ข้ามไปเนื้อหา

แผ้ว สนิทวงศ์เสนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แผ้ว สนิทวงศ์เสนี

ท่านผู้หญิงแผ้วในวัย 17 ปี
เกิดแผ้ว สุทธิบูรณ์
25 ธันวาคม พ.ศ. 2446
จังหวัดฉะเชิงเทรา อาณาจักรสยาม
เสียชีวิต24 กันยายน พ.ศ. 2543 (96 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ชื่ออื่นหม่อมแผ้ว นครราชสีมา[1][2]
อาชีพข้าราชการกรมศิลปากร (พ.ศ. 2491–2535)
คู่สมรสสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ. 2459–2468)
หม่อมสนิทวงศ์เสนี (หม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์) (พ.ศ. 2470–2502)
บุตรหม่อมหลวงแต้ว สนิทวงศ์
ท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์
หม่อมหลวงเติม สนิทวงศ์
หม่อมหลวงตวง สนิทวงศ์
รางวัลพ.ศ. 2528 – ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์)
ลายมือชื่อ

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี (สกุลเดิม สุทธิบูรณ์; 25 ธันวาคม พ.ศ. 2446 – 24 กันยายน พ.ศ. 2543) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ทั้งยังเป็นผู้คิดค้นท่ารำใหม่โดยยึดระเบียบแบบแผนตามประเพณีโบราณ และมีความสามารถในการประพันธ์บทโขนละคร[3] เคยเป็นหม่อมในสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ถือเป็นหญิงสามัญชนที่ไม่ใช่ลูกหลานขุนนางคนแรกที่ได้เป็นสะใภ้หลวง[1] หลังการทิวงคตของอดีตสามี ได้สมรสอีกครั้งกับหม่อมสนิทวงศ์เสนี (หม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์) ซึ่งเป็นทูตไทยในทวีปยุโรป มีบุตรด้วยกันสี่คน ครั้นเมื่อกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2489 ท่านผู้หญิงแผ้วได้ใช้ความสามารถเชิงนาฏศิลป์ไทยของตนเข้ารับราชการในกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2491 และได้รังสรรค์ผลงานนาฏยประดิษฐ์ทั้งหมด 44 ท่วงท่า

ท่านผู้หญิงแผ้วได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) เมื่อ พ.ศ. 2528[2][4][5] และได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาศิลปะ ด้านนาฏศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2529

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

ท่านผู้หญิงแผ้วเกิดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนที่สองจากทั้งหมดสามคนของเฮงและสุทธิ สุทธิบูรณ์ มีพี่สาวชื่อทับทิม คลี่สุวรรณ และน้องชายชื่อสหัส สุทธิบูรณ์ วัยเด็กเธอเคยอยู่ในพระบรมมหาราชวังกับย่า เนื่องจากคุณย่ามีตำแหน่งเป็นพนักงานฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตจึงกลับบ้านเดิมที่จังหวัดฉะเชิงเทรา[6]

ขณะอายุได้แปดปี บิดามารดาหมายจะให้เธอไปเรียนหนังสือกับเอ็ดนา ซาราห์ โคล หรือแหม่มโคล เพราะในยุคสมัยนั้นผู้หญิงไม่ใคร่มีโอกาสได้ร่ำเรียนดั่งบุรุษเพศ ต่อมามีคนจากวังสวนกุหลาบมาบอกกล่าว ว่าสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาทรงก่อตั้งคณะละครเด็กเล็กในวัง โดยให้เรียนหนังสือและเรียนรำละครด้วย ด้วยเหตุนี้ท่านผู้หญิงแผ้วจึงถวายตัวเข้าพระตำหนักวังสวนกุหลาบ โดยมีท้าวนารีวรคณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) เป็นผู้ปกครอง[6] ท่านผู้หญิงแผ้วได้กล่าวถึงการเรียนที่นั่นไว้ว่า "...เมื่อเข้าไปอยู่ในวังได้ถวายตัวหัดรำละคร เรียนรำตั้งแต่ยํ่ารุ่งถึง 2 โมงเช้าจึงเสร็จ ถึงได้รับประทานอาหารเช้า ที่เรียนอยู่ไม่ได้เรียนรำอย่างเดียว เรียนทำกับข้าว ปั้นขนมจีบด้วย วันละครึ่งชั่วโมง ตอน 5 โมงเช้า แล้วเรียนเย็บปักสะดึงต่ออีกครึ่งชั่วโมง หนังสือก็ต้องเรียนด้วยวันละชั่วโมงมีครูมาสอนทุกวัน..."[7] เมื่ออยู่ที่นั่น เธอได้เล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้ ทั้งยังแตกฉานสามารถแต่งกลอนได้ดี[8] กอปรกับเป็นหญิงที่มีดวงหน้าสะสวย เพรียบพร้อมด้วยจรรยามารยาท จึงได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเต็มที่[6]

