เปี๊ยก โปสเตอร์
เปี๊ยก โปสเตอร์ | |
---|---|
ชื่อเกิด | สมบูรณ์สุข นิยมศิริ |
เกิด | 18 ตุลาคม พ.ศ. 2475 จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศสยาม |
บุตร | 4 คน |
อาชีพ | ผู้กำกับภาพยนตร์, ช่างเขียน |
ผลงานเด่น | โทน (2513) ชู้ (2515) วัยอลวน (2519) สะพานรักสารสิน (2530) ลุงเทือง ใน ท็อป ซีเคร็ต วัยรุ่นพันล้าน (2554) |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2558 - สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) |
พระสุรัสวดี | ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2516-17 - ชู้ |
สุพรรณหงส์ | ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2523 - เงาะป่า |
ชมรมวิจารณ์บันเทิง | พ.ศ. 2553 - รางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม พ.ศ. 2554 - Top Secret วัยรุ่นพันล้าน |
ฐานข้อมูล | |
IMDb |
เปี๊ยก โปสเตอร์ (เกิด 18 ตุลาคม พ.ศ. 2475) ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2558 ผู้มีชื่อเสียง อดีตเป็นช่างวาดภาพป้ายโฆษณาภาพยนตร์ ก่อนมาเอาดีในด้านกำกับหนัง ที่เคยกำกับหนังไทยมากว่า 28 เรื่อง ในยุคแรกๆ นิยมตั้งชื่อภาพยนตร์ด้วยคำพยางค์เดียวจนกลายเป็นเอกลักษณ์ ผลงานสร้างชื่อเสียง อาทิ โทน ชู้ ผลงานสร้างชื่อในยุคต่อมาได้แก่ วัยอลวน ภาพยนตร์เรื่องเป็นหนังรักวัยรุ่น ใช้ดาราหน้าใหม่นำแสดง คือไพโรจน์ สังวริบุตร และลลนา สุลาวัลย์ ฉีกแนวภาพยนตร์ในยุคนั้น ทำเงินได้จำนวนมาก ทำให้มีการสร้างภาคต่อ คือรักอุตลุด และ ชื่นชุลมุน ตามมา ทั้งไพโรจน์ และลลนา กลายเป็นดาราดังเปรี้ยงปร้างในชั่วข้ามคืน
ประวัติ
[แก้]เปี๊ยก โปสเตอร์ มีชื่อจริงว่า สมบูรณ์สุข นิยมศิริ เกิดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ จบมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนวัดราชาธิวาส จบการศึกษาระดับปริญญาจาก วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เริ่มทำงานในปี พ.ศ. 2496 โดยเป็นช่างเชียนอยู่ที่ร้านไพบูลย์การช่าง รับเขียนป้ายโฆษณาสินค้าต่าง ๆ วาดรูปปกนิตยสาร ต่อมาได้เขียนภาพด้วยสีโปสเตอร์ลงในตัดเอาท์ ซึ่งต่างเอาช่างเขียนอื่นที่ใช้สีน้ำมัน ต่อมา จึงให้เขียนโปสเตอร์หนังของโรงภาพยนตร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นผู้บุกเบิกการใช้เทคนิคการเขียนภาพด้วยสีโปสเตอร์ ยุคแรก ๆ เปี๊ยกจะเซ็นชื่อว่า เปี๊ยก ในใบปิดทุกเรื่อง แล้วต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้ตามฉายาที่ได้มาว่า เปี๊ยก โปสเตอร์ ผลงานในใบปิดหนังไทยยุค 16 ม.ม. ของเปี๊ยก โปสเตอร์ เช่น เล็บครุฑ, แสงสูรย์, ธนูทอง, เสือเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักเขียนรุ่นหลังอีกหลายคนที่ได้รับอิทธิพลการวาดมาจากเปี๊ยก โปสเตอร์ เช่น ทองดี ภานุมาศ, บรรหาร สิตะพงศ์ เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2511 เปี๊ยก โปสเตอร์ได้ร่วมกับเพื่อนทำหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยชื่อ ดาราภาพ โดยเปี๊ยกซึ่งคลุกคลีอยู่กับผู้สร้างดาราในกองถ่ายทำมาก่อน เพราะต้องไปถ่ายรูปดารา หาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเอามาเขียนคัดเอาท์และใบปิดหนัง รับหน้าที่ข้อมูลในกองถ่ายทำและรูปดาราเพื่อทำหนังสือ และเปี๊ยกยังเขียนคอลัมน์ชื่อ เงาจิตรกร สอนวาดภาพแก่คนทั่วไปด้วย