ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาเขมรลาวเดิม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาเขมรลาวเดิม
ประเทศที่มีการพูดไทย
ชาติพันธุ์เขมรลาวเดิม
ตระกูลภาษา
รหัสภาษา
ISO 639-3

ภาษาเขมรลาวเดิม บ้างเรียก ภาษาลาวเดิม เพื่อจำแนกกลุ่มโดยเฉพาะ เป็นภาษาหนึ่งที่ใช้สื่อสารในจังหวัดราชบุรี มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาไทยถิ่นอีสาน และไม่มีความสัมพันธ์กับภาษาเขมรเลย[1] เข้าใจว่าบรรพบุรุษของชาวเขมรลาวเดิม เป็นชาวลาวที่ถูกกองทัพเขมรกวาดต้อนไปไว้กรุงกัมพูชา ครั้นกองทัพไทยไปตีกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2314 จึงได้กวาดต้อนทั้งชาวลาวและเขมรจากเมืองโพธิสัตว์ เสียมราฐ และพระตะบองกลับมาด้วย จึงได้ชื่อนี้มา[2] ด้วยเหตุนี้ชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาจึงแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ใช้ภาษาไทยปนเขมร กับกลุ่มที่ใช้ภาษาลาว[3] เฉพาะกลุ่มที่ใช้ภาษาลาวพบได้ที่ตำบลเจ็ดเสมียน ตำบลคุ้งกระถิน ตำบลคุ้งน้ำวนในอำเภอเมืองราชบุรี, ตำบลวัดยางงาม ตำบลบ่อกระดาน ตำบลดอนทรายในอำเภอปากท่อ, ตำบลวัดเพลง ตำบลเกาะศาลพระในอำเภอวัดเพลง และตำบลหัวโพ ตำบลวังเย็น ตำบลวัดแก้ว ตำบลบางแพในอำเภอบางแพ แต่ปัจจุบันประชากรสองชาติพันธุ์นี้มักสมรสข้ามกลุ่มกันตามพลวัตทางสังคม[4] จากการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2546 พบว่ามีชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรลาวเดิมเป็นภาษาเดียวจำนวน 9 หมู่บ้าน และชุมชนสองภาษา (ไทยกลางกับเขมรลาวเดิม) จำนวน 9 หมู่บ้าน[5]

วัดเกาะศาลพระ เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวเขมรลาวเดิมมาแต่อดีต

ภาษาเขมรลาวเดิมใกล้เคียงกับภาษาลาวครั่งและลาวหลวงพระบาง จัดอยู่ในกลุ่มภาษาลาวหลวงพระบาง ตระกูลภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้[6] ปัจจุบันมีสถานะเป็นภาษาในวงล้อม (Enclave language) เพราะล้อมรอบด้วยภาษาไทยกลางและภาษาลาวเวียง ในอนาคตชุมชนภาษาเขมรลาวเดิมอาจหายไปจากจังหวัดราชบุรีและไม่มีผู้ใดใช้ภาษานี้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนภาษา (language shift) ให้กลมกลืนกับภาษาอื่น โดยเฉพาะภาษาลาวครั่งเพราะภาษาทั้งสองมีความใกล้เคียงกันมากทั้งด้านศัพท์และเสียง สิ่งที่ต่างกันมีเพียงเสียงสระ ไม้ม้วน ซึ่งภาษาเขมรลาวเดิมใช้เสียง [au] ในขณะที่ภาษาลาวครั่งใช้เสียง [ai] และพบว่าผู้พูดภาษาเขมรลาวเดิมที่มีอายุน้อยมักมีการแปรระหว่างเสียง [au] ~[ai] อีกทั้งประเพณีของคนกลุ่มนี้ไม่สู้จะมีเอกลักษณ์เด่นชัด[5]

