ข้ามไปเนื้อหา

ตุรุง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตุรุง
ประชากรทั้งหมด
ราว 2,000 คน (พ.ศ. 2555)[1]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
โชรหาฏ · โคลาฆาฏ
รัฐอัสสัม
อินเดีย ประเทศอินเดีย
ภาษา
อัสสัม · จิ่งเผาะ
เดิมใช้ภาษาไท
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ไทคำยัง · จิ่งเผาะ · ไทใหญ่

ตุรุง บ้างเรียก ไทตุรุง[2][3][4] หรือ ไทรง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มหนึ่งในรัฐอัสสัม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียต่อแดนพม่า พวกเขาใช้ภาษาตุรุง ซึ่งเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษาจิ่งเผาะ[5] ส่วนชื่อ ตุรุง นั้นยังไม่ทราบที่มาอย่างแน่ชัด บ้างว่าเป็นแควน้ำในเขาปาดไก่ชื่อ ตุรุงปานี บ้างก็ว่ามาจากคำว่า ไตโหลง แปลว่า ไทใหญ่ เพราะพวกเขามีบรรพชนอพยพมาจากรัฐฉาน[6]

ประวัติ

[แก้]

ชาวตุรุงเริ่มอพยพออกจากเมืองมาว และอพยพติดตามชาวไทคำยังข้ามเขาปาดไก่เพื่อไปตั้งฐานในแถบรัฐอัสสัมเมื่อราว ค.ศ. 1400 หลังการอพยพของชาวไทอาหมเข้าสู่อัสสัมราว 200 ปี[1] แต่กลับถูกชาวจิ่งเผาะจับไปเป็นเชลยราวห้าปี[7] จากนั้นชาวตุรุงก็รับเอาวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตของชาวจิ่งเผาะเข้ามา จนกระทั่งพวกเขาสูญเสียภาษาไทดั้งเดิมของตน หันไปใช้ภาษาจิ่งเผาะแทน[8] ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงห้าปี สำหรับการสูญเสียภาษา อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบัน ชาวตุรุงเริ่มหันไปใช้ภาษาอัสสัมเป็นหลักแทนภาษาจิ่งเผาะ[9]

ชาวตุรุงมีความเชื่อมโยงกับชาวไทคำยังมาก ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดักับชาวไทอาหม เช่น การนับถือเจ้าเสือก่าฟ้าเป็นบรรพชนร่วมกัน และรับเอาวัฒนธรรมอาหมเข้ามาบางประการ[10] จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากรเมื่อ พ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1891) พบว่ามีชาวตุรุงเพียง 301 คน[11] ใน พ.ศ. 2555 มีประชากรชาวตุรุงประมาณ 2,000 คน จำนวนหกหมู่บ้าน กระจายตัวอยู่ในเขตเมืองโชรหาฏ และเมืองโคลาฆาฏของรัฐอัสสัม ได้แก่ บ้านปาทอร์เสียม บ้านติโปเมีย และบ้านโปฮูกาเทีย ในเมืองโชรหาฏ บ้านราชาปุกุรีตุรุง บ้านบาลีปาทอร์ และบ้านโบชาปาทอร์ ในเมืองโคลาฆาฏ พวกเขาใช้นามสกุลว่า เสียม (ศยาม) และตุรุง ทั้งยังยกเลิกระบอบศักดินา ไม่มีเจ้าและไพร่ดังในอดีต[1] ส่วนชาวตุรุงที่บ้านโปฮูกาเทียอาศัยร่วมชุมชนกับชาวจิ่งเผาะและไทอ้ายตอน[12]

ภาษา

[แก้]

เดิมชาวตุรุงใช้ภาษาไทซึ่งเข้าใจว่าน่าจะใกล้เคียงกับภาษาคำยัง ครั้นเมื่อตกเป็นเชลยของชาวจิ่งเผาะ ชาวตุรุงจึงรับเอาภาษาของชาวจิ่งเผาะมาใช้ในชีวิติประจำวัน และเริ่มเข้าสู่สภาวะสูญเสียภาษา ในหนังสือ กาเลหม่านไต (2504) ของศาสตราจารย์ ดร. คุณบรรจบ พันธุเมธา ระบุว่าที่เมืองโชรหาฏ รัฐอัสสัม มีหมู่บ้านของชาวตุรุงราว 5-6 หมู่บ้าน แต่ใช้ภาษาจิ่งเผาะกันทั้งหมด คนที่มีอายุ 40 ปี เป็นต้นไปพอฟังภาษาไทได้แต่โต้ตอบไม่ได้ ส่วนคนตุรุงวัย 30 ปีลงมา ไม่ทราบเลยว่าภาษาจิ่งเผาะไม่ใช่ภาษาดั้งเดิมของตน[7] และจากการลงพื้นที่เพื่อวิจัยของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2555 พบว่าชาวตุรุงอาศัยอยู่ที่เมืองโชรหาฏสามหมู่บ้าน และเมืองโคลาฆาฏอีกสามหมู่บ้าน พวกเขาเปลี่ยนไปใช้ภาษาอัสสัมในการสื่อสาร[1]