ทำให้ เปี๊ยก โปสเตอร์ เดินทางเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในฐานะผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ โดยความร่วมมือจากทีมงานหนังสือดาราภาพที่ถูกแฟนภาพยนตร์คะยั้นคะยอให้สร้างภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง ซึ่งเปี๊ยกก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องไม่ใช่ภาพยนตร์ 16 มม. อย่างที่ทำอยู่ในขณะนั้น เปี๊ยกและทีมงานต้องการพัฒนาการสร้างภาพยนตร์ให้เป็นระบบ 35 ม.ม. เสียงในฟิล์ม จึงให้เปี๊ยกเดินทางไปอบรมดูงานที่โรงถ่ายไดเอะประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 เดือน แล้วก็กลับมาเปิดกล้องกำกับภาพยนตร์ เรื่องแรกในชีวิตเมื่อวันที่ 9 กันยายน ด้วยภาพยนตร์เรื่อง โทน (2513) ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2513 โทน ออกฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย ก็ประสบความสำเร็จเกินคาด เพราะรูปแบบการสร้าง เนื้อเรื่องที่แตกต่างและงานสร้างที่มีความสมจริงกว่าระบบ 16 ม.ม แม้ว่าตอนแรก โทน จะขายสายภาพยนตร์ต่างจังหวัดไม่ได้ มีการวิพากย์วิจารณ์บทที่ให้นางเอกถูกข่มขืน แต่โทนก็ทำรายได้ถึงหกล้านบาท ส่งผลให้ ไชยา สุริยัน กลับมาแจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์อีกครั้ง ส่วน อรัญญา นามวงศ์ ก็ได้รับงานแสดงมากขึ้น ชื่อเสียงของเปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับหน้าใหม่ก็ติดอยู่ในวงการภาพยนตร์ตั้งแต่นั้นมา เช่นเดียวกันจนเปี๊ยกต้องตัดสินใจทิ้งพู่กันหันมาเอาดีทางกำกับภาพยนตร์ และมีผลงานติดต่อกันมาทุกปี
เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้ชื่อว่า เป็นนักสร้างและส่งดาราให้กับวงการภาพยนตร์มาแล้วหลายต่อหลายคน เช่น ไพโรจน์ ใจสิงห์ จากเรื่อง ดวง (2514), กรุง ศรีวิไล จากเรื่อง ชู้ (2515), อุเทน บุญยงค์ จากเรื่อง เขาสมิง (2516), อีดำ-บุปผารัตน์ ญานประสิทธิกุล หนูเดือน-ช่อเพชร ชัยเนตร จากเรื่อง ข้าวนอกนา (2518), ตั้ม ไพโรจน์ สังวริบุตร และ โอ๋ ลลนา สุลาวัลย์ จากเรื่อง วัยอลวน (2519), ทูน หิรัญทรัพย์ และ ลินดา ค้าธัญเจริญ จากเรื่อง แก้ว (2523), อำพล ลำพูน และ วรรษมน วัฒโรดม จากเรื่อง วัยระเริง (2527), อำพล ลำพูน และ นาถยา แดงบุหงา จากเรื่อง ข้างหลังภาพ (2528), รอน บรรจงสร้าง จากเรื่อง สะพานรักสารสิน (2530) และกลุ่มซูโม่กับกลุ่มกลิ่นสีจากภาพยนตร์เรื่อง กลิ่นสีและกาวแป้ง
เปี๊ยกใช้ชีวิตในการกำกับภาพยนตร์มาจน 26 ปี ถึงเรื่องสุดท้าย ออกฉายในปี พ.ศ. 2538 คือ บินแหลก จากนั้นเปี๊ยกก็กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติที่บ้านกลางขุนเขาปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จนถึงทุกวันนี้
ในปี พ.ศ. 2554 เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน ในบท ลุงเทือง และได้รับรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิงในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม[1] แต่ก่อนที่จะแสดงภาพยนตร์เรื่อง วัยรุ่นพันล้าน เปี๊ยก โปสเตอร์ เคยแสดงภาพยนตร์มาแล้วเรื่องหนึ่งคือเรื่อง งูผี ที่กำกับโดย รัตน์ เศรษฐภักดี ออกฉายครั้งเเรกเมื่อปี 2509 โดยรับบทเป็นตัวประกอบออกมาเพียงฉากเดียวแต่มีบทพูดในบท คนจับงู
ผลงานกำกับการแสดง
[แก้]- โทน (2513)
- ดวง (2514)
- ยอดต่อยอด (2514)
