เรือนไทยภาคเหนือ
เรือนไทยภาคเหนือ เป็นหนึ่งในเรือนไทย 4 ภาคของไทย ส่วนมากจะพบในจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน และตากบางส่วน
ประเภท
[แก้]เรือนประเภทต่าง ๆ ขึ้นตามสภาพการใช้งาน
- เรือนชนบท หรือเรือนเครื่องผูก
เป็นเรือนขนาดเล็ก เรือนประเภทนี้กันทั่วไปเนื่องจากก่อสร้างง่ายราคาถูก ตามชนบทและหมู่บ้านต่าง ๆ เรือนชนิดนี้โครงสร้างส่วนด้านหลังคาจะใช้ใบตองแห้ง ส่วนพื้นจะใช้ไม้ไผ่ ส่วนคานและเสานิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ฝาเป็นฝาไม้ไผ่สาน หลังคามุงด้วยหญ้าแฝกหรือใบตองแห้ง ส่วนไม้นิยมใช้ไม้ไผ่ทำเป็นตอกและหวายเป็นตัวยึดส่วนต่าง ๆ ของเรือนเข้าด้วยกันด้วยวิธีผูกมัด จึงเรียกกันว่า "เรือนเครื่องผูก" สร้างขึ้นกลางทุ่งนา เพื่อเฝ้าทุ่ง หรือเพื่อประโยชน์การใช้งานตามฤดูกาล มีลักษณะชั่วคราวอยู่ได้ 2-4 ปี เมื่อถึงฤดูฝนในปีหนึ่ง ๆ ต้องมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ มีการออกแบบโดยใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีสัดส่วนที่ลงตัว ค่อนข้างกระชับ
- เรือนไม้ หรือเรือนเครื่องสับ
เรือนไม้ เป็นเรือนของผู้มีอันจะกิน ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น สัก เต็ง รัง ตะเคียน ไม้แดง ฯลฯ การปลูกเรือนประเภทนี้ไม่ต้องใช้ตะปูตอก ยึดให้ไม้ติดกันหรือประกอบกัน โดยการใช้มีด สิ่ว หรือขวานถากไม้ให้เป็นรอยสับแล้วประกอบเข้าด้วยกัน เรียกว่า การประกอบเข้าลิ้นสลักเดือย หลังคามุงกระเบื้อง (ดินขอ) หรือแป้นเกล็ด
- เรือนกาแล
เรือนกาแล เป็นเรือนพักอาศัยทั่วไปที่คงทน (ต่างจากกระท่อม เรียกว่า ตูบ จะไม่ค่อยคงทน) มียอดจั่วเป็นกากบาท มีทั้งไม้ธรรมดาและไม้สลักอย่างงดงามตามฐานะ นิยมมุงแผ่นไม้เรียก “แป้นเกล็ด” แต่ปัจจุบันไม้เป็นวัสดุหายากมีราคาแพงจึงเปลี่ยนมาใช้ “ดินขอ” มุงหลังคาแทน ใช้วัสดุอย่างดี การช่างฝีมือสูงประณีต แต่มีแบบค่อนข้างตายตัว ส่วนใหญ่เป็นเรือนแฝด มีขนาดตั้งแต่ 1 ห้องนอนขึ้นไป เรือนกาแลจะมีแผนผัง 2 แบบใหญ่ ๆ คือ แบบเอาบันไดขึ้นตรงติดชานนอกโดด ๆ กับแบบเอาบันไดอิงชิดแนบฝาใต้ชายคาคลุม แต่ทั้งสองแบบจะใช้ร้านน้ำตั้งเป็นหน่วยโดด ๆ มีโครงสร้างของตนเอง ไม่นิยมตีฝ้าเพดาน หรือบางกลุ่มประกอบด้วยเรือนหลายหลังเป็นกลุ่มใหญ่
ความเป็นมาของกาแลนี้ มีข้อสันนิษฐานดังนี้
- คำว่า “กาแล” เพี้ยนมาจากภาษาถิ่นล้านนาคำว่า “กะแล๋” ซึ่งมีความหมายว่า กากบาท
- รูปลักษณะอาจพัฒนามาจาก แต่เดิมเป็นเรือนไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยใบตองตึง (ใบพลวง) ซึ่งต้องมีไม้ปิดหัวท้ายตรงสันหลังคาตอนหน้าจั่ว เมื่อพัฒนาเป็นเรือนไม้จริงมุงด้วยกระเบื้องดินขอ การใช้ไม้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมไขว้กัน แบบธรรมดาคงไม่เกิดความงาม จึงคิดประดิษฐ์แกะสลักปลายไม้ ให้เกิดความอ่อนโค้งงดงามด้วย เป็นเครื่องแสดงฐานะ รสนิยม ของเจ้าของเรือนด้วย
