ข้ามไปเนื้อหา

มัณฑนา โมรากุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มัณฑนา โมรากุล
มัณฑนา โมรากุล
เกิดเจริญ โมรากุล
30 มีนาคม พ.ศ. 2466 (101 ปี)
บ้านสวนสุพรรณ อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร
ชื่ออื่นแสงจำเริญ โมรากุล
จุรี โมรากุล
จำนรรค์ เครือสุวรรณ
อาชีพนักร้อง, นักแสดง
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2478 – 2518 (40 ปี)
คู่สมรสบุญยงค์ เกียรติวงศ์
บุตร4 คน
รางวัลพ.ศ. 2552 – ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)

มัณฑนา เกียรติวงศ์[1] เป็นชื่อรู้จักในนามเดิมคือ มัณฑนา โมรากุล แรกเกิดชื่อ "เจริญ โมรากุล" (เกิด 30 มีนาคม พ.ศ. 2466) เคยใช้นามแฝงในคณะละครว่า จำนรรจ์ เครือสุวรรณ[2] เป็นอดีตนักร้องหญิงชาวไทยคนแรกของวงดนตรีกรมโฆษณาการ และเป็นนักร้องรุ่นแรกของวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่และอายุมากที่สุด มัณฑนา โมรากุล ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2552

ประวัติ

[แก้]
"มัณฑนา โมรากุล" ในวัย 16 ปี พ.ศ. 2482

มัณฑนา เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือนห้า ปีกุน ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2466 (นับแบบใหม่) ที่บ้านสวนสุพรรณ ที่พำนักของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) (เป็นที่ประทับตามพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี) เป็นบุตรคนที่สี่ในจำนวนหกคนของหลวงสิริราชทรัพย์ (ชัย โมรากุล) (2439 - 2504) ข้าราชการกรมบัญชีกลางเชื้อสายจีน[3] กับผัน โมรากุล (สกุลเดิม เครือสุวรรณ) ซึ่งเป็นครูละครในบ้านสวนสุพรรณ

ชื่อของมัณฑนานั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง เมื่อแรกเกิดเป็นเวลาที่บิดาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากขุนขึ้นเป็นหลวง เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ จึงเมตตาตั้งชื่อให้ว่า "เจริญ" เพราะเกิดมาพร้อมกับความเจริญของบิดา ในช่วงหนึ่งได้มีโอกาสเล่นละครร่วมกับคณะบรรทมสินธุ์ของ พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ท่านจึงให้ชื่อสำหรับใช้เล่นละครว่า "แสงจำเริญ" และได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกชื่อเพลง "คนึงรัก" และเพลง "สร้อยไทรโยค" ร้องคู่กับ "แสงสม แสงยาคม" ในปี พ.ศ. 2478 ต่อมาได้ไปฝึกการขับร้องเพลงกับครูสกนธ์ มิตรานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนให้ชื่อเป็น จุรี และครั้งหลังสุดจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น "มัณฑนา" เมื่อ พ.ศ. 2485[4]

มัณฑนาได้ฝึกร้องเพลงครั้งแรกกับมิสแมคแคน ที่ในโบสถ์พระคริสต์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเริ่มหัดร้องเพลงไทยเดิมกับครูเจอ บุรานนท์ (มารดาของสุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต) ที่ในบ้านสวนสุพรรณ ภายหลังเกิดแรงบันดาลใจจากการขับร้องเพลงไทยสากลของ จำรัส สุวคนธ์ บวกกับมีความชื่นชอบในการขับร้องเพลงไทยสากลอยู่แล้ว จึงได้ฝึกขับร้องเพลงไทยสากลอย่างจริงจังจาก ครูสกนธ์ มิตรานนท์, ครูเวส สุนทรจามร และครูสริ ยงยุทธ รวมถึงฝึกฝนด้วยตนเอง