- ชู้ (2515)
- เขาสมิง (2516)
- คู่หู (2517)
- ข้าวนอกนา (2518)
- ประสาท (2518)
- มีนัดไว้กับหัวใจ (2518)
- วัยอลวน (2519)
- เงาราหู (2519)
- รักอุตลุด (2520)
- ชื่นชุลมุน (2521)
- แก้ว (2523)
- เงาะป่า (2523) - กำกับร่วมกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
- คุณปู่ซู่ซ่าส์ (2524)
- คุณย่าเซ็กซี่ (2525)
- วัยระเริง (2527)
- ข้างหลังภาพ (2528)
- เกมส์มหาโชค (2529)
- ดวงใจกระซิบรัก (2529)
- สะพานรักสารสิน (2530)
- กลิ่นสีและกาวแป้ง (2531)
- กลิ่นสีและกาวแป้ง 2 (2532)
- ดีดสีและตีเป่า (2532)
- ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม (2534)
- บินแหลก (2538)
- สุริโยไท (2544) (ผู้กำกับกอง 2)
บทภาพยนตร์
[แก้]- โทน (2513)
- แก้ว (2523)
- คุณปู่ซู่ซ่า (2524)
- คุณย่าเซ็กซี่ (2525)
อำนวยการสร้าง
[แก้]- มีนัดไว้กับหัวใจ (2518)
แสดงภาพยนตร์
[แก้]- Top Secret วัยรุ่นพันล้าน (2554) รับบท ลุงเทือง
- รัก 7 ปี ดี 7 หน (ตอน 42.195) (2555) รับบท นักวิ่งมาราธอน (รับเชิญ)
- 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น (2559) (รับเชิญ)
- วัยอลวน 5 (2564)
กำกับละคร
[แก้]- ชมรมขนหัวลุก ตอน ความกลัวหมายเลข 0 (2540)
- อย่าลืมฉัน (2541)
- พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ (2542)
- แก้ว (2545)
บทละคร
[แก้]- โทน (2535)
- คุณปู่ซู่ซ่า (2542)
- แก้ว (2545)
- โทน (2556)
- คู่หู (2559)
ควบคุมการผลิต
[แก้]- พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ (2542)
แสดงละคร
[แก้]- ชมรมขนหัวลุก FRIDAY ตอน มหกรรมขนหัวลุก กับ 3 ผู้กำกับระดับหัวกะทิ (2540)
รางวัลที่ได้รับ
[แก้]- พ.ศ. 2516-17 รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี - ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เรื่อง ชู้
- พ.ศ. 2523 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ - ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม เรื่อง เงาะป่า
- พ.ศ. 2530 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ - กำกับภาพยอดเยี่ยม เรื่อง สะพานรักสารสิน
- พ.ศ. 2553 รางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ จากชมรมวิจารณ์ ครั้งที่ 19
- พ.ศ. 2554 รางวัลเกียรติยศ จากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 1
- พ.ศ. 2554 รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง - นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม เรื่อง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน
- พ.ศ. 2558 รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2560 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[2]
อ้างอิง
[แก้]- ทำเนียบผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับการแสดง เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "ประกาศผลรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง 2012!!!! ณ บัดนาววว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-26. สืบค้นเมื่อ 2012-03-21.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๐ เก็บถาวร 2022-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๘ ข หน้า ๑๔๘, ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]