- อาจจะรับอิทธิพลมาจากชาวพื้นเมืองเดิม คือ พวกลัวะ (ละว้า) ซึ่งเรือนแบบดั้งเดิมของพวกลัวะ จะมีการใช้กาแลนี้ประดับ โดยแต่ละแห่งจะแกะสลักลวดลายเฉพาะอย่างไป เป็นเครื่องหมายบอกถึงเชื้อตระกูล ชาวล้านนา (โดยเฉพาะเชียงใหม่) อาจจะรับรูปแบบมาแล้วพัฒนาเป็นรูปแบบของตนเองในภายหลังอีกที
องค์ประกอบของเรือนล้านนา
[แก้]มีส่วนประกอบหลัก ๆ ดังนี้
- ข่วงบ้าน
ข่วงบ้าน ลักษณะเป็นลานดินกวาดเรียบกว้างเป็นลานอเนกประสงค์ ใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนเล่นของเด็ก ลานตากพืชผลทางการเกษตร เป็นลานที่เชื่อมเส้นทางสัญจรหรือทางเดินเท้าให้เข้าสู่ตัวอาคาร และกระจายไปสู่ลานในบ้านข้างเคียงและถนนหลัก
- บันไดและเสาแหล่งหมา
ตัวบันไดเรือนจะหลบอยู่ใต้ชายคาบ้านด้านซ้ายมือเสมอ จึงต้องมีเสาลอยรับโครงสร้างหลังคาด้านบนตั้งลอยอยู่ แต่โดยทั่วไปเรือนไม้มักจะยื่นโครงสร้างออกมาอีกส่วนหนึ่งโดยทำเป็นชายคาคลุมบันไดหรือเป็นโครงสร้างลอยตัว ส่วนเรือนแฝดประเภทมีชานเปิดหน้าเรือน ไม่หลบบันไดเข้าชายคา แต่จะวางบันไดชนชานโล่งหน้าเรือนอย่างเปิดเผย “เสาแหล่งหมา” คือเสาลอยโดด ๆ ต้นเดียว ที่ใช้รับชายคาทางเข้าซึ่งมาจากการที่ชาวเหนือนำหมามาผูกไว้ที่เสานี้นั่นเอง
- ชาน
ชานเรือน คือพื้นไม้ระดับต่ำกว่าเติ๋น มักไม่มุงหลังคา เสารับชานเรียก เสาจาน ที่สุดช่านด้านที่มีคันได(บันได) มักจะมีฮ้านน้ำ (ร้านน้ำ)
- ร้านน้ำ หรือ ฮ้านน้ำ
คือหิ้งสำหรับวางหม้อน้ำดื่ม พร้อมที่แขวนกระบวยหิ้งน้ำ สูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร หากหิ้งน้ำอยู่ที่ชานโล่งแจ้งเจ้าของบ้านจะทำหลังคาคลุมลักษณะคล้ายเรือนเล็ก ๆ เพื่อมิให้แสงแดดส่องลงมาที่หม้อน้ำ หม้อน้ำนี้ยิ่งเก่ายิ่งดี เพราะมักจะมีตะใคร่น้ำเกาะ ภายนอกช่วยให้น้ำในหม้อเย็นกว่าเดิม ข้าง ๆ หม้อน้ำจะวางซองน้ำบวย (ที่ใส่น้ำกระบวย) ทำจากไม้ระแนงเป็นรูปสามเหลี่ยมตัว V ใส่กระบวยที่ทำจากกะลามะพร้าวต่อด้ามไม้สัก บางทีสลักเสลาปลายด้ามเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ น่าสนใจ
- เติ๋น
ตัวเติ๋นเป็นเนื้อที่กึ่งเปิดโล่ง มีขนาดไม่เล็กกว่าห้องนอนเท่าใดนัก ในกรณีของเรือนชนบทเป็นเนื้อที่ใช้งานได้แบบอเนกประสงค์ ถ้ามีแขกผู้น้อยมาหาเจ้าของบ้านจะนั่งบนเติ๋นแขกนั่งบนชานบันไดหรือเนื้อที่ที่มีระดับต่ำกว่า ถ้ามีแขกมีศักดิ์สูงกว่า เช่น ผู้ใหญ่ พระสงฆ์ เจ้าของบ้านก็จะนั่งถัดลงมา งานสวดศพก็จะใช้เนื้อที่นี้ประกอบพิธีกรรม ในกรณีที่มีลูกสาว ในเวลาค่ำคืนพวกหนุ่มก็มาแอ่วสาวที่เติ๋นนี้เอง เรือนที่มีห้องนอนเดียวก็จะใช้เติ๋นเป็นที่นอนของลูกชาย ลูกผู้หญิงนอนกับพ่อแม่ ลูกชายประเภทแตกเนื้อหนุ่มออกเที่ยวยามค่ำคืนกลับมาดึกดื่นไม่ต้องปลุกใครเข้านอนได้เลย
- ห้องนอน
ในระดับเรือนชนบทห้องนอนจะมีขนาดใหญ่กว่าเนื้อที่ใช้งานอื่น ๆ ฝาด้านทึบจะอยู่ชิดเติ๋น ประตูทางเข้าจะเปิดที่ผนังด้านโถงทางเดินที่ใช้ติดต่อกันทั้งบ้าน ส่วนเรือนไม้และเรือนกาแลที่มีตั้งแต่สองห้องนอนขึ้นไปบางทีรวมเนื้อที่ห้องนอนทั้งหมดแล้ว อาจจะเท่าเติ๋นหรือเล็กกว่าเล็กน้อย ห้องนอนในเรือนกาแลมักจะมีขนาดใหญ่ ฝาล้มออก จะจัดเนื้อที่ห้องนอนออกเป็นสองส่วนซีกหนึ่งใช้เป็นที่นอน อีกซีกใช้วางของ ระหว่างเนื้อที่ทั้งสองซีกมีแผ่นไม้กั้นกลาง (ไม้แป้นต้อง) ไม้ตัวนี้จะตัดความสั่นไหวของพื้นห้องนอนออกจากกันด้วย เมื่อใช้เดินออกจากห้องนอนในยามเช้า ขณะที่ผู้อื่นยังหลับใหลอยู่ ทำให้พื้นที่ส่วนอื่นไม่ไหวไม่เกิดเสียงไม้เบียดตัวกัน
