ข้ามไปเนื้อหา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จตุตถดิเรกคุณาภรณ์)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อันเป็นที่สรรเสริญยิ่ง
ดิเรกคุณาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์
ชั้น ปฐมดิเรกคุณาภรณ์
มอบโดย

พระมหากษัตริย์ไทย
ประเภทสายสะพายพร้อมดารา, ดวงตราพร้อมดารา, ดวงตรา, เหรียญ (7 ชั้น)
วันสถาปนาพ.ศ. 2534
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
จำนวนสำรับไม่จำกัดจำนวน
ผู้สมควรได้รับบุคคลทั่วไปซึ่งมีผลงานดีเด่น/เป็นบางอย่าง อันควรแก่การสรรเสริญและเป็นสาธารณประโยชน์ หรือผู้บริจาคเงิน/ทรัพย์สิน เพื่อการสาธารณประโยชน์
มอบเพื่อความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถิติการมอบ
รายแรกสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
3 ธันวาคม พ.ศ. 2538
รายล่าสุด5 สิงหาคม พ.ศ. 2566
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย
รองมาเครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
หมายเหตุรัฐบาลไทยเป็นผู้เสนอชื่อเพื่อขอรับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ (อังกฤษ: The Most Admirable Order of the Direkgunabhorn) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 เพื่อพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน แบ่งออกเป็น 7 ชั้น พระราชทานแก่บุรุษและสตรีตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร หรือผ่านการเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับจากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐเพื่อขอพระราชทานต่อไป[1]

ประวัติ

[แก้]

แต่เดิมนั้นรัฐบาลจะขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบุคคลซึ่งกระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน 2 ตระกูล ได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย แต่เนื่องจากบุคคลซึ่งกระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชนนั้นมากขึ้นเป็นลำดับ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใหม่ขึ้น เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 นามว่า "เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์" สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่บุคคลที่ทำประโยชน์ดังกล่าวเป็นการเฉพาะ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเป็นองค์ประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้อนุญาตให้หน่วยงานรัฐหรือรัฐบาลเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้[1]เช่นเดียวกันกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย

ประเภท ลำดับชั้น และ ลำดับเกียรติ

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 7 ชั้น ได้แก่[2]

แพรแถบย่อ ดุมเสื้อ ชั้น ชื่อ อักษรย่อ มูลค่าทรัพย์สิน
หรือ เงินบริจาค
ลำดับ
เกียรติ[3]
ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ ป.ภ. 30,000,000 12
ชั้นที่ 2 ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ ท.ภ. 14,000,000 17
ชั้นที่ 3 ตติยดิเรกคุณาภรณ์ ต.ภ. 6,000,000 25
ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ จ.ภ. 1,500,000 30
ชั้นที่ 5 เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ บ.ภ. 500,000 35
ไม่มี ชั้นที่ 6 เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์ ร.ท.ภ. 200,000 54
ชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ ร.ง.ภ. 100,000 57

ลักษณะ

[แก้]

ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์

[แก้]

ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ มีอักษรย่อว่า ป.ภ. มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 12 จาก 36 ลำดับ[4] ประกอบด้วยดวงตรา ดารา และสายสะพาย สำหรับสตรีนั้นดวงตรา ดารา และสายสะพาย จะมีลักษณะเหมือนที่พระราชทานแก่บุรุษทุกประการ แต่จะมีขนาดย่อมกว่า โดยมีลักษณะ ดังนี้

  • ดวงตรา มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.5 เซนติเมตร
    • ด้านหน้า มีรูปครุฑพ่าห์สีทองอยู่ในวงกลม พื้นลงยาสีแดง ขอบเป็นสร่งเงิน รอบนอกมีกระจังเงินแปดทิศ และมีเปลวรัศมีทองแทรกตามระหว่าง เบื้องบนมีพระมหามงกุฎทองมีรัศมี ห้อยกับสายสะพาย
    • ด้านหลัง เป็นดุมสีทอง มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." ลงยาสีขาว

ใช้สำหรับประดับห้อยกับสายสะพาย ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร สีเขียว ริมสีแดงชาด มีริ้วสีขาวและสีเหลืองขนาดเล็กควบคั่นทั้งสองข้าง สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย

  • ดารา มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เซนติเมตร มีลักษณะเหมือนดวงตรา แต่เบื้องบนมีพระมหามงกุฎและอุณาโลมสีทองขอบเป็นสร่งทอง รอบนอกมีกระจังเงินแปดทิศ มีรัศมีทองแทรกตามระหว่าง ด้านหลังเป็นดุมสีทองอย่างดวงตรา ใช้สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

ชั้นที่ 2 ทุติยดิเรกคุณาภรณ์

[แก้]

ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ มีอักษรย่อว่า ท.ภ. มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 17 จาก 36 ลำดับ[4] ประกอบด้วยดวงตรา ดารา และแพรแถบ สำหรับสตรีนั้นดวงตราและดารา จะมีลักษณะเหมือนที่พระราชทานแก่บุรุษทุกประการ แต่จะมีขนาดย่อมกว่า โดยมีลักษณะ ดังนี้

  • ดวงตรา
    • ด้านหน้า มีรูปครุฑพ่าห์สีทองอยู่ในวงกลม พื้นลงยาสีแดง ขอบเป็นสร่งเงิน รอบนอกมีกระจังเงินแปดทิศและมีเปลวรัศมีทองแทรกตามระหว่าง
    • ด้านหลัง เป็นดุมสีทอง มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." ลงยาสีขาว เบื้องบนมีพระมหามงกุฎทอง มีรัศมี
      • สำหรับบุรุษ ดวงตราจะห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 4 เซนติเมตร สีเขียว ริมสีแดงชาด มีริ้วสีขาวและสีเหลืองขนาดเล็กควบคั่นทั้งสองข้าง ใช้สำหรับสวมคอ
      • สำหรับสตรี ดวงตราจะห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ แล้วประดับไว้บนเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
  • ดารา มีลักษณะเหมือนอย่างดวงตรา แต่เบื้องบนมีพระมหามงกุฎและอุณาโลมสีทอง ขอบเป็นสร่งเงิน รอบนอกมีกระจังเงินแปดทิศ มีรัศมีทองแทรกตามระหว่าง ด้านหลังเป็นดุมสีทองอย่างดวงตรา ใช้สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

ชั้นที่ 3 ตติยดิเรกคุณาภรณ์

[แก้]

ตติยดิเรกคุณาภรณ์ มีอักษรย่อว่า ต.ภ. มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 25 จาก 36 ลำดับ[4] ประกอบด้วย ดวงตรา มีลักษณะอย่างทุติยดิเรกคุณาภรณ์

  • สำหรับบุรุษ ใช้ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 4 เซนติเมตร สำหรับสวมคอ
  • สำหรับสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์

[แก้]
จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ ด้านหน้ามีรูปครุฑพ่าห์สีทองอยู่ในวงกลม พื้นลงยาสีแดง ขอบเป็นสร่งเงิน รอบนอกมีกระจังเงินแปดทิศ และมีเปลวรัศมีทองแทรกตามระหว่าง เบื้องบนมีพระมหามงกุฎทองมีรัศมี

จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ มีอักษรย่อว่า จ.ภ. มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 30 จาก 36 ลำดับ[4] ประกอบด้วย ดวงตรา มีลักษณะอย่างตติยดิเรกคุณาภรณ์ แต่ขนาดย่อมกว่า

  • สำหรับบุรุษ ใช้ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 3 เซนติเมตร มีดอกไม้จีบติดบนแพรแถบ ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
  • สำหรับสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

ชั้นที่ 5 เบญจมดิเรกคุณาภรณ์

[แก้]
จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ และ เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ ด้านหลัง เป็นดุมสีทอง มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." ลงยาสีขาว

เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ มีอักษรย่อว่า บ.ภ. มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 35 จาก 36 ลำดับ[4] ประกอบด้วย ดวงตรา มีลักษณะอย่างจตุตถดิเรกคุณาภรณ์

  • สำหรับบุรุษ ใช้ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 3 เซนติเมตร แต่ไม่มีดอกไม้จีบติดบนแพรแถบ ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
  • สำหรับสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

ชั้นที่ 6 เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์

[แก้]

เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์ มีอักษรย่อว่า ร.ท.ภ. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 6 ในหมู่เหรียญบำเหน็จในราชการ[4] ประกอบด้วย

  • ดวงตรา เป็นเหรียญรูปกลมสีทอง ด้านหน้ามีรูปครุฑพ่าห์อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยกระจังกลีบบัวแปดกลีบ เบื้องบนมีพระมหามงกุฎ มีรัศมีและอุณาโลม ด้านหลังมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร."
    • สำหรับบุรุษ ใช้ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 3 เซนติเมตร สีเขียว ริมสีแดงชาด มีริ้วสีขาวและสีเหลืองขนาดเล็กควบคั่นทั้งสองข้าง ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
    • สำหรับสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

ชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์

[แก้]

เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ มีอักษรย่อว่า ร.ง.ภ. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 9 ในหมู่เหรียญบำเหน็จในราชการ[4] ประกอบด้วย ดวงตรา เป็นเหรียญรูปกลมสีเงิน มีลักษณะและวิธีการประดับอย่างเดียวกับเหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์
  2. 2.0 2.1 พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๔, เล่ม ๑๐๘, ตอน ๑๒๗ ก ฉบับพิเศษ, ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔, หน้า ๑
  3. "ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-01. สืบค้นเมื่อ 2021-07-29.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]