ชาวไทยในสิงคโปร์
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
18,335 คน (พ.ศ. 2564)[1] | |
ภาษา | |
ไทย · จีนกลาง · อังกฤษ | |
ศาสนา | |
พุทธ | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
ไทยสยาม · ไทยเชื้อสายจีน |
ชาวไทยในสิงคโปร์ หมายถึงบุคคลที่ถือสัญชาติไทยหรือมีเชื้อสายไทยสยามที่เกิดหรือพำนักในประเทศสิงคโปร์ จากข้อมูลของสถานกงสุลไทยระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2555 มีจำนวน 47,700 คน และใน พ.ศ. 2564 มีจำนวน 18,335 คน[1] ถือเป็นชุมชนไทยในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่แปดของโลก และเป็นอันดับที่สองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2]
ประวัติ
[แก้]ยุคอาณานิคม
[แก้]มีชาวสยามเข้าไปตั้งถิ่นฐานหรือพำนักในสิงคโปร์มาช้านานแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาอรรคราชนารถภักดี (เนตร เนตรายน) ไปศึกษาภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ เมื่อทราบภาษาอังกฤษพอสมควรแล้ว ได้แต่งตั้งให้เป็นกงสุลที่สองในสิงคโปร์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนย้ายกลับไปรับราชการในสยามต่อไป[3] เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2413 พร้อมพระราชทานช้างสัมฤทธิ์เป็นของขวัญแก่สิงคโปร์[4] และการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสิงคโปร์เป็นการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2433 ทรงกล่าวถึงกลุ่มคนเชื้อสายไทยที่เข้าไปอาศัยและแต่งงานกับคนที่สิงคโปร์ ทรงตรัสเรียกคนไทยเหล่านี้รวมกับคนชาติอื่น ๆ ในนั้นว่า เถื่อน ความว่า "...คนพวกที่จะเรียกได้ว่าคน ‘เถื่อน’ เหล่านี้มักจะเป็นคนพ่อเป็นฝรั่งบ้างเป็นเจ๊กบ้าง แม่เป็นแขก [มลายู] หรือเป็นคนไทยแต่ไปแต่งตัวเป็นแขก [...] บางทีก็แม่เป็นพะม่าพ่อเป็นฝรั่ง อยู่ในคงพูดแขก พูดเจ๊กพูดไทยได้ทั้งสามภาษา โดยมากบางคนก็พูดอังกฤษได้ แต่คงพูดแขกเป็นท้องภาษา ถึงพูดไทยไม่ได้ก็เข้าใจเกือบทุกคน คนเหล่านี้แต่งตัวเป็นแขก แต่ผัดหน้าแต่งตัวคล้าย ๆ ไทย กินหมากสูบบุหรี่ ไม่ใคร่เหม็นปาก พวกที่ปินังกินเหล้าจัดอยู่หน่อยหนึ่ง หน้ามักจะดี ผิวขาวกว่าแขกมะลายู แต่ไม่ถึงเจ๊กหรือฝรั่ง ที่มีความรู้ดีจนน่าพิศวงว่าทำไมจึ่งไปเป็นคนเช่นนี้ได้ก็มี"[5]
ทรงกล่าวถึงหญิงสยามไว้ ความว่า "เราพบที่สิงคโปร์คน 1 รูปร่างหน้าตาเป็นเมียขุนนางได้ดี ๆ รู้ภาษาอังกฤษพูดอ่านเขียนได้คล่อง เรียนที่แรฟฟัลสกูล อายุก็เพียง 19 ปีเท่านั้นมันเป็นคนเช่นนี้ได้ขันเต็มที..."[5] และ "คนไทยที่เราพบคน 1 นั้นเป็นคนกฎีจีน ไม่ได้ไว้มวย ไว้ผมประบ่า เขาชอบกันแต่เราเกลียดเต็มที อีแม่สื่อชื่อเอมเป็นคนบ้านอยู่วัดสระเกศ เป็นเมียแขก ดูท่าทางตอแหลเต็มที คนหากินพวกนี้ดูมันรู้จักกันหมด เราเข้าใจว่าคนพวกนี้เห็นจะเป็นพวกที่ดีกว่า 2 พวกที่ว่ามาก่อนนั้น และมักสรรเสริญกันว่ามีวิชชาดีต่าง ๆ ในเชิงนักเลง"[5]
ปี | ประชากร | ±% |
---|---|---|
2555 | 47,700 | — |
2557 | 40,000 | −16.1% |
2564 | 18,335 | −54.2% |
อ้างอิง: กระทรวงการต่างประเทศ[2][6][1] |
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/c/c7/Sakya_Muni_Buddha_Gaya_Temple_2012_0231.jpg/220px-Sakya_Muni_Buddha_Gaya_Temple_2012_0231.jpg)