อย่างไรก็ตามนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการสอบคำไทกับชาวตุรุง พบว่าชาวตุรุงยังหลงเหลือคำหรือวลีไทเดิมอยู่ เช่น คอกตั่งเข่า (คอกตั้งข้าว) เข้า (ข้าว) ป๋า (ปลา) พ่อ แม่ ลูก หลาน ฮึ่น (เรือน) หม่าน (บ้าน) นา ไถนา หมู ไก่ หมูส้ม ป๋าส้ม (ปลาส้ม) ป๋าเน่า (ปลาเน่า) ยัง (มี) หวาน (อร่อย) นอน และคำที่ใช้เรียกชิ้นส่วนของเรือน คือ พาก (ฟาก) และ ผา (ฝา)[13] แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้สืบสานความรู้เรื่องคำไทที่ยังเหลืออยู่ จึงคาดว่าคำเหล่านี้คงสูญไปในอีกหนึ่งหรือสองชั่วคน[12]

ศาสนา

[แก้]

ชาวตุรุงนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทอย่างเคร่งครัด ทุกหมู่บ้านมีวัดขนาดเล็กเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทั้งยังใช้เป็นพื้นที่ทางสังคมของชาวบ้าน[14] ชาวบ้านยังทำบุญและทำทานตุงถวายวัดอยู่อย่างสม่ำเสมอ[15] แม้ชาวตุรุงจะรับเอาวัฒนธรรมของชาวอาหมเข้ามา แต่กลับปฏิเสธการเปลี่ยนไปเป็นฮินดู[10] พวกเขาเปลี่ยนพิธีกรรมทางศาสนาให้เป็นการไหว้พระแทนการไหว้ผี เพราะพิธีกรรมเซ่นผีด้วยการฆ่าสัตว์นั้น ชาวตุรุงมองว่าเป็นบาป และเมื่อมีการบูชาไร่นาก็ต้องมีการไหว้พระพร้อมกับแม่ขวัญข้าว[13] ชาวตุรุงลดบทบาทการนับถือผีในเชิงกราบไหว้บูชาลงไป และการสร้างบ้านนั้นจะต้องสร้างเรือนพระ (เข่งพฺรา) แยกออกมาต่างหาก[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี และคณะ. บ้านเรือน ตัวตน คนไทในอินเดีย. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2559, หน้า 209
  2. International Journal of Dravidian Linguistics (ภาษาอังกฤษ). Department of Linguistics, University of Kerala. 2004. p. 131.
  3. Daoratanahong, Lakana (1998). Introduction to Tai-Kadai People: The International Conference on Tai Studies, July 29-31, 1998, Royal River, Bangkok (ภาษาอังกฤษ). Institute of Language and Culture for Rural Development, Mahidol University. p. 38. ISBN 978-974-661-349-1.
  4. Saikia, Yasmin (2004-11-09). Fragmented Memories: Struggling to be Tai-Ahom in India (ภาษาอังกฤษ). Duke University Press. p. 245. ISBN 978-0-8223-3373-9. These Tai people, such as the Phakey, Aiton, Khamyang, Turung, and Khamti, were ambivalent about the Tai-Ahom movement. Their in- terest, or lack thereof, was very much dependent on two factors: their level of association with Tai-Ahom leaders and the physical proximity of their village to a Tai-Ahom village. For example, the Khamyang Goan in Salapathar (which is not far from Patsako) was interested in the Phra Lung movement.
  5. Diller, Anthony; Edmondson, Jerry; Luo, Yongxian (2004-11-30). The Tai-Kadai Languages (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 211. ISBN 978-1-135-79116-2. British records from as early as the mid 19th century suggest that the Turung, which he calls Tairong, were a Tai speaking group who ...
  6. International Journal of Dravidian Linguistics: Volume 33 (ภาษาอังกฤษ). Department of Linguistics, University of Kerala. 2004. p. 126. word ' Turung ' is differently interpreted by the linguists . " Turung ' is also called Tai - rung or Tai ... Tai groups have got almost a similar script derived from the Brahmi Script of India . This is known as the Tai - script . The Turung ...
  7. 7.0 7.1 กัญญา ลีลาลัย. การค้นคว้าประวัติศาสตร์ชนชาติไท. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์, 2550, หน้า 123
  8. Morey, Stephen (2004). "The Tai Languages of Assam". The Tai-Kadai Languages. doi:10.4324/9780203641873.
  9. "Singpho Language of North East India (including Turung) | Endangered Languages Archive". www.elararchive.org. สืบค้นเมื่อ 2022-12-20.
  10. 10.0 10.1 10.2 ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณีและคณะ . บ้านเรือน ตัวตน คนไทในอินเดีย. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2559, หน้า 221
  11. Daoratanahong, Lakana (1998). Introduction to Tai-Kadai People: The International Conference on Tai Studies, July 29-31, 1998, Royal River, Bangkok (ภาษาอังกฤษ). Institute of Language and Culture for Rural Development, Mahidol University. p. 33. ISBN 978-974-661-349-1. Population The number of Turung counted in the census of 1891 was 301. The approximate number of Turung population in all the villages did not exceed two thousand during ...
  12. 12.0 12.1 ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณีและคณะ . บ้านเรือน ตัวตน คนไทในอินเดีย. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2559, หน้า 216
  13. 13.0 13.1 ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณีและคณะ . บ้านเรือน ตัวตน คนไทในอินเดีย. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2559, หน้า 213
  14. ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณีและคณะ . บ้านเรือน ตัวตน คนไทในอินเดีย. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2559, หน้า 215
  15. ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณีและคณะ . บ้านเรือน ตัวตน คนไทในอินเดีย. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2559, หน้า 210