- หิ้งผีปู่ย่า (หิ้งบรรพชน)
เป็นหิ้งที่จัดสร้างเหนือหัวนอน ติดฝาด้านตะวันออกตรงมุมห้องอยู่ติดเสา หรือระหว่างเสามงคลและเสาท้ายสุดของเรือน มักทำเป็นหิ้งเล็ก ๆ ยื่นจากฝาเข้ามาในห้องมีระดับสูงเท่า ๆ หิ้งพระ ผีปู่ย่า หมายถึง วิญญาณของบรรพชนที่สิงสถิตในห้องนอนนี้ และให้การคุ้มครองแก่ทุกคนที่อาศัยในห้องนี้ บนหิ้งมักมีพานหรือถาดใส่ดอกไม้ธูปเทียนจากการเซ่นไหว้เป็นครั้งคราว และมีการเซ่นไหว้เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เช่นแต่งงาน เจ็บป่วย เป็นต้น
- ห้องครัว
ห้องครัวจะอยู่ทางทิศตะวันตกของห้องนอนเสมอ โดยแยกไปอีกหลังหนึ่ง โดยจะวางขนานกับเรือนใหญ่หรือเรือนนอน มีช่องทางเดินแยกเรือนครัวออกจากเรือนนอน เนื้อที่ที่ใช้ตั้งเตาไฟจะยกขึ้นมาเป็นแท่นไม้อัดดินแน่น พวกอุปกรณ์หุงต้มต่าง ๆ จะจัดอยู่บนแท่นไม้นี้ เป็นการป้องกันอัคคีภัยอย่างหนึ่ง ทำงานแบบนั่งก็สะดวก ภายในเรือนครัวประกอบด้วยส่วนเตาไฟ ทำด้วยกระบะไม้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อัดด้วยดินให้แน่นและเรียบสูงประมาณ 20 ซม. เป็นที่ฝัง “ก้อนเส้า” มักทำด้วยดินกี่ (อิฐ) 3 ก้อน ตั้งเอียงเข้าหากัน เพื่อใช้เป็นเตาไฟ และวางหม้อแกง หรือหม้อนึ่งข้าวได้พอดี อาจจะทำ “ก้อนเส้า” ดังกล่าวนี้ 2 ชุด เพื่อสะดวกแก่การทำครัว ส่วนเหนือของเตาไฟจะมี “ข่า” ทำด้วยไม้จริงหรือไม้ไผ่ก็ได้เป็นตารางสำหรับย่างพืชผล และเป็นที่รมควันพวกเครื่องจักสาน กระบุง ตะกร้า เพื่อกันตัวมอดและทำให้ทนทานอีกด้วย ตอนบนหลังคาระดับจั่วจะเจาะโปร่งเป็นช่อง เพื่อการระบายควันไฟขณะทำครัว
-
ข่วงบ้าน
-
ร้านน้ำ หรือ ฮ้านน้ำ
-
เติ๋น
-
ห้องนอน
-
ห้องครัว
- อื่น ๆ
- ฮ่องริน หรือ ฮ่อมริน คือ ชายคาของเรือนนอนกับเรือนครัวจะมาจรดกันเหนือช่องทางเดิน โดยจะมีรางน้ำหรือฮ่องน้ำ (ร่องน้ำ) สำหรับรองน้ำฝนจากหลังคา
- ควั่น เป็นที่เก็บของที่ไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตประจำวัน บนเพดานโปร่งใต้หลังคาเติ๋น โดยนำไม้ไผ่มาทำเป็นตะแกรงโปร่ง ลายตารางสี่เหลี่ยมยึดแขวนกับขื่อจันทันและแปหัวเสาของเรือน เพดานตะแกรงโปร่ง
- หำยน เป็นไม้แกะสลักเหนือช่องประตู เป็นแผ่นไม้ที่ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นแผ่นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ติดไว้เพื่อป้องกันสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ผ่านเข้าสู่ห้องนอน
- ข่มประตู คือกรอบประตูล่างมีแผ่นธรณีประตูสูงกว่าขอบประตูปกติ ทำหน้าที่เป็นกรอบช่องประตู และเป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างห้องนอนกับเติ๋น