คาดว่าคนไทยในสิงคโปร์ยุคแรก ๆ คือคนจีนที่มีสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทยเช่นเดียวกับคนจีนเมืองปีนัง คือ พูดภาษาไทยหรือนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท แต่มีรูปพรรณและแต่งกายเป็นจีนหรือบ้าบ๋า[7] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินบนเกาะสิงคโปร์จำนวนสองแปลง แปลงแรกมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานทูตไทย และอีกแปลงให้สร้างวัดพุทธแบบไทยประเพณี[8] มีการตั้งข้าราชการสยามรับราชการในสิงคโปร์ เช่น ตันกิมเจ๋ง เป็นกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้สนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อหลังตันกิมเจ๋งถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงเผื่อน อนุกูลสยามกิจ ภรรยา, คง อนุกูลสยามกิจ บุตรชาย และเชย วัชราภัย หลานสาว จึงย้ายกลับไปกรุงเทพมหานคร[9] ใน พ.ศ. 2443 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงระบุว่าไว้ในหัตถเลขาไปถึงพระยาสิทธิศัลการ อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอนเกี่ยวกับการจ้างงานของคนไทยในสิงคโปร์ว่า "...ด้วยพระยาสิทธิศัลการก็ทราบอยู่ด้วยว่าคนที่เป็นไทยแท้นั้น คงไม่รับจ้างฝรั่งที่ไม่เป็นหลักฐานไปยุโรปจากกรุงเทพฯ แลถ้าจะจ้างออนกันไป ก็ย่อมมีผู้รู้เห็น แลรู้จักชื่อเสียงผู้ที่จ้างไป การจ้างลูกจ้างโดยออกไปยุโรปจึงมีชุกชุมอยู่แต่ที่เมืองสิงคโปร์ซึ่งเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ แลที่มักมีคนไทยเป็นอันมากหลบหนีอพยพไปอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่คิดจะกลับบ้านเมืองเดิมเช่นนี้ จะถือเป็นคนไทยก็ยาก เพราะฉะนั้นมีกลาสีแขกแลคนชาวตะวันออกเป็นอันมากซึ่งอาศัยอยู่ในหัวเมืองขึ้นอังกฤษที่พูดไทยได้ แลเมื่อตกอับก็ชองเอาว่าเป็นคนไทย..."[10] และมีกรณีชาวไทย 5 คนจากสิงคโปร์ติดตามคณะละครสัตว์ของชาวยุโรป แต่ถูกคณะละครสัตว์ทอดทิ้งที่เมืองโดเวอร์ ประเทศอังกฤษ จนมีสภาพเป็นคนอนาถาก่อนได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลสยาม[11] เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จเยี่ยมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินซึ่งประทับที่สิงคโปร์เมื่อ พ.ศ. 2467 แต่ทรงหาพระตำหนักของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินไม่พบ จึงไปถามพระภิกษุในวัดพุทธคยา (ปัจจุบันคือ วัดศากยมุนีพุทธคยา) หรือมีชื่ออย่างสามัญว่า วัดเสือ[12] ซึ่งเป็นวัดไทยที่ก่อตั้งโดยพระมอญ[13][14] ก็ทรงพบปะคนไทยอาศัยในบริเวณนั้นจำนวนหนึ่ง[12]
หลังการก่อตั้งประเทศสิงคโปร์
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/d/dd/Golden_Mile_Complex_4%2C_Aug_07.jpg/220px-Golden_Mile_Complex_4%2C_Aug_07.jpg)
หลังการก่อตั้งประเทศ สิงคโปร์มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร และขาดแรงงานฝีมือจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้สิงคโปร์จึงเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศที่หลากหลายขึ้น เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งแรงงานไทยส่วนใหญ่มีพื้นเพเป็นชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เบื้องต้นแรงงานชายจะเป็นคนงานก่อสร้าง[15] และแรงงานหญิงทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ใน พ.ศ. 2531 มีแรงงานไทยจำนวน 25,000 คน ต่อมา พ.ศ. 2533 มีแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คน กระทั่ง พ.ศ. 2537 มีแรงงานไทยในสิงคโปร์มากถึง 50,000 คน โดยไม่รวมแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งด้วย[16] นอกจากการเป็นแรงงานและแม่บ้านแล้ว ยังมีชาวไทยอีกกลุ่มดำเนินธุรกิจด้านอาหารไทยและเครื่องดื่ม (โดยเฉพาะชาไทย)[17] กระจายทั่วไปทั้งรายใหญ่และรายย่อย[18]
