่แตง |
พวกละว้าพากันปลูกมันเผือก | รั้วเรือกหลายชั้นกั้นหลายแห่ง | |
ที่ยอดเขาล้วนเหล่าไร่ฟักแฟง | มะเขือพริกกล้วยแห้งมะแว้งเครือ |
พวกละว้าป่าเถินเดินตามกัน | สาวสาวทั้งนั้นล้วนใส่เสื้อ | |
ทาขมิ้นเหลืองจ้อยลอยผิวเนื้อ | เป็นชาติเชื้อชาวป่าพนาลี |
ใน นิราศสุพรรณ อันเป็นผลงานวรรณกรรมของสุนทรภู่ แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2379 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึง "ละว้า" เมื่อคราวที่เขาตามหาปรอทในเมืองสุพรรณบุรี ความว่า[3]
สาวสาวเหล่าลูกลว้า | น่าชม | |
ยิ้มย่องผ่องผิวสม | ผูกเกล้า | |
คิ้วตาน่านวลสม | เสมอฮ่าม งามเอย | |
แค่งทู่หูเจาะเจ้า | จึ่งต้องหมองศรี ฯ | |
— นิราศสุพรรณ โดย สุนทรภู่ |
จากวรรณกรรมทั้งสองเรื่อง แสดงให้เห็นว่า ชาวไทยสยามรับรู้ถึงการมีอยู่ของชางกฺ๋องในนามชาวละว้า มาไม่ต่ำกว่า 200 ปีมาแล้ว[3]
จากการศึกษาของมยุรี ถาวรพัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2540 ระบุถึงชุมชนของชาวกฺ๋องไว้ เรียงตามจำนวนประชากร ดังนี้[6]
ลำดับ | หมู่บ้าน | จังหวัด | จำนวนหลังคาเรือน (หลัง) | ประชากร (คน) |
---|---|---|---|---|
1. | บ้านห้วยเข้ | สุพรรณบุรี | 54 หลัง | 183 คน |
2. | บ้านคอกควาย | อุทัยธานี | 29 หลัง | 129 คน |
3. | บ้านกกเชียง | สุพรรณบุรี | 20 หลัง | 104 คน |
4. | บ้านวังควาย | 14 หลัง | 78 คน | |
5. | บ้านคลองแห้ง | อุทัยธานี | 3 หลัง | 13 คน |
ปัจจุบันชาวกฺ๋องจำนวนมากสมรสข้ามชาติพันธุ์มากขึ้น โดยเฉพาะที่บ้านกกเชียงในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีชาวลาวครั่ง คนอีสาน และไทยสยามอพยพมาอาศัยเป็นจำนวนมากตั้งแต่ พ.ศ. 2480–2500 ชาวกฺ๋องจำนวนไม่น้อยสามารถพูดภาษาลาวครั่งได้[1][6] ขณะที่ชาวกฺ๋องในจังหวัดกาญจนบุรีจะสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวกะเหรี่ยงและมอญ[7] ในงานเขียน ชาติวงศ์วิทยา เขียนใน พ.ศ. 2509 ระบุว่ามีหมู่บ้านขนาดเล็กหลายแห่งตามลำน้ำแควน้อยและแม่กลองที่คนในชุมชนสืบเชื้อสายจากชาวกฺ๋องหากแต่กลมกลืนคนไทยในท้องถิ่นไปแล้ว มีเพียงกลุ่มชนบางส่วนเท่านั้นที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และเครื่องแต่งกายที่ต่างออกไปจากคนไทยในท้องถิ่น[2] หลังการสร้างเขื่อนในอำเภอศรีสวัสดิ์และสังขละบุรีเมื่อ พ.ศ. 2534 ทำให้ชาวกฺ๋องจำต้องโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิมไปตั้งหลักแหล่งใหม่ร่วมกับชาติพันธุ์อื่น ๆ[8] ใน พ.ศ. 2564 ที่หมู่บ้านกกเชียงเหลือชาวกฺ๋องแท้ ๆ เพียงสี่ครอบครัว จำนวนไม่เกิน 20 คน[4]
ภาษา
[แก้]ชาวกฺ๋องมีภาษาพูดของตนเอง อยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต กลุ่มภาษาพม่า-โลโล แต่ไม่มีภาษาเขียน[4] ศัพท์แสงบางคำของภาษากฺ๋องที่บ้านกกเชียงจะมีการหยิบยืมคำจากภาษาไทยและลาว เช่น การนับเลข เพราะชาวกฺ๋องจะมีเฉพาะหลักหน่วยและหลักสิบ พอหลักร้อยเป็นต้นไปจะใช้ภาษาไทยแทน[4] หลังเกิดโรคระบาดที่ทำให้จำนวนชาวกฺ๋องลดจำนวนลง ประกอบกับการเข้ามาของชนต่างถิ่น และการสร้างโรงเรียนสอนภาษาไทยที่ทำให้ชาวกฺ๋องอ่านออกเขียนได้ จำนวนผู้ใช้ภาษาดั้งเดิมก็ลดจำนวนลงทุกปี[1][5] ชาวกฺ๋องรุ่นใหม่พูดภาษาดั้งเดิมไม่ได้ บางส่วนก็กระดากอายที่จะพูด บ้างก็เกรงว่าจะถูกดูแคลนว่าล้าหลัง[1][4] ขณะที่ชาวกฺ๋องในจังหวัดกาญจนบุรีเลิกใช้ภาษากฺ๋องเพื่อการสื่อสารมาหลายทศวรรษแล้ว ส่วนใหญ่จะหันไปพูดภาษาไทยหรือกะเหรี่ยงแทน[8]