ด้านการศึกษา เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสาวภา แต่จบเพียงชั้นมัธยมปีที่ 2 เพราะฐานะทางบ้านไม่อำนวย จึงได้แต่หัดร้องเพลงกับครูสกนธ์ มิตรานนท์ และครูพิมพ์ พวงนาค โดยเล่นละครวิทยุกับคณะจารุกนกอยู่ระยะหนึ่ง จนมีโอกาสได้บันทึกเสียงเพลงไทยสากลเพลงที่ 4 ในปี พ.ศ. 2482 กับห้าง ต. เง็กชวน คือเพลง "น้ำเหนือบ่า" แต่งโดยครูพิมพ์ พวงนาค

การทำงาน

[แก้]
"มัณฑนา โมรากุล" (ศิลปินแห่งชาติ) บนหน้าปกแผ่นเสียงลองเพลย์ไทยบริษัท กมลสุโกศล จำกัด ที่รวมผลงานเพลงฮิตในปี พ.ศ. 2493 - 2495 มาผลิตเป็นแผ่นเสียงลองเพลย์ในปี พ.ศ. 2508 - 2509

มัณฑนามีโอกาสขับร้องเพลงในงานวันประสูติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 มัณฑนาจึงได้รับการชักชวนจาก พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีกรมโฆษณาการในขณะนั้นให้ไปเป็นนักร้องของวงดนตรีโฆษณาการในวันถัดมา ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 17 ปี จึงยังบรรจุเป็นข้าราชการไม่ได้ ต้องบรรจุในตำแหน่งพนักงานวิสามัญลูกจ้างก่อน จนมีอายุครบตามกำหนดจึงได้เลื่อนเป็นนักร้อง นับเป็นนักร้องหญิงคนแรกของวง

ในช่วงที่รับราชการในกรมโฆษณาการ มัณฑนาได้ขับร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงในเพลงปลุกใจ และเพลงพระราชนิพนธ์ รวมถึงเพลงไทยสากลประเภทต่างๆไว้เป็นจำนวนมากกว่า 200 เพลง มัณฑนามีโอกาสได้ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในเพลง เทวาพาคู่ฝัน และเพลง ดวงใจกับความรัก ถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงาน"บรมราชาภิเษกสมรส" ณ วังสระปทุม ในปี พ.ศ. 2493 ลักษณะการร้องของเธอเป็นนักร้องหญิงคนแรก ๆ ของประเทศไทย ที่นำการใช้ลูกคอแบบตะวันตกมาใช้ร้องในเพลงไทย เพื่อช่วยการร้องให้เกิดเสียงสูง เรียกว่า "เสียงสมอง" นอกจากนี้เธอยังได้รับหน้าที่เป็นโฆษกหญิงยุคแรกของกรมโฆษณาการ เธอเป็นสมาชิกของวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือ วงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นเวลา 10 ปี และได้ลาออกในปี พ.ศ. 2494 เพื่อสมรสกับนายบุญยงค์ เกียรติวงศ์ มีบุตร - ธิดารวมทั้งสิ้น 4 คน

หลังลาออกจากราชการ มัณฑนาได้ร่วมกับสามีทำกิจการสร้าง "โรงภาพยนตร์ศรีย่าน", "โรงภาพยนตร์ศรีพรสวรรค์" ท่าน้ำนนท์ จังหวัดนนทบุรี, "โรงภาพยนตร์ศรีพรานนก" ถนนพรานนก อำเภอบ้านช่างหล่อ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จนเมื่อไฟไหม้โรงภาพยนตร์ครั้งใหญ่จึงได้เลิกกิจการไป และเธอยังได้สร้างภาพยนตร์หนึ่งเรื่องคือเรื่อง "มารรัก" ในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งเธอเขียนบทประพันธ์เองและร่วมร้องเพลงประกอบด้วย ด้านการร้องเพลงเธอได้ร่วมงานร้องในรายการโทรทัศน์เป็นครั้งคราว จนถึง พ.ศ. 2518 จึงเลิกร้องเพลงอย่างถาวรด้วยเหตุผลทางสุขภาพ ปัจจุบันอยู่กับบุตรและธิดาที่บ้านพักย่านถนนพุทธมณฑลสาย 2 แต่ยังปรากฏตัวตามงานคอนเสิร์ตการกุศลบ้าง เช่น