ชาวไทยจำนวนมากนั่งรถโดยสารมาจนถึงสิงคโปร์ ตึกโกลเดนไมล์คอมเพล็กซ์ (Golden Mile Complex) ซึ่งเป็นจุดขึ้นรถโดยสารกลายเป็นหลักแหล่งชุมนุมของคนไทยในสิงคโปร์ มีธุรกิจร้านอาหาร บริษัททัวร์ และหนังสือพิมพ์ไทยผุดขึ้นในย่านนี้ จนตึกโกลเดนไมล์มีสมญาว่า "เมืองไทยน้อย" (Little Thailand)[19] ทั้งยังเป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับคนไทยในสิงคโปร์[20] ใกล้กับโกลเดนไมล์คอมเพล็กซ์มีสวนสาธารณะริมน้ำกัลลัง หรือที่ชาวไทยเรียกว่า สวนมะพร้าว เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ค้าขาย และสังสรรค์[21] นอกจากโกลเดนไมล์คอมเพล็กซ์แล้ว ยังมีคนไทยอาศัยอยู่ในแฟลตคนงานแออัดย่านบุนเลย์ (Boon Lay) และมีหญิงชาวไทยค้าบริการแบบผิดกฎหมายในย่านนั้นเป็นสำคัญ[22]
วัฒนธรรม
[แก้]ภาษา
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/17/Wat_Ananda_Metyarama_Thai_Buddhist_Temple.jpg/220px-Wat_Ananda_Metyarama_Thai_Buddhist_Temple.jpg)
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/90/Buddhist_statues%2C_Wat_Sumankirivanaram%2C_Pulau_Ubin%2C_Singapore_-_20070211-02.jpg/220px-Buddhist_statues%2C_Wat_Sumankirivanaram%2C_Pulau_Ubin%2C_Singapore_-_20070211-02.jpg)
ชาวไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษสำหรับสื่อสารกับชาวสิงคโปร์[23] แต่ใช้ภาษาไทยหรือภาษาไทยถิ่นอีสานร่วมกับกลุ่มชนเดียวกัน[21] โดยภาษาไทยในประเทศสิงคโปร์ จะมีคำศัพท์เฉพาะของตัวเองไม่กี่คำ เช่น สวนมะพร้าว หมายถึง สวนสาธารณะริมน้ำกัลลัง[21] ใบเวิร์ก แปลว่า ใบอนุญาตทำงาน (มาจาก work permit)[24][25] แท็ก [ออกเสียง แถ็ก] แปลว่า สัญญาอนุญาต (มาจาก contract)[26] และ จ๊อบ หรือ จ๊อบเข้า-จ๊อบออก แปลว่า การเข้าไปทำงานในช่วงเวลาสั้น ๆ มาจากคำว่า job (งาน) และ chop (การลงตราประทับวีซ่าของเจ้าหน้าที่) ทั้งออกเสียงคล้ายคำว่า จอบ แปลว่า แอบ หรือ ลักลอบ ในภาษาไทยถิ่นอีสาน ชาวไทยในสิงคโปร์ใช้ในความหมายว่า การเข้าไปทำงานระยะสั้นตามอายุวีซ่าผ่านแดนชั่วคราวที่ทางการสิงคโปร์กำหนดให้ ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการทำงานระยะสั้นนี้จะถูกเรียกว่า เซียนจ๊อบ[21]
ศาสนา
[แก้]ชาวไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ปัจจุบันมีวัดไทยในการปกครองของเจ้าคณะรัฐสิงคโปร์และเครือสมัชชาสงฆ์ไทยในสิงคโปร์ จำนวน 51 วัด[27] ชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจกับเครื่องรางของขลังไทย โดยเฉพาะพระเครื่องหรือเครื่องรางอื่น ๆ ด้วยมองว่าเป็นสิริมงคล ส่งเสริมหน้าที่การงานและสุขภาพ เป็นที่นิยมทั้งสวมใส่หรือพกติดตัว[28][29]
ทั้งนี้วัดไทยในประเทศสิงคโปร์มิได้เน้นศาสนบริการแก่ชาวไทยเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นที่พึ่งของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในสิงคโปร์ วัดไทยกลายเป็นพื้นที่ของชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ วัดไทยมีสถาปัตยกรรมจีนเพิ่มขึ้นและมีทรัสตีชาวจีนทั้งหมด ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องสะท้อนความหลากหลายทางสังคม โดยพระสงฆ์ใช้อำนาจผ่านศาสนพิธีและกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ อย่างถ่อมตัว การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ที่จะก่อให้เกิดความคล่องตัวและตอบสนองกับคนรุ่นใหม่[30]