หลังการถวายตัวเข้าวัง ท่านผู้หญิงแผ้วได้รับการฝึกฝนนาฏศิลป์จากท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4) เจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 หม่อมแย้มในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หม่อมอึ่งในสมเด็จพระบัณฑูรฯ และหม่อมแก้วในเจ้าพระยาสุรวงษ์ฯ ซึ่งล้วนเป็นนางละครผู้มีชื่อ[6][9] นอกจากวังสวนกุหลาบแล้ว เธอยังมีโอกาสไปฝึกฝนการแสดงที่วังแพร่งนราของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สามารถรับบทเป็นตัวเอกทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เช่นแสดงเป็น อิเหนาและดรสาจากเรื่อง อิเหนา หรือ สีดา พระพิราพ และทศกัณฐ์ จากเรื่อง รามเกียรติ์[2][6] ท่านผู้หญิงแผ้วกล่าวถึงการฝึกซ้อมการแสดงเป็นอิเหนาที่วังวรวรรณไว้ว่า "...หลังจากที่ฉันอยู่ฝนวังสวนกุหลาบได้สักระยะหนึ่ง เจ้าฟ้าอัษฎางค์ได้ส่งฉันไปฝึกหัดที่วังกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ หัดกับเจ้าจอมมารดาเขียน ท่านเจ้าจอมหัดให้ฉันเป็นอิเหนา เมื่อเวลาฉันทำไม่ดี ท่านจะตีฉัน ฉันเอามือรับจนหัวแม่มือด้านซ้ายแตก ฉันอยู่ที่วังกรมพระนราฯ หลายเดือน..."[6] จากการเคี่ยวเข็ญดังกล่าว ทำให้ท่านผู้หญิงแผ้วมีโอกาสแสดงถวายหน้าพระที่นั่งตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยท่านได้รับบทบาทเป็นอิเหนา จากละครในเรื่อง อิเหนา ตั้งแต่ตอนเข้าห้องนางจินตะหราจนถึงตอนศึกกะหมังกุหนิง โดยแสดงร่วมกันกับหม่อมแย้ม ซึ่งท่านผู้หญิงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "...ฉันเก่งในทางเพลงอาวุธ ทั้งหอก กระบี่ ทวน ดาบ กริช สำหรับละครใน ฉันทำได้ดี เป็นที่โปรดปรานของเจ้านาย..."[6] ส่วนละครนอก ท่านผู้หญิงแผ้วรับบทบาทเป็นพระไวย และไกรทอง ได้สมบทบาทจนมีชื่อเสียงอย่างมาก[6] หลังจากนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทรงส่งท่านผู้หญิงแผ้วไปเรียนนาฏศิลป์กับเจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 ขณะนั้นเธอมีอายุได้ 13 ปี[6] จนทำให้เธอกลายเป็นนางละครที่มีชื่อเสียงยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] โดยเธอเคยออกแสดงถวายหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแล้วหลายครั้ง[6][8]

ท่านผู้หญิงแผ้วสำเร็จการศึกษาวิชาสามัญจากโรงเรียนในวังสวนกุหลาบ และสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ. 3) จากโรงเรียนประชาพิทยากร[4] นอกจากนี้เธอยังมีความรู้ด้านภาษาฝรั่งเศสจากภคินีที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ และศึกษาภาษาอังกฤษจากคุณหญิงดอรีส ราชานุประพันธ์ ทั้งมีความรู้ด้านมารยาททางสังคมและการปฏิบัติตน[8]