ทั้งนี้ภาษาเขมรลาวเดิมจะมีการแปรเสียงต่าง ๆ ตามสำเนียงตน เช่น

  • เสียงสระโอะ แปรเป็น เอะ เช่น หมด เป็น เหม็ด
  • เสียงสระอุ แปรเป็น โอะ เช่น ตุ๊กแก เป็น ต๊กแก
  • เสียงสระไอ แปรเป็น อา เช่น ใหม่ เป็น หมา

ปัจจุบันภาษาเขมรลาวเดิมใกล้สูญหาย เหลือเพียงคนสูงอายุใช้ในการสื่อสารเพียงไม่กี่คน เพราะชาวเขมรลาวเดิมมองว่าอัตลักษณ์ของตนนั้นดูน่าอับอายมากกว่าจะเป็นเรื่องน่าชื่นชม[4] ส่วนชาวเขมรลาวเดิมกลุ่มที่ใช้ภาษาเขมร กลับมีสถานะที่แย่กว่าเขมรลาวเดิมกลุ่มที่ใช้ภาษาลาว เพราะการสำรวจใน พ.ศ. 2545 พบผู้ใช้ภาษาเขมรราว 8-10 คนซึ่งเป็นผู้สูงอายุทั้งหมด โดยใช้ภาษาไทยเจือเขมรเป็นคำ ๆ เป็นภาษาผสมสำหรับสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกัน และไม่ตกทอดสู่ลูกหลาน[5]

ตัวอย่าง

[แก้]
  • ฮู้ แปลว่า รู้
  • ฮัก แปลว่า รัก
  • เว้า หรือ ว้าว แปลว่า พูด
  • เซ้า แปลว่า เช้า
  • บ่หย่าน แปลว่า ไม่กลัว
  • ข้าวเม้า แปลว่า ข้าวใหม่
  • ถั่วค้าง แปลว่า ถั่วฝักยาว
  • ถั่วคุด แปลว่า ถั่วลิสง
  • ไปเด๋ามา แปลว่า ไปไหนมา
  • ไปเฮ็ดนา แปลว่า ไปทำนา
  • ปวดแค้ว หรือปวดแข่ว แปลว่า ปวดฟัน
  • ไปเดี๋ยวหกคืน แปลว่า ไปเดี๋ยวเดียวแล้วจะกลับ
  • หกมื้อเด๋า แปลว่า กลับเมื่อไร
  • หกมื้ออื้น แปลว่า กลับพรุ่งนี้
  • ไปโพ้นไปพี้ แปลว่า ไปโน่นไปนี้
  • แย้มอีหยัง แปลว่า มองอะไร
  • หกบ้าน แปลว่า กลับบ้าน
  • หกบ้านมื้อเด๋า แปลว่า กลับบ้านเมื่อไร
  • แย้ม หรือ เย้ม แปลว่า มอง
  • พก แปลว่า แอบ (ดู)

อ้างอิง

[แก้]
  1. นงลักษณ์ สูงสุมาลย์ (2545). ระบบเสียงภาษาลาวเดิม ตำบลบ่อกระดาน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 4.
  2. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (21 สิงหาคม 2563). เขมรลาวเดิม และร่องรอยคนลาวในสังกัดขุนนางเขมรที่วัดเกาะศาลพระ. สยามเทศะ. p. 3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-28. สืบค้นเมื่อ 2021-12-28.
  3. "ประวัติความเป็นมา" (PDF). สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-05-02. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (21 สิงหาคม 2563). เขมรลาวเดิม และร่องรอยคนลาวในสังกัดขุนนางเขมรที่วัดเกาะศาลพระ. สยามเทศะ. p. 2-3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-28. สืบค้นเมื่อ 2021-12-28.
  5. 5.0 5.1 5.2 สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (24 มกราคม พ.ศ. 2546). "แผนที่ภาษาศาสตร์". ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  6. นงลักษณ์ สูงสุมาลย์ (2545). ระบบเสียงภาษาลาวเดิม ตำบลบ่อกระดาน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 128.