สมาคม
[แก้]ชาวไทยในสิงคโปร์ ได้ก่อตั้งสมาคมไทย (สิงคโปร์) เพื่อเป็นศูนย์กลางของคนไทยในสิงคโปร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2540[31] และสมาคมสามัคคีไทยไกลบ้าน (สิงคโปร์) เดิมใช้ชื่อว่า สมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์[32] ทั้งยังมีชมรมนาฏศิลป์ไทยในสิงคโปร์ จัดการสอนนาฏศิลป์แก่เยาวชนไทยและลูกครึ่งไทยที่อาศัยในสิงคโปร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูต[33] นอกจากนี้ประเทศสิงคโปร์ยังมีการจัดประเพณีสงกรานต์[34] และกิจกรรมลอยกระทง[35]
บุคคลที่มีชื่อเสียง
[แก้]- เบน เดวิส – ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ เป็นนักฟุตบอลสิงคโปร์ในสโมสรฟุตบอลฟูลัม
- พรศักดิ์ ประจักษ์วิทย์ – ชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นนักแสดงสิงคโปร์
- วาเนสซา เมย์ – ลูกครึ่งไทย-สิงคโปร์ เป็นนักไวโอลินสหราชอาณาจักร
- เวอร์เนตตา โลเปซ – เป็นดีเจและนักแสดงสิงคโปร์
- หง หลิง – ลูกครึ่งไทย-สิงคโปร์ เป็นนักแสดงสิงคโปร์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "สถิติจำนวนคนไทยใน ตปท. ประจำปี 2564" (PDF). กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ. 28 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2022.
- ↑ 2.0 2.1 "รายงานจำนวนประมาณการคนไทยในต่างประเทศ 2012" (PDF). consular.go.th. 5 มีนาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2017. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2022.
- ↑ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. ชีวิตและงานกงสุลไทยของพระยาอนุกูลสยามกิจ อุปนิกษิตสยามรัฐ (ตันกิมเจ๋ง) กงสุลเยเนอราลไทยคนแรก ณ เมืองสิงคโปร์. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือกรุงเทพ. 2525, หน้า 22
- ↑ "อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์เผย ความเข้าใจผิดของคนไทย ขณะเยี่ยมชม 'ช้างสำริด' ของขวัญ ร.5 พระราชทาน 'สิงคโปร์'". มติชนออนไลน์. 16 กุมภาพันธ์ 2019. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2022.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "ร.5 ทรงเล่า "เที่ยวกลางคืน" บรรยายโสเภณีที่ปีนัง-สิงคโปร์ และเจอคนไทย!". ศิลปวัฒนธรรม. 22 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2022.
- ↑ พัทยา เรือนแก้ว (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). คนไทยและการก่อตัวเป็นชุมชนไทยในเอเชีย. วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2), หน้า 107
- ↑ พิเชฐ แสงทอง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2560). ศึกไทย-พม่าที่ปีนัง: แกะรอยปริศนาปีสร้างและคดีความที่วัดปูเลาติกุส (ไชยมังคลาราม) มาเลเซีย. วารสารกึ่งวิชาการ (38:2), หน้า 43
- ↑ ปัญญา เทพสิงห์ (มกราคม–มิถุนายน 2560). "ปัจจัยที่ส่งผลต่อความหลากหลายศิลปกรรมของวัดไทยในประเทศสิงคโปร์". สารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (9:1). หน้า 195
- ↑ ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที (9 มีนาคม 2020). ""ตันกิมเจ๋ง" กงสุลไทยคนแรก ณ เมืองสิงคโปร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองกระบุรีและผู้มากบารมีบนแผ่นดินลอดช่อง!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2022.