สะใภ้หลวง

[แก้]
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทรงฉายคู่กับหม่อมแผ้ว

ขณะท่านผู้หญิงแผ้วมีอายุ 13 ปี ได้ทำการแสดงที่กระทรวงการต่างประเทศ แสดงคู่กับคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ โดยเธอได้แสดงเป็นเมขลา ส่วนคุณหญิงนัฏกานุรักษ์แสดงเป็นรามสูร ต่อมาได้แสดงเรื่อง อิเหนา รับบทเป็น ดรสา ที่กระโดดกองไฟตายตามระตู เป็นที่ต้องพระหฤทัยของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และทรงขอเธอเข้าเป็นหม่อมห้าม[6] มีนามว่า หม่อมแผ้ว นครราชสีมา[1][2][6] แม้จะเป็นการเสกสมรสกับหญิงสามัญชนแต่ก็ไม่มีผู้ใดขัดพระทัย ส่วนหนึ่งก็เพราะเจ้านายพระองค์นี้เป็นที่ห่วงใยของพระราชชนกชนนีเพราะมีพระพลานามัยไม่สู้สมบูรณ์มานาน[10] เธอเปี่ยมสุขยิ่งในฐานะหม่อมในสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งแห่งกรุงสยาม[6] หลังการทิวงคตของสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเมื่อ พ.ศ. 2463[11] ต่อมาได้ทรงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับหม่อมแผ้วเข้าเป็นสะใภ้หลวง ถือเป็นหญิงสามัญชนที่ไม่ใช่ลูกหลานขุนนางคนแรกที่ได้เป็นสะใภ้หลวง[1] และได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นทุติยจุลจอมเกล้าเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466[12]

ทว่าชีวิตสะใภ้หลวงได้สิ้นสุดลง เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาประชวรด้วยพระโรคพระวักกะอักเสบ ก่อนทิวงคต ณ พระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 (ปฏิทินแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2468) สิริพระชนมายุได้ 36 พรรษา ยังความทุกข์เข้าสู่จิตใจของหม่อมแผ้วยิ่งนัก โดยเธอเคยกล่าวเกี่ยวกับความรู้สึกของตนหลังการทิวงคตของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาไว้ว่า "...ตอนนั้นพระองค์ท่านมีพระชนมายุได้ 36 ปี ฉันอายุได้ 25 ปี ฉันรู้สึกว้าเหว่และเศร้าโศกถึงกับเป็นลมพับไป และรู้สึกว่าโลกนี้ช่างไม่มีอะไรแน่นอนทั้งสิ้น..."[6]

ในปี พ.ศ. 2470 หม่อมแผ้ว ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งหม่อมห้ามสะใภ้หลวง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาต และได้ถวายคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า ที่ได้รับพระราชทานไว้[13]

สมรสหนที่สอง

[แก้]

หลังสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาทิวงคตไปแล้วสามปี ท่านผู้หญิงแผ้วได้สมรสใหม่กับหม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์ (26 สิงหาคม พ.ศ. 2438 – 3 เมษายน 2502) พระโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ กับหม่อมแจ่ม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หม่อมสนิทวงศ์เสนี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2467 เป็นทูตทหารประจำประเทศฝรั่งเศส ประเทศอังกฤษ และประเทศอิตาลี เป็นอัครราชทูตประจำประเทศโปรตุเกส และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ 2491–2492)[14] ท่านผู้หญิงแผ้วได้ติดตามสามีซึ่งรับราชการเป็นทูตประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปในฐานะภรรยาทูต ทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันจำนวน 4 คน คือ

  1. หม่อมหลวงแต้ว สนิทวงศ์
  2. ท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์ (12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540) สมรสกับพลเอก แสวง เสนาณรงค์
  3. พันตำรวจเอก (พิเศษ) หม่อมหลวงเติม สนิทวงศ์ (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 – พ.ศ. 2551) สมรสกับโสภี โชติกะพุกกณะ
  4. หม่อมหลวงตวง สนิทวงศ์ (ไม่มีข้อมูล – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557)[15] สมรสและหย่ากับหม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล

ขณะที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศท่านผู้หญิงแผ้วมีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร ไปพร้อม ๆ กับการทำงานบ้านด้วยตนเองทุกชนิด และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านผู้หญิงต้องดูแลนักเรียนไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศอิตาลีเสมือนบุตรของตัว ในช่วงที่ตกระกำลำบาก ท่านผู้หญิงได้ขายเครื่องประดับและของใช้ส่วนตัวมาจุนเจือค่าใช้จ่ายโดยไม่นึกเสียดาย ด้วยมองว่าเป็นการทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ[7] หลังใช้ชีวิตเป็นภรรยาทูตในทวีปยุโรปราว 10 ปี ท่านผู้หญิงแผ้วและครอบครัวกลับไปอาศัยที่จังหวัดพระนครเมื่อ พ.ศ. 2489[16]

ปัจฉิมวัย

[แก้]

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2543 อายุ 96 ปี[14] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

การทำงาน

[แก้]
นางรำขณะระบำสุโขทัยที่ท่านผู้หญิงแผ้วเป็นผู้ออกแบบท่วงท่า

ท่านผู้หญิงแผ้วเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทยอย่างยิ่งยวด ด้วยมีท่ารำที่คล่องแคล่ว แข็งแรง สอดประสานไปด้วยความอ่อนช้อย[17] ในการแสดงท่านผู้หญิงแผ้วจะออกแสดงให้สมตามบทบาทและท่วงท่า เช่น รับบทเป็นกษัตริย์ ขุนนาง บุคคลสำคัญ หรือแม้กระทั่งสัตว์[3] มีความเชี่ยวชาญประดิษฐ์ท่ารำอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งเกิดจากการสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว อย่างเช่น การแต่งเติมท่ารำให้มีการยักเยื้องร่างกายส่วนต่าง ๆ ให้อ่อนไหวกว่ามาตรฐานไทยเดิม[16] การขยับเท้าและลักคอตามจังหวะ ได้มาจากพฤติกรรมตามธรรมชาติของนก เป็นอาทิ[17] ท่ารำแต่ละท่าที่ท่านผู้หญิงแผ้วประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่จะถูกดัดแปลงให้สอดคล้องกับยุคสมัย งดงาม เหมาะสมแก่บทบาท โดยเอาความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนนาฏยจารีตของไทยที่มีมาแต่ครั้งโบราณเป็นที่ตั้ง[3] บุนนาค ทรรทรานนท์ ศิษย์คนหนึ่งของท่านผู้หญิงแผ้ว ได้กล่าวถึงการสอนของท่านผู้หญิงไว้ว่า "การสอนของท่านผู้หญิงแผ้วเน้นท่าเก๋กว่าใคร และให้เป็นธรรมชาติ ท่านเอาสิ่งที่ไปพบเจอมาคิดท่ารำ"[17] ด้วยเหตุนี้ ธนิต อยู่โพธิ์ หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร ได้เรียนเชิญให้ท่านผู้หญิงช่วยปรับปรุงฟื้นฟู และวางรากฐานด้านการละคร การรำ ให้กับกรมศิลปากร ท่านเป็นผู้ออกแบบท่ารำ เป็นผู้ฝึกสอน และอำนวยการฝึกซ้อมการแสดงโขน ละคร ฟ้อนรำต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ท่านได้รับราชการในกรมศิลปากร ช่วง พ.ศ. 2491–2535[16] โดยท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยของกรมศิลปากร ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝึกซ้อมการแสดงนาฏศิลป์ไทย และเป็นวิทยากรบรรยายความรู้เกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย[3] รวมทั้งได้ปรับปรุงท่ารำพื้นฐานที่เคยเนิบช้าให้มีความกะทัดรัดและงดงามตามแบบแผน[18]