ใน พ.ศ. 2562 องค์กรยูเนสโกจัดให้ภาษากฺ๋องเป็นภาษาใกล้สูญ[9]
ศาสนา
[แก้]เดิมชาวกฺ๋องนับถือผี แต่ปัจจุบันชาวกฺ๋องนับถือศาสนาพุทธ มีวัดประจำชุมชนสำหรับประกอบศาสนพิธี[4] แต่ไม่นิยมบูชาพระพุทธรูปหรือพระเครื่อง[6] เคยมีมิชชันนารีเข้าไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์กับชาวกฺ๋องแต่ไม่ประสบความสำเร็จ[1] ทั้งนี้ชาวกฺ๋องยังคงความเชื่อในการไหว้ผีหมู่บ้าน (พีกังเฮเคีย) ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้จะมี จาจ้ำ คือ เจ้าจ้ำ ซึ่งรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมลาว เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมาประกอบพิธี[4] นอกจากนี้ยังมีพิธีเรียกขวัญ (เก๊กเคีย) ต้องใช้หมอทำขวัญมาประกอบพิธีเมื่อมีคนเจ็บป่วยหรือไม่สบาย และมีการเล่นผีกระด้ง สำหรับเสี่ยงทาย อย่างเดียวกับวัฒนธรรมมอญ[1]
ในอดีตชาวกฺ๋องจะฝังศพในป่าช้า โดยใช้วิธีเสี่ยงทายโดยใช้ไข่ แต่ปัจจุบันนิยมฌาปนกิจศพตามธรรมเนียมศาสนาพุทธ[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "โอก๋อง". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-06. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร กองบัญชาการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (2509). ชาติวงศ์วิทยา ว่าด้วยชนชาติเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย (PDF). พระนคร: อักษรเจริญทัศน์. p. 33-34.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 ธีรวัฒน์ รังแก้ว (1 พฤศจิกายน 2564). "เยือนถิ่นละว้าบ้านกกเชียง จ.สุพรรณบุรี ฟื้นฟู 'พิพิธภัณฑ์มีชีวิต' ที่กำลังจะหมดลมหายใจ !!". สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2568.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 ธีรวัฒน์ รังแก้ว (1 พฤศจิกายน 2564). "เยือนถิ่นละว้าบ้านกกเชียง จ.สุพรรณบุรี ฟื้นฟู 'พิพิธภัณฑ์มีชีวิต' ที่กำลังจะหมดลมหายใจ !!". สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 5.0 5.1 บัวฉัฐ วัดแย้ม. "กฺ๋อง". คลังข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 มยุรี ถาวรพัฒน์ (2540). "สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ก๊อง (อุก๋อง)". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2568.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Bradley, David (1989). Dying to be Thai: Ugong in western Thailand. La Trobe Working Papers in Linguistics 2:19-28.
- ↑ 8.0 8.1 Wright, Sue; Audra Phillips; Brian Migliazza; Paulette Hopple; and Tom Tehan. 1991. SIL Working Summary of Loloish Languages in Thailand. m.s.
- ↑ "มากกว่า 20 ภาษาในไทยเสี่ยงเป็น "ภาษาสาบสูญ" จากข้อมูลยูเนสโก". ประชาไท. 23 กรกฎาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)