- ฝาลับนาง เป็นฝาเรือนซีกปลายเท้ายื่นเลยจากตัวเรือนนอนเลยเข้ามายังส่วนโล่งของเติ๋นประมาณ 2 คืบ เป็นส่วนกำบังหญิงสาวในขณะทำงานบนบ้านในเวลาค่ำคืน ป้องกันกระแสลมหรืออันตรายที่จะเกิดกับหญิงสาว และขณะพูดคุยเกี้ยวพาราสีกับชายหนุ่ม โดยฝ่ายหญิงจะนั่งตรงเติ๋นบริเวณฝาลับนาง ฝ่ายชายจะนั่งอยู่บริเวณเติ๋นที่อยู่ชิดกับชาน ซึ่งพื้นของบริเวณเติ๋นจะยกระดับสูงกว่าพื้นชาน ระดับพื้นที่เติ๋นยกสูงกว่าชานนี้ภาษาเหนือเรียกว่า “ข่ม”
- ต๊อมอาบน้ำ
บริเวณรอบ ๆ บ่อน้ำก็จะปลูกดอกไม้ ต้นไม้ และมีที่อาบน้ำเรียกว่า ต้อมอาบน้ำ มีลักษณะก่อด้วยอิฐ เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ทำประตูเหลื่อมกันไว้เป็นลับแล บางแห่งก็ทำด้วยวัสดุพื้นบ้าน เช่น ไม้ไผ่สานจะไม่มีหลังคา เพื่อให้แสงแดดส่องเข้าถึง พื้นปูด้วยอิฐหรือกรวด มีร่องน้ำทิ้งให้ไหลไปในสวน
-
ฮ่อนริน
-
หำยนต์
-
ฝาลับนาง
อ้างอิง
[แก้]- กาแลเอกลักษณ์ล้านนา : การสัมมนาทางวิชาการ; วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 ณ ห้องประชุมชั้น 3 คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . ภาควิชาศิลปไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัย
- คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช.(2544). ขึด: ข้อห้ามในล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. เชียงใหม่:สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
- คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช. ความเชื่อพื้นบ้านล้านนา: ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของท่านผู้รู้ในท้องถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2546
- เฉลียว ปิยะชน. เรือนกาแล. เชียงใหม่: สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2537.
- นงนุช ไพรบูลยกิจ.เรือนไทยภาคเหนือ เก็บถาวร 2007-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ค้นวันที่ 3 กรกฎาคม 50
- พาณี จิตต์ภักดี. สัมภาษณ์ 20 กรกฎาคม 2550.
- ลมูล จันทร์หอม. (2537). เรือนกาแล: ประเพณีความเชื่อการปลูกเรือนในล้านนา. เชียงใหม่: สถาบันราชภัฎเชียงใหม่.
- _______. (2547). ประเพณีความเชื่อการปลูกเรือนในล้านนาและเรือนกาแล. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง.
- สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคเหนือ ประเภทเรือนอยู่อาศัย. (2540). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
- สุชาดา วงศ์จักร์. สัมภาษณ์ 25 สิงหาคม 2550.
- สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2549). พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ. เชียงใหม่: นันทกานต์.
- อภิวันท์ พันธ์สุข. ตำแหน่งนักวิชาการศึกษา. สัมภาษณ์ 29 มิถุนายน 2550. พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สังกัด สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อนุวิทย์ เจริญศุภกุล และวิวัฒน์ เตมียพันธ์. เรือนล้านนาไทยและประเพณีการปลูกเรือน. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์