ท่านผู้หญิงแผ้วมีผลงานนาฏยประดิษฐ์ซึ่งมีทั้งระบำ รำ และฟ้อน[18] มากถึง 44 ท่วงท่า ทั้งนาฏยจารีตไทย และนาฏยจารีตผสมผสาน[16] เช่น ระบำสุโขทัย ดัดแปลงมาจากการแสดงตอนหนึ่งของ อิเหนา[3] ระบำชาวนา ออกแบบท่ารำจากหว่านข้าว ไถนา เกี่ยวข้าว และฝัดข้าว[19] ระบำมิตรสัมพันธ์มั่นใจไทย-เกาหลี[3] ระบำกินรีร่อน เป็นการปรับปรุงท่ารำให้กลมกลืนกับเพลงเชิดจีนผสมท่าเหินบินของกินรี ภายหลังได้เพิ่มเติมท่ารำบูชายันต์ของนางมโนราห์ต่อท้ายเพลงเชิดจีน[20] ระบำม้า หรืออัศวลีลา ได้มาจากท่วงท่าการแสดงระบำม้าที่ท่านเคยเห็นเมื่อครั้งสามีไปประจำอยู่ที่ประเทศโปรตุเกส แล้วดัดแปลงแบบไทย[8][18] และท่วงท่ารำตอนหนึ่งของการแสดงลาวกระทบไม้ก็ได้ท่านผู้หญิงแผ้วออกแบบท่าเอาไว้[3] ซึ่งนาฏยจารีตผสมผสานของท่านผู้หญิงแผ้วได้มาจากการนำนาฏยจารีตต่างชาติมาผสานกับเข้านาฏศิลป์ไทย ได้รับคำชื่นชมว่างดงามแปลกตา[16] นอกจากนี้ท่านผู้หญิงแผ้วยังมีบทบาทในการคัดเลือกตัวโขนและลครให้มีเหมาะสมกับบทบาท เป็นผู้เรียบเรียงจัดทำบทโขนและบทละครหลายชุด เช่น บทละครในเรื่อง อิเหนา ตอนตัดต้นไม้ฉายกริช และตอนบุษบาชมศาล, บทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง ตอนเลือกคู่หาปลา และตอนตีคลี บทโขน รามเกียรติ์ ชุดนางลอย และชุดปราบประลัยกัลป์ เป็นอาทิ[18]

ท่านผู้หญิงแผ้ว เป็นที่รู้จักในนาม "หม่อมอาจารย์" มีลักษณะการสอนที่เข้มงวดและดุ การสอนรำของท่านมีลักษณะเฉพาะ จนได้ชื่อว่า "รำเก๋" ส่วนลมุล ยมะคุปต์ ได้รับคำชื่นชมว่า "รำสวย" และเฉลย ศุขะวณิช ได้รับคำชื่นชมว่า "รำงาม"[6] โดยหลานของท่านผู้หญิงแผ้ว ได้อธิบายถึงลักษณะของท่านไว้ว่า "...พวกเราได้เห็นภาพของคุณยาย [ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี] ทุกท่วงท่ามีรูปแบบเฉพาะตัว แฝงไว้ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีวินัย และเรียบง่าย..." และยังกล่าวถึง "ความดุ" ของท่านผู้หญิงเมื่อสอนรำไว้ว่า "...คุณยายถือไม้เท้าคู่ใจเดินนำหน้าเราไปที่ห้องทำงาน ใช้ไม้เท้าเคาะเป็นจังหวะยามฝึกสอนท่ารำต่างๆให้ลูกศิษย์ ความเข้มงวดของคุณยายบางครั้งเรายังอดสงสารผู้เป็นลูกศิษย์ไม่ได้ เพียงแต่นึกอยู่ในใจว่า ทำไมคุณยายถึงดุออกอย่างนี้หนา แต่เมื่อถึงตอนไปดูละครที่แสดงที่โรงละครจึงได้เห็นผลงานว่าท่ารำนั้นงดงามอ่อนช้อยเกินคำบรรยาย..."[7] นอกจากนี้ท่านผู้หญิงยังเป็นคนช่างสังเกต สามารถสังเกตจุดเด่นในการแสดงของศิษย์แต่ละคนได้อย่างเหมาะสม ดังความตอนหนึ่งว่า "...คุณยาย [ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี] เป็นคนช่างสังเกต จับจุดเด่นของแต่ละคนได้อย่างรวดเร็ว เพียงพบครั้งแรกจะเห็นแววทันทีว่า แม่คนนี้ต้องเป็นอิเหนา พ่อคนนี้ต้องเป็นทศกัณฐ์ แม่คนนี้รำงาม ทุกเรื่องที่คุณยายดำเนินไปดูเรียบง่าย ถ้าอะไรเป็นสิ่งที่ดี อย่ากลัวที่จะทำดี จงทำดีให้เต็มที่ คุณยายสอนให้กล้าพูด กล้าทำ ถ้าไม่ถูกต้องแล้ว ให้กล้าขัด แสดงความคิดเห็นให้เหตุผล คุณยายมีวิธีพูดเพื่อก่อได้อย่างน่าทึ่ง และเราจะพบได้ว่าในเนื้อแท้ของการติชมนั้นเป็นไปด้วยความหวังดีทั้งสิ้น..."[7] ซึ่งศิษย์ของท่านผู้หญิงแผ้วหลายคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทยสืบต่อมา เช่น ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์ไทย พ.ศ. 2548) จตุพร รัตนวราหะ (ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์ไทย พ.ศ. 2552) รัจนา พวงประยงค์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์ไทย พ.ศ. 2554) บุนนาค ทรรทรานนท์, สุดจิตต์ พันธ์สังข์, จันทนา ทรงศรี, ปกรณ์ พรพิสุทธิ์, วันทนีย์ ม่วงบุญ, ศิริพงษ์ ฉิมพาลี และคมสันฐ หัวเมืองลาด เป็นต้น[6]