- ↑ เอนก นาวิกมูล. นักเดินทางชาวสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562, หน้า 261
- ↑ เอนก นาวิกมูล. นักเดินทางชาวสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562, หน้า 258
- ↑ 12.0 12.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "สาส์นสมเด็จ (29 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 น)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2022.
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "สาส์นสมเด็จ (8 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ดร)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2022.
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "สาส์นสมเด็จ (12 มิถุนายน พ.ศ. 2478 น)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2022.
- ↑ "Thai workers have help fitting in here, thanks to group". AsiaOne. 15 พฤษภาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2019.
- ↑ พัฒนา กิติอาษา (มกราคม–เมษายน 2552). "คติชนคนข้ามแดน: จากอีสานถึงสิงคโปร์". วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (5:1), หน้า 7, 9
- ↑ เทรนด์ร้านอาหารในสิงคโปร์ (PDF). สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ. 2019. p. 5.
- ↑ "วิธีการเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ให้ประสบความสำเร็จ". SME How. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-01. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "Golden Mile Complex will 'not be the same even if building is kept'". TODAYonline. 13 มกราคม 2019. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2019.
- ↑ พัทยา เรือนแก้ว (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). คนไทยและการก่อตัวเป็นชุมชนไทยในเอเชีย. วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2), หน้า 117
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 พัฒนา กิติอาษา (มกราคม–เมษายน 2552). "คติชนคนข้ามแดน: จากอีสานถึงสิงคโปร์". วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (5:1), หน้า 13
- ↑ พัฒนา กิติอาษา (มกราคม–เมษายน 2552). "คติชนคนข้ามแดน: จากอีสานถึงสิงคโปร์". วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (5:1), หน้า 14
- ↑ Sam Ponsan (24 เมษายน 2019). "8 เรื่องควรรู้สำหรับคนไทยที่อยากไปทำงานสิงคโปร์ กับ 'โบว์ - ขจีภรณ์ เตชะทวีกิจกุล' แอดมินเพจ 'Boring Singapore'". Mango Zero. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2022.
- ↑ พัทยา เรือนแก้ว (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). คนไทยและการก่อตัวเป็นชุมชนไทยในเอเชีย. วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2), หน้า 130
- ↑ พัฒนา กิติอาษา (มกราคม–เมษายน 2552). "คติชนคนข้ามแดน: จากอีสานถึงสิงคโปร์". วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (5:1), หน้า 19
- ↑ พัฒนา กิติอาษา (มกราคม–เมษายน 2552). "คติชนคนข้ามแดน: จากอีสานถึงสิงคโปร์". วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (5:1), หน้า 16
- ↑ "วัดไทย". Royal Thai Embassy Singapore. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2022.
- ↑ ""เว็ปเตอร์ลี" (李耀光: Lee Yao Guang) เซียนพระ หลวงปู่คำพันธ์ - อ.เปล่ง บุญยืน @ สิงคโปร์". ผู้จัดการออนไลน์. 18 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2022.
- ↑ "สินค้าเครื่องรางของขลังไทยในสิงคโปร์". กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. 19 กันยายน 2019. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2022.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ปัญญา เทพสิงห์ (มกราคม–มิถุนายน 2560). "ปัจจัยที่ส่งผลต่อความหลากหลายศิลปกรรมของวัดไทยในประเทศสิงคโปร์". วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (9:1). หน้า 208–209
- ↑ "เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ เป็นประธาน ในงานวันลอยกระทงของสมาคมไทย (สิงคโปร์)". Royal Thai Embassy Singapore. 17 พฤศจิกายน 2012. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2022.
- ↑ พัทยา เรือนแก้ว (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). คนไทยและการก่อตัวเป็นชุมชนไทยในเอเชีย. วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2), หน้า 114
- ↑ "เอกอัครราชทูตฯ มอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนที่ได้เข้าอบรมนาฏศิลป์ไทยภายใต้โครงการสอนนาฏศิลป์ไทยให้แก่เยาวชนไทยในสิงคโปร์". Royal Thai Embassy Singapore. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2022.
- ↑ "เทศกาลสงกรานต์ของใคร ทำไมต้องหวง?". วอยซ์ทีวี. 19 มีนาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2022.
- ↑ "สนร. สิงคโปร์ ร่วมงานประเพณีลอยกระทง". สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์. 19 พฤศจิกายน 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2022.