เกียรติยศ

[แก้]

ผลงาน

[แก้]

ขับร้อง

[แก้]

ดวงใจกับความรัก (เพลงพระราชนิพนธ์), เทวาพาคู่ฝัน (เพลงพระราชนิพนธ์), วังบัวบาน, สิ้นรักสิ้นสุข, บัวกลางบึง, รักเร่, เพชรบุรีแดนใจ, ดาวที่อับแสง, จุฬาตรีคูณ, ปรัชญาขี้เมา, สนต้องลม, วังน้ำวน, ปองใจรัก (คู่เอื้อ สุนทรสนาน), อาลัยลา, หนูเอย, เงาแห่งความหลัง (คู่วินัย จุลละบุษปะ), เมื่อไรจะให้พบ, กระต่ายโง่ (คู่วินัย จุลละบุษปะ), เพลงราตรี, สาริกาชมเดือน, เด่นดวงดาว, ผู้แพ้รัก, ดอกไม้กับแมลง, ดอกไม้ใกล้มือ, สวมหมวก, จันทน์กะพ้อร่วง, ถิ่นไทยงาม, ทางชีวิต, ดอกไม้ถิ่นไทยงาม, วัฒนธรรม, สวนครัว, งอนแต่งาม (คู่เอื้อ สุนทรสนาน), น้ำเหนือบ่า, สายลมครวญ, กล่อมดรุณ, ศาสนารัก, ผาเงอบ, ผีเสื้อยามเช้า, เย็นเย็น (คู่เพ็ญศรี พุ่มชูศรี), รอยรักรอยร้าว, ห้วงน้ำลึก, เหลือลืม, เหลืออาลัย, สาส์นรัก, ดำเนินทราย (คู่เอื้อ สุนทรสนาน), เธออยู่ไหน, เพลินเพลงค่ำ, สั่งรัก, ทางที่ต้องกลับ, ชีวิตหญิง, ภาษารัก (คู่ชวลี ช่วงวิทย์), หนองคาย (คู่สุปาณี พุกสมบุญ) เป็นต้น

คำประพันธ์

[แก้]

มัณฑนา มีผลงานประพันธ์คำร้องของเพลง ดังต่อไปนี้[8]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "'แม่ผ่องศรี' ชู 'ในหลวง' ต้นแบบสู้วิกฤติน้ำท่วม" (Press release). ไทยรัฐ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-29. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ตอนที่ 96 ประวัติและผลงานของพจน์ จารุวณิช และคณะจารุกนก ตอนที่ 2". ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ดาวประดับฟ้า "มัณฑนา โมรากุล" (ตอนที่ 1) : ชีวิตต้องสู้!". ผู้จัดการออนไลน์. MGR Online. 12 มกราคม 2553. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-30. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. "ภูมิหลังของชีวิต มัณฑนา โมรากุล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-31. สืบค้นเมื่อ 2007-02-13.
  5. "ข่าวงานคอนเสิร์ต 84 ปี มัณฑนา โมรากุล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-01. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.
  6. ขอเชิญชมคอนเสิร์ต ดาวประดับฟ้า มัณฑนา โมรากุล ศิลปินแห่งชาติ
  7. "มัณฑนา โมรากุล (เกียรติวงศ์) จากเว็บไซต์ศิลปินแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-26. สืบค้นเมื่อ 2010-05-16.
  8. "มัณฑนา โมรากุล กับเพลงที่แต่งเนื้อร้องเอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-31. สืบค้นเมื่อ 2010-04-04.
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตต์ภายใน เล่ม 58 ตอนที่ 0 ง หน้า 4952, 10 ธันวาคม 2484
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี 2553 เล่ม 128, ตอนที่ 3 ข, 16 กุมภาพันธ์ 2554, หน้า 145.