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2528 และบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาศิลปะ ด้านนาฏศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2529

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 วิภา จิรภาไพศาล (14 สิงหาคม 2561). "'สะใภ้เจ้า' กับภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "109 ปี ท่านผู้หญิงแผ้ว นาฏศิลปิน "5 แผ่นดิน"". ไทยรัฐออนไลน์. 16 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 "ศิลปินแห่งชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-14. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-17. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "รำลึก 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติสาขานาฏศิลป์คนแรกของประเทศไทย". ไทยรัฐออนไลน์. 17 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 6.15 "ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี นาฏยาจารย์ 5 แผ่นดิน ผู้สืบสร้างทางรำไทย" (PDF). ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 8 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 ลัดดา ตั้งสุภาชัย (16 ธันวาคม 2548). "สตรีนักสู้และครูผู้ให้". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "๑๐๙ ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี". ผู้จัดการออนไลน์. 24 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "คำว่า หม่อม ใช้มาแต่เมื่อไหร่? หม่อมแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร??". ศิลปวัฒนธรรม. 31 กรกฎาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 74
  11. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 75
  12. "พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 40 (0ง): 2631. 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-07. สืบค้นเมื่อ 2015-03-27. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  13. ประกาศคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  14. 14.0 14.1 คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์ (1 สิงหาคม 2560). "พลตรีหม่อมสนิทวงศ์เสนีและท่านผู้หญิงแผ้ว". สยามรัฐ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-17. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. "'หม่อมหลวงตวง'สิ้นลมหายใจ ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิต". แนวหน้า. 24 มิถุนายน 2557. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 สวภา เวชสุรักษ์ (2547). "หลักนาฏยประดิษฐ์ของท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี". สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. 17.0 17.1 17.2 "109 ปี ชาตกาลท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี". ไทยพีบีเอส. 27 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์ และสุรพล วิรุฬห์รักษ์ (มกราคม–มีนาคม 2565). "บทบาทของสตรีที่มีผลต่อนาฏยศิลป์ไทย". วารสารสหวิทยาการสังคมศาสตร์และการสื่อสาร. 5:(1), หน้า 177-178
  19. "ระบำชาวนา". Virtual School Online. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. "กินนรีร่อนออกมโนราห์บูชายัญ". นาฏสัมพันธ์. 9 กันยายน 2551. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  22. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๐, ๑๘ เมษายน ๒๕๒๓
  23. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๖๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐, ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]